ขันธกะ :
หมวด, พวก, ตอน หมายถึง เรื่องราวเกี่ยวกับพระวินัย และสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ ที่จัดประมวลเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่า ขันธกะ, ขันธกะ หนึ่งๆ ว่าด้วยเรื่องหนึ่งๆ เช่นอุโบสถ ขันธกะ หมวดที่ว่าด้วยการทำอุโบสถ จีวรขันธกะ หมวดที่ว่าด้วยจีวรเป็นต้น รวมทั้งสิ้นมี ๒๒ ขันธกะ (พระวินัยปิฎกเล่ม ๔-๕-๖-๗) ดู ไตรปิฎก
บุพพาราม :
วัดที่นางวิสาขาสร้างถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ที่กรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้าประทับที่วัดนี้ รวมทั้งสิ้น ๖ พรรษา ดู วิสาขา
ผ้าป่า : ผ้าที่ทายกถวายแก่พระโดยวิธีปล่อยทิ้งให้พระมาชักเอาไปเอง อย่างเป็นผ้าบังสุกุล, ตามธรรมเนียมจะถวายหลังเทศกาลกฐินออกไป; คำถวายผ้าป่าว่า "อิมินา มยํ ภนฺเต, ปํสุกูลจีวรานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, ปํสุกูลจีวรานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย" แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ของพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญฯ
แผ่เมตตา : ตั้งจิตปรารถนาดีขอให้ผู้อื่นมีความสุข; คำแผ่เมตตาที่ใช้เป็นหลักว่า สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ แปลว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย, (ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน) หมดทั้งสิ้น, (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด) อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย, (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด) อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย, (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด) อย่าได้มีทุกข์กายทุกข์ใจเลย, จงมีความสุขกายสุขใจ, รักษาตน (ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น) เถิด.ข้อความในวงเล็บ เป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาในคำแปลเป็นภาษาไทย
พาหิย ทารุจีริยะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในครอบครัวคนมีตระกูลในแคว้นพาหิยรัฐ ลงเรือเดินทะเลเพื่อจะไปค้าขาย เรือแตกกลางทะเลรอดชีวิตไปได้ แต่หมดเนื้อหมดตัว ต้องแสดงตนเป็นผู้หมดกิเลสหลอกลวงประชาชนเลี้ยงชีวิต ต่อมาพบพระพุทธเจ้า ทูลขอให้ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่ออารมณ์ที่รับรู้ทางอายตนะทั้ง ๖ พอจบพระธรรมเทศนาย่นย่อนั้น พาหิยะก็สำเร็จอรหัต แต่ไม่ทันได้อุปสมบท กำลังเที่ยวหาบาตรจีวร เผอิญถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดเอาสิ้นชีวิตเสียก่อน ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านตรัสรู้ฉับพลัน
ภยตูปัฏฐานญาณ : ปรีชาหยั่งเห็นสังขารปรากฏโดยอาการเป็นของน่ากลัว เพราะสังขารทั้งปวงนั้นล้วนแต่จะต้องแตกสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น (ข้อ ๓ ในวิปัสสนาญาณ ๙)
วิชชา : ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ; วิชชา ๓ คือ ๑.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ได้ระลึกชาติได้ ๒.จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ๓.อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น; วิชชา ๘ คือ ๑.วิปัสสนาญาณ ญาณในวิปัสสนา ๒.มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ ๓.อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ ๔.ทิพพโสต หูทิพย์ ๕.เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้ ๖.ปุพเพนิวาสานุสติ ๗.ทิพพจักขุ ตาทิพย์ (=จุตูปปาตญาณ) ๘.อาสวักขยญาณ
วิสุทธิมรรค : ปกรณ์พิเศษอธิบายศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนววิสุทธิ ๗ พระพุทธโฆษาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ชาวอินเดียเป็นผู้แต่งที่มหาวิหารในเกาะลังกา; พระพุทธโฆสาจารย์ผู้นี้เป็นบุตรพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้พุทธคยา อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในแคว้นมคธ เมื่อประมาณ พ.ศ.๙๕๖ เรียนจบไตรเพทมีความเชี่ยวชาญมาก ต่อมาพบกับพระเรวตเถระ ได้โต้ตอบปัญหากัน สู้พระเรวตเถระไม่ได้ จึงขอบวชเพื่อเรียนพุทธวจนะ มีความสามารถมาก ได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย เป็นต้น พระเรวตเถระจึงแนะนำให้ไปเกาะลังกา เพื่อแปลอรรถกถาสิงหฬ กลับเป็นภาษามคธ ท่านเดินทางไปที่มหาวิหาร เกาะลังกา เมื่อขออนุญาตแปลคัมภีร์ ถูกพระเถระแห่งมหาวิหารให้คาถามา ๒ บท เพื่อแต่งทดสอบความรู้ พระพุทธโฆส จึงแต่งคำอธิบายคาถาทั้ง ๒ นั้นขึ้นเป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค จากนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ทำงาน แปลอรรถกถาได้ตามประสงค์ เมื่อทำงานเสร็จสิ้นแล้ว ท่านก็เดินทางกลับสู่ชมพูทวีป พระพุทธโฆสาจารย์ เป็นพระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด มีผลงานมากที่สุด
เวสารัชชญาณ : พระปรีชาญาณอันทำให้พระพุทธเจ้าทรงมีความแกล้วกล้าไม่ครั่นคร้าม ด้วยไม่ทรงเห็นว่าจะมีใครท้วงพระองค์ได้โดยชอบธรรม ในฐานะทั้ง ๔ คือ ๑.ท่านปฏิญญาว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ ท่านยังไม่รู้แล้ว ๒.ท่านปฏิญญาว่าเป็นขีณาสพ อาสวะนี้ของท่านยังไม่สิ้นแล้ว ๓.ท่านกล่าวธรรมเหล่าใดว่าทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง ๔.ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่เป็นทางนำผู้ทำตามให้ถึงความสิ้นทุกข์ โดยชอบได้จริง
สังฆทาน : ทานเพื่อสงฆ์, การถวายแก่สงฆ์ คือถวายเป็นกลาง ๆ ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เช่น จะทำพิธีถวายของที่มีจำนวนจำกัดพึงแจ้งแก่ทางวัดให้จัดพระไปรับตามจำนวนที่ต้องการ หัวหน้าสงฆ์จัดภิกษุใดไปพึงทำใจว่า ท่านมารับในนามของสงฆ์ หรือ เป็นผู้แทนของสงฆ์ทั้งหมด ไม่พึงเพ่งเล็งว่าเป็นบุคคลใด คิดตั้งใจแต่ว่าจะถวายอุทิศแก่สงฆ์; ในพิธีพึงจุดธูปเทียนบูชาพระ อาราธนาศีล รับศีล จบแล้วตั้งนโม ๓ จบ กล่าวคำถวายเสร็จแล้วประเคนของ และเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา พึงกรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธี; คำถวายสังฆทานว่าดังนี้ : อิมานิ มยํ ภนฺเต, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย, แปลว่า : ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ ฯ
สุภัททะ วุฒบรรพชิต : “พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่” ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการปรารภที่จะทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ก่อนบวช เป็นช่างตัดผมในเมืองอาตุมา มีบุตรชาย ๒ คน เมื่อบวชแล้วคราวหนึ่งได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่จะเสด็จมายังเมืองอาตุมา จึงให้บุตรทั้ง ๒ เอาเครื่องมือตัดผมออกไปเที่ยวขอตัดผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเอาเครื่องปรุงยาคูมาได้มากมาย แล้วบัญชาการให้ผู้คนจัดเตรียมข้าวยาคูไว้เป็นอันมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ก็นำเอาข้าวยาคูนั้นเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าตรัสถาม ทรงทราบความว่าพระสุภัททะได้ข้าวนั้นมาอย่างไรแล้ว ไม่ทรงรับและทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ๒ ข้อ คือ บรรพชิตไม่พึงชักชวนคนทำในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ และภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผมไว้ประจำตัว จากการที่ได้ถูกติเตียนและเสียของเสียหน้าเสียใจ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น พระสุภัททะก็ได้ผูกอาฆาตไว้ ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน พระสุภัททะร่วมอยู่ในคณะของพระมหากัสสปเถระ ซึ่งกำลังเดินทางจากเมืองปาวาสู่เมืองกุสินารา ระหว่างทางนั้น คณะได้ทราบข่าวพุทธปรินิพพานจากอาชีวกผู้หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นราคะ (คือพระปุถชน โสดาบัน และสกทาคามี) พากันร้องไห้คร่ำครวญเป็นอันมาก ในขณะนั้นเอง พระสุภัททะวุฒบรรพชิต ก็ร้องห้ามขึ้นว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไห้ไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว พระมหาสมณะนั้นคอยเบียดเบียนพวกเราว่าสิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ บัดนี้พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น” พระมหากัสสปเถระได้ฟังแล้วเกิดธรรมสังเวช ดำริว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน ก็ยังเกิดเสี้ยนหนามขึ้นแล้วในพระศาสนา หากต่อไปคนชั่วได้พวกพ้องมีกำลังเติบกล้าขึ้น ก็จะทำพระศาสนาให้เสื่อมถอย ดังนั้น หลังจากเสร็จงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว ท่านจึงได้ยกถ้อยคำของสุภัททะวุฒบรรพชิต นี้ขึ้นเป็นข้อปรารภ ชักชวนพระเถระทั้งหลายร่วมกันทำสังคายนาครั้งแรก
อนุปาทิเสสนิพพาน : นิพพานไม่มีอุปาทิเหลือ, ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือ สิ้นทั้งกิเลสและชีวิต หมายถึง พระอรหันต์สิ้นชีวิต, นิพพานในแง่ที่เป็นภาวะดับภพ; เทียบ สอุปาทิเสสนิพพาน
อนุพยัญชนะ :
ลักษณะน้อยๆ, พระลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ (นอกเหนือจากมหาบุรุษลักษณะ ๓๒) อีก ๘๐ ประการ คือ ๑) มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม, ๒) นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไป โดยลำดับแต่ต้นจนปลาย, ๓) นิ้วพระหัตถ์ แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี, ๔) พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง, ๕) พระนขาทั้ง ๒๐ นั้น งอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง, ๖) พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลม สนิทมิได้เป็นริ้วรอย, ๗) ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก, ๘) พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา, ๙) พระดำเนินงานดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ, ๑๐) พระดำเนินงามดุจสีหราช, ๑๑) พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์, ๑๒) พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน, ๑๓) ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน, ๑๔) พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก, ๑๕) มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี ๑๖) พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง, ๑๗) พระอุทรมีสัณฐานอันลึก, ๑๘) ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ, ๑๙) ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี, ๒๐) ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี, ๒๑) พระอังคาพยใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้, ๒๒) พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งประสรีรกาย, ๒๓) พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง ๒๔) พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง, ๒๕) พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง, ๒๖) พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง, ๒๗) ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ, ๒๘) มีพระนาสิกอันสูง, ๒๙) สัณฐานนาสิกงามแฉล้ม ๓๐) มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก, ๓๑) พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน, ๓๒) พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์, ๓๓) พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย, ๓๔) พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น, ๓๕) พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์, ๓๖) ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย ๓๗) พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน, ๓๘) ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก, ๓๙) ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว ๔๐) ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด ๔๑) ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง, ๔๒) รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ ๔๓) กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์ ๔๔) กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน ๔๕) ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ๔๖) ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด ๔๗) พระชิวหามีสัณฐานอันงาม ๔๘) พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้างมีพรรณอันแดงเข้ม ๔๙) พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ ๕๐) ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม ๕๑) ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง ๕๒) แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง ๕๓) พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว ๕๔) ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน ๕๕) พระนลาฏมีสัณฐานอันงาม ๕๖) พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้ ๕๗) พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด ๕๘) เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ ๕๙) พระโขนงนั้นใหญ่ ๖๐) พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร ๖๑) ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๒) พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ ๖๓) พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ๖๔) พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ ๖๕) พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย ๖๖) กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา ๖๗) พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น ๖๘) พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๙) ลมอัสสาสะและปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด ๗๐) พระโอษฐมีสัณฐานอันงามดุจแย้ม ๗๑) กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล ๗๒) พระเกสาดำเป็นแสง ๗๓) กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ ๗๔) พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ ๗๕) พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น ๗๖) พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น ๗๗) พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด ๗๘) เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง ๗๙) เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏทุกๆ เส้น ๘๐) วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ฯ นิยมเรียกว่า อสีตยานุพยัญชนะ; ดู มหาบุรุษลักษณะ
อภิณหปัจจเวกขณ์ : ข้อที่ควรพิจารณาเนืองๆ, เรื่องที่ควรพิจารณาทุกๆ วัน มี ๕ อย่าง คือ ๑) ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๒) ว่าเรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๓) ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๔) ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๕) ว่าเรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว; อีกหมวดหนึ่ง สำหรับบรรพชิต แปลว่า ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๑๐ อย่าง (ปัพพชิตอภิรหปัจจเวกขณ์) คือ ๑) บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า บัดนี้ เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว ๒) ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๓) ว่าเรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ ๔) ว่า ตัวเราเองยังติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ ๕) ว่าเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญู ใคร่ครวญแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ ๖) ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๗) ว่าเรามีกรรมเป็นของตน เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว ๘) ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๙) ว่า เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่ ๑๐) ว่า คุณวิเศษที่เราบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ ที่จะทำให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมือถูกเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง (ข้อ ๑ ท่านเติมท้ายว่าอาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ ข้อ ๒) เติมว่าเราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ข้อ ๗) ท่านเขียนว่า อาการกายวาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้น ไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้)
