โคณกะ : ผ้าขน มีขนยาวกว่า ๔ นิ้ว
นันทะ : พระอนุชาของพระพุทธเจ้า แต่ต่างมารดา คือประสูติแต่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้ออกบวชในวันมงคลสมรสกับนางชนปทกัลยาณี เบื้องแรกประพฤติพรหมจรรย์อยู่ด้วยความจำใจ แต่ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงสอนด้วยอุบาย จนพระนันทะเปลี่ยนมาตั้งใจปฏิบัติธรรม และในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้สำรวมอินทรีย์ พระนันทะมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายพระพุทธเจ้า แต่ต่ำกว่าพระพุทธองค์ ๔ นิ้ว
กายวิญญัติ : ความเคลื่อนไหวร่างกายให้รู้ความหมาย เช่น สั่นศีรษะ โบกมือ ขยิบตา ดีดนิ้ว เป็นต้น
เตียง : ภิกษุทำเตียงหรือตั่ง พึงทำให้มีเท้าเพียง ๘ นิ้วพระสุคต เว้นไว้แต่แม่แคร่เบื้องต่ำ และต้องไม่หุ้มนุ่น ถ้าฝ่าฝืน ต้องปาจิตตีย์ ต้องตัดให้ได้ประมาณ หรือรื้อเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก (ปาจิตตีย์ รตนวรรคที่๙ สิกขาบทที่ ๕ และ ๖)
รองเท้า : ในพระวินัยกล่าวถึงรองเท้าไว้ ๒ ชนิด คือ ๑.ปาทุกา แปลกันว่าเขียงเท้า (รองเท้าไม้หรือเกี๊ยะ) ซึ่งรวมไปถึงรองเท้าโลหะ รองเท้าแก้ว หรือรองเท้าประดับแก้วต่างๆ ตลอดจนรองเท้าสาน รองเท้าถักหรือปักต่างๆ สำหรับพระภิกษุห้ามใช้ปาทุกาทุกอย่าง ยกเว้นปาทุกาไม้ที่ตรึงอยู่กับที่สำหรับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะและเป็นที่ชำระ ขึ้นเหยียบได้ ๒.อุปาหนา รองเท้าสามัญ สำหรับพระภิกษุทรงอนุญาตรองเท้าหนังสามัญ (ถ้าชั้นเดียว หรือมากชั้นแต่เป็นของเก่าใช้ได้ทั่วไป ถ้ามากชั้นเป็นของใหม่ ใช้ได้เฉพาะแต่ในปัจจันตชนบท) มีสายรัด หรือใช้คีบด้วยนิ้ว ไม่ปกหลังเท้า ไม่ปกส้น ไม่ปกแข็ง นอกจากนั้น ตัวรองเท้าก็ตาม หูหรือสายรัดก็ตาม จะต้องไม่มีสีที่ต้องห้าม (คือ สีขาบ เหลือง แดง บานเย็น แสด ชมพู ดำ) ไม่ขลิบด้วยหนังสัตว์ที่ต้องห้าม (คือ หนังราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง ชะมด นาค แมว ค่าง นกเค้า) ไม่ยัดนุ่น ไม่ตรึงหรือประดับด้วยขนนกกระทาขนนกยูง ไม่มีหูเป็นช่อดังเขาแกะเขาแพะหรือง่ามแมลงป่อง
วังคีตะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี ได้ศึกษาไตรเพทจนมีความชำนาญเป็นที่พอใจของอาจารย์ จึงได้เรียนมนตร์พิเศษชื่อฉวสีสมนตร์ สำหรับพิสูจน์ศีรษะซากศพ เอานิ้วเคาะหัวศพก็ทราบว่าผู้นั้นตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร ที่ไหน ท่านมีความชำนาญในมนตร์นี้มาก ต่อมาได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้แสดงความสามารถของตน แต่เมื่อเคาะศีรษะของผู้ปรินิพพานแล้วไม่สามารถบากคติได้ ด้วยความอยากเรียนมนตร์เพิ่มอีก จึงขอบวชในพระพุทธศาสนา ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปฏิภาณ
วิการ : 1.พิการ, ความแปรผัน, ความผิดแปลก, ผิดปกติ 2.ทำต่างๆ, ขยับเขยื้อน เช่น กวักมือ ดีดนิ้ว เป็นต้น
องคุลิมาล : พระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เคยเป็นมหาโจรโด่งดังเป็นบุตรของภัคควพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณ์ เดิมชื่ออหิงสกะ (แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน) ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เพื่อนศิษย์ด้วยกันริษยา ยุอาจารย์ให้กำจัดเสีย อาจารย์ลวงด้วยอุบายให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพัน แล้วจะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ จึงกลายเป็นมหาโจรผู้โหดร้ายทารุณ ตัดนิ้วมือคนที่ตนฆ่าตายแล้ว ร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องฺคุลิมาล (แปลว่ามีนิ้วเป็นมาลัย) ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านเป็นต้นแห่งพุทธบัญญัติไม่ให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง
อนุพยัญชนะ :
ลักษณะน้อยๆ, พระลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ (นอกเหนือจากมหาบุรุษลักษณะ ๓๒) อีก ๘๐ ประการ คือ ๑) มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม, ๒) นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไป โดยลำดับแต่ต้นจนปลาย, ๓) นิ้วพระหัตถ์ แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี, ๔) พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง, ๕) พระนขาทั้ง ๒๐ นั้น งอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง, ๖) พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลม สนิทมิได้เป็นริ้วรอย, ๗) ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก, ๘) พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา, ๙) พระดำเนินงานดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ, ๑๐) พระดำเนินงามดุจสีหราช, ๑๑) พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์, ๑๒) พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน, ๑๓) ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน, ๑๔) พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก, ๑๕) มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี ๑๖) พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง, ๑๗) พระอุทรมีสัณฐานอันลึก, ๑๘) ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ, ๑๙) ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี, ๒๐) ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี, ๒๑) พระอังคาพยใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้, ๒๒) พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งประสรีรกาย, ๒๓) พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง ๒๔) พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง, ๒๕) พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง, ๒๖) พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง, ๒๗) ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ, ๒๘) มีพระนาสิกอันสูง, ๒๙) สัณฐานนาสิกงามแฉล้ม ๓๐) มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก, ๓๑) พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน, ๓๒) พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์, ๓๓) พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย, ๓๔) พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น, ๓๕) พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์, ๓๖) ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย ๓๗) พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน, ๓๘) ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก, ๓๙) ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว ๔๐) ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด ๔๑) ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง, ๔๒) รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ ๔๓) กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์ ๔๔) กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน ๔๕) ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ๔๖) ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด ๔๗) พระชิวหามีสัณฐานอันงาม ๔๘) พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้างมีพรรณอันแดงเข้ม ๔๙) พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ ๕๐) ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม ๕๑) ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง ๕๒) แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง ๕๓) พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว ๕๔) ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน ๕๕) พระนลาฏมีสัณฐานอันงาม ๕๖) พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้ ๕๗) พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด ๕๘) เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ ๕๙) พระโขนงนั้นใหญ่ ๖๐) พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร ๖๑) ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๒) พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ ๖๓) พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ๖๔) พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ ๖๕) พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย ๖๖) กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา ๖๗) พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น ๖๘) พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๙) ลมอัสสาสะและปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด ๗๐) พระโอษฐมีสัณฐานอันงามดุจแย้ม ๗๑) กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล ๗๒) พระเกสาดำเป็นแสง ๗๓) กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ ๗๔) พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ ๗๕) พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น ๗๖) พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น ๗๗) พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด ๗๘) เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง ๗๙) เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏทุกๆ เส้น ๘๐) วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ฯ นิยมเรียกว่า อสีตยานุพยัญชนะ; ดู มหาบุรุษลักษณะ
อัจฉริยะ : “เหตุอันควรที่จะดีดนิ้วเปาะ”, อัศจรรย์, แปลกวิเศษ, น่าทึ่งควรยอมรับนับถือ, ดีเลิศล้ำน่าพิศวง, มีความรู้ความสามารถทรงคุณสมบัติเหนือสามัญหรือเกินกว่าระดับปกติ
อนวเสส : หาส่วนเหลือมิได้, ไม่เหลือเลย, สิ้นเชิง
อาทีนวสัญญา : การกำหนดหมายโทษแห่งร่างกายซึ่งมีอาพาธคือโรคต่างๆ เป็นอันมาก (ข้อ ๔ ในสัญญา ๑๐)
นวรหคุณ : คุณของพระอรหันต์ ๙ หมายถึง คุณของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ ๙ ประการ ได้แก่ พุทธคุณ ๙ นั่นเอง เขียน นวารคุณ ก็ได้ แต่เพี้ยนไปเป็น นวหรคุณ ก็มี
เบญจโครส : โครส (รสแห่งโค หรือ รสเกิดแต่โค คือ ผลผลิตจากนมโค) ๕ อย่าง ได้แก่ นมสด (ขีระ) นมส้ม (ทธิ) เปรียง (ตักกะ) เนยใส (สัปปิ) เนยข้น (นวนีตะ)
เภสัช : ยา, ยารักษาโรค, ยาแก้โรค เป็นอย่างหนึ่งในปัจจัย ๔, เภสัช ๕ ที่เป็นสัตตาหกาลิก รับไว้ฉันได้ตลอด ๗ วัน คือ ๑.สัปปิ เนยใส ๒.นวนีตะ เนยข้น ๓.เตละ น้ำมัน ๔.มธุ น้ำผึ้ง ๕.ผาณิต น้ำอ้อย; ส่วนยาแก้โรคที่ทำจากรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ เป็นต้น จัดเป็นยาวชีวิก คือรับประเคนไว้แล้ว เก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต
สัญญา ๑๐ : ความกำหนดหมาย, สิ่งที่ความกำหนดหมายไว้ในใจ มี ๑๐ อย่าง คือ ๑.อนิจจสัญญา กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร ๒.อนัตตสัญญา กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง ๓.อสุภสัญญา กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย ๔.อาทีนวสัญญา กำหนดหมายโทษแห่งกาย คือมีอาพาธต่าง ๆ ๕.ปหานสัญญา กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรม ๖.วิราคสัญญา กำหนดหมายวิราคะ คืออริยมรรคว่าเป็นธรรมอันสงบประณีต ๗.นิโรธสัญญา กำหนดหมายนิโรธ คืออริยผล ว่าเป็นธรรมอันสงบประณีต ๘.สัพพโลเก อนภิรตสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง ๙.สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าปรารถนาใน สังขารทั้งปวง ๑๐.อานาปานัสสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
อาบัติ : การต้อง, การล่วงละเมิด, โทษที่เกิดแต่การละเมิดสิกขาบท; อาบัติ ๗ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต; อาบัติ ๗ กองนี้จัดรวมเป็นประเภทได้หลายอย่าง โดยมากจัดเป็น ๒ เช่น ๑) ครุกาบัติ อาบัติหนัก (ปาราชิกและสังฆาทิเสส) ๒) ลหุกาบัติ อาบัติเบา (อาบัติ ๕ อย่างที่เหลือ); คู่ต่อไปนี้ก็เหมือนกัน คือ ๑) ทุฏฐลลาบัติ อาบัติไม่ชั่วหยาบ; ๑) อเทสนนาคามินี อาบัติที่ไม่พ้นได้ด้วยการแสดง ๒) เทสนาคามินี อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดงคือเปิดเผยความผิดของตน; คู่ต่อไปนี้จัดต่างออกไปอีกแบบหนึ่งตรงกันทั้งหมด คือ ๑) อเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขไม่ได้ (ปาราชิก) ๒) สเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขได้ (อาบัติ ๖ อย่างที่เหลือ); ๑) อนวเสส ไม่มีส่วนเหลือ ๒) สาวเสส ยังมีส่วนเหลือ; ๑) อัปปฏิกัมม์หรืออปฏิกรรม ทำคืนไม่ได้คือแก้ไขไม่ได้ ๒) สัปปฏิกัมม์ หรือ สปฏิกรรม ยังทำคืนได้ คือแก้ไขได้