บุพกรณ์ : ธุระอันจะพึงทำในเบื้องต้น, งานที่จะต้องกระทำทีแรก, เรื่องที่ควรตระเตรียมให้เสร็จก่อน เช่น บุพกรณ์ของการทำอุโบสถ ได้แก่ เมื่อถึงวันอุโบสถ พระเถระลงอุโบสถก่อน สั่งภิกษุให้ปัดกวาดโรงอุโบสถตามไฟ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ตั้งหรือปูลาดอาสนะไว้; บุพกรณ์แห่งการกรานกฐิน คือ ซักผ้า ๑ กะผ้า ๑ ตัดผ้า ๑ เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว ๑ เย็บเป็นจีวร ๑ ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว ๑ ทำกัปปะคือพินทุ ๑ ดังนี้เป็นต้น
บุรณมี : วันเพ็ญ, วันกลางเดือน, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ
คณปูรกะ : ภิกษุผู้เป็นที่ควรจำนวน ในคณะนั้นๆ เช่น สังฆกรรมที่ต้องมีภิกษุ ๔ รูป หรือยิ่งขึ้นไป เป็นผู้ทำยังขาดอยู่เพียงจำนวนใดจำนวนหนึ่ง มีภิกษุอื่นมาสมบท ทำให้ครบองค์สงฆ์ ในสังฆกรรมนั้นๆ ภิกษุที่มาสมทบนั้น เรียกว่า คณปูรกะ
มโนรถปูรณี : ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในอังคุตตรนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์เรียบเรียงจากอรรถกถาภาษาสิงหฬ เมื่อ พ.ศ.ใกล้จะถึง ๑๐๐๐
มหาบุรุษลักษณพยากรณศาสตร์ : วิชาว่าด้วยการทำนายลักษณะของมหาบุรุษ
ราศรี : 1.ชื่อมาตราวัดจักรราศีคือ ๓๐ องศาเป็น ๑ ราศรี และ ๑๒ ราศรีเป็น ๑ รอบจักรราศี (อาณาเขตโดยรอบดวงอาทิตย์ที่ดาวพระเคราะห์เดิน) ; ราศี ๑๒ นั้น คือ ราศีเมษ (แกะ), พฤษภ (วัว), เมถุน (คนคู่), กรกฏ (ปู), สิงห์ (ราชสีห์), กันย์ (หญิงสาว) ตุล (คันชั่ง), พฤศจิก (แมลงป่อง), ธนู (ธนู), มกร (มังกร), กุมภ์ (หม้อน้ำ), มีน (ปลา ๒ ตัว) 2.อาการที่รุ่งเรือง, ลักษณะที่ดีงาม 3.กอง เชน บุญราศี ว่ากองบุญ
กุฏกะ : เครื่องลาดที่ใหญ่ ชนิดที่มีนางฟ้อน ๑๖ คนยืนฟ้อนรำได้ (เช่นพรมปูห้อง)
ติตถกร : เจ้าลัทธิ หมายถึงคณาจารย์ ๖ คน คือ ๑.ปูรณกัสสป ๒.มักขลิโคสาล ๓.อชิตเกสกัมพล ๔.ปกุทธกัจจายนะ ๕.สัญชัยเวลัฏฐบุตร ๖.นิครนถนาฏบุตร มักเรียกว่า ครูทั้ง ๖
นิสีทนะ : ผ้าปูนั่งสำหรับภิกษุ
บริกรรม : 1.(ในคำว่า “ถ้าผ้ากฐินนั้นมีบริกรรมสำเร็จด้วยดี”) การตระเตรียม, การทำความเรียบร้อยเบื้องต้น เช่น ซัก ย้อม กะ ตัด เย็บ เสร็จแล้ว 2.สถานที่เขาลาดปูน ปูไม้ ขัดเงา หรือชักเงา โบกปูน ทาสี เขียนสี แต่งอย่างอื่น เรียกว่าที่ทำบริกรรม ห้ามภิกษุถ่มนำลาย หรือนั่งพิง 3.การนวดฟั้นประคบ หรือถูตัว 4.การกระทำขั้นต้นในการเจริญสมถกรรมฐาน คือ กำหนดใจโดยเพ่งวัตถุ หรือนึกถึงอารมณ์ที่กำหนดนั้น ว่าซ้ำๆ อยู่ในใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อทำใจให้สงบ 5.เลือนมาเป็นความหมายในภาษาไทย หมายถึงท่องบ่น, เสกเป่า
ปฐมกัตติกมาส : เดือน ๑๑; ปุพพกัตติกา หรือ บุพกัตติกา ก็เรียก
ปัจจัตถรณะ : ผ้าปูนอน, บรรจถรณ์ก็ใช้
ปายาส : ข้าวสุกที่หุงด้วยนมโค นางสุชาดาถวายแก่พระมหาบุรุษในเวลสเช้าของวันที่พระองค์จะได้ตรัสรู้
วิกาล : ผิดเวลา, ในวิกาลโภชนสิกขาบท (ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล) หมายถึง ตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงก่อนอรุณวันใหม่; ส่วนในอันธการวรรค สิกขาบทที่ ๗ ในภิกขุนีวิภังค์ (ห้ามภิกษุณีเข้าสู่ตระกูลในเวลาวิกาล เอาที่นอนปูลาดนั่งนอนทับโดยไม่บอกกล่าวขออนุญาตเจ้าบ้าน) หมายถึงตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงก่อนอรุณวันใหม่; ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สุตตันตปิฎก กล่าวถึงการเที่ยวซอกแซกในเวลาวิกาลว่าเป็นอบายมุขนั้น ก็หมายถึงเวลาค่ำ
เวหาสกุฎี : โครงที่ตั้งขึ้นในวิหาร ปักเสาตอม่อขึ้นแล้ววางรอดบนนั้น สูงพอศีรษะไม่กระทบพื้น ถ้าไม่ปูพื้นข้างบนก็เอาเตียงวางลงไป ให้พื้นเตียงคานรอดอยู่ ขอเตียงห้อยลงไป ใช้อยู่ได้ทั้งข้างบนข้างล่าง ข้างบนเรียกว่าเวหาสกุฎี เป็นของต้องห้ามตามสิกขาบทที่ ๘ แห่งภูตคามวรรค ปาจิตตีย์
ศาสดา : ผู้อบรมสั่งสอน, เป็นพระนามอย่างหนึ่งที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้า; ปัจจุบันใช้เรียกพระพุทธเจ้า; ปัจจุบันใช้เรียกผู้ตั้งศาสนาโดยทั่วไป, ในพุทธกาล ครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร ถ้าเรียกตามบาลีก็เป็นศาสดา ๖
สมสีสี : บุคคลผู้สิ้นอาสวะพร้อมกับสิ้นชีวิต คือ บรรลุอรหัตตผล ในขณะเดียวกับที่สิ้นชีวิต; นี้เป็นความหมายหลักตามพระบาลี แต่ในมโนรถปูรณี อรรถกถาแห่งอังคุตตรนิกาย ให้ความหมายสมสีสี ว่าเป็นการสิ้นอาสวะพร้อมกับสิ้นอย่างอื่นอันใดอันหนึ่งใน ๔ อย่าง และแสดงสมสีสีไว้ ๔ ประเภท คือ ผู้สิ้นอาสวะพร้อมกับหายโรค เรียกว่า โรคสมสีสี ผู้สิ้นอาสวะพร้อมกับที่เวทนา ซึ่งกำลังเสวยอยู่สงบระงับไปเรียกว่า เวทนาสมสีสี ผู้สิ้นอาสวะพร้อมกับการสิ้นสุดของอิริยาบถอันใดอันหนึ่ง เรียกว่า อิริยาบถสมสีสี ผู้สิ้นอาสวะพร้อมกับสิ้นชีวิต เรียกว่า ชีวิตสมสีสี สมสีสีในความหมายหลักข้างต้น ก็คือ ชีวิตสมสีสี; อย่างไรก็ดีในอรรถกถาแห่งปุคคลปัญญัติ เป็นต้น แสดงสมสีสีไว้ ๓ ประเภท และอธิบายต่างออกไปบ้าง ไม่ขอนำมาแสดงในที่นี้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ
อัสสยุชมาส : เดือน ๑๑; ปุพพกัตติกา หรือ บุพกัตติกา ก็เรียก