กระแสความ : แนวความ
กระแสเทศนา : แนวเทศนา
กรวดน้ำ : ตั้งใจอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ พร้อมไปกับหลั่งรินน้ำเป็นเครื่องหมาย และเป็นเครื่องรวมกระแสจิตที่ตั้งใจอุทิศนั้นให้แน่วแน่; เริ่มรินน้ำเมื่อพระองค์หัวหน้าเริ่มสวดยถา รินน้ำหมดพร้อมกับพระหัวหน้าสวดยถาจบ และพระทั้งหมดเริ่มสวดพร้อมกัน จากนั้นวางที่กรวดน้ำลงแล้วประนมมือรับพรต่อไป; คำกรวดน้ำอย่างสั้นว่า อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่....(ออกชื่อผู้ล่วงลับ) และญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด จะต่ออีกก็ได้ว่า สุขิตา โหนตุ ญาตโย ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด - to pour the water of dedication (to transfer merit to other beings)
นที : แม่น้ำ ในพระวินัย หมายเอาแม่น้ำที่มีกระแสน้ำไหลอยู่ ไม่ใช่แม่น้ำตัน
ศิวาราตรี : พิธีลอยบาปของพราหมณ์ ทำในวันเพ็ญเดือน ๓ เป็นประจำปี วิธีทำคือ ลงอาบน้ำในแม่น้ำ สระเกล้า ชำระร่างกายให้สะอาดหมดจด เท่านี้ถือว่าได้ลอยบาปไปตามกระแสน้ำแล้ว เป็นอันสิ้นบาปกันคราวหนึ่ง ถึงปีก็ทำใหม่ (คำสันสกฤตเดิมเป็นศิวราตริ แปลว่า ราตรีของพระศิวะ พจนานุกรมสันสกฤตว่า ตรงกับแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓)
สันดาน : ความสืบต่อแห่งจิต คือกระแสจิตที่เกิดดับต่อเนื่องกันมา; ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่าอุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด, อัธยาศัยที่มีติดต่อมา
สิคาลมาตา : พระมหาสาวิกาองค์หนึ่งเป็นธิดาเศรษฐีในพระนครราชคฤห์เจริญวัยแล้ว แต่งงาน มีบุตรคนหนึ่งชื่อ สิงคาลกุมาร วันหนึ่งได้ฟังธรรมีกถาของพระศาสดา มีความเลื่อมใส (คัมภีร์อปทานว่า ได้ฟังสิงคาลกสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บุตรของนาง ซึ่งว่าด้วยเรื่องอบายมุข มิตรแท้ มิตรเทียม ทิศ ๖ เป็น และได้บรรลุโสดาปัตติผล) ขอบวชเป็นภิกษุณีต่อมาได้ไปฟังธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดง นางคอยตั้งตาดูพระพุทธสิริสมบัติด้วยศรัทธาอันแรงกล้าพระพุทธองค์ทรงทราบกับอัธยาศัยของนาง นางส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางศรัทธาธิมุต, สิคาลกมาตา หรือ สิงคาลมาตา ก็เรียก
โสดาบัน : ผู้ถึงกระแสที่จะนำไปสู่นิพพาน, พระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุโสดาปัตติผล มี ๓ ประเภทคือ ๑.เอกพีซี เกิดอีกครั้งเดียว ๒.โกลังโกละ เกิดอีก ๒-๓ ครั้ง ๓.สัตตักขัตตุปรมะ เกิดอีก ๗ ครั้ง เป็นอย่างมาก
โสดาปัตติผล : ผลคือการถึงกระแสสู่นิพพาน, ผลที่ได้รับจากการละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ด้วย โสดาปัตติมรรค ทำให้ได้เป็นพระโสดาบัน
อนาคามี : พระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุอนาคามิผล มี ๕ ประเภท คือ ๑) อันตราปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ถึงกึ่ง (หมายถึงโดยกิเลสปรินิพพาน) ๒) อุปหัจจปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานเมื่อจวนจะถึงสิ้นอายุ ๓) อสังขารปรินิพพายี ผู้นิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก ๔) สสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรมาก ๕) อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ
โอฆะ : ห้วงน้ำคือสงสาร, ห้วงน้ำคือการเวียนว่ายต่ายเกิด; กิเลสอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์ มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา