สมานาสนิกะ : ผู้ร่วมอาสนะกัน หมายถึง ภิกษุผู้มีพรรษารุ่นราวคราวเดียวกันแก่หรืออ่อนกว่ากันไม่ถึง ๓ พรรษา นั่งร่วมอาสนะเสมอกันได้ เทียบ อสมานาสนิกะ
สมาทปนา : การให้สมาทาน หรือชวนให้ปฏิบัติคือ อธิบาย ให้เห็นว่าเป็นความจริง ดีจริง จนใจยอมรบที่จะนำไปปฏิบัติ; เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการสอนที่ดี (ข้อก่อนคือสันทัสสนา, ข้อต่อไปคือ สมุตเตชนา)
สมานาจริยกะ : ภิกษุผู้ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน
สมานุปัชฌายกะ : ภิกษุผู้ร่วมพระอุปัชฌายะเดียวกัน
สมาโนทก : ผู้ร่วมน้ำ, ตามธรรมเนียมพราหมณ์ หมายถึง บุรพบิดรพ้นจากทวดขึ้นไปก็ดี ญาติผู้มิได้สืบสายตรงก็ดี ซึ่งเป็นผู้จะพึงได้รับน้ำกรวด (คู่กับ สปิณฑะ)
อสมานาสนิกะ : ภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนแก่กว่ากันเกิน ๓ พรรษา นั่งอาสนะคือเตียงตั่งสำหรับ ๒ รูป เสมอกันไม่ได้ (แต่นั่งอาสนะยากด้วยกันได้) เทียบ สมานาสนิกะ
อภิสมาจาริกวัตร : วัตรเกี่ยวด้วยความประพฤติอันดี, ธรรมเนียมเกี่ยวกับมรรยาทและความเป็นอยู่ที่ดีงาม
อภิสมาจาริกาสิกขา : หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายขนบธรรมเนียมที่จะชักนำความประพฤติ ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ให้ดีงามมีคุณยิ่งขึ้นไป, สิกขาฝ่ายอภิสมาจาร เทียบ อาทิพรหมจริยกาสิกขา
อัญญสมานาเจตสิก : เจตสิกที่มีเสมอกันแก่จิตพวกอื่น คือ ประกอบเข้าได้รับกับจิตทุกฝ่ายทั้งกุสลและอกุศล มิใช่เข้าได้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว มี ๑๓ แยกเป็น ก) สัพพจิตตสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง) ๗ คือ ผัสสะ (ความกระทบอารมณ์) เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ (ความกระทำอารมณ์ไว้ในใจ, ใส่ใจ) ข) ปกิณณกเจตสิก (เจตสิกที่เรี่ยราย คือ เกิดกับจิตได้ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล แต่ไม่แน่นอนเสมอไปทุกดวง) ๖ คือ วิตก (ความตรึกอารมณ์) วิจาร (ความตรองอารมณ์) อธิโมกข์ (ความปักใจในอารมณ์) วิริยะ ปีติ ฉันทะ (ความพอใจในอารมณ์)
อุปสมานุสติ : ระลึกถึงคุณพระนิพพานซึ่งเป็นที่ระงับกิเลสและกองทุกข์ (ข้อ ๑๐ ในอนุสติ ๑๐)
ขึ้นวัตร : โวหารเรียกวินัยกรรมเกี่ยวกับวุฏฐานวิธีอย่างหนึ่ง คือเมื่อภิกษุต้องครุกาบัติชั้นสังฆาทิเสสแล้วอยู่ปริวาส ยังไม่ครบเวลาที่ปกปิดอาบัติไว้หรือประพฤติมานัตอยู่ยังไม่ครบ ๖ ราตรี พักปริวาสหรือมานัตเสียเนื่องจากมีเหตุอันสมควร เมื่อจะสมาทานวัตรใหม่เพื่อประพฤติปริวาสหรือมานัตที่เหลือนั้น เรียกว่าขึ้นวัตรคือการสมาทานวัตรนั่นเอง ถ้าขึ้นปริวาสพึ่งกล่าวคำในสำนักภิกษุรูปหนึ่งว่า ปริวาสํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นปริวาส วตฺตํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นวัตร
เจตสิก : ธรรมที่ประกอบกับจิต, อาการหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ศรัทธา เมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น มี ๕๒ อย่าง จัดเป็น อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ อกุศลเจตสิก ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕
ฉันทะ : 1.ความพอใจ, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความรักใคร่สิ่งนั้นๆ, ความรักงาน (เป็นกลางๆ เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี, เป็นอัญญสมานาเจตสิกข้อ ๑๓, ที่เป็นอกุศล เช่นในกามฉันทะ ที่เป็นกุศลเช่น ข้อ ๑ ในอิทธิบาท ๔) 2.ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย, เป็นธรรมเนียมของภิกษุ ที่อยู่ในวัดซึ่งมีสีมารวมกัน มีสิทธิที่จะเข้าประชุมทำกิจของสงฆ์ เว้นแต่ภิกษุนั้นอาพาธจะเข้าร่วมประชุมด้วยไม่ได้ ก็มอบฉันทะคือแสดงความยินยอมให้สงฆ์ทำกิจนั้นๆ ได้
เบญจศีล : ศีล ๕ เว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในกาม เว้นพูดปด เว้นของเมา มีคำสมาทานว่า ๑.ปาณาติปาตา ๒.อทินฺนาทานา ๓.กาเมสุมิจฺฉาจารา ๔.มุสาวาทา ๕.สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺานา ต่อท้ายด้วย เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ทุกข้อ
วสี : ความชำนาญ มี ๕ อย่าง คือ ๑.อาวัชชนวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการนึก ตรวจองค์ฌานที่ตนได้ออกมาแล้ว ๒.สมาปัชชนวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการที่เข้าฌานได้รวดเร็วทันที ๓.อธิฏฐานวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการที่จะรักษาไว้มิให้ฌานจิตต์นั้นตกภวังค์ ๔.วุฏฐานวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการจะออกจากฌานเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ ๕.ปัจจเวกขณวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการพิจารณาทบทวนองค์ฌาน
ศีล ๑๐ :
สำหรับสามเณร แต่ผู้ใดศรัทธาจะรักษาก็ได้ หัวข้อเหมือนศีล ๘ แต่แยกข้อ ๗ เป็น ๒ ข้อ (= ๗-๘) เลื่อนข้อ ๘ เป็น ๙ และเติมข้อ ๑๐ คือ ๗.เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ฯลฯ ๘.เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ ฯลฯ ๙.เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ ฯลฯ ๑๐.เว้นจากการรับทองและเงิน; คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่าง) ว่า ๗.นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา- ๘.มาลาคนฺธวิเลปน ธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา- ๙.อุจฺจาสยนมหาสยนา- ๑๐.ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา- (คำต่อท้าย เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยมิ เหมือนกันทุกข้อ); ดู อาราธนาศีล ด้วย
ศีล ๕ :
สำหรับทุกคน คือ ๑.เว้นจากทำลายชีวิต ๒.เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้ ๓.เว้นจากประพฤติผิดในกาม ๔.เว้นจากพูดเท็จ ๕.เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท; คำสมาทานว่า ๑.ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ๒.อทินนาทานา- ๓.กาเมสุมิจฺฉานารา- ๔.มุสาวาทา- ๕.สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา- (คำต่อท้ายเหมือนข้อ ๑); ดู อาราธนาศีล ด้วย
สมุตเตชนา : การทำให้อาจหาญ คือ เร้าใจให้แกล้วกล้า ปลุกใจให้คึกคักเกิดความกระตือรือร้น มีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จ ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก; เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการสอนที่ดี (ข้อก่อนคือสมาทปนา, ข้อสุดท้ายคือ สัมปหังสนา)
สันทัสสนา : การให้เห็นชัดแจ้ง หรือชี้ให้ชัด คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเรื่องราวและเหตุผลต่าง ๆ แจ่มแจ้งเหมือนจูงมือไปดูเห็นประจักษ์กับตา; เป็นลักษณะอย่างแรกของการสอนที่ดีตามแนวพุทธจริยา (ข้อต่อไป คือสมาทปนา)
อนุสติ : ความระลึกถึง, อารมณ์ที่ควรระลึกถึงเนืองๆ มี ๑๐ อย่าง คือ ๑) พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ๒) ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม ๓) สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ๔) สีลานุสติ ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา ๕) จาคานุสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว ๖) เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา ๗) มรณัสสติ ระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรม ๘) กายคตาสติ ระลึกทั่วไปในกายให้เห็นว่าไม่งาม ๙) อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ๑๐) อุปสมานุสติ ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ คือ นิพพาน
อาทิพรหมจริยกาสิกขา : หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายบทบัญญัติหรือข้อปฏิบัติที่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ สำหรับป้องกันความประพฤติเสียหาย, ข้อศึกษาที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ หมายถึง สิกขาบท ๒๒๗ ที่มาในพระปาฏิโมกข์ เทียบ อภิสมาจาริกาสิกขา