กฐิน : ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร; ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้ และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ) ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔); ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ); สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป; ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ชื่อข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษเป็นต้น มี ๑๓ ข้อคือ หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุต-เกี่ยวกับจีวร มี ๑.ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุล ๒.เตจีวริกังคะ ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน; หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุต-เกี่ยวกับบิณฑบาต มี ๓.ปิณฑปาติกังคะ เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ ๔.สปทานจาริกังคะ บิณฑบาตตามลำดับบ้าน ๕.เอกาสนิกังคะ ฉันมื้อเดียว ๖.ปัตตปิณฑิกังคะ ฉันเฉพาะในบาตร ๗.ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม; หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุต -เกี่ยวกับเสนาสนะมี ๘.อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่า ๙.รุกขมูลิกังคะ อยู่โคนไม้ ๑๐.อัพโภกาสิกังคะ อยู่กลางแจ้ง ๑๑.โสสานิกังคะ อยู่ป่าช้า ๑๒.ยถาสันถติกังคะ อยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้; หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุต-เกี่ยวกับความเพียร มี ๑๓.เนสัชชิกังคะ ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน (นี้แปลเอาความสั้นๆ ความหมายละเอียด พึงดูตามลำดับอักษรของคำนั้นๆ) ธุระ “สิ่งที่จะต้องแบกไป”, หน้าที่, ภารกิจ, การงาน, เรื่องที่จะต้องรับผิดชอบ, กิจในพระศาสนา แสดงไว้ในอรรถกถา ๒ อย่างคือ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
อัพโภกาสิกังคะ : องค์แห่งผู้ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร คือ อยู่เฉพาะกลางแจ้ง ไม่อยู่ในที่มุงบัง หรือแม้แต่โคนไม้ (ห้ามถือในฤดูฝน) (ข้อ ๑๐ ในธุดงค์ ๑๓)
มัชฌิมา : ท่ามกลาง, กลาง
ราตรี : กลางคืน, เวลามืดค่ำ
กตญาณ : ปรีชากำหนดรู้ว่าได้ทำกิจเสร็จแล้ว คือ ทุกข์ ควรกำหนดรู้ได้ รู้แล้ว สมุทัย ควรละ ได้ละแล้ว นิโรธ ควรทำให้แจ้งได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรค ควรเจริญ ได้เจริญคือปฏิบัติหรือทำให้เกิดแล้ว (ข้อ ๓ ใน ญาณ ๓)
กิจจญาณ : ปรีชากำหนดรู้กิจที่ควรทำในอริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง คือรู้ว่า ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ควรละ นิโรธ ควรทำให้แจ้ง มรรค ควรทำให้เจริญคือควรปฏิบัติ (ข้อ ๒ ใน ญาณ ๓)
กิจในอริยสัจ : ข้อที่ต้องทำในอริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง คือ ปริญญา กำหนดรู้ เป็นกิจในทุกข์ ปหานะ การละ เป็นกิจในสมุทัย สัจฉิกิริยา การทำให้แจ้งหรือการบรรลุ เป็นกิจในนิโรธ ภาวนา การเจริญคือปฏิบัติบำเพ็ญ เป็นกิจในมรรค
ขรรค์ : อาวุธมีคม ๒ ข้าง ที่กลางทั้งหน้าและหลังเป็นสัน ด้านสั้น
คืบพระสุคต : ชื่อมาตราวัด ตามอรรถกถานัยว่า เท่ากับ ๓ คืบของคนปานกลาง คือ เท่ากับศอกคืบช่างไม้ แต่มตินี้ไม่สมจริง ปัจจุบันยุติกันว่าให้ถือตามไม้เมตร คือ เท่ากับ ๒๕ เซนติเมตร ประมาณกันกับคืบช่างไม้ ซึ่งเป็นการสะดวก และถ้าหากจะสั้นกว่าขนาดจริง ก็ไม่เสีย เพราะจะไม่เกินกำหนด ไม่เสียทางวินัย
