กรมพระสุรัสวดี : ชื่อกรมสมัยโบราณ มีหน้าที่เกี่ยวกับการรวบรวมบัญชีเลข หรือชายฉกรรจ์
นาลันทา : ชื่อเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ ๑ โยชน์ ณ เมืองนี้ มีสวนมะม่วง ชื่อ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง คัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตร อัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของพระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะหรือนาลันทคาม
สมันตปาสาทิกา : ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในพระวินัยปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์เรียบเรียงขึ้น เมื่อ พ.ศ.ใกล้จะถึง ๑๐๐๐ โดยปรึกษาอรรถกถาภาษาสิงหฬที่มีอยู่ก่อน ชื่อ มหาปัจจริย และกุรุนที
อังคุตตราปะ : ชื่อแคว้นหนึ่งในชมพูทวีป ครั้งพุทธกาล เมืองหลวงเป็นเพียงนิคม ชื่อ อาปณะ
บอกวัตร : บอกข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เมื่อทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว ภิกษุรูปเดียวเป็นผู้บอก อาจใช้วิธีหมุนเวียนกันไปทีละรูป ข้อความที่บอกว่าเป็นภาษาบาลี กล่าวถึงปฏิบัติบูชา คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ คุณานิสงส์แห่งขันติธรรม คำเตือนให้ใส่ใจในธรรมในเมื่อได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ความไม่ประมาท เร่งเพียรพยายามในทางธรรมเพื่อน้อมไปสู่พระนิพพาน และพ้นจากทุคติ แล้วกล่าวถึงพุทธกิจประจำวัน ๕ ประการ ลำดับกาลใจพระพุทธประวัติ สิ่งแทนพระองค์ภายหลังพุทธปรินิพพาน ชื่อ วัน เดือน ปี และดาวนักษัตร ๒๗ จบลงด้วยคำเชื้อเชิญให้ตั้งอยู่ในพระพุทธโอวาท บำเพ็ญปฏิบัติบูชา เพื่อบรรลุสมบัติทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ; ธรรมเนียมนี้ บัดนี้ เลือนลางไปแล้ว
อักโกสวัตถุ : เรื่องสำหรับด่า มี ๑๐ อย่าง คือ ๑) ชาติ ได้แก่ชั้นหรือกำเนิดของคน ๒) ชื่อ ๓) โคตร คือตระกูลหรือแซ่ ๔) การงาน ๕) ศิลปะ ๖) โรค ๗) รูปพรรณสัณฐาน ๘) กิเลส ๙) อาบัติ ๑๐) คำสบประมาทอย่างอื่นๆ
อิสิปตนมฤคทายวัน : ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ ชื่อ อิสิปตนะ อยู่ใกล้เมืองพาราณสี เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ บัดนี้เรียก สารนาถ
โอมสวาท : คำพูดเสียดแทงให้เจ็บใจหรือให้ได้ความอัปยศ ได้แก่ การพูดแดกหรือประชดก็ตาม ด่าก็ตาม กระทบถึงอักโกสวัตถุ ๑๐ ประการ มีชาติกำเนิด ชื่อ ตระกูล เป็นต้น ภิกษุกล่าวโอมสวาทแก่ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ แก่อนุปสัมบันต้องอาบัติทุกกฏตามสิกขาบทที่ ๒ แห่งมุสาวาทวรรคปาจิตติยกัณฑ์
กหาปณะ : ชื่อมาตราเงินในสมัยโบราณ ๑ กหาปณะ เท่ากับ ๒๐ มาสก หรือ ๔ บาท
กัณฐกะ : ชื่อม้าสีขาวที่พระมหาบุรุษทรงในวันออกผนวช
กัณฑกสามเณร : ชื่อสามเณรรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล ผู้กล่าวตู่พระธรรมเป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งสัปปาณกวรรคในปาจิตติยกัณฑ์ และทรงให้สงฆ์นาสนะเธอเสีย เขียนเป็น กัณฏกะ ก็มี
กัปปิละ : ชื่อพราหมณ์นายบ้านของหมู่บ้านพราหมณ์หมู่หนึ่ง ในแขวงกรุงราชคฤห์ เป็นบิดาของปิปผลิมาณพ
กัมปิละ : ชื่อนครหลวงแห่งแคว้นปัญจาละ
กัมมขันธกะ : ชื่อหมวดหนึ่งในคัมภีร์จุลลวรรค พระวินัยปิฎก ว่าด้วยนิคคหกรรม ๕ ประเภท
กัลลวาลมุตตคาม : ชื่อหมู่บ้าน อยู่ในแคว้นมคธ พระโมคคัลลานะอุปสมบทได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรจนอ่อนใจ นั่งโงกงวงอยู่ พระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาโปรด จนได้สำเร็จพระอรหัตที่หมู่บ้านนี้
กัสสปสังยุตต์ : ชื่อเรียกพระสูตรหมวดหนึ่ง ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย รวบรวมเรื่องเกี่ยวกับพระมหากัสสปไว้เป็นหมวดหมู่
กุฑวะ :
ชื่อมาตราตวงแปลว่า ฟายมือ คือ เต็มอุ้มมือหนึ่ง ดู มาตรา
กุมารีภูตวรรค : ชื่อหมวดในพระวินัยปิฎก หมายถึงตอนอันว่าด้วยกุมารีภูตา คือสามเณรีผู้เตรียมจะอุปสมบทเป็นภิกษุณี มีอยู่ในปาจิตติยกัณฑ์ ในภิกขุนีวิภังค์
กุสาวดี : ชื่อเก่าของเมืองกุสินารา นครหลวงของแคว้นมัลละ เมื่อครั้งเป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัศน์ จักรพรรดิครั้งโบราณ
โกฏิ : ชื่อมาตรานับ เท่ากับสิบล้าน
โกลิตะ : ชื่อเดิมของพระมหาโมคคัลลานะ เรียกตามชื่อหมู่บ้านที่เกิด (โกลิตคาม) เพราะเป็นบุตรของตระกูล หัวหน้าในหมู่บ้านนั้น สมัยเมื่อเข้าไปบวชเป็นปริพาชกในสำนักของสัญชัยก็ยังใช้ชื่อว่า โกลิตะ ต่อมาภายหลัง คือเมื่อบวชในพระพุทธศาสนา จึงเรียกกันว่า โมคคัลลานะหรือพระมหาโมคคัลลานะ
โกลิยวงศ์ : ชื่อวงศ์กษัตริย์ข้างฝ่ายพระพุทธมารดา ที่ครองกรุงเทวทหะ; พระสิริมหามายา พุทธมารดา และ พระนางพิมพา ชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นเจ้าหญิงฝ่ายโกลิยวงศ์
โกสัมพิกขันธกะ : ชื่อขันธกะที่ ๑๐ (สุดท้าย) แห่งคัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎกว่าด้วยเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะวิวาทกัน จนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาในป่ารักขิตวัน ตำบลปาริไลยกะ ในที่สุด พระภิกษุเหล่านั้น ถูกมหาชนบีบคั้นให้ต้องกลับปรองดองกัน บังเกิดสังฆสามัคคีอีกครั้งหนึ่ง
โกสัมพี : ชื่อนครหลวงของแคว้นวังสะ อยู่ตอนใต้ของแม่น้ำยมุนา บัดนี้เรียกว่า โกสัม (Kosam)
ขุชชโสภิตะ : ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒
คยาสีสะ : ชื่อตำบล ซึ่งเป็นเนินเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดคยา พระพุทธเจ้าเทศนาอาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุสงฆ์ปุราณชฎิลทั้งหมดให้สำเร็จพระอรหัตที่ตำบลนี้
ควัมปติ : ชื่อกุลบุตรผู้เป็นสหายของพระยสะ เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี ได้ทราบข่าวว่ายสกุลบุตรออกบวช จึงบวชตามพร้อมด้วยสหายอีก ๓ คน คือ วิมล สุพาหุ ปุณณชิ ต่อมาได้สำเร็จพระอรหัตทั้งหมด
คัคคภิกษุ : ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล เคยเป็นบ้า และได้ต้องอาบัติหลายอย่างในระหว่างเวลานั้น ภายหลังหายเป็นบ้าแล้ว ได้มีผู้โจทว่า เธอต้องอาบัตินั้นๆ ในคราวที่เป็นบ้าไม่รู้จบ พระพุทธองค์จึงได้ทรงมีพุทธานุญาตให้ระงับอธิกรณ์ด้วย อมูฬหวินัย เป็นครั้งแรก
