Dictionary : English, Thai, Pali. Link : Lexitron, RoyDict, BudDict, ETipitaka, PpmDict, Longdo.
Search: อย่างมั่นเหมาะ, เหมาะ, อย่าง, มั่น .

Budhism Thai-Thai Dict : อย่างมั่นเหมาะ, 537 found, display 401-450
  1. สมาบัติ : ภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึง; สมาบัติมีหลายอย่าง เช่น ฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ อนุปุพพวิหารสมาบัติ เป็นต้น สมาบัติที่กล่าวถึงบ่อยคือ ฌานสมาบัติ กล่าวคือ สมาบัติ ๘ อันได้แก่ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ นี้ รวมเรียกว่า อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙
  2. สมุตเตชนา : การทำให้อาจหาญ คือ เร้าใจให้แกล้วกล้า ปลุกใจให้คึกคักเกิดความกระตือรือร้น มีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จ ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก; เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการสอนที่ดี (ข้อก่อนคือสมาทปนา, ข้อสุดท้ายคือ สัมปหังสนา)
  3. สโมธานปริวาส : ปริวาสแบบประมวลเข้าด้วยกัน คือ ปริวาสที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสต่างคราว มีจำนวนวันปิดต่างกันบ้าง ไม่ต่างบ้าง ปรารถนาจะออกจากอาบัตินั้น จึงอยู่ปริวาสโดยประมวลอาบัติและราตรีเข้าด้วยกันจำแนกเป็น ๓ อย่างคือ ๑.โอธานสโมธาน สำหรับอาบัติมากกว่าหนึ่ง แต่ปิดไว้นานเท่ากัน เช่น ต้องอาบัติ ๒ คราว ปิดไว้คราวละ ๕ วัน ประมวลเข้าด้วยกัน อยู่ปริวาส ๕ วัน ๒.อัคฆสโมธาน สำหรับอาบัติมากกว่าหนึ่งและปิดไว้นานไม่เท่ากัน เช่น ต้องอาบัติ ๓ คราว ปิดไว้ ๓ วัน ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ประมวลเข้าด้วยกันอยู่ปริวาสเท่าจำนวนวันที่มากที่สุด (คือ ๗ วัน) ๓.มิสสกสโมธาน สำหรับอาบัติที่ต่างวัตถุกัน (เช่น กายสังสัคคะก็มี ทุฏฐุลลวาจาก็มี สัญจริตตะก็มี) มีวันปิดเท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง ประมวลเข้าด้วยกัน อยู่ปริวาสรวมเป็นคราวเดียว
  4. สรรเพชญ : ผู้รู้ทั่ว, ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง หมายถึงพระพุทธเจ้า ( = สัพพัญญู)
  5. สหคตทุกข์ : ทุกข์ไปด้วยกัน, ทุกข์กำกับ ได้แก่ทุกข์ที่พ่วงมาด้วยกับผลอันไพบูลย์ มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นต้น แต่ละอย่างย่อมพัวพันด้วยทุกข์
  6. สหชาต : “ผู้เกิดร่วมด้วย” หมายถึง บุคคล (ตลอดจนสัตว์และสิ่งของ) ที่เกิดร่วมวันเดือนปีเดียวกัน อย่างเพลา หมายถึง ผู้เกิดร่วมปีกัน; ตำนานกล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น มีสหชาต ๗ คือ พระมารดาของเจ้าชายราหุล (เจ้าหญิงยโสธราหรือพิมพา) พระอานนท์ นายฉันนะ อำมาตย์กาฬุทายี ม้ากัณฐกะ ต้นมหาโพธิ์ และขุมทรัพย์ทั้ง ๔ (นิธิกุมภี)
  7. สหชาติ : ผู้เกิดร่วมด้วย หมายถึง บุคคล (ตลอดจนสัตว์และสิ่งของ) ที่เกิดร่วมวันเดือนปีเดียวกัน อย่างเพลา หมายถึง ผู้เกิดร่วมปีกัน; ตำนานกล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น มีสหชาต ๗ คือ พระมารดาของเจ้าชายราหุล (เจ้าหญิงยโสธราหรือพิมพา) พระอานนท์ นายฉันนะ อำมาตย์กาฬุทายี ม้ากัณฐกะ ต้นมหาโพธิ์ และขุมทรัพย์ทั้ง ๔ (นิธิกุมภี)
  8. สังกิจฉิกะ : ผ้ารัดหรือโอบรักแร้ เป็นจีวรอย่างหนึ่งในจีวร ๕ ของภิกษุณี คือ สังฆาฏิ ผ้าทาบ ๑ อุตตราสงค์ ผ้าห่ม ๑ อันตรวาสก สบง ๑ สังกิจฉิกะ ผ้ารัดหรือผ้าโอบรักแร้ ๑ อุทกสาฏิกา ผ้าอาบ ๑ (มากกว่าของภิกษุซึ่งมีจำนวนเพียง ๓ อย่างข้างต้น)
  9. สังขารุเปกขาญาณ : ปรีชาหยั่งรู้ถึงขั้นเกิดความวางเฉยในสังขาร, ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร, ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือรู้เท่าทันสภาวะของสังขารว่าที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นต้นนั้น มันเป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงเลิกเบื่อหน่าย เลิกคิดหาทางแต่จะหนี วางใจเป็นกลางต่อมันได้เลิกเกี่ยวเกาะและให้ญาณแล่นมุ่งสนิพพานอย่างเดียว (ข้อ ๘ ในวิปัสสนาญาณ ๙)
