อติเรกจีวร : จีวรเหลือเฟือ, ผ้าส่วนเกิน หมายถึง ผ้าที่เขาถวายภิกษุเพิ่มเข้ามานอกจากผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร
จีวร :
ผ้าที่ใช้นุ่งห่มของพระในพระพุทธศาสนาผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในจำนวน ๓ ผืนที่เรียกว่า ไตรจีวร คือผ้าทาบ (สังฆาฏิ) ผ้าห่ม (อุตราสงค์) และผ้านุ่ง (อันตรวาสก); แต่ในภาษาไทย นิยมเรียกเฉพาะผ้าห่มคืออุตราสงค์ ว่า จีวร ดู ไตรจีวร ด้วย
จีวรมรดก : จีวรของภิกษุหรือสามเณรผู้ถึงมรณภาพ (มตกจีวร) สงฆ์พึงมอบให้แก่คิลานุปฐาก (ผู้พยาบาลคนไข้) ด้วยญัตติทุติยกรรม อย่างไรก็ตาม อรรถกถาแสดงมติไว้ว่า กรณีเช่นนี้เป็นกรรมไม่สำคัญนัก จะทำด้วยอปโลกนกรรม ก็ควร
จีวรอธิษฐาน : จีวรครอง, ผ้าจำกัดจำนวน ๓ ผืนที่อธิษฐานคือ กำหนดไว้ใช้ประจำตัวตามที่พระวินัยอนุญาตไว้ตรงข้ามกับ อดิเรกจีวร
ไตรจีวร : จีวร ๓, ผ้า ๓ ผืนที่พระวินัยอนุญาตให้ภิกษุมีไว้ใช้ประจำตัว คือ ๑.สังฆาฏิ ผ้าทาบ ๒.อุตราสงค์ ผ้าห่ม เรียกสามัญในภาษาไทยว่าจีวร ๓.อันตรวาสก ผ้านุ่ง เรียกสามัญว่า สบง
จีวรกรรม : การทำจีวร, งานเกี่ยวกับจีวร เช่น ตัด เย็บ ย้อม เป็นต้น
จีวรการสมัย : คราวที่พระทำจีวร, เวลาที่กำลังทำจีวร
จีวรกาล :
ฤดูกาลจีวร, ฤดูถวายผ้าแก่พระสงฆ์ ดู จีวรกาลสมัย
จีวรกาลสมัย : สมัยหรือคราวที่เป็นฤดูถวายจีวร; งวดหนึ่ง สำหรับภิกษุที่มิได้กรานกฐิน ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ ถึง เพ็ญเดือน ๑๒ (คือเดือนเดียว), อีกงวดหนึ่ง สำหรับภิกษุที่ได้กรานกฐินแล้ว ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ ไปจนหมดฤดูหนาวคือถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ (รวม ๕ เดือน)
จีวรขันธกะ : ชื่อขันธกะที่ ๘ แห่งคัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องจีวร
จีวรทานสมัย : สมัยที่เป็นฤดูถวายจีวรตรงกับจีวรกาลสมัย
จีวรนิทหกะ : ผู้เก็บจีวร คือ ภิกษุที่สงฆ์สมมติให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวรรักษาจีวร เป็นตำแหน่งหนึ่งในบรรดาเจ้าอธิการแห่งจีวร
จีวรปฏิคคาหก : ผู้รับจีวร คือ ภิกษุที่สงฆ์สมมติให้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร เป็นตำแหน่งหนึ่งในบรรดาเจ้าอธิการแห่งจีวร
จีวรปลิโพธ : ความกังวลในจีวร คือ ภิกษุยังไม่ได้ทำจีวร หรือทำค้างหรือหายเสียในเวลาทำ แต่ยังไม่สิ้นความหวังว่าจะได้จีวรอีก
จีวรภาชก : ผู้แจกจีวร คือ ภิกษุที่สงฆ์สมมติให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร, เป็นตำแหน่งหนึ่งในบรรดาเจ้าอธิการแห่งจีวร
จีวรลาภ : การได้จีวร
จีวรวรรค : ตอนที่ว่าด้วยเรื่องจีวร เป็นวรรคที่ ๑ แห่งนิสสัคคิยกัณฑ์
อติเรกบาตร : บาตรของภิกษุที่เขาถวายเพิ่มเข้ามา นอกจากบาตรอธิษฐานพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุมีบาตรไว้ใช้ใบเดียว ซึ่งเรียกว่าบาตรอธิษฐานหากมีหลายใบ ตั้งแต่ใบที่ ๒ ขึ้นไป เรียกว่าอติเรกบาตร
อติเรกปักษ์ : เกินเวลาปักษ์หนึ่ง คือเกิน ๑๕ วัน แต่ยังไม่ถึงเดือน
อติเรกมาส : เกินเวลาเดือนหนึ่ง
อติเรกลาภ : ลาภเหลือเฟือ, ลาภส่วนพิเศษ, ลาภเกินปรกติ
อติเรกวีสติวรรค : สงฆ์พวกที่กำหนดจำนวนเกิน ๒๐ รูป
ทรง : ในประโยคว่า “ภิกษุทรงอติเรกจีวรได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง” ครอง, นุ่งห่ม, มีไว้เป็นสิทธิ์, เก็บไว้, ครอบครอง
วิกัป : ทำให้เป็นของ ๒ เจ้าของคือ ขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้นๆ ด้วย ทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอติเรกบาตร หรืออติเรกจีวรไว้เกินกำหนด เช่น วิกัปจีวรผืนหนึ่งต่อหน้าในหัตถบาสว่า “อิมํ จีวรํ ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ” ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ท่าน
วิกัปป์ : ทำให้เป็นของ ๒ เจ้าของคือ ขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้นๆ ด้วย ทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอติเรกบาตร หรืออติเรกจีวรไว้เกินกำหนด เช่น วิกัปจีวรผืนหนึ่งต่อหน้าในหัตถบาสว่า อิมํ จีวรํ ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ท่าน
อธิษฐาน : 1) ในทางพระวินัย แปลว่า การตั้งเอาไว้หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ คือ ตั้งเอาไว้เป็นของนั้นๆ หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ว่าจะใช้เป็นของประจำ ตัวชนิดนั้นๆ เช่น ได้ผ้ามาผืนหนึ่ง ตั้งใจว่าจะใช้เป็นอะไร คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิอธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐาน ส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร อติเรกบาตร, คำอธิษฐาน เช่น “อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺามิ” (ถ้าอธิษฐานของอื่น ก็เปลี่ยนไปตามชื่อของนั้น เช่น เป็น อุตฺตราสงฺคํ, อนฺตรวาสกํ เป็นต้น) 2) ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความมั่นคง เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน (ข้อ ๘ ในบารมี ๑๐), ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า ความตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ความตั้งจิตปรารถนา
ปุราณจีวร : จีวรเก่า
วิกัปปิตจีวร : จีวรที่วิกัปป์ไว้, จีวรที่ทำให้เป็นของ ๒ เจ้าของ
อกาลจีวร : จีวรที่เกิดขึ้นนอกเขต จีวรกาล นอกเขตอานิสงส์กฐิน
อัจเจกจีวร : จีวรรีบร้อน หรือผ้าด่วน หมายถึง ผ้าจำนำพรรษาที่ทายกผู้มีเหตุรีบร้อน ขอถวายก่อนกำหนดเวลาปกติ (กำหนดเวลาปกติสำหรับถวายผ้าจำนำพรรษา คือ จีวรกาลนั่นเอง กล่าวคือ ต้องผ่านวันปวารณาไปแล้ว เริ่มแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ และถ้ากรานกฐินแล้ว นับต่อไปอีกถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔; เหตุรีบร้อนนั้น เช่น เขาจะไปทัพหรือเจ็บไข้ไม่ไว้ใจชีวิต หรือมีศรัทธาเลื่อมใสเกิดขึ้นใหม่) อัจเจกจีวรเช่นนี้ มีพุทธานุญาตให้ภิกษุรับเก็บไว้ได้แต่ต้องรับก่อนวันปวารณาไม่เกิน ๑๐ วัน (คือตั้งแต่ขึ้น ๖ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) (สิกขาบทที่ ๘ แห่งปัตตวรรค นิสสัคคิยปาจิตตีย์)
คฤหบดีจีวร : ผ้าจีวรที่ชาวบ้านถวายพระ
เจ้าอธิการแห่งจีวร : คือ ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับจีวร ๓ อย่างคือ ผู้รับจีวร (จีวรปฏิคาหก) ผู้เก็บจีวร (จีวรนิทหก) ผู้แจกจีวร (จีวรภาชก)
ติจีวรวิปปวาส : การอยู่ปราศจากไตรจีวร
ติจีวราวิปปวาส : การไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร คือ ภิกษุอยู่ในแดนที่สมมติเป็นติจีวราวิปปวาสแล้ว อยู่ห่างจากไตรจีวรก็ไม่เป็นอันอยู่ปราศ ไม่ต้องอาบัติด้วยนิสสัคคิยปาจิตตีย์สิกขาบทที่ ๑
ติจีวราวิปปวาสสีมา : แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร สมมติแล้วภิกษุอยู่ห่างจากไตรจีวรในสีมานั้นก็ไม่เป็นอันปราศ
ไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร : ไตรจีวรอยู่กับตัว คืออยู่ในเขตที่ตัวอยู่
บังสุกุลจีวร : ผ้าที่เกลือกกลั้วด้วยฝุ่น, ผ้าที่ได้มาจากกองฝุ่น, กองหยากเยื่อ ซึ่งเขาทิ้งแล้ว ตลอดถึงผ้าห่อคลุมศพ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ไม่ใช่ผ้าที่ชาวบ้านถวาย, ปัจจุบันมักหมายถึงผ้าที่พระชักจากศพโดยตรงก็ตาม จากสายโยงศพก็ตาม
กัปปิยะ : สมควร, ควรแก่สมณะบริโภค, ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย คือพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุให้หรือฉันได้ เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ สิ่งที่ไม่เป็นกัปปิยะ เรียกว่า อกัปปิยะ
จตุปัจจัย : เครื่องอาศัยของชีวิต หรือสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ๔ อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช (เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่ ยา)
เตจีวริกังคะ : องค์แห่งภิกษุผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร คือถือเพียงผ้า ๓ ผืน ได้แก่ จีวร สบง สังฆาฏิอย่างละผืน เท่านั้น ไม่ใช้จีวรนอกจากผ้า ๓ ผืนนั้น (ข้อ ๒ ในธุดงค์ ๑๓)
นิสัย : 1.ที่พึ่ง, ที่อาศัย เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท (คือกล่าวคำขอร้องต่ออุปัชฌาย์ในพิธีอุปสมบท ขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยของตน ทำหน้าที่ปกครองสั่งสอนให้การศึกษาอบรมต่อไป) อาจารย์ผู้ให้นิสัย (อาจารย์ผู้รับที่จะทำหน้าที่เป็นที่พึ่ง ที่อาศัยปกครองแนะนำในการศึกษาอบรม) 2.ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต ๔ อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช 3.ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทำจนเป็นนิสัย
บริขาร : เครื่องใช้สอยของนักพรต, เครื่องใช้สอยของพระในพระพุทธศาสนา มี ๘ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ นิยมเรียกรวมว่า อัฐบริขาร (บริขาร ๘)
บริโภคเจดีย์ : เจดีย์คือสิ่งของหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอยเกี่ยวข้อง ได้แก่ ตุมพสตูป อังคารสตูป และสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ตลอดถึงบาตร จีวร เตียง ตั่ง กฎี วิหาร ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอย
ปัจจัย : 1.เหตุที่ให้ผลเป็นไป, เหตุ, เครื่องหนุนให้เกิด 2.ของสำหรับอาศัยใช้, เครื่องอาศัยของชีวิต, สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต มี ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) คิลานเภสัช (ยาบำบัดโรค)
ปัจจัยปัจจเวกขณะ : การพิจารณาปัจจัย, พิจารณาก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา (ข้อ ๔ ในปาริสุทธิศีล ๔)
ปาริสุทธิศีล : ศีลเป็นเครื่องทำให้บริสุทธิ์, ศีลเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ หรือความประพฤติบริสุทธิที่จัดเป็นศีลมี ๔ อย่าง คือ ๑.ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๒.อินทรีย์สังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๓.อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบธรรม ๔.ปัจจัยสันนิสิตศีล พิจารณาก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช