ส่วนท่ามกลาง : ในประโยคว่า “ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง” ปัจจุบัน
ส่วนข้างปลายทั้งสอง : อดีต กับอนาคต
อนาคตังสญาณ : ญารหยั่งรู้ส่วนอนาคต, ปรีชากำหนดรู้คาดผลข้างหน้าอันสืบเนื่องจากเหตุในปัจจุบันหรือในอนาคตก่อนเวลานั้น (ข้อ ๒ ในญาณ ๓)
อนุทูต : ทูตติดตาม, ในพระวินัย หมายถึง ภิกษุที่สงฆ์สมมติให้เป็นตัวแทนของสงฆ์ เดินทางร่วมไปกับภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงโทษด้วย ปฏิสารณียธรรม ให้ไปขอขมาคฤหัสถ์ ในกรณีที่เธอไม่อาจไปตามลำพัง อนุทูตทำหน้าที่ช่วยพูดกับคฤหัสถ์นั้นเป็นส่วนตนหรือในนามของสงฆ์ เพื่อให้ตกลงรับขมา เมื่อตกลงกันแล้ว รับอาบัติที่ภิกษุนั้นแสดงต่อหน้าเขาแล้วจึงให้ขมา
อารัญญกวัตร : ข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า, ธรรมเนียมที่ภิกษุผู้อยู่ป่าพึงถือปฏิบัติ ตามพุทธบัญญัติที่มาในวัตตขันธกะ จัดเป็นหัวข้อได้ดังนี้ ก) ๑) ภิกษุผู้อยู่ป่า พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เอาถุงบาตรสวมบาตรแล้วคล้องบ่าไว้ พาดจีวรบนไหล่ สวมรองเท้า เก็บงำเครื่องไม้เครื่องดิน ปิดประตูหน้าต่าง แล้วลงจากเสนาสนะ (ที่พักอาศัย) ไป ๒) ทราบว่า “บัดนี้จักเข้าหมู่บ้าน” พึงถอดรองเท้า เคาะต่ำๆ แล้วใส่ถุงคล้องบ่าไว้ นุ่งให้เป็นปริมณฑล คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิซ้อนเป็น ๒ ชั้น กลัดลูกดุม ชำระบาตรแล้วถือเข้าหมู่บ้านโดยเรียบร้อยไม่รีบร้อน ไปในละแวกบ้านพึงปกปิกกายด้วยดี สำรวมด้วยดี ไม่เดินกระโหย่ง เมื่อจะเจ้านิเวศน์ พึงกำหนดว่า เรากจักเข้าทางนี้ จักออกทางนี้ ไม่พึงรีบร้อนเข้าไป ไม่พึงรีบร้อนออกมา พึงยืนไม่ไกลเกิดไป ไม่ใกล้เกินไป ไม่นานเกินไป ไม่กลับออกเร็วเกินไป เมื่อยืนอยู่ พึงกำหนดว่า เขาประสงค์จะถวายภิกษาหรือไม่ ฯลฯ เมื่อเขาถวายภิกษา พึงแหวกสังฆาฏิด้วยมือซ้าย น้อมบาตรเข้าไปด้วยมือขวา ใช้มือทั้ง ๒ ประคองบาตรรับภิกษา ไม่พึงมองดูหน้าสตรีผู้ถวาย พึงกำหนดว่า เขาประสงค์จะถวายแกงหรือไม่ ฯลฯ เมื่อเขาถวายภิกษาแล้ว พึงคลุมบาตรด้วยสังฆาฏิแล้วกลับโดยเรียบร้อย ไม่รีบร้อน เดินไปในละแวกบ้าน พึงปกปิดกายด้วยดี สำรวมด้วยดี ไม่เดินกระโหย่ง ๓) ออกจากบ้านแล้ว (หลังจากฉันและล้างบาตรแล้ว) เอาบาตรใส่ถุง คล้องบ่า พับจีวร วางบนศีรษะ สวมรองเท้าเดินไป ข) ภิกษุผู้อยู่ป่า พึงจัดเตรียมน้ำดื่มไว้ พึงจัดเตรียมน้ำใช้ไว้ พึงติดไฟเตรียมไว้ พึงจัดเตรียมไม้สีไฟไว้ พึงจัดเตรียมไม้เท้าไว้ ค) พึงเรียนทางนักษัตรไว้ (ดูดาวเป็น) ทั้งหมดหรือบางส่วน พึงเป็นผู้ฉลาดในทิศ
ขัณฑ์ : ตอน, ท่อน, ส่วน, ชิ้น, จีวรมีขัณฑ์ ๕ ก็คือมี ๕ ชิ้น
วิภาค : การแบ่ง, การจำแนก, ส่วน, ตอน
พร้อมหน้าบุคคล : บุคคลผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นอยู่พร้อมหน้ากัน เช่น คู่วิวาทหรือคู่ความพร้อมหน้ากันในวิวาทาธิกรณ์และในอนุวาทาธิกรณ์ เป็นต้น (ปุคคลสัมมุขตา)
พร้อมหน้าสงฆ์ : ต่อหน้าภิกษุเข้าประชุมครบองค์ และได้นำฉันทะของผู้ควรแก่ฉันทะมาแล้ว (สังฆสัมมุขตา)
พร้อมหน้าธรรมวินัย : (ระงับอธิกรณ์) โดยนำเอาธรรมวินัย และสัตถุศาสน์ที่เป็นหลักสำหรับระงับอธิกรณ์นั้นมาใช้โดยครบถ้วน คือวินิจฉัยถูกต้องโดยธรรมและถูกต้องโดยวินัย (ธัมมสัมมุขตา วินยสัมมุขตา)
พร้อมหน้าวัตถุ : ยกเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นพิจารณาวินิจฉัย เช่น คำกล่าวโจทเพื่อเริ่มเรื่อง และข้อวิวาทที่ยกขึ้นแถลง เป็นต้น (วัตถุสัมมุขตา)
เทวทูต : ทูตของยมเทพ, สื่อแจ้งข่าวของมฤตยู, สัญญาที่เตือนให้ระลึกถึงคติ ธรรมดาของชีวิตมิให้มีความประมาท จัดเป็น ๓ ก็มี ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย, จัดเป็น ๕ ก็มี ได้แก่ เด็กแรกเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนถูกลงราชทัณฑ์ และคนตาย (เทวทูต ๓ มาในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, เทวทูต ๕ มาในเทวทูตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์); ส่วน เทวทูต ๔ ที่เจ้าชายสิทธัตถะพบก่อนบรรพชา คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะนั้น ๓ อย่างแรก เป็นเทวทูต ส่วนสมณะเรียกรวมเป็นเทวทูตไปด้วยโดยปริยาย เพราะมาในหมวดเดียวกัน แต่ในบาลี ท่านเรียกว่า นิมิต ๔ หาเรียกเทวทูต ๔ ไม่ อรรถกถาบางแห่งพูดแยกว่า พระสิทธัตถะเห็นเทวทูต ๓ และสมณะ (มีอรรถกถาแห่งหนึ่งอธิบายในเชิงว่าอาจเรียกทั้ง ๔ อย่างเป็นเทวทูตได้ โดยความหมายว่า เป็นของที่เทวดานิรมิตไว้ ระหว่างทางเสด็จของพระสิทธัตถะ)
ปฐมยาม : ยามต้น, ยามที่หนึ่ง, ส่วนที่หนึ่งแห่งราตรี เมื่อแบ่งกลางคืนเป็น ๓ ส่วน
ปัจฉิมยาม : ยามสุดท้าย, ช่วงสุดท้ายแห่งราตรี เมื่อแบ่งกลางคืนเป็น ๓ ส่วน
วาสนา : อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็ว หรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น ท่านขยายความว่า วาสนา ที่เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศล ก็มี เป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มี ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลกๆ ต่างๆ ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้ จึงมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้ พร้อมทั้งวาสนา; ในภาษาไทย คำว่า วาสนา มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นอำนาจบุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ
สรรพางค์ : ทุก ๆ ส่วนแห่งร่างกาย, ร่างกายทุก ๆ ส่วน
อุภโตภาควิมุต : “ผู้หลุดพ้นทั้ง ๒ ส่วน” คือ พระอรหันต์ผู้บำเพ็ญสมถะมาเป็นอย่างมากจนได้สมาบัติ ๘ แล้ว จึงใช้สมถะนั้นเป็นฐานบำเพ็ญวิปัสสนาต่อไปจนบรรลุอรหัตตผล; หลุดพ้นทั้ง ๒ ส่วน (และ ๒ วาระ) คือหลุดพ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติ (เป็นวิกขัมภนะ) หนหนึ่งแล้ว จึงหลุดพ้นจากนามกายด้วยอริยมรรค (เป็นสมุจเฉท) อีกหนหนึ่ง เทียบ ปัญญาวิมุต
