อุตตราวัฏฏ์ : เวียนซ้าย, เวียนรอบ โดยหันข้างซ้ายให้ คือ เวียนเลี้ยวทางซ้ายย้อนเข็มนาฬิกา (พจนานุกรมเขียน อุตราวัฏ)
นิรันตราย : ปราศจากอันตราย
พุทธันดร : ช่วงเวลาที่โลกว่างจากพระพุทธศาสนา คือช่วงเวลาที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นแล้ว และพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ยังไม่อุบัติ
โลกุดร : พ้นจากโลก, เหนือโลก, พ้นวิสัยของโลก, ไม่เนื่องในภพทั้ง ๓ (พจนานุกรม เขียน โลกุตตร) คู่กับ โลกิยะ
โลกุตตราริยมรรคผล : อริยมรรคและอริยผลที่พ้นวิสัยของโลก
สามันตราช : พระราชแคว้นใกล้เคียง
อังคุดร : หมายถึง อังคุตตรนิกาย
อังคุตตราปะ : ชื่อแคว้นหนึ่งในชมพูทวีป ครั้งพุทธกาล เมืองหลวงเป็นเพียงนิคม ชื่อ อาปณะ
อัพภันดร : มาตราวัดในภาษามคธ เทียบไทยได้ ๒๘ ศอก หรือ ๗ วา
อุตตราสงค์ : ผ้าห่ม, เป็นผ้าผืนหนึ่งในจำนวน ๓ ผืน ของไตรจีวร ได้แก่ ผืนที่เรียกกันสามัญว่า จีวร (พจนานุกรมเขียน อุตราสงค์)
ชั่งเกียจ : ตราชั่งที่ไม่ซื่อตรง ทำไว้เอาเปรียบผู้อื่น
กฐิน : ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร; ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้ และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ) ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔); ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ); สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป; ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
เฉวียง : (ในคำว่า “ทำผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า”) ซ้าย, ในที่นี้หมายถึง พาดจีวรไว้ที่บ่าซ้าย
ตักสิลา : ชื่อนครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นแห่งชมพูทวีป ตักสิลามีมาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาลเคยรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาต่างๆ เป็นสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดในการศึกษายุคโบราณ เรียกกันว่า เป็นเมืองมหาวิทยาลัย สันนิษฐานว่า บัดนี้ อยู่ในเขตราวัลปินดิ ในแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน
นันทมารดา : ชื่ออุบาสิกาคนหนึ่งเป็นอนาคามี เป็นผู้ชำนาญในฌาน ๔ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะทางบำเพ็ญฌาน ชื่อเต็มว่า อุตตรา นันทมารดา
ปัจจเวกขณญาณ :
ญาณที่พิจารณาทบทวน, ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวนตรวจตรามรรคผล กิเลสที่ยังเหลืออยู่ และนิพพาน (เว้นพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่); ญาณนี้เกิดแก่ผู้บรรลุมรรคผลแล้ว คือ ภายหลังจากผลญาณ; ดู ญาณ๑๖
ปัจจุทธรณ์ : ถอนคืน คือถอนคืนผ้าที่อธิษฐานไว้ เช่น อธิษฐานสบงคือ ตั้งใจกำหนดไว้ให้เป็นสบงครอง ภายหลังไม่อยากให้เป็นสบงครอง ภายหลังไม่อยากให้เป็นสบงครอง ก็ถอนคืนสบงนั้น เรียกว่า ปัจจุทธรณ์สบง, ตัวอย่าง ปัจจุทธรณ์สบงว่า “อิมํ อนฺตรวาสกํ ปจฺจุทฺธรามิ” (เปลี่ยน อนฺตรวาสกํ เป็น สงฺฆาฏึ” เป็น อุตฺตราสงฺคํ เป็นต้น สุดแต่ว่าจะถอนอะไร)
รูปิยสังโวหาร : การแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะ, การซื้อขายด้วยเงินตรา, ภิกษุกระทำ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ (โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๙)
รูปิยะ : เงินตรา
รูปียะ : เงินตรา
วิจารณ์ : 1.พิจารณา, ไตร่ตรอง 2.สอบสวน, ตรวจตรา 3.คิดการ, กะการ, จัดเตรียม, จัดแจง, ดูแล, จัดดำเนินการ 4.ในภาษาไทย มักหมายถึง ติชม, แสดงความคิดเห็นในเชิงตัดสินคุณค่า ชี้ข้อดีข้อด้อย
สังกิจฉิกะ : ผ้ารัดหรือโอบรักแร้ เป็นจีวรอย่างหนึ่งในจีวร ๕ ของภิกษุณี คือ สังฆาฏิ ผ้าทาบ ๑ อุตตราสงค์ ผ้าห่ม ๑ อันตรวาสก สบง ๑ สังกิจฉิกะ ผ้ารัดหรือผ้าโอบรักแร้ ๑ อุทกสาฏิกา ผ้าอาบ ๑ (มากกว่าของภิกษุซึ่งมีจำนวนเพียง ๓ อย่างข้างต้น)
สัตตัพพภันตรสีมา : อพัทธสีมาชนิดที่กำหนดเขตแห่งสามัคคีขึ้นในป่า อันหาคนตั้งบ้านเรือนมิได้ โดยวัดจากที่สุดแนวแห่งสงฆ์ออกไปด้านละ ๗ อัพภันดรโดยรอบ
สัมมสนญาณ : ญาณหยั่งรู้ด้วยพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์, ญาณที่พิจารณาหรือตรวจตรานามรูปหรือสังขาร มองเห็นตามแนวไตรลักษณ์ คือรู้ว่า ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน (ข้อ ๓ ในญาณ ๑๖)
เสละ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในอังคุตตราปะเรียนจบไตรเพท เป็นคณาจารย์สอนศิษย์ ๓๐๐ คน ได้พบพระพุทธเจ้าที่อาปณนิคม เห็นว่าพระองค์สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะครบถ้วนและได้ทูลถามปัญหาต่าง ๆ เมื่อฟังพระดำรัสตอบแล้ว มีความเลื่อมใส ขอบวชต่อมาไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัต
อธิษฐาน : 1) ในทางพระวินัย แปลว่า การตั้งเอาไว้หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ คือ ตั้งเอาไว้เป็นของนั้นๆ หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ว่าจะใช้เป็นของประจำ ตัวชนิดนั้นๆ เช่น ได้ผ้ามาผืนหนึ่ง ตั้งใจว่าจะใช้เป็นอะไร คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิอธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐาน ส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร อติเรกบาตร, คำอธิษฐาน เช่น “อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺามิ” (ถ้าอธิษฐานของอื่น ก็เปลี่ยนไปตามชื่อของนั้น เช่น เป็น อุตฺตราสงฺคํ, อนฺตรวาสกํ เป็นต้น) 2) ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความมั่นคง เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน (ข้อ ๘ ในบารมี ๑๐), ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า ความตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ความตั้งจิตปรารถนา
อาปณะ : ชื่อนิคม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นอังคุตตราปะ