กีสาโคตมี : พระเถรีสำคัญองค์หนึ่ง เดิมเป็นธิดาคนยากจนในพระนครสาวัตถี แต่ได้เป็นลูกสะใภ้ของเศรษฐีในพระนครนั้น นางมีบุตรชายคนหนึ่ง อยู่มาไม่นานบุตรชายตาย นางมีความเสียใจมาก อุ้มบุตรที่ตายแล้วไปในที่ต่างๆ เพื่อหายาแก้ให้ฟื้น จนได้ไปพบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนด้วยอุบายและทรงประทานโอวาท นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผล บวชในสำนักนางภิกษุณี วันหนึ่งนั่งพิจารณาเปลวประทีปที่ตามอยู่ในพระอุโบสถ ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทรงทรงจีวรเศร้าหมอง
กุมมาส : ขนมสด คือขนมที่เก็บไว้นานเกินไปจะบูด เช่น ขนมด้วง ขนมครก ขนมถ้วย ขนมตาล เป็นต้น พระพุทธเจ้า หลังจากเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาก็เสวยข้าวสุกและกุมมาส
จำเนียรกาล : เวลาช้านาน
ตระกูลอันมั่งคั่ง : จะตั้งอยู่นานไม่ได้ เพราะเหตุ ๔ คือ ๑.ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว ๒.ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า ๓.ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ ๔.ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีล ให้เป็นแม่บ้านพ่อเรือน
ธัมมทินนา : พระเถรีมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นกุลธิดาชาวพระนครราชคฤห์ เป็นภรรยาของวิสาขเศรษฐี มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบวชในสำนักนางภิกษุณี บำเพ็ญเพียรไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในทางเป็นธรรมกถึก (เขียน ธรรมทินนา ก็มี)
ปรมัตถทีปนี : ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความใน อุทาน อิติวุตตกะ วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา และเถรีคาถา พระธรรมบาลรจนาขึ้นในสมัยภายหลังพระพุทธโฆษาจารย์ไม่นาน
ปุณณมันตานีบุตร : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะเดิมชื่อปุณณะ เป็นบุตรของนางมันตานี ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ เป็นหลานของพระอัญญาโกณทัญญะ ได้บรรพชาเมื่อพระเถระผู้เป็นลุงเดินทางมายังเมืองกบิลพัสดุ์ บวชแล้วไม่นานก็บรรลุอรหัตตผล เป็นผู้ปฏิบัติตนตามหลักกถาวัตถุ ๑๐ และสอนศิษย์ของตนให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาพระธรรมกถึก หลักธรรมเรื่องวิสุทธิ ๗ ก็เป็นภาษิตของท่าน
ผ้าป่า : ผ้าที่ทายกถวายแก่พระโดยวิธีปล่อยทิ้งให้พระมาชักเอาไปเอง อย่างเป็นผ้าบังสุกุล, ตามธรรมเนียมจะถวายหลังเทศกาลกฐินออกไป; คำถวายผ้าป่าว่า "อิมินา มยํ ภนฺเต, ปํสุกูลจีวรานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, ปํสุกูลจีวรานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย" แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ของพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญฯ
มหาปชาบดีโคตมี :
พระน้านางของพระพุทธเจ้า เดิมเรียกว่าพระนางปชาบดี เป็นธิดาของเจ้าสุปปพุทธะ แห่งโกลิยวงศ์เป็นพระภคินีของพระนางสิริมหามายา เมื่อพระมหามายาสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ ได้มอบพระสิทธัตถะให้พระนางเลี้ยงดู ต่อมาเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะสวรรคตแล้ว พระนางได้ออกบวชเป็นภิกษุณีองค์แรก ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู(บวชนานรู้เหตุการณ์ก่อนใครๆ) ดู ภิกษุณีสงฆ์
มหาสุทัศน์ : พระเจ้าจักรพรรดิผู้ครองราชสมบัติอยู่ที่กุสาวดีราชธานีในอดีตกาล ก่อนพุทธกาลช้านาน เมืองกุสาวดีนี้ในสมัยพุทธกาลมีชื่อว่าเมืองกุสินารา, เรื่องมาในมหาสุทัสสนสูตร แห่งคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎก
มิลินท์ : มหากษัตริย์เชื้อชาติกรีก แห่งสาคลประเทศในชมพูทวีป ผู้เป็นปราชญ์ยิ่งใหญ่ โต้วาทะชนะนักปราชญ์ทั้งหลายในสมัยนั้น จนในที่สุดได้โต้กับพระนาคเสน ยอมเลื่อมใสหันมานับถือพระพุทธศาสนา และเป็นองค์อุปถัมภกสำคัญ พระนามภาษากรีกว่า พระเจ้าเมนานเดอร์ ครองราชย์ พ.ศ.๔๒๓ สวรรคต พ.ศ.๔๕๓
รัฐบาล : พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าในถุลลโกฏฐิตนิคม ในแคว้นกุรุ ฟังธรรมแล้วมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ลาบิดามารดาบวช แต่ไม่ได้รับอนุญาต เสียใจ และอดอาหารจะได้ตายเสีย บิดามารดาจึงต้องอนุญาต ออกบวชแล้วไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางบวชด้วยศรัทธา
รัตตัญญู : ผู้รู้ราตรี คือผู้เก่าแก่ รู้กาลนานมีประสบการณ์มาก รู้เหตุการณ์มาแต่ต้น เช่นพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นเอตทัคคะในทาง “รัตตัญญู”
ราธะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นพราหมณ์ในเมืองราชคฤห์ เมื่อชราลงถูกบุตรทอดทิ้ง อยากจะบวชก็ไม่มีภิกษุรับบวชให้ เพราะเห็นว่าเป็นคนแก่เฒ่า ราธะเสียใจ ร่างกายซูบซีด พระศาสดาทรงทราบจึงตรัสถามว่า มีใครระลึกถึงอุปการะของราธะได้บ้าง พระสารีบุตรระลึกถึงภิกษาทัพพีหนึ่งที่ราธะถวาย จึงรับเป็นอุปัชฌาย์ และราธะได้เป็นบุคคลแรกที่อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ท่านบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต พระราธะเป็นผู้ว่าง่าย ตั้งใจรับฟังคำสั่งสอน มีความสุภาพอ่อนโยน เป็นตัวอย่างของภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรก็ชมท่าน ท่านเคยได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า เคยทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางก่อให้เกิดปฏิภาณ
โลกัตถจริยา :
พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่โลก, ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก คือ ทรงอาศัยพระมหากรุณา เสด็จไปประกาศพระศาสนาเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนในถิ่นฐานแว่นแคว้นต่างๆ เป็นอันมาก และประดิษฐานพระศาสนาไว้เพื่อประโยชน์สุขแก่ชุมชนภายหลังตลอดกาลนาน ดู พุทธจริยา
วังคีตะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี ได้ศึกษาไตรเพทจนมีความชำนาญเป็นที่พอใจของอาจารย์ จึงได้เรียนมนตร์พิเศษชื่อฉวสีสมนตร์ สำหรับพิสูจน์ศีรษะซากศพ เอานิ้วเคาะหัวศพก็ทราบว่าผู้นั้นตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร ที่ไหน ท่านมีความชำนาญในมนตร์นี้มาก ต่อมาได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้แสดงความสามารถของตน แต่เมื่อเคาะศีรษะของผู้ปรินิพพานแล้วไม่สามารถบากคติได้ ด้วยความอยากเรียนมนตร์เพิ่มอีก จึงขอบวชในพระพุทธศาสนา ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปฏิภาณ
วัชชี : ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่ชมพูทวีป ตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำคันธกะอยู่ทางทิศตะวันออกของแคว้นมัลละ ทางทิศเหนือของแคว้นมคธ นครหลวงชื่อเวสาลี แคว้นวัชชีปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม พวกกษัตริย์ที่ปกครองเรียกว่า กษัตริย์ลิจฉวี (นอกจากพวกลิจฉวีแล้วยังมีพวกวิเทหะซึ่งปกครองอยู่ที่เมืองมิถิลา แต่ในสมัยพุทธกาลมีอำนาจน้อย) แคว้นวัชชีรุ่งเรืองเข้มแข็งและมีอำนาจมากตอนปลายพุทธกาลได้กลายเป็นคู่แข่งกับแคว้นมคธ แต่หลังพุทธกาลไม่นานก็เสียอำนาจแก่มคธเพราะอุบายทำลายสามัคคี ของวัสสการพราหมณ์
วาสนา : อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็ว หรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น ท่านขยายความว่า วาสนา ที่เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศล ก็มี เป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มี ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลกๆ ต่างๆ ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้ จึงมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้ พร้อมทั้งวาสนา; ในภาษาไทย คำว่า วาสนา มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นอำนาจบุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ
สติ : ความระลึกได้, นึกได้, ความไม่เผลอ, การคุมใจไว้กับกิจ หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง, จำการที่ทำและคำที่พูดแล้ว แม้นานได้ (ข้อ ๑ ในธรรมมีอุปการะมาก ๒, ข้อ ๓ ในพละ ๕, ข้อ ๑ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๖ ในสัทธรรม ๗, ข้อ ๙ ในนาถกรณธรรม ๑๐)
สโมธานปริวาส : ปริวาสแบบประมวลเข้าด้วยกัน คือ ปริวาสที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสต่างคราว มีจำนวนวันปิดต่างกันบ้าง ไม่ต่างบ้าง ปรารถนาจะออกจากอาบัตินั้น จึงอยู่ปริวาสโดยประมวลอาบัติและราตรีเข้าด้วยกันจำแนกเป็น ๓ อย่างคือ ๑.โอธานสโมธาน สำหรับอาบัติมากกว่าหนึ่ง แต่ปิดไว้นานเท่ากัน เช่น ต้องอาบัติ ๒ คราว ปิดไว้คราวละ ๕ วัน ประมวลเข้าด้วยกัน อยู่ปริวาส ๕ วัน ๒.อัคฆสโมธาน สำหรับอาบัติมากกว่าหนึ่งและปิดไว้นานไม่เท่ากัน เช่น ต้องอาบัติ ๓ คราว ปิดไว้ ๓ วัน ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ประมวลเข้าด้วยกันอยู่ปริวาสเท่าจำนวนวันที่มากที่สุด (คือ ๗ วัน) ๓.มิสสกสโมธาน สำหรับอาบัติที่ต่างวัตถุกัน (เช่น กายสังสัคคะก็มี ทุฏฐุลลวาจาก็มี สัญจริตตะก็มี) มีวันปิดเท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง ประมวลเข้าด้วยกัน อยู่ปริวาสรวมเป็นคราวเดียว
สังฆทาน : ทานเพื่อสงฆ์, การถวายแก่สงฆ์ คือถวายเป็นกลาง ๆ ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เช่น จะทำพิธีถวายของที่มีจำนวนจำกัดพึงแจ้งแก่ทางวัดให้จัดพระไปรับตามจำนวนที่ต้องการ หัวหน้าสงฆ์จัดภิกษุใดไปพึงทำใจว่า ท่านมารับในนามของสงฆ์ หรือ เป็นผู้แทนของสงฆ์ทั้งหมด ไม่พึงเพ่งเล็งว่าเป็นบุคคลใด คิดตั้งใจแต่ว่าจะถวายอุทิศแก่สงฆ์; ในพิธีพึงจุดธูปเทียนบูชาพระ อาราธนาศีล รับศีล จบแล้วตั้งนโม ๓ จบ กล่าวคำถวายเสร็จแล้วประเคนของ และเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา พึงกรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธี; คำถวายสังฆทานว่าดังนี้ : อิมานิ มยํ ภนฺเต, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย, แปลว่า : ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ ฯ
สุภัททะ : ปัจฉิมสิกขิสาวก (สาวกผู้ทันเห็นองค์สุดท้าย) ของพระพุทธเจ้า เรียกสั้นๆ ว่า ปัจฉิมสาวก เดิมเป็นพราหมณ์ตระกูลใหญ่ ต่อมาออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในเมืองกุสินารา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททปริพาชกได้ยินข่าวแล้วคิดว่าตนมีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง อยากจะขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อแก้ข้อสงสัยนั้นเสียก่อนที่จะปรินิพพาน จึงเดินทางไปยังสาลวัน ตรงไปหาพระอานนท์ แจ้งความประสงค์ขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระอานนท์ได้ห้ามไว้ เพราะเกรงว่าพระองค์เหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว จะเป็นการรบกวนให้ทรงลำบาก สุภัททปริพาชกก็คะยั้นคะยอจะขอเข้าเฝ้าให้ได้ พระอานนท์ก็ยืนกรานห้ามอยู่ถึง ๓ วาระ จนพระผู้มีพระภาคทรงได้ยินเสียงโต้ตอบกันนั้น จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่าสุภัททะมุ่งหาความรู้ มิใช่ประสงค์จะเบียดเบียนพระองค์ ขอให้ปล่อยให้เขาเข้าเฝ้าเถิด สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าแล้ว ทูลถามว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย คือ เหล่าครูทั้ง ๖ นั้น ล้วนได้ตรัสรู้จริงทั้งหมดตามที่ตนปฏิญญา หรือได้ตรัสรู้เพียงบางท่านหรือไม่มีใครตรัสรู้จริงเลย พระพุทธเจ้าทรงห้ามเสียและตรัสว่าจะทรงแสดงธรรม คือ หลักการหรือหลักความจริงให้ฟัง แล้วตรัสว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใด สมณะ (คืออริยบุคคลทั้ง ๔) ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด สมณะก็หาได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะทั้ง ๔ จึงมีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะ และตรัสสรุปว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททปริพาชกเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ให้บวชสุภัททะในสำนักของพระองค์ โดยประทานพุทธานุญาตพิเศษให้ยกเว้นไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ท่านสุภัททะบวชแล้วไม่นาน (อรรถกถาว่าในวันนั้นเอง) ก็ได้บรรลุอรหัตตผล นับเป็นพุทธปัจฉิมสักขิสาวก
โสณกุฏิกัณณะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรของอุบาสิกาชื่อกาฬี ซึ่งเป็นพระโสดาบัน เกิดที่บ้านเดิมของมารดาในเมืองราชคฤห์ แล้วกลับไปอยู่ในตระกูลบิดาที่แคว้นอวันตี ทักขิณาบถ พระมหากัจจายนะให้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วรอต่อมาอีก ๓ ปี เมื่อท่านหาภิกษุได้ครบ ๑๐ รูปแล้วจึงให้อุปสมบทเป็นภิกษุ บวชแล้วไม่นานก็สำเร็จพระอรหัต ต่อมาท่านได้เดินทางมาเฝ้าพระศาสดาที่เมืองสาวัตถี พร้อมทั้งนำความที่พระอุปัชฌาย์สั่งมากราบทูลขอพระพุทธานุญาตพิเศษสำหรับปัจจันตชนบท เช่น ให้สงฆ์มีภิกษุ ๕ รูปให้อุปสมบทได้ ให้ใช้รองเท้าหนาหลายชั้นได้ ให้อาบน้ำได้ตลอดทุกเวลา เป็นต้น ท่านแสดงธรรมมีเสียงไพเราะแจ่มใสชัดเจนจึงได้รับย่องย่องจากพระศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในทางกล่าวกัลยาณพจน์
อัมพปาลีวัน : สวนที่หญิงแพศยาชื่ออัมพปาลี ถวายเป็นสังฆาราม ไม่นานก่อนพุทธปรินิพพาน อยู่ในเขตเมืองเวสาลี
อารัญญกวัตร : ข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า, ธรรมเนียมที่ภิกษุผู้อยู่ป่าพึงถือปฏิบัติ ตามพุทธบัญญัติที่มาในวัตตขันธกะ จัดเป็นหัวข้อได้ดังนี้ ก) ๑) ภิกษุผู้อยู่ป่า พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เอาถุงบาตรสวมบาตรแล้วคล้องบ่าไว้ พาดจีวรบนไหล่ สวมรองเท้า เก็บงำเครื่องไม้เครื่องดิน ปิดประตูหน้าต่าง แล้วลงจากเสนาสนะ (ที่พักอาศัย) ไป ๒) ทราบว่า “บัดนี้จักเข้าหมู่บ้าน” พึงถอดรองเท้า เคาะต่ำๆ แล้วใส่ถุงคล้องบ่าไว้ นุ่งให้เป็นปริมณฑล คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิซ้อนเป็น ๒ ชั้น กลัดลูกดุม ชำระบาตรแล้วถือเข้าหมู่บ้านโดยเรียบร้อยไม่รีบร้อน ไปในละแวกบ้านพึงปกปิกกายด้วยดี สำรวมด้วยดี ไม่เดินกระโหย่ง เมื่อจะเจ้านิเวศน์ พึงกำหนดว่า เรากจักเข้าทางนี้ จักออกทางนี้ ไม่พึงรีบร้อนเข้าไป ไม่พึงรีบร้อนออกมา พึงยืนไม่ไกลเกิดไป ไม่ใกล้เกินไป ไม่นานเกินไป ไม่กลับออกเร็วเกินไป เมื่อยืนอยู่ พึงกำหนดว่า เขาประสงค์จะถวายภิกษาหรือไม่ ฯลฯ เมื่อเขาถวายภิกษา พึงแหวกสังฆาฏิด้วยมือซ้าย น้อมบาตรเข้าไปด้วยมือขวา ใช้มือทั้ง ๒ ประคองบาตรรับภิกษา ไม่พึงมองดูหน้าสตรีผู้ถวาย พึงกำหนดว่า เขาประสงค์จะถวายแกงหรือไม่ ฯลฯ เมื่อเขาถวายภิกษาแล้ว พึงคลุมบาตรด้วยสังฆาฏิแล้วกลับโดยเรียบร้อย ไม่รีบร้อน เดินไปในละแวกบ้าน พึงปกปิดกายด้วยดี สำรวมด้วยดี ไม่เดินกระโหย่ง ๓) ออกจากบ้านแล้ว (หลังจากฉันและล้างบาตรแล้ว) เอาบาตรใส่ถุง คล้องบ่า พับจีวร วางบนศีรษะ สวมรองเท้าเดินไป ข) ภิกษุผู้อยู่ป่า พึงจัดเตรียมน้ำดื่มไว้ พึงจัดเตรียมน้ำใช้ไว้ พึงติดไฟเตรียมไว้ พึงจัดเตรียมไม้สีไฟไว้ พึงจัดเตรียมไม้เท้าไว้ ค) พึงเรียนทางนักษัตรไว้ (ดูดาวเป็น) ทั้งหมดหรือบางส่วน พึงเป็นผู้ฉลาดในทิศ
อาหาเรปฏิกูลสัญญา : กำหนดหมายความเป็นปฏิกูลในอาหาร, ความสำคัญหมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล พิจารณาให้เห็นว่าเป็นของน่าเกลียด โดยอาการต่างๆ เช่น ปฏิกูล โดยบริโภค, โดยประเทศที่อยู่ของอาหาร, โดยสั่งสมอยู่นาน เป็นต้น (ข้อ ๓๕ ในกรรมฐาน ๔๐)
อุรุเวลา : ชื่อตำบลใหญ่แห่งหนึง ในแคว้นมคธ ตั้งอยู่ ณ ลุ่มแม่น้ำเนรัญชรา เป็นภูมิสถานที่สงบน่ารื่นรมย์ พระมหาบุรุษทรงเลือกเป็นที่บำเพ็ญเพียร ได้ประทับอยู่ ณ ที่นี้นานถึง ๖ ปี ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และเปลี่ยนมาทรงดำเนินในมัชฌิมาปฏิปทา จนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ภายใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลนี้