ประธาน : หัวหน้า, ผู้เป็นใหญ่ในหมู่
มุข : หัวหน้า, หัวข้อ, ปาก, ทาง
โมกข์ : 1.ความหลุดพ้นจากกิเลส คือ นิพพาน 2.ประธาน, หัวหน้า, ประมุข
อธิบดี : ใหญ่ยิ่ง, ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า
วรรค : หมวด, หมู่, ตอน, พวก ; กำหนด จำนวนภิกษุที่ประกอบเข้าเป็นสงฆ์ หมวดหนึ่งๆ ซึ่งเมื่อครบจำนวนแล้วจึงจะทำสังฆกรรมอย่างนั้นๆ ได้ มี ๔ พวก คือ ๑.สงฆ์จตุรวรรค (สงฆ์พวก ๔ คือ ต้องมีภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป ทำกรรมได้ทุกอย่างเว้นปวารณาให้ผ้ากฐิน อุปสมบท และอัพภาน) ๒.สงฆ์ปัญจวรรค (สงฆ์พวก ๕ คือ ต้องมีภิกษุ ๕ รูปขึ้นไป ทำปวารณา ให้ผ้ากฐิน และอุปสมบทในปัจจันตชนบท) ๓.สงฆ์ทสวรรค (สงฆ์พวก ๑๐ คือต้องมีภิกษุ ๑๐ รูปขึ้นไป ให้อุปสมบทในมัธยมชนบทได้) ๔.สงฆ์วีสติวรรค (สงฆ์พวก ๒๐ คือต้องมีภิกษุ ๒๐ รูปขึ้นไป ทำอัพภานได้)
เจ้ากรม : หัวหน้ากรมในราชการ หรือในเจ้านายที่ทรงกรม
ประธานาธิบดี : หัวหน้าผู้ปกครองบ้านเมืองแบบสาธารณรัฐ
อชิตมาณพ : หัวหน้าศิษย์ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์
กรวดน้ำ : ตั้งใจอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ พร้อมไปกับหลั่งรินน้ำเป็นเครื่องหมาย และเป็นเครื่องรวมกระแสจิตที่ตั้งใจอุทิศนั้นให้แน่วแน่; เริ่มรินน้ำเมื่อพระองค์หัวหน้าเริ่มสวดยถา รินน้ำหมดพร้อมกับพระหัวหน้าสวดยถาจบ และพระทั้งหมดเริ่มสวดพร้อมกัน จากนั้นวางที่กรวดน้ำลงแล้วประนมมือรับพรต่อไป; คำกรวดน้ำอย่างสั้นว่า อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่....(ออกชื่อผู้ล่วงลับ) และญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด จะต่ออีกก็ได้ว่า สุขิตา โหนตุ ญาตโย ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด - to pour the water of dedication (to transfer merit to other beings)
โกณฑัญญะ : พราหมณ์หนุ่มที่สุดในบรรดาพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทำนายลักษณะของพระสิทธัตถกุมาร ต่อมาออกบวชตามปฏิบัติพระสิทธัตถะ ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นหัวหน้าพระปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกกันภายหลังว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ
โกลิตะ : ชื่อเดิมของพระมหาโมคคัลลานะ เรียกตามชื่อหมู่บ้านที่เกิด (โกลิตคาม) เพราะเป็นบุตรของตระกูล หัวหน้าในหมู่บ้านนั้น สมัยเมื่อเข้าไปบวชเป็นปริพาชกในสำนักของสัญชัยก็ยังใช้ชื่อว่า โกลิตะ ต่อมาภายหลัง คือเมื่อบวชในพระพุทธศาสนา จึงเรียกกันว่า โมคคัลลานะหรือพระมหาโมคคัลลานะ
เจ้าอาวาส : สมภารวัด, หัวหน้าสงฆ์ในวัด มีอำนาจและหน้าที่ปกครองดูแลอำนวยกิจการทุกอย่างเกี่ยวกับวัด
เทเวศน์ : เทวดาผู้ใหญ่, หัวหน้าเทวดา
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร : “พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป”, พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรมเป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากนั้น ตรัสรู้ ๒ เดือน ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุด ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิภาณว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม) ท่านโกณฑัญญะหัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก เรียกว่า เป็นปฐมสาวก
ธัมมปทัฏฐกถา : คัมภีร์อรรถกถา อธิบายความในธรรมบทแห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์รจนา หรือเป็นหัวหน้าในการรจนาขึ้น เมื่อ พ.ศ.ใกล้จะถึง ๑๐๐๐ (ชื่อเฉพาะว่า ปรมัตถโชติกา)
ปรมัตถโชติกา : ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในขุททกปาฐะ ธรรมบทสุตตนิบาต และชาดก แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์รจนาหรือเป็นหัวหน้าในการจัดเรียบเรียงขึ้น เมื่อ พ.ศ.ใกล้จะถึง ๑๐๐๐
ประมุข : ผู้เป็นหัวหน้า
ปริณายก : ผู้นำ, ผู้เป็นหัวหน้า
ภัตตัคควัตร : ข้อควรปฏิบัติในหอฉัน, ธรรมเนียมในโรงอาหาร ท่านจัดเข้าเป็นกิจวัตรประเภทหนึ่ง กล่าวย่อ มี ๑๑ ข้อ คือ นุ่งห่มให้เรียบร้อย, รู้จักอาสนะอันสมควรแก่ตน, ไม่นั่งทับผ้าสังฆาฏิในบ้าน, รับน้ำและโภชนะของถวายจากทายกโดยเอื้อเฟือ และคอยระวังให้ได้รับทั่วถึงกัน, ถ้าพอจะแลเห็นทั่วกัน พระสังฆเถระพึงลงมือฉัน เมื่อภิกษุทั้งหมดได้รับโภชนะทั่วกันแล้ว, ฉันด้วยอาการเรียบร้อยตามหลักเสขิยวัตร, อิ่มพร้อมกัน (หัวหน้ารอยังไม่บ้วนปากและล้างมือ), บ้วนปากและล้างมือระวังไม่ให้น้ำกระเซ็น ฉันในที่มีทายกจัดถวาย เสร็จแล้วอนุโมทนา, เมือกลับอย่าเบียดเสียดกันออกมา, ไม่เทน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวหรือของเป็นเดนในบ้านเขา
มรรคนายก : “ผู้นำทาง”, ผู้แนะนำจัดแจงในเรื่องทางบุญทางกุศล และเป็นหัวหน้านำชุมชนฝ่ายคฤหัสถ์ในศาสนพิธี ตามปกติทำหน้าที่ประจำอยู่กับวัดใดวัดหนึ่ง เรียกว่าเป็นมรรคนายกของวัดนั้นๆ, ผู้นำทางบุญของเหล่าสัปบุรุษ
มหาสาวก :
สาวกผู้ใหญ่, สาวกชั้นหัวหน้า เรียนกันมาว่ามี ๘๐ องค์ ดู อสีติมหาสาวก
มัลลปาโมกข์ : มัลลกษัตริย์ชั้นหัวหน้า
ยโสชะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรหัวหน้าชาวประมง ใกล้ประตูเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนากปิลสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเลื่อมใสขอบวช ต่อมาไปเจริญสมณธรรมที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ได้สำเร็จพระอรหัต
รัฐบาล : พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าในถุลลโกฏฐิตนิคม ในแคว้นกุรุ ฟังธรรมแล้วมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ลาบิดามารดาบวช แต่ไม่ได้รับอนุญาต เสียใจ และอดอาหารจะได้ตายเสีย บิดามารดาจึงต้องอนุญาต ออกบวชแล้วไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางบวชด้วยศรัทธา
สยามวงศ์ : ชื่อนิกายพระสงฆ์ลังกาที่บวชจากพระสงฆ์สยาม (คือพระสงฆ์ไทย) ในสมัยอยุธยา ซึ่งพระอุบาลีเป็นหัวหน้าไปประดิษฐาน ใน พ.ศ.๒๒๙๖
สังฆทาน : ทานเพื่อสงฆ์, การถวายแก่สงฆ์ คือถวายเป็นกลาง ๆ ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เช่น จะทำพิธีถวายของที่มีจำนวนจำกัดพึงแจ้งแก่ทางวัดให้จัดพระไปรับตามจำนวนที่ต้องการ หัวหน้าสงฆ์จัดภิกษุใดไปพึงทำใจว่า ท่านมารับในนามของสงฆ์ หรือ เป็นผู้แทนของสงฆ์ทั้งหมด ไม่พึงเพ่งเล็งว่าเป็นบุคคลใด คิดตั้งใจแต่ว่าจะถวายอุทิศแก่สงฆ์; ในพิธีพึงจุดธูปเทียนบูชาพระ อาราธนาศีล รับศีล จบแล้วตั้งนโม ๓ จบ กล่าวคำถวายเสร็จแล้วประเคนของ และเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา พึงกรวดน้ำ รับพร เป็นเสร็จพิธี; คำถวายสังฆทานว่าดังนี้ : อิมานิ มยํ ภนฺเต, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกฺขุสงฺโฆ, อิมานิ, ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย, แปลว่า : ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ ฯ
สารีบุตร : พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ (บางแห่งเรียกนาลันทะ) ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ สารี จึงได้นามว่าสารีบุตร แต่เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ ซึ่งต่อมาคือ พระมหาโมคคัลลานะ มีน้องชาย ๓ คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ น้องหญิง ๓ คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่ออุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้ง ๒ คนไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปดูแล้วเกิดความสลดใจ คิดออกแสวงหาโมกขธรรม และต่อมาได้บวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชกแต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย จนวันหนึ่งอุปติสสปริพาชก พบพระอัสสชิเถระขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมใสติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอนได้ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะแล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชกที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง ๒๕๐ คน ได้รับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน เมื่อบวชแล้วได้ ๑๕ วัน พระสารีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็น เอตทัคคะ ในทางมีปัญญามาก และเป็น พระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็น พระธรรมเสนาบดี คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการสังคายนา เป็นต้น ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือนเมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาของท่านซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฐิให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ หลังจากปลงศพแล้วพระจุนทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี (อรรถกถาว่าท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จึงเท่ากับ ๖ เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน)
สุวรรณภูมิ : “แผ่นดินทอง”, “แหลมทอง”, ดินแดนที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระโสณะและพระอุตตระ หัวหน้าพระศาสนทูตสายที่ ๘ (ใน ๙ สาย) ไปประกาศพระศาสนา ปราชญ์หลายท่านสันนิษฐานว่าได้แก่ดินแดนบริเวณจังหวัดนครปฐม (พม่าว่าได้แก่เมืองสะเทิมในประเทศพม่า)
อสูร : สัตว์กึ่งเทพหรือเทพชั้นต่ำพวกหนึ่ง ตำนานกล่าวว่า เดิมเป็นเทวดาเก่า (บุพเทวา) เป็นเจ้าถิ่นครอบครองดาวดึงสเทวโลก ต่อมาถูกเทวดาพวกใหม่ มีท้าวสักกะเป็นหัวหน้าแย่งถิ่นไป โดยถูกเทพพวกใหม่นั้นจับเหวี่ยงลงมาในระหว่างพิธีเลี้ยงเมื่อพวกตนดื่มสุราจนเมามาย ได้ชื่อใหม่ว่าอสูร เพราะเมื่อฟื้นคืนสติขึ้นระหว่างทางที่ตกจากดาวดึงส์นั้น ได้กล่าวกันว่า “พวกเราไม่ดื่มสุราแล้ว” (อสูรจึงแปลว่าผู้ไม่ดืมสุรา) พวกอสูรได้ครองพิภพใหม่ที่เชิงเขาสิเนรุ หรือเขาพระสุเมรุ และมีสภาพความเป็นอยู่ มีอายุ วรรณะ ยศ อิสริยสมบัติ คล้ายกันกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ พวกอสูรเป็นศัตรูโดยตรงกับเทวดา และมีเรื่องราวขัดแย้งทำสงครามกันบ่อยๆ พวกอสูรออกจะเจ้าโทสะ จึงมักถูกกล่าวถึงในฐานะเป็นพวกมีนิสัยพาลหรือเป็นฝ่ายผิด
อัญญาโกณฑัญญะ : พระมหาสาวกผู้เป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นรูปหนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล เกิดที่หมู่บ้านโทณวัตถุ ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ โกณฑัญญะ เป็นพราหมณ์หนุ่มที่สุดในบรรดาพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทำนายลักษณะของสิทธัตถกกุมาร และเป็นผู้เดียวที่ทำนายว่า พระกุมารจะทรงออกบรรพชาได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน มีคติเป็นอย่างเดียว ต่อมาท่านออกบวชตามเสด็จพระสิทธัตถะ ขณะบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นหัวหน้าพระเบญจวัคคีย์ และได้นำคณะหลีกหนีไป เมื่อพระมหาบุรุษเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา กลับเสวยพระกระยาหาร ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเสด็จไปโปรด ท่านสดับปฐมเทศนา ได้ดวงตาเห็นธรรม ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้า
อุปาลิวงศ์ : ชื่อนิกายพระสงฆ์ลังกาที่บวชจากพระสงฆ์สยาม (พระอุบาลีเป็นหัวหน้า นำคณะสงฆ์ไทยไปอุปสมบทกุลบุตรในประเทศลังกา เมื่อพ) ศ) ๒๒๙๖ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ สมัยอยุธยาตอนปลาย)
อุรุเวลกัสสป : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เคยเป็นนักบวชประเภทชฎิล นับถือลัทธิบูชาไฟ ถือตัวว่าเป็นพระอรหันต์สร้างอาศรมสั่งสอนลัทธิของตนอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เพราะเหตุที่เป็นชาวกัสสปโคตร และอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า อุรุเวลกัสสป ท่านผู้นี้เป็นคณาจารย์ใหญ่ที่ชาวราชคฤห์นับถือมาก มีน้องชาย ๒ คน คนหนึ่งชื่อนทีกัสสป อีกคนหนึ่งชื่อคยากสสป ล้วนเป็นหัวหน้าชฎิลตั้งอาศรมอยู่ถัดกันไปบนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ไม่ห่างไกลจากอาศรมของพี่ชายใหญ่ ต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาทรงทรมานอุรุเวลกัสสปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ จนห่างชฎิลใหญ่ คลายพยศ ยอมมอบตัวเป็นพุทธสาวกขอบรรพชา ทำให้ชฎิลผู้น้องทั้ง ๒ พร้อมด้วยบริวารออกบวชตามด้วยทั้งหมด ครั้นบวชแล้วได้ฟังเทศนาอาทิตตปริยายสูตร จากพระพุทธเจ้า ก็ได้สำเร็จพระอรหัต ทั้งสามพี่น้องพร้อมด้วยบริวารทั้งหมดรวมหนึ่งพันองค์ พระอุรุเวลกัสสปได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีบริษัติใหญ่ คือ มีบริวารมาก
วีสติวรรค :
สงฆ์พวกที่กำหนดจำนวน ๒๐ รูป (ทำอัพภานได้) ดู วรรค
สงฆ์จตุรวรรค :
สงฆ์พวก ๔ คือ มีภิกษุ ๔ รูปขึ้นไปจึงจะครบองค์กำหนด, สงฆ์จตุวรรค ก็เขียน ดู วรรค
สงฆ์ปัญจวรรค :
สงฆ์พวก ๕ คือ มีภิกษุ ๕ รูปขึ้นไป จึงจะครบองค์กำหนด ดู วรรค
สงฆ์วีสติวรรค :
สงฆ์พวก ๒๐ คือ มีภิกษุ ๒๐ รูปขึ้นไป จึงจะครบองค์กำหนด ดู วรรค
โกสิยวรรค : ตอนที่ว่าด้วยเรื่องขนเจียมเจือด้วยไหมเป็นวรรคที่ ๒ แห่งนิสสัคคิยกัณฑ์ในพระวินัยปิฎก
จีวรวรรค : ตอนที่ว่าด้วยเรื่องจีวร เป็นวรรคที่ ๑ แห่งนิสสัคคิยกัณฑ์
ทศวรรค : สงฆ์มีพวก ๑๐ คือ สงฆ์พวกที่กำหนดจำนวน ๑๐ รูปเป็นอย่างน้อย จึงจะครบองค์ ทำสังฆกรรมประเภทนั้นๆ ได้ เช่น การอุปสมบทในมัธยมประเทศ ต้องใช้สงฆ์ทศวรรค
ปัตตวรรค : หมวดอาบัติกำหนดด้วยบาตร, ชื่อวรรคที่ ๓ แห่งนิสสัคคิยปาจิตตีย์
โภชนวรรค : หมวดที่ว่าด้วยเรื่องอาหารเป็นวรรคที่ ๔ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ในมหาวิภังค์ แห่งพระวินัยปิฎก
มุสาวาทวรรค : ตอนที่ว่าด้วยเรื่องพูดปดเป็นต้น เป็นวรรคที่ ๑ แห่ง ปาจิตติยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์ แห่งวินัยปิฎก
รตนวรรค : ตอนที่ว่าด้วยเรื่องรัตนะเป็นต้น เป็นวรรคที่ ๙ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์ พระวินัยปิฎก
รตนวรรคสิกขาบท : สิกขาบทในรตนวรรค
สหธรรมิกวรรค : ตอนที่ว่าด้วยเรื่องภิกษุถูกว่ากล่าวโดยชอบธรรม เป็นต้น เป็นวรรคที่ ๘ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ มี ๑๒ สิกขาบท
สัปปาณกวรรค : ตอนที่ว่าด้วยเรื่องสัตว์มีชีวิตเป็นต้น, เป็นวรรคที่ ๗ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ในมหาวิภังค์แห่งพระวินัยปิฎก
สุราปานวรรค : ตอนที่ว่าด้วยเรื่องดื่มน้ำเมา เป็นต้น เป็นวรรคที่ ๖ ในปาจิตติยกัณฑ์
อเจลกวรรค : ตอนที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับชีเปลือย เป็นต้น, เป็นชื่อหมวดอาบัติปาจิตตีย์ วรรคที่ ๕
โอวาทวรรค : ตอนที่ว่าด้วยเรื่องให้โอวาทแก่นางภิกษุณี เป็นต้น, เป็นชื่อวรรคที่ ๓ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์ พระวินัยปิฎก
กุมารีภูตวรรค : ชื่อหมวดในพระวินัยปิฎก หมายถึงตอนอันว่าด้วยกุมารีภูตา คือสามเณรีผู้เตรียมจะอุปสมบทเป็นภิกษุณี มีอยู่ในปาจิตติยกัณฑ์ ในภิกขุนีวิภังค์