ตะโพน : เครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง มีหนัง ๒ หน้า ตรงกลางป่อง ริม ๒ ข้างสอบลง
กามคุณ : ส่วนที่น่าปรารถนาน่าใคร่ มี ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ที่น่าใคร่ น่าพอใจ
บุพภาค : ส่วนเบื้องต้น, ตอนต้น
ปฏิภาค : ส่วนเปรียบ, เทียงเคียง, เหมือน
รากขวัญ : ส่วนของร่างกายที่เรียกว่าไหปลาร้า; ตำนานกล่าวว่า ในบรรดาพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายนั้น พระรากขวัญเบื้องขวาขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในจุฬามณีเจดีย์ ณ ดาวดึงสเทวโลก พระรากขวัญเบื้องซ้าย ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ (เจดีย์ที่ฆฏิการพรหมสร้างขึ้นไว้ก่อนแล้ว ให้เป็นที่บรรจุพระภูษาเครื่องทรงในฆราวาสที่พระโพธิสัตว์สละในคราวเสด็จออกบรรพชา) ณ พรหมโลก
วัย : ส่วนแห่งอายุ, ระยะของอายุ, เขตอายุ นิยมแบ่งเป็น ๓ วัย คัมภีร์วิสุทธิมรรคจัดดังนี้ ๑.ปฐมวัย วัยต้น ๓๓ ปี คือ อายุ ๑ ถึง ๓๓ ปี ๒.มัชฌิมวัย วัยกลาง ๓๔ ปี คือ อายุ ๓๔ ถึง ๖๗ ปี ๓.ปัจฉิมวัย วัยปลาย ๓๓ ปี คือ อายุ ๖๘ ถึง ๑๐๐ ปี
สรีราพยพ : ส่วนของร่างกาย, อวัยวะในร่างกาย
อุปัสสยะของภิกษุณี : ส่วนที่อยู่ของภิกษุณีตั้งอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วย แต่อยู่โดยเอกเทศ ไม่ปะปนกับภิกษุ; เรียกตามศัพท์ว่า ภิกขุนูปัสสยะ
วโนทยาน : สวนป่า เช่น สาลวโนทยาน คือ ส่วนป่าไม้สาละ
อัมพวัน : สวนมะม่วง มีหลายแห่ง เพื่อกันสับสน ท่านมักใาชื่อเจ้าของสวนนำหน้าด้วย เช่น สวนมะม่วงของหมอชีวก ในเขตเมืองราชคฤห์ ซึ่งถวายเป็นสังฆาราม เรียกว่า ชีวกัมพวัน เป็นต้น
มัชฌิมยาม : ยามกลาง, ส่วนที่ ๒ ของราตรี เมื่อแบ่งคืนหนึ่งเป็น ๓ ส่วน, ระยะเที่ยงคืน
องค์ : 1) ส่วน, ภาค, ตัว, อวัยวะ, ลักษณะ, คุณสมบัติ, ส่วนประกอบ 2) ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณรนักบวชอื่นจากพวก และสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๒ องค์ พระเจดีย์ ๔ องค์, สำหรับภิกษุสามเณร ในภาษาเขียนท่านให้ใช้ รูป
กตัญญูกตเวที : ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน แยกออกเป็น ๒ คือ กตัญญู รู้คุณท่าน กตเวที ตอบแทนหรือสนองคุณท่าน; ความกตัญญูกตเวทีว่าโดยขอบเขต แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มีคุณความดีหรืออุปการะต่อตนเป็นส่วนตัว อย่างหนึ่ง กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์หรือมีคุณความดีเกื้อกูลแก่ส่วนรวม เช่นที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้าโดยฐานที่ได้ทรงประกาศธรรมยังหมู่ชนให้ตั้งอยู่ในกุศลกัลยาณธรรม เป็นต้น อย่างหนึ่ง (ข้อ ๒ ในบุคคลหาได้ยาก ๒) - one who is thankful for benefits received and reciprocates them.