คิชฌกูฏ : ชื่อภูเขาลูกหนึ่ง ในบรรดาภูเขา ๕ ลูกที่เรียกว่าเบญจคีรี ล้อมรอบพระนครราชคฤห์
คืบพระสุคต : ชื่อมาตราวัด ตามอรรถกถานัยว่า เท่ากับ ๓ คืบของคนปานกลาง คือ เท่ากับศอกคืบช่างไม้ แต่มตินี้ไม่สมจริง ปัจจุบันยุติกันว่าให้ถือตามไม้เมตร คือ เท่ากับ ๒๕ เซนติเมตร ประมาณกันกับคืบช่างไม้ ซึ่งเป็นการสะดวก และถ้าหากจะสั้นกว่าขนาดจริง ก็ไม่เสีย เพราะจะไม่เกินกำหนด ไม่เสียทางวินัย
โคดม : ชื่อตระกูลของพระพุทธเจ้า มหาชนเรียกพระพุทธเจ้าตามพระโคตรว่า พระโคดม พระโคตมะ หรือ พระสมณโคดม
โคตมกเจดีย์ : ชื่อเจดียสถานแห่งหนึ่ง อยู่ทางทิศใต้ของเมืองเวสาลี เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับหลายครั้ง และเคยทรงทำนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์
โคตมะ : ชื่อตระกูลของพระพุทธเจ้า มหาชนเรียกพระพุทธเจ้าตามพระโคตรว่า พระโคดม พระโคตมะ หรือ พระสมณโคดม
โคตมี : ชื่อเรียกสตรีแห่งโคตมโคตร เช่น พระนางมหาปชาบดี ผู้เป็นพระแม่น้าของพระสิทธัตถะ เป็นต้น
โคธาวรี : ชื่อแม่น้ำสายหนึ่ง ระหว่างเมืองอัสสกะ กับ เมืองอาฬกะ พราหมณ์พาวรี ตั้งอาศรมสอนไตรเพทอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสายนี้ (มักเพี้ยนเป็นโคธาวารี)
โฆสิตาราม : ชื่อวัดสำคัญในกรุงโกสัมพี ครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยประทับหลายครั้ง เช่น คราวที่ภิกษุชาวโกสัมพีแตกกัน เป็นต้น
จักกวัตติสูตร : ชื่อสูตรที่ ๓ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตน คือพึ่งธรรม ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินอยู่ในแดนของตนเองที่สืบมาแต่บิดา จะมีแต่ความดีงามเจริญขึ้นไม่เปิดช่องให้แก่มาร เช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงประพฤติตามหลักจักรวรรดิวัตร อันสืบกันมาแต่บรรพชนของพระองค์ ย่อมทำให้จักรรัตนะบังเกิดขึ้นมาเอง, จักรวรรดิวัตร นั้นมี ๔ ข้อใหญ่ ใจความว่า ๑.พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมาธิปไตย และจัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรม แก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธุ์ทั้งหลาย ๒.มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในแผ่นดิน ๓.ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์ ๔.ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อควรและไม่ควรประพฤติ กะสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ อยู่เสมอ; จักรวรรดิวัตร ๔ ข้อนี้ บางทีจัดเป็น ๕ โดยแยกข้อ ๑.เป็น ๒ ข้อ คือ เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง กับจัดการคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม อย่างหนึ่ง, นอกจากนั้น สมัยต่อมา อรรถกถาจัดแบ่งซอยออกไป และเพิ่มเข้ามาอีก รวมเป็น ๑๒ ข้อ เรียกว่า จักรวรรดิวัตร ๑๒ ; พระสูตรนี้ถือว่าเป็นคำสอนแสดงหลักวิวัฒนาการของสังคมตามแนวจริยธรรม กล่าวถึงหลักการปกครอง และหลักความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับจริยธรรม; เรื่องพระศรีอารยเมตไตรย ก็มีต้นเค้ามาจากพระสูตรนี้
