สังเวช : ความสลดใจ, ความกระตุ้นให้คิด, ความรู้สึกเตือนสำนึก; ในทางธรรมความรู้สึกสลดใจที่ทำให้คิดได้ ทำให้จิตใจหันมานึกถึงสิ่งที่ดีงาม เกิดความไม่ประมาท เพียรพยายามทำสิ่งที่เป็นกุศลต่อไป จึงจะเรียกว่า สังเวช ความสลดใจ แล้วหงอยหรอหดหู่เสีย ไม่เรียกว่าเป็นความสังเวช
สังเวชนียสถาน :
สถานเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช, ที่ที่ให้เกิดความสังเวช มี ๔ คือ ๑.ที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือ อุทยาน ลุมพินี ปัจจุบันเรียกลุมพินีหรือรุมมินเด (Lumbini หรือ Rummindei) ๒..ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ ควงโพธิ์ ที่ตำบล พุทธคยา (Buddha Gaya หรือ Bodh-Gaya) ๓.ที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา คือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบัน เรียก สารนาถ ๔.ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน คือที่สาลวโนทยาน เมือง กุสินารา หรือกุสินคร บัดนี้เรียกกาเซีย (kasia หรือ kusinagara) ดู สังเวช ด้วย
ธรรมสังเวช :
ความสังเวชโดยธรรมเมื่อเห็นความแตกดับของสังขาร (เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์) ดู สังเวช
สมเพช : ในภาษาไทย ใช้ในความหมายว่า สลดใจ ทำให้เกิดความสงสาร แต่ตามหลักภาษาตรงกับ สังเวช
ตทังควิมุตติ :
พ้นด้วยองค์นั้นๆ หมายความว่า พ้นจากกิเลสด้วยอาศัยธรรมตรงกันข้ามที่เป็นคู่ปรักกัน เช่น เกิดเมตตา หายโกรธ เกิดสังเวช หายกำหนัด เป็นต้น เป็นการหลุดพ้นชั่วคราว และเป็นโลกิยวิมุตติ ดู วิมุตติ
บริโภคเจดีย์ : เจดีย์คือสิ่งของหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอยเกี่ยวข้อง ได้แก่ ตุมพสตูป อังคารสตูป และสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ตลอดถึงบาตร จีวร เตียง ตั่ง กฎี วิหาร ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอย
ลุมพินีวัน :
ชื่อสวนเป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า เป็นสังเวชนียสถานหนึ่งใน ๔ แห่ง ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ บัดนี้เรียก รุมมินเด อยู่ที่ปาเดเรีย ในเขตประเทศเนปาล ห่างจากเขตแดนประเทศอินเดียไปทางเหนือ ประมาณ ๖ กิโลเมตรครึ่ง พระสิทธัตถะประสูติที่สวนนี้ เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี (มีปราชญ์คำนวณว่าตรงกับวันศุกร์ ปีจอ เวลาใกล้เที่ยง) ดู สังเวชนียสถาน
สังเวคกถา : ถ้อยคำแสดงความสลดใจให้เกิดความสังเวชคือเร้าเตือนสำนึก
สังเวควัตถุ : เรื่องที่น่าสลดใจ, เรื่องที่พิจารณาแล้วจะทำให้เกิดความสังเวช คือเร้าเตือนสำนึกให้มีจิตใจน้อยมาในทางกุศล เกิดความไม่ประมาทและมีกำลังใจที่จะทำความเพียรปฏิบัติธรรมต่อไป เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และอาหารปริเยฏฐิทุกข์ คือทุกข์ในการหากิน เป็นต้น
สาคตะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถีได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดามีความเลื่อมใส ขอบวชแล้วทำความเพียรเจริญสมาบัติ ๘ ประการ จนมีความชำนาญในสมาบัติ ท่านเป็นต้นบัญญัติสุราปานสิกขาบท และเพราะเกิดความสังเวชในเหตุการณ์ที่เกิดกับตนครั้งนี้ จึงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเตโชธาตุสมาบัติ
สุภัททะ วุฒบรรพชิต : “พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่” ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการปรารภที่จะทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ก่อนบวช เป็นช่างตัดผมในเมืองอาตุมา มีบุตรชาย ๒ คน เมื่อบวชแล้วคราวหนึ่งได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่จะเสด็จมายังเมืองอาตุมา จึงให้บุตรทั้ง ๒ เอาเครื่องมือตัดผมออกไปเที่ยวขอตัดผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเอาเครื่องปรุงยาคูมาได้มากมาย แล้วบัญชาการให้ผู้คนจัดเตรียมข้าวยาคูไว้เป็นอันมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ก็นำเอาข้าวยาคูนั้นเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าตรัสถาม ทรงทราบความว่าพระสุภัททะได้ข้าวนั้นมาอย่างไรแล้ว ไม่ทรงรับและทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ๒ ข้อ คือ บรรพชิตไม่พึงชักชวนคนทำในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ และภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผมไว้ประจำตัว จากการที่ได้ถูกติเตียนและเสียของเสียหน้าเสียใจ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น พระสุภัททะก็ได้ผูกอาฆาตไว้ ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน พระสุภัททะร่วมอยู่ในคณะของพระมหากัสสปเถระ ซึ่งกำลังเดินทางจากเมืองปาวาสู่เมืองกุสินารา ระหว่างทางนั้น คณะได้ทราบข่าวพุทธปรินิพพานจากอาชีวกผู้หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นราคะ (คือพระปุถชน โสดาบัน และสกทาคามี) พากันร้องไห้คร่ำครวญเป็นอันมาก ในขณะนั้นเอง พระสุภัททะวุฒบรรพชิต ก็ร้องห้ามขึ้นว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไห้ไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว พระมหาสมณะนั้นคอยเบียดเบียนพวกเราว่าสิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ บัดนี้พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น” พระมหากัสสปเถระได้ฟังแล้วเกิดธรรมสังเวช ดำริว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน ก็ยังเกิดเสี้ยนหนามขึ้นแล้วในพระศาสนา หากต่อไปคนชั่วได้พวกพ้องมีกำลังเติบกล้าขึ้น ก็จะทำพระศาสนาให้เสื่อมถอย ดังนั้น หลังจากเสร็จงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว ท่านจึงได้ยกถ้อยคำของสุภัททะวุฒบรรพชิต นี้ขึ้นเป็นข้อปรารภ ชักชวนพระเถระทั้งหลายร่วมกันทำสังคายนาครั้งแรก