ทายิกา : ผู้ให้ (หญิง)
โสณา : พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาของผู้มีตระกูลในพระนครสาวัตถีนางมีสามีแล้ว มีบุตร ๑๔ คน เป็นชาย ๗ คน หญิง ๗ คน ภายหลังสามีถึงแก่กรรม ลูกชายหญิงก็แต่งงานไปหมด จึงออกบวชเป็นภิกษุณี มีความเพียรอย่างแรงกล้า เจริญวิปัสสนาอยู่ในเรือนไฟ ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปรารภความเพียร
กุลสตรี : หญิงมีตระกูลมีความประพฤติดี
คณิกา : หญิงแพศยา, หญิงงามเมือง
คิหิณี : หญิงผู้ครองเรือน, คฤหัสถ์หญิง
ชนนี : หญิงผู้ให้เกิด, แม่
นครโศภินี : หญิงงามเมือง, หญิงขายตัว (พจนานุกรมเขียน นครโสภิณี, นครโสเภณี)
เบญจกัลยาณี : หญิงมีลักษณะงาม ๕ อย่าง คือ ผมงาม เนื้องาม (คือเหงือกและริมฝีปากแดงงาม) ฟันงาม ผิวงาม วัยงาม (คือดูงามทุกวัย)
แพศยา : หญิงหากิจในทางกาม, หญิงหาเงินในทางร่วมประเวณี
ลัชชินี : หญิงผู้มีความละอายต่อบาป เป็นอิตถีลิงค์ ถ้าเป็นปุงลิงค์ เป็นลัชชี
สาวิกา : หญิงผู้ฟังคำสอน, สาวกหญิง, ศิษย์ผู้หญิง คู่กับ สาวก
อุบาสิกา : หญิงผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย, คนใกล้ชิดพระศาสนาที่เป็นหญิง, คฤหัสถ์ผู้หญิงที่แสดงตนเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนา โดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
อุปสัมปทาเปกขา : หญิงผู้เพ่งอุปสัมปทา คือผู้ขอบวชเป็นภิกษุณี
กะเทย : คนหรือสัตว์ ที่ไม่ปรากฏว่าเป็นชายหรือหญิง
กัญจนา : เจ้าหญิงแห่งเทวทหนครเป็นมเหสีของพระเจ้าสีหนุ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เป็นพระชนนีของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระอัยยิกาของเจ้าชายสิทธัตถะ
กัลยาณี : นางงาม, หญิงงาม, หญิงที่มีคุณธรรมน่านับถือ
กายสังสัคคะ : ความเกี่ยวข้องด้วยกาย, การเคล้าคลึงร่างกาย, เป็นชื่ออาบัติสังฆาทิเสสข้อที่ ๒ ที่ว่าภิกษุมีความกำหนัดถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม, การจับต้องกายหญิงโดยมีจิตกำหนัด
กุณฑธานะ : พระเถระผู้เป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เรียนจบไตรเพทตามลิทธิพราหมณ์ ต่อมา เมื่อสูงอายุแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมา ก็มีรูปหญิงคนหนึ่งติดตามตัวตลอดเวลาจนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัต รูปนั้นจึงหายไป ท่านได้รับยกย่อง จากพระศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในการถือเอาสลากเป็นปฐม
กุมารี : เด็กหญิง, เด็กรุ่นสาว, นางสาว
กุลธิดา : ลูกหญิงผู้มีตระกูลมีความประพฤติดี
โกลิยวงศ์ : ชื่อวงศ์กษัตริย์ข้างฝ่ายพระพุทธมารดา ที่ครองกรุงเทวทหะ; พระสิริมหามายา พุทธมารดา และ พระนางพิมพา ชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นเจ้าหญิงฝ่ายโกลิยวงศ์
เคาะ : ในประโยคว่า เหมือนชายหนุ่มพูดเคาะหญิงสาว พูดให้รู้ท่า
โคจรวิบัติ : วิบัติแห่งโคจร, เสียในเรื่องที่เที่ยว, ความเสียหายในการไปมาหาสู่ เช่นภิกษุไปในที่อโคจรมีร้านสุรา หญิงแพศยา แม่หม้าย บ่อนการพนัน เป็นต้น
ชักสื่อ : นำถ้อยคำหรือข่าวสาสน์ของชายและหญิง จากฝ่ายหนึ่งไปบอกอีกฝ่ายหนึ่ง หรือจากทั้ง ๒ ฝ่ายให้รู้ถึงกัน เพื่อให้เขาสำเร็จความประสงค์ในทางเมถุน (สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๕)
ชี : นับบวช, หญิงถือบวช, อุบาสิกาที่นุ่งขาวห่มขาวโกนผมโกนคิ้ว ถือศีล
ตะเบ็งมาน : เป็นชื่อวิธีห่มผ้าของหญิงอย่างหนึ่ง คือ เอาผ้าโอบหลังสอดรักแร้ ๒ ข้างออกมาข้างหน้า ชักชายไขว้กันขึ้นพาดบ่าปกลงไปเหน็บไว้ที่ผ้าโอบหลัง
ไตรลิงค์ : ๓ เพศ หมายถึง คำศัพท์ที่เป็นได้ทั้ง ๓ เพศในทางไวยากรณ์ กล่าวคือ ปุํลิงค์ เพศชาย อิตถีลิงค์ เพศหญิง นปุํสกลิงค์ มิใช่เพศชายและหญิง; คำบาลีที่เป็นไตรลิงค์ เช่น นิพฺพุโต นิพฺพุตา นิพฺพุตํ เป็น ปุํลิงค์ อิตถีลิงค์ และนปุํสกลิงค์ ตามลำดับ
ถุลลัจจัย :
“ความล่วงละเมิดที่หยาบ”, ชื่ออาบัติหยาบอย่างหนึ่งเป็นความผิดขั้นถัดรองลงมาจากอาบัติสังฆาทิเสส เช่น ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุชักสื่อบัณเฑาะก์ (กะเทย) ต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุนุ่งห่มหนังเสืออย่างเดียรถีย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ดู อาบัติ
เถรี : พระเถระผู้หญิง
ทุฏฐุลลวาจา : วาจาชั่วหยาบ เป็นชื่ออาบัติสังฆาทิเสสข้อที่ ๓ ที่ว่าภิกษุผู้มีความกำหนัด พูดเคาะมาตุคามด้วย วาจาชั่วหยาบ คือ พูดเกี้ยวหญิง กล่าววาจาหยาบโลมพาดพิงเมถุน
เทพธิดา : นางฟ้า, หญิงชาวสรรค์, เทวดาผู้หญิง
เทวดา : หมู่เทพ, ชาวสวรรค์ เป็นคำรวมเรียกชาวสวรรค์ทั้งเพศชายและเพศหญิง
นารี : ผู้หญิง, นาง
นิพพิทา : ความหน่าย หมายถึงความหน่ายที่เกิดขึ้นจากปัญญาพิจารณาเห็นความจริง ถ้าหญิงชายอยู่กินกันเกิดหน่ายกัน เพราะความประพฤติไม่ดีต่อกัน หรือหน่ายในมรรยาทของกันและกัน อย่างนี้ไม่จัดเป็นนิพพิทา; ความเบื่อหน่ายในกองทุกข์
บัณเฑาะก์ : กะเทย, คนไม่ปรากฏว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ได้แก่ กะเทยโดยกำเนิด ๑ ชายผู้ถูกตอนที่เรียกว่าขันที ๑ ชายมีราคะกล้าประพฤตินอกจารีตในทางเสพกามและยั่วยวนชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น ๑
ปมิตา : เจ้าหญิงองค์หนึ่งในวงศ์ศากยะ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าสีหหนุ เป็นพระเชฏฐภคินีของพระนางอมิตา เป็นพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า
ประเคน : ส่งของถวายพระภายในหัตถบาส, ส่งให้ถึงมือ; องค์แห่งการประเคนมี ๕ คือ ๑.ของไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป พอคนปานกลางคนเดียวยกได้ ๒.ผู้ประเคนเข้ามาอยู่ในหัตถบาส คือห่างประมาณศอกหนึ่ง ๓.เข้าน้อมของนั้นเข้ามาให้ ๔.น้อมให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือโยนให้ก็ได้ ๕.ภิกษุรับด้วยกาย ก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้ (ถ้าผู้หญิงประเคน ใช้ผ้ากราบหรือผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดรับ)
ปริพาชิกา : ปริพาชกเพศหญิง
พราหมณี : นางพราหมณ์, พราหมณ์ผู้หญิง
เพศ : ลักษณะที่ให้รู้ว่าหญิงหรือชาย, เครื่องหมายว่าเป็นชายหรือเป็นหญิง, ลักษณะและอาการที่ปรากฏให้เห็นว่าบุคคลประเภทนี้ ประเภทนี้ เช่น โดยเพศแห่งฤษี เพศบรรพชิต เพศแห่งช่างไม้ เป็นต้น, ขนบธรรมเนียม
ภคินี : พี่หญิง น้องหญิง
ภัททวัคคีย์ : พวกเจริญ, เป็นชื่อคณะสหาย ๓๐ คนที่พากันเข้ามาในไร่ฝ้ายแห่งหนึ่งเพื่อเที่ยวตามหาหญิงแพศยาผู้ลักห่อเครื่องประดับหนีไป และได้พบพระพุทธเจ้าซึ่งพอดีเสด็จแวะเข้าไปประทับพักอยู่ที่ไร่ฝ้ายนั้น ได้ฟังเทศนาอนุปุพพีกถา และอริยสัจ ๔ ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขออุปสมบท
ภาวรูป : รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ มี ๒ คือ อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง และ ปุริสภาวะ ความเป็นชาย
ภิกษุ :
ชายผู้ได้อุปสมบทแล้ว, ชายที่บวชเป็นพระ, พระผู้ชาย; แปลตามรูปศัพท์ว่า ผู้ขอ หรือ ผู้มองเห็นภัยในสังขาร หรือ ผู้ทำลายกิเลส ดู บริษัท๔สหธรรมิก, บรรพชิต, อุปสัมบัน ภิกษุสาวกรูปแรก ได้แก่ พระอัญญาโกณฑัญญะ ภิกษุณี หญิงที่ได้อุปสมบทแล้ว, พระผู้หญิงในพระพุทธศาสนา เทียบ ภิกษุ
มหากัจจายนะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในกัจจายนโคตรที่พระนครอุชเชนี เป็นบุตรปุโรหิตของพระราชาแห่งแคว้นอวันตี เรียนจบไตรเพทแล้ว ต่อมาได้เป็นปุโรหิตแทนบิดา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่งให้หาทางนำพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุชเชนี กัจจายนปุโรหิตจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุอรหัตตผล อุปสมบทแล้ว แสดงความประสงค์ที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าสู่แคว้นอวันตี พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ท่านเดินทางไปเอง ท่านเดินทางไปยังกรุงอุชเชนี ประกาศธรรม ยังพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองทั้งหมดให้เลื่อมใสในพระศาสนาแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่าท่านมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ บุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อโสเรยยะเห็นแล้วเกิดมีอกุศลจิตต่อท่านว่าให้ได้อย่างท่านเป็นภรรยาตนหรือให้ภรรยาตนมีผิวพรรณงามอย่างท่าน เพราะอกุศลจิตนั้น เพศของโสเรยยะกลายเป็นหญิงไป นางสาวโสเรยยะแต่งงานมีครอบครัว มีบุตรแล้ว ต่อมาได้พบและขอขมาต่อท่านเพศก็กลับเป็นชายตามเดิม โสเรยยะขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
มาตุคาม : ผู้หญิง
มาตุจฉา : พระน้านาง, น้าผู้หญิง
มายา : เจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าอัญชนะ เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นพระราชชนนี ของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระพุทธมารดา เจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๗ วัน พระนางก็สวรรคต, คำว่า “มายา” ในที่นี้ มิได้หมายความว่า มารยา ที่แปลว่า เล่ห์เหลี่ยม หรือล่อลวง แต่หมายถึงความงามที่ทำให้ผู้ประสบงวยงงหลงใหล, นิยมเรียกว่า พระนางสิริมหามายา
เมถุนสังโยค : อาการพัวพันเมถุน, ความประพฤติที่ยังเกี่ยวเนื่องกับเมถุน มี ๗ ข้อ โดยใจความคือ สมณะบางเหล่าไม่เสพเมถุน แต่ยังยินดีในเมถุนสังโยค คือ ชอบการลูบไล้และการนวดของหญิง, ชอบซิกซี้ เล่นหัวสัพยอกกับหญิง, ชอบจ้องดูตากับหญิง, ชอบฟังเสียงหัวเราะขับร้องของหญิง, ชอบนึกถึงการเก่าที่เคยหัวเราะพูดเล่นกับหญิง, เห็นชาวบ้านเขาบำรุงบำเรอกันด้วยกามคุณแล้วปลื้มใจ, หรือแม้แต่ประพฤติพรหมจรรย์ โดยตั้งความปรารถนาที่จะเป็นเทพเจ้า
ยโสธรา : 1.เจ้าหญิงศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าชยเสนะ เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอัญชนะผู้ครองกรุงเทวทหะ เป็นพระมารดาของพระนางสิริมหามายา และพระนางปชาบดีโคตมี 2.อีกชื่อหนึ่งว่าพิมพา เป็นเจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ เป็นพระชายาของพระสิทธัตถะ เป็นมารดาของพระราหุล ต่อมาออกบวช เรียกชื่อว่า พระภัททา กัจจานา