จันทรุปราคา : การจับจันทร์ คือเงาโลก เข้าไปปรากฏที่ดวงจันทร์ ขณะเมื่อดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์อยู่ตรงกัน ข้ามโดยมีโลกอยู่ระหว่างกลางที่เรียกว่า ราหูอมจันทร์
ตรัสรู้ : รู้แจ้ง หมายถึงรู้อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ตะโพน : เครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง มีหนัง ๒ หน้า ตรงกลางป่อง ริม ๒ ข้างสอบลง
ทิฏฐาวิกัมม์ : การทำความเห็นให้แจ้ง ได้แก่ แสดงความเห็นแย้ง คือภิกษุผู้เข้าประชุมในสงฆ์บางรูปไม่เห็นร่วมด้วยคำวินิจฉัยอันสงฆ์รับรองแล้วก็ให้แสดงความเห็นแย้งได้
ทิวาวิหาร : การพักผ่อนในเวลากลางวัน
ที่ลับหู : ที่แจ้งไม่มีอะไรบัง แต่อยู่ห่างคนอื่นไม่ได้ยิน พอจะพูดเกี้ยวกันได้
เทวทูต : ทูตของยมเทพ, สื่อแจ้งข่าวของมฤตยู, สัญญาที่เตือนให้ระลึกถึงคติ ธรรมดาของชีวิตมิให้มีความประมาท จัดเป็น ๓ ก็มี ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย, จัดเป็น ๕ ก็มี ได้แก่ เด็กแรกเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนถูกลงราชทัณฑ์ และคนตาย (เทวทูต ๓ มาในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, เทวทูต ๕ มาในเทวทูตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์); ส่วน เทวทูต ๔ ที่เจ้าชายสิทธัตถะพบก่อนบรรพชา คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะนั้น ๓ อย่างแรก เป็นเทวทูต ส่วนสมณะเรียกรวมเป็นเทวทูตไปด้วยโดยปริยาย เพราะมาในหมวดเดียวกัน แต่ในบาลี ท่านเรียกว่า นิมิต ๔ หาเรียกเทวทูต ๔ ไม่ อรรถกถาบางแห่งพูดแยกว่า พระสิทธัตถะเห็นเทวทูต ๓ และสมณะ (มีอรรถกถาแห่งหนึ่งอธิบายในเชิงว่าอาจเรียกทั้ง ๔ อย่างเป็นเทวทูตได้ โดยความหมายว่า เป็นของที่เทวดานิรมิตไว้ ระหว่างทางเสด็จของพระสิทธัตถะ)
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร : “พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป”, พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรมเป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากนั้น ตรัสรู้ ๒ เดือน ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุด ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิภาณว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม) ท่านโกณฑัญญะหัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก เรียกว่า เป็นปฐมสาวก
ธาตุ ๔ : คือ ๑.ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่ เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็งหรือธาตุดิน ๒.อาโปธาตุ สภาวะที่เอิบอาบดูดซึม เรียกสามัญว่า ธาตุเหลวหรือธาตุน้ำ ๓.เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ ๔.วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้เคลื่อนไหว เรียกสามัญว่า ธาตุลม ; ธาตุ ๖ คือ เพิ่ม ๕.อากาสธาตุ สภาวะที่ว่าง ๖.วิญญาณธาตุ สภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ หรือ ธาตุรู้
นทีปารสีมา : สีมาฝั่งน้ำ คือ สีมาที่สมมติคร่อมฝั่งน้ำทั้ง ๒ เปิดแม่น้ำไว้กลาง