จัมปา : ชื่อนครหลวงของแคว้นอังคะตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำจัมปา ไม่ห่างไกลมากนักจากที่บรรจบกับแม่น้ำคงคา
จัมเปยยขันธกะ : ชื่อขันธกะที่ ๙ แห่ง คัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยข้อควรทราบบางแง่เกี่ยวกับนิคคหกรรมต่างๆ
จัมมขันธกะ : ชื่อขันธกะที่ ๕ แห่งคัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยเครื่องหนังต่างๆ มีรองเท้าและเครื่องลาดเป็นต้น
จำปา : ชื่อเมืองในมัธยมประเทศ ที่ถูกเขียน จัมปา
จิตตคฤหบดี : ชื่ออุบาสกคนหนึ่ง มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกธรรมกถิก; ท่านผู้นี้เคยถูกภิกษุชื่อสุธรรมด่า เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติปฏิสาราณียกรรมคือการลงโทษภิกษุผู้ด่าว่าคฤหัสถ์ที่ไม่มีความผิด ด้วยการให้ไปขอขมาเขา
จีวรขันธกะ : ชื่อขันธกะที่ ๘ แห่งคัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องจีวร
จุลกาล : ชื่อน้องชายของพระมหากาล ที่บวชตามพี่ชาย แต่ไม่ได้บรรลุมรรค ผล สึกเสียในระหว่าง
จุลคัณฐี : ชื่อนิกายพระสงฆ์พม่านิกายหนึ่ง
จุลวรรค : ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดหนึ่งแห่งพระวินัยปิฎก ซึ่งมีทั้งหมด ๕ หมวด คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร ; คัมภีร์จุลวรรค มี ๑๒ ขันธกะ คือ ๑.กัมมขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคคหกรรม ๒.ปาริวาสิกขันธกะ ว่าด้วยวัตรของภิกษุผู้อยู่ปริวาส ผู้ประพฤติมานัต และผู้เตรียมจะอัพภาน ๓.สมุจจยขันธกะ ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในการประพฤติวุฏฐานวิธี ๔.สมถขันธกะ ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์ ๕.ขุททกวัตถุขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยจำนวนมาก เช่น การปลงผม ตัดเล็บ ไม้จิ้มฟัน ของใช้ต่างๆ เป็นต้น ๖.เสนาสนขันธกะ ว่าด้วยสังฆเภทและสังฆสามัคคี ๘.วัตตขันธกะ ว่าด้วยวัตรต่างๆ เช่น อาคันตุกวัตร เป็นตน ๙.ปาติโมกขัฏฐปนขันธกะ ว่าด้วยระเบียบในการงดสวดปาฏิโมกข์ในเมื่อภิกษุมีอาบัติติดตัวมาร่วมฟังอยู่ ๑๐.ภิกขุนีขันธกะ ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีเริ่มแต่ประวัติการอนุญาตให้มีการบวชครั้งแรก ๑๑.ปัญจสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ ๑๒.สัตตสติกขันธกะ ว่าด้วยสังคายนาครั้งที่ ๒ (พระไตรปิฎกเล่ม ๖-๗); ต่อจาก มหาวรรค
จูฬเวทัลลสูตร : ชื่อสูตรหนึ่งในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ แห่งพระสุตตันตปิฎก แสดงโดยพระธรรมทินนาเถรี เป็นคำตอบปัญหาที่วิสาขอุบาสกถาม
จูฬสังคาม : ชื่อตอนหนึ่งในคัมภีร์บริวารแห่งพระวินัยปิฎก
โจทนากัณฑ์ : ชื่อตอนหนึ่งในคัมภีร์บริวารแห่งพระวินัยปิฎก
ชมพูทวีป :
ชื่อประเทศอินเดียครั้งโบราณ ดู อินเดีย