กตัญญูกตเวที : ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน แยกออกเป็น ๒ คือ กตัญญู รู้คุณท่าน กตเวที ตอบแทนหรือสนองคุณท่าน; ความกตัญญูกตเวทีว่าโดยขอบเขต แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มีคุณความดีหรืออุปการะต่อตนเป็นส่วนตัว อย่างหนึ่ง กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์หรือมีคุณความดีเกื้อกูลแก่ส่วนรวม เช่นที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้าโดยฐานที่ได้ทรงประกาศธรรมยังหมู่ชนให้ตั้งอยู่ในกุศลกัลยาณธรรม เป็นต้น อย่างหนึ่ง (ข้อ ๒ ในบุคคลหาได้ยาก ๒) - one who is thankful for benefits received and reciprocates them.
กรรมวาจา : คำประกาศกิจในท่ามกลางสงฆ์, การสวดประกาศ แบ่งเป็น ๒ คือ ญัตติ ๑ อนุสาวนา ๑ - the formal words of an act; text of a formal act, i.e. a motion (ญัตติ) together with one or three proclamations (อนุสาวนา) that may follow.
กรรมวาจาจารย์ : พระอาจารย์ผู้สวดกรรมวาจาประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ในการอุปสมบท - Act-Announcing Teacher; (First) Ordination-Teacher.
กรรมวาจาสมบัติ : ความสมบูรณ์แห่งกรรมวาจา, คำสวดประกาศถูกต้อง ใช้ได้
กัปปิยภูมิ : ที่สำหรับเก็บเสบียงอาหารของวัด, ครัววัด มี ๔ อย่าง คือ อุสสาวนันติกา กัปปิยภูมิที่ทำด้วยการประกาศให้รู้แต่แรกสร้างว่าจะทำเป็นกัปปิยภูมิ คือพอเริ่มยกเสาหรือตั้งฝาก็ประกาศให้ได้ยินว่า กปฺปิยภูมึ กโรม แปลว่า เราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี ๑ โคนิสาทิกา กัปปิยภูมิขนาดเล็ก เคลื่อนที่ได้ ดุจเป็นที่โคจ่อม ๑ คหปติกา เรือนของคฤหบดีเขาสร้างถวายเป็นกัปปิยภูมิ ๑ สัมมติกา กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ ได้แก่ กุฎีที่สงฆ์เลือกจะใช้เป็นกัปปิยกุฎี แล้วสวดประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม ๑
กัมมลักขณะ : การอันมีลักษณะเป็น (สังฆ) กรรมนั้นได้, กิจการที่มีลักษณะอันจัดเข้าเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง ในสังฆกรรมประเภทนั้นได้ แต่ท่านไม่ได้ออกชื่อไว้ และไม่อาจจัดเข้าในชื่ออื่นๆ แห่งสังฆกรรมประเภทเดียวกัน เช่น การอปโลกน์แจกอาหารในโรงฉัน เป็นกัมมลักขณะ ในอปโลกนกรรม การประกาศเริ่มต้นระงับอธิกรณ์ด้วยติณวัตถารกวินัย เป็นกัมมลักขณะในญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรมที่สวดในลำดับไปในการระงับอธิกรณ์ด้วยติณวัตถารกวินัย เป็นกัมมลักขณะในญัตติทุติยกรรม อุปสมบทและอัพภานเป็นกัมมลักขณะในญัตติจตุตถกรรม
กูฏทันตสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรค สุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่กูฏทันตพราหมณ์ ผู้กำลังเตรียมพิธีบูชายัญ ว่าด้วยวิธีบูชายัญตามความหมายในแบบของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ต้องมีการฆ่าฟันเบียดเบียนสัตว์ มีแต่การเสียสละทำทาน และการทำความดีอื่นๆ เริ่มด้วยการตระเตรียมพิธีโดยจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยก่อนตามธรรมวิธี มีการส่งเสริมกสิกรรม พาณิชยกรรม สัมมาชีพ และบำรุงส่งเสริมข้าราชการที่ดี ซึ่งจะทำให้ประชาชนขวนขวาย ขะมักเขม้นในหน้าที่การงานของตนๆ จนบ้านเมืองมีความเกษมปลอดภัย พลเมืองมีความสุข ราชทรัพย์บริบูรณ์ดีแล้ว จึงกระทำพิธีบูชายัญ ด้วยการบริจาคทรัพย์ทำทานเป็นต้น ผลของพระธรรมเทศนานี้ คือ กูฏทันตพราหมณ์ล้มเลิกพิธีบูชายัญของตน ปล่อยสัตว์ทั้งหลาย และประกาศตนเป็นอุบาสก