บัณเฑาะว์ : (อ่านว่าบันเดาะ) กลองเล็กชนิดหนึ่งมีหนัง ๒ หน้าตรงกลางคอด ริมทั้ง ๒ ใหญ่ พราหมณ์ใช้ในพิธีต่างๆ ขับโดยใช้ลูกตุ้มกระทบหน้ากลองทั้ง ๒ ข้าง; สีมามีสัณฐานดุจบัณเฑาะว์ คือมีลักษณะทรวดทรงเหมือนบัณเฑาะว์
บุพกิจ : กินอันจะพึงทำก่อน, กิจเบื้องต้น เช่น บุพกิจในการทำอุโบสถ ได้แก่ ก่อนสวดปาฏิโมกข์ต้องนำปาริสุทธิของภิกษุอาพาธมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ นำฉันทะของภิกษุอาพาธมา บอกฤดูนับภิกษุ ให้โอวาทนางภิกษุณี; บุพกิจแห่งการอุปสมบทมี การให้บรรพชา ขอนิสัย ถืออุปัชฌาย์ จนถึงสมมติภิกษุผู้สอบถามอันตรายิกธรรมกะอุปสัมปทาเปกขะท่ามกลางสงฆ์ ดังนี้เป็นต้น
บุรณมี : วันเพ็ญ, วันกลางเดือน, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ
ใบปวารณา : ใบแจ้งแก่พระว่าให้ขอได้ตัวอย่าง “ข้าพเจ้าขอถวายจตุปัจจัยอันควรแก่สมณบริโภค แต่พระคุณเจ้า เป็นมูลค่า....บาท......สต.หากพระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งใดอันควรแก่สมณบริโภคแล้ว ขอได้โปรดเรียกร้องจากกัปปิยการก ผู้ปฏิบัติของพระคุณเจ้า เทอญ
ปฐมยาม : ยามต้น, ยามที่หนึ่ง, ส่วนที่หนึ่งแห่งราตรี เมื่อแบ่งกลางคืนเป็น ๓ ส่วน
ประเคน : ส่งของถวายพระภายในหัตถบาส, ส่งให้ถึงมือ; องค์แห่งการประเคนมี ๕ คือ ๑.ของไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป พอคนปานกลางคนเดียวยกได้ ๒.ผู้ประเคนเข้ามาอยู่ในหัตถบาส คือห่างประมาณศอกหนึ่ง ๓.เข้าน้อมของนั้นเข้ามาให้ ๔.น้อมให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือโยนให้ก็ได้ ๕.ภิกษุรับด้วยกาย ก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้ (ถ้าผู้หญิงประเคน ใช้ผ้ากราบหรือผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดรับ)
ประจักษ์ : ชัดเจน, แจ่มแจ้ง, ต่อหน้าต่อตา
ประเทศบัญญัติ : บัญญัติจำเพาะถิ่น, สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ เฉพาะสำหรับมัธยมประเทศ คือ จังหวัดกลางแห่งชมพูทวีป เช่น สิกขาบทที่ ๗ แห่งสุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ ไม่ให้ภิกษุอาบน้ำในเวลาห่างกันหย่อนกว่ากึ่งเดือน เว้นแต่สมัย
ปัจฉิมยาม : ยามสุดท้าย, ช่วงสุดท้ายแห่งราตรี เมื่อแบ่งกลางคืนเป็น ๓ ส่วน
ปัญจพิธพันธนะ : เครื่องตรึง ๕ อย่าง คือ ตรึงเหล็กอันร้อนที่มือทั้ง ๒ ข้างที่เท้าทั้ง ๒ ข้าง และที่กลางอก ซึ่งเป็นการลงโทษที่นายนิรยบาลกระทำต่อสัตว์นรก
ปัญญาสิกขา : สิกขา คือ ปัญญา, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้เข้าใจเหตุผล รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ตลอดจนรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ที่ถูกต้องเขียน อธิปัญญาสิกขา
ปาฏิโมกข์ย่อ : มีพุทธานุญาตให้สวดปาฏิโมกข์ย่อได้ ในเมื่อมีเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเหตุ ๒ อย่าง คือ ๑. ไม่มีภิกษุจำปาฏิโมกข์ได้จนจบ (พึงสวดเท่าอุเทศที่จำได้) ๒.เกิดเหตุฉุกเฉินขัดข้องที่เรียกว่าอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งในอันตรายทั้ง ๑๐ (กำลังสวดอุเทศใดค้างอยู่ เลิกอุเทศนั้นกลางคันได้ และพึงย่อตั้งแต่อุเทศนั้นไปด้วยสุตบท คือ คำว่า “สุต” ที่ประกอบรูปเป็น สุตา ตามไวยากรณ์ ทั้งนี้ยกเว้นนิทานุทเทสซึ่งต้องสวดให้จบ)
ปาริสุทธิ : ความบริสุทธิ์ของภิกษุ; เป็นธรรมเนียมว่า ถ้ามีภิกษุอาพาธอยู่ในสีมาเดียวกัน เมื่อถึงวันอุโบสถไม่สามารถไปร่วมประชุมได้ ภิกษุผู้อาพาธต้องมอบปาริสุทธิแก่ภิกษุรูปหนึ่งมาแจ้งแก่สงฆ์ คือให้นำความมาแจ้งแก่สงฆ์ว่าตนมีความบริสุทธิ์ทางพระวินัยไม่มีอาบัติติดค้าง หรือในวันอุโบสถ มีภิกษุอยู่เพียงสองหรือสามรูป (คือเป็นเพียงคณะ) ไม่ครบองค์สงฆ์ที่จะสวดปาฏิโมกข์ได้ ก็ให้ภิกษุสองหรือสามรูปนั้นบอกความบริสุทธิ์แก่กันแทนการสวดปาฏิโมกข์
ปาริสุทธิอุโบสถ : อุโบสถที่ภิกษุทำปาริสุทธิ คือแจ้งแต่ความบริสุทธิ์ของกันและกัน ไม่ต้องสวดปาฏิโมกข์ปาริสุทธิอุโบสถนี้ กระทำเมื่อมีภิกษุอยู่ในวัดเพียงเป็นคณะ คือ ๒-๓ รูป ไม่ครบองค์สงฆ์ ๔ รูป
ผู้มีราตรีเดียวเจริญ : ผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาท
เผดียง :
บอกแจ้งให้รู้, บอกนิมนต์, บอกกล่าวหรือประกาศเชื้อเชิญเพื่อให้ร่วมทำกิจโดยพร้อมเพรียงกัน; ประเดียง ก็ว่า ดู ญัตติ
พยากรณ์ : ทาย, ทำนาย, คาดการณ์; ทำให้แจ้งชัด, ตอบปัญหา
พาหิย ทารุจีริยะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในครอบครัวคนมีตระกูลในแคว้นพาหิยรัฐ ลงเรือเดินทะเลเพื่อจะไปค้าขาย เรือแตกกลางทะเลรอดชีวิตไปได้ แต่หมดเนื้อหมดตัว ต้องแสดงตนเป็นผู้หมดกิเลสหลอกลวงประชาชนเลี้ยงชีวิต ต่อมาพบพระพุทธเจ้า ทูลขอให้ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่ออารมณ์ที่รับรู้ทางอายตนะทั้ง ๖ พอจบพระธรรมเทศนาย่นย่อนั้น พาหิยะก็สำเร็จอรหัต แต่ไม่ทันได้อุปสมบท กำลังเที่ยวหาบาตรจีวร เผอิญถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดเอาสิ้นชีวิตเสียก่อน ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านตรัสรู้ฉับพลัน
พุทธคุณ : คุณของพระพุทธเจ้า มี ๙ คือ ๑.อรหํ เป็นพระอรหันต์ ๒.สมฺมาสมฺพุทฺโธ ตรัสรู้เองโดยชอบ ๓.วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ๔.สุคโต เสด็จไปดีแล้ว ๕.โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก ๖.อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า ๗.สตฺถาเทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ๘.พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว ๙.ภควา เป็นผู้มีโชค พุทธคุณทั้งหมดนั้น โดยย่อ มี ๒ คือ ๑.พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา ๒.พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา หรือตามที่นิยมกล่าวกันในประเทศไทย ย่อเป็น ๓ คือ ๑.พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา ๒.พระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์ ๓.พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา
ภัทเทกรัตตสูตร : ชื่อสูตรหนึ่งในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ แห่งพระสุตตันตปิฎก แสดงเรื่องบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ คือ คนที่เวลาวันคืนหนึ่งๆ มีแต่ความดีงามความเจริญก้าวหน้า ได้แก่ ผู้ที่ไม่มัวครุ่นคำนึงอดีต ไม่เพ้อหวังอนาคต ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ทำความดีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยไป มีความเพียรพยายาม ทำกิจที่ควรทำเสียแต่วันนี้ ไม่รอวันพรุ่ง
