ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร : “พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป”, พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรมเป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากนั้น ตรัสรู้ ๒ เดือน ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุด ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิภาณว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม) ท่านโกณฑัญญะหัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก เรียกว่า เป็นปฐมสาวก
อิสิปตนมฤคทายวัน : ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ ชื่อ อิสิปตนะ อยู่ใกล้เมืองพาราณสี เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ บัดนี้เรียก สารนาถ
กตัญญูกตเวที : ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน แยกออกเป็น ๒ คือ กตัญญู รู้คุณท่าน กตเวที ตอบแทนหรือสนองคุณท่าน; ความกตัญญูกตเวทีว่าโดยขอบเขต แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มีคุณความดีหรืออุปการะต่อตนเป็นส่วนตัว อย่างหนึ่ง กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์หรือมีคุณความดีเกื้อกูลแก่ส่วนรวม เช่นที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้าโดยฐานที่ได้ทรงประกาศธรรมยังหมู่ชนให้ตั้งอยู่ในกุศลกัลยาณธรรม เป็นต้น อย่างหนึ่ง (ข้อ ๒ ในบุคคลหาได้ยาก ๒) - one who is thankful for benefits received and reciprocates them.
กปิสีสะ : ไม้ที่ทำเป็นรูปหัวลิง ในวันที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนทเถระยืนเหนี่ยวไม้นี้ร้องไห้ เสียใจว่าตนยังไม่สำเร็จพระอรหัตพระพุทธเจ้าก็จักปรินิพพานเสียแล้ว
กรรม : การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม) การกระทำที่ดีเรียกว่า กรรมดี ที่ชั่ว เรียกว่า กรรมชั่ว - 1.Karma; Kamma; a volitional action; action; deed; good and bad volition. 2.work; job; activity; transaction.
กามสังวร : ความสำรวมในกาม, การรู้จักยับยั้งควบคุมตนในทางกามารมณ์ ไม่ให้หลงใหลหมกมุ่นใน รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส (ข้อ ๓ ในเบญจธรรม) - sexual restraint.
กามสุขัลลิกานุโยค : การประกอบตนให้พัวพันหมกมุ่นอยู่ในกามสุข เป็นที่สุดอย่างหนึ่ง ในบรรดาที่สุด ๒ คือ กามสุขัลลิกานุโยค ๑ อัตตกิลมถานุโยค ๑
กายานุปัสสนา :
สติพิจารณาภายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นสติปัฏฐานข้อหนึ่ง ดู สติปัฏฐาน
กาลามสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนชนชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคมใน แคว้นโกศล ไม่ให้เชื่อถืองมงายไร้เหตุผล ตามหลัก ๑๐ ข้อ คือ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา, ด้วยการถือสืบๆ กันมา, ด้วยการเล่าลือ, ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์, ด้วยตรรก, ด้วยการอนุมาน, ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล, เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน, เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ, เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา; ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น เรียกอีกอย่างว่าเกสปุตติยสูตร หรือเกสปุตตสูตร.
กุกกุจจะ : ความรำคาญใจ, ความเดือดร้อนใจ เช่นว่า สิ่งดีงามที่ควรทำ ตนมิได้ทำ สิ่งผิดพลาดเสียหายไม่ดีไม่งาม ที่ไม่ควรทำ ตนได้ทำแล้ว, ความยุ่งใจ กลุ้มใจ กังวลใจ, ความรังเกียจหรือกินแหนงในตนเอง, ความระแวงสงสัย เช่นว่า ตนได้ทำความผิดอย่างนั้นๆ แล้วหรือมิใช่ สิ่งที่ตนได้ทำไปแล้วอย่างนั้นๆ เป็นความผิดข้อนี้ๆ เสียแล้วกระมัง
