นันทกะ : พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลผู้ดีมีฐานะในพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา มีความเลื่อมใส ขอบวชเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านมีความสามารถในการแสดงธรรมจนเป็นที่เลื่องลือ ครั้งหนึ่ง ท่านแสดงธรรมแก่นางภิกษุณีปรากฏว่านางภิกษุณีได้สำเร็จพระอรหัตถึง ๕๐๐ องค์ ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางให้โอวาทแก่นางภิกษุณี
กัณฑกสามเณร : ชื่อสามเณรรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล ผู้กล่าวตู่พระธรรมเป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งสัปปาณกวรรคในปาจิตติยกัณฑ์ และทรงให้สงฆ์นาสนะเธอเสีย เขียนเป็น กัณฏกะ ก็มี
กัป : กาลกำหนด, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น; กำหนดอายุของโลก; กำหนดอายุ เรียกเต็มว่า อายุกัป เช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี - 1.an aeon; world-aeon; world-age; world-cycle; world-period. 2.the life-term; life-period; the duration of life.
กัปป์ : กาลกำหนด, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น; กำหนดอายุของโลก; กำหนดอายุ เรียกเต็มว่า อายุกัป เช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี - 1.an aeon; world-aeon; world-age; world-cycle; world-period. 2.the life-term; life-period; the duration of life.
โกลิยชนบท : แคว้นโกลิยะ หรือดินแดนของกษัตริย์โกลิยวงศ์ เป็นแคว้นหนึ่งในชมพูทวีปครั้งพุทธกาลมีนครหลวงชื่อ เทวทหะ และรามคาม บัดนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล
โกสัมพิกขันธกะ : ชื่อขันธกะที่ ๑๐ (สุดท้าย) แห่งคัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎกว่าด้วยเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะวิวาทกัน จนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาในป่ารักขิตวัน ตำบลปาริไลยกะ ในที่สุด พระภิกษุเหล่านั้น ถูกมหาชนบีบคั้นให้ต้องกลับปรองดองกัน บังเกิดสังฆสามัคคีอีกครั้งหนึ่ง
ขุชชโสภิตะ : ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒
คัคคภิกษุ : ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล เคยเป็นบ้า และได้ต้องอาบัติหลายอย่างในระหว่างเวลานั้น ภายหลังหายเป็นบ้าแล้ว ได้มีผู้โจทว่า เธอต้องอาบัตินั้นๆ ในคราวที่เป็นบ้าไม่รู้จบ พระพุทธองค์จึงได้ทรงมีพุทธานุญาตให้ระงับอธิกรณ์ด้วย อมูฬหวินัย เป็นครั้งแรก
โคตมกเจดีย์ : ชื่อเจดียสถานแห่งหนึ่ง อยู่ทางทิศใต้ของเมืองเวสาลี เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับหลายครั้ง และเคยทรงทำนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์
จุลวรรค : ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดหนึ่งแห่งพระวินัยปิฎก ซึ่งมีทั้งหมด ๕ หมวด คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร ; คัมภีร์จุลวรรค มี ๑๒ ขันธกะ คือ ๑.กัมมขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคคหกรรม ๒.ปาริวาสิกขันธกะ ว่าด้วยวัตรของภิกษุผู้อยู่ปริวาส ผู้ประพฤติมานัต และผู้เตรียมจะอัพภาน ๓.สมุจจยขันธกะ ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในการประพฤติวุฏฐานวิธี ๔.สมถขันธกะ ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์ ๕.ขุททกวัตถุขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยจำนวนมาก เช่น การปลงผม ตัดเล็บ ไม้จิ้มฟัน ของใช้ต่างๆ เป็นต้น ๖.เสนาสนขันธกะ ว่าด้วยสังฆเภทและสังฆสามัคคี ๘.วัตตขันธกะ ว่าด้วยวัตรต่างๆ เช่น อาคันตุกวัตร เป็นตน ๙.ปาติโมกขัฏฐปนขันธกะ ว่าด้วยระเบียบในการงดสวดปาฏิโมกข์ในเมื่อภิกษุมีอาบัติติดตัวมาร่วมฟังอยู่ ๑๐.ภิกขุนีขันธกะ ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีเริ่มแต่ประวัติการอนุญาตให้มีการบวชครั้งแรก ๑๑.ปัญจสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ ๑๒.สัตตสติกขันธกะ ว่าด้วยสังคายนาครั้งที่ ๒ (พระไตรปิฎกเล่ม ๖-๗); ต่อจาก มหาวรรค
ชฎิล : นักบวชประเภทหนึ่ง เกล้าผมมุ่นเป็นมวยสูงขึ้น มักถือลัทธิบูชาไฟ บางครั้งจัดเข้าในพวกฤษี
เถรวาท : วาทะหรือลัทธิของพระเถระ, นิกายพระพุทธศาสนาฝ่ายใต้ ซึ่งถือตามคติที่พระอรหันต์พุทธสาวกได้วางหลักธรรมวินัยเป็นแบบแผนไว้ เมื่อครั้งปฐมสังคายนา ได้แก่ พระพุทธศาสนาอย่างที่นับถือแพร่หลายในประเทศไทย พม่า ลังกา ลาว และ กัมพูชา (อีกนิกายหนึ่ง คือ มหายาน)
ทวิช : ชื่อหนึ่งสำหรับเรียกพราหมณ์ในภาษาไทยเป็นทิชาจารย์หรือทวิชาจารย์ก็มี แปลว่าเกิด ๒ หน หมายถึงเกิดโดยกำเนิดครั้งหนึ่ง เกิดโดยได้รับครอบเป็นพราหมณ์ครั้งหนึ่ง เปรียบเหมือนนกซึ่งเกิด ๒ หนเหมือนกัน คือเกิดจากท้องแม่ออกเป็นไข่หนหนึ่ง เกิดจากไข่เป็นตัวอีกหนหนึ่ง นกจึงมีชื่อเรียกว่า ทวิช หรือ ทิช ซึ่งแปลว่า เกิด ๒ หนอีกชื่อหนึ่งด้วย
ทัพพมัลลบุตร : พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวก เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามัลลราช เมื่อพระชนม์ ๗ พรรษา มีความเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา ได้บรรพชาเป็นสามเณร เวลาปลงผม พอมีดโกนตัดกลุ่มผมครั้งที่ ๑ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ครั้งที่ ๒ ได้บรรลุสกทาคามิผล ครั้งที่ ๓ ได้บรรลุอนาคามิผล พอปลงผมเสร็จก็ได้บรรลุพระอรหัต ท่านรับภาระเป็นเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ในตำแหน่งเสนาสนปัญญาปกะ (ผู้ดูแลจัดสถานที่พักอาศัยของพระ) และภัตตุเทสก์ ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดา เสนาสนปัญญาปกะ
ธรรมกาย : “ผู้มีธรรมเป็นกาย” เป็นพระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า (ตามความในอัคคัญญสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) หมายความว่า พระองค์ทรงคิดพุทธพจน์คำสอนด้วยพระหทัยแล้วทรงนำออกเผยแพร่ด้วยพระวาจา เป็นเหตุให้พระองค์ก็คือพระธรรม เพราะทรงเป็นแหล่งที่ประมวลหรือที่ประชุมอยู่แห่งธรรมอันปรากฏเปิดเผยออกมาแก่ชาวโลก; อนึ่งธรรมกายคือกองธรรมหรือชุมนุมแห่งธรรมนั้น ย่อมเจริญงอกงามเติบขยายขึ้นได้โดยลำดับจนไพบูลย์ ในบุคคลผู้เมื่อได้สดับคำสอนของพระองค์ แล้วฝึกอบรมตนด้วยไตรสิกขาเจริญมรรคให้บรรลุภูมิแห่งอริยชน ดังตัวอย่างดำรัสของพระมหาปชาบดีโคตมี เมื่อครั้งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อปรินิพพานตามความในคัมภีร์อปทานตอนหนึ่งว่า “ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์, ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ก็เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน..รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้ทำให้เจริญเติบโต ส่วนธรรมกายอันเป็นที่เอิบสุขของหม่อมฉัน ก็เป็นสิ่งอันพระองค์ได้ทำให้เจริญเติบโต”; สรุปตามนัยอรรถกถาธรรมกายก็คือโลกุตตรธรรม ๙ หรือ อริยสัจ
นกุลบิดา : “พ่อของนกุล”, คฤหบดี ชาวเมืองสุงสุมารคีรี ในแคว้นภัคคะ มีภรรยาชื่อ นกุลมารดา สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองสุงสุมารคีรี ประทับที่ป่าเภสกลาวัน ท่านคฤหบดีและภรรยาไปเฝ้าพร้อมกับชาวเมืองคนอื่นๆ พอได้เห็นครั้งแรก ทั้ง ๒ สามีภรรยาก็เกิดความรู้สึกสนิทหมายใจเหมือนว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุตรของตน ได้เข้าไปถึงพระองค์และแสดงความรู้สึกนั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมโปรด ทั้ง ๒ ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านนกุลบิดาและนกุลมารดานี้ เป็นคู่สามีภรรยาตัวอย่าง ผู้มีความจงรักภักดีต่อกันอย่างบริสุทธิ์และมั่นคงยั่งยืน ตราบเท่าชรา ทั้งยังปรารถนาจะพบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้า เคยทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงหลักธรรมที่จะทำให้สามีภรรยาครองรักกันยั่งยืนตลอดไปทั้งภพนี้และภพหน้า เมื่อท่านนกุลบิดาเจ็บป่วยออดแอดร่างกายอ่อนแอ ไม่สบายด้วยโรคชรา ท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาครั้งหนึ่ง ที่ท่านประทับใจมากคือ พระดำรัสที่แนะนำให้ทำใจว่า “ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วย” ท่านนกุลบิดาได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้สนิทสนมคุ้นเคย (วิสสาสิกะ)
นาลันทา : ชื่อเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ ๑ โยชน์ ณ เมืองนี้ มีสวนมะม่วง ชื่อ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง คัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตร อัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของพระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะหรือนาลันทคาม
ปักขิกะ : อาหารที่เขาถวายปักษ์ละครั้ง คือ สิบห้าวันครั้งหนึ่ง
ปัญจาละ : ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของแคว้น กุรุ มีแม่น้ำภาคีรถีซึ่งเป็นแควหนึ่งของแม่น้ำคงคาตอนบนไหลผ่าน นครหลวงชื่อกัมปิลละ
ปาฐา : ชื่อเมืองหนึ่งในมัธยมประเทศ ครั้งพุทธกาล ภิกษุชาวเมืองนี้คณะหนึ่ง เป็นเหตุปรารภให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการกรานกฐิน; พระไตรปิฎกบางฉบับเขียนเป็น ปาวา
ภัคคะ : ชื่อแคว้นหนึ่งในชมพูทวีปครั้งพุทธกาล นครหลวงชื่อ สุงสุมารคีระ
มคธ : 1.ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล ตั้งอยู่ฝั่งใต้ของแม่น้ำคงคาตอนกลาง เป็นแคว้นที่มีอำนาจมากแข่งกับแคว้นโกศล และเป็นที่พระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาล มคธมีนครหลวงชื่อ ราชคฤห์ ราชาผู้ปกครองพระนามว่าพิมพิสาร ตอนปลายพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร ถูกโอรสชื่ออชาตศัตรูปลงพระชนม์และขึ้นครองราชย์สืบแทน ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาลาโศก หรือก่อนนั้น เมืองหลวงของมคธ ย้ายไปตั้งที่เมืองปาฏลีบุตร บนฝั่งแม่น้ำคงคา เหนือเมืองราชคฤห์ขึ้นไป มคธรุ่งเรืองถึงที่สุดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งแคว้นใหญ่อื่นทั้งหมดได้รวมเข้าอยู่ภายในมหาอาณาจักรของพระองค์ทั้งหมดแล้ว บัดนี้ บริเวณที่เคยเป็นแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล เรียกว่า แคว้นพิหาร 2.เรียกภาษาที่ใช้พูดในแคว้นมคธ หรือภาษาของชาวแคว้นมคธว่า ภาษามคธ และถือกันว่า ภาษาบาลีที่ใช้รักษาพระพุทธพจน์สืบมา จนบัดนี้ คือ ภาษามคธ
มลัยชนบท : ชื่อชนบทแห่งหนึ่งในเกาะลังกา เป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๕ จารึกพระไตรปิฎกเป็นตัวอักษรลงในใบลานเป็นครั้งแรก
