ทวารหนัก : ช่องอุจจาระ
กรรม ๑๒ : กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ ๑๒ อย่างคือ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่ ๑.ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้ ๒.อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า ๓.อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆไป ๔.อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ ได้แก่ ๕.ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ๖.อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือเข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม ๗.อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาบางหรือสั้นเข้า ๘.อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรม ๒ อย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล ได้แก่ ๙.ครุกกรรม กรรมหนัก ให้ผลก่อน ๑๐.พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองลงมา ๑๑.อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น ๑๒.กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล
ขราพาธ : อาพาธหนัก, ป่วยหนัก
ขันติ : ความอดทน คือ ทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเจ็บใจ, ความหนักเอาเบาสู้ เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีงาม
ครุ : เสียงหนัก ได้แก่ ทีฆสระ คือ อา อี อู เอ โอ และสระที่มีพยัญชนะสะกด ซึ่งเรียกว่า สังโยค เช่น พุทฺโธ โลเก อุปฺปนฺโน
ครุกรรม : กรรมหนักทั้งที่เป็นกุสลและอกุศล ในฝ่ายกุศลได้แก่ฌานสมาบัติในฝ่ายอกุศลได้แก่อนันตริยกรรม กรรมนี้ให้ผลก่อนกรรมอื่นเหมือนคนอยู่บนที่สูงเอาวัตถุต่างๆ ทิ้งลงมาอย่างไหนหนักที่สุด อย่างนั้นถึงพื้นก่อน
ครุกาบัติ : อาบัติหนัก ได้แก่อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ ภิกษุต้องแล้วจำต้องสึกเสีย และอาบัติสังฆาทิเสส อยู่กรรมจึงจะพ้นได้
ครุธรรม : ธรรมอันหนัก, หลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ ๑.ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว ๒.ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้ ๓.ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน ๔.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจหมายถึง ระแวงสงสัยหรือประพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง) ๕.ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน ๖.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา ๗.ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ ๘.ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุแต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้
ครุภัณฑ์ : ของหนัก เช่น กุฎี ที่ดิน เตียง ตั่ง เป็นต้น (คู่กับ ลหุภัณฑ์)
จริต : ความประพฤติ, พื้นนิสัย หรือพื้นเพแห่งจิตของคนทั้งหลายที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง แตกต่างกันไปคือ ๑.ราคจริต ผู้มีจาคะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจ) ๒.โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด) ๓.โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางเหงาซึม งมงาย) ๔.สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางน้อมใจเชื่อ) ๕.พุทธิจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดพิจารณา) ๖.วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน)
