กัลบก : ช่างตัดผม, ช่างโกนผม
ภูษามาลา : ช่างแต่งผม
จุนทกัมมารบุตร : นายจุนทะ บุตรช่างทอง เป็นชาวเมืองปาวา ผู้ถวายภัตตาหารครั้งสุดท้ายแก่พระพุทธเจ้าในเช้าวันปรินิพพาน
ผ้าทิพย์ : ผ้าห้อยหน้าตักพระพุทธรูป (โดยมากเป็นปูนปั้นมีลายต่างๆ)
ศิลปศาสตร์ : ตำราว่าด้วยวิชาความรู้ต่างๆ มี ๑๘ ประการ เช่นตำราว่าด้วยการคำนวณ ตำรายิงธนู เป็นต้น อันได้มีการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล; ๑๘ ประการนั้น มีหลายแบบ ยกมาดูแบบหนึ่งจากคัมภีร์โลกนิติ และธรรมนิติ ได้แก่ ๑.สูติ ความรู้ทั่วไป ๒.สัมมติ ความรู้กฎธรรมเนียม ๓.สังขยา คำนวณ ๔.โยคยันตร์ การช่างการยนตร์ ๕.นีติ นิติศาสตร์ ๖.วิเสสิกา ความรู้การอันให้เกิดมงคล ๗.คันธัพพา วิชาร้องรำ ๘.คณิกา วิชาบริหารร่างกาย ๙.ธนุพเพธา วิชายิงธนู ๑๐.ปุราณา โบราณคดี ๑๑.ติกิจฉา วิชาแพทย์ ๑๒.อิติหาสา ตำนานหรือประวัติศาสตร์ ๑๓.โชติ ดาราศาสตร์ ๑๔.มายา ตำราพิชัยสงคราม ๑๕.ฉันทสา การประพันธ์ ๑๖.เกตุ วิชาพูด ๑๗.มันตา วิชามนต์ ๑๘.สัททา วิชาไวยากรณ์, ทั้ง ๑๘ อย่างนี้โบราณเรียกรวมว่า สิปปะ หรือศิลปะ ไทยแปลออกเป็น ศิลปศาสตร์ (ตำราว่าด้วยศิลปะต่างๆ); แต่ในสมัยปัจจุบัน ได้แยกความหมายศิลปะ กับ ศาสตร์ ออกจากกัน คือ ศิลปะ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรง ความงาม เช่น ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ และจิตรกรรม เป็นต้น ศาสตร์ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรงความจริง เช่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ศิลปะ : ฝีมือ, ความฉลาดในฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การแสดงออกมาให้ปรากฏอย่างงดงามน่าชม, วิชาที่ใช้ฝีมือ, วิชาชีพต่างๆ
สุภัททะ วุฒบรรพชิต : “พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่” ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการปรารภที่จะทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ก่อนบวช เป็นช่างตัดผมในเมืองอาตุมา มีบุตรชาย ๒ คน เมื่อบวชแล้วคราวหนึ่งได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่จะเสด็จมายังเมืองอาตุมา จึงให้บุตรทั้ง ๒ เอาเครื่องมือตัดผมออกไปเที่ยวขอตัดผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเอาเครื่องปรุงยาคูมาได้มากมาย แล้วบัญชาการให้ผู้คนจัดเตรียมข้าวยาคูไว้เป็นอันมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ก็นำเอาข้าวยาคูนั้นเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าตรัสถาม ทรงทราบความว่าพระสุภัททะได้ข้าวนั้นมาอย่างไรแล้ว ไม่ทรงรับและทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ๒ ข้อ คือ บรรพชิตไม่พึงชักชวนคนทำในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ และภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผมไว้ประจำตัว จากการที่ได้ถูกติเตียนและเสียของเสียหน้าเสียใจ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น พระสุภัททะก็ได้ผูกอาฆาตไว้ ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน พระสุภัททะร่วมอยู่ในคณะของพระมหากัสสปเถระ ซึ่งกำลังเดินทางจากเมืองปาวาสู่เมืองกุสินารา ระหว่างทางนั้น คณะได้ทราบข่าวพุทธปรินิพพานจากอาชีวกผู้หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นราคะ (คือพระปุถชน โสดาบัน และสกทาคามี) พากันร้องไห้คร่ำครวญเป็นอันมาก ในขณะนั้นเอง พระสุภัททะวุฒบรรพชิต ก็ร้องห้ามขึ้นว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไห้ไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว พระมหาสมณะนั้นคอยเบียดเบียนพวกเราว่าสิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ บัดนี้พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น” พระมหากัสสปเถระได้ฟังแล้วเกิดธรรมสังเวช ดำริว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน ก็ยังเกิดเสี้ยนหนามขึ้นแล้วในพระศาสนา หากต่อไปคนชั่วได้พวกพ้องมีกำลังเติบกล้าขึ้น ก็จะทำพระศาสนาให้เสื่อมถอย ดังนั้น หลังจากเสร็จงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว ท่านจึงได้ยกถ้อยคำของสุภัททะวุฒบรรพชิต นี้ขึ้นเป็นข้อปรารภ ชักชวนพระเถระทั้งหลายร่วมกันทำสังคายนาครั้งแรก
หัตถกรรม : การทำด้วยฝีมือ, การช่าง
อนุพยัญชนะ :
ลักษณะน้อยๆ, พระลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ (นอกเหนือจากมหาบุรุษลักษณะ ๓๒) อีก ๘๐ ประการ คือ ๑) มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม, ๒) นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไป โดยลำดับแต่ต้นจนปลาย, ๓) นิ้วพระหัตถ์ แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี, ๔) พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง, ๕) พระนขาทั้ง ๒๐ นั้น งอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง, ๖) พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลม สนิทมิได้เป็นริ้วรอย, ๗) ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก, ๘) พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา, ๙) พระดำเนินงานดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ, ๑๐) พระดำเนินงามดุจสีหราช, ๑๑) พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์, ๑๒) พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน, ๑๓) ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน, ๑๔) พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก, ๑๕) มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี ๑๖) พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง, ๑๗) พระอุทรมีสัณฐานอันลึก, ๑๘) ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ, ๑๙) ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี, ๒๐) ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี, ๒๑) พระอังคาพยใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้, ๒๒) พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งประสรีรกาย, ๒๓) พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง ๒๔) พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง, ๒๕) พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง, ๒๖) พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง, ๒๗) ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ, ๒๘) มีพระนาสิกอันสูง, ๒๙) สัณฐานนาสิกงามแฉล้ม ๓๐) มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก, ๓๑) พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน, ๓๒) พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์, ๓๓) พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย, ๓๔) พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น, ๓๕) พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์, ๓๖) ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย ๓๗) พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน, ๓๘) ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก, ๓๙) ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว ๔๐) ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด ๔๑) ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง, ๔๒) รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ ๔๓) กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์ ๔๔) กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน ๔๕) ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ๔๖) ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด ๔๗) พระชิวหามีสัณฐานอันงาม ๔๘) พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้างมีพรรณอันแดงเข้ม ๔๙) พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ ๕๐) ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม ๕๑) ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง ๕๒) แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง ๕๓) พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว ๕๔) ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน ๕๕) พระนลาฏมีสัณฐานอันงาม ๕๖) พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้ ๕๗) พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด ๕๘) เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ ๕๙) พระโขนงนั้นใหญ่ ๖๐) พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร ๖๑) ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๒) พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ ๖๓) พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ๖๔) พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ ๖๕) พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย ๖๖) กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา ๖๗) พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น ๖๘) พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๙) ลมอัสสาสะและปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด ๗๐) พระโอษฐมีสัณฐานอันงามดุจแย้ม ๗๑) กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล ๗๒) พระเกสาดำเป็นแสง ๗๓) กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ ๗๔) พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ ๗๕) พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น ๗๖) พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น ๗๗) พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด ๗๘) เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง ๗๙) เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏทุกๆ เส้น ๘๐) วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ฯ นิยมเรียกว่า อสีตยานุพยัญชนะ; ดู มหาบุรุษลักษณะ
โมหาโรปนกรรม : กิริยาที่สวดประกาศยกโทษภิกษุว่า แสร้งทำหลง คือรู้แล้วทำเป็นไม่รู้; เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้ว ยังแกล้งทำไม่รู้อีก ต้องปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๓ แห่งสหธรรมิกวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)
กรรม ๑๒ : กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ ๑๒ อย่างคือ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่ ๑.ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้ ๒.อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า ๓.อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆไป ๔.อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ ได้แก่ ๕.ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ๖.อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือเข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม ๗.อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาบางหรือสั้นเข้า ๘.อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรม ๒ อย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล ได้แก่ ๙.ครุกกรรม กรรมหนัก ให้ผลก่อน ๑๐.พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองลงมา ๑๑.อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น ๑๒.กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล
จุลวรรค : ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดหนึ่งแห่งพระวินัยปิฎก ซึ่งมีทั้งหมด ๕ หมวด คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร ; คัมภีร์จุลวรรค มี ๑๒ ขันธกะ คือ ๑.กัมมขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคคหกรรม ๒.ปาริวาสิกขันธกะ ว่าด้วยวัตรของภิกษุผู้อยู่ปริวาส ผู้ประพฤติมานัต และผู้เตรียมจะอัพภาน ๓.สมุจจยขันธกะ ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในการประพฤติวุฏฐานวิธี ๔.สมถขันธกะ ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์ ๕.ขุททกวัตถุขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยจำนวนมาก เช่น การปลงผม ตัดเล็บ ไม้จิ้มฟัน ของใช้ต่างๆ เป็นต้น ๖.เสนาสนขันธกะ ว่าด้วยสังฆเภทและสังฆสามัคคี ๘.วัตตขันธกะ ว่าด้วยวัตรต่างๆ เช่น อาคันตุกวัตร เป็นตน ๙.ปาติโมกขัฏฐปนขันธกะ ว่าด้วยระเบียบในการงดสวดปาฏิโมกข์ในเมื่อภิกษุมีอาบัติติดตัวมาร่วมฟังอยู่ ๑๐.ภิกขุนีขันธกะ ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีเริ่มแต่ประวัติการอนุญาตให้มีการบวชครั้งแรก ๑๑.ปัญจสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ ๑๒.สัตตสติกขันธกะ ว่าด้วยสังคายนาครั้งที่ ๒ (พระไตรปิฎกเล่ม ๖-๗); ต่อจาก มหาวรรค
ฟั่นเฝือ : เคลือบคลุม, พัวพันกัน, ปนคละกัน, ยุ่ง
ภังคะ : ผ้าทำด้วยของเจือกัน คือ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้ ฝ้าย ไหม ขนสัตว์ เปลือกป่าน ๕ อย่างนี้ อย่างใดก็ได้ปนกัน เช่น ผ้าด้วนแกมไหม เป็นต้น
สำรวม :
ระมัดระวัง, เหนี่ยวรั้ง, ระวังรักษาให้สงบเรียบร้อย เช่น สำรวมตา, สำรวมกาย, ครอง เช่นสำรวมสติ คือครองสติ, ดู สังวร, รวมประสมปนกัน เช่น อาหารสำรวม
สำลาน : สีเหลืองปนแดง