อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน : มี ๓ อย่างคือ ๑) ทรงรู้ยิ่งเห็นจริงเองแล้ว จึงทรงสั่งสอนผู้อื่น เพื่อให้รู้ยิ่งเห็นจริงตามในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ๒) ทรงสั่งสอนมีเหตุผลซึ่งผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ ไม่เลื่อนลอย ๓) ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ ทำให้ผู้ฟังยอมรับ และนำไปปฏิบัติตาม ได้รับผลจริง บังเกิดประโยชน์สมควรแก่การปฏิบัติ
ให้กล่าวธรรมโดยบท : สอนธรรมโดยให้ว่าพร้อมกันกับตน คือ ว่าขึ้นพร้อมกัน จบลงพร้อมกัน (สิกขาบทที่ ๓ แห่งมุสาวาทวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)
กาลามสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนชนชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคมใน แคว้นโกศล ไม่ให้เชื่อถืองมงายไร้เหตุผล ตามหลัก ๑๐ ข้อ คือ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา, ด้วยการถือสืบๆ กันมา, ด้วยการเล่าลือ, ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์, ด้วยตรรก, ด้วยการอนุมาน, ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล, เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน, เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ, เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา; ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น เรียกอีกอย่างว่าเกสปุตติยสูตร หรือเกสปุตตสูตร.
กินร่วม : ในประโยคว่า ภิกษุใดรู้อยู่กินรวมก็ดี อยู่ร่วมก็ดี สำเร็จการนอนด้วยก็ดี คบหากันในทางให้หรือรับอามิส และคบหากันในทางสอนธรรมเรียนธรรม
กีสาโคตมี : พระเถรีสำคัญองค์หนึ่ง เดิมเป็นธิดาคนยากจนในพระนครสาวัตถี แต่ได้เป็นลูกสะใภ้ของเศรษฐีในพระนครนั้น นางมีบุตรชายคนหนึ่ง อยู่มาไม่นานบุตรชายตาย นางมีความเสียใจมาก อุ้มบุตรที่ตายแล้วไปในที่ต่างๆ เพื่อหายาแก้ให้ฟื้น จนได้ไปพบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนด้วยอุบายและทรงประทานโอวาท นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผล บวชในสำนักนางภิกษุณี วันหนึ่งนั่งพิจารณาเปลวประทีปที่ตามอยู่ในพระอุโบสถ ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทรงทรงจีวรเศร้าหมอง
คุณของพระรัตนตรัย : คุณของรัตนะ ๓ คือ ๑.พระพุทธเจ้า รู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้วทรงสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย ๒.พระธรรม เป็นหลักแห่งความจริงและความดีงาม ย่อมรักษาผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ๓.พระสงฆ์ ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนผู้อื่นให้กระทำตามด้วย
โคธาวรี : ชื่อแม่น้ำสายหนึ่ง ระหว่างเมืองอัสสกะ กับ เมืองอาฬกะ พราหมณ์พาวรี ตั้งอาศรมสอนไตรเพทอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสายนี้ (มักเพี้ยนเป็นโคธาวารี)
