อักขรวิธี : ตำราว่าด้วยวิธีเขียนและอ่านหนังสือให้ถูกต้อง
ต่อหนังสือค่ำ : วิธีที่ใช้สอนให้จำ ในยุคที่ยังไม่ได้ใช้หนังสือ โดยอาจารย์สอนให้ว่าทีละคำหรือทีละวรรค ศิษย์ก็ว่าตามว่าซ้ำหลายๆ ครั้งเพื่อให้จำได้ เมื่อศิษย์จำได้แล้ว อาจารย์ก็สอนต่อไปทุกๆ วัน วันละมากหรือน้อยแล้วแต่ความสามารถของศิษย์ นี่เรียกว่า ต่อหนังสือ และมักต่อในเวลาค่ำ จึงเรียกว่าต่อหนังสือค่ำ
ปกรณ์ : คัมภีร์, ตำรา, หนังสือ
วรรณะ : ผิว, สี, เพศ, ชนิด, พวก, เหล่า, หนังสือ, คุณความดี, ความยกย่องสรรเสริญ; ชนชั้นที่จัดแบ่งออกไปตามหลักศาสนาพราหมณ์เรียกว่า วรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
ลักเพศ : แต่งตัวปลอมเพศ เช่นไม่เป็นภิกษุ แต่นุ่งห่มผ้าเหลือง แสดงตัวเป็นภิกษุ (อ่าน ลัก-กะ-เพด)
สมมติสัจจะ : จริงโดยสมมติ คือ โดยความตกลงหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์ เช่น นาย ก.นาย ข.ช้าง ม้า มด โต๊ะ หนังสือ พ่อ แม่ ลูก เพื่อน เป็นต้น ซึ่งเมื่อกล่าวตามสภาวะ หรือโดยปรมัตถ์แล้ว ก็เป็นเพียงสังขาร หรือนามรูป หรือขันธ์ ๕ เท่านั้น; คู่กับ ปรมัตถสัจจะ
บัณเฑาะว์ : (อ่านว่าบันเดาะ) กลองเล็กชนิดหนึ่งมีหนัง ๒ หน้าตรงกลางคอด ริมทั้ง ๒ ใหญ่ พราหมณ์ใช้ในพิธีต่างๆ ขับโดยใช้ลูกตุ้มกระทบหน้ากลองทั้ง ๒ ข้าง; สีมามีสัณฐานดุจบัณเฑาะว์ คือมีลักษณะทรวดทรงเหมือนบัณเฑาะว์
บุพพสิกขาวัณณนา : หนังสืออธิบายพระวินัย พระอมราภิรักขิต (อมร เกิด) วัดบรมนิวาส เป็นผู้แต่ง
พินัยกรรม : หนังสือสำคัญที่เจ้าทรัพย์ทำไว้ก่อนตาย แสดงความประสงค์ว่าเมื่อตายแล้วขอมอบมรดกที่ระบุไว้ในหนังสือหนังสือสำคัญนั้น ให้แก่คนนั้นๆ, ตามพระวินัย ถ้าภิกษุทำเช่นนี้ ไม่มีผล ต้องปลงบริขาร จึงใช้ได้
ราชสาสน์ : หนังสือทางราชการของพระราชา
แกงได : รอยกากบาทหรือขีดเขียนซึ่งคนไม่รู้หนังสือขีดเขียนลงไว้เป็นสำคัญ
จาร : เขียนตัวหนังสือหรือเลขลงบนใบลาน เป็นต้น โดยใช้เหล็กแหลมขีด, ใช้เหล็กแหลมเขียนตัวหนังสือ
เจตภูต : สภาพเป็นผู้คิดอ่าน, ตามที่เข้าใจกัน หมายถึงดวงวิญญาณหรือดวงชีพอันเที่ยงแท้ที่สิงอยู่ในตัวคน กล่าวกันว่าออกจากร่างได้ในเวลานอนหลับ และเป็นตัวไปเกิดใหม่เมื่อกายนี้แตกทำลาย เป็นคำที่ไทยเราใช้เรียกแทนคำว่า อาตมัน หรืออัตตาของลัทธิพราหมณ์และเป็นความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา
เจโตปริยญาณ :
ปรีชากำหนดรู้ในผู้อื่นได้, รู้ใจผู้อื่นอ่านความคิดของเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ ใจเขาเศร้าหมองหรือผ่องใส เป็นต้น ดู วิชชา, อภิญญา
ฎีกา : 1.ปกรณ์ที่พระอาจารย์ทั้งหลาย ในภายหลัง แต่งแก้หรืออธิบายเพิ่มเติมอรรถกถา 2.หนังสือนิมนต์พระสงฆ์ 3.ใบบอกบุญเรี่ยไร
ทุพภาสิต :
“พูดไม่ดี” “คำชั่ว” “คำเสียหาย” ชื่ออาบัติเบาที่สุดที่เกี่ยวกับคำพูดเป็นความผิดในลำดับถัดรองจากทุกกฎ เช่น ภิกษุพูดกับภิกษุที่มีกำเนิดเป็นจัณฑาล ว่าเป็นคนชาติจัณฑาล ถ้ามุ่งว่ากระทบให้อัปยศ ต้องอาบัติทุกกฎ แต่ถ้ามุ่งเพียงล้อเล่น ต้องอาบัติทุพภาษิต ดู อาบัติ