อัคคัญญสูตร : ชื่อสูตรที่ ๔ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก ทรงแสดงแก่สามเณรวาเสฏฐะ และสามเณรภารัทวาชะ ผู้ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ ทรงคัดค้านคำกล่าวอ้างของพวกพราหมณ์ ที่ถือว่าพราหมณ์เป็นวรรณะประเสริฐที่สุด และถือว่าชาติกำเนิดเป็นเครื่องตัดสินความประเสริฐ และความต่ำทรามของมนุษย์ ทรงแสดงให้เห็นว่าความประเสริฐหรือต่ำทรามนั้นอยู่ที่ความประพฤติ โดยมีธรรมเป็นเครื่องตัดสิน คนวรรณะต่างๆ ออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เกิดจากธรรมเสมอกันหมด แล้วทรงแสดงความเป็นมาของสังคมมนุษย์ เริ่มแต่เกิดมีสัตว์ขึ้นในโลกแล้วเปลี่ยนแปลงตามลำดับ จนเกิดมีมนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นพวก เกิดความจำเป็นต้องมีการปกครอง และมีการประกอบอาชีพ การงานต่างๆ กัน วรรณะทั้ง ๔ ก็เกิดจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มิใช่เป็นเรื่องของพรหมสร้างสรรค์ แต่เกิดจากธรรม (ธรรมดา, กฎธรรมชาติ) ทุกวรรณะประพฤติชั่วก็ไปอบายได้ ปฏิบัติธรรมก็บรรลุนิพพานได้ ธรรมเป็นเครื่องตัดสิน และธรรมเป็นของประเสริฐสูงสุด ผู้ที่สิ้นอาสวกิเลสแล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุดในวรรณะทั้ง ๔ ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐสุดในบรรดาเทวะ และมนุษย์ทั้งปวง
อาสวักขยญาณ : ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ, ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, ความตรัสรู้ (เป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ในยามสุดท้ายแห่งราตรี วันตรัสรู้) (ข้อ ๓ ในวิชชา ๓, ข้อ ๖ ในอภิญญา ๖, ข้อ ๘ ในวิชชา ๘, ข้อ ๑๐ ในทศพลญาณ)
ยุคล : คู่, ทั้ง ๒
สัปปายะ : สิ่ง สถาน หรือบุคคล ซึ่งเป็นที่สบาย เหมาะกัน เกื้อกูล หรือเอื้ออำนวยโดยเฉพาะที่ช่วยเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญและประคับประคองรักษาสมาธิ ท่านแสดงไว้ ๗ อย่าง คือ อาวาส (ที่อยู่) โคจร (ที่บิณฑบาตหรือแหล่งอาหาร) ภัสสะ (เรื่องพูดคุยที่เสริมการปฏิบัติ) บุคคล (ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้วช่วยให้จิตผ่องใสสงบมั่นคง) โภชนะ (อาหาร) อุตุ (สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ) อิริยาบถ; ทั้ง ๗ นี้ที่เหมาะกันเป็นสัปปายะ ที่ไม่สบายเป็นอสัปปายะ
ส่วนข้างปลายทั้งสอง : อดีต กับอนาคต
กิจจาธิกรณ์ : การงานเป็นอธิกรณ์ คือ เรื่องที่เกิดขึ้นอันสงฆ์ต้องจัดต้องทำ หรือกิจธุระที่สงฆ์จะพึงทำ ; อรรถกถาพระวินัยว่าหมายถึงกิจอันจะพึงทำด้วยประชมสงฆ์ ได้แก่ สังฆกรรม ทั้ง ๔ คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม
นกุลบิดา : “พ่อของนกุล”, คฤหบดี ชาวเมืองสุงสุมารคีรี ในแคว้นภัคคะ มีภรรยาชื่อ นกุลมารดา สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองสุงสุมารคีรี ประทับที่ป่าเภสกลาวัน ท่านคฤหบดีและภรรยาไปเฝ้าพร้อมกับชาวเมืองคนอื่นๆ พอได้เห็นครั้งแรก ทั้ง ๒ สามีภรรยาก็เกิดความรู้สึกสนิทหมายใจเหมือนว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุตรของตน ได้เข้าไปถึงพระองค์และแสดงความรู้สึกนั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมโปรด ทั้ง ๒ ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านนกุลบิดาและนกุลมารดานี้ เป็นคู่สามีภรรยาตัวอย่าง ผู้มีความจงรักภักดีต่อกันอย่างบริสุทธิ์และมั่นคงยั่งยืน ตราบเท่าชรา ทั้งยังปรารถนาจะพบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้า เคยทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงหลักธรรมที่จะทำให้สามีภรรยาครองรักกันยั่งยืนตลอดไปทั้งภพนี้และภพหน้า เมื่อท่านนกุลบิดาเจ็บป่วยออดแอดร่างกายอ่อนแอ ไม่สบายด้วยโรคชรา ท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาครั้งหนึ่ง ที่ท่านประทับใจมากคือ พระดำรัสที่แนะนำให้ทำใจว่า “ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วย” ท่านนกุลบิดาได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้สนิทสนมคุ้นเคย (วิสสาสิกะ)
โลก : แผ่นดินเป็นที่อาศัย, หมู่สัตว์ผู้อาศัย; โลก ๓ คือ ๑.สังขารโลก โลกคือสังขาร ๒.สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ ๓.โอกาสโลก โลกคือแผ่นดิน; อีกนัยหนึ่ง ๑.มนุษยโลก โลกมนุษย์ ๒.เทวโลก โลกสวรรค์ ทั้ง ๖ ชั้น ๓.พรหมโลก โลกของพระพรหม
ศิลปศาสตร์ : ตำราว่าด้วยวิชาความรู้ต่างๆ มี ๑๘ ประการ เช่นตำราว่าด้วยการคำนวณ ตำรายิงธนู เป็นต้น อันได้มีการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล; ๑๘ ประการนั้น มีหลายแบบ ยกมาดูแบบหนึ่งจากคัมภีร์โลกนิติ และธรรมนิติ ได้แก่ ๑.สูติ ความรู้ทั่วไป ๒.สัมมติ ความรู้กฎธรรมเนียม ๓.สังขยา คำนวณ ๔.โยคยันตร์ การช่างการยนตร์ ๕.นีติ นิติศาสตร์ ๖.วิเสสิกา ความรู้การอันให้เกิดมงคล ๗.คันธัพพา วิชาร้องรำ ๘.คณิกา วิชาบริหารร่างกาย ๙.ธนุพเพธา วิชายิงธนู ๑๐.ปุราณา โบราณคดี ๑๑.ติกิจฉา วิชาแพทย์ ๑๒.อิติหาสา ตำนานหรือประวัติศาสตร์ ๑๓.โชติ ดาราศาสตร์ ๑๔.มายา ตำราพิชัยสงคราม ๑๕.ฉันทสา การประพันธ์ ๑๖.เกตุ วิชาพูด ๑๗.มันตา วิชามนต์ ๑๘.สัททา วิชาไวยากรณ์, ทั้ง ๑๘ อย่างนี้โบราณเรียกรวมว่า สิปปะ หรือศิลปะ ไทยแปลออกเป็น ศิลปศาสตร์ (ตำราว่าด้วยศิลปะต่างๆ); แต่ในสมัยปัจจุบัน ได้แยกความหมายศิลปะ กับ ศาสตร์ ออกจากกัน คือ ศิลปะ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรง ความงาม เช่น ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ และจิตรกรรม เป็นต้น ศาสตร์ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรงความจริง เช่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
สนฺนิปาติกา อาพาธา : ความเจ็บไข้เกิดจากสันนิบาต (คือประชุมกันแห่งสมุฏฐานทั้ง ๓), ไข้สันนิบาต คือความเจ็บไข้ที่เกิดขึ้นแต่ดี เสมหะ และลม ทั้ง ๓ เจือกัน
สหชีวินี : คำเรียกแทนคำว่า สัทธิวิหารินีของภิกษุณี ทั้ง ๒ คำนี้แปลว่าผู้อยู่ร่วมตรงกับสัทธิวิหาริกในฝ่ายภิกษุ; ศิษย์ของ ปวัตตินี
สารีบุตร : พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ (บางแห่งเรียกนาลันทะ) ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ สารี จึงได้นามว่าสารีบุตร แต่เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ ซึ่งต่อมาคือ พระมหาโมคคัลลานะ มีน้องชาย ๓ คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ น้องหญิง ๓ คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่ออุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้ง ๒ คนไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปดูแล้วเกิดความสลดใจ คิดออกแสวงหาโมกขธรรม และต่อมาได้บวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชกแต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย จนวันหนึ่งอุปติสสปริพาชก พบพระอัสสชิเถระขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมใสติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอนได้ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะแล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชกที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง ๒๕๐ คน ได้รับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน เมื่อบวชแล้วได้ ๑๕ วัน พระสารีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็น เอตทัคคะ ในทางมีปัญญามาก และเป็น พระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็น พระธรรมเสนาบดี คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการสังคายนา เป็นต้น ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือนเมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาของท่านซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฐิให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ หลังจากปลงศพแล้วพระจุนทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี (อรรถกถาว่าท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จึงเท่ากับ ๖ เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน)
ทุกขขัย : สิ้นทุกข์, หมดทุกข์
สรรพ : ทั้งปวง, ทั้งหมด, ทุกสิ่ง
เสนาสนปัญญาปกะ : ผู้แต่งตั้งเสนาสนะหมายถึงภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้เป็นผู้มีหน้าที่จัดแจงแต่งตั้งดูแลความเรียบร้อยแห่งเสนาสนะสำหรับภิกษุทั้งหลายจะได้เข้าพักอาศัย
กฐิน : ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร; ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้ และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ) ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔); ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ); สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป; ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
กรวดน้ำ : ตั้งใจอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ พร้อมไปกับหลั่งรินน้ำเป็นเครื่องหมาย และเป็นเครื่องรวมกระแสจิตที่ตั้งใจอุทิศนั้นให้แน่วแน่; เริ่มรินน้ำเมื่อพระองค์หัวหน้าเริ่มสวดยถา รินน้ำหมดพร้อมกับพระหัวหน้าสวดยถาจบ และพระทั้งหมดเริ่มสวดพร้อมกัน จากนั้นวางที่กรวดน้ำลงแล้วประนมมือรับพรต่อไป; คำกรวดน้ำอย่างสั้นว่า อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่....(ออกชื่อผู้ล่วงลับ) และญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด จะต่ออีกก็ได้ว่า สุขิตา โหนตุ ญาตโย ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด - to pour the water of dedication (to transfer merit to other beings)
กระหย่ง : (ในคำว่า นั่งกระหย่ง) นั่งคุกเข่าเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้ง ๒ รับก้น เรียกว่านั่งกระโหย่ง ก็ได้; บางแห่งว่าหมายถึงนั่งยองๆ
กรานกฐิน : ขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์เพื่ออนุโมทนา ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้นเรียกว่า ผู้กราน
กัป : กาลกำหนด, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น; กำหนดอายุของโลก; กำหนดอายุ เรียกเต็มว่า อายุกัป เช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี - 1.an aeon; world-aeon; world-age; world-cycle; world-period. 2.the life-term; life-period; the duration of life.
กัปป์ : กาลกำหนด, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น; กำหนดอายุของโลก; กำหนดอายุ เรียกเต็มว่า อายุกัป เช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี - 1.an aeon; world-aeon; world-age; world-cycle; world-period. 2.the life-term; life-period; the duration of life.
กัปปิยภูมิ : ที่สำหรับเก็บเสบียงอาหารของวัด, ครัววัด มี ๔ อย่าง คือ อุสสาวนันติกา กัปปิยภูมิที่ทำด้วยการประกาศให้รู้แต่แรกสร้างว่าจะทำเป็นกัปปิยภูมิ คือพอเริ่มยกเสาหรือตั้งฝาก็ประกาศให้ได้ยินว่า กปฺปิยภูมึ กโรม แปลว่า เราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี ๑ โคนิสาทิกา กัปปิยภูมิขนาดเล็ก เคลื่อนที่ได้ ดุจเป็นที่โคจ่อม ๑ คหปติกา เรือนของคฤหบดีเขาสร้างถวายเป็นกัปปิยภูมิ ๑ สัมมติกา กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ ได้แก่ กุฎีที่สงฆ์เลือกจะใช้เป็นกัปปิยกุฎี แล้วสวดประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม ๑
กัสสปะ :
1.พระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอดีต ดู พระพุทธเจ้า๕2.ชื่อของพระมหากัสสปเถระเมื่อเรียกตามโคตร ท่านมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ปิปผลิ หรือ ปิปผลิมาณพ 3.หมายถึงกัสสป ๓ พี่น้อง คยากัสสปะ เป็นนักบวชประเภทชฎิล ถือลัทธิบูชาไฟ เป็นที่เคารพนับถือของชาวราชคฤห์ ภายหลังได้เป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๓ พี่น้องและบริวารหนึ่งพัน ด้วยได้ฟังเทศนาอาทิตตปริยายสูตร จากพระพุทธเจ้า
กาพย์ : คำร้อยกรองที่แต่งทำนองฉันท์ แต่ไม่นิยมครุลหุเหมือนฉันท์ทั้งหลาย
กามฉันท์ : ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น, ความพอใจในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (นิวรณ์ข้อ ๑) - sense desire; excitement of sensual pleasure.
กาเมสุมิจฉาจาร : ความประพฤติผิดในกิเลสกาทั้งหลาย, ความผิดประเวณี
กายกัมมัญญตา : ความควรแก่การงานแห่งนามกาย, ธรรมชาติที่ทำนามกาย คือ เจตสิกทั้งหลายให้อยู่ในภาวะที่จะทำงานได้ดี (ข้อ ๑๔ ในโสภณเจตสิก ๒๕)
กายปัสสัทธิ : ความสงบรำงับแห่งนามกาย, ธรรมชาติทำนามกาย คือ เจตสิกทั้งหลายให้สงบเย็น (ข้อ ๘ ในโสภณเจตสิก ๒๕)
กายปาคุญญตา : ความคล่องแคล่วแห่งนามกาย, ธรรมชาติทำนามกายคือ เจตสิกทั้งหลายให้แคล่วคล่องว่องไว รวดเร็ว (ข้อ ๑๖ ในโสภณเจตสิก ๒๕)
กายมุทุตา : ความอ่อนโยนแห่งนามกาย, ธรรมชาติทำนามกาย คือ เจตสิกทั้งหลายให้นุ่มนวลอ่อนละมุน (ข้อ ๑๒ ในโสภณเจตสิก ๒๕)
กายุชุกตา : ความซื่อตรงแห่งนามกาย, ธรรมชาติที่ทำนามกายคือเจตสิกทั้งหลายให้ซื่อตรง (ข้อ ๑๘ ในโสภณเจตสิก ๒๕)
กาลิก : เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ ๑.ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ ๒.ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต ๓.สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่เภสัชทั้ง ๕ ๔.ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น (ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)
กูฏทันตสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรค สุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่กูฏทันตพราหมณ์ ผู้กำลังเตรียมพิธีบูชายัญ ว่าด้วยวิธีบูชายัญตามความหมายในแบบของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ต้องมีการฆ่าฟันเบียดเบียนสัตว์ มีแต่การเสียสละทำทาน และการทำความดีอื่นๆ เริ่มด้วยการตระเตรียมพิธีโดยจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยก่อนตามธรรมวิธี มีการส่งเสริมกสิกรรม พาณิชยกรรม สัมมาชีพ และบำรุงส่งเสริมข้าราชการที่ดี ซึ่งจะทำให้ประชาชนขวนขวาย ขะมักเขม้นในหน้าที่การงานของตนๆ จนบ้านเมืองมีความเกษมปลอดภัย พลเมืองมีความสุข ราชทรัพย์บริบูรณ์ดีแล้ว จึงกระทำพิธีบูชายัญ ด้วยการบริจาคทรัพย์ทำทานเป็นต้น ผลของพระธรรมเทศนานี้ คือ กูฏทันตพราหมณ์ล้มเลิกพิธีบูชายัญของตน ปล่อยสัตว์ทั้งหลาย และประกาศตนเป็นอุบาสก
โกศล : ความฉลาด, ความเชี่ยวชาญ มี ๓ คือ ๑.อายโกศล ความฉลาดในความเจริญ, รอบรู้ทางเจริญและเหตุของความเจริญ ๒.อปายโกศล ความฉลาดในความเสื่อม, รอบรู้ทางเสื่อมและเหตุของความเสื่อม ๓.อุปายโกศล ความฉลาดในอุบาย, รอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์และวิธีที่จะทำให้สำเร็จ ทั้งในการป้องกันความเสื่อมและในการสร้างความเจริญ
โกสัลละ : ความฉลาด, ความเชี่ยวชาญ มี ๓ คือ ๑.อายโกศล ความฉลาดในความเจริญ, รอบรู้ทางเจริญและเหตุของความเจริญ ๒.อปายโกศล ความฉลาดในความเสื่อม, รอบรู้ทางเสื่อมและเหตุของความเสื่อม ๓.อุปายโกศล ความฉลาดในอุบาย, รอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์และวิธีที่จะทำให้สำเร็จ ทั้งในการป้องกันความเสื่อมและในการสร้างความเจริญ