กุลทูสก : ผู้ประทุษร้ายตระกูล หมายถึง ภิกษุผู้ประจบคฤหัสถ์ เอาใจเขาต่างๆ ด้วยอาการผิดวินัย มุ่งเพื่อให้เขาชอบตนเป็นส่วนตัว เป็นเหตุให้เขาคลายศรัทธาในพระศาสนาและเสื่อมจากกุศลธรรม เช่นให้ของกำนัลเหมือนอย่างคฤหัสถ์เขาทำกัน ยอมตัวให้เขาใช้ เป็นต้น
กูฏทันตสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรค สุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่กูฏทันตพราหมณ์ ผู้กำลังเตรียมพิธีบูชายัญ ว่าด้วยวิธีบูชายัญตามความหมายในแบบของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ต้องมีการฆ่าฟันเบียดเบียนสัตว์ มีแต่การเสียสละทำทาน และการทำความดีอื่นๆ เริ่มด้วยการตระเตรียมพิธีโดยจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยก่อนตามธรรมวิธี มีการส่งเสริมกสิกรรม พาณิชยกรรม สัมมาชีพ และบำรุงส่งเสริมข้าราชการที่ดี ซึ่งจะทำให้ประชาชนขวนขวาย ขะมักเขม้นในหน้าที่การงานของตนๆ จนบ้านเมืองมีความเกษมปลอดภัย พลเมืองมีความสุข ราชทรัพย์บริบูรณ์ดีแล้ว จึงกระทำพิธีบูชายัญ ด้วยการบริจาคทรัพย์ทำทานเป็นต้น ผลของพระธรรมเทศนานี้ คือ กูฏทันตพราหมณ์ล้มเลิกพิธีบูชายัญของตน ปล่อยสัตว์ทั้งหลาย และประกาศตนเป็นอุบาสก
โกณฑัญญะ : พราหมณ์หนุ่มที่สุดในบรรดาพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทำนายลักษณะของพระสิทธัตถกุมาร ต่อมาออกบวชตามปฏิบัติพระสิทธัตถะ ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นหัวหน้าพระปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกกันภายหลังว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ
เขมา : พระเถรีมหาสาวิการูปหนึ่งประสูติในราชตระกูลแห่งสาคลนครในมัททรัฐ ต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร มีความมัวเมาในรูปสมบัติของตน ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องราคะ และการกำจัดราคะ พอจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต แล้วบวชเป็นภิกษุณี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา
คณญัตติกรรม : การประกาศให้สงฆ์ทราบแทนคณะคือพวกฝ่ายตน ได้แก่ การที่ภิกษุรูปหนึ่งในนามแห่งภิกษุฝ่ายหนึ่ง สวดประกาศขออนุมัติเป็นผู้แสดงแทนซึ่งอาบัติของฝ่ายตนและของตนเองด้วยติณวัตถารกวิธี (อีกฝ่ายหนึ่งก็พึงทำเหมือนกันอย่างนั้น) ; เป็นขั้นตอนหนึ่งแห่งการระงับอธิกรณ์ ด้วยติณวัตถารกวินัย
โคตรภูสงฆ์ : พระสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัด ปฏิบัติเหินห่างธรรมวินัย แต่ยังมีเครื่องหมายเพศเช่น ผ้าเหลืองเป็นต้น และถือตนว่ายังเป็นภิกษุสงฆ์อยู่, สงฆ์ในระยะหัวต่อจะสิ้นศาสนา
ฆราวาสธรรม : หลักธรรมสำหรับการครองเรือน, ธรรมของผู้ครองเรือน มี ๔ อย่างคือ ๑.สัจจะ ความจริง เช่น ซื่อสัตย์ต่อกัน ๒.ทมะ ความฝึกฝน ปรับปรุงตน เช่น รู้จักข่มใจ ควบคุมอารมณ์ บังคับตนเองปรับตัวเข้ากับการงานและสิ่งแวดล้อมให้ได้ดี ๓.ขันติ ความอดทน ๔.จาคะ ความเสียสละ เผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจ
จักกวัตติสูตร : ชื่อสูตรที่ ๓ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตน คือพึ่งธรรม ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินอยู่ในแดนของตนเองที่สืบมาแต่บิดา จะมีแต่ความดีงามเจริญขึ้นไม่เปิดช่องให้แก่มาร เช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงประพฤติตามหลักจักรวรรดิวัตร อันสืบกันมาแต่บรรพชนของพระองค์ ย่อมทำให้จักรรัตนะบังเกิดขึ้นมาเอง, จักรวรรดิวัตร นั้นมี ๔ ข้อใหญ่ ใจความว่า ๑.พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมาธิปไตย และจัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรม แก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธุ์ทั้งหลาย ๒.มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในแผ่นดิน ๓.ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์ ๔.ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อควรและไม่ควรประพฤติ กะสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ อยู่เสมอ; จักรวรรดิวัตร ๔ ข้อนี้ บางทีจัดเป็น ๕ โดยแยกข้อ ๑.