กติกา : (ในคำว่า ข้าพเจ้าถวายตามกติกาของสงฆ์) ข้อตกลง, ข้อบังคับ, กติกาของสงฆ์ในกรณีนี้ คือข้อที่สงฆ์ ๒ อาวาส มีข้อตกลงกันไว้ว่า ลาภเกิดในอาวาสหนึ่ง สงฆ์อีกอาวาสหนึ่งมีส่วนได้รับแจกด้วย ทายกกล่าวคำถวายว่า ข้าพเจ้าถวายตามกติกาของสงฆ์ ลาภที่ทายกถวายนั้น ย่อมตกเป็นของภิกษุผู้อยู่ในอาวาสที่ทำกติกากันไว้ด้วย
กรรม ๑๒ : กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ ๑๒ อย่างคือ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่ ๑.ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้ ๒.อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า ๓.อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆไป ๔.อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ ได้แก่ ๕.ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ๖.อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือเข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม ๗.อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาบางหรือสั้นเข้า ๘.อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรม ๒ อย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล ได้แก่ ๙.ครุกกรรม กรรมหนัก ให้ผลก่อน ๑๐.พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองลงมา ๑๑.อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น ๑๒.กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล
กรวดน้ำ : ตั้งใจอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ พร้อมไปกับหลั่งรินน้ำเป็นเครื่องหมาย และเป็นเครื่องรวมกระแสจิตที่ตั้งใจอุทิศนั้นให้แน่วแน่; เริ่มรินน้ำเมื่อพระองค์หัวหน้าเริ่มสวดยถา รินน้ำหมดพร้อมกับพระหัวหน้าสวดยถาจบ และพระทั้งหมดเริ่มสวดพร้อมกัน จากนั้นวางที่กรวดน้ำลงแล้วประนมมือรับพรต่อไป; คำกรวดน้ำอย่างสั้นว่า อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่....(ออกชื่อผู้ล่วงลับ) และญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด จะต่ออีกก็ได้ว่า สุขิตา โหนตุ ญาตโย ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด - to pour the water of dedication (to transfer merit to other beings)
กัณฑ์ : หมวด, ตอน, ส่วนของเรื่อง - 1.a chapter, portion or part (of a religious book) 2. a sermon.
กัมมวัฏฏ์ :
วนคือกรรม, วงจรส่วนกรรม, หนึ่งในวัฏฏะ ๓ แห่งปฏิจจสมุปบาท ประกอบด้วยสังขารและกรรมภพ ดู ไตรวัฏฏ์
กัลปนา : 1.ที่หรือสิ่งอื่นซึ่งเจ้าของอุทิศผลประโยชน์ให้แก่วัด 2.ส่วนบุญที่ผู้ทำอุทิศให้แก่ผู้ตาย - merit dedicated to the departed.
