สมบัติ : ๑ ความถึงพร้อม, สิ่งที่ได้ที่ถึงด้วยดี, เงินทองของมีค่า, สิ่งที่มีอยู่ในสิทธิอำนาจของตน, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์, สมบัติ ๓ ได้แก่ มนุษยสมบัติ สมบัติในขั้นมนุษย์ สวรรคสมบัติ สมบัติในสวรรค์ (เทวสมบัติ หรือทิพยสมบัติ ก็เรียก) และนิพพานสมบัติ สมบัติ คือนิพพาน
มรดก : ทรัพย์สมบัติของผู้ตาย
จักรพรรดิราชสมบัติ : สมบัติ คือความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ
สมบัติของอุบาสก ๕ : คือ ๑.มีศรัทธา ๒.มีศีลบริสุทธิ์ ๓.ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล ๔.ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา ๕.ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา (ข้อ ๕ ตามแบบเรียนว่าบำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา)
ภัททา กุณฑลเกสา : พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาของเศรษฐีในพระนครราชคฤห์ เคยเป็นภรรยาโจรผู้เป็นนักโทษประหารชีวิต โจรคิดจะฆ่านางเพื่อเอาทรัพย์สมบัติ แต่นางใช้ปัญญาคิดแก้ไขกำจัดโจรได้ แล้วบวชในสำนักนิครนถ์ ต่อมาได้พบกับพระสารีบุตร ได้ถามปัญหากันและกัน จนนางมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงได้สำเร็จพระอรหัต แล้วบวชในสำนักนางภิกษุณี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้ฉับพลัน
มหาบริจาค : การสละอย่างใหญ่ของพระโพธิสัตว์ตามที่อรรถกถาแสดงไว้มี ๕ อย่างคือ ๑.ธนบริจาค สละทรัพย์สมบัติเป็น ๒.อังคบริจาค สละอวัยวะเป็นทาน ๓.ชีวิตบริจาค สละชีวิตเป็นทาน ๔.บุตรบริจาค สละลูกเป็นทาน ๕.ทารบริจาค สละเมียเป็นทาน
มุนี : นักปราชญ์, ผู้สละเรือนและทรัพย์สมบัติแล้ว มีจิตใจตั้งมั่นเป็นอิสระไม่เกาะเกี่ยวติดพันในสิ่งทั้งหลาย สงบเย็น ไม่ทะเยอทะยานฝันใฝ่ ไม่แส่พร่านหวั่นไหว มีปัญญาเป็นกำลัง และมีสติรักษาตน, พระสงฆ์หรือนักบวชที่เข้าถึงธรรมและดำเนินชีวิตอันบริสุทธิ์
ราหุล : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ คราวพระพุทธเจ้าเสด็จนครกบิลพัสดุ์ ราหุลกุมารเข้าเฝ้าทูลขอทายาทสมบัติตามคำแนะนำของพระมารดา พระพุทธเจ้าจะประทานอริยทรัพย์ จึงให้พระสารีบุตรบวชราหุลเป็นสามเณร นับเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา อรรถกถาว่าพระราหุลปรินิพพานในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก่อนพุทธปรินิพพาน และก่อนการปรินิพพานของพระสารีบุตร
สีมาสมบัติ :
ความพร้อมมูลโดยสีมา, ความสมบูรณ์แห่งเขตชุมชน, สีมาซึ่งสงฆ์สมมติแล้วโดยชอบ ไม่วิบัติ ทำให้สังฆกรรมซึ่งทำในสีมานั้นมีผลสมบูรณ์ กล่าวคือ สีมาปราศจากข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้สีมาวิบัติ (ดู สีมาวิบัติ) สังฆกรรมซึ่งทำ ณ ที่นั้นจึงชื่อว่าทำในสีมา จึงใช้ได้ในข้อนี้ ดู สมบัติ(ของสังฆกรรม)
กามสมบัติ : สมบัติกามารมณ์, ความถึงพร้อมด้วยกามารมณ์
ฆราวาสสมบัติ : สมบัติของการครองเรือน, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ของชีวิตชาวบ้าน
ราชสมบัติ : สมบัติของพระราชา, สมบัติคือความเป็นพระราชา
สุขสมบัติ : สมบัติคือความสุข, ความถึงพร้อมด้วยความสุข
อริยทรัพย์ : ทรัพย์อันประเสริฐเป็นของติดตัว อยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ภายนอก เช่นเงินทอง เป็นต้น เพราะโจรหรือใครๆ แย่งชิงไม่ได้ และทำให้เป็นคนประเสริฐอย่างแท้จริง มี ๗ คือ สัทธา สีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา
อัตตัตถสมบัติ : ความถึงพร้อมด้วยประโยชน์ตน เป็นพุทธคุณอย่างหนึ่ง คือ การที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรม กำจัดอาสวกิเลสทั้งปวงและทำศีล สมาธิ ปัญญาให้บริบูรณ์ สมบูรณ์ด้วยพระญาณทั้งหลาย เพียบพร้อมด้วยพระคุณสมบัติมากมาย เป็นทีพึ่งของพระองค์เองได้ และเป็นผู้พรั่งพร้อมที่จะบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกต่อไป มักเขียนเป็น อัตตหิตสัมบัติ ซึ่งแปลเหมือนกัน; เป็นคู่กันกับ ปรัตถปฏิบัติ หรือ ปรหิตปฏิบัติ
กรรมวาจาสมบัติ : ความสมบูรณ์แห่งกรรมวาจา, คำสวดประกาศถูกต้อง ใช้ได้
ได้รับสมบัติ : ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ หรือทำกิจที่สงฆ์มอบหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง
วัตถุสมบัติ : ความถึงพร้อมแห่งวัตถุ, ความสมบูรณ์โดยบุคคลหรือวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการทำสังฆกรรมนั้นๆ มีคุณสมบัติถูกต้อง ทำให้สังฆกรรมใช้ได้ไม่บกพร่องในด้านนี้ เช่น ในการอุปสมบท ผู้ขอบวชเป็นชายมีอายุครบ ๒๐ ปี ไม่เป็นมนุษย์วิบัติเช่นถูกตอน ไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงเช่นฆ่าบิดามารดา ไม่ใช่คนทำความเสียหายในพระพุทธศาสนาอย่างหนัก เช่น ปาราชิก เมื่อบวชคราวก่อน ดังนี้เป็นต้น
ธนสมบัติ : สมบัติ คือ ทรัพย์สินเงินทอง
ของสังฆกรรม : มี ๔ คือ ๑.วัตถุวิบัติ เสียโดยวัตถุ เช่น อุปสมบทคนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ๒.สีมาวิบัติ เสียโดยสีมา เช่น สีมาไม่มีนิมิต ๓.ปริสวิบัติ เสียโดยบริษัทคือที่ประชุม เช่น ภิกษุเข้าประชุมไม่ครบองค์สงฆ์ ๔.กรรมวาจาวิบัติ เสียโดยกรรมวาจา เช่น สวดผิดพลาดตกหล่น สวดแต่อนุสาวนาไม่ได้ตั้งญัตติ เป็นต้น (ข้อกรรมวาจาวิบัติบางกรณีแยกเป็นญัตติวิบัติและอนุสาวนาวิบัติ กลายเป็นวิบัติ ๕ ก็มี) เทียบ สมบัติ
สังหาริมทรัพย์ : ทรัพย์เคลื่อนที่ได้ เช่น สัตว์เลี้ยง เตียง ตั่ง ถ้วย ชาม เป็นต้น คู่กับ อสังหาริมทรัพย์
อสังหาริมทรัพย์ : ทรัพย์เคลื่อนที่ไม่ได้ ได้แก่ ที่ดินและทรัพย์ซึ่งติดอยู่กับที่ เช่น ตึก โรงรถ เป็นต้น, คู่กับ สังหาริมทรัพย์
เอกภัณฑะ : ทรัพย์สิ่งเดียวซึ่งมีราคาเพียงพอที่จะเป็นวัตถุแห่งปาราชิก
กรรมสิทธิ์ : ความเป็นเจ้าของทรัพย์, สิทธิที่ได้ตามกฎหมาย
กายกรรม : การกระทำทางกาย เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม หรือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เป็นต้น
กายทุจริต :
ประพฤติชั่วด้วยกาย, ประพฤติชั่วทางกายมี ๓ อย่างคือ ๑.ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ ๒.อทินนาทาน ลักทรัพย์ ๓.กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม ดู ทุจริต
กายสุจริต :
ประพฤติชอบด้วยกาย, ประพฤติชอบทางกาย มี ๓ อย่าง คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากประพฤติผิดในกาม ดู กายทุจริต, สุจริต
กุฎุมพี : คนมีทรัพย์, คนมั่งคั่ง
กูฏทันตสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรค สุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่กูฏทันตพราหมณ์ ผู้กำลังเตรียมพิธีบูชายัญ ว่าด้วยวิธีบูชายัญตามความหมายในแบบของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ต้องมีการฆ่าฟันเบียดเบียนสัตว์ มีแต่การเสียสละทำทาน และการทำความดีอื่นๆ เริ่มด้วยการตระเตรียมพิธีโดยจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยก่อนตามธรรมวิธี มีการส่งเสริมกสิกรรม พาณิชยกรรม สัมมาชีพ และบำรุงส่งเสริมข้าราชการที่ดี ซึ่งจะทำให้ประชาชนขวนขวาย ขะมักเขม้นในหน้าที่การงานของตนๆ จนบ้านเมืองมีความเกษมปลอดภัย พลเมืองมีความสุข ราชทรัพย์บริบูรณ์ดีแล้ว จึงกระทำพิธีบูชายัญ ด้วยการบริจาคทรัพย์ทำทานเป็นต้น ผลของพระธรรมเทศนานี้ คือ กูฏทันตพราหมณ์ล้มเลิกพิธีบูชายัญของตน ปล่อยสัตว์ทั้งหลาย และประกาศตนเป็นอุบาสก
เขมา : พระเถรีมหาสาวิการูปหนึ่งประสูติในราชตระกูลแห่งสาคลนครในมัททรัฐ ต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร มีความมัวเมาในรูปสมบัติของตน ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องราคะ และการกำจัดราคะ พอจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต แล้วบวชเป็นภิกษุณี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา
คหปติมหาสาล : คฤหบดีผู้มั่งคั่ง หมายถึงคฤหบดีผู้ร่ำรวย มีสมบัติมาก
จักกวัตติสูตร : ชื่อสูตรที่ ๓ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตน คือพึ่งธรรม ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินอยู่ในแดนของตนเองที่สืบมาแต่บิดา จะมีแต่ความดีงามเจริญขึ้นไม่เปิดช่องให้แก่มาร เช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงประพฤติตามหลักจักรวรรดิวัตร อันสืบกันมาแต่บรรพชนของพระองค์ ย่อมทำให้จักรรัตนะบังเกิดขึ้นมาเอง, จักรวรรดิวัตร นั้นมี ๔ ข้อใหญ่ ใจความว่า ๑.พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมาธิปไตย และจัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรม แก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธุ์ทั้งหลาย ๒.มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในแผ่นดิน ๓.ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์ ๔.ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อควรและไม่ควรประพฤติ กะสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ อยู่เสมอ; จักรวรรดิวัตร ๔ ข้อนี้ บางทีจัดเป็น ๕ โดยแยกข้อ ๑.เป็น ๒ ข้อ คือ เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง กับจัดการคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม อย่างหนึ่ง, นอกจากนั้น สมัยต่อมา อรรถกถาจัดแบ่งซอยออกไป และเพิ่มเข้ามาอีก รวมเป็น ๑๒ ข้อ เรียกว่า จักรวรรดิวัตร ๑๒ ; พระสูตรนี้ถือว่าเป็นคำสอนแสดงหลักวิวัฒนาการของสังคมตามแนวจริยธรรม กล่าวถึงหลักการปกครอง และหลักความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับจริยธรรม; เรื่องพระศรีอารยเมตไตรย ก็มีต้นเค้ามาจากพระสูตรนี้
จักรวรรดิวัตร ๑๒ : ๑.อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ คุ้มครองสงเคราะห์แก่ชนในพระราชฐานและพยุหเสนา ๒.ขตฺติเยสุ แก่กษัตริย์เมืองขึ้นหรือผู้ครองนครภายใต้พระบรมเดชานุภาพ ๓.อนุยนฺเตสุ แก่กษัตริย์ที่ตามเสด็จคือ เหล่าเชื้อพระวงศ์ผู้เป็นราชบริพาร ๔.พฺราหฺมณคหปติเกสุ แก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ๕.เนคมชานปเทสุ แก่ชาวนิคมและชาวชนบทคือ ราษฎรพื้นเมืองทั้งเหล่าย ๖.สมณพฺราหฺมเณสุ แก่เหล่าสมณพราหมณ์ ๗.มิคปกฺขีสุ แก่เหล่าเนื้อนกอันพึงบำรุงไว้ให้มีสืบพันธุ์ ๘.อธมฺมการปฏิกฺเขโป ห้ามปรามมิให้มีความประพฤติการอันไม่เป็นธรรม ๙.อธนานํ ธนานุปฺปทานํ เจือจานทรัพย์ทำนุบำรุงแก่ผู้ขัดสนไร้ทรัพย์ ๑๐.สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ ไปสู่หาพราหมณ์ไต่ถามอรรถปฤษณา ๑๑.อธมฺมราคสฺส ปหานํ เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม ๑๒.วิสมโลภสฺส ปหานํ เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร
จัณฑปัชโชต : พระเจ้าแผ่นดินแคว้นอวันตี ครองราชสมบัติอยู่ที่กรุงอุชเชนี
จาคะ : การสละ, การให้ปัน, การเสียสละ, การสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ; การสละกิเลส (ข้อ ๔ ในฆราวาสธรรม ๔, ข้อ ๓ ใน อธิษฐานธรรม ๔, ข้อ ๖ ในอริยทรัพย์ ๗)
ตระกูลอันมั่งคั่ง : จะตั้งอยู่นานไม่ได้ เพราะเหตุ ๔ คือ ๑.ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว ๒.ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า ๓.ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ ๔.ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีล ให้เป็นแม่บ้านพ่อเรือน
ติสสเถระ : ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในเกาะลังกา เคยอุปการะพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย คราวเสียราชสมบัติแก่ทมิฬ ภายหลังทรงกู้ราชสมบัติคืนได้แล้ว ได้สร้างวัดอภัยคีรีวิหารถวาย
ทมิฬ : ชื่อชนเผ่าหนึ่งในเกาะลังกา เคยชิงราชสมบัติพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยได้
ทิฏฐธัมมิกัตถะ : ประโยชน์ในปัจจุบัน, ประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มีทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ๑.อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ๒.อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา ๓.กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ๔.สมชีวิตา การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้; มักเรียกคล่องปากว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์
ทีฆาวุ : พระราชโอรสของพระเจ้าทีฆีติราชาแห่งแคว้นโกศล ซึ่งถูกพระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์แห่งแคว้นกาสีชิงแคว้นจับได้ และประหารชีวิตเสีย ทีฆาวุกุมารดำรงอยู่ในพระโอวาทของพระบิดาที่ตรัสก่อนจะถูกประหาร ภายหลังได้ครองราชสมบัติทั้ง ๒ แคว้น คือ แคว้นกาสีกับแคว้นโกศล
ทุลลภธรรม :
สิ่งที่ได้ยาก, ความปรารถนาของคนในโลกที่ได้สมหมายโดยยาก มี ๔ คือ ๑.ขอโภคสมบัติจงเกิดมีแก่เราโดยทางชอบธรรม ๒.ขอยศจงเกดมีแก่เรากับญาติพวกพ้อง ๓.ขอเราจงรักษาอายุอยู่ได้ยืนนาน ๔.เมื่อสิ้นชีพแล้ว ขอเราจงไปบังเกิดในสวรรค์ ; ดู ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย ด้วย
ธรรมทายาท : ทายาทแห่งธรรม, ผู้รับมรดกธรรม, ผู้รับเอาธรรมของพระพุทธเจ้ามาเป็นสมบัติด้วยการประพฤติปฏิบัติให้เข้าถึง; โดยหมายถึงรับเอาโลกุตตรธรรม ๙ ไว้ได้ด้วยการบรรลุเอง โดยอ้อมหมายถึง รับปฏิบัติกุศลธรรม จะเป็นทาน ศีล หรือภาวนาก็ตาม ตลอดจนการบูชา ที่เป็นไปเพื่อบรรลุซึ่งโลกุตตรธรรมนั้น เทียบ อามิสทายาท
บอกวัตร : บอกข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เมื่อทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว ภิกษุรูปเดียวเป็นผู้บอก อาจใช้วิธีหมุนเวียนกันไปทีละรูป ข้อความที่บอกว่าเป็นภาษาบาลี กล่าวถึงปฏิบัติบูชา คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ คุณานิสงส์แห่งขันติธรรม คำเตือนให้ใส่ใจในธรรมในเมื่อได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ความไม่ประมาท เร่งเพียรพยายามในทางธรรมเพื่อน้อมไปสู่พระนิพพาน และพ้นจากทุคติ แล้วกล่าวถึงพุทธกิจประจำวัน ๕ ประการ ลำดับกาลใจพระพุทธประวัติ สิ่งแทนพระองค์ภายหลังพุทธปรินิพพาน ชื่อ วัน เดือน ปี และดาวนักษัตร ๒๗ จบลงด้วยคำเชื้อเชิญให้ตั้งอยู่ในพระพุทธโอวาท บำเพ็ญปฏิบัติบูชา เพื่อบรรลุสมบัติทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ; ธรรมเนียมนี้ บัดนี้ เลือนลางไปแล้ว
เบญจศีล : ศีล ๕ เว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในกาม เว้นพูดปด เว้นของเมา มีคำสมาทานว่า ๑.ปาณาติปาตา ๒.อทินฺนาทานา ๓.กาเมสุมิจฺฉาจารา ๔.มุสาวาทา ๕.สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺานา ต่อท้ายด้วย เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ทุกข้อ
ปรัตถปฏิบัติ : การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นพุทธคุณอย่างหนึ่ง คือ การทรงบำเพ็ญพุทธกิจเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นที่พึงของชาวโลก (โลกนาถ) ซึ่งสำเร็จด้วยพระมหากรุณาคุณเป็นสำคัญ มักเขียนเป็นปรหิตปฏิบัติ ซึ่งแปลเหมือนกัน; เป็นคู่กันกับ อัตตัตถสมบัติ หรือ อัตตหิตสมบัติ
ปเสนทิ : พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศลครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครสาวัตถี
พละ :
กำลัง 1.พละ ๕ คือธรรมอันเป็นกำลัง ซึ่งเป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อริยมรรค จัดอยู่ในจำพวกโพธิปักขิยธรรม มี ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา; ดู อินทรีย์๕2.พละ ๔ คือธรรมอันเป็นพลังทำให้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่ต้องหวาดหวั่นกลัวภัยต่างๆ ได้แก่ ๑.ปัญญาพละ กำลังปัญญา ๒.วิริยพละ กำลังความเพียร ๓.อนวัชชพละ กำลังคือการกระทำที่ไม่มีโทษ (กำลังความสุจริตและการกระทำแต่กิจกรรมที่ดีงาม) ๔.สังคหพละ กำลังการสงเคราะห์ คือช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม 3.พละ ๕ หรือ ขัตติยพละ ๕ ได้แก่กำลังของพระมหากษัตริย์ หรือกำลังที่ทำให้มีความพร้อมสำหรับความเป็นกษัตริย์ ๕ ประการ ดังแสดงในคัมภีร์ชาดกคือ ๑.พาหาพละ หรือ กายพละ กำลังแขนหรือกำลังกาย คือแข็งแรงสุขภาพดี สามารถในการใช้แขนใช้มือใช้อาวุธ มีอุปกรณ์พรั่งพร้อม ๒.โภคพละ กำลังโภคสมบัติ ๓.อมัจจพละ กำลังข้าราชการที่ปรึกษาและผู้บริหารที่สามารถ ๔.อภิชัจจพละ กำลังความมีชาติสูง ต้องด้วยความนิยมเชิดชูของมหาชนและได้รับการศึกษาอบรมมาดี ๕.ปัญญาพละ กำลังปัญญา ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่สุด
พินัยกรรม : หนังสือสำคัญที่เจ้าทรัพย์ทำไว้ก่อนตาย แสดงความประสงค์ว่าเมื่อตายแล้วขอมอบมรดกที่ระบุไว้ในหนังสือหนังสือสำคัญนั้น ให้แก่คนนั้นๆ, ตามพระวินัย ถ้าภิกษุทำเช่นนี้ ไม่มีผล ต้องปลงบริขาร จึงใช้ได้
พิมพิสาร : พระเจ้าแผ่นดินมคธครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครราชคฤห์ เป็นผู้ถวายพระราชอุทยานเวฬุวันเป็นสังฆาราม นับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา ต่อมาถูกพระราชโอรสนามว่าอชาตศัตรู ปลงพระชนม์