เครื่องภัณฑ์ : สิ่งของสำหรับถวายพระเทศน์
ทัพสัมภาระ : เครื่องเคราและส่วนประกอบทั้งหลาย, สิ่งและเครื่องอันเป็นส่วนประกอบที่จะคุมกันเข้าเป็นเรือน เรือ รถหรือเกวียนเป็นต้น; เขียนเต็มว่า ทัพพสัมภาระ
ศักดินา : อำนาจปกครองที่นา หมายความว่า พระมหากษัตริย์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย และขุนนางเป็นต้น ถือนาได้มีกำหนดจำนวนไร่ เป็นเรือนหมื่นเรือนพันตามฐานานุรูป การพระราชทานให้ถือศักดินานั้น เป็นเครื่องเทียบยศและเป็นเครื่องปรับผู้ก้ำเกิน หรือเป็นเครื่องปรับผู้ถือศักดินานั่นเอง เมื่อทำผิด
สุภัททะ วุฒบรรพชิต : “พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่” ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการปรารภที่จะทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ก่อนบวช เป็นช่างตัดผมในเมืองอาตุมา มีบุตรชาย ๒ คน เมื่อบวชแล้วคราวหนึ่งได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่จะเสด็จมายังเมืองอาตุมา จึงให้บุตรทั้ง ๒ เอาเครื่องมือตัดผมออกไปเที่ยวขอตัดผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเอาเครื่องปรุงยาคูมาได้มากมาย แล้วบัญชาการให้ผู้คนจัดเตรียมข้าวยาคูไว้เป็นอันมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ก็นำเอาข้าวยาคูนั้นเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าตรัสถาม ทรงทราบความว่าพระสุภัททะได้ข้าวนั้นมาอย่างไรแล้ว ไม่ทรงรับและทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ๒ ข้อ คือ บรรพชิตไม่พึงชักชวนคนทำในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ และภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผมไว้ประจำตัว จากการที่ได้ถูกติเตียนและเสียของเสียหน้าเสียใจ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น พระสุภัททะก็ได้ผูกอาฆาตไว้ ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน พระสุภัททะร่วมอยู่ในคณะของพระมหากัสสปเถระ ซึ่งกำลังเดินทางจากเมืองปาวาสู่เมืองกุสินารา ระหว่างทางนั้น คณะได้ทราบข่าวพุทธปรินิพพานจากอาชีวกผู้หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นราคะ (คือพระปุถชน โสดาบัน และสกทาคามี) พากันร้องไห้คร่ำครวญเป็นอันมาก ในขณะนั้นเอง พระสุภัททะวุฒบรรพชิต ก็ร้องห้ามขึ้นว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไห้ไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว พระมหาสมณะนั้นคอยเบียดเบียนพวกเราว่าสิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ บัดนี้พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น” พระมหากัสสปเถระได้ฟังแล้วเกิดธรรมสังเวช ดำริว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน ก็ยังเกิดเสี้ยนหนามขึ้นแล้วในพระศาสนา หากต่อไปคนชั่วได้พวกพ้องมีกำลังเติบกล้าขึ้น ก็จะทำพระศาสนาให้เสื่อมถอย ดังนั้น หลังจากเสร็จงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว ท่านจึงได้ยกถ้อยคำของสุภัททะวุฒบรรพชิต นี้ขึ้นเป็นข้อปรารภ ชักชวนพระเถระทั้งหลายร่วมกันทำสังคายนาครั้งแรก
อสังหาริมะ : ซึ่งนำเอาไปไม่ได้, เคลื่อนที่ไม่ได้, ของติดที่ ขนเอาไปไม่ได้ เช่น ที่ดิน โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ต้นไม้ เรือน เป็นต้น เทียบ สังหาริมะ
กรรมกรณ์ : เครื่องลงอาชญา, ของสำหรับใช้ลงโทษ เช่น โซ่ ตรวน ขื่อ คา เป็นต้น
กัปปิยกุฎี :
เรือนเก็บของที่เป็นกัปปิยะ ดู กัปปิยภูมิ
กัปปิยบริขาร : เครื่องใช้สอยที่สมควรแก่สมณะ, ของใช้ที่สมควรแก่ภิกษุ
กุฏกะ : เครื่องลาดที่ใหญ่ ชนิดที่มีนางฟ้อน ๑๖ คนยืนฟ้อนรำได้ (เช่นพรมปูห้อง)
คหปติกา :
เรือนของคฤหบดี คือเรือนอันชาวบ้านสร้างถวายเป็นกัปปิยกุฎี ดู กัปปิยภูมิ
คากรอง : เครื่องปกปิดร่างกายที่ทำด้วยหญ้า หรือเปลือกไม้
เครื่องต้น : เครื่องทรงสำหรับกษัตริย์, สิ่งของที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใช้และเสวย
จตุปัจจัย : เครื่องอาศัยของชีวิต หรือสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ๔ อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช (เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่ ยา)
จรณะ : เครื่องดำเนิน, ปฏิปทา คือข้อปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุวิชา มี ๑๕ คือ สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล อปัณณกปฏิปทา ๓ สัทธรรม ๗ และ ฌาน ๔
จิตตกา : เครื่องลาดทำด้วยขนแกะ ที่ปักหรือทอเป็นลวดลายต่างๆ
ตะโพน : เครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง มีหนัง ๒ หน้า ตรงกลางป่อง ริม ๒ ข้างสอบลง
ทุกขลักษณะ : เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นทุกข์คือ ๑.ถูกการเกิดขึ้นและการดับสลายบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ๒.ทนได้ยากหรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ๓.เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ ๔.แย้งต่อสุขหรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข
ธงแห่งคฤหัสถ์ : เครื่องนุ่งห่มของคฤหัสถ์, การนั่งห่มอย่างนิยมกันของชาวบ้าน
ธงแห่งเดียรถีย์ : เครื่องนุ่งห่มของเดียรถีย์ เช่น หนังเสือ ผ้าคากรอง เป็นต้น, การนุ่งห่มอย่างที่ชื่นชมกันของนักบวชนอกพระศาสนา
บริขาร : เครื่องใช้สอยของนักพรต, เครื่องใช้สอยของพระในพระพุทธศาสนา มี ๘ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ นิยมเรียกรวมว่า อัฐบริขาร (บริขาร ๘)
ปฏลิกา : เครื่องลาดทำด้วยขนแกะที่มีสัณฐานเป็นพวงดอกไม้
ปฏิกา : เครื่องลาดทำด้วยขนแกะที่มีสีขาวล้วน
ปราสาท : เรือนหลวง, เรือนชั้น
ปลิโพธ : เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ใจพระวักพะวนห่วงกังวล, เหตุกังวล, ข้อติดข้อง; ปลิโพธที่ผู้จะเจริญกรรมฐานพึงตัดเสียให้ได้ เพื่อให้เกิดความปลอดโปร่งพร้อมที่จะเจริญกรรมฐานให้ก้าวหน้าไปได้ดี มี ๑๐ อย่าง คือ ๑.อาวาสปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับวัดหรือที่อยู่ ๒.กุลปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับตระกูลญาติหรืออุปัฏฐาก ๓.ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภ ๔.คณปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับคณะศิษย์หรือหมู่ชนที่ตนต้องรับผิดชอบ ๕.กรรมปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการงาน เช่น การก่อสร้าง ๖.อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกลเนื่องด้วยกิจธุระ ๗.ญาติปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับญาติหรือคนใกล้ชิดที่จะต้องเป็นห่วงซึ่งกำลังเจ็บป่วยเป็นต้น ๘.อาพาธปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง ๙.คันถปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน ๑๐.อิทธิปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ของปุถุชนที่จะต้องคอยรักษาไม่ให้เสื่อม (ข้อท้ายนี้เป็นปลิโพธสำหรับผู้จะเจริญวิปัสสนาเท่านั้น)
ปัญจพิธพันธนะ : เครื่องตรึง ๕ อย่าง คือ ตรึงเหล็กอันร้อนที่มือทั้ง ๒ ข้างที่เท้าทั้ง ๒ ข้าง และที่กลางอก ซึ่งเป็นการลงโทษที่นายนิรยบาลกระทำต่อสัตว์นรก
ปานะ : เครื่องดื่ม, น้ำสำหรับดื่ม ที่คั้นจากลูกไม้ (น้ำคั้นผลไม้) จัดเป็นยามกาลิก ท่านแสดงไว้ ๘ ชนิด คือ ๑.อมฺพปานํ น้ำมะม่วง ๒.ชมฺพุปานํ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า ๓.โจจปานํ น้ำกล้วยมีเม็ด ๔.โมจปานํ น้ำกล้วยไม่มีเม็ด ๕.มธุกปานํ น้ำมะม่วง (ต้องเจือน้ำจึงจะควร) ๖.มุทฺทิกปานํ น้ำลูกจันทร์หรือองุ่น ๗.สาลุกปานํ น้ำเหง้าอุบล ๘.ผารุสกปานํ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ นิยมเรียกว่า อัฏฐบาล หรือ น้ำอัฏฐบาน (ปานะ ๘ อย่าง)
ภูษา : เครื่องนุ่งห่ม, ผ้าทรง
มณฑป : เรือนยอดที่มีรูป ๔ เหลี่ยม
มนเทียร : เรือนหลวง, โบราณใช้ มณเฑียร
ยาน : เครื่องนำไป, พาหนะต่างๆ เช่น รถ, เกวียน, เรือ เป็นต้น
ราชูปโภค : เครื่องใช้สอยของพระราชา
วิกติกา : เครื่องลาดที่เป็นรูปสัตว์ร้าย เช่น ราชสีห์ เสือ เป็นต้น
สังกิเลส : เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง
สัตตบัญชร : เรือนระเบียบหอก, ซี่กรงทำด้วยหอก
อชินปเวณิ : เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะ มีขนอ่อนนุม จัดเป็นอุจจาสยนะมหาสยนะอย่างหนึ่ง
อลังการ : เครื่องประดับประดา
อามิส : เครื่องล่อใจ, เหยื่อ, สิ่งของ
อายตนะภายนอก : เครื่องต่อภายนอก, สิ่งที่ถูกรู้มี ๖ คือ ๑) รูป รูป ๒) สัททะ เสียง ๓) คันธะ กลิ่น ๔) รส รส ๕) โผฏฐัพพะ สิ่งต้องกาย ๖) ธัมมะ ธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ หรือสิ่งที่ใจรู้; อารมณ์ ๖ ก็เรียก
อายตนะภายใน : เครื่องต่อภายใน, เครื่องรับรู้มี ๖ คือ ๑) จักขุ ตา ๒) โสต หู ๓) ฆาน จมูก ๔) ชิวหา ลิ้น ๕) กาย กาย ๖) มโน ใจ; อินทรีย์ ๖ ก็เรียก
อารมณ์ : เครื่องยึดหน่วงของจิต, สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์; ในภาษาไทย ความหมายเลื่อนไปเป็นความรู้สึก หรือความเป็นไปแห่งจิตใจ ในขณะหรือช่วงเวลาหนึ่งๆ เช่นว่า อย่าทำตามอารมณ์ วันนี้อารมณ์ดี อารมณ์เสีย เป็นต้น
อาวรณ์ : เครื่องกั้น, เครื่องกำบัง; ไทยมักใช้ในความหมายว่า ห่วงใย, อาลัย, คิดกังวลถึง
อุทธโลมิ : เครื่องลาดที่มีขนตั้ง
เอกันตโลมิ : เครื่องลาดที่มีขนตกไปข้างเดียวกัน
คฤหัสถ์ : ผู้ครองเรือน, ชาวบ้าน
คิหิณี : หญิงผู้ครองเรือน, คฤหัสถ์หญิง
ฆราวาส : การอยู่ครองเรือน, ชีวิตชาวบ้าน; ในภาษาไทย มักใช้หมายถึงผู้ครองเรือน คือ คฤหัสถ์
ฆราวาสธรรม : หลักธรรมสำหรับการครองเรือน, ธรรมของผู้ครองเรือน มี ๔ อย่างคือ ๑.สัจจะ ความจริง เช่น ซื่อสัตย์ต่อกัน ๒.ทมะ ความฝึกฝน ปรับปรุงตน เช่น รู้จักข่มใจ ควบคุมอารมณ์ บังคับตนเองปรับตัวเข้ากับการงานและสิ่งแวดล้อมให้ได้ดี ๓.ขันติ ความอดทน ๔.จาคะ ความเสียสละ เผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจ
ฆราวาสนิสัย : วิสัยของฆราวาส, ลักษณะที่เป็นภาวะของผู้ครองเรือน, เรื่องของชาวบ้าน
ฆราวาสสมบัติ : สมบัติของการครองเรือน, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ของชีวิตชาวบ้าน
ปรมาตมัน : อาตมันสูงสุด หรออัตตาสูงสุด (บรมอาตมัน หรือ บรมอัตตา) เป็นสภาวะแท้จริง และเป็นจุดหมายสูงสุดตามหลักความเชื่อของศาสนาฮินดู (เดิมคือศาสนาพราหมณ์) ซึ่งถือว่า ในบุคคลแต่ละคนนี้ มีอาตมัน คือ อัตตาหรือตัวตน สิงสู่อยู่ครอง เป็นสภาวะเที่ยงแท้ถาวรเป็นผู้คิดผู้นึก ผู้เสวยเวทนา เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนย่อยที่แบ่งภาคออกมาจากปรมาตมันนั้นเอง เมื่อคนตาย อาตมันนี้ออกจากร่างไป สิงอยู่ในร่างอื่นต่อไป เหมือนถอดเสื้อผ้าเก่าสวมเสื้อผ้าใหม่ หรือออกจากเรือนเก่าไปอยู่ในเรือนใหม่ ได้เสวยสุขหรือทุกข์ เป็นต้น สุดแต่กรรมที่ได้ทำไว้ เวียนว่ายตายเกิดเรื่อยไป จนกว่าจะตระหนักรู้ว่าตนเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปรมาตมัน และเข้าถึงความบริสุทธิ์จากบาปโดยสิ้นเชิง จึงจะได้กลับเข้ารวมกับปรมาตมันดังเดิม ไม่เวียนตายเวียนเกิดอีกต่อไป, ปรมาตมันนี้ ก็คือ พรหม หรือ พรหมัน นั่นเอง