เป็น ๒ ข้อ คือ เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง กับจัดการคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม อย่างหนึ่ง, นอกจากนั้น สมัยต่อมา อรรถกถาจัดแบ่งซอยออกไป และเพิ่มเข้ามาอีก รวมเป็น ๑๒ ข้อ เรียกว่า จักรวรรดิวัตร ๑๒ ; พระสูตรนี้ถือว่าเป็นคำสอนแสดงหลักวิวัฒนาการของสังคมตามแนวจริยธรรม กล่าวถึงหลักการปกครอง และหลักความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับจริยธรรม; เรื่องพระศรีอารยเมตไตรย ก็มีต้นเค้ามาจากพระสูตรนี้
จักร : ล้อ, ล้อรถ, ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมายมี ๔ อย่างคือ ๑.ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในถิ่นที่เหมาะ ๒.สัปปุริสูปัสสยะ สมาคมกับคนดี ๓.อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ ๔.ปุพเพกตปุญญตา ได้ทำความดีไว้ก่อน
จาคานุสสติ :
ระลึกถึงการบริจาค คือ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นจาคธรรมที่มีในตน ดู อนุสติ
จิตตานุปัสสนา : สติพิจารณาใจที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่าใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เรา เขา กำหนดรู้จิตตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี ราคะ โทสะ โมหะ จิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ (ข้อ ๓ ในสติปัฏฐาน ๔)
จินตกวี : นักปราชญ์ผู้ชำนาญคิดคำประพันธ์, ผู้สามารถในการแต่งร้อยกรองตามแนวความคิดของตน
จุตูปปาตญาณ :
ปรีชารู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย, มีจักษุทิพย์มองเห็นสัตว์กำลังจุติบ้าง กำลังเกิดบ้าง มีอาการดีบ้าง เลวบ้างเป็นต้น ตามกรรมของตน ดู วิชชา
จุลวรรค : ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดหนึ่งแห่งพระวินัยปิฎก ซึ่งมีทั้งหมด ๕ หมวด คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร ; คัมภีร์จุลวรรค มี ๑๒ ขันธกะ คือ ๑.กัมมขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคคหกรรม ๒.ปาริวาสิกขันธกะ ว่าด้วยวัตรของภิกษุผู้อยู่ปริวาส ผู้ประพฤติมานัต และผู้เตรียมจะอัพภาน ๓.สมุจจยขันธกะ ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในการประพฤติวุฏฐานวิธี ๔.สมถขันธกะ ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์ ๕.ขุททกวัตถุขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยจำนวนมาก เช่น การปลงผม ตัดเล็บ ไม้จิ้มฟัน ของใช้ต่างๆ เป็นต้น ๖.เสนาสนขันธกะ ว่าด้วยสังฆเภทและสังฆสามัคคี ๘.วัตตขันธกะ ว่าด้วยวัตรต่างๆ เช่น อาคันตุกวัตร เป็นตน ๙.ปาติโมกขัฏฐปนขันธกะ ว่าด้วยระเบียบในการงดสวดปาฏิโมกข์ในเมื่อภิกษุมีอาบัติติดตัวมาร่วมฟังอยู่ ๑๐.ภิกขุนีขันธกะ ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีเริ่มแต่ประวัติการอนุญาตให้มีการบวชครั้งแรก ๑๑.ปัญจสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ ๑๒.สัตตสติกขันธกะ ว่าด้วยสังคายนาครั้งที่ ๒ (พระไตรปิฎกเล่ม ๖-๗); ต่อจาก มหาวรรค
เจ้าสังกัด : ผู้มีอำนาจในหมู่คนที่ขึ้นอยู่กับตน
ใจดำ : ขาดกรุณา คือตนมีกำลังสามารถจะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ก็ไม่ช่วย เช่น เห็นคนตกน้ำแล้วไม่ช่วยเป็นต้น
ฉันทะ : 1.ความพอใจ, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความรักใคร่สิ่งนั้นๆ, ความรักงาน (เป็นกลางๆ เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี, เป็นอัญญสมานาเจตสิกข้อ ๑๓, ที่เป็นอกุศล เช่นในกามฉันทะ ที่เป็นกุศลเช่น ข้อ ๑ ในอิทธิบาท ๔) 2.ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย, เป็นธรรมเนียมของภิกษุ ที่อยู่ในวัดซึ่งมีสีมารวมกัน มีสิทธิที่จะเข้าประชุมทำกิจของสงฆ์ เว้นแต่ภิกษุนั้นอาพาธจะเข้าร่วมประชุมด้วยไม่ได้ ก็มอบฉันทะคือแสดงความยินยอมให้สงฆ์ทำกิจนั้นๆ ได้
ฉายาปาราชิก : เงาแห่งปาราชิก คือ ประพฤติตนในฐานะที่ล่อแหลมต่อปาราชิก อาจเป็นปาราชิกได้ แต่จับไม่ถนัด เรียกว่าฉายาปาราชิก เป็นผู้ที่สงฆ์รังเกียจ
ชนวสภสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค สุตตันตปิฎก ว่าด้วยเรื่องที่พระเจ้าพิมพิสารซึ่งสวรรคตไปเกิดเป็นชนวสภยักษ์ มาสำแดงตนแก่พระพุทธเจ้า และพระอานนท์แล้วเล่าเหตุการณ์ที่พวกเทวดามาประชุมในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พากันชื่นชมข่าวดีที่เทวดามีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะคนประพฤติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ตปุสสะ : พ่อค้าที่มาจารอุกกลชนบท คู่กับภัลลิกะ พบพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้ราชายตนะ ภายหลังตรัสรู้ใหม่ๆ ได้ถวายเสบียงเดินทาง คือ ข้าวสัตตุผล ข้าวสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นสรณะ นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๒ ที่เรียกว่า เทฺววาจิก
เตวาจิก : มีวาจาครบ ๓ หมายถึง ผู้กล่าวว่าจาถึงสรณะครบทั้ง ๓ อย่าง คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดาพระยสะเป็นคนแรก ที่ประกาศตน เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต (เทียบ เทฺววาจิก)
ไตรลักษณ์ :
ลักษณะ ๓ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความมิใช่ตัวตน (อนิจฺจตา ทุกฺขตา อนตฺตตา) ดู สามัญญลักษณะ
ทมะ : การฝึก, การฝึกฝนปรับปรุงตน, การรู้จักข่มจิตข่มใจ บังคับควบคุมตนเองได้ ไม่พูดไม่ทำเพียงตามที่อยาก แต่พูดและทำตามเหตุผลที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่าดีงามสมควรเป็นประโยชน์ รู้จักปรับตัวปรับใจ และแก้ไขปรับปรุงตนด้วยปัญญาไตร่ตรองให้งอกงามดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ (ข้อ ๒ ใน ฆราวาสธรรม ๔)
ทอด : ในประโยคว่า “ทอดกรรมสิทธิ์ของตนเสีย” ทิ้ง, ปล่อย, ละ
ทาน : การให้, สิ่งที่ให้, ให้ของที่ควรให้แก่คนที่ควรให้เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; ทาน ๒ คือ ๑.อามิสทาน ให้สิ่งของ ๒.ธรรมทาน ให้ธรรม; ทาน ๒ อีกหมวดหนึ่ง คือ ๑.สังฆทาน ให้แก่สงฆ์ หรือให้เพื่อส่วนรวม ๒.ปาฏิบุคลิกทาน ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ
ทิฏฐานุคติ : การดำเนินตามสิ่งที่ได้เห็น, แบบอย่าง, ตัวอย่าง, การทำตามอย่าง, ทางดำเนินตามที่ได้มองเห็น, เช่นพระผู้ใหญ่ปฏิบัติตนชอบ ก็เป็นทิฏฐานุคติของพระผู้น้อย
ทิฏฐิวิบัติ : วิบัตแห่งทิฐิ, ความผิดพลาดแห่งความคิดเห็น, ความเห็นคลาดเคลื่อน ผิดธรรมผิดวินัย ทำให้ประพฤติตนนอกแบบแผน ทำความผิดอยู่เสมอ (ข้อ ๓ ในวิบัติ ๔)
ทิฏฐิวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งความเห็น คือ เกิดความรู้ความเข้าใจ มองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง คลายความหลงผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ลงได้ (ข้อ ๓ ในวิสุทธิ ๗)
ทีฆขนะ : ชื่อปริพาชก ผู้หนึ่ง ตระกูล อัคคิเวสสนะ ขณะที่พระพุทธเจ้าเทศนาเวทนาปริคคหสูตร โปรดปริพาชกผู้นี้ พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระพุทธองค์ ได้ฟังเทศนานั้น ได้สำเร็จพระอรหัต ส่วนทีฆนขะ เพียงแต่ได้ดวงตาเห็นธรรมแสดงตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา
ที่สุด ๒ อย่าง : ข้อปฏิบัติที่ผิดพลาดไม่อาจนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ ๒ อย่าง คือ ๑.การประกอบตนให้พัวพันด้วยความสุขในกามทั้งหลาย เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ๒.การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตนเปล่า หรือการทรมานตนให้ลำบากเปล่า เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
ทุกรกิริยา : กิริยาที่ทำได้โดยยาก, การทำความเพียรอันยากที่ใครๆ จะทำได้ ได้แก่ การบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ ด้วยวิธีการทรมานตนต่างๆ เช่น กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะและอดอาหาร เป็นต้น ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติก่อนตรัสรู้ อันเป็นฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค และได้ทรงเลิกละเสียเพราะไม่สำเร็จประโยชน์ได้จริง; เขียนเต็มเป็น ทุกกรกิริยา
เทวตานุสติ : ระลึกถึงเทวดา คือระลึกถึงคุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา ตามที่มีอยู่ในตน (ข้อ ๖ ในอนุสติ ๑๐)
เทวปุตตมาร : มารคือเทพบุตร, เทวบุตรเป็นมาร เพราะเทวบุตรบางตนที่มุ่งร้าย คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ไม่ให้สละความสุขออกไปบำเพ็ญคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ ทำให้บุคคลนั้นพินาศจากความดี, คัมภีร์สมัยหลังๆ ออกชื่อว่า พญาวสวัตตีมาร (ข้อ ๕ ในมาร ๕)
ธรรมกาย : “ผู้มีธรรมเป็นกาย” เป็นพระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า (ตามความในอัคคัญญสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) หมายความว่า พระองค์ทรงคิดพุทธพจน์คำสอนด้วยพระหทัยแล้วทรงนำออกเผยแพร่ด้วยพระวาจา เป็นเหตุให้พระองค์ก็คือพระธรรม เพราะทรงเป็นแหล่งที่ประมวลหรือที่ประชุมอยู่แห่งธรรมอันปรากฏเปิดเผยออกมาแก่ชาวโลก; อนึ่งธรรมกายคือกองธรรมหรือชุมนุมแห่งธรรมนั้น ย่อมเจริญงอกงามเติบขยายขึ้นได้โดยลำดับจนไพบูลย์ ในบุคคลผู้เมื่อได้สดับคำสอนของพระองค์ แล้วฝึกอบรมตนด้วยไตรสิกขาเจริญมรรคให้บรรลุภูมิแห่งอริยชน ดังตัวอย่างดำรัสของพระมหาปชาบดีโคตมี เมื่อครั้งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อปรินิพพานตามความในคัมภีร์อปทานตอนหนึ่งว่า “ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์, ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ก็เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน..รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้ทำให้เจริญเติบโต ส่วนธรรมกายอันเป็นที่เอิบสุขของหม่อมฉัน ก็เป็นสิ่งอันพระองค์ได้ทำให้เจริญเติบโต”; สรุปตามนัยอรรถกถาธรรมกายก็คือโลกุตตรธรรม ๙ หรือ อริยสัจ
ธรรมคุณ : คุณของพระธรรม มี ๖ อย่าง คือ ๑.สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ๒.สนฺทิฏฺฐิโก อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ๓.อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล ๔.เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู ๕.โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ๖.ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ธรรมจักร : จักรคือธรรม, วงล้อธรรม หรืออาณาจักรธรรม หมายถึงเทศนากัณฑ์แรก ที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ (ชื่อของปฐมเทศนา เรียกเต็มว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)
ธรรมไพบูลย์ : ความไพบูลย์แห่งธรรม, ความพรั่งพร้อมเต็มเปี่ยมแห่งธรรม ด้วยการฝึกฝนอบรมให้มีในตนจนบริบูรณ์ หรือด้วยการประพฤติปฏิบัติกันในสังคมจนแพร่หลายทั่วไปทั้งหลาย ดู ไพบูลย์ เวปุลละ
ธัมมมัจฉริยะ : ตระหนี่ธรรม ได้แก่ หวงแหนความรู้ ไม่ยอกบอก ไม่ยอมสอนคนอื่น เพราะเกรงว่าเขาจะรู้เท่าตน (ข้อ ๕ ในมัจฉริยะ ๕)
ธัมมานุปัสสนา : การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม, สติพิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลที่บังเกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่า ธรรมนี้ก็สักว่าธรรมไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา (ข้อ ๔ ในสติปัฏฐาน ๔)
ธาตุกัมมัฏฐาน : กรรมฐานที่พิจารณาธาตุเป็นอารมณ์, กำหนดพิจารณาร่างกายแยกเป็นส่วนๆ ให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ประชุมกันอยู่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา