ทุกะ : หมวด ๒
อุททกดาบส : อาจารย์ผู้สอนสมาบัติที่พระมหาบุรุษเสด็จไปศึกษาอยู่ด้วยคราวหนึ่ง ก่อนที่จะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา, ท่านผู้นี้ได้สมาบัติ ถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ; เรียกเต็มว่า อุททกดาบส รามบุตร
ชโลทกวารี : น้ำ
สมาโนทก : ผู้ร่วมน้ำ, ตามธรรมเนียมพราหมณ์ หมายถึง บุรพบิดรพ้นจากทวดขึ้นไปก็ดี ญาติผู้มิได้สืบสายตรงก็ดี ซึ่งเป็นผู้จะพึงได้รับน้ำกรวด (คู่กับ สปิณฑะ)
สรรพางค์ : ทุก ๆ ส่วนแห่งร่างกาย, ร่างกายทุก ๆ ส่วน
อทุกขมสุข : ไม่ทุกข์ไม่สุข, ความรู้สึกเฉยๆ (ข้อ ๓ ในเวทนา ๓)
อุทกสาฏิกา : ผ้าอาบ, เป็นจีวรอย่างหนึ่ง ในจีวร ๕ อย่างของภิกษุณี ดู สังกัจฉิกะ ด้วย
กัป : กาลกำหนด, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น; กำหนดอายุของโลก; กำหนดอายุ เรียกเต็มว่า อายุกัป เช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี - 1.an aeon; world-aeon; world-age; world-cycle; world-period. 2.the life-term; life-period; the duration of life.
กัปป์ : กาลกำหนด, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น; กำหนดอายุของโลก; กำหนดอายุ เรียกเต็มว่า อายุกัป เช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี - 1.an aeon; world-aeon; world-age; world-cycle; world-period. 2.the life-term; life-period; the duration of life.
ข้าวสุก : ในโภชนะ ๕ อย่างคือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑ ข้าวสุกในที่นี้หมายถึงธัญญชาติทุกชนิด ที่หงให้สุกแล้ว เช่นข้าวเจ้าข้าวเหนียว หรือที่ตกแต่งเป็นของต่างชนิด เช่น ข้าวมัน ข้าวผัด เป็นต้น
โขมะ : ผ้าทำด้วยเปลือกไม้ ใช้เปลือกไม้ทุกเอาแต่เส้น แล้วนำเส้นนั้นมาทอเป็นผ้า
ครุธรรม : ธรรมอันหนัก, หลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ ๑.ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว ๒.ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้ ๓.ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน ๔.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจหมายถึง ระแวงสงสัยหรือประพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง) ๕.ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน ๖.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา ๗.ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ ๘.ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุแต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้
จักกวัตติสูตร : ชื่อสูตรที่ ๓ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตน คือพึ่งธรรม ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินอยู่ในแดนของตนเองที่สืบมาแต่บิดา จะมีแต่ความดีงามเจริญขึ้นไม่เปิดช่องให้แก่มาร เช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงประพฤติตามหลักจักรวรรดิวัตร อันสืบกันมาแต่บรรพชนของพระองค์ ย่อมทำให้จักรรัตนะบังเกิดขึ้นมาเอง, จักรวรรดิวัตร นั้นมี ๔ ข้อใหญ่ ใจความว่า ๑.พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมาธิปไตย และจัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรม แก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธุ์ทั้งหลาย ๒.มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในแผ่นดิน ๓.ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์ ๔.ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อควรและไม่ควรประพฤติ กะสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ อยู่เสมอ; จักรวรรดิวัตร ๔ ข้อนี้ บางทีจัดเป็น ๕ โดยแยกข้อ ๑.เป็น ๒ ข้อ คือ เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง กับจัดการคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม อย่างหนึ่ง, นอกจากนั้น สมัยต่อมา อรรถกถาจัดแบ่งซอยออกไป และเพิ่มเข้ามาอีก รวมเป็น ๑๒ ข้อ เรียกว่า จักรวรรดิวัตร ๑๒ ; พระสูตรนี้ถือว่าเป็นคำสอนแสดงหลักวิวัฒนาการของสังคมตามแนวจริยธรรม กล่าวถึงหลักการปกครอง และหลักความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับจริยธรรม; เรื่องพระศรีอารยเมตไตรย ก็มีต้นเค้ามาจากพระสูตรนี้
จุลวรรค : ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดหนึ่งแห่งพระวินัยปิฎก ซึ่งมีทั้งหมด ๕ หมวด คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร ; คัมภีร์จุลวรรค มี ๑๒ ขันธกะ คือ ๑.กัมมขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคคหกรรม ๒.ปาริวาสิกขันธกะ ว่าด้วยวัตรของภิกษุผู้อยู่ปริวาส ผู้ประพฤติมานัต และผู้เตรียมจะอัพภาน ๓.สมุจจยขันธกะ ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในการประพฤติวุฏฐานวิธี ๔.สมถขันธกะ ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์ ๕.ขุททกวัตถุขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยจำนวนมาก เช่น การปลงผม ตัดเล็บ ไม้จิ้มฟัน ของใช้ต่างๆ เป็นต้น ๖.เสนาสนขันธกะ ว่าด้วยสังฆเภทและสังฆสามัคคี ๘.วัตตขันธกะ ว่าด้วยวัตรต่างๆ เช่น อาคันตุกวัตร เป็นตน ๙.ปาติโมกขัฏฐปนขันธกะ ว่าด้วยระเบียบในการงดสวดปาฏิโมกข์ในเมื่อภิกษุมีอาบัติติดตัวมาร่วมฟังอยู่ ๑๐.ภิกขุนีขันธกะ ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีเริ่มแต่ประวัติการอนุญาตให้มีการบวชครั้งแรก ๑๑.ปัญจสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ ๑๒.สัตตสติกขันธกะ ว่าด้วยสังคายนาครั้งที่ ๒ (พระไตรปิฎกเล่ม ๖-๗); ต่อจาก มหาวรรค
เจตนา : ความตั้งใจ, ความมุ่งใจหมายจำทำ, เจตน์จำนง, ความจำนง, ความจงใจ, เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นตัวนำในการคิดปรุงแต่ง หรือเป็นประธานในสังขารขันธ์ และเป็นตัวการในการทำกรรม หรือกล่าวได้ว่า เป็นตัวกรรมทีเดียว ดังพุทธพจน์ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” แปลว่า เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม
เจ้าอาวาส : สมภารวัด, หัวหน้าสงฆ์ในวัด มีอำนาจและหน้าที่ปกครองดูแลอำนวยกิจการทุกอย่างเกี่ยวกับวัด
ชีวิตินทรีย์ : อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการตามรักษาสหชาตธรรม (ธรรมที่เกิดร่วมด้วย) ดุจน้ำหล่อเลี้ยงดอกบัว เป็นต้น มี ๒ ฝ่ายคือ ๑.ชีวิตินทรีย์ที่เป็นชีวิตรูป เป็นอุปาทาย รูปอย่างหนึ่ง (ข้อที่ ๑๓) เป็นเจ้าการในการรักษาหล่อเลี้ยงเหล่ากรรมชรูป (รูปที่เกิดแต่กรรม) บางทีเรียก รูป ชีวิตินทรีย์ ๒.ชีวิตินทรีย์ที่เป็นเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง) อย่างหนึ่ง (ข้อที่ ๖) เป็นเจ้าการในการรักษาหล่อเลี้ยงนามธรรมคือจิตและเจตสิกทั้งหลาย บางทีเรียก อรูปชีวิตินทรีย์ หรือ นามชีวิตินทรีย์
ตถาคต : พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกหรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความหมาย ๘ อย่าง คือ ๑.พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือ เสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นต้น เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น ๒.พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือทรงทำลายอวิชชาสละปวงกิเลสเสด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น ๓.พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือ ทรงมีพระญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายหรือของธรรมทุกอย่าง๔.พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ หรือปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน ๕.พระผู้ทรงเห็นอย่างนี้ คือ ทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ซึ่งสัตวโลกตลอดถึงเทพถึงพรหมได้ประสบและพากันแสวงหา ทรงเข้าใจสภาพที่แท้จริง ๖.พระผู้ตรัสอย่างนั้น (หรือมีพระวาจาที่แท้จริง) คือ พระดำรัสทั้งปวงนับแต่ตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ล้วนเป็นสิ่งแท้จริงถูกต้อง ไม่เป็นอย่างอื่น ๗.พระผู้ทำอย่างนั้น คือ ตรัสอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น ๘.พระผู้เป็นเจ้า (อภิภู) คือ ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสุด เป็นผู้เห็นถ่องแท้ ทรงอำนาจ เป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือประดาพรหม ไม่มีใครจะอาจวัดหรือจะทดเทียมพระองค์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ
ทวัตติงสาการ : อาการ ๓๒, ส่วนประกอบที่มีลักษณะต่างๆ กัน ๓๒ อย่าง ในร่างกาย คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า (อุจจาระ) มันสมอง ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร (ปัสสาวะ); ในขุททกปาฐะ (ฉบับสยามรัฐ) เรียงลำดับมันสมองไว้เป็นข้อสุดท้าย; ทวัตดึงสาการ หรือ ทวดึงสาการ ก็เขียน
ทุกรกิริยา : กิริยาที่ทำได้โดยยาก, การทำความเพียรอันยากที่ใครๆ จะทำได้ ได้แก่ การบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ ด้วยวิธีการทรมานตนต่างๆ เช่น กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะและอดอาหาร เป็นต้น ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติก่อนตรัสรู้ อันเป็นฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค และได้ทรงเลิกละเสียเพราะไม่สำเร็จประโยชน์ได้จริง; เขียนเต็มเป็น ทุกกรกิริยา
ทุพภาสิต :
“พูดไม่ดี” “คำชั่ว” “คำเสียหาย” ชื่ออาบัติเบาที่สุดที่เกี่ยวกับคำพูดเป็นความผิดในลำดับถัดรองจากทุกกฎ เช่น ภิกษุพูดกับภิกษุที่มีกำเนิดเป็นจัณฑาล ว่าเป็นคนชาติจัณฑาล ถ้ามุ่งว่ากระทบให้อัปยศ ต้องอาบัติทุกกฎ แต่ถ้ามุ่งเพียงล้อเล่น ต้องอาบัติทุพภาษิต ดู อาบัติ
ธรรมบท : บทแห่งธรรม, บทธรรม, ข้อธรรม; ชื่อคาถาบาลีหมวดหนึ่งจัดเป็นคัมภีร์ที่ ๒ ในขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก มี ๔๒๓ คาถา
ธรรมสามัคคี : ความพร้อมเพรียงขององค์ธรรม, องค์ธรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องทุกอย่างทำกิจหน้าที่ของแต่ละอย่างๆ พร้อมเพรียงและประสานสอดคล้องกัน ให้สำเร็จผลที่เป็นจุดหมาย เช่น ในการบรรลุมรรคผล เป็นต้น
ธัมมปทัฏฐกถา : คัมภีร์อรรถกถา อธิบายความในธรรมบทแห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์รจนา หรือเป็นหัวหน้าในการรจนาขึ้น เมื่อ พ.ศ.ใกล้จะถึง ๑๐๐๐ (ชื่อเฉพาะว่า ปรมัตถโชติกา)
บรรพชา : การบวช (แปลว่า เว้นความชั่วทุกอย่าง) หมายถึง การบวชทั่วไป, การบวชอันเป็นบุรพประโยคแห่งอุปสมบท, การบวชเป็นสามเณร (เดิมทีเดียว คำว่า บรรพชา หมายความว่า บวชเป็นภิกษุ เช่น เสด็จออกบรรพชาอัครสาวกบรรพชา เป็นต้น ในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ คำว่า บรรพชา หมายถึง บวชเป็นสามเณร ถ้าบวชเป็นภิกษุ ใช้คำว่า อุปสมบท โดยเฉพาะเมื่อใช้คอบกันว่า บรรพชาอุปสมบท)
บวช : การเว้นทั่ว คือเว้นความชั่วทุกอย่าง (ออกมาจากคำว่า ป + วช) หมายถึงการถือเพศเป็นนักพรตทั่วไป; บวชพระ คือบวชเป็นภิกษุเรียกว่า อุปสมบท, บวชเณร คือ บวชเป็นสามเณร เรียกว่า บรรพชา
บุพพัณณะ : ของที่ควรกินก่อน ได้แก่ ข้าวทุกชนิดเช่น ข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง เป็นต้น; เทียบ อปรัณณะ
เบญจกัลยาณี : หญิงมีลักษณะงาม ๕ อย่าง คือ ผมงาม เนื้องาม (คือเหงือกและริมฝีปากแดงงาม) ฟันงาม ผิวงาม วัยงาม (คือดูงามทุกวัย)
เบญจศีล : ศีล ๕ เว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในกาม เว้นพูดปด เว้นของเมา มีคำสมาทานว่า ๑.ปาณาติปาตา ๒.อทินฺนาทานา ๓.กาเมสุมิจฺฉาจารา ๔.มุสาวาทา ๕.สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺานา ต่อท้ายด้วย เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ทุกข้อ
ปฏิสัมภิทามรรค : ทางแห่งปฏิสัมภิทา, ข้อปฏิบัติที่ทำให้มีความแตกฉาน; ชื่อคัมภีร์หนึ่งแห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก เป็นภาษาของพระสารีบุตร
ปฐวีธาตุ : ธาตุดิน คือธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง ในร่างกายที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า; อย่างนี้เป็นการกล่าวถึงปฐวีธาตุในลักษณะที่คนสามัญทุกคนจะเข้าใจได้ และที่จะให้สำเร็จประโยชน์ในการเจริญกรรมฐาน แต่ในทางพระอภิธรรม ปฐวีธาตุเป็นสภาวะพื้นฐานที่มีอยู่ในรูปธรรมทุกอย่าง แม้แต่ในน้ำและในลมที่เรียกกันสามัญ ซึ่งรู้สึกถูกต้องได้ด้วยกายสัมผัส
ปรมัตถโชติกา : ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในขุททกปาฐะ ธรรมบทสุตตนิบาต และชาดก แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์รจนาหรือเป็นหัวหน้าในการจัดเรียบเรียงขึ้น เมื่อ พ.ศ.ใกล้จะถึง ๑๐๐๐
ปวารณา : 1. ยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ข้อ 2.ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน, ชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่าวันมหาปวารณา โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือน ได้ดังนี้ “สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ, ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา; วทนฺตุ มํ, อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย; ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ. ทุติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ,..... ตติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ,.......” แปลวว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณกะสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ยินก็ตาม ด้วยน่าระแวงสงสัยก็ตาม, ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงว่ากล่าวกะข้าพเจ้าด้วยอาศัยความหวังดี, เอ็นดู, เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น จักแก้ไขแม้ครั้งที่สอง.........แม้ครั้งที่สาม.......” (ภิกษุผู้มีพรรษาสูงสุดในที่ประชุมว่า อาวุโส แทน ภนฺเต)
ปหานปริญญา : กำหนดรู้ถึงขั้นละได้ คือ กำหนดรู้สังขารว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนถึงขั้นละนิจจสัญญา เป็นต้น ในสังขารนั้นได้ (ข้อ ๓ ใน ปริญญา ๓)
ปาฏิโมกข์ : ชื่อคัมภีร์ที่ประมวลพุทธบัญญัติอันทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา ได้แก่ อาทิพรหมจริยกาสิกขา มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เรียกกันว่า พระสงฆ์ทำอุโบสถ, คัมภีร์ที่รวมวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ (พจนานุกรมเขียน ปาติโมกข์)
ปีติ : ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำในใจ มี ๕ คือ ๑.ขุททกปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล ๒.ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะรู้สึกแปลกๆ ดุจฟ้าแลบ ๓.โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอกรู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง ๔.อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟูตัวเบาหรืออุทานออกมา ๕.ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์เป็นของประกอบกับสมาธิ
พระพุทธเจ้า :
พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม, ท่านผู้รู้ดีรู้ชอบด้วยตนเองก่อนแล้วสอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ; พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ที่ใกล้กาลปัจจุบันที่สุดและคัมภีร์กล่าวถึงบ่อยๆ คือ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคดม; พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์แห่งภัทรกัปป์ปัจจุบันนี้ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคดม และพระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอาริย์ หรือ พระศรีอารยเมตไตรย); พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์นับแต่พระองค์แรกที่พระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ได้ทรงพบและทรงได้รับการพยากรณ์ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า (รวม ๒๔ พระองค์) จนถึงพระองค์เองด้วย คือ ๑.พระทีปังกร ๒.พระโกณฑัญญะ ๓.พระมังคละ ๔.พระสุมนะ ๕.พระเรวตะ ๖.พระโสภิตะ ๗.พระอโนมทัสสี ๘.พระปทุมะ ๙.พระนารทะ ๑๐.พระปทุมุตตระ ๑๑.พระสุเมธะ ๑๒.พระสุชาตะ ๑๓.พระปิยทัสสี ๑๔.พระอัตถทัสสี ๑๕.พระธัมมทัสสี ๑๖.พระสิทธัตถะ ๑๗.พระติสสะ ๑๘.พระปุสสะ ๑๙.พระวิปัสสี ๒๐.พระสิขี ๒๑.พระเวสสภู ๒๒.พระกกุสันธะ ๒๓.พระโกนาคมน์ ๒๔.พระกัสสปะ ๒๕.พระโคตมะ (เรื่องมาในคัมภีร์พุทธวงส์ แห่งขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก); ดู พุทธะ ด้วย
พุทธธรรม : 1.ธรรมของพระพุทธเจ้า, พระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า คัมภีร์มหานิทเทศระบุจำนวนไว้ว่ามี ๖ ประการ แต่ไม่ได้จำแนกข้อไว้ อรรถกถาโยงความให้ว่าได้แก่ ๑.กายกรรมทุกอย่างของพระพุทธเจ้าเป็นไปตามพระญาณ (จะทำอะไรก็ทำด้วยปัญญา ด้วยความรู้เข้าใจ) ๒.วจีกรรมทุกอย่าง เป็นไปตามพระญาณ ๓.มโนกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๔.ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอดีต ๕.ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอนาคต ๖.ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในปัจจุบัน
พุทธัตถจริยา : ทรงประพฤติเป็นพระโยชน์แก่สัตว์โลก โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า เช่น ทรงแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์และบัญญัติวินัยขึ้นบริหารหมู่คณะ ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนมาตราบเท่าทุกวันนี้
มธุรสูตร : พระสูตรที่พระมหากัจจายนะแสดงแก่พระเจ้ามธุรราช อวันตีบุตร กล่าวถึงความไม่ต่างกันของวรรณะ ๔ เหล่า คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ใจความว่าวรรณะ ๔ นี้ แม้จะถือตัวอย่างไร เหยียดหยามกันอย่างไร แต่ถ้าทำดีก็ไปสู่ที่ดีเหมือนกันหมด ถ้าทำชั่วก็ต้องได้รับโทษ ไปอบายเหมือนกันหมด ทุกวรรณะ เสมอกันในพระธรรมวินัย ออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว ไม่เรียกว่า วรรณะไหน แต่เป็นสมณะเหมือนกันหมด เมื่อจบเทศนาพระเจ้ามธุรราชประกาศพระองค์เป็นอุบาสก (สูตรที่ ๓๔ ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก)
รองเท้า : ในพระวินัยกล่าวถึงรองเท้าไว้ ๒ ชนิด คือ ๑.ปาทุกา แปลกันว่าเขียงเท้า (รองเท้าไม้หรือเกี๊ยะ) ซึ่งรวมไปถึงรองเท้าโลหะ รองเท้าแก้ว หรือรองเท้าประดับแก้วต่างๆ ตลอดจนรองเท้าสาน รองเท้าถักหรือปักต่างๆ สำหรับพระภิกษุห้ามใช้ปาทุกาทุกอย่าง ยกเว้นปาทุกาไม้ที่ตรึงอยู่กับที่สำหรับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะและเป็นที่ชำระ ขึ้นเหยียบได้ ๒.อุปาหนา รองเท้าสามัญ สำหรับพระภิกษุทรงอนุญาตรองเท้าหนังสามัญ (ถ้าชั้นเดียว หรือมากชั้นแต่เป็นของเก่าใช้ได้ทั่วไป ถ้ามากชั้นเป็นของใหม่ ใช้ได้เฉพาะแต่ในปัจจันตชนบท) มีสายรัด หรือใช้คีบด้วยนิ้ว ไม่ปกหลังเท้า ไม่ปกส้น ไม่ปกแข็ง นอกจากนั้น ตัวรองเท้าก็ตาม หูหรือสายรัดก็ตาม จะต้องไม่มีสีที่ต้องห้าม (คือ สีขาบ เหลือง แดง บานเย็น แสด ชมพู ดำ) ไม่ขลิบด้วยหนังสัตว์ที่ต้องห้าม (คือ หนังราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง ชะมด นาค แมว ค่าง นกเค้า) ไม่ยัดนุ่น ไม่ตรึงหรือประดับด้วยขนนกกระทาขนนกยูง ไม่มีหูเป็นช่อดังเขาแกะเขาแพะหรือง่ามแมลงป่อง
วรรค : หมวด, หมู่, ตอน, พวก ; กำหนด จำนวนภิกษุที่ประกอบเข้าเป็นสงฆ์ หมวดหนึ่งๆ ซึ่งเมื่อครบจำนวนแล้วจึงจะทำสังฆกรรมอย่างนั้นๆ ได้ มี ๔ พวก คือ ๑.สงฆ์จตุรวรรค (สงฆ์พวก ๔ คือ ต้องมีภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป ทำกรรมได้ทุกอย่างเว้นปวารณาให้ผ้ากฐิน อุปสมบท และอัพภาน) ๒.สงฆ์ปัญจวรรค (สงฆ์พวก ๕ คือ ต้องมีภิกษุ ๕ รูปขึ้นไป ทำปวารณา ให้ผ้ากฐิน และอุปสมบทในปัจจันตชนบท) ๓.สงฆ์ทสวรรค (สงฆ์พวก ๑๐ คือต้องมีภิกษุ ๑๐ รูปขึ้นไป ให้อุปสมบทในมัธยมชนบทได้) ๔.สงฆ์วีสติวรรค (สงฆ์พวก ๒๐ คือต้องมีภิกษุ ๒๐ รูปขึ้นไป ทำอัพภานได้)
วาสนา : อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็ว หรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น ท่านขยายความว่า วาสนา ที่เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศล ก็มี เป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มี ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลกๆ ต่างๆ ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้ จึงมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้ พร้อมทั้งวาสนา; ในภาษาไทย คำว่า วาสนา มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นอำนาจบุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ
เวทนา : ความเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกสุขทุกข์ มี ๓ อย่าง คือ ๑.สุขเวทนา ความรู้สึกสุขสบาย ๒.ทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย ๓.อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เรียกอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา; อีกหมวดหนึ่งจัดเป็น เวทนา ๕ คือ ๑.สุข สบายกาย ๒.ทุกข์ ไม่สบายกาย ๓.โสมนัส สบายใจ ๔.โทมนัส ไม่สบายใจ ๕.อุเบกขา เฉยๆ; ในภาษาไทย ใช้หมายความว่าเจ็บปวดบ้าง สงสารบ้าง ก็มี
ศีล ๑๐ :
สำหรับสามเณร แต่ผู้ใดศรัทธาจะรักษาก็ได้ หัวข้อเหมือนศีล ๘ แต่แยกข้อ ๗ เป็น ๒ ข้อ (= ๗-๘) เลื่อนข้อ ๘ เป็น ๙ และเติมข้อ ๑๐ คือ ๗.เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ฯลฯ ๘.เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ ฯลฯ ๙.เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ ฯลฯ ๑๐.เว้นจากการรับทองและเงิน; คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่าง) ว่า ๗.นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา- ๘.มาลาคนฺธวิเลปน ธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา- ๙.อุจฺจาสยนมหาสยนา- ๑๐.ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา- (คำต่อท้าย เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยมิ เหมือนกันทุกข้อ); ดู อาราธนาศีล ด้วย
ศีล ๕ :
สำหรับทุกคน คือ ๑.เว้นจากทำลายชีวิต ๒.เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้ ๓.เว้นจากประพฤติผิดในกาม ๔.เว้นจากพูดเท็จ ๕.เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท; คำสมาทานว่า ๑.ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ๒.อทินนาทานา- ๓.กาเมสุมิจฺฉานารา- ๔.มุสาวาทา- ๕.สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา- (คำต่อท้ายเหมือนข้อ ๑); ดู อาราธนาศีล ด้วย
สมันตจักขุ : จักษุรอบคอบ, ตาเห็นรอบ ได้แก่พระสัพพัญญุตญาณ อันหยั่งรู้ธรรมทุกประการ เป็นคุณสมบัติพิเศษของพระพุทธเจ้า (ข้อ ๕ ในจักขุ ๕)
สรรพ : ทั้งปวง, ทั้งหมด, ทุกสิ่ง
สรรเพชญ : ผู้รู้ทั่ว, ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง หมายถึงพระพุทธเจ้า ( = สัพพัญญู)
สังกิจฉิกะ : ผ้ารัดหรือโอบรักแร้ เป็นจีวรอย่างหนึ่งในจีวร ๕ ของภิกษุณี คือ สังฆาฏิ ผ้าทาบ ๑ อุตตราสงค์ ผ้าห่ม ๑ อันตรวาสก สบง ๑ สังกิจฉิกะ ผ้ารัดหรือผ้าโอบรักแร้ ๑ อุทกสาฏิกา ผ้าอาบ ๑ (มากกว่าของภิกษุซึ่งมีจำนวนเพียง ๓ อย่างข้างต้น)