ขมา : ความอดโทษ, การยกโทษให้
สิกขมานา : นางผู้กำลังศึกษา, สามเณรีผู้มีอายุถึง ๑๘ ปีแล้ว อีก ๒ ปีจะครบบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์สวดให้สิกขาสมมติ คือ ตกลงให้สมาทานสิกขาบท ๖ ประการ ตั้งแต่ปาณาติปาตา เวรมณี จนถึง วิกาลโภชนา เวรมณี ให้รักษาอย่างเคร่งครัดไม่ขาดเลย ตลอดเวลา ๒ ปีเต็ม (ถ้าล่วงข้อใดข้อหนึ่ง ต้องสมาทานตั้งแต่ต้นไปใหม่อีก ๒ ปี) ครบ ๒ ปี ภิกษุณีสงฆ์จึงทำพิธีอุปสมบทให้ ขณะที่สมาทานสิกขาบท ๖ ประการอย่างเคร่งครัดนี้ เรียกว่า นางสิกขมานา
เวสาขมาส : เดือน ๖
ครุธรรม : ธรรมอันหนัก, หลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ ๑.ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว ๒.ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้ ๓.ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน ๔.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจหมายถึง ระแวงสงสัยหรือประพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง) ๕.ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน ๖.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา ๗.ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ ๘.ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุแต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้
จิตตคฤหบดี : ชื่ออุบาสกคนหนึ่ง มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกธรรมกถิก; ท่านผู้นี้เคยถูกภิกษุชื่อสุธรรมด่า เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติปฏิสาราณียกรรมคือการลงโทษภิกษุผู้ด่าว่าคฤหัสถ์ที่ไม่มีความผิด ด้วยการให้ไปขอขมาเขา
บรรพชิต : ผู้บวช, นักบวช เช่น ภิกษุสมณะ ดาบส ฤษี เป็นต้น แต่เฉพาะในพระพุทธศาสนา ได้แก่ ภิกษุและสามเณร (และภิกษุณี สิกขมานา สามเณรี) มักใช้คู่กับ คฤหัสถ์ (ในภาษาไทยปัจจุบัน ให้ใช้หมายเฉพาะนักบวชในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าในฝ่ายเถรวาท หรือฝ่ายมหายาน)
ปฏิสารณียกรรม : กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงให้กลับไป หมายถึง การที่สงฆ์ลงโทษให้ภิกษุไปขอขมาคฤหัสถ์ กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุปากกล้า ด่าว่าคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นทายกอุปฐากสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ เป็นทางจะยังคนผู้ยังไม่เลื่อมใสมิให้เลื่อมใส จะยังคนผู้เลื่อมใสอยู่แล้วให้เป็นอย่างอื่นไปเสีย; ปฏิสาราณียธรรม ก็เขียน
มหากัจจายนะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในกัจจายนโคตรที่พระนครอุชเชนี เป็นบุตรปุโรหิตของพระราชาแห่งแคว้นอวันตี เรียนจบไตรเพทแล้ว ต่อมาได้เป็นปุโรหิตแทนบิดา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่งให้หาทางนำพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุชเชนี กัจจายนปุโรหิตจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุอรหัตตผล อุปสมบทแล้ว แสดงความประสงค์ที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าสู่แคว้นอวันตี พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ท่านเดินทางไปเอง ท่านเดินทางไปยังกรุงอุชเชนี ประกาศธรรม ยังพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองทั้งหมดให้เลื่อมใสในพระศาสนาแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่าท่านมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ บุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อโสเรยยะเห็นแล้วเกิดมีอกุศลจิตต่อท่านว่าให้ได้อย่างท่านเป็นภรรยาตนหรือให้ภรรยาตนมีผิวพรรณงามอย่างท่าน เพราะอกุศลจิตนั้น เพศของโสเรยยะกลายเป็นหญิงไป นางสาวโสเรยยะแต่งงานมีครอบครัว มีบุตรแล้ว ต่อมาได้พบและขอขมาต่อท่านเพศก็กลับเป็นชายตามเดิม โสเรยยะขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
วุฏฐานสมมติ : มติอนุญาตให้ออกจากความเป็นสิกขมานาเพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณี, นางสิกขมานาผู้สมาทานสิกขาบท ๖ ข้อ ตั้งแต่ปาณาติปาตา เวรมณี ถึงวิกาลโภชนา เวรมณี โดยมิได้ขาด ครบเวลา ๒ ปีแล้ว จึงมีสิทธิขอวุฏฐานสมมติ เพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณีต่อไป
สหธรรมิก : ผู้มีธรรมร่วมกัน, ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน แสดงไว้ในคัมภีร์มหานิทเทส แห่งพระสุตตันตปิฏก มี ๗ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา; ในสัตตาหกรณียะ สหธรรมิก ๕ (คัมภีร์ฝ่ายวินัยทั่วไปก็มักหมายเฉพาะจำนวน ๕)
สิกขาสมมติ : ความตกลงยินยอมของภิกษุณีสงฆ์ที่จะให้สามเณรีผู้มีอายุ ๑๘ ปีเต็มแล้ว เริ่มรักษาสิกขาบท ๖ ประการ ตลอดเวลา ๒ ปี ก่อนที่จะได้อุปสมบท, เมื่อภิกษุณีสงฆ์ให้สิกขาสมมติแล้ว สามเณรีนั้นได้ชื่อว่าเป็น สิกขมานา
สุธรรมภิกษุ : ชื่อภิกษุรูปหนึ่งมีความมักใหญ่ ได้ด่าจิตตคฤหบดีและถูกสงฆ์ลงปฏิสารณียกรรม ให้ไปขอขมาคฤหบดีนั้น นับเป็นต้นบัญญัติในเรื่องนี้
อนุทูต : ทูตติดตาม, ในพระวินัย หมายถึง ภิกษุที่สงฆ์สมมติให้เป็นตัวแทนของสงฆ์ เดินทางร่วมไปกับภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงโทษด้วย ปฏิสารณียธรรม ให้ไปขอขมาคฤหัสถ์ ในกรณีที่เธอไม่อาจไปตามลำพัง อนุทูตทำหน้าที่ช่วยพูดกับคฤหัสถ์นั้นเป็นส่วนตนหรือในนามของสงฆ์ เพื่อให้ตกลงรับขมา เมื่อตกลงกันแล้ว รับอาบัติที่ภิกษุนั้นแสดงต่อหน้าเขาแล้วจึงให้ขมา
อนุปสัมบัน : ผู้ยังมิได้อุปสมบท ได้แก่ คฤหัสถ์และสามเณร (รวมทั้งสิกขมานาและสามเณรี), ผู้มิใช่ภิกษุหรือภิกษุณี เทียบ อุปสัมบัน