ธรรมสวนะ : การฟังธรรม, การหาความรู้ความเข้าใจในหลักความจริง ความถูกต้องดีงาม ด้วยการเล่าเรียน อ่านและสดับฟัง, การศึกษาหาความรู้ ที่ปราศจากโทษ; ธัมมัสสวนะ ก็เขียน
นวโกวาท : คำสอนสำหรับผู้บวชใหม่, คำสอนสำหรับภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่, ชื่อหนังสือแบบเรียนนักธรรมชั้นตรี เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เนปาล : ชื่อประเทศอันเคยเป็นที่ตั้งของแคว้นศากยะบางส่วน รวมทั้งลุมพินีอันเป็นที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดียและทางใต้ของประเทศจีน มีเนื้อที่ ๑๔๐,๗๙๗ ตารางกิโลเมตร มีพลเมืองประมาณ ๑๓,๔๒๐,๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๒๑); หนังสือเก่าเขียน เนปอล
ใบฎีกา : 1.หนังสือนิมนต์พระ ตัวอย่าง “ขออาราธนาพระคุณเจ้า (พร้อมด้วยพระสงฆ์ในวัดนี้อีก......รูป) เจริญพระพุทธมนต์ (หรือสวดมนต์ หรือแสดงพระธรรมเทศนา) ในงาน.....บ้าน เลขที่.......ตำบล.......อำเภอ.......ในวันที่......เดือน.......พ.ศ........เวลา......น.” (หากจะอาราธนาให้รับอาหารบิณฑบาตเช้าหรือเพลหรือมีการตักบาตรใช้ปิ่นโต ก็ให้ระบุไว้ด้วย) 2.ตำแหน่งพระฐานานุกรมรองจากสมุห์ลงมา
ประพาส : ไปเที่ยว, เที่ยวเล่น, อยู่แรม
ปัพพาชนียกรรม : กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันพึงจะไล่เสีย, การขับออกจากหมู่, การไล่ออกจากวัด, กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลและประพฤติเลวทรามเป็นข่าวเซ็งแซ่ หรือแก่ภิกษุผู้เล่นคะนอง ๑ อนาจาร ๑ ลบล้างพระบัญญัติ ๑ มิจฉาชีพ ๑ (ข้อ ๓ ในนิคหกรรม ๖)
ปาจิตตีย์ :
แปลตามตัวอักษรว่า การละเมิดอันยังกุศลให้ตก, ชื่ออาบัติเบาเรียกลหุกาบัติ พ้นด้วยการแสดง; เป็นชื่อสิกขาบท ได้แก่ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ และสุทธิกปาจิตตีย์ ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่า ปาจิตตีย์ อีก ๙๒ ภิกษุล่วงละเมิดสิกขาบท ๑๒๒ ข้อเหล่านี้ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์ เช่น ภิกษุพูดปด ฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน ว่ายน้ำเล่น เป็นต้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ดู อาบัติ
พยัญชนะ : อักษร, ตัวหนังสือที่มิใช่สระ; กับข้าวนอกจากแกง คู่กับสูปะ; ลักษณะของร่างกาย
พากุละ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรเศรษฐีเมืองโกสัมพี มีเรื่องเล่าว่า เมื่อยังเป็นทารก ขณะที่พี่เลี้ยงนำไปอาบ***เล่นที่แม่*** ท่านถูกปลาใหญ่กลืนลงไปอยู่ในท้อง ต่อมาปลานั้นถูกจับได้ที่เมืองพาราณสี และถูกขายให้แก่ภรรยาเศรษฐีเมืองพาราณสี ภรรยาเศรษฐีผ่าท้องปลาพบเด็กแล้วเลี้ยงไว้เป็นบุตร ฝ่ายมารดาเดิมทราบข่าว จึงขอบุตรคืน ตกลงกันไม่ได้ จนพระราชาทรงตัดสินให้เด็กเป็นทายาทของทั้ง ๒ ตระกูล ท่านจึงได้ชื่อว่า "พากุละ" แปลว่า คน ๒ ตระกูล หรือผู้ที่ ๒ ตระกูลเลี้ยง ท่านอยู่ครองเรือนมาจนอายุ ๘๐ ปี จึงได้ฟังพระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา มีความเลื่อมใสขอบวชแล้วบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้มีอาพาธน้อย คือสุขภาพดี; พักกุละ ก็เรียก
มหรสพ : การเล่นรื่นเริง
มหาวงส์ : ชื่อหนังสือพงศาวดารลังกา เรื่องใหญ่ แต่งขึ้นในสมัยอรรถกถาพรรณนาความเป็นมาของพระพุทธศาสนาและชาติลังกา ตั้งแต่เริ่มตั้งวงศ์กษัตริย์สิงหล ในตอนพุทธปรินิพพาน จนถึงประมาณ พ.ศ.๙๐๔ ประวัติต่อจากนั้นมีคัมภีร์ชื่อ จูฬวงส์ พรรณนาต่อไป
มิตตปฏิรูป : คนเทียมมิตร, มิตรเทียม ไม่ใช่มิตรแท้ มี ๔ พวก ได้แก่ ๑.คนปอกลอก มีลักษณะ ๔ คือ ๑.คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๒.ยอมเสียน้อยโดยหวังจะเอาให้มาก ๓.ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน ๔.คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๒.คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔ คือ ๑.ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย ๒.ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย ๓.สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๔.เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง ๓.คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔ คือ ๑.จะทำชั่วก็เออออ ๒.จะทำดีก็เออออ ๓.ต่อหน้าสรรเสริญ ๔.ลับหลังนินทา ๔.คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔ คือ ๑.คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา ๒.คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน ๓.คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น ๔.คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน
เมถุนสังโยค : อาการพัวพันเมถุน, ความประพฤติที่ยังเกี่ยวเนื่องกับเมถุน มี ๗ ข้อ โดยใจความคือ สมณะบางเหล่าไม่เสพเมถุน แต่ยังยินดีในเมถุนสังโยค คือ ชอบการลูบไล้และการนวดของหญิง, ชอบซิกซี้ เล่นหัวสัพยอกกับหญิง, ชอบจ้องดูตากับหญิง, ชอบฟังเสียงหัวเราะขับร้องของหญิง, ชอบนึกถึงการเก่าที่เคยหัวเราะพูดเล่นกับหญิง, เห็นชาวบ้านเขาบำรุงบำเรอกันด้วยกามคุณแล้วปลื้มใจ, หรือแม้แต่ประพฤติพรหมจรรย์ โดยตั้งความปรารถนาที่จะเป็นเทพเจ้า
ยอพระเกียรติ : ชื่อประเภทหนังสือที่แต่งเชิดชูพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ให้สูงเด่น
รูปสัญเจตนา : ความคิดอ่านในรูปเกิดต่อจากรูปสัญญา
เลฑฑุบาต : ระยะโยนหรือขว้างก้อนดินตก (อ่านว่า เลดดุบาด)
วินัยมุข : มุขแห่งวินัย, หลักใหญ่ๆ หรือหัวข้อสำคัญๆ ทีเป็นเบื้องต้นแห่งพระวินัย หรือเป็นปากทางนำเข้าสู่วินัยเป็นชื่อหนังสือที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรจนาขึ้น เพื่อชี้ประโยชน์แห่งพระวินัยมุ่งช่วยให้พระภิกษุสามเณรตั้งอยู่ในปฏิบัติพองาม ผู้ไม่เคร่งจะได้รู้จักสำรวมรักษามรรยาทสมเป็นสมณะฝ่ายผู้เคร่งครัดเกินไปจะได้หายงมงาย ไม่สำคัญตนว่าดีกว่าผู้อื่น ตั้งรังเกียจผู้อื่นเพราะเหตุผลเล็กน้อย เพียงสักว่าธรรมเนียมหรือแม้ชักนำผู้อื่นในปฏิบัติอันดี ต่างจะได้อานิสงส์คือไม่มีวิปฏิสาร; ทรงมุ่งหมายเพื่อจะแต่งแก้หนังสือบุพพสิกขาวัณณนาของพระอมราภิรักขิต (อมร เกิด) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส; จัดพิมพ์เป็น ๓ เล่ม ใช้เป็นแบบเรียนนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก ตามลำดับ
โวหาร : ถ้อยคำ, สำนวนพูด, ชั้นเชิง หรือกระบวนแต่งหนังสือ หรือพูด
ศีล ๘ :
สำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยรักษาในบางโอกาส หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น แม่ชีมักรักษาประจำ หัวข้อเหมือนศีล ๕ แต่เปลี่ยนข้อ ๓ และเติมข้อ ๖-๗-๘ คือ ๓.เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วมประเวณี ๖.เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป ๗.เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเคลื่องลูบไล้ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง ๘.เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย; คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่างจากศีล ๕) ว่า ๓.อพฺรหฺมจริยา- ๖.วิกาลโภชนา- ๗.นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา- ๘.อุจฺจาสยนมหาสยนา- (คำต่อท้ายเหมือนข้อ ๑ ในศีล ๕); ดู อาราธนาศีล ด้วย
สัญเจตนา :
ความจงใจ, ความแสวงหาอารมณ์, เจตนาที่แต่งกรรม, ความคิดอ่าน; มี ๓ คือ กายสัญเจตนา วจีสัญเจตนา และมโนสัญเจตนา; ดู สังขาร๓; มี ๖ คือ รูปสัญเจตนา สัทท- คันธ- รส- โผฏฐัพพ- และธัมมสัญเจตนา, ดู ปิยรูปสาตรูป
สัทธัมมัสสวนะ : ฟังสัทธรรม, ฟังคำสั่งสอนของสัตบุรุษ, ฟังคำสั่งสอนของท่านที่ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ, สดับเล่าเรียนอ่านคำสอนเรื่องราวที่แสดงหลักความจริงความดีงาม (ข้อ ๒ ในวุฑฒิ ๔)
อนาจาร : ความประพฤติไม่ดีไม่งาม ไม่เหมาะสมแก่บรรพชิต แยกเป็น ๓ ประเภท คือ ๑) การเล่นต่างๆ เช่น เล่นอย่างเด็ก ๒) การร้อยดอกไม้ ๓) การเรียนดิรัจฉานวิชา เช่น ทายหวย ทำเสน่ห์
อบายมุข : ช่องทางของความเสื่อม, เหตุเครื่องฉิบหาย, เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์, ทางแห่งความพินาศ มี ๔ อย่าง คือ ๑) เป็นนักเลงหญิง ๒) เป็นนักเลงสุรา ๓) เป็นนักเลงการพนัน ๔) คบคนชั่วเป็นมิตร; อีกหมวดหนึ่งมี ๖ คือ ๑) ติดสุราและของมึนเมา ๒) ชอบเที่ยวกลางคืน ๓) ชอบเที่ยวดูการเล่น ๔) เล่นการพนัน ๕) คบคนชั่วเป็นมิตร ๖) เกียจคร้านการงาน
อักขระ : ตัวหนังสือ, วิชาหนังสือ, คำ, เสียง, สระและพยญชนะ
อักษร : ตัวหนังสือ
อาเทสนาปาฏิหาริย์ : ปาฏิหาริย์ คือการหายใจ, รอบรู้กระบวนของจิต อ่านความคิดและอุปนิสัยของผู้อื่นได้เป็นอัศจรรย์ (ข้อ ๒ ในปาฏิหาริย์ ๓)
อาโปธาตุ :
ธาตุที่มีลักษณะเป็นเอิบอาบ ดูดซึม, แปลสามัญว่า ธาตุน้ำ, ในร่างกายที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ข้อความนี้ เป็นการกล่าวถึงอาโปธาตุในลักาณะที่คนสามัญทุกคนจะเข้าใจได้และพอให้สำเร็จประโยชน์ในการเจริญกรรมฐาน แต่ในทางอภิธรรม อาโปธาตุเป็นสภาวะที่สัมผัสด้วยกายไม่ได้มีในรูปธรรมทั่วไป แม้แต่ในกระดาษหนังสือ ในก้อนหิน ก้อนเหล็ก และแผ่นพลาสติก ดู ธาตุ
อุปปถกิริยา : การทำนอกรีตนอกรอยของสมณะ, ความประพฤตินอกแบบแผนของภิกษุสามเณร ท่านจัดรวมไว้เป็น ๓ ประเภท คือ ๑) อนาจาร ประพฤติไม่ดีไม่งาม และเล่นไม่เหมาะสมต่างๆ ๒) ปาปสมาจาร ความประพฤติเลวทราม คือ คบหากับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร ทำตนเป็นกุลทูสก ๓) อเนสนา หาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควร เช่น เป็นหมอเสกเป่า ให้หวย เป็นต้น
เอกเสสนัย : อาการกำหนดด้วยเหลือศัพท์เดียว, เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในไวยากรณ์บาลี กล่าวคือ บุคคล วัตถุ หรือภาวะบางอย่าง เป็นของควบคู่กันมาด้วยกันเสมอ เมื่อเห็นอย่างหนึ่งก็เป็นอันรู้ถึงอีกอย่างหนึ่งด้วย หรือเป็นของชุดเดียวกัน จำพวกเดียวกัน เมื่อเรียกอย่างหนึ่ง จะหมายถึงอย่างหนึ่งอย่างใดในชุดหรือในจำพวกนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ บางทีท่านกล่าวถึงหรือออกชื่อไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เพียงอันเดียวให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังหมายรู้อีกอย่างหนึ่งด้วย หรือให้เข้าใจเอาเอง จากข้อความแวดล้อมว่า ในที่นั้น หมายถึงอย่างไหนข้อใดในชุดหรือในจำพวกนั้น จึงเรียกว่า เหลือไว้อย่างเดียว หรือเหลือไว้ศัพท์เดียว เช่น พูดอย่างคำบาลีว่า พระสารีบุตรทั้งหลาย ก็หมายถึง พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ หรือในหลักปฏิจจสมุปบาท คำว่า นามรูป เป็นเอกเสสหมายถึง นามหรือรูป หรือทั้งนามและรูป คำว่า สฬายตนะ ก็เป็นเอกเสส หมายถึง อายตนะที่ ๖ ก็ได้ อายตนะทั้ง ๖ ก็ได้ ดังนั้น เมื่อพูดว่านามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ ถ้าหมายถึงอรูปภพก็ต้องแปลความว่า นามเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะที่ ๖ (คือมโน) อนึ่ง เมื่อสิ่งอื่นในชุดเดียวกัน มีคำเฉพาะระบุชัดอยู่แล้ว คำที่เป็นชื่อรวมๆ ของชุด ก็ย่อมหมายถึงสิ่งที่ยังไม่ถูกระบุด้วยคำอื่น เช่น ในคำว่า สุคติ (และ) โลกสวรรค์ สวรรค์เป็นสุคติ แต่มีคำเฉพาะระบุไว้แล้ว ดังนั้น คำว่าสุคติในกรณีนี้จึงหมายถึง โลกมนุษย์ ซึ่งเป็นสุคติอย่างเดียวที่เหลือนอกจากสวรรค์