จักกวัตติสูตร : ชื่อสูตรที่ ๓ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตน คือพึ่งธรรม ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินอยู่ในแดนของตนเองที่สืบมาแต่บิดา จะมีแต่ความดีงามเจริญขึ้นไม่เปิดช่องให้แก่มาร เช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงประพฤติตามหลักจักรวรรดิวัตร อันสืบกันมาแต่บรรพชนของพระองค์ ย่อมทำให้จักรรัตนะบังเกิดขึ้นมาเอง, จักรวรรดิวัตร นั้นมี ๔ ข้อใหญ่ ใจความว่า ๑.พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมาธิปไตย และจัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรม แก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธุ์ทั้งหลาย ๒.มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในแผ่นดิน ๓.ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์ ๔.ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อควรและไม่ควรประพฤติ กะสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ อยู่เสมอ; จักรวรรดิวัตร ๔ ข้อนี้ บางทีจัดเป็น ๕ โดยแยกข้อ ๑.เป็น ๒ ข้อ คือ เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง กับจัดการคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม อย่างหนึ่ง, นอกจากนั้น สมัยต่อมา อรรถกถาจัดแบ่งซอยออกไป และเพิ่มเข้ามาอีก รวมเป็น ๑๒ ข้อ เรียกว่า จักรวรรดิวัตร ๑๒ ; พระสูตรนี้ถือว่าเป็นคำสอนแสดงหลักวิวัฒนาการของสังคมตามแนวจริยธรรม กล่าวถึงหลักการปกครอง และหลักความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับจริยธรรม; เรื่องพระศรีอารยเมตไตรย ก็มีต้นเค้ามาจากพระสูตรนี้
ชนวสภสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค สุตตันตปิฎก ว่าด้วยเรื่องที่พระเจ้าพิมพิสารซึ่งสวรรคตไปเกิดเป็นชนวสภยักษ์ มาสำแดงตนแก่พระพุทธเจ้า และพระอานนท์แล้วเล่าเหตุการณ์ที่พวกเทวดามาประชุมในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พากันชื่นชมข่าวดีที่เทวดามีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะคนประพฤติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ตจปัญจกกัมมัฏฐาน : กัมมัฏฐานมีหนังเป็นที่คำรบ ๕, กัมมัฏฐานอันบัณฑิตกำหนดด้วยอาการมีหนังเป็นที่ ๕ เป็นอารมณ์ คือ กัมมัฏฐานที่ท่านสอนให้พิจารณาส่วนของร่างกาย ๕ อย่าง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นของปฏิกูล หรือโดยความเป็นสภาวะอย่างหนึ่งๆ ตามที่มันเป็นของมัน ไม่เอาใจเข้าไปผูกพันแล้วคิดวาดภาพใฝ่ฝันตามอำนาจกิเลส พจนานุกรมเขียน ตจปัญจกกรรมฐาน เรียกอีกอย่างว่า มูลกัมมัฏฐาน (กัมมัฏฐานเบื้องต้น)
ต่อหนังสือค่ำ : วิธีที่ใช้สอนให้จำ ในยุคที่ยังไม่ได้ใช้หนังสือ โดยอาจารย์สอนให้ว่าทีละคำหรือทีละวรรค ศิษย์ก็ว่าตามว่าซ้ำหลายๆ ครั้งเพื่อให้จำได้ เมื่อศิษย์จำได้แล้ว อาจารย์ก็สอนต่อไปทุกๆ วัน วันละมากหรือน้อยแล้วแต่ความสามารถของศิษย์ นี่เรียกว่า ต่อหนังสือ และมักต่อในเวลาค่ำ จึงเรียกว่าต่อหนังสือค่ำ
ติรัจฉานกถา : ถ้อยคำอันขวางต่อทางนิพพาน, เรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อถกเถียงสนทนา โดยไม่เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งสอนแนะนำทางธรรม อันทำให้คิดฟุ้งเฟ้อและพากันหลงเพลินเสียเวลา เสียกิจหน้าที่ที่พึงปฏิบัติตามธรรม เช่น ราชกถา สนทนาเรื่องพระราชา ว่าราชาพระองค์นั้นโปรดของอย่างนั้น พระองค์นี้โปรดของอย่างนี้ โจรกถา สนทนาเรื่องโจรว่าโจรหมู่นั้นปล้นที่นั่นได้เท่านั้นๆ ปล้นที่นี่ได้เท่านี้ๆ เป็นต้น (ท่านแสดงไว้ ๒๘ อย่าง หรือแยกย่อยได้ ๓๓ อย่าง)
