อุปัชฌาย์ : “ผู้เพ่งโทษน้อยใหญ่” หมายถึงผู้รับรองกุลบุตรเข้ารับการอุปสมบทในท่ามกลางภิกษุสงฆ์, เป็นทั้งผู้นำเข้าหมู่ และเป็นผู้ปกครองคอยดูแลผิดและชอบ ทำหน้าที่ฝึกสอนอบรมให้การศกษาต่อไป; อุปัชฌาย์ในฝ่ายภิกษุณี เรียกว่า ปวัตตินี
ปัจฉิมกิจ : ธุระที่พึงทำภายหลัง, กิจที่พึงทำตอนท้าย เช่น ปัจฉิมกิจแห่งอุปสมบทมี ๖ ได้แก่ วัดเงาแดด, บอกประมาณแห่งฤดู, บอกส่วนแห่งวัน, บอกสังคีติ (บอกรวบหรือบอกประมวล เช่น วัดที่บวช อุปัชฌาย์ กรรมวาจาจารย์ และจำนวนสงฆ์ เป็นต้น) บอกนิสัย ๔ และบอกอกรณียกิจ ๔ (ที่รวมเรียกอนุศาสน์)
อุปัชฌายาจารย์ : อุปัชฌาย์และอาจารย์
นาคเสน :
พระอรหันตเถระผู้โต้วาทะชนะพระยามิลินท์ กษัตริย์แห่งสาคลประเทศ ดงมีคำโต้ตอบปัญหามาในคัมภีร์มิลินทปัญหา ท่านเกิดหลังพุทธกาลประมาณ ๔๐๐ ปี ที่หมู่บ้านกชังคละในหิมวันตประเทศ เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อโสณุตตระ ท่านเป็นผู้ชำนาญในพระเวทและต่อมาได้อุปสมบท โดยมีพระโรหะเป็นพระอุปัชฌาย์; ดู มิลินท์, มิลินทปัญหา
นิสัย : 1.ที่พึ่ง, ที่อาศัย เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท (คือกล่าวคำขอร้องต่ออุปัชฌาย์ในพิธีอุปสมบท ขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยของตน ทำหน้าที่ปกครองสั่งสอนให้การศึกษาอบรมต่อไป) อาจารย์ผู้ให้นิสัย (อาจารย์ผู้รับที่จะทำหน้าที่เป็นที่พึ่ง ที่อาศัยปกครองแนะนำในการศึกษาอบรม) 2.ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต ๔ อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช 3.ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทำจนเป็นนิสัย
นิสัยมุตตกะ : ภิกษุผู้พ้นการถือนิสัยหมายถึงภิกษุมีพรรษาพ้น ๕ แล้ว มีความรู้ธรรมวินัยพอรักษาตัวได้แล้ว ไม่ต้องถือนิสัยในอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์ต่อไป; เรียกง่ายว่า นิสัยมุตก์
บุพกิจ : กินอันจะพึงทำก่อน, กิจเบื้องต้น เช่น บุพกิจในการทำอุโบสถ ได้แก่ ก่อนสวดปาฏิโมกข์ต้องนำปาริสุทธิของภิกษุอาพาธมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ นำฉันทะของภิกษุอาพาธมา บอกฤดูนับภิกษุ ให้โอวาทนางภิกษุณี; บุพกิจแห่งการอุปสมบทมี การให้บรรพชา ขอนิสัย ถืออุปัชฌาย์ จนถึงสมมติภิกษุผู้สอบถามอันตรายิกธรรมกะอุปสัมปทาเปกขะท่ามกลางสงฆ์ ดังนี้เป็นต้น
ปวัตตินี : คำเรียกผู้ทำหน้าที่อุปัชฌาย์ในฝ่ายภิกษุณี
ราธะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นพราหมณ์ในเมืองราชคฤห์ เมื่อชราลงถูกบุตรทอดทิ้ง อยากจะบวชก็ไม่มีภิกษุรับบวชให้ เพราะเห็นว่าเป็นคนแก่เฒ่า ราธะเสียใจ ร่างกายซูบซีด พระศาสดาทรงทราบจึงตรัสถามว่า มีใครระลึกถึงอุปการะของราธะได้บ้าง พระสารีบุตรระลึกถึงภิกษาทัพพีหนึ่งที่ราธะถวาย จึงรับเป็นอุปัชฌาย์ และราธะได้เป็นบุคคลแรกที่อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ท่านบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต พระราธะเป็นผู้ว่าง่าย ตั้งใจรับฟังคำสั่งสอน มีความสุภาพอ่อนโยน เป็นตัวอย่างของภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรก็ชมท่าน ท่านเคยได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า เคยทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางก่อให้เกิดปฏิภาณ
สัทธิวิหาริกวัตร : ข้อควรปฏิบัติต่อสัทธิวิหาริก, หน้าที่อันอุปัชฌาย์จะพึงกระทำแก่สัทธิวิหาริก คือ ๑.เอาธุระในการศึกษา ๒.สงเคราะห์ด้วยบาตรจีวร และบริขารอื่น ๆ ๓.ขวนขวายป้องกัน หรือ ระงับความเสื่อมเสีย เช่นระงับความคิดจะสึก เปลื้องความเห็นผิด ฯลฯ ๔.พยาบาลเมื่ออาพาธ เทียบ อุปัชฌายวัตร
โสณกุฏิกัณณะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรของอุบาสิกาชื่อกาฬี ซึ่งเป็นพระโสดาบัน เกิดที่บ้านเดิมของมารดาในเมืองราชคฤห์ แล้วกลับไปอยู่ในตระกูลบิดาที่แคว้นอวันตี ทักขิณาบถ พระมหากัจจายนะให้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วรอต่อมาอีก ๓ ปี เมื่อท่านหาภิกษุได้ครบ ๑๐ รูปแล้วจึงให้อุปสมบทเป็นภิกษุ บวชแล้วไม่นานก็สำเร็จพระอรหัต ต่อมาท่านได้เดินทางมาเฝ้าพระศาสดาที่เมืองสาวัตถี พร้อมทั้งนำความที่พระอุปัชฌาย์สั่งมากราบทูลขอพระพุทธานุญาตพิเศษสำหรับปัจจันตชนบท เช่น ให้สงฆ์มีภิกษุ ๕ รูปให้อุปสมบทได้ ให้ใช้รองเท้าหนาหลายชั้นได้ ให้อาบน้ำได้ตลอดทุกเวลา เป็นต้น ท่านแสดงธรรมมีเสียงไพเราะแจ่มใสชัดเจนจึงได้รับย่องย่องจากพระศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในทางกล่าวกัลยาณพจน์
อนุศาสน์ : การสอน, คำชี้แจง; คำสอนที่อุปัชฌาย์หรือกรรมวาจาจารย์บอกแก่ภิกษุใหม่ ในเวลาอุปสมบทเสร็จประกอบด้วย นิสสัย ๔ และ อกรณียกิจ ๔ นิสสัย คือ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต มี ๔ อย่าง ได้แก่ ๑) เที่ยวบิณฑบาต ๒) นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ๓) อยู่โคนไม้ ๔) ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า (ท่านบอกไว้เป็นทางแสวงหาปัจจัย ๔ พร้อมทั้งอตเรกลาภของภิกษุ) อกรณียกิจ กิจที่ไม่ควรทำ หมายถึง กิจที่บรรพชิตทำไม่ได้ มี ๔ อย่าง ได้แก่ ๑) เสพเมถุน ๒) ลักของเขา ๓) ฆ่าสัตว์ (ที่ให้าดจากความเป็นภิกษุหมายเอาฆ่ามนุษย์) ๔) พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน
อาจริยวัตร : กิจที่อันเตวาสิกควรประพฤติ ปฏิบัติต่ออาจารย์ (เช่นเดียวกับ อุปัชฌายวัตร ที่สัทธิวิหาริกพึงปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์)
อุบาลี : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นกัลบกของเจ้าศากยะ ได้ออกบวชที่อนุปิยอัมพวัน พร้อมกับพระอานนท์และพระอนุรุทธะ เป็นต้น มีอุปัชฌาย์ชื่อพระกัปปิตก ครั้นบวชแล้ว เรียนกรรมฐาน จะไปอยู่ป่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ท่านเล่าเรียนและเจริญวิปัสสนาไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหัตเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจเชี่ยวชาญในพระวินัยมาก จนพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้ทรงพระวินัย (วินัยธร) พระอุบาลีเป็นกำลังสำคัญ ในคราวทำปฐมสังคายนา คือ เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย
อุปัชฌายมัตต์ : ภิกษุผู้พอจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ คือมีพรรษาครบ ๑๐, พระปูนอุปัชฌาย์
อุปัชฌายวัตร : ธรรมเนียมหรือข้อปฏิบัติที่สัทธิวิหาริกพึงกระทำต่ออุปัชฌาย์ของตน, หน้าที่ต่ออุปัชฌาย์ โดยย่อคือ เอาใจใส่ปรนนิบัติรับใช้ คอยศึกษาเล่าเรียนจากท่าน ขวนขวายป้องกันหรือระงับความเสื่อมเสีย เช่น ความคิดจะสึก ความเห็นผิด เป็นต้น รักษาน้ำใจของท่าน มีความเคารพ จะไปไหนบอกลา ไม่เที่ยวตามอำเภอใจ และเอาใจใส่พยาบาลเมื่อท่านอาพาธ เทียบ สัทธิวิหาริกวัตร
อุปัชฌายะ : ผู้เพ่งโทษน้อยใหญ่ หมายถึงผู้รับรองกุลบุตรเข้ารับการอุปสมบทในท่ามกลางภิกษุสงฆ์, เป็นทั้งผู้นำเข้าหมู่ และเป็นผู้ปกครองคอยดูแลผิดและชอบ ทำหน้าที่ฝึกสอนอบรมให้การศกษาต่อไป; อุปัชฌาย์ในฝ่ายภิกษุณี เรียกว่า ปวัตตินี