กายคตาสติ : สติที่เป็นไปในกาย, สติอันพิจารณากายให้เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบ ซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงใหลมัวเมา
กายคติ : สติที่เป็นไปในกาย, สติอันพิจารณากายให้เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบ ซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงใหลมัวเมา
กายบริหาร : การรักษาร่างกายให้เหมาะสมแก่ความเป็นสมณะ เช่นไม่ไว้ยาวเกินไป ไม่ไว้หนวดเครา ไม่ไว้เล็บยาว ไม่ผัดหน้า ไม่แต่งเครื่องประดับกาย ไม่เปลือยกาย เป็นต้น
กาสี : แคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นแห่งชมพูทวีป มีนครหลวงชื่อพาราณสี ในสมัยพุทธกาล กาสีได้ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโกศลแล้ว
กุลทูสก : ผู้ประทุษร้ายตระกูล หมายถึง ภิกษุผู้ประจบคฤหัสถ์ เอาใจเขาต่างๆ ด้วยอาการผิดวินัย มุ่งเพื่อให้เขาชอบตนเป็นส่วนตัว เป็นเหตุให้เขาคลายศรัทธาในพระศาสนาและเสื่อมจากกุศลธรรม เช่นให้ของกำนัลเหมือนอย่างคฤหัสถ์เขาทำกัน ยอมตัวให้เขาใช้ เป็นต้น
ขรรค์ : อาวุธมีคม ๒ ข้าง ที่กลางทั้งหน้าและหลังเป็นสัน ด้านสั้น
จตุธาตุววัตถาน : การกำหนดธาตุ ๔ คือ พิจารณาร่างกายนี้ แยกแยะออกไปมองเห็นแต่ส่วนประกอบต่างๆ ที่จัดเข้าไปในธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ทำให้รู้ภาวะความเป็นจริงของร่างกาย ว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ประชุมกันเข้าเท่านั้น ไม่เป็นตัวสัตว์บุคคลที่แท้จริง
จิตตสันดาน : การสืบต่อมาโดยไม่ขาดสายของจิต; ในภาษาไทยหมายถึง พื้นความรู้สึกนึกคิดหรืออุปนิสัยใจคอที่ฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตใจมาแต่กำเนิด (ความหมายนัยหลังนี้ มิใช่มาในบาลี)
จุติ : เคลื่อนจากภพหนึ่งไปสู่ภพอื่น, ตาย (ส่วนมากใช้กับเทวดา)
เจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ : ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือแต่งตั้งจากสงฆ์ให้ทำหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการของส่วนรวมในวัดตามพระวินัยแบ่งไว้เป็น ๕ ประเภทคือ ๑.เจ้าอธิการแห่งจีวร ๒.เจ้าอธิการแห่งอาหาร ๓.เจ้าอธิการแห่งเสนาสนะ ๔.เจ้าอธิการแห่งอาราม ๕.เจ้าอธิการแห่งคลัง
ญาณ : ความรู้, ปรีชาหยั่งรู้, ปรีชากำหนดรู้; ญาณ ๓ หมวดหนึ่ง ได้แก่ ๑.อตีตังสญาณ ญาณในส่วนอดีต ๒.อนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต ๓.ปัจจุปปันนังสญาณ ญาณในส่วนปัจจุบัน; อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ ๑.สัจจญาณ หยั่งรู้อริยสัจแต่ละอย่าง ๒.กิจจญาณ หยั่งรู้กิจในอริยสัจ ๓.กตญาณ หยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้วในอริยสัจ; อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ วิชชา ๓
เดือน : ดวงจันทร์, ส่วนของปี คือปีหนึ่งมี ๑๒ เดือนบ้าง ๑๓ เดือนบ้าง (อย่างจันทรคติ); การที่นับเวลาเป็นเดือนและเรียกเวลาที่นับนั้นว่าเดือนก็เพราะกำหนดเอาข้างขึ้นข้างแรมของเดือน คือดวงจันทร์เป็นหลักมาตั้งแต่ตั้งเดิม ดูชื่อเดือนที่ มาตรา
ตจปัญจกกัมมัฏฐาน : กัมมัฏฐานมีหนังเป็นที่คำรบ ๕, กัมมัฏฐานอันบัณฑิตกำหนดด้วยอาการมีหนังเป็นที่ ๕ เป็นอารมณ์ คือ กัมมัฏฐานที่ท่านสอนให้พิจารณาส่วนของร่างกาย ๕ อย่าง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นของปฏิกูล หรือโดยความเป็นสภาวะอย่างหนึ่งๆ ตามที่มันเป็นของมัน ไม่เอาใจเข้าไปผูกพันแล้วคิดวาดภาพใฝ่ฝันตามอำนาจกิเลส พจนานุกรมเขียน ตจปัญจกกรรมฐาน เรียกอีกอย่างว่า มูลกัมมัฏฐาน (กัมมัฏฐานเบื้องต้น)
ตะเบ็งมาน : เป็นชื่อวิธีห่มผ้าของหญิงอย่างหนึ่ง คือ เอาผ้าโอบหลังสอดรักแร้ ๒ ข้างออกมาข้างหน้า ชักชายไขว้กันขึ้นพาดบ่าปกลงไปเหน็บไว้ที่ผ้าโอบหลัง