พากุละ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรเศรษฐีเมืองโกสัมพี มีเรื่องเล่าว่า เมื่อยังเป็นทารก ขณะที่พี่เลี้ยงนำไปอาบ***เล่นที่แม่*** ท่านถูกปลาใหญ่กลืนลงไปอยู่ในท้อง ต่อมาปลานั้นถูกจับได้ที่เมืองพาราณสี และถูกขายให้แก่ภรรยาเศรษฐีเมืองพาราณสี ภรรยาเศรษฐีผ่าท้องปลาพบเด็กแล้วเลี้ยงไว้เป็นบุตร ฝ่ายมารดาเดิมทราบข่าว จึงขอบุตรคืน ตกลงกันไม่ได้ จนพระราชาทรงตัดสินให้เด็กเป็นทายาทของทั้ง ๒ ตระกูล ท่านจึงได้ชื่อว่า "พากุละ" แปลว่า คน ๒ ตระกูล หรือผู้ที่ ๒ ตระกูลเลี้ยง ท่านอยู่ครองเรือนมาจนอายุ ๘๐ ปี จึงได้ฟังพระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา มีความเลื่อมใสขอบวชแล้วบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้มีอาพาธน้อย คือสุขภาพดี; พักกุละ ก็เรียก
มหากัสสปะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดที่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อมหาติตถะในแคว้นมคธ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์ มีชื่อเดิมว่าปิปผลิมาณพ เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้สมรสกับนางภัททกาปิลานี ตามความประสงค์ของมารดาบิดาแต่ไม่มีความยินดีในชีวิตครองเรือน ต่อมาทั้งสามีภรรยาได้สละเรือน นุ่งห่มผ้ากาสาวะออกบวชกันเอง เดินทางออกจากบ้านแล้วแยกกันที่ทาง ๒ แพร่ง ปิปผลิมาณพได้พบพระพุทธเจ้าที่พหุปุตตกนิโครธระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ได้อุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ข้อ และได้ถวายผ้าสังฆาฏิของตนแลกกับจีวรเก่าของพระพุทธเจ้า แล้วสมาทานธุดงค์ ครั้นบวชล่วงไปแล้ว ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นผู้มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในทางถือธุดงค์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานในปฐมสังคายนา ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนอายุ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพาน
อาศรม : ที่อยู่ของนักพรต; ตามลัทธิของพราหมณ์ ในยุคที่กลายเป็นฮินดูแล้วได้วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวฮินดูวรรณะสูง โดยเฉพาะวรรณะพราหมณ์ โดยแบ่งเป็ขั้นหรือช่วงระยะ ๔ ขั้น หรือ ๔ ช่วง เรียกว่า อาศรม ๔ กำหนดว่าชาวฮินดูวรรณะพราหมณ์ทุกคนจะต้องครองชีวิตให้ครบทั้ง ๔ อาศรมตามลำดับ (แต่ในทางปฏิบัติน้อยคนนักได้ปฏิบัติเช่นนั้น โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้ถือกันแล้ว) คือ ๑) พรหมจารี เป็นนักเรียนศึกษาพระเวท ถือพรหมจรรย์ ๒) คฤหัสถ์ เป็นผู้ครองเรือน มีภรรยาและมีบุตร ๓) วานปรัสถ์ ออกอยู่ป่าเมื่อเห็นบุตรของบุตร ๔) สันยาสี (เขียนเต็มเป็นสันนยาสี) เป็นผู้สละโลก มีผ้านุ่นผืนเดียว ถือภาชนะขออาหารและหม้อน้ำเป็นสมบัติ จาริกภิกขาจารเรื่อยไปไม่ยุ่งเกี่ยวกับชาวโลก (ปราชญ์บางท่านว่าพราหมณ์ได้ความคิดจากพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงจัดวางระบบของตนขึ้น เช่น สันยาสี ตรงกับ ภิกษุ แต่หาเหมือนกันจริงไม่)
มักน้อย : พอใจด้วยของเพียงน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น (อัปปิจฉะ)
ปัจฉิมทิส : ทิศเบื้องหลัง หมายถึง บุตร ภรรยา ดู ทิศหก
โภคอาทิยะ : ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์มี ๕ คือ ๑.เลี้ยงตัว มารดาบิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข ๒.เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข ๓.บำบัดป้องกันภยันตราย ๔.ทำ พลี ๕ อย่าง ๕.ทำทานในสมณพราหมณ์
กฐิน : ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร; ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้ และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ) ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔); ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ); สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป; ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
กถาวัตถุ : ถ้อยคำที่ควรพูด, เรื่องที่ควรนำมาสนทนากันในหมู่ภิกษุ มี ๑๐ อย่างคือ ๑.อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย ๒.สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ ๓.ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสงัดกายสงัดใจ ๔.อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ๕.วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร ๖.สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล ๗.สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำจิตมั่น ๘.ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา ๙.วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์ ๑๐.วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ - 1. "Points of controversy"; name of the fifth book of the Abidhamma Pitaka. 2.a subject of discussion.
ขุททกาปีติ : ปีติเล็กน้อย, ความอิ่มใจอย่างน้อย เมื่อเกิดขึ้นทำให้ขนชัน น้ำตาไหล (ข้อ ๑ ในปีติ ๕)
จุณณิยบท : คำร้อยแก้ว, บางแห่งว่าบทบาลีเล็กน้อย ที่ยกขึ้นแสดงก่อนเนื้อความ (พจนานุกรมเขียน จุณณิยบท)
จุลศักราช : ศักราชน้อย ตั้งขึ้นโดยกษัตริย์พม่าองค์หนึ่งใน พ.ศ.๑๑๘๒ ภายหลังมหาศักราช, เป็นศักราชที่เราใช้กันมาก่อนใช้รัตนโกสินทรศก, นับรอบปีตั้งแต่ ๑๖ เมษายน ถึง ๑๕ เมษายน เขียนย่อว่า จ.ศ.(พ.ศ.๒๕๒๒ ตรงกับ จ.ศ.๑๓๔๐-๑๓๔๑)
เจ้าอธิการแห่งคลัง : ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับคลังเก็บพัสดุของสงฆ์ มี ๒ อย่างคือ ผู้รักษาคลังที่เก็บพัสดุของสงฆ์ (ภัณฑาคาริก) และผู้จ่ายของเล็กน้อยให้แก่ภิกษุทั้งหลาย (อัปปมัตตวิสัชชกะ)
ชาตปฐพี : ดินเกิดเอง, ปฐพีแท้ คือมีดินร่วนล้วน มีดินเหนียวล้วน หรือมีของอื่น เช่นหินกรวด กระเบื้อง แร่ และทรายน้อย มีดินร่วน ดินเหนียวมากดินนี้ประสงค์เอาที่ยังไม่ได้เผาไฟกองดินร่วนก็ดี กองดินเหนียวก็ดี มีฝนตกรดเกิน ๔ เดือนมาแล้วนับเข้าในปฐพีแท้
ฐานานุกรม : ลำดับตำแหน่งยศที่พระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์แล้ว มีอำนาจตั้งให้แก่พระภิกษุชั้นผู้น้อยตามทำเนียบ เช่น พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกา เป็นต้น
ต่อหนังสือค่ำ : วิธีที่ใช้สอนให้จำ ในยุคที่ยังไม่ได้ใช้หนังสือ โดยอาจารย์สอนให้ว่าทีละคำหรือทีละวรรค ศิษย์ก็ว่าตามว่าซ้ำหลายๆ ครั้งเพื่อให้จำได้ เมื่อศิษย์จำได้แล้ว อาจารย์ก็สอนต่อไปทุกๆ วัน วันละมากหรือน้อยแล้วแต่ความสามารถของศิษย์ นี่เรียกว่า ต่อหนังสือ และมักต่อในเวลาค่ำ จึงเรียกว่าต่อหนังสือค่ำ
เถรานุเถระ : เถระและอนุเถระ”, พระเถระผู้ใหญ่ผู้น้อย
ทวัตติงสาการ : อาการ ๓๒, ส่วนประกอบที่มีลักษณะต่างๆ กัน ๓๒ อย่าง ในร่างกาย คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า (อุจจาระ) มันสมอง ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร (ปัสสาวะ); ในขุททกปาฐะ (ฉบับสยามรัฐ) เรียงลำดับมันสมองไว้เป็นข้อสุดท้าย; ทวัตดึงสาการ หรือ ทวดึงสาการ ก็เขียน
ทศวรรค : สงฆ์มีพวก ๑๐ คือ สงฆ์พวกที่กำหนดจำนวน ๑๐ รูปเป็นอย่างน้อย จึงจะครบองค์ ทำสังฆกรรมประเภทนั้นๆ ได้ เช่น การอุปสมบทในมัธยมประเทศ ต้องใช้สงฆ์ทศวรรค
ท่านผู้มีอายุ : เป็นคำสำหรับพระผู้ใหญ่ ใช้เรียกพระผู้น้อย คือ พระที่มีพรรษาอ่อนกว่า (บาลีว่า อาวุโส)
ทิฏฐานุคติ : การดำเนินตามสิ่งที่ได้เห็น, แบบอย่าง, ตัวอย่าง, การทำตามอย่าง, ทางดำเนินตามที่ได้มองเห็น, เช่นพระผู้ใหญ่ปฏิบัติตนชอบ ก็เป็นทิฏฐานุคติของพระผู้น้อย
ทิศานุทิศ : ทิศน้อยทิศใหญ่, ทิศทั่วๆ ไป
ทูตานุทูต : ทูตน้อยใหญ่, พวกทูต
ธัมมทินนา : พระเถรีมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นกุลธิดาชาวพระนครราชคฤห์ เป็นภรรยาของวิสาขเศรษฐี มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบวชในสำนักนางภิกษุณี บำเพ็ญเพียรไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในทางเป็นธรรมกถึก (เขียน ธรรมทินนา ก็มี)
ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ชื่อข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษเป็นต้น มี ๑๓ ข้อคือ หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุต-เกี่ยวกับจีวร มี ๑.ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุล ๒.เตจีวริกังคะ ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน; หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุต-เกี่ยวกับบิณฑบาต มี ๓.ปิณฑปาติกังคะ เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ ๔.สปทานจาริกังคะ บิณฑบาตตามลำดับบ้าน ๕.เอกาสนิกังคะ ฉันมื้อเดียว ๖.ปัตตปิณฑิกังคะ ฉันเฉพาะในบาตร ๗.ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม; หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุต -เกี่ยวกับเสนาสนะมี ๘.อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่า ๙.รุกขมูลิกังคะ อยู่โคนไม้ ๑๐.อัพโภกาสิกังคะ อยู่กลางแจ้ง ๑๑.โสสานิกังคะ อยู่ป่าช้า ๑๒.ยถาสันถติกังคะ อยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้; หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุต-เกี่ยวกับความเพียร มี ๑๓.เนสัชชิกังคะ ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน (นี้แปลเอาความสั้นๆ ความหมายละเอียด พึงดูตามลำดับอักษรของคำนั้นๆ) ธุระ “สิ่งที่จะต้องแบกไป”, หน้าที่, ภารกิจ, การงาน, เรื่องที่จะต้องรับผิดชอบ, กิจในพระศาสนา แสดงไว้ในอรรถกถา ๒ อย่างคือ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
นกุลบิดา : “พ่อของนกุล”, คฤหบดี ชาวเมืองสุงสุมารคีรี ในแคว้นภัคคะ มีภรรยาชื่อ นกุลมารดา สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองสุงสุมารคีรี ประทับที่ป่าเภสกลาวัน ท่านคฤหบดีและภรรยาไปเฝ้าพร้อมกับชาวเมืองคนอื่นๆ พอได้เห็นครั้งแรก ทั้ง ๒ สามีภรรยาก็เกิดความรู้สึกสนิทหมายใจเหมือนว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุตรของตน ได้เข้าไปถึงพระองค์และแสดงความรู้สึกนั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมโปรด ทั้ง ๒ ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านนกุลบิดาและนกุลมารดานี้ เป็นคู่สามีภรรยาตัวอย่าง ผู้มีความจงรักภักดีต่อกันอย่างบริสุทธิ์และมั่นคงยั่งยืน ตราบเท่าชรา ทั้งยังปรารถนาจะพบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้า เคยทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงหลักธรรมที่จะทำให้สามีภรรยาครองรักกันยั่งยืนตลอดไปทั้งภพนี้และภพหน้า เมื่อท่านนกุลบิดาเจ็บป่วยออดแอดร่างกายอ่อนแอ ไม่สบายด้วยโรคชรา ท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาครั้งหนึ่ง ที่ท่านประทับใจมากคือ พระดำรัสที่แนะนำให้ทำใจว่า “ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วย” ท่านนกุลบิดาได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้สนิทสนมคุ้นเคย (วิสสาสิกะ)
เบญจธรรม : ธรรม ๕ ประการ, ความดี ๕ อย่างที่ควรประพฤติคู่กันไปกับการรักษาเบญจศีลตามลำดับข้อดังนี้ ๑.เมตตากรุณา ๒.สัมมาอาชีวะ ๓.กามสังวร (สำรวมในกาม) ๔.สัจจะ ๕.สติสัมปชัญญะ ; บางตำราว่าแปลกไปบางข้อคือ ๒.ทาน ๓.สทารสันโดษ = พอใจเฉพาะภรรยาของตน ๕.อัปปมาทะ = ไม่ประมาท ; เบญจกัลยาณธรรม ก็เรียก
เบียดบัง : การถือเอาเศษ เช่นท่านให้เก็บเงินค่าเช่าต่างๆ เก็บได้มากแต่ให้ท่านแต่น้อย ให้ไม่ครบจำนวนที่เก็บได้
ปฐมอุบาสิกา : อุบาสิกาคนแรก หมายถึงมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ
ปฐวีธาตุ : ธาตุดิน คือธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง ในร่างกายที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า; อย่างนี้เป็นการกล่าวถึงปฐวีธาตุในลักษณะที่คนสามัญทุกคนจะเข้าใจได้ และที่จะให้สำเร็จประโยชน์ในการเจริญกรรมฐาน แต่ในทางพระอภิธรรม ปฐวีธาตุเป็นสภาวะพื้นฐานที่มีอยู่ในรูปธรรมทุกอย่าง แม้แต่ในน้ำและในลมที่เรียกกันสามัญ ซึ่งรู้สึกถูกต้องได้ด้วยกายสัมผัส
ประสก : เป็นคำเลือนมาจาก อุบาสก พระสงฆ์ครั้งก่อนมักใช้เรียกคฤหัสถ์ผู้ชาย คู่กับ สีกา แต่บัดนี้ได้ยินใช้น้อย
ปริสวิบัติ : เสียเพราะบริษัท, วิบัติโดยบริษัท, ถึงพร้อมด้วยบริษัท, ความสมบูรณ์ของที่ประชุม คือไม่เป็นปริสวิบัติ (ตัวอย่าง ประชุมภิกษุให้ครบองค์กำหนด เช่น จะทำกฐินกรรม ต้องมีภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป จะให้อุปสมบทในมัธยมประเทศ ต้องมีภิกษุอย่างน้อย ๑๐ รูป เป็นต้น)
ปีติ : ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำในใจ มี ๕ คือ ๑.ขุททกปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล ๒.ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะรู้สึกแปลกๆ ดุจฟ้าแลบ ๓.โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอกรู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง ๔.อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟูตัวเบาหรืออุทานออกมา ๕.ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์เป็นของประกอบกับสมาธิ
ภัททา กุณฑลเกสา : พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาของเศรษฐีในพระนครราชคฤห์ เคยเป็นภรรยาโจรผู้เป็นนักโทษประหารชีวิต โจรคิดจะฆ่านางเพื่อเอาทรัพย์สมบัติ แต่นางใช้ปัญญาคิดแก้ไขกำจัดโจรได้ แล้วบวชในสำนักนิครนถ์ ต่อมาได้พบกับพระสารีบุตร ได้ถามปัญหากันและกัน จนนางมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงได้สำเร็จพระอรหัต แล้วบวชในสำนักนางภิกษุณี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้ฉับพลัน
ภันเต : “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ” เป็นคำที่ภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าเรียกภิกษุผู้แก่พรรษากว่า (ผู้น้อยเรียกผู้ใหญ่) หรือคฤหัสถ์กล่าวเรียกพระภิกษุ, คู่กับคำว่า “อาวุโส”; บัดนี้ใช้เลือนกันไปกลายเป็นคำแทนตัวบุคคลไป ก็มี
มหากัจจายนะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในกัจจายนโคตรที่พระนครอุชเชนี เป็นบุตรปุโรหิตของพระราชาแห่งแคว้นอวันตี เรียนจบไตรเพทแล้ว ต่อมาได้เป็นปุโรหิตแทนบิดา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่งให้หาทางนำพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุชเชนี กัจจายนปุโรหิตจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุอรหัตตผล อุปสมบทแล้ว แสดงความประสงค์ที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าสู่แคว้นอวันตี พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ท่านเดินทางไปเอง ท่านเดินทางไปยังกรุงอุชเชนี ประกาศธรรม ยังพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองทั้งหมดให้เลื่อมใสในพระศาสนาแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่าท่านมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ บุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อโสเรยยะเห็นแล้วเกิดมีอกุศลจิตต่อท่านว่าให้ได้อย่างท่านเป็นภรรยาตนหรือให้ภรรยาตนมีผิวพรรณงามอย่างท่าน เพราะอกุศลจิตนั้น เพศของโสเรยยะกลายเป็นหญิงไป นางสาวโสเรยยะแต่งงานมีครอบครัว มีบุตรแล้ว ต่อมาได้พบและขอขมาต่อท่านเพศก็กลับเป็นชายตามเดิม โสเรยยะขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
มหากาล : ชื่อพระสาวกรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล ได้สำเร็จพระอรหันต์เป็นพี่ชายของพระจุลกาลที่ถูกภรรยาเก่า ๒ คนรุมกันจับสึกเสีย
มิตตปฏิรูป : คนเทียมมิตร, มิตรเทียม ไม่ใช่มิตรแท้ มี ๔ พวก ได้แก่ ๑.คนปอกลอก มีลักษณะ ๔ คือ ๑.คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๒.ยอมเสียน้อยโดยหวังจะเอาให้มาก ๓.ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน ๔.คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๒.คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔ คือ ๑.ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย ๒.ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย ๓.สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๔.เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง ๓.คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔ คือ ๑.จะทำชั่วก็เออออ ๒.จะทำดีก็เออออ ๓.ต่อหน้าสรรเสริญ ๔.ลับหลังนินทา ๔.คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔ คือ ๑.คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา ๒.คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน ๓.คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น ๔.คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน
ลกุณฏก ภัททิยะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรในตระกูลมั่งคั่ง ชาวพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาที่พระเชตวันมีความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา ท่านมีรูปร่างเตี้ยค่อมจนบางคนเห็นท่านแล้วหัวเราะจนเห็นฟัน ท่านกำหนดฟันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้สำเร็จอนาคามิผล ต่อมาท่านได้บรรลุพระอรหัตในสำนักพระสารีบุตร แต่เพราะความที่มีรูปร่างเล็กเตี้ยค่อม ท่านมักถูกเข้าใจผิดเป็นสามเณรบ้าง ถูกพระหนุ่มเณรน้อยล้อเลียนบ้าง ถูกเพื่อนพระดูแคลนบ้าง แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสยกย่องว่าถึงท่านจะร่างเล็ก แต่มีคุณธรรมฤทธานุภาพมาก ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีเสียงไพเราะ
ลหุกาบัติ : อาบัติเบา คือ อาบัติที่มีโทษเล็กน้อย ได้แก่อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต, คู่กับครุกาบัติ
วัชชี : ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่ชมพูทวีป ตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำคันธกะอยู่ทางทิศตะวันออกของแคว้นมัลละ ทางทิศเหนือของแคว้นมคธ นครหลวงชื่อเวสาลี แคว้นวัชชีปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม พวกกษัตริย์ที่ปกครองเรียกว่า กษัตริย์ลิจฉวี (นอกจากพวกลิจฉวีแล้วยังมีพวกวิเทหะซึ่งปกครองอยู่ที่เมืองมิถิลา แต่ในสมัยพุทธกาลมีอำนาจน้อย) แคว้นวัชชีรุ่งเรืองเข้มแข็งและมีอำนาจมากตอนปลายพุทธกาลได้กลายเป็นคู่แข่งกับแคว้นมคธ แต่หลังพุทธกาลไม่นานก็เสียอำนาจแก่มคธเพราะอุบายทำลายสามัคคี ของวัสสการพราหมณ์
