จ่าย : ในประโยคว่า “ภิกษุใดมีบาตรมีแผลหย่อน ๕ ให้จ่ายบาตรใหม่” ให้จ่ายคือให้ขอบาตรใหม่
เจ้าอธิการแห่งคลัง : ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับคลังเก็บพัสดุของสงฆ์ มี ๒ อย่างคือ ผู้รักษาคลังที่เก็บพัสดุของสงฆ์ (ภัณฑาคาริก) และผู้จ่ายของเล็กน้อยให้แก่ภิกษุทั้งหลาย (อัปปมัตตวิสัชชกะ)
พยัญชนะ : อักษร, ตัวหนังสือที่มิใช่สระ; กับข้าวนอกจากแกง คู่กับสูปะ; ลักษณะของร่างกาย
มัตตัญญุตา :
ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือความพอเหมาะพอดี เช่น รู้จักประมาณในการแสวงหา รู้จักประมาณในการใช้จ่ายพอเหมาะพอควร เป็นต้น ดู สัปปุริสธรรม
วิสัชชกะ : ผู้จ่าย, ผู้แจกจ่าย; ผู้ตอบ, ผู้วิสัชชนา
สุขของคฤหัสก์ : สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี และควรขวนขวายให้มีอยู่เสมอ มี ๔ อย่างคือ ๑.สุขเกิดจากความมีทรัพย์ (ที่ได้มาด้วยเรี่ยวแรงของตน โดยทางชอบธรรม) ๒.สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ (เลี้ยงตนเลี้ยงคนควรเลี้ยง และทำประโยชน์) ๓.สุขเกิดความประพฤติไม่มีโทษ (มีสุจริตทั้ง กาย วาจา และใจ), เฉพาะข้อ ๔ ตามแบบเรียนว่า สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ
อัปปมัตตกวิสัชชกะ : ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้มีหน้าที่เป็นผู้จ่ายของเล็กน้อย เช่น เข็มเย็บผ้า มีดตัดเล็บ ประคด เภสัชทั้ง ๕ เป็นต้น ให้แก่ภิกษุทั้งหลาย
อากาสานัญจายตนะ : ฌานกำหนดอากาศคือช่องว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์, ภพของผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนฌาน (ข้อ ๑ ในอรูป ๔)
ปิสุณาย วาจาย เวรมณี : เว้นจากการพูดส่อเสียด, เว้นจากพูดยุยงให้เขาแตกร้าวกัน (ข้อ ๕ ในกุศลกรรมบถ ๑๐)
ผรุสาย วาจาย เวรมณี : เว้นจากพูดคำหยาบ (ข้อ ๖ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)
มหากัจจายนะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในกัจจายนโคตรที่พระนครอุชเชนี เป็นบุตรปุโรหิตของพระราชาแห่งแคว้นอวันตี เรียนจบไตรเพทแล้ว ต่อมาได้เป็นปุโรหิตแทนบิดา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่งให้หาทางนำพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุชเชนี กัจจายนปุโรหิตจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุอรหัตตผล อุปสมบทแล้ว แสดงความประสงค์ที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าสู่แคว้นอวันตี พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ท่านเดินทางไปเอง ท่านเดินทางไปยังกรุงอุชเชนี ประกาศธรรม ยังพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองทั้งหมดให้เลื่อมใสในพระศาสนาแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่าท่านมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ บุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อโสเรยยะเห็นแล้วเกิดมีอกุศลจิตต่อท่านว่าให้ได้อย่างท่านเป็นภรรยาตนหรือให้ภรรยาตนมีผิวพรรณงามอย่างท่าน เพราะอกุศลจิตนั้น เพศของโสเรยยะกลายเป็นหญิงไป นางสาวโสเรยยะแต่งงานมีครอบครัว มีบุตรแล้ว ต่อมาได้พบและขอขมาต่อท่านเพศก็กลับเป็นชายตามเดิม โสเรยยะขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
วิญญาณัญจายตนะ : ฌานอันกำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ (ข้อ ๒ ในอรูป ๔)
กัจจานโคตร : ตระกูลพราหมณ์กัจจานะหรือกัจจายนะ
กัจจายนโคตร : ตระกูลพราหมณ์กัจจานะหรือกัจจายนะ
กัจจายนปุโรหิต : ปุโรหิตชื่อกัจจายนะ เป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชติ กรุงอุชเชนี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า บรรลุพระอรหัตแล้วขออุปสมบท มีชื่อในพระศาสนา ว่าพระมหากัจจายนะ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางอธิบายความของคำย่อให้พิสดาร
กุศลกรรมบถ : ทางแห่งกรรมดี, ทางทำดี, ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติมี ๑๐ อย่าง คือก.กายกรรม ๓ ได้แก่ ๑.ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำลายชีวิต ๒.อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาของที่เข้ามิได้ให้ ๓.กาเมสุมิจฉาจาร เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกามข.วจีกรรม ๔ ได้แก่ ๔.มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ ๕.ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด ๖.ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ ๗.สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อค.มโนกรรม ๓ ได้แก่ ๘.อนภิชฌา ไม่โลภคอยจ้องอยากได้ของเขา ๙.อพยาบาท ไม่คิดร้ายเบียดเบียนเขา ๑๐.สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม
ติตถกร : เจ้าลัทธิ หมายถึงคณาจารย์ ๖ คน คือ ๑.ปูรณกัสสป ๒.มักขลิโคสาล ๓.อชิตเกสกัมพล ๔.ปกุทธกัจจายนะ ๕.สัญชัยเวลัฏฐบุตร ๖.นิครนถนาฏบุตร มักเรียกว่า ครูทั้ง ๖
พรหมโลก : ที่อยู่ของพรหม ตามปกติหมายถึงรูปพรหม ซึ่งมี ๑๖ ชั้น (เรียกว่า รูปโลก) ตามลำดับดังนี้ ๑.พรหมปาริสัชชา ๒.พรหมปุโรหิตา ๓.มหาพรหมา ๔.ปริตตาภา ๕.อัปปมาณาภา ๖.อาภัสสรา ๗.ปริตตสุภา ๘.อัปปมาณสุภา ๙.สุภกิณหา ๑๐.อสัญญีสัตตา ๑๑.เวหัปผลา ๑๒.อวิหา ๑๓.อตัปปา ๑๔.สุทัสสา ๑๕.สุทัสสี ๑๖.อกนิฏฐา; นอกจากนี้ยังมีอรูปพรหม ซึ่งแบ่งเป็น ๔ ชั้น (เรียกว่า อรูปโลก) คือ ๑.อากาสานัญจายตนะ ๒.วิญญาณัญจายตนะ ๓.อากิญจัญญายตนะ ๔.เนวสัญญานาสัญญายตนะ
มธุรสูตร : พระสูตรที่พระมหากัจจายนะแสดงแก่พระเจ้ามธุรราช อวันตีบุตร กล่าวถึงความไม่ต่างกันของวรรณะ ๔ เหล่า คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ใจความว่าวรรณะ ๔ นี้ แม้จะถือตัวอย่างไร เหยียดหยามกันอย่างไร แต่ถ้าทำดีก็ไปสู่ที่ดีเหมือนกันหมด ถ้าทำชั่วก็ต้องได้รับโทษ ไปอบายเหมือนกันหมด ทุกวรรณะ เสมอกันในพระธรรมวินัย ออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว ไม่เรียกว่า วรรณะไหน แต่เป็นสมณะเหมือนกันหมด เมื่อจบเทศนาพระเจ้ามธุรราชประกาศพระองค์เป็นอุบาสก (สูตรที่ ๓๔ ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก)
วิญญาณฐิติ : ภูมิเป็นที่ตั้งของวิญญาณ มี ๗ คือ ๑.สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ พวกเทพบางหมู่ พวกวินิปาติกะ บางหมู่ ๒.สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพผู้อยู่ในจำพวกพรหมผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน ๓.สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสสระ ๔.สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพสุภกิณหะ ๕.สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ ๖.สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ ๗.สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจายตนะ
ศาสดา : ผู้อบรมสั่งสอน, เป็นพระนามอย่างหนึ่งที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้า; ปัจจุบันใช้เรียกพระพุทธเจ้า; ปัจจุบันใช้เรียกผู้ตั้งศาสนาโดยทั่วไป, ในพุทธกาล ครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร ถ้าเรียกตามบาลีก็เป็นศาสดา ๖
โสณกุฏิกัณณะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรของอุบาสิกาชื่อกาฬี ซึ่งเป็นพระโสดาบัน เกิดที่บ้านเดิมของมารดาในเมืองราชคฤห์ แล้วกลับไปอยู่ในตระกูลบิดาที่แคว้นอวันตี ทักขิณาบถ พระมหากัจจายนะให้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วรอต่อมาอีก ๓ ปี เมื่อท่านหาภิกษุได้ครบ ๑๐ รูปแล้วจึงให้อุปสมบทเป็นภิกษุ บวชแล้วไม่นานก็สำเร็จพระอรหัต ต่อมาท่านได้เดินทางมาเฝ้าพระศาสดาที่เมืองสาวัตถี พร้อมทั้งนำความที่พระอุปัชฌาย์สั่งมากราบทูลขอพระพุทธานุญาตพิเศษสำหรับปัจจันตชนบท เช่น ให้สงฆ์มีภิกษุ ๕ รูปให้อุปสมบทได้ ให้ใช้รองเท้าหนาหลายชั้นได้ ให้อาบน้ำได้ตลอดทุกเวลา เป็นต้น ท่านแสดงธรรมมีเสียงไพเราะแจ่มใสชัดเจนจึงได้รับย่องย่องจากพระศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในทางกล่าวกัลยาณพจน์
อรูป : ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ อรูปฌาน, ภพของสัตว์ผู้เข้าถืออรูปฌาน, ภพของอรูปพรหม มี ๔ คือ ๑) อากาสานัญจายตนะ (กำหนดที่ว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์) ๒) วิญญาณัญจายตนะ (กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์) ๓) อากิญจัญญายตนะ (กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์) ๔) เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)
อุทเทสวิภังคสูตร : ชื่อสูตรที่ ๓๘ แห่งมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวิญญาณไว้โดยย่อ ภิกษุทั้งหลายอยากฟังโดยพิสดาร จึงขอให้พระมหากัจจายนะอธิบายความ พระมหากัจจายนะแสดงได้เนื้อความถูกต้องชัดเจนดีมาก จนได้รับคำยกย่องชมเชยจากพระพุทธเจ้า