คณญัตติกรรม : การประกาศให้สงฆ์ทราบแทนคณะคือพวกฝ่ายตน ได้แก่ การที่ภิกษุรูปหนึ่งในนามแห่งภิกษุฝ่ายหนึ่ง สวดประกาศขออนุมัติเป็นผู้แสดงแทนซึ่งอาบัติของฝ่ายตนและของตนเองด้วยติณวัตถารกวิธี (อีกฝ่ายหนึ่งก็พึงทำเหมือนกันอย่างนั้น) ; เป็นขั้นตอนหนึ่งแห่งการระงับอธิกรณ์ ด้วยติณวัตถารกวินัย
คว่ำบาตร : การที่สงฆ์ลงโทษอุบาสก ผู้ปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัย โดยประกาศให้ภิกษุทั้งหลายไม่คบด้วยคือไม่รับบิณฑบาต ไม่รับนิมนต์ ไม่รับไทยธรรม คู่กับ หงายบาตร
ชนเมชยะ : พระเจ้าแผ่นดินในครั้งโบราณ เคยทำพิธีอัศวเมธ เพื่อประกาศความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ญัตติ : คำเผดียงสงฆ์, การประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจร่วมกัน, วาจานัด
ญัตติกรรม : กรรมอันกระทำด้วยตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา คือ ประกาศให้สงฆ์ทราบ เพื่อทำกิจร่วมกัน เรียกว่าเผดียงสงฆ์อย่างเดียว ไม่ต้องขอมติ เช่น อุโบสถ และปวารณา เป็นต้น
ญัตติจตุตถกรรม : กรรมมีญัตติเป็นที่ ๔ ได้แก่ สังฆกรรมที่สำคัญ มีการอุปสมบท เป็นต้น ซึ่งเมื่อตั้งญัตติแล้ว ต้องสวดอนุสาวนาคำประกาศขอมติถึง ๓ หน เพื่อสงฆ์คือที่ชุมนุมนั้นจะได้มีเวลาพิจารณาหลายเที่ยว ว่าจะอนุมัติหรือไม่
ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา : การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม ได้แก่วิธีอุปสมบทที่สงฆ์เป็นผู้กระทำอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยภิกษุประชุมครบองค์กำหนด ในเขตชุมนุมซึ่งเรียกว่าสีมา กล่าววาจาประกาศเรื่องความที่จะรับคนนั้นเข้าหมู่ และได้รับความยินยอมของภิกษุทั้งปวงผู้เข้าประชุม เป็นสงฆ์นั้น; พระราธะเป็นบุคคลแรกที่ได้รับอุปสมบทอย่างนี้
เตวาจิก : มีวาจาครบ ๓ หมายถึง ผู้กล่าวว่าจาถึงสรณะครบทั้ง ๓ อย่าง คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดาพระยสะเป็นคนแรก ที่ประกาศตน เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต (เทียบ เทฺววาจิก)
นบี : ศาสดาผู้ประกาศศาสนาอิสลาม ทำหน้าที่แทนพระผู้เป็นเจ้า, ผู้เทศนา, ผู้ประกาศข่าว ชาวมุสลิมถือว่าพระมะหะหมัดเป็นนาบีองค์สุดท้าย
นาบี : ศาสดาผู้ประกาศศาสนาอิสลาม ทำหน้าที่แทนพระผู้เป็นเจ้า, ผู้เทศนา, ผู้ประกาศข่าว ชาวมุสลิมถือว่าพระมะหะหมัดเป็นนาบีองค์สุดท้าย
นิสสารณา : การไล่ออก, การขับออกจากหมู่ เช่น นาสนะสามเณรผู้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าออกไปเสียจากหมู่ (อยู่ในอปโลกนกัมม์) ประกาศถอนธรรมกถึกผู้ไม่แตกฉานในธรรมในอรรถ คัดค้านคดีโดยหาหลักฐานมิได้ ออกเสียจากการระงับอธิกรณ์ (อยู่ในญัตติกัมม์) คู่กับ โอสารณา
บอกศักราช : เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณ มีการบอกกาลเวลา เรียกว่าบอกศักราช ตอนท้ายสวดมนต์ และก่อนจะแสดงพระธรรมเทศนา (หลังจากให้ศีลจบแล้ว) ว่าทั้งภาษาบาลีและคำแปลภาษาไทย การบอกอย่างเก่า บอกปี ฤดู เดือน วัน ทั้งที่เป็นปัจจุบัน อดีต และอนาคต คือบอกว่าล่วงไปแล้วเท่าใด และยังจะมีมาอีกเท่าใด จึงจะครบจำนวนอายุพระพุทธศาสนา๕พันปี แต่ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๔ ที่รัฐบาลประกาศใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้นมา ได้มีวิธีบอกศักราชอย่างใหม่ขึ้นใช้แทน บอกเฉพาะปี พ.ศ.เดือน วันที่ และวันในปัจจุบัน ทั้งบาลีและคำแปล บัดนี้ไม่นิยมกันแล้ว คงเป็นเพราะมีปฏิทินและเครื่องบอกเวลาอย่างอื่น ใช้กันดื่นทั่วไป
ปฐมสมโพธิกถา : ชื่อคัมภีร์แสดงเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต เทวดาอัญเชิญให้มาอุบัติในมนุษยโลก แล้วออกบวชตรัสรู้ประกาศพระศาสนา ปรินิพพาน จนถึงแจกพระธาตุ ต่อท้ายด้วยเรื่องพระเจ้าอโศกยกย่องพระศาสนา และการอันตรธานแห่งพระศาสนาในที่สุด
เผดียง :
บอกแจ้งให้รู้, บอกนิมนต์, บอกกล่าวหรือประกาศเชื้อเชิญเพื่อให้ร่วมทำกิจโดยพร้อมเพรียงกัน; ประเดียง ก็ว่า ดู ญัตติ
พุทธจาริก : การเสด็จจาริกคือเที่ยวไปประกาศพระศาสนาของพระพุทธเจ้า
พุทธมามกะ : “ผู้ถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา”, ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน, ผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา
ภควา : พระผู้มีพระภาค, พระนามพระพุทธเจ้า แปลว่า ทรงเป็นผู้มีโชค คือ หวังพระโพธิญาณก็ได้สมหวัง ประกาศพระศาสนาก็ชักจูงผู้คนให้ได้บรรลุธรรมสมปรารถนา มีผู้คิดร้ายก็ไม่อาจทำร้ายได้; อีกนัยหนึ่งว่าทรงเป็นผู้จำแนกแจกธรรม
มธุรสูตร : พระสูตรที่พระมหากัจจายนะแสดงแก่พระเจ้ามธุรราช อวันตีบุตร กล่าวถึงความไม่ต่างกันของวรรณะ ๔ เหล่า คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ใจความว่าวรรณะ ๔ นี้ แม้จะถือตัวอย่างไร เหยียดหยามกันอย่างไร แต่ถ้าทำดีก็ไปสู่ที่ดีเหมือนกันหมด ถ้าทำชั่วก็ต้องได้รับโทษ ไปอบายเหมือนกันหมด ทุกวรรณะ เสมอกันในพระธรรมวินัย ออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว ไม่เรียกว่า วรรณะไหน แต่เป็นสมณะเหมือนกันหมด เมื่อจบเทศนาพระเจ้ามธุรราชประกาศพระองค์เป็นอุบาสก (สูตรที่ ๓๔ ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก)
มหหมัด : ชื่อนบีคนสุดท้ายซึ่งเป็นผู้ประกาศศาสนาอิสลาม ปัจจุบันให้เขียน มะหะหมัด
มหากัจจายนะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในกัจจายนโคตรที่พระนครอุชเชนี เป็นบุตรปุโรหิตของพระราชาแห่งแคว้นอวันตี เรียนจบไตรเพทแล้ว ต่อมาได้เป็นปุโรหิตแทนบิดา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่งให้หาทางนำพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุชเชนี กัจจายนปุโรหิตจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุอรหัตตผล อุปสมบทแล้ว แสดงความประสงค์ที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าสู่แคว้นอวันตี พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ท่านเดินทางไปเอง ท่านเดินทางไปยังกรุงอุชเชนี ประกาศธรรม ยังพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองทั้งหมดให้เลื่อมใสในพระศาสนาแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่าท่านมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ บุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อโสเรยยะเห็นแล้วเกิดมีอกุศลจิตต่อท่านว่าให้ได้อย่างท่านเป็นภรรยาตนหรือให้ภรรยาตนมีผิวพรรณงามอย่างท่าน เพราะอกุศลจิตนั้น เพศของโสเรยยะกลายเป็นหญิงไป นางสาวโสเรยยะแต่งงานมีครอบครัว มีบุตรแล้ว ต่อมาได้พบและขอขมาต่อท่านเพศก็กลับเป็นชายตามเดิม โสเรยยะขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
มานัต : ชื่อวุฏฐานวิธี คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากครุกาบัติ แปลว่า นับหมายถึงการนับราตรี ๖ ราตรี คือ ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว เมื่อจะปลดเปลื้องตนจากอาบัติ ตามธรรมเนียมแห่งอาบัติสังฆาทิเสส จะต้องไปหาสงฆ์จตุรวรรค ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบภิกษุแก่กว่า นั่งกระหย่งประนมมือกล่าวคำขอมานัต ตามอาบัติที่ต้อง ภิกษุรูปหนึ่งสวดประกาศให้มานัตแล้ว ภิกษุรูปนั้นประพฤติมานัต ๖ ราตรี เป็นวุฏฐานวิธีเบื้องต้น แห่งการออกจากครุกาบัติ แล้วสงฆ์จึงสวดระงับอาบัตินั้น (แต่ถ้าปกปิดอาบัติไว้ ต้องอยู่ปริวาส ก่อนจึงประพฤติมานัตได้)
มุหัมมัด : ชื่อนบีคนสุดท้ายซึ่งเป็นผู้ประกาศศาสนาอิสลาม ปัจจุบันให้เขียน มะหะหมัด
โมหาโรปนกรรม : กิริยาที่สวดประกาศยกโทษภิกษุว่า แสร้งทำหลง คือรู้แล้วทำเป็นไม่รู้; เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้ว ยังแกล้งทำไม่รู้อีก ต้องปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๓ แห่งสหธรรมิกวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)
ยาวตติยกะ : แปลว่า “ต้องอาบัติเมื่อสวดสมนุภาสน์จบครั้งที่ ๓” หมายความว่า เมื่อภิกษุล่วงละเมิดสิกขาบทเข้าแล้ว ยังไม่ต้องอาบัติ ต่อเมื่อสงฆ์สวดประกาศสมนุภาสน์หนที่ ๓ จบแล้ว จึงจะต้องอาบัตินั้น ได้แก่ สังฆาทิเสสข้อที่ ๑๐-๑๑-๑๒-๑๓ และสิกขาบทที่ ๘ แห่งสัปปาณวรรคในปาจิตติยกัณฑ์
ลัฏฐิวัน : สวนตาลหนุ่ม (ลัฏฐิ แปลว่าไม้ตะพดก็ได้ บางท่านจึงแปลว่าป่าไม้รวก) อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่นั่น พระเจ้าพิมพิสารไปเฝ้าพร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมาก ทรงสดับพระธรรมเทศนา ได้ธรรมจักษุ ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกที่นั่น
โลกัตถจริยา :
พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่โลก, ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก คือ ทรงอาศัยพระมหากรุณา เสด็จไปประกาศพระศาสนาเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนในถิ่นฐานแว่นแคว้นต่างๆ เป็นอันมาก และประดิษฐานพระศาสนาไว้เพื่อประโยชน์สุขแก่ชุมชนภายหลังตลอดกาลนาน ดู พุทธจริยา
วิสุงคามสีมา : แดนแผนกหนึ่งจากแดนบ้าน คือ แยกต่างหากจากเขตบ้าน, ในที่นี้หมายถึง ที่ตั้งวัดที่พระเจ้าแผ่นดินประกาศพระราชทานให้แก่สงฆ์
วิเหสกกรรม : กรรมที่จะพึงกระทำแก่ภิกษุผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก คือ ภิกษุประพฤติอนาจาร สงฆ์เรียกตัวมาถาม นิ่งเฉยเสียไม่ตอบ เรียกว่าเป็นผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก, สงฆ์ยกวิเหสกกรรมขึ้น คือสวดประกาศการที่เธอทำตัวเช่นนั้น ด้วยญัตติทุติยกรรม เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้วเธอยังขืนทำอย่างนั้นอยู่อีก ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๒ ในภูตคามวรรคที่ ๒) คู่กับ อัญญวาทกกรรม
สติวินัย : ระเบียบยกเอาสติขึ้นเป็นหลักได้แก่กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่พระอรหันต์ ว่าเป็นผู้มีสติเต็มที่ เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ ที่มีผู้โจทท่านด้วยศีลวิบัติ หมายความว่าจำเลยเป็นพระอรหันต์ สงฆ์เห็นว่าไม่เป็นฐานะที่จำเลยจะทำการล่วงละเมิดดังโจทก์กล่าวหา จึงสวดกรรมวาจาประกาศความข้อนี้ไว้ เรียกว่าให้สติวินัย แล้วยกฟ้องของโจทก์เสียภายหลังจำเลยจะถูกผู้อื่นโจทด้วยอาบัติอย่างนั้นอีก ก็ไม่ต้องพิจารณา ให้อธิกรณ์ระงับด้วยสติวินัย