มหากาล : ชื่อพระสาวกรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล ได้สำเร็จพระอรหันต์เป็นพี่ชายของพระจุลกาลที่ถูกภรรยาเก่า ๒ คนรุมกันจับสึกเสีย
มหาวิหาร : ชื่อวัดสำคัญวัดหนึ่ง เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ในประเทศลังกาสมัยอดีต เคยเป็นที่พำนักของพระพุทธโฆษาจารย์ชาวชมพูทวีปเมื่อครั้งท่านมาแปลคัมภีร์สิงหฬเป็นมคธ
มัจฉะ : ชื่อแคว้นหนึ่งใน ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล อยู่ทิศใต้ของแคว้นสุรเสนะ นครหลวงชื่อ วิราฏ (บางแห่งว่าสาคละ แต่ความจริงสาคละเป็นเมืองหลวงของแคว้นมัททะ)
มัลละ : ชื่อแคว้นหนึ่งบรรดา ๑๖ แคว้น ใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล ปกครองแบบสามัคคีธรรม โดยมีพวกมัลลกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง นครหลวงเดิมชื่อกุสาวดี แต่ภายหลังแยกเป็นกุสินารา กับ ปาวา
มาสก : ชื่อมาตราเงินในครั้งโบราณ ๕ มาสก เป็นหนึ่งบาท
เรวตะ : ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ทำสังคายนาครั้งที่ ๒
วัชชีบุตร : ชื่อภิกษุพวกหนึ่งชาวเมืองเวสาลี แสดงวัตถุ ๑๐ ประการ ละเมิดธรรมวินัย เป็นต้นเหตุแห่งการสังคายนา ครั้งที่ ๒
วัฏฏคามณีอภัย : ชื่อพระเจ้าแผ่นดินแห่งเกาะลังกาพระองค์หนึ่ง ครองราชย์ประมาณ พ.ศ.๕๑๕-๕๒๗ ถูกพวกทมิฬแย่งชิงราชสมบัติ เสด็จไปซ่อนพระองค์อยู่ในป่า และได้รบความช่วยเหลือจากพระเถระรูปหนึ่ง ต่อมาพระองค์กู้ราชสมบัติคืนมา ได้ทรงสร้างอภัยคีรีวิหารและอาราธนาพระเถระรูปนั้นมาอยู่ครอง กับทั้งได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีกเป็นอันมาก การสังคายนาครั้งที่ ๕ ที่จารึกพุทธพจน์ลงในใบลาน ก็จัดทำในรัชกาลนี้
วาลิการาม : ชื่อวัดหนึ่งในเมืองเวสาลี แคว้นวัชชีเป็นที่ประชุมทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ชำระวัตถุ ๑๐ ประการที่เป็นเสี้ยนหนามพระธรรมวินัย
วาสภคามิกะ : ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒
วิสาขา : ชื่อมหาอุบาสิกาสำคัญในครั้งพุทธกาล เป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐี และนางสุมนา เกิดที่เมืองภัททิยะในแคว้นอังคะ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ต่อมาได้ย้ายตามบิดามาอยู่ที่เมืองสาเกตในแคว้นโกศลแล้วได้สมรสกับนายปุณณวัฒน์บุตรชายมิคารเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี และย้ายไปอยู่ในตระกูลฝ่ายสามี นางสามารถกลับใจมิคารเศรษฐี บิดาของสามี ซึ่งนับถือครนถ์ ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา มิคารเศรษฐีนับถือนางมาก และเรียกนางวิสาขาเป็นแม่ นางวิสาขาจึงได้ชื่อใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า มิคารมารดา (มารดาของมิคารเศรษฐี) นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์อย่างมากมาย และได้ให้ขายเครื่องประดับประจำตัวตั้งแต่แต่งงาน เรียกชื่อว่า มหาลดาปสาธน์ ซึ่งมีค่าสูงยิ่ง นำเงินมาสร้างวัดถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์คือ มิคารมาตุปราสาท วัดบุพพาราม ณ พระนครสาวัตถี นางวิสาขามีบุตรหลานมากมายล้วนมีสุขภาพดีแทบทั้งนั้น แม้นางจะมีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี ก็ดูไม่แก่ และเป็นบุคคลที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางในสังคม ได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาทายิกาทั้งปวง
สังคายนา : การสวดพร้อมกัน, การร้อยกรองพระธรรมวินัย, การประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าวางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียว; สังคายนา ครั้งที่ ๑ ถึง ๕ มีดังนี้ :
สัพพกามี : ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒ เป็นผู้มีพรรษาสูงสุด และทำหน้าที่ วิสัชนา
สัมภูตสาณวาสี : ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการสงฆ์ ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒
สาคตะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถีได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดามีความเลื่อมใส ขอบวชแล้วทำความเพียรเจริญสมาบัติ ๘ ประการ จนมีความชำนาญในสมาบัติ ท่านเป็นต้นบัญญัติสุราปานสิกขาบท และเพราะเกิดความสังเวชในเหตุการณ์ที่เกิดกับตนครั้งนี้ จึงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเตโชธาตุสมาบัติ
สาฬหะ : ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒
สุภัททะ วุฒบรรพชิต : “พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่” ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการปรารภที่จะทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ก่อนบวช เป็นช่างตัดผมในเมืองอาตุมา มีบุตรชาย ๒ คน เมื่อบวชแล้วคราวหนึ่งได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่จะเสด็จมายังเมืองอาตุมา จึงให้บุตรทั้ง ๒ เอาเครื่องมือตัดผมออกไปเที่ยวขอตัดผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเอาเครื่องปรุงยาคูมาได้มากมาย แล้วบัญชาการให้ผู้คนจัดเตรียมข้าวยาคูไว้เป็นอันมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ก็นำเอาข้าวยาคูนั้นเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าตรัสถาม ทรงทราบความว่าพระสุภัททะได้ข้าวนั้นมาอย่างไรแล้ว ไม่ทรงรับและทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ๒ ข้อ คือ บรรพชิตไม่พึงชักชวนคนทำในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ และภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผมไว้ประจำตัว จากการที่ได้ถูกติเตียนและเสียของเสียหน้าเสียใจ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น พระสุภัททะก็ได้ผูกอาฆาตไว้ ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน พระสุภัททะร่วมอยู่ในคณะของพระมหากัสสปเถระ ซึ่งกำลังเดินทางจากเมืองปาวาสู่เมืองกุสินารา ระหว่างทางนั้น คณะได้ทราบข่าวพุทธปรินิพพานจากอาชีวกผู้หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นราคะ (คือพระปุถชน โสดาบัน และสกทาคามี) พากันร้องไห้คร่ำครวญเป็นอันมาก ในขณะนั้นเอง พระสุภัททะวุฒบรรพชิต ก็ร้องห้ามขึ้นว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไห้ไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว พระมหาสมณะนั้นคอยเบียดเบียนพวกเราว่าสิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ บัดนี้พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น” พระมหากัสสปเถระได้ฟังแล้วเกิดธรรมสังเวช ดำริว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน ก็ยังเกิดเสี้ยนหนามขึ้นแล้วในพระศาสนา หากต่อไปคนชั่วได้พวกพ้องมีกำลังเติบกล้าขึ้น ก็จะทำพระศาสนาให้เสื่อมถอย ดังนั้น หลังจากเสร็จงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว ท่านจึงได้ยกถ้อยคำของสุภัททะวุฒบรรพชิต นี้ขึ้นเป็นข้อปรารภ ชักชวนพระเถระทั้งหลายร่วมกันทำสังคายนาครั้งแรก
สุมนะ : ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒
โสณกะ : พระเถระรูปหนึ่งในจำนวน ๒ รูป (อีกรูปหนึ่งคือ พระอุตตรเถระ) ที่พระโมคัลลีบุตรติสสเถระ ส่งเป็นพระศาสนทูตมาประกาศพระศาสนา ในดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อเสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งที่ ๓ (ประมาณ พ.ศ.๒๓๔) นับเป็นสายหนึ่งในพระศาสนทูต ๙ สาย
โสณะ : พระเถระรูปหนึ่งในจำนวน ๒ รูป (อีกรูปหนึ่งคือ พระอุตตรเถระ) ที่พระโมคัลลีบุตรติสสเถระ ส่งเป็นพระศาสนทูตมาประกาศพระศาสนา ในดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อเสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งที่ ๓ (ประมาณ พ.ศ.๒๓๔) นับเป็นสายหนึ่งในพระศาสนทูต ๙ สาย
อนาโรจนา :
การไม่บอก คือ ไม่บอกประจานตัวแก่ภิกษุทั้งหลายภายในเขต ๒ เลฑฑุบาตจากเครื่องล้อมหรือจากอุปจารแห่งอาวาส ให้รู้ทั่วกันว่าตนต้องอาบัติสังฆาทิเสส กำลังอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์; เป็นเหตุอย่างหนึ่งของการขาดราตรีแห่งมานัตต์หรือปริวาส ผู้ประพฤติมานัตต์ ต้องบอกทุกวัน แต่ผู้อยู่ปริวาส ไม่ต้องบอกทุกวัน ปกตัตตภิกษุรูปใดยังไม่ได้รับบอก เธอบอกแก่ภิกษุรูปนั้นครั้งหนึ่งแล้ว ไม่ต้องบอกอีกตลอดกาลที่อยู่ในอาวาสหรือในอนาวาสนั้นแต่ต้องบอกในท้ายอุโบสถ ท้ายปวารณาเมื่อถึงวันนั้นๆ และภิกษุใดได้รับบอกแล้ว ออกจากอาวาสหรืออนาวาสนั้นไป เมื่อกลับมาใหม่ต้องได้รับบอกอีก ดู รัตติเฉท
อริฏฐภิกษุ : ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล เป็นบุคคลแรกที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาป
อริยชาติ : เกิดเป็นอริยะ คือ บรรลุมรรคผล กลายเป็นอริยบุคคล เปรียบเหมือนเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยะ, อีกอย่างหนึ่งว่า ชาติอริยะ หรือชาวอริยะ ซึ่งเป็นผู้เจริญในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงผู้กำจัดกิเลสได้ ซึ่งชนวรรณะไหน เผ่าไหน ก็อาจเป็นได้ ต่างจากอริยชาติ หรืออริยกชาติที่มีมาแต่เดิม ซึ่งจำกัดด้วยชาติคือ กำเนิด
อโศกมหาราช : พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของชมพูทวีป และเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่สำคัญยิ่ง เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์ โมริยะ ครองราชสมบัติ ณ พระนคร ปาฎลีบุตร ตั้งแต่ พ) ศ) ๒๑๘ ถึง พ) ศ) ๒๖๐ (นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันส่วนมากกว่า พ) ศ) ๒๗๐-๓๒๑) เมื่อครองราชย์ได้ ๘ พรรษา ทรงยกทัพไปปราบแคว้นกลิงคะที่เป็นชนชาติเข้มแข็งลงได้ ทำให้อาณาจักรของพระองค์กว้างใหญ่ที่สุดในประวัติชาติอินเดีย แต่ในการสงครามนั้น มีผู้คนล้มตายและประสบภัยพิบัติมากมาย ทำให้พระองค์สลดพระทัย พอดีได้ทรงสดับคำสอนในพระพุทธศาสนา ทรงเลื่อมใสได้ทรงเลิกการสงคราม หันมาทำนุบำรุงพระศาสนาและความรุ่งเรืองในทางสงบของประเทศ ทรงสร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ และการส่งศาสนทูตออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ เช่น พระมหินถเถระ ไปยังลังกาทวีป และพระโสณะพระอุตตระมายังสุวรรณภูมิ เป็นต้น ชาวพุทธไทยมักเรียกพระองค์ว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
อังคุตตราปะ : ชื่อแคว้นหนึ่งในชมพูทวีป ครั้งพุทธกาล เมืองหลวงเป็นเพียงนิคม ชื่อ อาปณะ
อาชีวก : นักบวชชีเปลือยพวกหนึ่งในครั้งพุทธกาล เป็นสาวกของมักขลิโคสาล
อาโลกเลณสถาน : ชื่อถ้ำแห่งหนึ่งในมลัยชนบท เกาะลังกา เป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๕ จารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน