บ้าน : ที่อยู่ของคนครัวเดียวกัน มีเรือนหลังเดียว ๒ หลัง ๓ หลัง หรือมากกว่านั้น หรือรวมบ้านเหล่านั้นเข้าเป็นหมู่ก็เรียกว่าบ้าน, คำว่า คามสีมา หมายถึงแดนบ้านตามนัยหลังนี้
ระยะบ้านหนึ่ง : ในประโยคว่า “โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นปาจิตติยะ” ระยะทางชั่วไก่บินถึง แต่ในที่คนอยู่คับคั่ง ให้กำหนดตามเครื่องกำหนดที่มีอยู่โดยปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่นชื่อหมู่บ้าน)
ใบฎีกา : 1.หนังสือนิมนต์พระ ตัวอย่าง “ขออาราธนาพระคุณเจ้า (พร้อมด้วยพระสงฆ์ในวัดนี้อีก......รูป) เจริญพระพุทธมนต์ (หรือสวดมนต์ หรือแสดงพระธรรมเทศนา) ในงาน.....บ้าน เลขที่.......ตำบล.......อำเภอ.......ในวันที่......เดือน.......พ.ศ........เวลา......น.” (หากจะอาราธนาให้รับอาหารบิณฑบาตเช้าหรือเพลหรือมีการตักบาตรใช้ปิ่นโต ก็ให้ระบุไว้ด้วย) 2.ตำแหน่งพระฐานานุกรมรองจากสมุห์ลงมา
วิกัปปิตจีวร : จีวรที่วิกัปป์ไว้, จีวรที่ทำให้เป็นของ ๒ เจ้าของ
เจ้าภาพ : เจ้าของงาน
กรรมกิเลส : กรรมเครื่องเศร้าหมอง, การกระทำที่เป็นเหตุให้เศร้าหมอง มี ๔ อย่างคือ ๑.ปาณาติบาต การทำชีวิตให้ตกล่วงคือ ฆ่าฟันสังหารกัน ๒.อทินนาทาน ถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้คือลักขโมย ๓.กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม ๔.มุสาวาท พูดเท็จ - an action causing impurity; depravity of action; vice of conduct.
กรรมสิทธิ์ : ความเป็นเจ้าของทรัพย์, สิทธิที่ได้ตามกฎหมาย
กัปปิละ : ชื่อพราหมณ์นายบ้านของหมู่บ้านพราหมณ์หมู่หนึ่ง ในแขวงกรุงราชคฤห์ เป็นบิดาของปิปผลิมาณพ
กัลปนา : 1.ที่หรือสิ่งอื่นซึ่งเจ้าของอุทิศผลประโยชน์ให้แก่วัด 2.ส่วนบุญที่ผู้ทำอุทิศให้แก่ผู้ตาย - merit dedicated to the departed.
กูฏทันตสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรค สุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่กูฏทันตพราหมณ์ ผู้กำลังเตรียมพิธีบูชายัญ ว่าด้วยวิธีบูชายัญตามความหมายในแบบของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ต้องมีการฆ่าฟันเบียดเบียนสัตว์ มีแต่การเสียสละทำทาน และการทำความดีอื่นๆ เริ่มด้วยการตระเตรียมพิธีโดยจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยก่อนตามธรรมวิธี มีการส่งเสริมกสิกรรม พาณิชยกรรม สัมมาชีพ และบำรุงส่งเสริมข้าราชการที่ดี ซึ่งจะทำให้ประชาชนขวนขวาย ขะมักเขม้นในหน้าที่การงานของตนๆ จนบ้านเมืองมีความเกษมปลอดภัย พลเมืองมีความสุข ราชทรัพย์บริบูรณ์ดีแล้ว จึงกระทำพิธีบูชายัญ ด้วยการบริจาคทรัพย์ทำทานเป็นต้น ผลของพระธรรมเทศนานี้ คือ กูฏทันตพราหมณ์ล้มเลิกพิธีบูชายัญของตน ปล่อยสัตว์ทั้งหลาย และประกาศตนเป็นอุบาสก
คฤหบดีจีวร : ผ้าจีวรที่ชาวบ้านถวายพระ
คฤหัสถ์ : ผู้ครองเรือน, ชาวบ้าน
ความค้ำ : ในประโยคว่า เราจักไม่ทำความค้ำ ไปในละแวกบ้าน เดินเอามือค้ำบั้นเอว นั่งเท้าแขน
คามเขต : เขตบ้าน, ละแวกบ้าน
คามสีมา : แดนบ้าน คือเขตที่กำหนดด้วยบ้าน, สีมาที่ถือกำหนดตามเขตบ้าน, สีมาที่ถือกำหนดตามเขตบ้านเป็นอพัทธสีมาอย่างหนึ่ง
ฆราวาส : การอยู่ครองเรือน, ชีวิตชาวบ้าน; ในภาษาไทย มักใช้หมายถึงผู้ครองเรือน คือ คฤหัสถ์
ฆราวาสนิสัย : วิสัยของฆราวาส, ลักษณะที่เป็นภาวะของผู้ครองเรือน, เรื่องของชาวบ้าน
ฆราวาสสมบัติ : สมบัติของการครองเรือน, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ของชีวิตชาวบ้าน
จักรพรรดิ : พระราชาธิราช หมายถึงพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ มีราชอาณาเขตปกครองขว้างขวางมาก บ้านเมืองในปกครองมีความร่มเย็นเป็นสุข ปราบข้าศึกศตรูด้วยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญาและศัสตรา มีรัตนะ ๗ ประการประจำพระองค์ คือ ช้างแก้ว ม้าแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว จักรแก้ว แก้วมณี
จุนทะ : พระเถระผู้ใหญ่ชั้นมหาสาวกเป็นน้องชายของพระสารีบุตร เคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ และเป็นผู้นำอัฐิธาตุของพระสารีบุตรจากบ้าน เกิดที่ท่านปรินิพพานมาถวายแด่พระพุทธองค์ที่พระเชตวัน
ฉ้อ : โกง เช่นรับฝากของ ครั้นเจ้าของมาขอคืน กล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้รับไว้ หรือได้ให้คืนไปแล้ว
ตระกูลอันมั่งคั่ง : จะตั้งอยู่นานไม่ได้ เพราะเหตุ ๔ คือ ๑.ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว ๒.ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า ๓.ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ ๔.ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีล ให้เป็นแม่บ้านพ่อเรือน
ถือบังสุกุล :
ใช้ผ้าเฉพาะที่ได้จากกองฝุ่นกองหยากเยื่อ คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว มาทำเครื่องนุ่งห่ม ไม่ใช้ผ้าที่ชาวบ้านถวาย ดู ปังสุกูลิกังคะ
ธงแห่งคฤหัสถ์ : เครื่องนุ่งห่มของคฤหัสถ์, การนั่งห่มอย่างนิยมกันของชาวบ้าน
ธรรมสวามิศร : ผู้เป็นใหญ่โดยฐานเป็นเจ้าของธรรม หมายถึงพระพุทธเจ้า
ธรรมสามี : ผู้เป็นเจ้าของธรรม เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้า
ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ชื่อข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษเป็นต้น มี ๑๓ ข้อคือ หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุต-เกี่ยวกับจีวร มี ๑.ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุล ๒.เตจีวริกังคะ ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน; หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุต-เกี่ยวกับบิณฑบาต มี ๓.ปิณฑปาติกังคะ เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ ๔.สปทานจาริกังคะ บิณฑบาตตามลำดับบ้าน ๕.เอกาสนิกังคะ ฉันมื้อเดียว ๖.ปัตตปิณฑิกังคะ ฉันเฉพาะในบาตร ๗.ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม; หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุต -เกี่ยวกับเสนาสนะมี ๘.อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่า ๙.รุกขมูลิกังคะ อยู่โคนไม้ ๑๐.อัพโภกาสิกังคะ อยู่กลางแจ้ง ๑๑.โสสานิกังคะ อยู่ป่าช้า ๑๒.ยถาสันถติกังคะ อยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้; หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุต-เกี่ยวกับความเพียร มี ๑๓.เนสัชชิกังคะ ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน (นี้แปลเอาความสั้นๆ ความหมายละเอียด พึงดูตามลำดับอักษรของคำนั้นๆ) ธุระ “สิ่งที่จะต้องแบกไป”, หน้าที่, ภารกิจ, การงาน, เรื่องที่จะต้องรับผิดชอบ, กิจในพระศาสนา แสดงไว้ในอรรถกถา ๒ อย่างคือ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
นาลันทะ :
ชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์ เป็นบ้านเกิดของพระสารีบุตร ดู นาลกะ 2.
นาลันทา : ชื่อเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ ๑ โยชน์ ณ เมืองนี้ มีสวนมะม่วง ชื่อ ปาวาริกัมพวัน (สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี) ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง คัมภีร์ฝ่ายมหายานกล่าวว่า พระสารีบุตร อัครสาวก เกิดที่เมืองนาลันทา แต่คัมภีร์ฝ่ายบาลีเรียกถิ่นเกิดของพระสารีบุตรว่า หมู่บ้านนาลกะหรือนาลันทคาม
นิมันตนะ : การนิมนต์ หรืออาหารที่ได้ในที่นิมนต์ หมายเอาการนิมนต์ของทายกเพื่อไปฉันที่บ้านเรือนของเขา
บังสุกุลจีวร : ผ้าที่เกลือกกลั้วด้วยฝุ่น, ผ้าที่ได้มาจากกองฝุ่น, กองหยากเยื่อ ซึ่งเขาทิ้งแล้ว ตลอดถึงผ้าห่อคลุมศพ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ไม่ใช่ผ้าที่ชาวบ้านถวาย, ปัจจุบันมักหมายถึงผ้าที่พระชักจากศพโดยตรงก็ตาม จากสายโยงศพก็ตาม
บิณฑจาริกวัตร : วัตรของผู้เที่ยวบิณฑบาต, ธรรมเนียมหรือข้อควรปฏิบัติสำหรับภิกษุที่จะไปรับบิณฑบาต เช่น นุ่งห่มให้เรียบร้อย สำรวมกิริยาอาการ ถือบาตรภายในจีวรเอาออกเฉพาะเมื่อจะรับบิณฑบาต กำหนดทางเข้าออกแห่งบ้านและอาการของชาวบ้านที่จะให้ภิกขาหรือไม่ รับบิณฑบาตด้วยอาการสำรวม รูปที่กลับมาก่อน จัดที่ฉัน รูปที่มาทีหลัง ฉันแล้วเก็บกวาด
ประธานาธิบดี : หัวหน้าผู้ปกครองบ้านเมืองแบบสาธารณรัฐ
ปาริเลยยกะ : ชื่อแดนบ้านแห่งหนึ่งใกล้เมืองโกสัมพีที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยอยู่ในป่ารักขิตวันด้วยทรงปลีกพระองค์ จากพระสงฆ์ผู้แตกกันในกรุงโกสัมพี; ช้างที่ปฏิบัติพระพุทธเจ้าที่ป่านั้น ก็ชื่อ ปาริเลยยกะ; เราเรียกกันในภาษาไทยว่า ปาเลไลยก์ก็มี ป่าเลไลยก์ ก็มี ควรเขียน ปาริไลยก์ หรือปาเรไลยก์
ปาหุเนยฺโย : ผู้ควรแก่ของต้อนรับ, พระสงฆ์เป็นผู้ควรได้รับของต้อนรับ คือ ของสำหรับแขกที่ควรถวายเมื่อไปถึงบ้าน เช่น น้ำดื่ม อาหาร เป็นต้น (ข้อ ๖ ในสังฆคุณ ๙)
ปุริสเมธ : ความฉลาดในารบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ เป็นสังคหวัตถุประการหนึ่ง ของผู้ปกครองบ้านเมือง
พรหมไทย : ของอันพรหมประทาน, ของให้ที่ประเสริฐสุด หมายถึง ที่ดิน หรือบ้านเมืองที่พระราชทานเป็นบำเหน็จ เช่น เมืองอุกกุฏฐะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานแก่โปกขรสาติพราหมณ์ และนครจัมปาที่พระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้โสณทัณฑพราหมณ์ปกครอง
ภัตตัคควัตร : ข้อควรปฏิบัติในหอฉัน, ธรรมเนียมในโรงอาหาร ท่านจัดเข้าเป็นกิจวัตรประเภทหนึ่ง กล่าวย่อ มี ๑๑ ข้อ คือ นุ่งห่มให้เรียบร้อย, รู้จักอาสนะอันสมควรแก่ตน, ไม่นั่งทับผ้าสังฆาฏิในบ้าน, รับน้ำและโภชนะของถวายจากทายกโดยเอื้อเฟือ และคอยระวังให้ได้รับทั่วถึงกัน, ถ้าพอจะแลเห็นทั่วกัน พระสังฆเถระพึงลงมือฉัน เมื่อภิกษุทั้งหมดได้รับโภชนะทั่วกันแล้ว, ฉันด้วยอาการเรียบร้อยตามหลักเสขิยวัตร, อิ่มพร้อมกัน (หัวหน้ารอยังไม่บ้วนปากและล้างมือ), บ้วนปากและล้างมือระวังไม่ให้น้ำกระเซ็น ฉันในที่มีทายกจัดถวาย เสร็จแล้วอนุโมทนา, เมือกลับอย่าเบียดเสียดกันออกมา, ไม่เทน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวหรือของเป็นเดนในบ้านเขา
ภูตคาม : ของเขียวหรือพืชพรรณอันเป็นอยู่กับที่ มี ๕ ชนิด ๑. พืชเกิดจากเหง้า คือ ใช้เหง้าเพาะ เช่น ขมิ้น ๒. พืชเกิดจากต้น คือตอนออกได้จากไม้ต้นทั้งหลาย เช่น ต้นโพธิ์ ๓. พืชเกิดจากข้อ คือใช้ข้อปลูก ได้แก่ไม้ลำ เช่น อ้อย ไม้ไผ่ ๔. พืชเกิดจากยอด คือ ใช้ยอดปักก็เป็น ได้แก่ ผักต่างๆ มีผักชีล้อม ผักบุ้ง เป็นต้น ๕. พืชเกิดจากเมล็ด คือใช้เมล็ดเพาะ ได้แก่ ถั่ว งา ข้าว, แปลตามรูปศัพท์ว่า บ้านของภูต, คู่กับ พีชคาม ภูตคามวรรค หมวดที่ว่าด้วยภูตคาม เป็นวรรคที่ ๒ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ในมหาวิภังค์แห่งพระวินัยปิฎก
มหากัสสปะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดที่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อมหาติตถะในแคว้นมคธ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์ มีชื่อเดิมว่าปิปผลิมาณพ เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้สมรสกับนางภัททกาปิลานี ตามความประสงค์ของมารดาบิดาแต่ไม่มีความยินดีในชีวิตครองเรือน ต่อมาทั้งสามีภรรยาได้สละเรือน นุ่งห่มผ้ากาสาวะออกบวชกันเอง เดินทางออกจากบ้านแล้วแยกกันที่ทาง ๒ แพร่ง ปิปผลิมาณพได้พบพระพุทธเจ้าที่พหุปุตตกนิโครธระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ได้อุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ข้อ และได้ถวายผ้าสังฆาฏิของตนแลกกับจีวรเก่าของพระพุทธเจ้า แล้วสมาทานธุดงค์ ครั้นบวชล่วงไปแล้ว ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นผู้มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในทางถือธุดงค์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานในปฐมสังคายนา ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนอายุ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพาน
มหาโมคคัลลานะ : ชื่อพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรของพราหมณ์นายบ้านแห่งนั้น มารดาชื่อนางโมคคัลลีพราหมณี เดิมเรียกชื่อว่าโกลิตะ ตามชื่อหมู่บ้านซึ่งบิดาของตนเป็นใหญ่ ต่อมาเรียก โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางพราหมณีโมคคัลลี หรือโมคคัลลานีนั้น ได้เป็นสหายกับอุปติสสะ (คือพระสารีบุตร) มาแต่เด็กต่อมาทั้ง ๒ ได้ออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในสำนักของสญชัยปริพาชกจนกระทั่งอุปติสสะได้พบพระอัสสชิสหายทั้ง ๒ จึงได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า บวชในพระธรรมวินัย เมื่อบวชแล้ว ถึงวันที่ ๗ โกลิตะ ซึ่งบัดนี้เรียกว่า มหาโมคคัลลานะก็ได้ บรรลุอรหัตตผลท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์มาก ในตอนปลายพุทธกาลท่านถูกพวกโจรซึ่งได้รับจ้างจากพวกเดียรถีย์ ลอบสังหารด้วยการทุบตีจนร่างแหลก พระพุทธเจ้าโปรดให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ใกล้ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน ในเขตเมืองราชคฤห์, ชื่อของท่านนิยมเรียกกันง่ายๆ ว่า พระโมคคัลลาน์