ญาณจริต : คนที่มีพื้นนิสัยหนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วย แนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ (เป็นอีกชื่อหนึ่งของพุทธจริต)
โทสจริต : คนมีพื้นนิสัยหนักในโทสะ หงุดหงิด โกรธง่าย แก้ด้วยเจริญเมตตา (ข้อ ๒ ในจริต ๖)
ธิติ : 1.ความเพียร, ความเข้มแข็งมั่นคง, ความหนักแน่น, ความอดทน 2.ปัญญา
ปฏาจารา : พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาเศรษฐีในพระนครสาวัตถีได้รับวิปโยคทุกข์อย่างหนักเพราะสามีตาย ลูกตาย พ่อแม่พี่น้องตายหมด ในเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีและติดต่อกัน ถึงกับเสียติดปล่อยผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ย เดินบ่นเพ้อไปในที่ต่างๆ จนถึงพระเชตวัน พระศาสดาทรงแผ่พระเมตตา เปล่งพระวาจาให้นางกลับได้สติ แล้วแสดงพระธรรมเทศนา นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผล บวชเป็นพระภิกษุณี ไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทรงพระวินัย
ประเคน : ส่งของถวายพระภายในหัตถบาส, ส่งให้ถึงมือ; องค์แห่งการประเคนมี ๕ คือ ๑.ของไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป พอคนปานกลางคนเดียวยกได้ ๒.ผู้ประเคนเข้ามาอยู่ในหัตถบาส คือห่างประมาณศอกหนึ่ง ๓.เข้าน้อมของนั้นเข้ามาให้ ๔.น้อมให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือโยนให้ก็ได้ ๕.ภิกษุรับด้วยกาย ก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้ (ถ้าผู้หญิงประเคน ใช้ผ้ากราบหรือผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดรับ)
ปละ : (ปะละ) ชื่อมาตราสำหรับชั่งน้ำหนักประมาณ ๕ ชั่ง
ปาราชิก : เป็นชื่ออาบัติหนักที่ภิกษุต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ, เป็นชื่อบุคคลผู้ที่พ่ายแพ้ คือ ต้องอาบัติปาราชิกที่ทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ, เป็นชื่อสิกขาบท ที่ปรับอาบัติหนักขั้นขาดจากความเป็นภิกษุมี ๔ อย่าง คือ เสพเมถุน ลักของเขา ฆ่ามนุษย์ อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน
พุทธิจริต : พื้นนิสัยที่หนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วยแนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ (ข้อ ๕ ใน จริต ๖)
ภคันทลา : โรคริดสีดวงทวารหนัก
ภาระ : “สิ่งที่ต้องนำพา”, ธุระหนัก, การงานที่หนัก, หน้าที่ที่ต้องรับเอา, เรื่องที่พึงรับผิดชอบ, เรื่องหนักที่จะต้องเอาใจใส่หรือจัดทำ
โภชชยาคู :
ข้าวต้มสำหรับฉันให้อิ่ม เช่น ข้าวต้มหมู เป็นต้น มีคติอย่างเดียวกันกับอาหารหนัก เช่น ข้าวสวยต่างจากยาคูที่กล่าวถึงตามปกติในพระวินัย ซึ่งเป็นของเหลวใช้สำหรับดื่ม ภิกษุรับนิมนต์ในที่แห่งหนึ่งไว้ฉันยาคูไปก่อนไม่ได้ ดู ยาคู
มหันตโทษ : โทษหนัก, โทษอย่างหนัก คู่กับ ลหุโทษ โทษเบา
โมหจริต : พื้นนิสัยที่หนักในโมหะ โง่เขลา งมงาย พึงแก้ด้วยให้มีการเรียน การถาม การฟังธรรม สนทนาธรรม ตามกาล หรืออยู่กับครู (ข้อ ๓ ในจริต ๖)
ยาคู :
ข้าวต้ม, เป็นอาหารเบาสำหรับฉันรองท้องก่อนถึงเวลาฉันอาหารหนักเป็นของเหลว ดื่มได้ ซดได้ ไม่ใช่ของฉันให้อิ่ม เช่น ภิกษุดื่มยาคูก่อนแล้วไปบิณฑบาต ยาคูสามัญอย่างนี้ ที่จริงจะแปลว่าข้าวต้มหาถูกแท้ไม่ แต่แปลกันมาอย่างนั้นพอให้เข้าใจง่ายๆ ข้าวต้มที่ฉันเป็นอาหารมื้อหนึ่งได้อย่างที่ฉันกันอยู่โดยมากมีชื่อเรียกต่างออกไปอีกอย่างหนึ่งว่า ดู โภชชยาคู
ราคจริต : พื้นนิสัยที่หนักในราคะ เช่น รักสวย รักงาม แก้ด้วยเจริญกายคตาสติ หรืออสุภกัมมัฏฐาน (ข้อ ๑ ในจริต ๖)
ลหุโทษ : โทษเบา คู่กับ มหันตโทษ โทษหนัก
วัตถิกรรม : การผูกรัดที่ทวารหนักคือผูกรัดหัวริดสีดวงงอกที่ทวารหนัก ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะหมายถึงการสวนทวารเบาก็ได้
วัตถุสมบัติ : ความถึงพร้อมแห่งวัตถุ, ความสมบูรณ์โดยบุคคลหรือวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการทำสังฆกรรมนั้นๆ มีคุณสมบัติถูกต้อง ทำให้สังฆกรรมใช้ได้ไม่บกพร่องในด้านนี้ เช่น ในการอุปสมบท ผู้ขอบวชเป็นชายมีอายุครบ ๒๐ ปี ไม่เป็นมนุษย์วิบัติเช่นถูกตอน ไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงเช่นฆ่าบิดามารดา ไม่ใช่คนทำความเสียหายในพระพุทธศาสนาอย่างหนัก เช่น ปาราชิก เมื่อบวชคราวก่อน ดังนี้เป็นต้น
วางไว้ทำร้าย : ได้แก่ วางขวาง ฝังหลาวไว้ในหลุมพราง วางของหนักไว้ให้ตกทับ วางยาพิษ เป็นต้น
วาจาชั่วหยาบ :
ในวินัยหมายถึงถ้อยคำพาดพิงทวารหนักทวารเบาและเมถุน ดู ทุฏฐุลลวาจา
วิตกจริต : พื้นนิสัยหนักในทางตรึก, มีวิตกเป็นปกติ, มีปกตินึกพล่านหรือคิดจับจดฟุ้งซ่าน, ผู้มีจริตชนิดนี้พึงแก้ด้วย เพ่งกสิณ หรือเจริญอานาปานสติ
วุฏฐานวิธี : ระเบียบเป็นเครื่องออกจากอาบัติ หมายถึงระเบียบวิธีปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้จะเปลื้องตนจากอาบัติหนักขั้นสังฆาทิเสส, มีทั้งหมด ๔ อย่าง คือ ปริวาส มานัต อัพภาน และปฏิกัสสนา
สังฆาทิเสส : ชื่อหมวดอาบัติหนักรองจากปาราชิก ต้องอยู่กรรมจึงพ้นได้ คือเป็นครุกาบัติ (อาบัติหนัก) แต่ยังเป็นสเตกิจฉา (แก้ไขหรือเยียวยาได้); ตามศัพท์ สังฆาทิเสส แปลว่า หมวดอาบัติอันจำปรารถนาสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลอ, หมายความว่า วิธีการที่จะออกจากอาบัตินี้ ต้องอาศัยสงฆ์ ตั้งแต่ต้นไปจนตลอด กล่าวคือ เริ่มต้นจะอยู่ปริวาส ก็ต้องขอปริวาสจากสงฆ์ ต่อจากนั้น จะประพฤติมานัตก็ต้องอาศัยสงฆ์เป็นผู้ให้ ถ้ามีมูลายปฏิกัสสนาก็ต้องสำเร็จด้วยสงฆ์อีกและท้ายที่สุดก็ต้องขออาภัพภานจากสงฆ์; สิกขาบทที่ภิกษุละเมิดแล้ว จะต้องอาบัติสังฆาทิเสส ใช้เป็นชื่อเรียกสิกขาบท ๑๓ ข้อนี้ด้วย
สัทธาจริต : พื้นนิสัยหนักในสัทธา เชื่อง่าย พึงแก้ด้วยปสาทนียกถา คือถ้อยคำที่นำให้เกิดความเลื่อมใสในทางที่ถูก ที่ควร และด้วยความเชื่อที่มีเหตุผล (ข้อ ๔ ในจริต ๖)
อเตกิจฉา : แก้ไขไม่ได้, เยียวยาไม่ได้ หมายถึงอาบัติมีโทษหนักถึงที่สุด ต้องแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ คือ อาบัติปาราชิก คู่กับ สเตกิจฉา
อนันตริยกรรม : กรรมหนัก, กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน, กรรมที่ให้ผลคือ ความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย มี ๕ อย่าง คือ ๑) มาตุฆาต ฆ่ามารดา ๒) ปิตุฆาต ฆ่าบิดา ๓) อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ๔) โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป ๕) สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน
อภิฐาน : ฐานะอย่างหนัก, ความผิดสถานหนัก มี ๖ อย่าง คือ ๑) มาตุฆาต ฆ่ามารดา ๒) ปิตุฆาต ฆ่าบิดา ๓) อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ๔) โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ถึงห้อพระโลหิต ๕) สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน ๖) อัญญสัตถุเทส ถือศาสดาอื่น
อัญญสัตถุเทศ : การถือศาสนาอื่น จัดเป็นความผิดพลาดสถานหนัก (ข้อ ๖ ในอภิฐาน ๖)
อัฏฐารสเภทกรวัตถุ : เรื่องทำความแตกกัน ๑๘ อย่าง, เรื่องที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกแก่สงฆ์ ๑๘ ประการ ท่านจัดเป็น ๙ คู่ (แสดงแต่ฝ่ายคี่) คือ ภิกษุแสดงสิ่งมิใช่ธรรมว่าเป็นธรรม, แสดงสิ่งมิใช่วินัยว่าเป็นวินัย, แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ตรัสว่าได้ตรัส, แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ประพฤติ ว่าได้ประพฤติ, แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้บัญญัติ ว่าได้บัญญัติ, แสดงอาบัติว่ามิใช่อาบัติ, แสดงอาบัติเบาว่าเป็นอาบัติหนัก, แสดงอาบัติมีส่วนเหลือวาเป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ, แสดงอาบัติหยาบคายว่ามิใช่อาบัติหยาบคาย (ฝ่ายคู่ก็ตรงกันข้ามจากนี้ตามลำดับ เช่น แสดงธรรมว่ามิใช่ธรรม, แสดงวินัยว่ามิใช่วินัย ฯลฯ แสดงอาบัติไม่หยาบคาย ว่าเป็นอาบัติหยาบคาย)
อาบัติ : การต้อง, การล่วงละเมิด, โทษที่เกิดแต่การละเมิดสิกขาบท; อาบัติ ๗ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต; อาบัติ ๗ กองนี้จัดรวมเป็นประเภทได้หลายอย่าง โดยมากจัดเป็น ๒ เช่น ๑) ครุกาบัติ อาบัติหนัก (ปาราชิกและสังฆาทิเสส) ๒) ลหุกาบัติ อาบัติเบา (อาบัติ ๕ อย่างที่เหลือ); คู่ต่อไปนี้ก็เหมือนกัน คือ ๑) ทุฏฐลลาบัติ อาบัติไม่ชั่วหยาบ; ๑) อเทสนนาคามินี อาบัติที่ไม่พ้นได้ด้วยการแสดง ๒) เทสนาคามินี อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดงคือเปิดเผยความผิดของตน; คู่ต่อไปนี้จัดต่างออกไปอีกแบบหนึ่งตรงกันทั้งหมด คือ ๑) อเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขไม่ได้ (ปาราชิก) ๒) สเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขได้ (อาบัติ ๖ อย่างที่เหลือ); ๑) อนวเสส ไม่มีส่วนเหลือ ๒) สาวเสส ยังมีส่วนเหลือ; ๑) อัปปฏิกัมม์หรืออปฏิกรรม ทำคืนไม่ได้คือแก้ไขไม่ได้ ๒) สัปปฏิกัมม์ หรือ สปฏิกรรม ยังทำคืนได้ คือแก้ไขได้
องคุลิมาล : พระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เคยเป็นมหาโจรโด่งดังเป็นบุตรของภัคควพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณ์ เดิมชื่ออหิงสกะ (แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน) ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เพื่อนศิษย์ด้วยกันริษยา ยุอาจารย์ให้กำจัดเสีย อาจารย์ลวงด้วยอุบายให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพัน แล้วจะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ จึงกลายเป็นมหาโจรผู้โหดร้ายทารุณ ตัดนิ้วมือคนที่ตนฆ่าตายแล้ว ร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องฺคุลิมาล (แปลว่ามีนิ้วเป็นมาลัย) ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านเป็นต้นแห่งพุทธบัญญัติไม่ให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง
จุฬามณีเจดีย์ : พระเจดีย์ที่บรรจุพระจุฬาโมลี (มวยผม) ของพระพุทธเจ้าในดาวดึงสเทวโลก อรรถกถาเล่าว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกบรรพชาเสด็จข้ามแม่น้ำอโนมาแล้วจะอธิษฐานเพศบรรพชิต ทรงตัดมวยพระเกศาขว้างไปในอากาศ พระอินทร์นำผอบแก้วมารองรับเอาไปประดิษฐานในพระเจดีย์จุฬามณี ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ในขณะแจกพระบรมสารีริกธาตุ พระอินทร์ได้มานำเอาพระทาฐธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ข้างขวาที่โทณพราหมณ์ซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะ ใส่ผอบทอง นำไปบรรจุในจุฬามณีเจดีย์ด้วย
สตฺถา เทวมนุสฺสานํ : ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, ทรงเป็นครูของบุคคลทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ, ทรงประกอบด้วยคุณสมบัติของครูและทรงทำหน้าที่ของครูเป็นอย่างดี คือทรงพร่ำสอนด้วยมหากรุณาหวังให้ผู้อื่นได้ความรู้อย่างแท้จริง, ทรงสอนมุ่งความจริงและประโยชน์เป็นที่ตั้ง ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ด้วยประโยชน์ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ และปรมัตถะ, ทรงรู้จริงและปฏิบัติด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงสอนผู้อื่นให้รู้และปฏิบัติตาม ทรงทำกับตรัสเหมือนกัน ไม่ใช่ตรัสสอนอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง, ทรงฉลาดในวิธีสอน, และทรงเป็นผู้นำหมู่ดุจนายกองเกวียน (ข้อ ๗ ในพุทธคุณ ๙)
สังฆการี : เจ้าหน้าที่ผู้ทำการสงฆ์, เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ในงานหลวง, เจ้าหน้าที่ผู้เป็นพนักงานในการพิธีสงฆ์ มีมาแต่โบราณสมัยอยุธยาสังกัดในกรมสังฆการี ซึ่งรวมอยู่ด้วยกันกับกรมธรรมการเรียกรวมว่ากรมธรรมการสังฆการี เดิมเรียกว่า สังกะรีหรือสังการี เปลี่ยนเรียกสังฆการีในรัชกาลที่ ๔ ต่อมาเมื่อตั้งกระทรวงธรรมการใน พ.ศ.๒๔๓๒ กรมธรรมการสังฆการีเป็นกรมหนึ่งในสังกัดของกระทรวงนั้น จนถึง พ.ศ.๒๔๕๔ กรมสังฆการีจึงแยกเป็นกรมต่างหากกันกับกรมธรรมการ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๗๖ กรมสังฆการีถูกยุบลงเป็นกองสังกัดในกรมธรรมการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาอีกใน พ.ศ.๒๔๘๔ กรมธรรมการเปลี่ยนชื่อเป็นกรมศาสนา และในคราวท้ายสุด พ.ศ.๒๕๑๕ กองสังฆการีได้ถูกยุบเลิกไป และมีกองศาสนูปถัมภ์ขึ้นมาแทน ปัจจุบันจึงไม่มีสังฆการี; บางสมัยสังฆการีมีอำนาจหน้าที่กว้างขวาง มิใช่เป็นเพียงเจ้าพนักงานในราชพิธีเท่านั้น แต่ทำหน้าที่ชำระอธิกรณ์พิจารณาโทษแก่พระสงฆ์ผู้ล่วงละเมิดสิกขาบทประพฤติผิดธรรมวินัยด้วย
สุคโต : “เสด็จไปดีแล้ว” คือ ทรงมีทางเสด็จที่ดีงามอันได้แก่อริยมรรค, เสด็จไปด้วยดีโดยชอบ กล่าวคือ ทรงดำเนินรุดหน้าไม่หวนกลับคืนมาสู่กิเลสที่ทรงละได้แล้ว ทรงดำเนินสู่ผลสำเร็จไม่ถอยหลัง ไม่กลับตกจากฐานะที่ลุถึงทรงดำเนินในทางอันถูกต้องคือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เฉเชือนไปในทางผิด คือ กามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค เสด็จไปดี เสด็จที่ใดก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่มหาชนในที่นั้น เสด็จไปโดยสวัสดีและนำให้เกิดความสวัสดีแม้แต่พบองคุลิมาลมหาโจรร้าย ก็ทรงกลับใจให้เขากลายเป็นคนดีไม่มีภัยเสด็จผ่านไปแล้วด้วยดี ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจไว้บริบูรณ์ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ เพื่อชาวโลก ให้เป็นเครื่องเผล็ดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งปวงผู้เกิดมาในภายหลัง, ทรงมีพระวาจาดี หรือตรัสโดยชอบ คือ ตรัสแต่คำจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในกาลที่ควรตรัส และแก่บุคคลที่ควรตรัส (ข้อ ๔ ในพุทธคุณ ๙)
สุภูติ : พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรสุมนเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี ได้ไปร่วมงานฉลองวัดเชตวันของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา มีความเลื่อมใสบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเจริญวิปัสสนา ทำเมตตาฌานให้เป็นบาทได้สำเร็จพระอรหัต พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ๒ ทาง คือในทางอรณวิหาร (เจริญฌานประกอบด้วยเมตตา) และเป็นทักขิไณยบุคคล
อนุศาสน์ : การสอน, คำชี้แจง; คำสอนที่อุปัชฌาย์หรือกรรมวาจาจารย์บอกแก่ภิกษุใหม่ ในเวลาอุปสมบทเสร็จประกอบด้วย นิสสัย ๔ และ อกรณียกิจ ๔ นิสสัย คือ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต มี ๔ อย่าง ได้แก่ ๑) เที่ยวบิณฑบาต ๒) นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ๓) อยู่โคนไม้ ๔) ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า (ท่านบอกไว้เป็นทางแสวงหาปัจจัย ๔ พร้อมทั้งอตเรกลาภของภิกษุ) อกรณียกิจ กิจที่ไม่ควรทำ หมายถึง กิจที่บรรพชิตทำไม่ได้ มี ๔ อย่าง ได้แก่ ๑) เสพเมถุน ๒) ลักของเขา ๓) ฆ่าสัตว์ (ที่ให้าดจากความเป็นภิกษุหมายเอาฆ่ามนุษย์) ๔) พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน
อสีติมหาสาวก : พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ องค์ บางทีเรียกอนุพุทธ ๘๐ องค์ มีรายนามตามลำดับอักษร ดังนี้ (ที่พิมพ์ตัว เอน คือท่านที่เป็นเอตทัคคะด้วย): กังขาเรวต, กัปป, กาฬุทายี, กิมพิล, กุมารกัสสป, กุณฑธาน, คยากัสสป, ควัมปติ, จุนท, จูฬปันถก, ชตุกัณณิ, ติสสเมตเตยย, โตเทยย, ทัพพมัลลบุตร, โธตก, นทีกัสสป, นันท, นันทก, นันทก, นาคิต, นาลก, ปิงคิย, ปิณโฑลภารทวาช, ปิลินทวัจฉ, ปุณณก, ปุณณชิ, ปุณณมันตานีบุตร, ปุณณสุนาปรันต, โปสาล, พาลุกะ (พักกุละ ก็เรียก), พาหิย ทารุนีริย, ภคุ, ภัททิย (ศากยะ), ภัททิย, ภัทราวุธ, มหากัจจายน, มหากัปปิน, มหากัสสป, มหาโกฏฐิต, มหานาม, มหาปันถก, มหาโมคคัลลาน, เมฆิย, เมตตคู, โมฆราช, ยส, ยโสช, รัฏฐปาล, ราธ, ราหุล, เรวตขทิรวนิย, ลกุณฏกภัททิย, วักกลิ, วังคีส, วัปป, วิมล, สภิย, สาคต, สารีบุตร, สีวลี, สุพาหุ, สุภูติ, เสล, โสณกุฏิกัณณ, โสณโกฬิวิส, โสภิต, เหมก, องคุลิมาล, อชิต, อนุรุทธ, อัญญาโกณทัญญ, อัสสชิ, อานนท, อุทย, อุทายี, อุบาลี, อุปวาณ, อุปสีว, อุปเสนวังคันตบุตร, อุรุเวลกัสสป