  10. สังคีติ : ๑.การสังคายนา ดู สังคายนา๒.ในคำว่า “บอกสังคีติ” ซึ่งเป็นปัจฉิมกิจอย่างหนึ่งของการอุปสมบทท่านสันนิษฐานว่า หมายถึงการประมวลบอกอย่างอื่นนอกจากที่ระบุไว้ เช่น สีมาหรืออาวาสที่อุปสมบท อุปัชฌายะ กรรมวาจาจารย์ จำนวนสงฆ์
  11. สัจจญาณ : ปรีชากำหนดรู้ความจริง, ความหยั่งรู้สัจจะ คือ รู้อริยสัจ ๔ แต่ละอย่างตามภาวะที่เป็นจริง ว่านี้ทุกข์นี้ทุกขสมุทัย เป็นต้น (ข้อ ๑ ในญาณ ๓)
  12. สัตตักขัตตุปรมะ : พระโสดาบัน ซึ่งจะไปเกิดในภพอีก ๗ ครั้ง เป็นอย่างมากจึงจะได้บรรลุพระอรหัต (ข้อ ๓ ในโสดาบัน ๓)
  13. สัตยาธิษฐาน : การตั้งความจริงเป็นหลักอ้าง, ความตั้งใจแน่วแน่มุ่งต่อผลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยการอ้างความจริงเป็นหลักประกัน
  14. สัตว์ : “ผู้ติดข้องในรูปารมณ์เป็นต้น”, สิ่งที่มีความรู้สึกและเคลื่อนไหวไปได้เอง รวมตลอดทั้งเทพ มาร พรหม มนุษย์ เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน และสัตว์นรก ในบาลีเพ่งเอามนุษย์ก่อนอย่างอื่น, ไทยมักเพ่งเอาดิรัจฉาน
  15. สัทธา : ความเชื่อ; ในทางธรรม หมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล, ความมั่นใจในความจริงความดีสิ่งดีงามและในการทำความดีไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก ท่านแสดงสืบ ๆ กันมาว่า ๔ อย่างคือ ๑.กัมมสัทธา เชื่อกรรม ๒.วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม ๓.กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ๔.ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต; เขียนอย่างสันสกฤตเป็นศรัทธา
  16. สัทธิวิหารินี : สัทธิวิหาริกผู้หญิง คือสัทธิวิหาริกในฝ่ายภิกษุณี แต่ตามปกติไม่เรียกอย่างนี้ เพราะมีคำเฉพาะเรียกว่า สหชีวินี
  17. สันตติ : การสืบต่อ คือ การเกิดดับต่อเนื่องกันไปโดยอาการที่เป็นปัจจัยส่งผลแก่กัน ในทางรูปธรรม ที่พอมองเห็นอย่างหยาบ เช่น ขนเก่าหลุดร่วง ไปขนใหม่เกิดขึ้นแทน ความสืบต่อแห่งรูปธรรม จัดเป็น อุปาทายรูป อย่างหนึ่ง; ในทางนางธรรม จิตก็มีสันตติ คือเกิดดับเป็นปัจจัยสืบเนื่องต่อกันไป
  18. สันติวิหารธรรม : ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างสงบ
  19. สันทัสสนา : การให้เห็นชัดแจ้ง หรือชี้ให้ชัด คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเรื่องราวและเหตุผลต่าง ๆ แจ่มแจ้งเหมือนจูงมือไปดูเห็นประจักษ์กับตา; เป็นลักษณะอย่างแรกของการสอนที่ดีตามแนวพุทธจริยา (ข้อต่อไป คือสมาทปนา)
  20. สัปปุริสธรรม : ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมของคนดี, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ มี ๗ อย่างคือ ๑.ธัมมัญญุตา รู้หลักหรือรู้จักเหตุ ๒.อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักผล ๓.อัตตัญญุตา รู้จักตน ๔.มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ ๕.กาลัญญุตา รู้จักกาล ๖.ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน ๗.ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคล; อีกหมวดหนึ่งมี ๘ อย่างคือ ๑.ประกอบด้วย สัทธรรม ๗ ประการ ๒.ภักดีสัตบุรษ (คบหาผู้มีสัทธรรม ๗) ๓.คิดอย่างสัตบุรุษ ๔.ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ ๕.พูดอย่างสัตบุรุษ ๖.ทำอย่างสัตบุรุษ (๓-๔-๕-๖ คือ คิดปรึกษา พูด ทำ มิใช่เพื่อเบียดเบียนตน และผู้อื่น) ๗.มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ (คือเห็นชอบว่า ทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่วเป็นต้น) ๘.ให้ทานอย่างสัตบุรุษ (คือให้โดยเคารพ เอื้อเฟื้อ แก่ของและผู้รับทาน เป็นต้น)
  21. สัปปุรุษ : เป็นคำเลือนปะปนระหว่าง สัปปุริส ที่เขียนอย่างบาลี กับ สัตบุรุษ ที่เขียนอย่างสันสกฤต มีความหมายอย่างเดียวกัน (ดู สัตบุรุษ)แต่ในภาษาไทยเป็นคำอยู่ข้างโบราณ ใช้กันในความหมายว่า คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาในพระศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไปร่วมกิจกรรมทางบุญทางกุศล รักษาศีลฟังธรรมเป็นประจำที่วัดใดวัดหนึ่งบางทีเรียกตามความผูกพันกับวัดว่า สัปปุรุษวัดนั้น สัปปุรุษวัดนี้
  22. สัพพัญญู : ผู้รู้หมด, ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง, พระนามของพระพุทธเจ้า
  23. สัมปชานมุสาวาท : ผู้รู้อยู่กล่าวเท็จ, การพูดเท็จทั้งที่รู้ คือรู้ความจริง แต่จงใจพูดให้คลาดจากความจริง เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจเป็นอย่างอื่นจากความจริง (สิกขาบทที่ ๑ แห่งมุสาวาทวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)
  24. สัมปรายิกัตถะ : ประโยชน์ภายหน้า, ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดี ทำให้ชีวิตนี้มีค่าและเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้า ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ๑.สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ๒.สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล ๓.จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ๔.ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา ธรรม ๔ อย่างนี้เรียกเต็มว่า สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม
  25. สัมปหังสนา : การทำให้ร่าเริง หรือปลุกให้ร่าเริง คือ ทำบรรยากาศให้สนุกสดชื่นแจ่มใส เบิกบานใจ ให้ผู้ฟังแช่มชื่นมีความหวัง มองเห็นผลดีและทางสำเร็จ; เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการสอนที่ดีตามแนวพุทธจริยา (ข้อก่อนคือสมุตเตชนา)
  26. สัมมาปาสะ : “บ่วงคล้องไว้มั่น”, ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชน ด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น (ข้อ ๓ ใน ราชสังคหวัตถุ ๔)
  27. สัมมาสมาธิ : ตั้งจิตมั่นชอบ, จิตมั่นชอบ คือสมาธิที่เจริญตามแนวของ ฌาน ๔ (ข้อ ๘ ในมรรค)
  28. สัมมุขาวินัย : ระเบียบอันพึงทำในที่พร้อมหน้า, วิธีระงับต่อหน้า ได้แก่การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้าสงฆ์ (สังฆสัมมุขตา คือภิกษุเข้าประชุมครบองค์สงฆ์), ในที่พร้อมหน้าบุคคล ( ปุคคลสัมมุขตา คือ บุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นอยู่พร้อมหน้ากัน), ในที่พร้อมหน้าวัตถุ ( วัตถุสัมมุขตา คือยกเรื่องที่เกิดนั้นขึ้นวินิจฉัย), ในที่พร้อมหน้าธรรมวินัย ( ธัมมสัมมุขตา และ วินยสัมมุขตา คือนำเอาหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระธรรมวินัยมาใช้ปฏิบัติ ได้แก่วินิจฉันถูกธรรม ถูกวินัย); สัมมุขาวินัย ใช้เป็นเครื่องระงับอธิกรณ์ได้ทุกอย่าง
  29. สัสสตทิฏฐิ : ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่าอัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง ตรงข้ามกับอุจเฉททิฏฐิ (ข้อ ๑ ในทิฏฐิ ๒)
  30. สามเณร : เหล่ากอแห่งสมณะ, บรรพชิตในพระพุทธศาสนาผู้ยังมิได้อุปสมบทเพียงแต่รับบรรพชาด้วยไตรสรณคมน์ ถือสิกขาบท ๑๐ และกิจวัตรบางอย่างตามปกติ มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์; พระราหุลเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา
  31. สามัคคีปวารณา : กรณีอย่าง สามัคคีอุโบสถ นั่นเอง เมื่อทำปวารณา เรียกว่าสามัคคีปวารณา และวันที่ทำนั้นก็เรียก วันสามัคคี
  32. สารท : เทศกาลทำบุญสิ้นเดือน ๑๐ เดิมเป็นฤดูทำบุญด้วยเอาข้าวที่กำลังท้อง (ข้าวรวงเป็นน้ำนม) มาทำยาคูและกวนข้าวปายาสเลี้ยงพราหมณ์ อย่างนี้เรียกว่ากวนข้าวทิพย์ ส่วนผู้นับถือพุทธศาสนานำคตินั้นมาใช้ แต่เปลี่ยนเป็นถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติในปรโลก สำหรับชาวบ้านทั่วไปมักทำแต่กระยาสารท เป็นต้น (ต่างจาก ศราทธ์)
  33. สาราณียธรรม : ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำให้มีความเคารพกัน ช่วยเหลือกัน และสามัคคีพร้อมเพรียงกันมี ๖ อย่างคือ ๑.ตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๒.ตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๓.ตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๔.แบ่งปันลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม ๕.รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกับเพื่อนภิกษุสามเณร (มีสีลสามัญญตา) ๖.มีความเห็นร่วมกันได้กับภิกษุสามเณรอื่น ๆ (มีทิฏฐิสามัญญตา); สารณียธรรม ก็เขียน
  34. สารีบุตร : พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ (บางแห่งเรียกนาลันทะ) ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ สารี จึงได้นามว่าสารีบุตร แต่เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ ซึ่งต่อมาคือ พระมหาโมคคัลลานะ มีน้องชาย ๓ คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ น้องหญิง ๓ คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่ออุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้ง ๒ คนไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปดูแล้วเกิดความสลดใจ คิดออกแสวงหาโมกขธรรม และต่อมาได้บวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชกแต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย จนวันหนึ่งอุปติสสปริพาชก พบพระอัสสชิเถระขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมใสติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอนได้ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะแล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชกที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง ๒๕๐ คน ได้รับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน เมื่อบวชแล้วได้ ๑๕ วัน พระสารีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็น เอตทัคคะ ในทางมีปัญญามาก และเป็น พระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็น พระธรรมเสนาบดี คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการสังคายนา เป็นต้น ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือนเมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาของท่านซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฐิให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ หลังจากปลงศพแล้วพระจุนทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี (อรรถกถาว่าท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จึงเท่ากับ ๖ เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน)
  35. สิกขมานา : นางผู้กำลังศึกษา, สามเณรีผู้มีอายุถึง ๑๘ ปีแล้ว อีก ๒ ปีจะครบบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์สวดให้สิกขาสมมติ คือ ตกลงให้สมาทานสิกขาบท ๖ ประการ ตั้งแต่ปาณาติปาตา เวรมณี จนถึง วิกาลโภชนา เวรมณี ให้รักษาอย่างเคร่งครัดไม่ขาดเลย ตลอดเวลา ๒ ปีเต็ม (ถ้าล่วงข้อใดข้อหนึ่ง ต้องสมาทานตั้งแต่ต้นไปใหม่อีก ๒ ปี) ครบ ๒ ปี ภิกษุณีสงฆ์จึงทำพิธีอุปสมบทให้ ขณะที่สมาทานสิกขาบท ๖ ประการอย่างเคร่งครัดนี้ เรียกว่า นางสิกขมานา
  36. สิกขา : การศึกษา, การสำเหนียก, ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรม มี ๓ อย่างคือ ๑.อธิสีลสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องศีล ๒.อธิจิตตสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องจิต เรียกง่าย ๆ ว่า สมาธิ ๓.อธิปัญญาสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องปัญญา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา
  37. สีกา : คำที่พระภิกษุใช้เรียกผู้หญิงอย่างไม่เป็นทางการ เลือนมาจากอุบาสิกา บัดนี้ได้ยินใช้น้อย
  38. สีมา : เขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์, เขตชุมนุมของสงฆ์, เขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ๑.พัทธสีมา แดนที่ผูก ได้แก่ เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง ๒.อพัทธสีมา แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่เขตที่ทางบ้านเมืองกำหนดไว้แล้วตามปกติของเขา หรือที่มีอย่างอื่นในทางธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด สงฆ์ถือเอาตามกำหนดนั้นไม่วางกำหนดขึ้นเองใหม่
  39. สีมามีฉายาเป็นนิมิต : สีมาที่ทำเงาอย่างใดอย่างหนึ่ง มีเงาภูเขาเป็นต้นเป็นนิมิต (มติสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า สีมาที่ถือเงาเป็นแนวนิมิต) จัดเป็นสีมาวิบัติอย่างหนึ่ง
  40. สีมาสังกระ : สีมาคาบเกี่ยวกัน, เป็นเหตุสีมาวิบัติอย่างหนึ่ง
  41. สีหไสยา : นอนอย่างราชสีห์ คือนอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กำหนดใจถึงการลุกขึ้นไว้ (มีคำอธิบายเพิ่มอีกว่า มือซ้ายพาดไปตามลำตัว มือขวาซ้อนศีรษะ ไม่พลิกกลับไปมา)
  42. สุกขวิปัสสกะ : พระผู้เจริญวิปัสสนาล้วนสำเร็จพระอรหัต มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่นอีก เช่นไม่ได้ฌานสมาบัติไม่ได้อภิญญา เป็นต้น ดู อรหันต์
  43. สุข : ความสบาย, ความสำราญ, มี ๒ ๑.กายิกสุข สุขทางกาย ๒.เจตสิกสุข สุขทางใจ, อีกหมวดหนึ่ง มี ๒ คือ ๑.สามิสสุข สุขอิงอามิส คืออาศัยกามคุณ ๒.นิรามิสสุข สุขไม่อิงอามิส คืออิงเนกขัมมะ (ท่านแบ่งเป็นคู่ ๆ อย่างนี้อีกหลายหมวด)
  44. สุขของคฤหัสก์ : สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี และควรขวนขวายให้มีอยู่เสมอ มี ๔ อย่างคือ ๑.สุขเกิดจากความมีทรัพย์ (ที่ได้มาด้วยเรี่ยวแรงของตน โดยทางชอบธรรม) ๒.สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ (เลี้ยงตนเลี้ยงคนควรเลี้ยง และทำประโยชน์) ๓.สุขเกิดความประพฤติไม่มีโทษ (มีสุจริตทั้ง กาย วาจา และใจ), เฉพาะข้อ ๔ ตามแบบเรียนว่า สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ
  45. สุญญตวิโมข์ : ความหลุดพ้นโดยว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ หมายถึงมองเห็นความว่างหมดความยึดมั่นคือพิจารณาเห็นนามรูปโดยความเป็นอนัตตา พูดสั้นๆ ว่า หลุดพ้นเพราะเห็นอนัตตา (ข้อ ๑ ในวิโมกข์ ๓)
  46. สุญญตา : “ความเป็นสภาพสูญ”, ความว่าง 1.ความเป็นสภาพที่ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะที่ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา คือ ไร้ตัวมิใช่ตน ว่างจากความเป็นตน ตลอดจนว่างจากสาระต่างๆ เช่น สาระคือความเที่ยง สาระคือความสวยงาม สาระคือความสุข เป็นต้น, โดยปริยายหมายถึง หลักธรรมฝ่ายปรมัตถ์ดังเช่นขันธ์ ธาตุ อายตนะ และปัจจยาการ (อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท) ที่แสดงแต่ตัวสภาวะให้เห็นความว่างเปล่าปราศจากสัตว์ บุคคล เป็นเพียงธรรมหรือกระบวนธรรมล้วนๆ 2.ความว่างจากกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ดี สภาวะที่ว่างจากสังขารทั้งหลายก็ดี หมายถึง นิพพาน 3.โลกุตตรมรรค ได้ชื่อว่าเป็นสุญญตา ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ เพราะลุด้วยปัญญาที่กำหนดพิจารณาความเป็นอนัตตา มองเห็นสภาวะที่สังขารเป็นสภาพว่าง (จากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน) เพราะว่างจากกิเลสมีราคะเป็นต้น และเพราะมีสุญญตา คือ นิพพาน เป็นอารมณ์ 4.ความว่าง ที่เกิดจากความกำหนดหมายในใจ หรือทำใจเพื่อให้เป็นอารมณ์ของจิตในการเจริญสมาบัติ เช่น ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติกำหนดใจถึงภาวะว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย; สุญตา ก็เขียน