มคธ : 1.ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของแม่น้ำคงคาตอนกลาง เป็นแคว้นที่มีอำนาจมากแข่งกับแคว้นโกศล และเป็นที่พระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาล มคธมีนครหลวงชื่อ ราชคฤห์ ราชาผู้ปกครองพระนามว่าพิมพิสาร ตอนปลายพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร ถูกโอรสชื่ออชาตศัตรูปลงพระชนม์และขึ้นครองราชย์สืบแทน ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาลาโศก หรือก่อนนั้น เมืองหลวงของมคธ ย้ายไปตั้งที่เมืองปาฏลีบุตร บนฝั่งแม่น้ำคงคา เหนือเมืองราชคฤห์ขึ้นไป มคธรุ่งเรืองถึงที่สุดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งแคว้นใหญ่อื่นทั้งหมดได้รวมเข้าอยู่ภายในมหาอาณาจักรของพระองค์ทั้งหมดแล้ว บัดนี้ บริเวณที่เคยเป็นแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล เรียกว่า แคว้นพิหาร 2.เรียกภาษาที่ใช้พูดในแคว้นมคธ หรือภาษาของชาวแคว้นมคธว่า ภาษามคธ และถือกันว่า ภาษาบาลีที่ใช้รักษาพระพุทธพจน์สืบมา จนบัดนี้ คือ ภาษามคธ
มัชฌิมชนมบท : ประเทศที่ตั้งอยู่ในท่ามกลาง, ถิ่นกลางเป็นอาณาเขตที่กำหนดว่า มีความเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนหนาแน่น มีเศรษฐกิจดี เป็นศูนย์กลางแห่งการค้าขาย เป็นที่อยู่แห่งนักปราชญ์ผู้มีวิชาความรู้ เป็นที่รวมของการศึกษา เป็นต้น กำหนดเขต ทิศบูรพา ภายในนับแต่มหาศาลนครเข้ามา อาคเนย์ นักแต่แม่น้ำสัลลวดีเข้ามา ทักษิณ นับแต่เสตกัณณิกนิคมเข้ามา ปัจจิม นับแต่ถูกคามเข้ามา อุดร นับแต่ภูเขาอุสีรธชะเข้ามา นอกจากนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท หรือ ปัจจันตประเทศ
มัชฌิมนิกาย : นิกายที่ ๒ แห่งพระสุตตันตปิฎก มีพระสูตรยาวปานกลาง ๑๕๒ สูตร
มัชฌิมประเทศ : ประเทศที่ตั้งอยู่ในท่ามกลาง, ถิ่นกลางเป็นอาณาเขตที่กำหนดว่า มีความเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนหนาแน่น มีเศรษฐกิจดี เป็นศูนย์กลางแห่งการค้าขาย เป็นที่อยู่แห่งนักปราชญ์ผู้มีวิชาความรู้ เป็นที่รวมของการศึกษา เป็นต้น กำหนดเขต ทิศบูรพา ภายในนับแต่มหาศาลนครเข้ามา อาคเนย์ นักแต่แม่น้ำสัลลวดีเข้ามา ทักษิณ นับแต่เสตกัณณิกนิคมเข้ามา ปัจจิม นับแต่ถูกคามเข้ามา อุดร นับแต่ภูเขาอุสีรธชะเข้ามา นอกจากนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท หรือ ปัจจันตประเทศ
มัชฌิมโพธิกาล : ระยะเวลาบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้าตอนกลางระหว่างปฐมโพธิกาลกับปัจฉิมโพธิกาล นับคร่าวๆ ตั้งแต่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธไปแล้ว ถึงปลงพระชนมายุสังขาร
มัชฌิมภูมิ : ขั้น ชั้น หรือระดับพระมัชฌิมะ คือพระปูนกลาง, ระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ ที่นับว่าเป็นพระปูนกลาง (ระหว่างพระนวกะ กับพระเถระ) คือมีพรรษาเกิน ๕ แต่ยังไม่ครบ ๑๐ และมีความรู้พอรักษาตัวเป็นต้น
มัชฌิมยาม : ยามกลาง, ส่วนที่ ๒ ของราตรี เมื่อแบ่งคืนหนึ่งเป็น ๓ ส่วน, ระยะเที่ยงคืน
มัชฌิมวัย :
ตอนท่ามกลางอายุ, วัยเมื่อเป็นผู้ใหญ่หรือกลางคน, วัยกลางคน ระหว่างปฐมวัยกับปัจฉิมวัย ดู วัย
มัชฌิมาปฏิปทา : ทางสายกลาง, ข้อปฏิบัติเป็นกลางๆ ไม่หย่อนจนเกินไป และไม่ตึงจนเกินไป ไม่ข้องแวะที่สุด ๒ อย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค, ทางแห่งปัญญา (เริ่มด้วยปัญญา, ดำเนินด้วยปัญญา นำไปสู่ปัญญา) อันพอดีที่จะให้ถึงจุดหมาย คือ ความดับกิเลสและความทุกข์ หรือความหลุดพ้นเป็นอิสระสิ้นเชิง ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด
มัธยม : มีในท่ามกลาง; ระดับกลาง; เที่ยงวัน หมายถึงเวลาเที่ยงที่ปรากฏตามเงาแดด ถ้าเป็นเวลาที่คิดเฉลี่ยกันแล้วเรียกว่า สมผุส