วินัยมุข : มุขแห่งวินัย, หลักใหญ่ๆ หรือหัวข้อสำคัญๆ ทีเป็นเบื้องต้นแห่งพระวินัย หรือเป็นปากทางนำเข้าสู่วินัยเป็นชื่อหนังสือที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรจนาขึ้น เพื่อชี้ประโยชน์แห่งพระวินัยมุ่งช่วยให้พระภิกษุสามเณรตั้งอยู่ในปฏิบัติพองาม ผู้ไม่เคร่งจะได้รู้จักสำรวมรักษามรรยาทสมเป็นสมณะฝ่ายผู้เคร่งครัดเกินไปจะได้หายงมงาย ไม่สำคัญตนว่าดีกว่าผู้อื่น ตั้งรังเกียจผู้อื่นเพราะเหตุผลเล็กน้อย เพียงสักว่าธรรมเนียมหรือแม้ชักนำผู้อื่นในปฏิบัติอันดี ต่างจะได้อานิสงส์คือไม่มีวิปฏิสาร; ทรงมุ่งหมายเพื่อจะแต่งแก้หนังสือบุพพสิกขาวัณณนาของพระอมราภิรักขิต (อมร เกิด) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส; จัดพิมพ์เป็น ๓ เล่ม ใช้เป็นแบบเรียนนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก ตามลำดับ
ศราทธพรต : พิธีทำบุญอุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว; ศราทธพรตคาถาหรือคาถาศราทธพรต หมายถึง คาถาหมวดหนึ่ง (มีร้อยแก้วนำเล็กน้อย) ที่พระสงฆ์ใช้สวดรับเทศน์ ในงานพระราชพิธีเผาศพในประเทศไทย แต่บัดนี้ใช้กันกว้างขวางออกไปแม้ในพิธีราษฎร์ที่จะจัดให้เป็นการใหญ่
สทารสันโดษ : ความพอใจด้วยภรรยาของตน, ความยินดีเฉพาะภรรยาของตน (ข้อ ๓ ในเบญจธรรม), จัดเป็นพรหมจรรย์อย่างหนึ่ง
สังเวควัตถุ : เรื่องที่น่าสลดใจ, เรื่องที่พิจารณาแล้วจะทำให้เกิดความสังเวช คือเร้าเตือนสำนึกให้มีจิตใจน้อยมาในทางกุศล เกิดความไม่ประมาทและมีกำลังใจที่จะทำความเพียรปฏิบัติธรรมต่อไป เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และอาหารปริเยฏฐิทุกข์ คือทุกข์ในการหากิน เป็นต้น
สีกา : คำที่พระภิกษุใช้เรียกผู้หญิงอย่างไม่เป็นทางการ เลือนมาจากอุบาสิกา บัดนี้ได้ยินใช้น้อย
สุชาดา : อุบาสิกาสำคัญคนหนึ่ง เป็นธิดาของผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา ได้ถวายข้าวปายาสแก่พระมหาบุรุษในเวลาเช้าของวันที่จะตรัสรู้ มีบุตรชื่อยส ซึ่งต่อมาออกบวชเป็นพระอรหันต์ นางสุชาดาได้เป็นปฐมอุบาสิกา พร้อมกับภรรยาเก่าของพระยสะและได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาอุบาสิกาผู้ถึงสรณะเป็นปฐม
เสนาสนะป่า : เสนาสนะอันอยู่ไกลจากบ้านคนอย่างน้อย ๒๕ เส้น
หลักกำหนดธรรมวินัย : หลักตัดสินธรรมวินัย หรือลักษณะตัดสินธรรม วินัย ๘ อย่าง คือ ก.ธรรมเหล่าใด เป็นไป ๑.เพื่อความย้อมใจติด ๒.เพื่อความประกอบทุกข์ ๓.เพื่อความพอกพูนกิเลส ๔.เพื่อความมักมากอยากใหญ่ ๕.เพื่อความไม่สันโดษ ๖.เพื่อความคลุกคลีในหมู่ ๗.เพื่อความเกียจคร้าน ๘.เพื่อความเลี้ยงยาก, ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่าไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์, ข.ธรรมเหล่าใดเป็นไป ๑.เพื่อความคลายหายติด ๒.เพื่อความไม่ประกอบทุกข์ ๓.เพื่อความไม่พอกพูนกิเลส ๔.เพื่อความมักน้อย ๕.เพื่อความสันโดษ ๖.เพื่อความสงัด ๗.เพื่อการประกอบความเพียร ๘.เพื่อความเลี้ยงง่าย, ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์
หิตานุหิต : ประโยชน์เกื้อกูลน้อยใหญ่