พุทธโอวาท : คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีหลักใหญ่ ๓ ข้อ คือ ๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำความดีให้เพียบพร้อม ๓. สจิตฺตปริโยทปนํ ทำใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์
โอวาท : คำกล่าวสอน, คำแนะนำ, คำตักเตือน; โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ คือ ๑) เว้นจากทุจริต คือประพฤติชั่วด้วยกายวาจาใจ (= ไม่ทำความชั่วทั้งปวง) ๒) ประกอบกายสุจริต คือประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ (= ทำแต่ความดี) ๓) ทำใจของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น (= ทำจิตของตนให้สะอาดบริสุทธิ์) โอวาท ๓ นี้ รวมอยู่ใน โอวาทปาฏิโมกข์
บริสุทธิ์ : สะอาด, หมดจด, ปราศจากมลทิน, ผุดผ่อง; ครบถ้วน, ถูกต้องตามระเบียบอย่างบริบูรณ์
ควรทำความไม่ประมาท :
ในที่ ๔ สถาน ดู อัปปมาท
ทำบุญ : ทำความดี, ทำสิ่งที่ดีงาม, ประกอบกรรมดี ดังที่ท่านแสดงใน บุญกิริยาวัตถุ ๓ หรือบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่ที่พูดกันทั่วไป มักเพ่งที่การเลี้ยงพระตักบาตร ถวายจตุปัจจัยแก่พระสงฆ์ บริจาคบำรุงวัดและการก่อสร้างในวัด เป็นสำคัญ
กัลลวาลมุตตคาม : ชื่อหมู่บ้าน อยู่ในแคว้นมคธ พระโมคคัลลานะอุปสมบทได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรจนอ่อนใจ นั่งโงกงวงอยู่ พระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาโปรด จนได้สำเร็จพระอรหัตที่หมู่บ้านนี้
กายคตาสติ : สติที่เป็นไปในกาย, สติอันพิจารณากายให้เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบ ซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงใหลมัวเมา
กายคติ : สติที่เป็นไปในกาย, สติอันพิจารณากายให้เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบ ซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงใหลมัวเมา
กุกกุจจะ : ความรำคาญใจ, ความเดือดร้อนใจ เช่นว่า สิ่งดีงามที่ควรทำ ตนมิได้ทำ สิ่งผิดพลาดเสียหายไม่ดีไม่งาม ที่ไม่ควรทำ ตนได้ทำแล้ว, ความยุ่งใจ กลุ้มใจ กังวลใจ, ความรังเกียจหรือกินแหนงในตนเอง, ความระแวงสงสัย เช่นว่า ตนได้ทำความผิดอย่างนั้นๆ แล้วหรือมิใช่ สิ่งที่ตนได้ทำไปแล้วอย่างนั้นๆ เป็นความผิดข้อนี้ๆ เสียแล้วกระมัง
กุศลบุญจริยา : ความประพฤติที่เป็นบุญ เป็นกุศล, การทำความดีอย่างฉลาด
กูฏทันตสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรค สุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่กูฏทันตพราหมณ์ ผู้กำลังเตรียมพิธีบูชายัญ ว่าด้วยวิธีบูชายัญตามความหมายในแบบของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ต้องมีการฆ่าฟันเบียดเบียนสัตว์ มีแต่การเสียสละทำทาน และการทำความดีอื่นๆ เริ่มด้วยการตระเตรียมพิธีโดยจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยก่อนตามธรรมวิธี มีการส่งเสริมกสิกรรม พาณิชยกรรม สัมมาชีพ และบำรุงส่งเสริมข้าราชการที่ดี ซึ่งจะทำให้ประชาชนขวนขวาย ขะมักเขม้นในหน้าที่การงานของตนๆ จนบ้านเมืองมีความเกษมปลอดภัย พลเมืองมีความสุข ราชทรัพย์บริบูรณ์ดีแล้ว จึงกระทำพิธีบูชายัญ ด้วยการบริจาคทรัพย์ทำทานเป็นต้น ผลของพระธรรมเทศนานี้ คือ กูฏทันตพราหมณ์ล้มเลิกพิธีบูชายัญของตน ปล่อยสัตว์ทั้งหลาย และประกาศตนเป็นอุบาสก
ขันธมาร : ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ถูกปัจจัยต่างๆ มีอาพาธเป็นต้น บีบคั้นเบียดเบียนเป็นเหตุขัดขวางหรือรอนโอกาส มิให้สามารถทำความดีงามได้เต็มที่ หรืออาจตัดโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง (ข้อ ๒ ในมาร ๕)
ความค้ำ : ในประโยคว่า เราจักไม่ทำความค้ำ ไปในละแวกบ้าน เดินเอามือค้ำบั้นเอว นั่งเท้าแขน
จักร : ล้อ, ล้อรถ, ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมายมี ๔ อย่างคือ ๑.ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในถิ่นที่เหมาะ ๒.สัปปุริสูปัสสยะ สมาคมกับคนดี ๓.อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ ๔.ปุพเพกตปุญญตา ได้ทำความดีไว้ก่อน
ต่อตาม : พูดเกี่ยงราคาในเรื่องซื้อขาย, พูดเกี่ยงผลประโยชน์ในการทำความตกลงกัน
ทิฏฐชุกัมม์ : การทำความเห็นให้ตรง, การแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูกต้อง
ทิฏฐาวิกัมม์ : การทำความเห็นให้แจ้ง ได้แก่ แสดงความเห็นแย้ง คือภิกษุผู้เข้าประชุมในสงฆ์บางรูปไม่เห็นร่วมด้วยคำวินิจฉัยอันสงฆ์รับรองแล้วก็ให้แสดงความเห็นแย้งได้
ทิฏฐิวิบัติ : วิบัตแห่งทิฐิ, ความผิดพลาดแห่งความคิดเห็น, ความเห็นคลาดเคลื่อน ผิดธรรมผิดวินัย ทำให้ประพฤติตนนอกแบบแผน ทำความผิดอยู่เสมอ (ข้อ ๓ ในวิบัติ ๔)
ที่ลับตา : ทีมีวัตถุกำบัง แลเห็นไม่ได้ พอจะทำความชั่วได้
ทุกรกิริยา : กิริยาที่ทำได้โดยยาก, การทำความเพียรอันยากที่ใครๆ จะทำได้ ได้แก่ การบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ ด้วยวิธีการทรมานตนต่างๆ เช่น กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะและอดอาหาร เป็นต้น ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติก่อนตรัสรู้ อันเป็นฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค และได้ทรงเลิกละเสียเพราะไม่สำเร็จประโยชน์ได้จริง; เขียนเต็มเป็น ทุกกรกิริยา
ธรรมวิภาค : การจำแนกธรรม, การจัดหัวข้อธรรมจำแนกออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้าอธิบายและทำความเข้าใจ
นิคคหกรรม : การลงโทษตามพระธรรมวินัย, สังฆกรรมประเภทลงโทษผู้ทำความผิด ท่านแสดงไว้ ๖ อย่างคือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม อุกเขปนียกรรม และตัสสาปาปิยสิกากรรม
บริกรรม : 1.(ในคำว่า “ถ้าผ้ากฐินนั้นมีบริกรรมสำเร็จด้วยดี”) การตระเตรียม, การทำความเรียบร้อยเบื้องต้น เช่น ซัก ย้อม กะ ตัด เย็บ เสร็จแล้ว 2.สถานที่เขาลาดปูน ปูไม้ ขัดเงา หรือชักเงา โบกปูน ทาสี เขียนสี แต่งอย่างอื่น เรียกว่าที่ทำบริกรรม ห้ามภิกษุถ่มนำลาย หรือนั่งพิง 3.การนวดฟั้นประคบ หรือถูตัว 4.การกระทำขั้นต้นในการเจริญสมถกรรมฐาน คือ กำหนดใจโดยเพ่งวัตถุ หรือนึกถึงอารมณ์ที่กำหนดนั้น ว่าซ้ำๆ อยู่ในใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อทำใจให้สงบ 5.เลือนมาเป็นความหมายในภาษาไทย หมายถึงท่องบ่น, เสกเป่า
บุญกิริยาวัตถุ : สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ, เรื่องที่จัดเป็นการทำบุญ, ทางทำความดี, หมวด ๓ คือ ๑.ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ ๒.สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี ๓.ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา
บุพประโยค : อาการหรือการทำความพยายามเบื้องต้น, การกระทำทีแรก
ประเคน : ส่งของถวายพระภายในหัตถบาส, ส่งให้ถึงมือ; องค์แห่งการประเคนมี ๕ คือ ๑.ของไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป พอคนปานกลางคนเดียวยกได้ ๒.ผู้ประเคนเข้ามาอยู่ในหัตถบาส คือห่างประมาณศอกหนึ่ง ๓.เข้าน้อมของนั้นเข้ามาให้ ๔.น้อมให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือโยนให้ก็ได้ ๕.ภิกษุรับด้วยกาย ก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้ (ถ้าผู้หญิงประเคน ใช้ผ้ากราบหรือผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดรับ)
ปริญญา : การกำหนดรู้, การทำความเช้าใจโดยครบถ้วน มี ๓ คือ ๑.ญาตปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก ๒.ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา ๓.ปหานปริญญา กำหนดรู้ถึงขั้นละได้
ปุพเพกตปุญญตา : ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในก่อน, ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อนแล้ว (ข้อ ๔ ในจักร ๔)
ภัทเทกรัตตสูตร : ชื่อสูตรหนึ่งในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ แห่งพระสุตตันตปิฎก แสดงเรื่องบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ คือ คนที่เวลาวันคืนหนึ่งๆ มีแต่ความดีงามความเจริญก้าวหน้า ได้แก่ ผู้ที่ไม่มัวครุ่นคำนึงอดีต ไม่เพ้อหวังอนาคต ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ทำความดีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยไป มีความเพียรพยายาม ทำกิจที่ควรทำเสียแต่วันนี้ ไม่รอวันพรุ่ง
ภาษา : เสียงหรือกิริยาอาการซึ่งทำความเข้าใจซึ่งกันและกันได้, ถ้อยคำที่ใช้พูดจากัน, คำพูด
เภทกรวัตถุ :
เรื่องทำความแตกกัน, เรื่องที่จะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความแตกแยกในสงฆ์, เหตุให้สงฆ์แตกกัน ท่านแสดงไว้ ๑๘ อย่าง ดู อัฏฐารสเภทกรวัตถุ
มรณสติ : ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาให้ใจสงบจากอกุศลธรรม เกิดความไม่ประมาท และไม่หวาดกลัวคิดเร่งขวนขวายบำเพ็ญกิจและทำความดี (ข้อ ๗ ในอนุสติ ๑๐)
มัจจุมาร : ความตายเป็นมาร เพราะตัดโอกาสที่จะทำความดีเสียทั้งหมด (ข้อ ๕ ในมาร ๕)
มิจฉาญาณ : รู้ผิด เช่น ความรู้ในการคิดอุบายทำความชั่วให้สำเร็จ
ลูขปฏิบัติ : ประพฤติปอน, ปฏิบัติเศร้าหมอง คือใช้ของเศร้าหมอง ไม่ต้องการความสวยงาม (หมายถึงของเก่าๆ เรียบๆ สีปอนๆ แต่สะอาด)
โลกบาลธรรม : ธรรมคุ้มครองโลก คือ ปกครองควบคุมใจมนุษย์ไว้ให้อยู่ในความดี มิให้ละเมิดศีลธรรม และให้อยู่กันด้วยความเรียบร้อยสงบสุข ไม่เดือนร้อนสับสนวุ่นวาย มี ๒ คือ ๑.หิริ ความละอายบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว ๒.โอตตัปปะ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่วและผลของกรรมชั่ว
วัจกุฎีวัตร : ข้อปฏิบัติอันภิกษุพึงกระทำในวัจกุฎี, ข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้ใช้ส้วม โดยย่อมี ๗ ข้อ คือ ใช้ตามลำดับผู้ไปถึง, รักษากิริยาในการจะเข้าจะออกให้สุภาพเรียบร้อยและไม่ทำเสียงดัง, รักษาบริขารคือจีวรของตน, รักษาตัวเช่นไม่เบ่งแรง ไม่ใช้สิ่งที่จะเป็นอันตราย, ไม่ทำกิจอื่นไปพลาง, ระวังไม่ทำสกปรก, ช่วยรักษาความสะอาด
วัตถุสมบัติ : ความถึงพร้อมแห่งวัตถุ, ความสมบูรณ์โดยบุคคลหรือวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการทำสังฆกรรมนั้นๆ มีคุณสมบัติถูกต้อง ทำให้สังฆกรรมใช้ได้ไม่บกพร่องในด้านนี้ เช่น ในการอุปสมบท ผู้ขอบวชเป็นชายมีอายุครบ ๒๐ ปี ไม่เป็นมนุษย์วิบัติเช่นถูกตอน ไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงเช่นฆ่าบิดามารดา ไม่ใช่คนทำความเสียหายในพระพุทธศาสนาอย่างหนัก เช่น ปาราชิก เมื่อบวชคราวก่อน ดังนี้เป็นต้น
วิริยารัมภะ : ปรารภความเพียร คือลงมือทำความเพียรอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว, ระดมความเพียร (ขอ ๔ ในเวสารัชชกรณธรรม ๕, ข้อ ๗ ในลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘, ข้อ ๕ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๗ ในนาถกรณธรรม ๑๐)
เวสารัชชกรณธรรม : ธรรมทำความกล้าหาญ, ธรรมเป็นเหตุให้กล้าหาญ, คุณธรรมที่ทำให้เกิดความแกล้วกล้า มี ๕ อย่าง คือ ๑.ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ๒.ศีล มีความประพฤติดีงาม ๓.พาหุสัจจะ ได้สดับหรือศึกษามาก ๔.วิริยารัมภะ เพียรทำกิจอยู่อย่างจริงจัง ๕.ปัญญา รู้รอบและรู้ชัดเจนในสิ่งที่ควรรู้
ศิวาราตรี : พิธีลอยบาปของพราหมณ์ ทำในวันเพ็ญเดือน ๓ เป็นประจำปี วิธีทำคือ ลงอาบน้ำในแม่น้ำ สระเกล้า ชำระร่างกายให้สะอาดหมดจด เท่านี้ถือว่าได้ลอยบาปไปตามกระแสน้ำแล้ว เป็นอันสิ้นบาปกันคราวหนึ่ง ถึงปีก็ทำใหม่ (คำสันสกฤตเดิมเป็นศิวราตริ แปลว่า ราตรีของพระศิวะ พจนานุกรมสันสกฤตว่า ตรงกับแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓)
ศีล : ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย, ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจา ให้ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ; มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า อธิศีลสิกขา
สมาทานวิรัติ : การเว้นด้วยการสมาทาน คือ ได้สมาทานศีลไว้ก่อนแล้ว เมื่อประสบเหตุที่จะให้ทำความชั่ว ก็งดเว้นได้ตามที่สมาทานนั้น (ข้อ ๒ ในวิรัติ ๓)
สมุจเฉทวิรัติ : การเว้นด้วยตัดขาด หมายถึงการเว้นความชั่วได้เด็ดขาดของพระอริยเจ้า เพราะไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ทำความชั่วนั้น ๆ (ข้อ ๓ ในวิรัติ ๓)
สังเวควัตถุ : เรื่องที่น่าสลดใจ, เรื่องที่พิจารณาแล้วจะทำให้เกิดความสังเวช คือเร้าเตือนสำนึกให้มีจิตใจน้อยมาในทางกุศล เกิดความไม่ประมาทและมีกำลังใจที่จะทำความเพียรปฏิบัติธรรมต่อไป เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และอาหารปริเยฏฐิทุกข์ คือทุกข์ในการหากิน เป็นต้น
สังสุทธคหณี : มีครรภ์ที่ถือปฏิสนธิสะอาดหมดจดดี
สัทธา : ความเชื่อ; ในทางธรรม หมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล, ความมั่นใจในความจริงความดีสิ่งดีงามและในการทำความดีไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก ท่านแสดงสืบ ๆ กันมาว่า ๔ อย่างคือ ๑.กัมมสัทธา เชื่อกรรม ๒.วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม ๓.กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ๔.ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต; เขียนอย่างสันสกฤตเป็นศรัทธา
สัมปัตตวิรัติ : ความเว้นจากวัตถุอันถึงเข้า, การเว้นเมื่อประสบซึ่งหน้าคือไม่ได้สมาทานศีล หรือตั้งใจละเว้นมาก่อนแต่เมื่อประสบเหตุอันจะทำให้ทำความชั่ว หรือละเมิดศีลเข้าเฉพาะหน้า ก็ละเว้นได้ในขณะนั้นเอง ไม่ล่วงละเมิดศีล (ข้อ ๑ ในวิรัติ ๓)
สาคตะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถีได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดามีความเลื่อมใส ขอบวชแล้วทำความเพียรเจริญสมาบัติ ๘ ประการ จนมีความชำนาญในสมาบัติ ท่านเป็นต้นบัญญัติสุราปานสิกขาบท และเพราะเกิดความสังเวชในเหตุการณ์ที่เกิดกับตนครั้งนี้ จึงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเตโชธาตุสมาบัติ
สุทธิ : ความบริสุทธิ์, ความสะอาดหมดจดมี ๒ คือ ๑.ปริยายสุทธิ บริสุทธิ์โดยเอกเทศ (คือเพียงบางส่วนบางแง่) ๒.นิปปริยายสุทธิ บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง (ความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์)