ชีพ : ชีวิต, ความเป็นใหญ่
เยวาปนกธรรม : “ก็หรือว่าธรรมแม้อื่นใด” หมายถึงธรรมจำพวกที่กำหนดแน่ไม่ได้ว่าข้อไหนจะเกิดขึ้น ได้แก่ เจตสิก ๑๖ เป็นพวกที่เกิดในกุศลจิต ๙ คือ ๑.ฉันทะ ๒.อธิโมกข์ ๓.มนสิการ ๔.อุเบกขา (ตัตรมัชฌัตตตา) ๕.กรุณา ๖.มุทิตา ๗.สัมมาวาจา (วจีทุจริตวิรัติ) ๘.สมมากันมันตะ (กายทุจริตวิรัติ) ๙.สัมมาอาชีวะ (มิจฉาชีววิรัติ) เป็นพวกที่เกิดในอกุศลจิต ๑๐ คือ ๑.ฉันทะ ๒.อธิโมกข์ ๓.มนสิการ ๔.มานะ ๕.อิสสา ๖.มัจฉริยะ ๗.ถีนะ ๘.มิทธะ ๙.อุทธัจจะ ๑๐.กุกกุจจะ นับเฉพาะที่ไม่ซ้ำ (คือเว้น ๓ ข้อแรก) เป็น ๑๖
อดิเรก : 1) เกินกำหนด, ยิ่งกว่าปกติ, ส่วนเกิน, เหลือเฟือ, ส่วนเพิ่มเติม, ส่วนเพิ่มพิเศษ 2) ถวายอติเรก หรือ ถวายอดิเรก คือพระสงฆ์ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหรือสมเด็จพระบรมราชินี ท้ายพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ในระหว่างอนุโมทนา ถ้ากล่าวในพระราชฐานต้องต่อท้ายด้วยถวายพระพรลา, เรียกอย่างนี้เพราะขึ้นต้นว่า อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ ฯ
สาชีพ : แบบแผนแห่งความประพฤติที่ทำให้ชีวิตร่วมเป็นอันเดียวกัน ได้แก่สิกขาบททั้งปวงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย อันทำให้ภิกษุทั้งหลายผู้มาจากถิ่นฐานชาติตระกูลต่าง ๆกัน มามีความเป็นอยู่เสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน; มาคู่กับ สิกขา
เจตภูต : สภาพเป็นผู้คิดอ่าน, ตามที่เข้าใจกัน หมายถึงดวงวิญญาณหรือดวงชีพอันเที่ยงแท้ที่สิงอยู่ในตัวคน กล่าวกันว่าออกจากร่างได้ในเวลานอนหลับ และเป็นตัวไปเกิดใหม่เมื่อกายนี้แตกทำลาย เป็นคำที่ไทยเราใช้เรียกแทนคำว่า อาตมัน หรืออัตตาของลัทธิพราหมณ์และเป็นความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา
ชีโว : ผู้เป็น, ดวงชีพ ตรงกับ อาตมัน หรือ “อัตตา” ของลัทธิพราหมณ์
ปาริสุทธิศีล : ศีลเป็นเครื่องทำให้บริสุทธิ์, ศีลเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ หรือความประพฤติบริสุทธิที่จัดเป็นศีลมี ๔ อย่าง คือ ๑.ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๒.อินทรีย์สังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๓.อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบธรรม ๔.ปัจจัยสันนิสิตศีล พิจารณาก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช
มรรค : ทาง, หนทาง 1.มรรค ว่าโดยองค์ประกอบ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่าทางมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ เรียกสามัญว่า มรรคมีองค์ ๘ คือ ๑.สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ ๒.สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ๓.สัมมาวาจา เจรจาชอบ ๔.สัมมากัมมันตะ ทำการชอบ ๕.สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ๖.สัมมาวายามะ เพียรชอบ ๗.สัมมาสติ ระลึกชอบ ๘.สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ 2.มรรค ว่าโดยระดับการให้สำเร็จกิจ คือ ทางอันให้ถึงความเป็นอริยบุคคลแต่ละขั้น, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด เป็นชื่อแห่งโลกุตตรธรรม คู่กับผล มี ๔ ชั้นคือ โสดาปัตติมรรค ๑ สกทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตตมรรค ๑
มิจฉาจริยา :
ความประพฤติผิด มิจฉาชีพ การหาเลี้ยงชีพในทางผิด ดู มิจฉาอาชีวะ