  47. สุทธันตปริวาส : ปริวาสที่ภิกษุผู้ต้องการจะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสอยู่ไปจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์ หมายความว่า ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปิดไว้หลายคราวจนจำนวนอาบัติและจำนวนวันที่ปิดไม่ได้ หรือจำได้แต่บางจำนวน ท่านให้ขอปริวาสประมวลจำนวนอาบัติและจำนวนวันที่ปิดเข้าด้วยกันแล้วอยู่ใช้ไปจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์ มี ๒ อย่างคือ จูฬสุทธันตปริวาสและมหาสุทธันตปริวาส
  48. สุนทรพจน์ : คำพูดที่ไพเราะ, คำพูดที่ดี; คำพูดอันเป็นพิธีการ, คำกล่าวแสดงความรู้สึกที่ดีอย่างเป็นพิธีการในที่ประชุม
  49. สุภัททะ : ปัจฉิมสิกขิสาวก (สาวกผู้ทันเห็นองค์สุดท้าย) ของพระพุทธเจ้า เรียกสั้นๆ ว่า ปัจฉิมสาวก เดิมเป็นพราหมณ์ตระกูลใหญ่ ต่อมาออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในเมืองกุสินารา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททปริพาชกได้ยินข่าวแล้วคิดว่าตนมีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง อยากจะขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อแก้ข้อสงสัยนั้นเสียก่อนที่จะปรินิพพาน จึงเดินทางไปยังสาลวัน ตรงไปหาพระอานนท์ แจ้งความประสงค์ขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระอานนท์ได้ห้ามไว้ เพราะเกรงว่าพระองค์เหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว จะเป็นการรบกวนให้ทรงลำบาก สุภัททปริพาชกก็คะยั้นคะยอจะขอเข้าเฝ้าให้ได้ พระอานนท์ก็ยืนกรานห้ามอยู่ถึง ๓ วาระ จนพระผู้มีพระภาคทรงได้ยินเสียงโต้ตอบกันนั้น จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่าสุภัททะมุ่งหาความรู้ มิใช่ประสงค์จะเบียดเบียนพระองค์ ขอให้ปล่อยให้เขาเข้าเฝ้าเถิด สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าแล้ว ทูลถามว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย คือ เหล่าครูทั้ง ๖ นั้น ล้วนได้ตรัสรู้จริงทั้งหมดตามที่ตนปฏิญญา หรือได้ตรัสรู้เพียงบางท่านหรือไม่มีใครตรัสรู้จริงเลย พระพุทธเจ้าทรงห้ามเสียและตรัสว่าจะทรงแสดงธรรม คือ หลักการหรือหลักความจริงให้ฟัง แล้วตรัสว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใด สมณะ (คืออริยบุคคลทั้ง ๔) ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด สมณะก็หาได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะทั้ง ๔ จึงมีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะ และตรัสสรุปว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททปริพาชกเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ให้บวชสุภัททะในสำนักของพระองค์ โดยประทานพุทธานุญาตพิเศษให้ยกเว้นไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ท่านสุภัททะบวชแล้วไม่นาน (อรรถกถาว่าในวันนั้นเอง) ก็ได้บรรลุอรหัตตผล นับเป็นพุทธปัจฉิมสักขิสาวก
  50. สุรสิงหนาท : การเปล่งเสียงพูดอย่างองอาจกล้าหาญ หรือพระดำรัสที่เร้าใจปลุกให้ตื่นฟื้นสติขึ้น เหมือนดั่งเสียงบันลือของราชสีห์ เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “กิจอย่างใด อันพระศาสดาผู้เอ็นดู แสวงประโยชน์ เพื่อสาวกทั้งหลายจะพึงทำ กิจนั้นอันเราทำแล้วแก่พวกเธอทุกอย่าง
  51. 1-50 | 51-100 | 101-150 | 151-200 | 201-250 | 251-300 | 301-350 | 351-400 | [401-450] | 451-500 | 501-537

(0.0318 sec)