อธิการ : 1) เรื่อง, ตอน เช่น ในอธิการนี้ หมายความว่า ในเรื่องนี้ ในตอนนี้ 2) อำนาจ, การปกครอง, บังคับบัญชา, ตำแหน่ง, หน้าที่, กิจการ, ภาระ, สิทธิ, เคยเรียกเจ้าอาวาสที่ไม่เป็นเปรียญและไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า พระอธิการ และเรียกเจ้าอาวาสเช่นนั้นที่เป็นเจ้าคณะตำบลว่า เจ้าอธิการ
สาธก : อ้างตัวอย่างให้เห็นสม, ยกตัวอย่างมาอ้างให้เห็น
เอกสิทธิ์ : สิทธิพิเศษ, สิทธิโดยเฉพาะ
กฐิน : ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร; ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้ และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ) ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔); ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ); สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป; ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
กรรมสิทธิ์ : ความเป็นเจ้าของทรัพย์, สิทธิที่ได้ตามกฎหมาย
กาลามสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนชนชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคมใน แคว้นโกศล ไม่ให้เชื่อถืองมงายไร้เหตุผล ตามหลัก ๑๐ ข้อ คือ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา, ด้วยการถือสืบๆ กันมา, ด้วยการเล่าลือ, ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์, ด้วยตรรก, ด้วยการอนุมาน, ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล, เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน, เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ, เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา; ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น เรียกอีกอย่างว่าเกสปุตติยสูตร หรือเกสปุตตสูตร.
จำพรรษา : อยู่ประจำวัด ๓ เดือนในฤดูฝน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (อย่างนี้เรียกปุริมพรรษา แปลว่า พรรษาต้น) หรือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ (อย่างนี้เรียก ปัจฉิมพรรษา แปลว่า พรรษาหลัง); วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ เรียกว่า ปุริมิกา วัสสูปนายิกา, วันเข้าพรรษาหลัง คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ เรียกว่า ปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา ; คำอธิษฐานพรรษา ว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ ; ทุติยมฺปี อิมสฺมึ....; ตติยมฺปิ อิมสฺมึ....แปลว่า ข้าพเจ้าเข้าอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในวัดนี้ (วิหาเร จะเปลี่ยนเป็น อาวาเส ก็ได้) ; อานิสงส์การจำพรรษามี ๕ อย่าง คือ ๑.เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ๒.จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ ๓.ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้ ๔.เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา ๕.จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ อานิสงส์ทั้ง ๕ นี้ได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่ง นับแต่ออกพรรษาแล้ว คือ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ นอกจากนั้นยังได้สิทธิที่จะกรานกฐิน และได้รับอานิสงส์ ๕ นั้น ต่อออกไปอีก ๔ เดือน (ภิกษุผู้เข้าพรรษาแล้วหลัง ไม่ได้อานิสงส์หรือสิทธิพิเศษเหล่านี้)
ฉันทะ : 1.ความพอใจ, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความรักใคร่สิ่งนั้นๆ, ความรักงาน (เป็นกลางๆ เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี, เป็นอัญญสมานาเจตสิกข้อ ๑๓, ที่เป็นอกุศล เช่นในกามฉันทะ ที่เป็นกุศลเช่น ข้อ ๑ ในอิทธิบาท ๔) 2.ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย, เป็นธรรมเนียมของภิกษุ ที่อยู่ในวัดซึ่งมีสีมารวมกัน มีสิทธิที่จะเข้าประชุมทำกิจของสงฆ์ เว้นแต่ภิกษุนั้นอาพาธจะเข้าร่วมประชุมด้วยไม่ได้ ก็มอบฉันทะคือแสดงความยินยอมให้สงฆ์ทำกิจนั้นๆ ได้
ตู่ : กล่าวอ้างหรือทึกทักเอาของผู้อื่นว่าเป็นของตัว, กล่าวอ้างผิดตัว ผิดสิ่ง ผิดเรื่อง, ในคำว่า กล่าวตู่พระพุทธเจ้า หรือตู่พุทธพจน์ หมายความว่า อ้างผิดๆ ถูกๆ, กล่าวสิ่งที่ตรัสว่ามิได้ตรัส กล่าวสิ่งที่มิได้ตรัสว่าได้ตรัสไว้, พูดให้เคลื่อนคลาดหรือไขว้เขวไปจากพุทธดำรัส, พูดใส่โทษ, กล่าวข่มขี่, พูดกด เช่น คัดค้านให้เห็นว่า ไม่จริงหรือไม่สำคัญ
ตู่กรรมสิทธิ์ : กล่าวอ้างเอากรรมสิทธิ์ ของผู้อื่นว่าเป็นของตัว
บุคคลาธิษฐาน : มีบุคคลเป็นที่ตั้ง, เทศนายกบุคคลขึ้นอ้าง คู่กับธรรมาธิษฐาน
ปณามคาถา : คาถาน้อมไหว้, คาถาแสดงความเคารพพระรัตนตรัย เรียกกนง่ายๆ ว่า คาถาไหว้ครู ซึ่งตามปกติ พระอาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์ภาษาบาลี เช่น อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น ถือเป็นธรรมเนียมที่จะเรียบเรียงไว้เป็นเบื้องต้น ก่อนขึ้นเนื้อความของคัมภีร์นั้นๆ ประกอบด้วยคำสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย คำบอกความมุ่งหมายในการแต่ง คำอ้างถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้อาราธนาให้แต่ง และข้อควรทราบอื่นๆ เป็นอย่างคำนำ หรือคำปรารภ
ปริวาส : การอยู่ชดใช้ เรียกสามัญว่า อยู่กรรม, เป็นชื่อวุฏฐานวิธี (ระเบียบปฏิบัติสำหรับออกจากครุกาบัติ) อย่างหนึ่ง ซึ่งภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ จะต้องประพฤติเป็นการลงโทษตนเองชดใช้ให้ครบเท่าจำนวนวันที่ปิดอาบัติ ก่อนที่จะประพฤติมานัตอันเป็นขั้นตอนปกติของการออกจากอาบัติต่อไป, ระหว่างอยู่ปริวาส ต้องประพฤติวัตรต่างๆ เช่น งดใช้สิทธิบางอย่าง ลดฐานะของตน และประจานตัวเป็นต้น; ปริวาส มี ๓ อย่าง คือ ปฏิจฉันนปริวาส สโมธานปริวาส และ สุทธันตปริวาส; มีปริวาสอีกอย่างหนึ่งสำหรับนักบวชนอกศาสนา จะต้องประพฤติก่อนที่จะบวชในพระธรรมวินัย เรียกว่า ติตถิยปริวาส ซึ่งท่านจัดเป็น อปริจฉันนปริวาส
พยาน : ผู้รู้เห็นเหตุการณ์, คน เอกสาร หรือสิ่งของที่อ้างเป็นหลักฐาน
มหาปเทส : ข้อสำหรับอ้างใหญ่, หลักอ้างอิงสำหรับเทียบเคียง ๔ คือ ๑.สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งเป็นอกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นควร ๒.สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร ๓.สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นอกัปปิยะขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นไม่ควร ๔.สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควรแต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิงนั้นควร
มหาอุทายี : พระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในเมืองกบิลพัสดุ์ เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จไปโปรดพระญาติ จึงออกบวชและได้สำเร็จอรหัตตผล ท่านเป็นพระธรรมกถึกองค์หนึ่ง มีเรื่องเกี่ยวกับการที่ท่านแสดงธรรมบ้าง สนทนาธรรมบ้าง ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง คราวหนึ่งพระอานนท์เห็นท่านนั่งแสดงธรรมอยู่ มีคฤหัสถ์ล้อมฟังอยู่เป็นชุมนุมใหญ่ จึงได้กราบทูลเล่าถวายพระพุทธเจ้า เป็นข้อปรารภให้พระองค์ทรงแสดง ธรรมเทศกธรรม หรือหรือองค์คุณของธรรมกถึก ๕ ประการ คือ ๑.แสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ ๒.อ้างเหตุผลให้ผู้ฟังเข้าใจ ๓.มีจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ๔.ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ ๕.ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น
มานัตตารหภิกษุ : ภิกษุผู้ควรแก่มานัต คือ ภิกษุที่อยู่ปริวาสครบกำหนดแล้ว มีสิทธิขอมานัตกะสงฆ์ และสงฆ์จะให้มานัตเพื่อประพฤติในลำดับต่อไป
มิตตปฏิรูป : คนเทียมมิตร, มิตรเทียม ไม่ใช่มิตรแท้ มี ๔ พวก ได้แก่ ๑.คนปอกลอก มีลักษณะ ๔ คือ ๑.คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๒.ยอมเสียน้อยโดยหวังจะเอาให้มาก ๓.ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน ๔.คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๒.คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔ คือ ๑.ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย ๒.ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย ๓.สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๔.เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง ๓.คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔ คือ ๑.จะทำชั่วก็เออออ ๒.จะทำดีก็เออออ ๓.ต่อหน้าสรรเสริญ ๔.ลับหลังนินทา ๔.คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔ คือ ๑.คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา ๒.คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน ๓.คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น ๔.คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน
ไม่มีสังวาส : ไม่มีธรรมเป็นเหตุอยู่ร่วมกับภิกษุทั้งหลาย, ขาดสิทธิอันชอบธรรม ที่จะถือเอาประโยชน์แห่งความเป็นภิกษุ, ขาดจากความเป็นภิกษุ, อยู่ร่วมกับสงฆ์ไม่ได้
เลศ : แสดงอาการให้รู้ในที; อาการที่พอจะยกขึ้นอ้างเพื่อใส่ความ
สมบัติ : ๑ ความถึงพร้อม, สิ่งที่ได้ที่ถึงด้วยดี, เงินทองของมีค่า, สิ่งที่มีอยู่ในสิทธิอำนาจของตน, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์, สมบัติ ๓ ได้แก่ มนุษยสมบัติ สมบัติในขั้นมนุษย์ สวรรคสมบัติ สมบัติในสวรรค์ (เทวสมบัติ หรือทิพยสมบัติ ก็เรียก) และนิพพานสมบัติ สมบัติ คือนิพพาน
สมานสังวาสสีมา : แดนมีสังวาสเสมอกัน, เขตที่กำหนดความพร้อมเพรียงและสิทธิในการเข้าอุโบสถปวารณาและสังฆกรรมด้วยกัน
สังวาส : ธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกันของสงฆ์ ได้แก่การทำสังฆกรรมร่วมกันสวดปาฏิโมกข์ร่วมกัน มีสิกขาบทเสมอกัน เรียกง่าย ๆ ว่า ทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน คือ เป็นพวกเดียวกัน อยู่ด้วยกันได้ มี,ฐานะและสิทธิเสมอกัน; ในภาษาไทย ใช้หมายถึง ร่วมประเวณี ด้วย
สังวาสนาสนา : ให้ฉิบหายจากสังวาสหมายถึงการทำอุกเขปนียกรรมยกเสียจากสังวาส คือทำให้หมดสิทธิที่จะอยู่ร่วมกับสงฆ์
สัตยาธิษฐาน : การตั้งความจริงเป็นหลักอ้าง, ความตั้งใจแน่วแน่มุ่งต่อผลอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยการอ้างความจริงเป็นหลักประกัน
อัคคัญญสูตร : ชื่อสูตรที่ ๔ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก ทรงแสดงแก่สามเณรวาเสฏฐะ และสามเณรภารัทวาชะ ผู้ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ ทรงคัดค้านคำกล่าวอ้างของพวกพราหมณ์ ที่ถือว่าพราหมณ์เป็นวรรณะประเสริฐที่สุด และถือว่าชาติกำเนิดเป็นเครื่องตัดสินความประเสริฐ และความต่ำทรามของมนุษย์ ทรงแสดงให้เห็นว่าความประเสริฐหรือต่ำทรามนั้นอยู่ที่ความประพฤติ โดยมีธรรมเป็นเครื่องตัดสิน คนวรรณะต่างๆ ออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เกิดจากธรรมเสมอกันหมด แล้วทรงแสดงความเป็นมาของสังคมมนุษย์ เริ่มแต่เกิดมีสัตว์ขึ้นในโลกแล้วเปลี่ยนแปลงตามลำดับ จนเกิดมีมนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นพวก เกิดความจำเป็นต้องมีการปกครอง และมีการประกอบอาชีพ การงานต่างๆ กัน วรรณะทั้ง ๔ ก็เกิดจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มิใช่เป็นเรื่องของพรหมสร้างสรรค์ แต่เกิดจากธรรม (ธรรมดา, กฎธรรมชาติ) ทุกวรรณะประพฤติชั่วก็ไปอบายได้ ปฏิบัติธรรมก็บรรลุนิพพานได้ ธรรมเป็นเครื่องตัดสิน และธรรมเป็นของประเสริฐสูงสุด ผู้ที่สิ้นอาสวกิเลสแล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุดในวรรณะทั้ง ๔ ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐสุดในบรรดาเทวะ และมนุษย์ทั้งปวง
อาญาสิทธิ์ : อำนาจเด็ดขาด คือสิทธิที่แม่ทัพได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินในเวลาไปสงครามเป็นต้น
อุกฺขิตฺตโก : ผู้อันสงฆ์ยกแล้ว หมายถึง ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ทำอุกเขปนียกรรมตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว (จนกว่าสงฆ์จะยอมระงับกรรมนั้น)
อุกเขปนียกรรม : กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย หมายถึงวิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติ หรือไม่ยอกทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้าย (ทิฏฐิบาป) ไม่ยอมสละซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตา หรือ ทิฏฐิสามัญญตา โดยยกเธอเสียจากการสมโภคกับสงฆ์ คือ ไม่ให้ฉันร่วมไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลาย พูดง่ายๆ ว่า ถูกตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว
อุปมา : ข้อความที่นำมาเปรียบเทียบ, การอ้างเอามาเปรียบเทียบ, ข้อเปรียบเทียบ