สมนุภาสนา : การสวดสมนุภาสน์, สวดประกาศห้ามไม่ให้ถือรั้นการอันมิชอบ
สมบัติ๒ : ความถึงพร้อม, ความสมบูรณ์, ความครบถ้วนของสังฆกรรม เช่น อุปสมบท เป็นต้น ที่จะทำให้สังฆกรรมนั้นถูกต้อง ใช้ได้ มีผลสมบูรณ์ มี ๔ คือ ๑.วัตถุสมบัติ วัตถุถึงพร้อม เช่น ผู้อุปสมบทเป็นชายอายุครบ ๒๐ ปี ๒.ปริสสมบัติ บริษัทคือที่ประชุมถึงพร้อม สงฆ์ครบองค์กำหนด ๓.สีมาสมบัติ เขตชุมนุมถึงพร้อม เช่น สีมามีนิมิตถูกต้องตามพระวินัย และประชุมทำในเขตสีมา ๔.กรรมวาจาสมบัติ กรรมวาจาถึงพร้อม สวดประกาศถูกต้องครบถ้วน (ข้อ ๔ อาจแยกเป็น ๒ ข้อ คือเป็น ๔ ญัตติสมบัติ ญัตติถึงพร้อม คือคำเผดียงสงฆ์ถูกต้อง ๕.อนุสาวนาสมบัติ อนุสาวนาถึงพร้อมคำหารือตกลงถูกต้อง รวมเป็นสมบัติ ๕); เทียบ วิบัติ
สรภังคะ : นามของศาสดาคนหนึ่งในอดีต เป็นพระโพธิสัตว์ มีคุณสมบัติ คือ เป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งหลาย ได้ประกาศคำสอน มีศิษย์จำนวนมากมาย
สัมมติกา :
กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ คือ กุฏีที่สงฆ์เลือกจะใช้เป็นกัปปิยกุฏีแล้วสวดประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม ดู กัปปิยภูมิ
สารีบุตร : พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ (บางแห่งเรียกนาลันทะ) ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ สารี จึงได้นามว่าสารีบุตร แต่เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ ซึ่งต่อมาคือ พระมหาโมคคัลลานะ มีน้องชาย ๓ คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ น้องหญิง ๓ คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่ออุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้ง ๒ คนไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปดูแล้วเกิดความสลดใจ คิดออกแสวงหาโมกขธรรม และต่อมาได้บวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชกแต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย จนวันหนึ่งอุปติสสปริพาชก พบพระอัสสชิเถระขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมใสติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอนได้ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะแล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชกที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง ๒๕๐ คน ได้รับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน เมื่อบวชแล้วได้ ๑๕ วัน พระสารีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็น เอตทัคคะ ในทางมีปัญญามาก และเป็น พระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็น พระธรรมเสนาบดี คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการสังคายนา เป็นต้น ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือนเมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาของท่านซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฐิให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ หลังจากปลงศพแล้วพระจุนทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี (อรรถกถาว่าท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จึงเท่ากับ ๖ เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน)
สุพาหุ : บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี เป็นสหายของยสกุลบุตร ได้ทราบข่าวยสกุลบุตรออกบวช จึงได้บวชตามพร้อมด้วยสหายอีก ๓ คน คือ วิมละ ปุณณชิ และควัมปติ ได้เป็นสาวกรุ่นแรกที่พระพุทธเจ้าส่งไปประกาศพระศาสนา
สุวรรณภูมิ : “แผ่นดินทอง”, “แหลมทอง”, ดินแดนที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระโสณะและพระอุตตระ หัวหน้าพระศาสนทูตสายที่ ๘ (ใน ๙ สาย) ไปประกาศพระศาสนา ปราชญ์หลายท่านสันนิษฐานว่าได้แก่ดินแดนบริเวณจังหวัดนครปฐม (พม่าว่าได้แก่เมืองสะเทิมในประเทศพม่า)
โสณกะ : พระเถระรูปหนึ่งในจำนวน ๒ รูป (อีกรูปหนึ่งคือ พระอุตตรเถระ) ที่พระโมคัลลีบุตรติสสเถระ ส่งเป็นพระศาสนทูตมาประกาศพระศาสนา ในดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อเสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งที่ ๓ (ประมาณ พ.ศ.๒๓๔) นับเป็นสายหนึ่งในพระศาสนทูต ๙ สาย
โสณะ : พระเถระรูปหนึ่งในจำนวน ๒ รูป (อีกรูปหนึ่งคือ พระอุตตรเถระ) ที่พระโมคัลลีบุตรติสสเถระ ส่งเป็นพระศาสนทูตมาประกาศพระศาสนา ในดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อเสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งที่ ๓ (ประมาณ พ.ศ.๒๓๔) นับเป็นสายหนึ่งในพระศาสนทูต ๙ สาย
หงายบาตร : การระงับโทษอุบาสกซึ่งเคยปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัย สงฆ์ประกาศ คว่ำบาตร ไว้มิให้ภิกษุทั้งหลายคบหาด้วย ต่อมาอุบาสกนั้นรู้สึกโทษตน กลับประพฤติดี สงฆ์จึงประกาศระงับโทษนั้น ให้ภิกษุทั้งหลายคบกับเขาได้อีก เช่น รับบิณฑบาต รับนิมนต์ รับไทยธรรม ของเขาได้ เป็นต้น การที่สงฆ์ประกาศระงับการลงโทษนั้น เรียกว่า หงายบาตร
อนุสาวนา : คำสวดประกาศ, คำประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์, คำขอมติ
อปโลกนกรรม : กรรมคือการบอกเล่า, กรรมอันทำด้วยการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้ง ญัตติ คือคำเผดียงไม่ต้องสวด อนุสาวนา คือประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์ เช่น ประกาศลงพรหมทัณฑ์ นาสนะสามเณรผู้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า อปโลกน์ แจกอาหารในโรงฉัน เป็นต้น
อมูฬหวินัย : ระเบียบที่ให้แก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว, วิธีระงับอธิกรณ์สำหรับภิกษุผู้หายจากเป็นบ้า ได้แก่ กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ อธิบายว่า จำเลยเป็นบ้าทำการล่วงละเมิดอาบัติ แม้จะเป็นจริงก็เป็นอนาบัติ เมื่อเธอหายบ้าแล้วมีผู้โจทด้วยอาบัติระหว่างเป้นบ้านั้นไม่รู้จบ ท่านให้สงฆ์สวดกรรมวาจาประกาศความข้อนี้ไว้ เรียกว่า อมูฬหวินัย ยกฟ้องของโจทเสีย ภายหลังมีผู้โจทด้วยอาบัตินั้น หรืออาบัติเช่นนั้น ในความที่เป็นบ้า ก็ให้อธิกรณ์เป็นอันระงับด้วยอมูฬหวินัย (ข้อ ๓ ในอธิกรณสมถะ ๗)
อัญญาวาทกรรม : กรรมที่จะพึงกระทำแก่ภิกษุผู้กล่าวคำอื่น คือภิกษุประพฤติอนาจาร สงฆ์เรียกตัวมาถาม แกล้งยกเรื่องอื่นๆ มาพูดกลบเกลื่อนเสีย ไม่ให้การตามตรง, สงฆ์สวดประกาศความนั้นด้วยญัตติทุติยกรรม เรียกว่า ยกอัญญวาทกรรมขึ้น, เมื่อสงฆ์ประกาศเช่นนี้แล้ว ภิกษุนั้นยังขืนทำอย่างเดิมอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๒ แห่งภูตคามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์), คู่กับ วิเหสกกรรม