Dictionary : English, Thai, Pali. Link : Lexitron, RoyDict, BudDict, ETipitaka, PpmDict, Longdo.
Search: พระบรม .

Budhism Thai-Thai Dict : พระบรม, 25 found, display 1-25
  1. พระบรมศาสดา : พระผู้เป็นครูยิ่งใหญ่, พระผู้เป็นครูสูงสุด หมายถึงพระพุทธเจ้า
  2. กุมารกัสสปะ : พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรธิดาเศรษฐีในพระนครราชคฤห์ คลอดเมื่อมารดาบวชเป็นภิกษุณีแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ทารกนั้นได้นามว่า กัสสปะ ภายหลังเรียกกันว่า กุมารกัสสปะ เพราะท่านเป็นเด็กสามัญ แต่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างราชกุมาร ท่านอุปสมบทในสำนักของพระศาสดา ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในทางแสดงธรรมวิจิตร
  3. จักรวรรดิวัตร ๑๒ : ๑.อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ คุ้มครองสงเคราะห์แก่ชนในพระราชฐานและพยุหเสนา ๒.ขตฺติเยสุ แก่กษัตริย์เมืองขึ้นหรือผู้ครองนครภายใต้พระบรมเดชานุภาพ ๓.อนุยนฺเตสุ แก่กษัตริย์ที่ตามเสด็จคือ เหล่าเชื้อพระวงศ์ผู้เป็นราชบริพาร ๔.พฺราหฺมณคหปติเกสุ แก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ๕.เนคมชานปเทสุ แก่ชาวนิคมและชาวชนบทคือ ราษฎรพื้นเมืองทั้งเหล่าย ๖.สมณพฺราหฺมเณสุ แก่เหล่าสมณพราหมณ์ ๗.มิคปกฺขีสุ แก่เหล่าเนื้อนกอันพึงบำรุงไว้ให้มีสืบพันธุ์ ๘.อธมฺมการปฏิกฺเขโป ห้ามปรามมิให้มีความประพฤติการอันไม่เป็นธรรม ๙.อธนานํ ธนานุปฺปทานํ เจือจานทรัพย์ทำนุบำรุงแก่ผู้ขัดสนไร้ทรัพย์ ๑๐.สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ ไปสู่หาพราหมณ์ไต่ถามอรรถปฤษณา ๑๑.อธมฺมราคสฺส ปหานํ เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม ๑๒.วิสมโลภสฺส ปหานํ เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร
  4. จุฬามณีเจดีย์ : พระเจดีย์ที่บรรจุพระจุฬาโมลี (มวยผม) ของพระพุทธเจ้าในดาวดึงสเทวโลก อรรถกถาเล่าว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกบรรพชาเสด็จข้ามแม่น้ำอโนมาแล้วจะอธิษฐานเพศบรรพชิต ทรงตัดมวยพระเกศาขว้างไปในอากาศ พระอินทร์นำผอบแก้วมารองรับเอาไปประดิษฐานในพระเจดีย์จุฬามณี ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ในขณะแจกพระบรมสารีริกธาตุ พระอินทร์ได้มานำเอาพระทาฐธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ข้างขวาที่โทณพราหมณ์ซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะ ใส่ผอบทอง นำไปบรรจุในจุฬามณีเจดีย์ด้วย
  5. เจดีย์ : ที่เคารพนับถือ บุคคล สถานที่ หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา, เจดีย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามี ๔ อย่างคือ ๑.ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๒.บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย ๓.ธรรมเจดีย์ บรรลุพระธรรม คือ พุทธพจน์ ๔.อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป; ในทางศิลปกรรมไทยหมายถึงสิ่งที่เคารพนับถือเช่นพระธาตุและอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้น
  6. ตุมพสตูป : พระสถูปบรรจุทะนานทองที่ใช้ตวงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ โทณพราหมณ์เป็นผู้สร้าง
  7. โทณพราหมณ์ : พราหมณ์ผู้ใหญ่ซึ่งมีฐานะเป็นครูอาจารย์ เป็นที่เคารพนับถือของคนจำนวนมากในชมพูทวีป เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้สำเร็จได้โดยสันติวิธี เป็นผู้สร้างตุมพสตูป บรรจุทะนานทองที่ใช้ตวงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
  8. ธาตุเจดีย์ : เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (ข้อ ๑ ในเจดีย์ ๔)
  9. นวกัมมาธิฏฐายี : ผู้อำนวยการก่อสร้าง เช่น ที่พระโมคคัลลานะได้รับมอบหมายจากพระบรมศาสดาให้เป็นผู้อำนวยการสร้างบุพพารามที่นางวิสาขาบริจาคทุนสร้างที่กรุงสาวัตถี
  10. บรมศาสดา : ศาสดาที่ยอดเยี่ยม, พระผู้เป็นครูที่สูงสุด, พระบรมครู หมายถึง พระพุทธเจ้า
  11. มหากัจจายนะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในกัจจายนโคตรที่พระนครอุชเชนี เป็นบุตรปุโรหิตของพระราชาแห่งแคว้นอวันตี เรียนจบไตรเพทแล้ว ต่อมาได้เป็นปุโรหิตแทนบิดา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่งให้หาทางนำพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุชเชนี กัจจายนปุโรหิตจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุอรหัตตผล อุปสมบทแล้ว แสดงความประสงค์ที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าสู่แคว้นอวันตี พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ท่านเดินทางไปเอง ท่านเดินทางไปยังกรุงอุชเชนี ประกาศธรรม ยังพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองทั้งหมดให้เลื่อมใสในพระศาสนาแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่าท่านมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ บุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อโสเรยยะเห็นแล้วเกิดมีอกุศลจิตต่อท่านว่าให้ได้อย่างท่านเป็นภรรยาตนหรือให้ภรรยาตนมีผิวพรรณงามอย่างท่าน เพราะอกุศลจิตนั้น เพศของโสเรยยะกลายเป็นหญิงไป นางสาวโสเรยยะแต่งงานมีครอบครัว มีบุตรแล้ว ต่อมาได้พบและขอขมาต่อท่านเพศก็กลับเป็นชายตามเดิม โสเรยยะขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
  12. มหากัปปินะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติในนครกุกกุฏวดีในปัจจันตประเทศ ได้ทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจาแล้ว บังเกิดปีติศรัทธา สละราชสมบัติทรงม้าเดินทางไกลถึง ๓๐๐ โยชน์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า สดับธรรมกถา บรรลุพระอรหัตแล้วได้รับอุปสมบท ส่วนพระอัครมเหสีชื่ออโนชา เมื่อทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าก็เกิดปีติและศรัทธาเช่นเดียวกัน พระนาง ทรงรถเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว รับบรรพชาจากพระอุบลวรรณาเถรีไปอยู่ในสำนักภิกษุณี ฝ่ายมหากัปปินเถระชอบอยู่สงบสงัดและมักอุทานว่า สุขจริงหนอ ท่านสามารถแสดงธรรมให้ศิษย์บรรลุอรหัตตผลได้พร้อมคราวเดียวถึง ๑,๐๐๐ องค์ พระบรมศาสดายกย่องท่านว่าท่านเป็นเอตทัคคะในทางให้โอวาทแก่ภิกษุ
  13. มหาปรินิพพานสูตร : สูตรที่ ๓ ในคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยเหตุการณ์ใกล้พุทธปรินิพพาน จนถึงโทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุเสร็จ
  14. โมคคัลลีบุตรติสสเถระ : พระเถระผู้ใหญ่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านได้อาศัยพระบรมราชูปถัมภ์กำจัดพวกเดียรถีย์ที่เข้ามาปลอมบวชในสังฆมณฑล และเป็นประธานในการสังคายนาครั้งที่ ๓
  15. โมริยกษัตริย์ : กษัตริย์ผู้ครองเมืองปิปผลิวัน ส่งทูตมาไม่ทันเวลาแจกพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้แต่พระอังคารไปสร้างอังคารสตูป ที่เมืองของตน
  16. รากขวัญ : ส่วนของร่างกายที่เรียกว่าไหปลาร้า; ตำนานกล่าวว่า ในบรรดาพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายนั้น พระรากขวัญเบื้องขวาขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในจุฬามณีเจดีย์ ณ ดาวดึงสเทวโลก พระรากขวัญเบื้องซ้าย ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ (เจดีย์ที่ฆฏิการพรหมสร้างขึ้นไว้ก่อนแล้ว ให้เป็นที่บรรจุพระภูษาเครื่องทรงในฆราวาสที่พระโพธิสัตว์สละในคราวเสด็จออกบรรพชา) ณ พรหมโลก
  17. รามคาม : นครหลวงของแคว้นโกลิยะ บัดนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล เป็นที่ประดิษฐานสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งหนึ่ง
  18. ศักดินา : อำนาจปกครองที่นา หมายความว่า พระมหากษัตริย์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย และขุนนางเป็นต้น ถือนาได้มีกำหนดจำนวนไร่ เป็นเรือนหมื่นเรือนพันตามฐานานุรูป การพระราชทานให้ถือศักดินานั้น เป็นเครื่องเทียบยศและเป็นเครื่องปรับผู้ก้ำเกิน หรือเป็นเครื่องปรับผู้ถือศักดินานั่นเอง เมื่อทำผิด
  19. สถูป : สิ่งก่อสร้างซึ่งก่อไว้สำหรับบรรจุของควรบูชา เป็นอนุสรณ์ที่เตือนใจให้เกิดปสาทะและกุศลธรรมอื่น ๆ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ อัฐิแห่งพระสาวกหรือกระดูกแห่งบุคคลที่นับถือ (บาลี : ถูป, สันสกฤต : สตูป) ดู ถูปารหบุคคล
  20. สวรรคต : ไปสู่สวรรค์ คือ ตาย (ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและพระบรมราชวงศ์ที่ทรงได้รับพระราชทานฉัตร ๗ ชั้น)
  21. สาเกต : ชื่อมหานครแห่งหนึ่ง อยู่ในแคว้นโกศล ห่างจากเมืองสาวัตถี ๗ โยชน์ ธนัญชัยเศรษฐี บิดาของนางวิสาขาได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้เข้าตั้งถิ่นฐานและสร้างขึ้น เมื่อคราวที่ท่านเศรษฐีอพยพจากเมืองราชคฤห์มาอยู่ในแคว้นโกศลตามคำเชิญชวนของพระองค์
  22. สารีบุตร : พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ (บางแห่งเรียกนาลันทะ) ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ สารี จึงได้นามว่าสารีบุตร แต่เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ ซึ่งต่อมาคือ พระมหาโมคคัลลานะ มีน้องชาย ๓ คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ น้องหญิง ๓ คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่ออุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้ง ๒ คนไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปดูแล้วเกิดความสลดใจ คิดออกแสวงหาโมกขธรรม และต่อมาได้บวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชกแต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย จนวันหนึ่งอุปติสสปริพาชก พบพระอัสสชิเถระขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมใสติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอนได้ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะแล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชกที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง ๒๕๐ คน ได้รับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน เมื่อบวชแล้วได้ ๑๕ วัน พระสารีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็น เอตทัคคะ ในทางมีปัญญามาก และเป็น พระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็น พระธรรมเสนาบดี คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการสังคายนา เป็นต้น ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือนเมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาของท่านซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฐิให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ หลังจากปลงศพแล้วพระจุนทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี (อรรถกถาว่าท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จึงเท่ากับ ๖ เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน)
  23. สุภัททะ : ปัจฉิมสิกขิสาวก (สาวกผู้ทันเห็นองค์สุดท้าย) ของพระพุทธเจ้า เรียกสั้นๆ ว่า ปัจฉิมสาวก เดิมเป็นพราหมณ์ตระกูลใหญ่ ต่อมาออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในเมืองกุสินารา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททปริพาชกได้ยินข่าวแล้วคิดว่าตนมีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง อยากจะขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อแก้ข้อสงสัยนั้นเสียก่อนที่จะปรินิพพาน จึงเดินทางไปยังสาลวัน ตรงไปหาพระอานนท์ แจ้งความประสงค์ขอเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระอานนท์ได้ห้ามไว้ เพราะเกรงว่าพระองค์เหน็ดเหนื่อยอยู่แล้ว จะเป็นการรบกวนให้ทรงลำบาก สุภัททปริพาชกก็คะยั้นคะยอจะขอเข้าเฝ้าให้ได้ พระอานนท์ก็ยืนกรานห้ามอยู่ถึง ๓ วาระ จนพระผู้มีพระภาคทรงได้ยินเสียงโต้ตอบกันนั้น จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่าสุภัททะมุ่งหาความรู้ มิใช่ประสงค์จะเบียดเบียนพระองค์ ขอให้ปล่อยให้เขาเข้าเฝ้าเถิด สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าแล้ว ทูลถามว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย คือ เหล่าครูทั้ง ๖ นั้น ล้วนได้ตรัสรู้จริงทั้งหมดตามที่ตนปฏิญญา หรือได้ตรัสรู้เพียงบางท่านหรือไม่มีใครตรัสรู้จริงเลย พระพุทธเจ้าทรงห้ามเสียและตรัสว่าจะทรงแสดงธรรม คือ หลักการหรือหลักความจริงให้ฟัง แล้วตรัสว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใด สมณะ (คืออริยบุคคลทั้ง ๔) ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด สมณะก็หาได้ในธรรมวินัยนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะทั้ง ๔ จึงมีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะ และตรัสสรุปว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททปริพาชกเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์ให้บวชสุภัททะในสำนักของพระองค์ โดยประทานพุทธานุญาตพิเศษให้ยกเว้นไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ท่านสุภัททะบวชแล้วไม่นาน (อรรถกถาว่าในวันนั้นเอง) ก็ได้บรรลุอรหัตตผล นับเป็นพุทธปัจฉิมสักขิสาวก
  24. อดิเรก : 1) เกินกำหนด, ยิ่งกว่าปกติ, ส่วนเกิน, เหลือเฟือ, ส่วนเพิ่มเติม, ส่วนเพิ่มพิเศษ 2) ถวายอติเรก หรือ ถวายอดิเรก คือพระสงฆ์ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหรือสมเด็จพระบรมราชินี ท้ายพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ในระหว่างอนุโมทนา ถ้ากล่าวในพระราชฐานต้องต่อท้ายด้วยถวายพระพรลา, เรียกอย่างนี้เพราะขึ้นต้นว่า อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ ฯ
  25. อปรกาล : เวลาช่วงหลัง, ระยะเวลาของเรื่องที่มีขึ้นในภายหลัง คือ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้แก่ เรื่องถวายพระเพลิง และแจกพระบรมสารีริกธาตุ
  26. [1-25]

(0.0142 sec)