ประชวร : เจ็บ, ป่วย
แผ่เมตตา : ตั้งจิตปรารถนาดีขอให้ผู้อื่นมีความสุข; คำแผ่เมตตาที่ใช้เป็นหลักว่า สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ แปลว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย, (ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน) หมดทั้งสิ้น, (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด) อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย, (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด) อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย, (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด) อย่าได้มีทุกข์กายทุกข์ใจเลย, จงมีความสุขกายสุขใจ, รักษาตน (ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น) เถิด.ข้อความในวงเล็บ เป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาในคำแปลเป็นภาษาไทย
กัมมวิปากชา อาพาธา : ความเจ็บไข้ เกิดแต่วิบากของกรรม
ทำร้ายด้วยวิชา : ได้แก่ ร่ายมนต์อาคมต่างๆ ใช้ภูตใช้ผีเพื่อทำผู้อื่นให้เจ็บตาย จัดเป็นดิรัจฉานวิชา เทียบตัวอย่างที่จะเห็นในบัดนี้ เช่น ฆ่าด้วยกำลังไฟฟ้า ซึ่งประกอบขึ้นด้วยอำนาจความรู้
ทุกขเวทนา : ความรู้สึกลำบาก, ความรู้สึกเจ็บปวด, ความรู้สึกเป็นทุกข์, การเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย
เทวทูต : ทูตของยมเทพ, สื่อแจ้งข่าวของมฤตยู, สัญญาที่เตือนให้ระลึกถึงคติ ธรรมดาของชีวิตมิให้มีความประมาท จัดเป็น ๓ ก็มี ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย, จัดเป็น ๕ ก็มี ได้แก่ เด็กแรกเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนถูกลงราชทัณฑ์ และคนตาย (เทวทูต ๓ มาในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, เทวทูต ๕ มาในเทวทูตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์); ส่วน เทวทูต ๔ ที่เจ้าชายสิทธัตถะพบก่อนบรรพชา คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะนั้น ๓ อย่างแรก เป็นเทวทูต ส่วนสมณะเรียกรวมเป็นเทวทูตไปด้วยโดยปริยาย เพราะมาในหมวดเดียวกัน แต่ในบาลี ท่านเรียกว่า นิมิต ๔ หาเรียกเทวทูต ๔ ไม่ อรรถกถาบางแห่งพูดแยกว่า พระสิทธัตถะเห็นเทวทูต ๓ และสมณะ (มีอรรถกถาแห่งหนึ่งอธิบายในเชิงว่าอาจเรียกทั้ง ๔ อย่างเป็นเทวทูตได้ โดยความหมายว่า เป็นของที่เทวดานิรมิตไว้ ระหว่างทางเสด็จของพระสิทธัตถะ)
นกุลบิดา : “พ่อของนกุล”, คฤหบดี ชาวเมืองสุงสุมารคีรี ในแคว้นภัคคะ มีภรรยาชื่อ นกุลมารดา สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองสุงสุมารคีรี ประทับที่ป่าเภสกลาวัน ท่านคฤหบดีและภรรยาไปเฝ้าพร้อมกับชาวเมืองคนอื่นๆ พอได้เห็นครั้งแรก ทั้ง ๒ สามีภรรยาก็เกิดความรู้สึกสนิทหมายใจเหมือนว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุตรของตน ได้เข้าไปถึงพระองค์และแสดงความรู้สึกนั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมโปรด ทั้ง ๒ ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านนกุลบิดาและนกุลมารดานี้ เป็นคู่สามีภรรยาตัวอย่าง ผู้มีความจงรักภักดีต่อกันอย่างบริสุทธิ์และมั่นคงยั่งยืน ตราบเท่าชรา ทั้งยังปรารถนาจะพบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้า เคยทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงหลักธรรมที่จะทำให้สามีภรรยาครองรักกันยั่งยืนตลอดไปทั้งภพนี้และภพหน้า เมื่อท่านนกุลบิดาเจ็บป่วยออดแอดร่างกายอ่อนแอ ไม่สบายด้วยโรคชรา ท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาครั้งหนึ่ง ที่ท่านประทับใจมากคือ พระดำรัสที่แนะนำให้ทำใจว่า “ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วย” ท่านนกุลบิดาได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้สนิทสนมคุ้นเคย (วิสสาสิกะ)
ปลิโพธ : เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ใจพระวักพะวนห่วงกังวล, เหตุกังวล, ข้อติดข้อง; ปลิโพธที่ผู้จะเจริญกรรมฐานพึงตัดเสียให้ได้ เพื่อให้เกิดความปลอดโปร่งพร้อมที่จะเจริญกรรมฐานให้ก้าวหน้าไปได้ดี มี ๑๐ อย่าง คือ ๑.อาวาสปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับวัดหรือที่อยู่ ๒.กุลปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับตระกูลญาติหรืออุปัฏฐาก ๓.ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภ ๔.คณปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับคณะศิษย์หรือหมู่ชนที่ตนต้องรับผิดชอบ ๕.กรรมปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการงาน เช่น การก่อสร้าง ๖.อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกลเนื่องด้วยกิจธุระ ๗.ญาติปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับญาติหรือคนใกล้ชิดที่จะต้องเป็นห่วงซึ่งกำลังเจ็บป่วยเป็นต้น ๘.อาพาธปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง ๙.คันถปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน ๑๐.อิทธิปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ของปุถุชนที่จะต้องคอยรักษาไม่ให้เสื่อม (ข้อท้ายนี้เป็นปลิโพธสำหรับผู้จะเจริญวิปัสสนาเท่านั้น)
ปิตฺตสมุฏฺฐานา อาพาธา : ความเจ็บไข้มีดีเป็นสมุฏฐาน
พยาธิ : ความเจ็บไข้
พยาบาท : ความขัดแค้นเคืองใจ, ความเจ็บใจ, ความคิดร้าย, ตรงข้ามกับเมตตา; ในภาษาไทยหมายถึง ผูกใจเจ็บและคิดแก้แค้น
ร่ม : สำหรับพระภิกษุ ห้ามใช้ร่มที่กาววาว เช่น ร่มปักด้วยไหมสีต่างๆ และร่มที่มีระบายเป็นเฟือง ควรใช้ของเรียบๆ ซึ่งทรงอนุญาตให้ใช้ได้ในวัดและอุปจาระแห่งวัด ห้ามกั้นร่มเข้าบ้านหรือกั้นเดินตามถนนหนทางในละแวกบ้าน เว้นแต่เจ็บไข้ ถูกแดดถูกฝนอาพาธจะกำเริบ เช่น ปวดศีรษะ ตลอดจน (ตามที่อรรถกถาผ่อนให้) กั้นเพื่อกันจีวรเปียกฝนตก กั้นเพื่อป้องกันภัย กั้นเพื่อรักษาตัวเช่นในเวลาแดดจัด
วาตสมุฏฺฐานา อาพาธา : ความเจ็บไข้ที่มีลมเป็นสมุฏฐาน
วิสมปริหารชา อาพาธา : ความเจ็บไข้ที่เกิดจากบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ คือ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่พอดี
เวทนา : ความเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกสุขทุกข์ มี ๓ อย่าง คือ ๑.สุขเวทนา ความรู้สึกสุขสบาย ๒.ทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย ๓.อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เรียกอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา; อีกหมวดหนึ่งจัดเป็น เวทนา ๕ คือ ๑.สุข สบายกาย ๒.ทุกข์ ไม่สบายกาย ๓.โสมนัส สบายใจ ๔.โทมนัส ไม่สบายใจ ๕.อุเบกขา เฉยๆ; ในภาษาไทย ใช้หมายความว่าเจ็บปวดบ้าง สงสารบ้าง ก็มี
สนฺนิปาติกา อาพาธา : ความเจ็บไข้เกิดจากสันนิบาต (คือประชุมกันแห่งสมุฏฐานทั้ง ๓), ไข้สันนิบาต คือความเจ็บไข้ที่เกิดขึ้นแต่ดี เสมหะ และลม ทั้ง ๓ เจือกัน
สังเวควัตถุ : เรื่องที่น่าสลดใจ, เรื่องที่พิจารณาแล้วจะทำให้เกิดความสังเวช คือเร้าเตือนสำนึกให้มีจิตใจน้อยมาในทางกุศล เกิดความไม่ประมาทและมีกำลังใจที่จะทำความเพียรปฏิบัติธรรมต่อไป เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และอาหารปริเยฏฐิทุกข์ คือทุกข์ในการหากิน เป็นต้น
สัตตาหกรณียะ : ธุระเป็นเหตุให้ภิกษุออกจากวัดในระหว่างพรรษาได้ ๗ วัน ได้แก่ ๑.ไปเพื่อพยาบาลสหธรรมิกหรือมารดาบิดาผู้เจ็บไข้ ๒.ไปเพื่อระงับสหธรรมิกที่กระสันจะสึก ๓.ไปเพื่อกิจสงฆ์ เช่น ไปหาทัพพสัมภาระมาซ่อมวิหารที่ชำรุดลงในเวลานั้น ๔.ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของทายกซึ่งส่งมานิมนต์เพื่อการบำเพ็ญกุศลของเขา และธุระอื่นจากนี้ที่เป็นกิจลักษณะอนุโลมตามนี้ได้
เสกขสมมต : ผู้ได้รับสมมติเป็นเสขะหมายถึงครอบครัวที่สงฆ์ประชุมตกลงแต่งตั้งให้เป็นเสขะ ภิกษุใดไม่เจ็บไข้และเขาไม่ได้นิมนต์ไว้ ไปรับเอาอาหารจากครอบครัวนั้นมาขบฉัน ต้องอาบัติเป็นปาฏิเทสนียะสิกขาบทที่ ๓
อภิณหปัจจเวกขณ์ : ข้อที่ควรพิจารณาเนืองๆ, เรื่องที่ควรพิจารณาทุกๆ วัน มี ๕ อย่าง คือ ๑) ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๒) ว่าเรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๓) ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๔) ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๕) ว่าเรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว; อีกหมวดหนึ่ง สำหรับบรรพชิต แปลว่า ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๑๐ อย่าง (ปัพพชิตอภิรหปัจจเวกขณ์) คือ ๑) บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า บัดนี้ เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว ๒) ว่า การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๓) ว่าเรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ ๔) ว่า ตัวเราเองยังติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ ๕) ว่าเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญู ใคร่ครวญแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ ๖) ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๗) ว่าเรามีกรรมเป็นของตน เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว ๘) ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๙) ว่า เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่ ๑๐) ว่า คุณวิเศษที่เราบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ ที่จะทำให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมือถูกเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง (ข้อ ๑ ท่านเติมท้ายว่าอาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ ข้อ ๒) เติมว่าเราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ข้อ ๗) ท่านเขียนว่า อาการกายวาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้น ไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้)
อัจเจกจีวร : จีวรรีบร้อน หรือผ้าด่วน หมายถึง ผ้าจำนำพรรษาที่ทายกผู้มีเหตุรีบร้อน ขอถวายก่อนกำหนดเวลาปกติ (กำหนดเวลาปกติสำหรับถวายผ้าจำนำพรรษา คือ จีวรกาลนั่นเอง กล่าวคือ ต้องผ่านวันปวารณาไปแล้ว เริ่มแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ และถ้ากรานกฐินแล้ว นับต่อไปอีกถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔; เหตุรีบร้อนนั้น เช่น เขาจะไปทัพหรือเจ็บไข้ไม่ไว้ใจชีวิต หรือมีศรัทธาเลื่อมใสเกิดขึ้นใหม่) อัจเจกจีวรเช่นนี้ มีพุทธานุญาตให้ภิกษุรับเก็บไว้ได้แต่ต้องรับก่อนวันปวารณาไม่เกิน ๑๐ วัน (คือตั้งแต่ขึ้น ๖ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) (สิกขาบทที่ ๘ แห่งปัตตวรรค นิสสัคคิยปาจิตตีย์)
อาพาธ : ความเจ็บป่วย, โรค (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร)
อามัย : ความป่วยไข้, โรค, ความไม่สบาย; ตรังกันข้ามกับ อนามัย คือความสบาย, ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
อาหัจจบาท : เตียงที่เขาทำเอาเท้าเสียบเข้าไปในแม่แคร่ ไม่ได้ตรึกสลัก
อุตุปริณามชา อาพาธา : ความเจ็บไข้เกิดแต่ฤดูแปรปรวน, เจ็บป่วยเพราะดินฟ้าอากาศผันแปร
อุปนาหะ : ผูกโกรธไว้, ผูกใจเจ็บ (ข้อ ๔ ในอุปกิเลส ๑๖)
โอปกฺกมิกา อาพาธา : ความเจ็บไข้เกิดจากความพยายามหรือจากคนทำให้, เจ็บป่วยเพราะการกระทำของคนคือ ตนเองเพียงเกินกำลัง หรือถูกเขากระทำ เช่น ถูกจองจำ ใส่ขื่อคา เป็นต้น
ปริโยสาน : ที่สุดลงโดยรอบ, จบ, จบอย่างสมบูรณ์
ลาสิกขา : ปฏิญญาตนเป็นผู้อื่นจากภิกษุต่อหน้าภิกษุด้วยกัน หรือต่อหน้าบุคคลอื่นผู้เข้าใจความ แล้วละเพศภิกษุเสีย ถือเพศที่ปฏิญญานั้น, ละเพศภิกษุสามเณร, สึก ; คำลาสิกขาที่ใช้ในบัดนี้ คือ ตั้ง “นโม ฯลฯ” ๓ จบ แล้วกล่าวว่า “สิกขัง ปัจจักขามิ. คิหีติ มัง ธาเรถะ” (ว่า ๓ ครั้ง) แปลว่า “กระผมลาสิกขา, ขอท่านทั้งหลายจงทรงจำกระผมไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์” (คิหีติ ออกเสียงเป็น คิฮีติ)
สังฆทาน : ทานเพื่อสงฆ์, การถวายแก่สงฆ์ คือถวายเป็นกลาง ๆ ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เช่น จะทำพิธีถวายของที่มีจำนวนจำกัดพึงแจ้งแก่ทางวัดให้จัดพระไปรับตามจำนวนที่ต้องการ หัวหน้าสงฆ์จัดภิกษุใดไปพึงทำใจว่า ท่านมารับในนามของสงฆ์ หรือ เป็นผู้แทนของสงฆ์ทั้งหมด ไม่พึงเพ่งเล็งว่าเป็นบุคคลใด คิดตั้งใจแต่ว่าจะถวายอุทิศแก่สงฆ์; ในพิธีพึงจุดธูปเทียนบูชาพระ อาราธนาศีล รับศีล จบแล้วตั้งนโม ๓ จบ กล่าวคำถวายเสร็จแล้วประเคนของ และเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา พึงกรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธี; คำถวายสังฆทานว่าดังนี้ : อิมานิ มยํ ภนฺเต, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย, แปลว่า : ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ ฯ
กรวดน้ำ : ตั้งใจอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ พร้อมไปกับหลั่งรินน้ำเป็นเครื่องหมาย และเป็นเครื่องรวมกระแสจิตที่ตั้งใจอุทิศนั้นให้แน่วแน่; เริ่มรินน้ำเมื่อพระองค์หัวหน้าเริ่มสวดยถา รินน้ำหมดพร้อมกับพระหัวหน้าสวดยถาจบ และพระทั้งหมดเริ่มสวดพร้อมกัน จากนั้นวางที่กรวดน้ำลงแล้วประนมมือรับพรต่อไป; คำกรวดน้ำอย่างสั้นว่า อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่....(ออกชื่อผู้ล่วงลับ) และญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด จะต่ออีกก็ได้ว่า สุขิตา โหนตุ ญาตโย ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด - to pour the water of dedication (to transfer merit to other beings)
กุณฑธานะ : พระเถระผู้เป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เรียนจบไตรเพทตามลิทธิพราหมณ์ ต่อมา เมื่อสูงอายุแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมา ก็มีรูปหญิงคนหนึ่งติดตามตัวตลอดเวลาจนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัต รูปนั้นจึงหายไป ท่านได้รับยกย่อง จากพระศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในการถือเอาสลากเป็นปฐม
เขมา : พระเถรีมหาสาวิการูปหนึ่งประสูติในราชตระกูลแห่งสาคลนครในมัททรัฐ ต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร มีความมัวเมาในรูปสมบัติของตน ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องราคะ และการกำจัดราคะ พอจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต แล้วบวชเป็นภิกษุณี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา
คัคคภิกษุ : ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล เคยเป็นบ้า และได้ต้องอาบัติหลายอย่างในระหว่างเวลานั้น ภายหลังหายเป็นบ้าแล้ว ได้มีผู้โจทว่า เธอต้องอาบัตินั้นๆ ในคราวที่เป็นบ้าไม่รู้จบ พระพุทธองค์จึงได้ทรงมีพุทธานุญาตให้ระงับอธิกรณ์ด้วย อมูฬหวินัย เป็นครั้งแรก
ถึงที่สุดเพท : เรียนจบไตรเพท
บอกวัตร : บอกข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เมื่อทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว ภิกษุรูปเดียวเป็นผู้บอก อาจใช้วิธีหมุนเวียนกันไปทีละรูป ข้อความที่บอกว่าเป็นภาษาบาลี กล่าวถึงปฏิบัติบูชา คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ คุณานิสงส์แห่งขันติธรรม คำเตือนให้ใส่ใจในธรรมในเมื่อได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ความไม่ประมาท เร่งเพียรพยายามในทางธรรมเพื่อน้อมไปสู่พระนิพพาน และพ้นจากทุคติ แล้วกล่าวถึงพุทธกิจประจำวัน ๕ ประการ ลำดับกาลใจพระพุทธประวัติ สิ่งแทนพระองค์ภายหลังพุทธปรินิพพาน ชื่อ วัน เดือน ปี และดาวนักษัตร ๒๗ จบลงด้วยคำเชื้อเชิญให้ตั้งอยู่ในพระพุทธโอวาท บำเพ็ญปฏิบัติบูชา เพื่อบรรลุสมบัติทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ; ธรรมเนียมนี้ บัดนี้ เลือนลางไปแล้ว
บอกศักราช : เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณ มีการบอกกาลเวลา เรียกว่าบอกศักราช ตอนท้ายสวดมนต์ และก่อนจะแสดงพระธรรมเทศนา (หลังจากให้ศีลจบแล้ว) ว่าทั้งภาษาบาลีและคำแปลภาษาไทย การบอกอย่างเก่า บอกปี ฤดู เดือน วัน ทั้งที่เป็นปัจจุบัน อดีต และอนาคต คือบอกว่าล่วงไปแล้วเท่าใด และยังจะมีมาอีกเท่าใด จึงจะครบจำนวนอายุพระพุทธศาสนา๕พันปี แต่ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๔ ที่รัฐบาลประกาศใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้นมา ได้มีวิธีบอกศักราชอย่างใหม่ขึ้นใช้แทน บอกเฉพาะปี พ.ศ.เดือน วันที่ และวันในปัจจุบัน ทั้งบาลีและคำแปล บัดนี้ไม่นิยมกันแล้ว คงเป็นเพราะมีปฏิทินและเครื่องบอกเวลาอย่างอื่น ใช้กันดื่นทั่วไป
ปาฏิโมกข์ย่อ : มีพุทธานุญาตให้สวดปาฏิโมกข์ย่อได้ ในเมื่อมีเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเหตุ ๒ อย่าง คือ ๑. ไม่มีภิกษุจำปาฏิโมกข์ได้จนจบ (พึงสวดเท่าอุเทศที่จำได้) ๒.เกิดเหตุฉุกเฉินขัดข้องที่เรียกว่าอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งในอันตรายทั้ง ๑๐ (กำลังสวดอุเทศใดค้างอยู่ เลิกอุเทศนั้นกลางคันได้ และพึงย่อตั้งแต่อุเทศนั้นไปด้วยสุตบท คือ คำว่า “สุต” ที่ประกอบรูปเป็น สุตา ตามไวยากรณ์ ทั้งนี้ยกเว้นนิทานุทเทสซึ่งต้องสวดให้จบ)
ปิณโฑล ภารทวาชะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลภารทวาชโคตร ในพระนครราชคฤห์ เรียนจบไตรเพท ออกบวชในพระพุทธศาสนา ได้สำเร็จพระอรหัต เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา มักเปล่งวาจาว่า “ผู้ใดมีความเคลือบแคลงสงสัยในมรรคก็ดี ผลก็ดี ขอผู้นั้นจงมาถามข้าพเจ้าเถิด” พระศาสดาทรงยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางบันลือสีหนาท
พาหิย ทารุจีริยะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในครอบครัวคนมีตระกูลในแคว้นพาหิยรัฐ ลงเรือเดินทะเลเพื่อจะไปค้าขาย เรือแตกกลางทะเลรอดชีวิตไปได้ แต่หมดเนื้อหมดตัว ต้องแสดงตนเป็นผู้หมดกิเลสหลอกลวงประชาชนเลี้ยงชีวิต ต่อมาพบพระพุทธเจ้า ทูลขอให้ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่ออารมณ์ที่รับรู้ทางอายตนะทั้ง ๖ พอจบพระธรรมเทศนาย่นย่อนั้น พาหิยะก็สำเร็จอรหัต แต่ไม่ทันได้อุปสมบท กำลังเที่ยวหาบาตรจีวร เผอิญถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดเอาสิ้นชีวิตเสียก่อน ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านตรัสรู้ฉับพลัน
มธุรสูตร : พระสูตรที่พระมหากัจจายนะแสดงแก่พระเจ้ามธุรราช อวันตีบุตร กล่าวถึงความไม่ต่างกันของวรรณะ ๔ เหล่า คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ใจความว่าวรรณะ ๔ นี้ แม้จะถือตัวอย่างไร เหยียดหยามกันอย่างไร แต่ถ้าทำดีก็ไปสู่ที่ดีเหมือนกันหมด ถ้าทำชั่วก็ต้องได้รับโทษ ไปอบายเหมือนกันหมด ทุกวรรณะ เสมอกันในพระธรรมวินัย ออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว ไม่เรียกว่า วรรณะไหน แต่เป็นสมณะเหมือนกันหมด เมื่อจบเทศนาพระเจ้ามธุรราชประกาศพระองค์เป็นอุบาสก (สูตรที่ ๓๔ ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก)
มหากัจจายนะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในกัจจายนโคตรที่พระนครอุชเชนี เป็นบุตรปุโรหิตของพระราชาแห่งแคว้นอวันตี เรียนจบไตรเพทแล้ว ต่อมาได้เป็นปุโรหิตแทนบิดา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่งให้หาทางนำพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุชเชนี กัจจายนปุโรหิตจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุอรหัตตผล อุปสมบทแล้ว แสดงความประสงค์ที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าสู่แคว้นอวันตี พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ท่านเดินทางไปเอง ท่านเดินทางไปยังกรุงอุชเชนี ประกาศธรรม ยังพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองทั้งหมดให้เลื่อมใสในพระศาสนาแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่าท่านมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ บุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อโสเรยยะเห็นแล้วเกิดมีอกุศลจิตต่อท่านว่าให้ได้อย่างท่านเป็นภรรยาตนหรือให้ภรรยาตนมีผิวพรรณงามอย่างท่าน เพราะอกุศลจิตนั้น เพศของโสเรยยะกลายเป็นหญิงไป นางสาวโสเรยยะแต่งงานมีครอบครัว มีบุตรแล้ว ต่อมาได้พบและขอขมาต่อท่านเพศก็กลับเป็นชายตามเดิม โสเรยยะขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
มหาโกฏฐิตะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ในเมืองสาวัตถี บิดาเป็นมหาพราหมณ์ชื่ออัสสลายนะ มารดาชื่อจันทวดี ท่านเรียนจบไตรเพท ได้ฟังเทศนาของพระศาสดามีความเลื่อมใส บวชแล้ว เจริญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔
ยาวตติยกะ : แปลว่า “ต้องอาบัติเมื่อสวดสมนุภาสน์จบครั้งที่ ๓” หมายความว่า เมื่อภิกษุล่วงละเมิดสิกขาบทเข้าแล้ว ยังไม่ต้องอาบัติ ต่อเมื่อสงฆ์สวดประกาศสมนุภาสน์หนที่ ๓ จบแล้ว จึงจะต้องอาบัตินั้น ได้แก่ สังฆาทิเสสข้อที่ ๑๐-๑๑-๑๒-๑๓ และสิกขาบทที่ ๘ แห่งสัปปาณวรรคในปาจิตติยกัณฑ์
วักกลิ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ชาวพระนครสาวัตถีเรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ บวชในพระพุทธศาสนา ด้วยความอยากเห็นพระรูปพระโฉมของพระศาสดา ครั้นบวชแล้วก็คอยติดตามดูพระองค์ตลอดเวลา จนไม่เป็นอันเจริญภาวนา พระพุทธเจ้าทรงรอเวลาให้ญาณของเธอสุกงอม ครั้นแล้วก็ตรัสเตือนเธอว่า “จะมีประโยชน์อะไรที่ได้เห็นกายเปื่อยเน่านี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ดังนี้เป็นต้น และทรงสอนต่อไปด้วยอุบายวิธีจนในที่สุดพระวักกลิก็ได้สำเร็จพระอรหัต และต่อมาได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในทางศรัทธาวิมุต คือ หลุดพ้นด้วยศรัทธา
วิภังค์ : 1.(ในคำว่า “วิภังคแห่งสิกขาบท”) คำจำแนกความแห่งสิกขาบทเพื่ออธิบายแสดงความหมายให้ชัดขึ้น; ท่านใช้เป็นชื่อเรียกคัมภีร์ที่จำแนกความเช่นนั้นในพระวินัยปิฎกว่าคัมภีร์วิภังค์ คือ คัมภีร์จำแนกความสิกขาบทในภิกขุปาฏิโมกข์ เรียกว่ามหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ คัมภีร์จำแนกความสิกขาบท ในภิกขุนีปาฏิโมกข์เรียกว่าภิกขุนีวิภังค์ เป็นหมวดต้นแห่งพระวินัยปิฎก 2.ชื่อคัมภีร์ที่ ๒ แห่งพระอภิธรรมปิฎก ที่อธิบายจำแนกความแห่งหลักธรรมสำคัญเช่น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ปัจจยาการ เป็นต้น ให้ชัดเจนจบไปทีละเรื่องๆ
วิสุทธิมรรค : ปกรณ์พิเศษอธิบายศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนววิสุทธิ ๗ พระพุทธโฆษาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ชาวอินเดียเป็นผู้แต่งที่มหาวิหารในเกาะลังกา; พระพุทธโฆสาจารย์ผู้นี้เป็นบุตรพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้พุทธคยา อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในแคว้นมคธ เมื่อประมาณ พ.ศ.๙๕๖ เรียนจบไตรเพทมีความเชี่ยวชาญมาก ต่อมาพบกับพระเรวตเถระ ได้โต้ตอบปัญหากัน สู้พระเรวตเถระไม่ได้ จึงขอบวชเพื่อเรียนพุทธวจนะ มีความสามารถมาก ได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย เป็นต้น พระเรวตเถระจึงแนะนำให้ไปเกาะลังกา เพื่อแปลอรรถกถาสิงหฬ กลับเป็นภาษามคธ ท่านเดินทางไปที่มหาวิหาร เกาะลังกา เมื่อขออนุญาตแปลคัมภีร์ ถูกพระเถระแห่งมหาวิหารให้คาถามา ๒ บท เพื่อแต่งทดสอบความรู้ พระพุทธโฆส จึงแต่งคำอธิบายคาถาทั้ง ๒ นั้นขึ้นเป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค จากนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ทำงาน แปลอรรถกถาได้ตามประสงค์ เมื่อทำงานเสร็จสิ้นแล้ว ท่านก็เดินทางกลับสู่ชมพูทวีป พระพุทธโฆสาจารย์ เป็นพระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด มีผลงานมากที่สุด
สุภัททะ : ปัจฉิมสิกขิสาวก (สาวกผู้ทันเห็นองค์สุดท้าย) ของพระพุทธเจ้า เรียกสั้นๆ ว่า ปัจฉิมสาวก เดิมเป็นพราหมณ์ตระกูลใหญ่ ต่อมาออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในเมืองกุสินารา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททปริพาชกได้ยินข่าวแล้วคิดว่าตนมีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง อยากจะขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อแก้ข้อสงสัยนั้นเสียก่อนที่จะปรินิพพาน จึงเดินทางไปยังสาลวัน ตรงไปหาพระอานนท์ แจ้งความประสงค์ขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระอานนท์ได้ห้ามไว้ เพราะเกรงว่าพระองค์เหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว จะเป็นการรบกวนให้ทรงลำบาก สุภัททปริพาชกก็คะยั้นคะยอจะขอเข้าเฝ้าให้ได้ พระอานนท์ก็ยืนกรานห้ามอยู่ถึง ๓ วาระ จนพระผู้มีพระภาคทรงได้ยินเสียงโต้ตอบกันนั้น จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่าสุภัททะมุ่งหาความรู้ มิใช่ประสงค์จะเบียดเบียนพระองค์ ขอให้ปล่อยให้เขาเข้าเฝ้าเถิด สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าแล้ว ทูลถามว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย คือ เหล่าครูทั้ง ๖ นั้น ล้วนได้ตรัสรู้จริงทั้งหมดตามที่ตนปฏิญญา หรือได้ตรัสรู้เพียงบางท่านหรือไม่มีใครตรัสรู้จริงเลย พระพุทธเจ้าทรงห้ามเสียและตรัสว่าจะทรงแสดงธรรม คือ หลักการหรือหลักความจริงให้ฟัง แล้วตรัสว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใด สมณะ (คืออริยบุคคลทั้ง ๔) ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด สมณะก็หาได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะทั้ง ๔ จึงมีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะ และตรัสสรุปว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททปริพาชกเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ให้บวชสุภัททะในสำนักของพระองค์ โดยประทานพุทธานุญาตพิเศษให้ยกเว้นไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ท่านสุภัททะบวชแล้วไม่นาน (อรรถกถาว่าในวันนั้นเอง) ก็ได้บรรลุอรหัตตผล นับเป็นพุทธปัจฉิมสักขิสาวก
เสละ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในอังคุตตราปะเรียนจบไตรเพท เป็นคณาจารย์สอนศิษย์ ๓๐๐ คน ได้พบพระพุทธเจ้าที่อาปณนิคม เห็นว่าพระองค์สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะครบถ้วนและได้ทูลถามปัญหาต่าง ๆ เมื่อฟังพระดำรัสตอบแล้ว มีความเลื่อมใส ขอบวชต่อมาไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัต
ให้กล่าวธรรมโดยบท : สอนธรรมโดยให้ว่าพร้อมกันกับตน คือ ว่าขึ้นพร้อมกัน จบลงพร้อมกัน (สิกขาบทที่ ๓ แห่งมุสาวาทวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)