มิจฉาอาชีวะ : เลี้ยงชีพผิด ได้แก่ หาเลี้ยงชีพในทางทุจริตผิดวินัยหรือผิดศีลธรรม เช่น หลอกลวงเขา เป็นต้น
วิบัติ : ความเสีย, ความผิดพลาด, ความบกพร่อง, ความเสียหายใช้การไม่ได้ 1.วิบัติความเสียของภิกษุ มี ๔ อย่าง คือ ๑.ศีลวิบัติ ความเสียแห่งศีล ๒.อาจารวิบัติ ความเสียมรรยาท ๓.ทิฏฐิวิบัติ ความเห็นผิดธรรมผิดวินัย ๔.อาชีววิบัติ ความเสียหายแห่งการเลี้ยงชีพ 2.วิบัติคือความเสียหายใช้ไม่ได้
สันโดษ : ความยินดี, ความพอใจ, ยินดีด้วยปัจจัย ๔ คือ ผ้านุ่งผ้าห่ม อาหารที่นอนที่นั่ง และยา ตามมีตามได้, ยินดีของของตน, การมีความสุขความพอใจด้วยเครื่องเลี้ยงชีพที่หามาได้ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรมของตน ไม่โลภ ไม่ริษยาใคร; สันโดษ ๓ คือ ๑.ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้ คือได้สิ่งใดมาด้วยความเพียรของตน ก็พอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่เดือดร้อนเพราะของที่ไม่ได้ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่นไม่ริษยาเขา ๒.ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง คือพอใจเพียงแค่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและขอบเขตการใช้สอยของตน ของที่เกินกำลังก็ไม่หวงแหนเสียดายไม่เก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน ๓.ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร คือ พอใจตามที่สมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนว ทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่นภิกษุพอใจแต่ของอันเหมาะกับสมณภาวะ หรือได้ของใช้ที่ไม่เหมาะกับตนแต่จะมีประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็นำไปมอบให้แก่เขา เป็นต้น; สันโดษ ๓ นี้เป็นไปในปัจจัย ๔ แต่ละอย่าง จึงรวมเรียกว่า สันโดษ ๑๒
สัสสตทิฏฐิ : ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่าอัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง ตรงข้ามกับอุจเฉททิฏฐิ (ข้อ ๑ ในทิฏฐิ ๒)
อกุศล : บาป, ชั่ว, ไม่ฉลาด, ความชั่ว, กรรมชั่ว
อเนสนา : การหาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควรแก่ภิกษุ, เลี้ยงชีวิตผิดสมณะ เช่น หลอกลวงเขาด้วยการอวดอุตริมนุสธรรม ทำวิญญัติคือออกปากขอต่อคนที่ไม่ควรขอ ใช้เงินลงทุนหาผลประโยชน์ ต่อลาภด้วยลาภคือให้แต่น้อย เพื่อหวังตอบแทนมาก เป็นหมอเวทมนต์ เสกเป่า เป็นต้น
อภิณหปัจจเวกขณ์ : ข้อที่ควรพิจารณาเนืองๆ, เรื่องที่ควรพิจารณาทุกๆ วัน มี ๕ อย่าง คือ ๑) ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๒) ว่าเรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๓) ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๔) ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๕) ว่าเรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว; อีกหมวดหนึ่ง สำหรับบรรพชิต แปลว่า ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๑๐ อย่าง (ปัพพชิตอภิรหปัจจเวกขณ์) คือ ๑) บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า บัดนี้ เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว ๒) ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๓) ว่าเรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ ๔) ว่า ตัวเราเองยังติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ ๕) ว่าเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญู ใคร่ครวญแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ ๖) ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๗) ว่าเรามีกรรมเป็นของตน เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว ๘) ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๙) ว่า เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่ ๑๐) ว่า คุณวิเศษที่เราบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ ที่จะทำให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมือถูกเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง (ข้อ ๑ ท่านเติมท้ายว่าอาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ ข้อ ๒) เติมว่าเราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ข้อ ๗) ท่านเขียนว่า อาการกายวาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้น ไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้)
อริยวัฑฒิ : ความเจริญอย่างประเสริฐ, หลักความเจริญของอารยชน มี ๕ คือ ๑) ศรัทธา ความเชื่อความมั่นใจในพระรัตนตรัย ในหลักแห่งความจริงความดีงามอันมีเหตุผลและในการที่จะทำความดีงาม ๒) ศีล ความประพฤติดี มีวินัย เลี้ยงชีพสุจริต ๓) สุตะ การเล่าเรียนสดับฟังศึกษาหาความรู้ ๔) จาคะ ความเผื่อแผ่เสียสละน้ำใจและในกว้าง พร้อมที่จะรับฟังและร่วมมือ ไม่คับแคบเอาแต่ตัว ๕) ปัญญา ความรอบรู้ รู้คิด รู้พิจารณา เข้าใจเหตุผล รู้จักโลกและชีวิตตามความเป็นจริง
อันตคาหิกทิฏฐิ : ความเห็นที่ยึดเอาที่สุด คือ แล่นไปถึงที่สุดในเรื่องหนึ่งๆ มี ๑๐ อย่าง คือ ๑) โลกเที่ยง ๒) โลกไม่เที่ยง ๓) โลกมีที่สุด ๔) โลกไม่มีที่สุด ๕) ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ๖) ชีพก็อย่าง สรีระก็อย่าง ๗) สัตว์ตายแล้วยังมีอยู่ ๘) สัตว์ตายแล้ว ย่อมไม่มี ๙) สัตว์ตายแล้วทั้งมีอยู่ ทั้งไม่มี ๑๐) สัตว์ตายแล้วจะมีอยู่ ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ ก็ไม่ใช่
อาชีววิบัติ : เสียอาชีวะ, ความเสียหายแห่งการเลี้ยงชีพ คือ ประกอบมิจฉาอาชีวะมีหลอกลวงเขาเลี้ยงชีพ เป็นต้น (ข้อ ๔ ในวิบัติ ๔)
อาชีวะ : อาชีพ, การเลี้ยงชีพ, ความเพียรพยายามในการแสวงหาปัจจัยยังชีพ, การทำมาหากิน
อารยวัฒิ : ความเจริญอย่างประเสริฐ, หลักความเจริญของอารยชน มี ๕ คือ ๑) ศรัทธา ความเชื่อความมั่นใจในพระรัตนตรัย ในหลักแห่งความจริงความดีงามอันมีเหตุผลและในการที่จะทำความดีงาม ๒) ศีล ความประพฤติดี มีวินัย เลี้ยงชีพสุจริต ๓) สุตะ การเล่าเรียนสดับฟังศึกษาหาความรู้ ๔) จาคะ ความเผื่อแผ่เสียสละน้ำใจและในกว้าง พร้อมที่จะรับฟังและร่วมมือ ไม่คับแคบเอาแต่ตัว ๕) ปัญญา ความรอบรู้ รู้คิด รู้พิจารณา เข้าใจเหตุผล รู้จักโลกและชีวิตตามความเป็นจริง
อาหาเรปริเยฏฐิทุกข์ : ทุกข์เกี่ยวกับการแสวงหาอาหาร, ทุกข์ในการหากิน ได้แก่ อาชีวทุกข์ คือ ทุกข์เนื่องด้วยการเลี้ยงชีพ
อุปปถกิริยา : การทำนอกรีตนอกรอยของสมณะ, ความประพฤตินอกแบบแผนของภิกษุสามเณร ท่านจัดรวมไว้เป็น ๓ ประเภท คือ ๑) อนาจาร ประพฤติไม่ดีไม่งาม และเล่นไม่เหมาะสมต่างๆ ๒) ปาปสมาจาร ความประพฤติเลวทราม คือ คบหากับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร ทำตนเป็นกุลทูสก ๓) อเนสนา หาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควร เช่น เป็นหมอเสกเป่า ให้หวย เป็นต้น