ไตรปิฎก : “ปิฎก ๓”; ปิฎก แปลตามศัพท์อย่างพื้นๆ ว่า กระจาดหรือตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว โดยนัยนี้ ไตรปิฎกจึงแปลว่า คัมภีร์ที่บรรจุพระพุทธพจน์ (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา) ๓ ชุด หรือ ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด กล่าวคือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และ และอภิธรรมปิฎก
เทศนา : การแสดงธรรมสั่งสอนในทางศาสนา, การชี้แจงให้รู้จักดีรู้จักชั่ว, คำสอน; มี ๒ อย่าง คือ ๑.บุคคลาธิษฐาน เทศนา เทศนามีบุคคลเป็นที่ตั้ง ๒.ธรรมาธิษฐาน เทศนา เทศนามีธรรมเป็นที่ตั้ง
ธรรม : สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
ธรรมกถึก : ผู้กล่าวสอนธรรม, ผู้แสดงธรรม, นักเทศก์ โลกิยธรรม
ธรรมกาย : “ผู้มีธรรมเป็นกาย” เป็นพระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า (ตามความในอัคคัญญสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) หมายความว่า พระองค์ทรงคิดพุทธพจน์คำสอนด้วยพระหทัยแล้วทรงนำออกเผยแพร่ด้วยพระวาจา เป็นเหตุให้พระองค์ก็คือพระธรรม เพราะทรงเป็นแหล่งที่ประมวลหรือที่ประชุมอยู่แห่งธรรมอันปรากฏเปิดเผยออกมาแก่ชาวโลก; อนึ่งธรรมกายคือกองธรรมหรือชุมนุมแห่งธรรมนั้น ย่อมเจริญงอกงามเติบขยายขึ้นได้โดยลำดับจนไพบูลย์ ในบุคคลผู้เมื่อได้สดับคำสอนของพระองค์ แล้วฝึกอบรมตนด้วยไตรสิกขาเจริญมรรคให้บรรลุภูมิแห่งอริยชน ดังตัวอย่างดำรัสของพระมหาปชาบดีโคตมี เมื่อครั้งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อปรินิพพานตามความในคัมภีร์อปทานตอนหนึ่งว่า “ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์, ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ก็เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน..รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้ทำให้เจริญเติบโต ส่วนธรรมกายอันเป็นที่เอิบสุขของหม่อมฉัน ก็เป็นสิ่งอันพระองค์ได้ทำให้เจริญเติบโต”; สรุปตามนัยอรรถกถาธรรมกายก็คือโลกุตตรธรรม ๙ หรือ อริยสัจ
ธรรมทาน :
การให้ธรรม, การสั่งสอนแนะนำเกี่ยวกับธรรม, การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ดู ทาน
ธรรมวินัย : ธรรมและวินัย, คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วย ธรรม= คำสอนแสดงหลักความจริงและแนะนำความประพฤติ, วินัย = บทบัญญัติกำหนดระเบียบความเป็นอยู่และกำกับความประพฤติ ; ธรรม= เครื่องควบคุมใจ, วินัย= เครื่องควบคุมกายและวาจา
ธรรมสมโภค : คบหากันในทางเรียนธรรม ได้แก่ สอนธรรมให้หรือขอเรียนธรรม
ธัมมมัจฉริยะ : ตระหนี่ธรรม ได้แก่ หวงแหนความรู้ ไม่ยอกบอก ไม่ยอมสอนคนอื่น เพราะเกรงว่าเขาจะรู้เท่าตน (ข้อ ๕ ในมัจฉริยะ ๕)
นวโกวาท : คำสอนสำหรับผู้บวชใหม่, คำสอนสำหรับภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่, ชื่อหนังสือแบบเรียนนักธรรมชั้นตรี เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
นวังคสัตถุศาสน์ :
คำสั่งสอนของพระศาสดา มีองค์ ๙, พุทธพจน์มีองค์ประกอบ ๙ อย่าง, ส่วนประกอบ ๙ อย่างที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ ๑.สุตตะ (พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส) ๒.เคยยะ (ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน ได้แก่ พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด) ๓.เวยยากรณะ (ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถาเป็นต้น).๕.อุทาน (ได้แก่ พระคาถาพุทธอุทาน ๘๒ สูตร) ๖.อิติวุตตกะ (พระสูตรที่เรียกว่าอิติวุตตกะ ๑๑๐ สูตร) ๗.ชาตกะ (ชาดก ๕๕๐ เรื่อง) ๘.อัพภูตธรรม (เรื่องอัศจรรย์ คือพระสูตรที่กล่าวถึงข้ออัศจรรย์ต่างๆ) ๙.เวทัลละ (พระสูตรแบบถามตอบที่ให้เกิดความรู้และความพอใจแล้ว ซักถามยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร เป็นต้น); เขียนอย่างบาลีเป็น นวังคสัตถุสาสน์ ดู ไตรปิฎก
นันทะ : พระอนุชาของพระพุทธเจ้า แต่ต่างมารดา คือประสูติแต่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้ออกบวชในวันมงคลสมรสกับนางชนปทกัลยาณี เบื้องแรกประพฤติพรหมจรรย์อยู่ด้วยความจำใจ แต่ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงสอนด้วยอุบาย จนพระนันทะเปลี่ยนมาตั้งใจปฏิบัติธรรม และในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้สำรวมอินทรีย์ พระนันทะมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายพระพุทธเจ้า แต่ต่ำกว่าพระพุทธองค์ ๔ นิ้ว
นิสัย : 1.ที่พึ่ง, ที่อาศัย เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท (คือกล่าวคำขอร้องต่ออุปัชฌาย์ในพิธีอุปสมบท ขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยของตน ทำหน้าที่ปกครองสั่งสอนให้การศึกษาอบรมต่อไป) อาจารย์ผู้ให้นิสัย (อาจารย์ผู้รับที่จะทำหน้าที่เป็นที่พึ่ง ที่อาศัยปกครองแนะนำในการศึกษาอบรม) 2.ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต ๔ อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช 3.ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทำจนเป็นนิสัย
บรรยาย : การสอน, การแสดง, การชี้แจง; นัยโดยอ้อม, อย่าง, ทาง
ปฏิบัติบูชา : การบูชาด้วยการปฏิบัติคือ ประพฤติตามธรรมคำสั่งสอนของท่าน, บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติกระทำสิ่งที่ดีงาม (ข้อ ๒ ในบูชา ๒)
ปัจเจกพุทธะ :
พระพุทธเจ้าประเภทหนึ่งซึ่งตรัสรู้เฉพาะตัว มิได้สั่งสอนผู้อื่น ดู พุทธะ
ปัจฉิมโอวาท : คำสอนครั้งสุดท้าย หมายถึง ปัจฉิมวาจา คือ พระดำรัสสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพานว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
ปาฏิหาริย์ : สิ่งที่น่าอัศจรรย์, เรื่องที่น่าอัศจรรย์, การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์ มี ๓ คือ ๑. อิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ ๒.อาเทศนาปาฏิหาริย์ ทายใจได้เป็นอัศจรรย์ ๓.อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนมีผลจริงเป็นอัศจรรย์ ใน ๓ อย่างนี้ข้อสุดท้ายดีเยี่ยมเป็นประเสริฐ
ปิฎก :
ตามศัพท์แปลว่ากระจาด หรือ ตระกร้าอันเป็นภาชนะสำหรับใส่ของต่างๆ เอามาใช้ในความหมายเป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่จัดเป้นหมวดหมู่แล้ว มี ๓ คือ ๑.วินัยปิฎก รวบรวมพระวินัย ๒.สุตตันตปิฎก รวบรวมพระสูตร ๓.อภิธรรมปิฎก รวบรวมพระอภิธรรม เรียกรวมกันว่าพระไตรปิฎก (ปิฎก ๓) ดู ไตรปิฎก
ปุคคลัญญุตา : ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือ รู้ความแตกต่างแห่งบุคคล ว่าโดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น เป็นอย่างไร ควรคบควรใช้ควรสอนอย่างไร (ข้อ ๗ ในสัปปุริสธรรม ๗)
ปุณณมันตานีบุตร : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะเดิมชื่อปุณณะ เป็นบุตรของนางมันตานี ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ เป็นหลานของพระอัญญาโกณทัญญะ ได้บรรพชาเมื่อพระเถระผู้เป็นลุงเดินทางมายังเมืองกบิลพัสดุ์ บวชแล้วไม่นานก็บรรลุอรหัตตผล เป็นผู้ปฏิบัติตนตามหลักกถาวัตถุ ๑๐ และสอนศิษย์ของตนให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาพระธรรมกถึก หลักธรรมเรื่องวิสุทธิ ๗ ก็เป็นภาษิตของท่าน
พรหมทัณฑ์ : โทษอย่างสูง คือ สงฆ์ตกลงกันลงโทษภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยภิกษุทั้งหลายพร้อมใจกันไม่พูดด้วย ไม่ว่ากล่าวตักเตือน หรือสั่งสอนภิกษุรูปนั้น, พระฉันนะซึ่งเป็นพระเจ้าพยศ ถือตัวว่าเป็นคนเก่าใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก่อนใครอื่น ใครว่าไม่ฟัง ภายหลังถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ถึงกับเป็นลมล้มสลบหายพยศได้
พระธรรม : คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลักความจริงและหลักความประพฤติ
พระพุทธเจ้า :
พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม, ท่านผู้รู้ดีรู้ชอบด้วยตนเองก่อนแล้วสอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ; พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ที่ใกล้กาลปัจจุบันที่สุดและคัมภีร์กล่าวถึงบ่อยๆ คือ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคดม; พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์แห่งภัทรกัปป์ปัจจุบันนี้ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคดม และพระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอาริย์ หรือ พระศรีอารยเมตไตรย); พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์นับแต่พระองค์แรกที่พระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ได้ทรงพบและทรงได้รับการพยากรณ์ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า (รวม ๒๔ พระองค์) จนถึงพระองค์เองด้วย คือ ๑.พระทีปังกร ๒.พระโกณฑัญญะ ๓.พระมังคละ ๔.พระสุมนะ ๕.พระเรวตะ ๖.พระโสภิตะ ๗.พระอโนมทัสสี ๘.พระปทุมะ ๙.พระนารทะ ๑๐.พระปทุมุตตระ ๑๑.พระสุเมธะ ๑๒.พระสุชาตะ ๑๓.พระปิยทัสสี ๑๔.พระอัตถทัสสี ๑๕.พระธัมมทัสสี ๑๖.พระสิทธัตถะ ๑๗.พระติสสะ ๑๘.พระปุสสะ ๑๙.พระวิปัสสี ๒๐.พระสิขี ๒๑.พระเวสสภู ๒๒.พระกกุสันธะ ๒๓.พระโกนาคมน์ ๒๔.พระกัสสปะ ๒๕.พระโคตมะ (เรื่องมาในคัมภีร์พุทธวงส์ แห่งขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก); ดู พุทธะ ด้วย
พระศาสดา :
ผู้สอน เป็นพระนามเรียกพระพุทธเจ้า ดู ศาสดา
พระสงฆ์ :
หมู่ชนที่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย, หมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ดู สงฆ์
พระสาวก :
ผู้ฟังคำสอน, ศิษย์ของพระพุทธเจ้า ดู สาวก
พาวรี : พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ตั้งอาศรมสอนไตรเพทแก่ศิษย์อยู่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี ณ สุดเขตแดนแคว้นอัสสกะ ได้ส่งศิษย์ ๑๖ คนไปถามปัญหาพระศาสดา เพื่อจะทดสอบว่าพระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธะจริงหรือไม่ ภายหลังได้รับคำตอบแล้ว ศิษย์ชื่อปิงคิยะซึ่งเป็นหลานของท่านได้กลับมาเล่าเรื่องและแสดงคำตอบปัญหาของพระศาสดา ทำให้ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี
พุทธเวไนย : ผู้ที่พระพุทธเจ้าควรแนะนำสั่งสอน, ผู้ที่พระพุทธเจ้าพอแนะนำสั่งสอนได้
พุทธศาสนา : คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างกว้างในบัดนี้ หมายถึง ความเชื่อถือ การประพฤติปฏิบัติ และกิจการทั้งหมดของหมู่ชนผู้กล่าวว่าตนนับถือพระพุทธศาสนา
พุทธศาสนิก : ผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
พุทธโอวาท : คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีหลักใหญ่ ๓ ข้อ คือ ๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำความดีให้เพียบพร้อม ๓. สจิตฺตปริโยทปนํ ทำใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์
พุทธะ : ท่านผู้ตรัสรู้แล้ว, ผู้รู้อริยสัจ ๔ อย่างถ่องแท้ ตามอรรถกถาท่านแบ่งเป็น ๓ คือ ๑.พระพุทธเจ้า ท่านผู้ตรัสรู้เองและสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม (บางทีเรียกพระสัมมาสัมพุทธะ) ๒.พระปัจเจกพุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้เองจำเพาะผู้เดียว ๓.อนุพุทธะ ท่านผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า (เรียกอีกอย่างว่า สาวกพุทธะ); บางแห่งจัดเป็น ๔ คือ สัพพัญญูพุทธะ ปัจเจกพุทธะ จตุสัจจพุทธะ (=พระอรหันต์) และ สุตพุทธะ (=ผู้เป็นพหูสูต)
ราโชวาท : คำสั่งสอนของพระราชา
ราธะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นพราหมณ์ในเมืองราชคฤห์ เมื่อชราลงถูกบุตรทอดทิ้ง อยากจะบวชก็ไม่มีภิกษุรับบวชให้ เพราะเห็นว่าเป็นคนแก่เฒ่า ราธะเสียใจ ร่างกายซูบซีด พระศาสดาทรงทราบจึงตรัสถามว่า มีใครระลึกถึงอุปการะของราธะได้บ้าง พระสารีบุตรระลึกถึงภิกษาทัพพีหนึ่งที่ราธะถวาย จึงรับเป็นอุปัชฌาย์ และราธะได้เป็นบุคคลแรกที่อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ท่านบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต พระราธะเป็นผู้ว่าง่าย ตั้งใจรับฟังคำสั่งสอน มีความสุภาพอ่อนโยน เป็นตัวอย่างของภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรก็ชมท่าน ท่านเคยได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า เคยทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางก่อให้เกิดปฏิภาณ
วักกลิ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ชาวพระนครสาวัตถีเรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ บวชในพระพุทธศาสนา ด้วยความอยากเห็นพระรูปพระโฉมของพระศาสดา ครั้นบวชแล้วก็คอยติดตามดูพระองค์ตลอดเวลา จนไม่เป็นอันเจริญภาวนา พระพุทธเจ้าทรงรอเวลาให้ญาณของเธอสุกงอม ครั้นแล้วก็ตรัสเตือนเธอว่า “จะมีประโยชน์อะไรที่ได้เห็นกายเปื่อยเน่านี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ดังนี้เป็นต้น และทรงสอนต่อไปด้วยอุบายวิธีจนในที่สุดพระวักกลิก็ได้สำเร็จพระอรหัต และต่อมาได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในทางศรัทธาวิมุต คือ หลุดพ้นด้วยศรัทธา
วิศวามิตร : ครูผู้สอนศิลปวิทยาแก่พระราชกุมารสิทธัตถะ
เวไนยสัตว์ : สัตว์ผู้ควรแก่การแนะนำสั่งสอน, สัตว์ที่พึงแนะนำได้, สัตว์ที่พอดัดได้สอนได้