กัณฐชะ : อักษรเกิดในคอ คือ อ อา ก ข ค ฆ ง
อนาโรจนา :
การไม่บอก คือ ไม่บอกประจานตัวแก่ภิกษุทั้งหลายภายในเขต ๒ เลฑฑุบาตจากเครื่องล้อมหรือจากอุปจารแห่งอาวาส ให้รู้ทั่วกันว่าตนต้องอาบัติสังฆาทิเสส กำลังอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์; เป็นเหตุอย่างหนึ่งของการขาดราตรีแห่งมานัตต์หรือปริวาส ผู้ประพฤติมานัตต์ ต้องบอกทุกวัน แต่ผู้อยู่ปริวาส ไม่ต้องบอกทุกวัน ปกตัตตภิกษุรูปใดยังไม่ได้รับบอก เธอบอกแก่ภิกษุรูปนั้นครั้งหนึ่งแล้ว ไม่ต้องบอกอีกตลอดกาลที่อยู่ในอาวาสหรือในอนาวาสนั้นแต่ต้องบอกในท้ายอุโบสถ ท้ายปวารณาเมื่อถึงวันนั้นๆ และภิกษุใดได้รับบอกแล้ว ออกจากอาวาสหรืออนาวาสนั้นไป เมื่อกลับมาใหม่ต้องได้รับบอกอีก ดู รัตติเฉท
อนาคามิผล : ผลที่ได้รับจากการละสังโยชน์ คือ กามราคะ และปฏิฆะด้วยอนาคามิมรรค อันทำให้เป็นพระอนาคามี
อนาสวะ : ไม่มีอาสวะ, อันหาอาสวะมิได้
อโนมา : ชื่อแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างแคว้นสักกะกับแคว้นมัลละ พระสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา มาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ตรัสสั่งนายฉันนะให้นำม้าพระที่นั่งกลับคืนพระนคร ทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ อธิษฐานเพศบรรพชิต ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมานี้
อเลอ : แปลง, ที่อเลออื่น คือที่แปลงอื่น
อวันตี : ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางเหนือของภูเขาวินธัย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นวังสะ มีนครหลวงชื่อ อุชเชนี ราชาผู้ครองอวันตีในพุทธกาล มีพระนามว่าพระเจ้าจัณฑปัชโชต
อวินิพโภครูป : “รูปที่แยกออกจากกันไม่ได้”, รูปที่มีอยู่ด้วยกันเป็นประจำเสมอไป อย่างขาดมิได้เลยในสิ่งที่เป็นรูปทุกอย่าง กล่าวคือในสิ่งที่เป็นรูปทุกอย่าง แม้แต่ปรมาณูที่เล็กที่สุดก็จะต้องมีรูปธรรมชุดนี้อยู่เป็นอย่างน้อย, คุณสมบัติพื้นฐานที่มีอยู่เป็นประจำในวัตถุ, มี ๘ อย่าง คือ ปฐวี (ภาวะแผ่ขยายหรือรองรับ) อาโป (ภาวะเอิบอาบเกาะกุม) เตโช (ภาวะร้อน) วาโย (ภาวะเคลื่อนไหวเคร่งตึง) วัณณะ (สี) คันธะ (กลิ่น) รสะ (รส) โอชา (อาหารรูป); ใน ๘ อย่างนี้ ๔ อย่างแรกเป็นมหาภูตรูป หรือธาต ๔, ๔ อย่างหลังเป็นอุปาทายรูป
อสัทธรรม : ธรรมของอสัตบุรุษ มีหลายหมวด เช่น อสัทธรรม ๗ คือที่ตรงข้ามกับ สัทธรรม ๗ มีปราศจากศรัทธา ปราศจากหิริ เป็นต้น; ในคำว่า “ทอดกายเพื่อเสพอสัทธรรมก็ดี” หมายถึง เมถุนธรรม คือการร่วมประเวณี
อากาสานัญจายตนะ : ฌานกำหนดอากาศคือช่องว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์, ภพของผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนฌาน (ข้อ ๑ ในอรูป ๔)
อาจารย : ผู้สั่งสอนวิชาความรู้, ผู้ฝึกหัดอบรมมรรยาท, อาจารย์ ๔ คือ ๑) บัพพชาจารย์ หรือ บรรพชาจารย์ อาจารย์ในบรรพชา ๒) อุปสัมปทาจารย์ อาจารย์ในอุปสมบท ๓) นิสสยาจารย์ อาจารย์ผู้ให้นิสสัย ๔) อุทเทศาจารย์ หรือ ธรรมาจารย์ อาจารย์ผูสอนธรรม
อานาปานัสสติ : สติกำหนดลมหายใจเข้าออก (ข้อ ๙ ในอนุสติ ๑๐, ข้อ ๑๐ ในสัญญา ๑๐ เป็นต้น) บัดนี้นิยมเขียน อานาปานสติ
อาปุจฉา : บอกกล่าว, ถามเชิงขออนุญาต เป็นการแสดงความเอื้อเฟื้อ, แจ้งให้ทราบ เช่น ภิกษุอ่อนพรรษาจะแสดงธรรม ต้องอาปุจฉาภิกษุผู้มีพรรษามากกว่าก่อน
อาโปธาตุ :
ธาตุที่มีลักษณะเป็นเอิบอาบ ดูดซึม, แปลสามัญว่า ธาตุน้ำ, ในร่างกายที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ข้อความนี้ เป็นการกล่าวถึงอาโปธาตุในลักาณะที่คนสามัญทุกคนจะเข้าใจได้และพอให้สำเร็จประโยชน์ในการเจริญกรรมฐาน แต่ในทางอภิธรรม อาโปธาตุเป็นสภาวะที่สัมผัสด้วยกายไม่ได้มีในรูปธรรมทั่วไป แม้แต่ในกระดาษหนังสือ ในก้อนหิน ก้อนเหล็ก และแผ่นพลาสติก ดู ธาตุ
อาภัสสระ :
ผู้มีรัศมีแผ่ซ่าน, เปล่งปลั่ง, ชื่อพรหมโลกชั้นที่ ๖ ดู พรหมโลก(พจนานุกรมเขียน อาภัสระ)
อามะ : คำรับในภาษาบาลี ตรงกับ ถูกแล้ว, ใช่, ครับ, ค่ะ, จ้ะ, เออ ถ้าผู้กล่าวรับเป็นผู้น้อยกว่าหรือมีพรรษาน้อยกว่าหรือเป็นคฤหัสถ์พูดกับพระสงฆ์กล่าวต่อว่า ภันเต เป็น อามะ ภันเต ถ้าผู้กล่าวรับเป็นผู้ใหญ่กว่าหรือมีพรรษามากว่า หรือเป็นพระสงฆ์พูดกับคฤหัสถ์ กล่าวตอบว่า อาวุโส เป็น อามะ อาวุโส (เขียนตามรูปบาลี เป็น อาม ภนฺเต, อาม อาวุโส)
อาสวะ : กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ มี ๓ อย่าง คือ ๑) กามาสวะ อาสวะคือกาม ๒) ภาวสวะ อาสวะคือภพ ๓) อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา; อีกหมวดหนึ่งมี ๔ คือ ๑) กามาสวะ ๒) ภวาสวะ ๓) ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ ๔) อวิชชาสวะ, ในทางพระวินัยและความหมายสามัญ หมายถึงเมรัย เช่น ปุปฺผาสโว น้ำดองดอกไม้, ผลาสโว น้ำดองผลไม้
อาสวักขยญาณ : ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ, ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, ความตรัสรู้ (เป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ในยามสุดท้ายแห่งราตรี วันตรัสรู้) (ข้อ ๓ ในวิชชา ๓, ข้อ ๖ ในอภิญญา ๖, ข้อ ๘ ในวิชชา ๘, ข้อ ๑๐ ในทศพลญาณ)
อาสันทิ : ม้านั่ง ๔ เหลี่ยมจัตุรัส นั่งได้คนเดียว (ศัพท์เดิมเรียก อาสันทิก, ส่วนอาสันทิเป็นเตียงหรือเก้าอี้นอน)
อโคจร : บุคคลและสถานที่อันภิกษุไม่ควรไปมาหาสู่ มี ๖ คือ หญิงแพศยา หญิงหม้าย สาวเทื้อ ภิกษุณี บัณเฑาะก์ (กะเทย) และร้านสุรา
อจิตตกะ : ไม่มีเจตนา เป็นชื่อของอาบัติพวกหนึ่ง ที่เกิดขึ้นโดยสมุฏฐานที่แม้ไม่มีเจตนา คือ ถึงแม้ไม่จงใจทำก็ต้องอาบัติ เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาลดื่มน้ำเมา เป็นต้น
อตีตังสญาณ : ญาณหยั่งรู้ส่วนอดีต, ปรีชากำหนดรู้เหตุการณ์ที่ล่วงไปแล้ว อันเป็นเหตุให้ได้รับผลในปัจจุบัน (ข้อ ๑ ในญาณ ๓)
อตีตานาคตังสญาณ : ญาณเป็นเครื่องรู้ถึงเรื่องที่ล่วงมาแล้ว และเรื่องที่ยังไม่มาถึง, ญาณหยั่งรู้ทั้งอดีตและอนาคต
อเตกิจฉา : แก้ไขไม่ได้, เยียวยาไม่ได้ หมายถึงอาบัติมีโทษหนักถึงที่สุด ต้องแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ คือ อาบัติปาราชิก คู่กับ สเตกิจฉา
อทุกขมสุข : ไม่ทุกข์ไม่สุข, ความรู้สึกเฉยๆ (ข้อ ๓ ในเวทนา ๓)
อโทสะ : ความไม่คิดประทุษร้าย, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือตรงข้ามกับโทสะ ได้แก่ เมตตา (ข้อ ๒ ในกุศลมูล ๓)
อนภิชฌา : ไม่โลภอยากได้ของเขา, ไม่คิดจ้องจะเอาของเขา (ข้อ ๘ ในกุศลกรรมบถ ๑๐)
อนมานสูตร : สูตรที่ ๑๕ ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก เป็นภาษิตของพระมหาโมคคัลลานะ กล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย ว่าด้วยธรรมอันทำคนให้เป็นผู้ว่ายากหรือว่าง่าย การแนะนำตักเตือนตนเอง และการพิจารณาตรวจสอบตนเองของภิกษุ
อนริยปริเยสนา : การแสวงหาที่ไม่เป็นอริยะ คือ แสวงหาสิ่งที่ยังตกอยู่ในชาติ ชรามรณะ หรือสิ่งที่ระคนอยู่ด้วยทุกข์ กล่าวคือ แสวงหาสิ่งอันทำให้ติดอยู่ในโลก, สำหรับชาวบ้านท่านว่า หมายถึงการแสวงหาในทางมิจฉาชีพ (ข้อ ๑ ในปริเยสนา ๒)
อนวเสส : หาส่วนเหลือมิได้, ไม่เหลือเลย, สิ้นเชิง
อนาคามิมรรค : ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผล คือ ความเป็นพระอนาคามี, ญาณคือความรู้เป็นเหตุละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ทั้ง ๕ (คือ ละได้เด็ดขาดอีก ๒ อย่าง ได้แก่ กามราคะ และปฏิฆะ เพิ่มจาก ๓ อย่างที่พระโสดาบันละได้แล้ว)
อนาคาริยวินัย :
วินัยของอนาคาริก ดู วินัย๒
อนาณัตติกะ : อาบัติที่ต้องเฉพาะทำเองไม่ต้องเพราะสั่ง คือสั่งให้ผู้อื่นทำไม่ต้องอาบัติ เช่น สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑ (แต่สั่งให้ทำแก่ตน ไม่พ้นอาบัติ)
อนาบัติ : ไม่เป็นอาบัติ
อนาปัตติวาร : ตอนว่าด้วยข้อยกเว้นที่ไม่ต้องปรับอาบัตินั้นๆ ตามปกติอยู่ท้ายคำอธิบายสิกขาบทแต่ละข้อในคัมภีร์วิภังค์ พระวินัยปิฎก
อนามัฏฐบิณฑบาต : อาหารที่ภิกษุบิณฑบาตได้มายังไม่ได้ฉัน จะให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ภิกษุด้วยกันไม่ได้ นอกจากมารดาบิดา
อนามาส : วัตถุอันภิกษุไม่ควรจับต้อง เช่น ร่างกายและเครื่องแต่งกายสตรีเงินทอง อาวุธ เป็นต้น
อนาวรณญาณ : ปรีชาหยั่งรู้ที่ไม่มีอะไรๆ มากั้นได้ หมายความว่า รู้ตลอด, รู้ทะลุปรุโปร่ง เป็นพระปรีชาญาณเฉพาะของพระพุทธเจ้า ไม่ทั่วไปแก่พระสาวก
อนาวาส : ถิ่นท่มิใช่อาวาส คือ ไม่เป็นวัด
อนิฏฐารมณ์ : อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา, สิ่งที่คนไม่อยากได้ไม่อยากพบ แสดงในแง่ตรงข้ามกับกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าชอบใจ แสดงในแง่โลกธรรม ได้แก่ ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ การนินทา และความทุกข์ เทียบ อิฏฐารมณ์
อนิมิตตวิโมกข์ : หลุดพ้นด้วยไม่ถือนิมิต คือ หลุดพ้นด้วยพิจารณาเห็นนามรูปเป็นอนิจจะ แล้วถอนนิมิตได้ (ข้อ ๒ ในวิโมกข์ ๓)
อนิมิตตสมาธิ : สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต คือ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนิจจลักษณะ (ข้อ ๒ ในสมาธิ ๓)
อนิมิสเจดีย์ :
สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จยืนจ้องดูต้นพระศรีมหาโพธิด้วยมิได้กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน อยู่ทางทิศอีสานของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ดู วิมุตติสุข
อปฏิจฉันนาบัติ : อาบัติ (สังฆาทิเสส) ที่ภิกษุต้องแล้วไม่ได้ปิดไว้
อปมาโร : โรคลมบ้าหมู
อปุญญาภิสังขาร : สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อกุศลเจตนาทั้งหลาย (ข้อ ๒ ในอภิสังขาร ๓)
อพยาบาท : ความไม่คิดร้าย, ไม่พยาบาทปองร้ายเขา, มีเมตตา (ข้อ ๙ ในกุศลกรรมบถ ๑๐)
อพยาบาทวิตก : ความตรึกในทางไม่พยาบาท, การคิดแผ่เมตตาแก่ผู้อื่น ปรารถนาให้เขามีความสุข (ข้อ ๒ ในกุศลวิตก ๓)