ถวายพระเพลิง : ให้ไฟ คือ เผา
ราชพลี : ถวายเป็นหลวง มีเสียภาษีอากรเป็นต้น (ข้อ ๔ แห่งพลี ๕ ในโภคอาทิยะ ๕)
อังคาส : ถวายพระ, เลี้ยงพระ
กฐินทาน : การทอดกฐิน, การถวายผ้ากฐิน คือการที่คฤหัสถ์ผู้ศรัทธาหรือแม้ภิกษุสามเณร นำผ้าไปถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว ณ วัดใดวัดหนึ่ง เพื่อทำเป็นผ้ากฐิน เรียกสามัญว่า ทอดกฐิน (นอกจากผ้ากฐินแล้วปัจจุบันนิยมมีของถวายอื่นๆ อีกด้วยจำนวนมาก เรียกว่า บริวารกฐิน)
กติกา : (ในคำว่า ข้าพเจ้าถวายตามกติกาของสงฆ์) ข้อตกลง, ข้อบังคับ, กติกาของสงฆ์ในกรณีนี้ คือข้อที่สงฆ์ ๒ อาวาส มีข้อตกลงกันไว้ว่า ลาภเกิดในอาวาสหนึ่ง สงฆ์อีกอาวาสหนึ่งมีส่วนได้รับแจกด้วย ทายกกล่าวคำถวายว่า ข้าพเจ้าถวายตามกติกาของสงฆ์ ลาภที่ทายกถวายนั้น ย่อมตกเป็นของภิกษุผู้อยู่ในอาวาสที่ทำกติกากันไว้ด้วย
กัปปิยภูมิ : ที่สำหรับเก็บเสบียงอาหารของวัด, ครัววัด มี ๔ อย่าง คือ อุสสาวนันติกา กัปปิยภูมิที่ทำด้วยการประกาศให้รู้แต่แรกสร้างว่าจะทำเป็นกัปปิยภูมิ คือพอเริ่มยกเสาหรือตั้งฝาก็ประกาศให้ได้ยินว่า กปฺปิยภูมึ กโรม แปลว่า เราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี ๑ โคนิสาทิกา กัปปิยภูมิขนาดเล็ก เคลื่อนที่ได้ ดุจเป็นที่โคจ่อม ๑ คหปติกา เรือนของคฤหบดีเขาสร้างถวายเป็นกัปปิยภูมิ ๑ สัมมติกา กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ ได้แก่ กุฎีที่สงฆ์เลือกจะใช้เป็นกัปปิยกุฎี แล้วสวดประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม ๑
กาลทาน : ทานที่ให้ตามกาล, ทานที่ให้ได้เป็นครั้งคราวภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่ใช่ให้ได้ตลอดเวลา เช่น การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น ซึ่งทายกจะถวายได้ตามกำหนดเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเท่านั้น ก่อนหรือเลยเขตกำหนดไปทำไม่ได้
กุฏิภัต : อาหารที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้อยู่ในกุฎีอันเขาสร้าง
ขลุปัจฉาภัตติกังคะ : องค์แห่งผู้ถือ ห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลัง คือ เมื่อลงมือฉันแล้วมีผู้นำอาหารมาถวายอีก ก็ไม่รับ (ธุดงค์ข้อ ๗)
คมิยภัต : ภัตเพื่อผู้ไป, อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุผู้จะเดินทางไปอยู่ที่อื่น ; คมิกภัต ก็ว่า
คฤหบดีจีวร : ผ้าจีวรที่ชาวบ้านถวายพระ
คหปติกา :
เรือนของคฤหบดี คือเรือนอันชาวบ้านสร้างถวายเป็นกัปปิยกุฎี ดู กัปปิยภูมิ
คันธกุฎี : กุฎีอบกลิ่นหอม, ชื่อเรียกพระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า เช่น พระคันธกุฎีที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายที่พระเชตวัน ในนครสาวัตถี เป็นต้น พระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ก็เรียกว่าคันธกุฎีเช่นเดียวกัน (เช่น ขุ.อป.๓๒/๑๘/๘๕; ๑๗๒/๒๗๒; ๓๓/๑๓๑/๒๒๐) อย่างไรก็ตาม คำเรียกที่ประทับของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันว่าคันธกุฎีนั้น มีใช้แต่ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา (ไม่มีในพระไตรปิฎก)
คิลานภัต : อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุอาพาธ
คิลานุปัฏฐากภัต : อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุผู้พยาบาลไข้
เครื่องภัณฑ์ : สิ่งของสำหรับถวายพระเทศน์
ฆฏิการพรหม : พระพรหมผู้นำสมณบริขารมีบาตรและจีวร เป็นต้น มาถวายแด่พระโพธิสัตว์เมื่อคราวเสด็จออกบรรพชา (มติของพระอรรถกถาจารย์)
จีวรกาล :
ฤดูกาลจีวร, ฤดูถวายผ้าแก่พระสงฆ์ ดู จีวรกาลสมัย
จีวรกาลสมัย : สมัยหรือคราวที่เป็นฤดูถวายจีวร; งวดหนึ่ง สำหรับภิกษุที่มิได้กรานกฐิน ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ ถึง เพ็ญเดือน ๑๒ (คือเดือนเดียว), อีกงวดหนึ่ง สำหรับภิกษุที่ได้กรานกฐินแล้ว ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ ไปจนหมดฤดูหนาวคือถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ (รวม ๕ เดือน)
จีวรทานสมัย : สมัยที่เป็นฤดูถวายจีวรตรงกับจีวรกาลสมัย
จุนทกัมมารบุตร : นายจุนทะ บุตรช่างทอง เป็นชาวเมืองปาวา ผู้ถวายภัตตาหารครั้งสุดท้ายแก่พระพุทธเจ้าในเช้าวันปรินิพพาน
จุนทะ : พระเถระผู้ใหญ่ชั้นมหาสาวกเป็นน้องชายของพระสารีบุตร เคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ และเป็นผู้นำอัฐิธาตุของพระสารีบุตรจากบ้าน เกิดที่ท่านปรินิพพานมาถวายแด่พระพุทธองค์ที่พระเชตวัน
ชีวก : ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ ของพระพุทธเจ้าด้วย, เรียกชื่อเต็มว่า ชีวกโกมารภัจจ์
ตปุสสะ : พ่อค้าที่มาจารอุกกลชนบท คู่กับภัลลิกะ พบพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้ราชายตนะ ภายหลังตรัสรู้ใหม่ๆ ได้ถวายเสบียงเดินทาง คือ ข้าวสัตตุผล ข้าวสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นสรณะ นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๒ ที่เรียกว่า เทฺววาจิก
ติสสเถระ : ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในเกาะลังกา เคยอุปการะพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย คราวเสียราชสมบัติแก่ทมิฬ ภายหลังทรงกู้ราชสมบัติคืนได้แล้ว ได้สร้างวัดอภัยคีรีวิหารถวาย
ถือบังสุกุล :
ใช้ผ้าเฉพาะที่ได้จากกองฝุ่นกองหยากเยื่อ คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว มาทำเครื่องนุ่งห่ม ไม่ใช้ผ้าที่ชาวบ้านถวาย ดู ปังสุกูลิกังคะ
ทอดผ้าป่า :
เอาผ้าถวายโดยทิ้งไว้เพื่อให้พระชักเอาเอง ดู ผ้าป่า
ทักขิณา : ทานที่ถวายเพื่อผลอันเจริญ, ของทำบุญ
ทักขิไณย : ผู้ควรแก่ทักขิณา, ผู้ควรรับของทำบุญที่ทายกถวาย
ทักษิณา : ทานที่ถวายเพื่อผลอันเจริญ, ของทำบุญ
ทำบุญ : ทำความดี, ทำสิ่งที่ดีงาม, ประกอบกรรมดี ดังที่ท่านแสดงใน บุญกิริยาวัตถุ ๓ หรือบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่ที่พูดกันทั่วไป มักเพ่งที่การเลี้ยงพระตักบาตร ถวายจตุปัจจัยแก่พระสงฆ์ บริจาคบำรุงวัดและการก่อสร้างในวัด เป็นสำคัญ
ทีฆขนะ : ชื่อปริพาชก ผู้หนึ่ง ตระกูล อัคคิเวสสนะ ขณะที่พระพุทธเจ้าเทศนาเวทนาปริคคหสูตร โปรดปริพาชกผู้นี้ พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระพุทธองค์ ได้ฟังเทศนานั้น ได้สำเร็จพระอรหัต ส่วนทีฆนขะ เพียงแต่ได้ดวงตาเห็นธรรมแสดงตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา
ไทยธรรม : ของควรให้, ของทำบุญต่างๆ ของถวายพระ
ธุวยาคุ : ยาคูที่เขาถวายเป็นประจำ เช่นที่นางวิสาขาถวายเป็นประจำหรือที่จัดทำเป็นของวัดแจกกันเอง
นิโครธาราม : อาหารที่พระญาติสร้างถวายพระพุทธเจ้า อยู่ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์
นิตยภัต : อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายแก่ภิกษุสามเณรเป็นประจำ
นิมิต :
1.เครื่องหมาย ได้แก่วัตถุอันเป็นเครื่องหมายแห่งสีมา, วัตถุที่ควรใช้เป็นนิมิตมี ๘ อย่าง ภูเข ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ น้ำ 2.(ในคำว่าทำนิมิต) ทำอาการเป็นเชิงชวนให้เขาถวาย, ขอเขาโดยวิธีให้รู้โดยนัย ไม่ขอตรงๆ 3.เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน, ภาพที่เห็นในใจของผู้เจริญกรรมฐาน, ภาพที่เป็นอารมณ์กรรมฐาน มี ๓ คือ ๑.บริกรรมนิมิต นิมิตแห่งบริกรรม หรือนิมิตตระเตรียม ได้แก่สิ่งที่เพ่ง หรือกำหนดนึกเป็นอารมณ์กรรมฐาน ๒.อุคคหนิมิต นิมิตที่ใจเรียน หรือนิมิตติดตาติดใจ ได้แก่ สิ่งที่เพ่งหรือนึกนั้นเอง ที่แม่นในใจ จนหลับตามองเห็น ๓.ปฏิภาคนิมิต นิมิตเสมือน หรือนิมิตเทียบเคียง ได้แก่ อุคคหนิมิตนั้น เจนใจจนกลายเป็นภาพที่เกิดจากสัญญา เป็นของบริสุทธิ์ จะนึกขยาย หรือย่อส่วนก็ได้ตามปรารถนา 4.สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นก่อนเสด็จออกบรรพชา ๔ อย่าง ดู เทวทูต
เนรัญชรา : ชื่อแม่น้ำสำคัญ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ภายใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสายนี้ และก่อนหน้านั้นในวันตรัสรู้ ทรงลอยถาดข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายในแม่น้ำสายนี้
บังสุกุลจีวร : ผ้าที่เกลือกกลั้วด้วยฝุ่น, ผ้าที่ได้มาจากกองฝุ่น, กองหยากเยื่อ ซึ่งเขาทิ้งแล้ว ตลอดถึงผ้าห่อคลุมศพ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ไม่ใช่ผ้าที่ชาวบ้านถวาย, ปัจจุบันมักหมายถึงผ้าที่พระชักจากศพโดยตรงก็ตาม จากสายโยงศพก็ตาม
บิณฑบาต : อาหารที่ใส่ลงในบาตรพระ, อาหารถวายพระ; ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า รับของใส่บาตร เช่นที่ว่า พระไปบิณฑบาต คือ ไปรับอาหารที่เขาจะใส่ลงในบาตร
บุพพาราม :
วัดที่นางวิสาขาสร้างถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ที่กรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้าประทับที่วัดนี้ รวมทั้งสิ้น ๖ พรรษา ดู วิสาขา
ใบปวารณา : ใบแจ้งแก่พระว่าให้ขอได้ตัวอย่าง “ข้าพเจ้าขอถวายจตุปัจจัยอันควรแก่สมณบริโภค แต่พระคุณเจ้า เป็นมูลค่า....บาท......สต.หากพระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งใดอันควรแก่สมณบริโภคแล้ว ขอได้โปรดเรียกร้องจากกัปปิยการก ผู้ปฏิบัติของพระคุณเจ้า เทอญ
ปฏิคาหก : ผู้รับทาน, ผู้รับของถวาย
ประเคน : ส่งของถวายพระภายในหัตถบาส, ส่งให้ถึงมือ; องค์แห่งการประเคนมี ๕ คือ ๑.ของไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป พอคนปานกลางคนเดียวยกได้ ๒.ผู้ประเคนเข้ามาอยู่ในหัตถบาส คือห่างประมาณศอกหนึ่ง ๓.เข้าน้อมของนั้นเข้ามาให้ ๔.น้อมให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือโยนให้ก็ได้ ๕.ภิกษุรับด้วยกาย ก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้ (ถ้าผู้หญิงประเคน ใช้ผ้ากราบหรือผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดรับ)
ปริกถา : คำพูดหว่านล้อม, การพูดให้รู้โดยปริยาย, การพูดอ้อมไปอ้อมมาเพื่อให้เขาถวายปัจจัย ๔ เป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่ภิกษุ ถ้าทำปริกถาเพื่อให้เขาถวายจีวรและบิณฑบาต ชื่อว่ามีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ แต่ท่านว่าทำปริกถาในเรื่องเสนาสนะได้อยู่ เช่น พูดว่า “เสนาสนะของสงฆ์คับแคบ” อย่างไรก็ตาม ถ้าถือธุดงค์ไม่พึงทำปริกถา อย่างหนึ่งอย่างใดเลย
ปวัตตมังสะ : เนื้อที่มีอยู่แล้ว คือเนื้อสัตว์ที่เขาขายอยู่ตามปกติสำหรับคนทั่วๆ ไป ไม่ใช่ฆ่าเพื่อเอาเนื้อมาถวายพระ, ตรงข้ามกับ อุทิสสมังสะ
ปักขิกะ : อาหารที่เขาถวายปักษ์ละครั้ง คือ สิบห้าวันครั้งหนึ่ง
ปาฏิปทิกะ : อาหารถวายในวันปาฏิบท
ปาฏิปุคคลิก : เฉพาะบุคคล, ไม่ทั่วไป, ถวายเป็นส่วนปาฏิปุคคลิก คือ ถวายเจาะจงบุคคลไม่ใช่ถวายแก่สงฆ์
ปายาส : ข้าวสุกที่หุงด้วยนมโค นางสุชาดาถวายแก่พระมหาบุรุษในเวลสเช้าของวันที่พระองค์จะได้ตรัสรู้