เมถุนสังโยค : อาการพัวพันเมถุน, ความประพฤติที่ยังเกี่ยวเนื่องกับเมถุน มี ๗ ข้อ โดยใจความคือ สมณะบางเหล่าไม่เสพเมถุน แต่ยังยินดีในเมถุนสังโยค คือ ชอบการลูบไล้และการนวดของหญิง, ชอบซิกซี้ เล่นหัวสัพยอกกับหญิง, ชอบจ้องดูตากับหญิง, ชอบฟังเสียงหัวเราะขับร้องของหญิง, ชอบนึกถึงการเก่าที่เคยหัวเราะพูดเล่นกับหญิง, เห็นชาวบ้านเขาบำรุงบำเรอกันด้วยกามคุณแล้วปลื้มใจ, หรือแม้แต่ประพฤติพรหมจรรย์ โดยตั้งความปรารถนาที่จะเป็นเทพเจ้า
ยส : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีมีความเป็นอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ วันหนึ่งเห็นสภาพในห้องนอนของตน เป็นเหมือนป่าช้า เกิดความสลดใจคิดเบื่อหน่าย จึงออกจากบ้านไปพบพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอนุปุพพีกถา และอริยสัจโปรด ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมาได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เศรษฐีบิดาของตน ก็ได้บรรลุอรหัตตผลแล้วขออุปสมบท เป็นภิกษุสาวกองค์ที่ ๖ ของพระพุทธเจ้า
ยสะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีมีความเป็นอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ วันหนึ่งเห็นสภาพในห้องนอนของตน เป็นเหมือนป่าช้า เกิดความสลดใจคิดเบื่อหน่าย จึงออกจากบ้านไปพบพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอนุปุพพีกถา และอริยสัจโปรด ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมาได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เศรษฐีบิดาของตน ก็ได้บรรลุอรหัตตผลแล้วขออุปสมบท เป็นภิกษุสาวกองค์ที่ ๖ ของพระพุทธเจ้า
ร่ม : สำหรับพระภิกษุ ห้ามใช้ร่มที่กาววาว เช่น ร่มปักด้วยไหมสีต่างๆ และร่มที่มีระบายเป็นเฟือง ควรใช้ของเรียบๆ ซึ่งทรงอนุญาตให้ใช้ได้ในวัดและอุปจาระแห่งวัด ห้ามกั้นร่มเข้าบ้านหรือกั้นเดินตามถนนหนทางในละแวกบ้าน เว้นแต่เจ็บไข้ ถูกแดดถูกฝนอาพาธจะกำเริบ เช่น ปวดศีรษะ ตลอดจน (ตามที่อรรถกถาผ่อนให้) กั้นเพื่อกันจีวรเปียกฝนตก กั้นเพื่อป้องกันภัย กั้นเพื่อรักษาตัวเช่นในเวลาแดดจัด
รัฏฐานุบาลโนบายราชธรรม : ธรรมของพระราชา ซึ่งเป็นวิธีปกครองบ้านเมือง, หลักธรรมสำหรับพระราชาใช้เป็นแนวปกครองบ้านเมือง
ริบราชบาทว์ : เอาเป็นของหลวงตามกฎหมาย เพราะเจ้าของต้องโทษแผ่นดิน
เลขวัด : จำพวกคนที่ท่านผู้ปกครองแคว้นจัดให้มีสังกัดขึ้นวัด สงฆ์อาจใช้ทำงานในวัดได้ และไม่ต้องถูกเกณฑ์ทำงานในบ้านเมือง (พจนานุกรมเขียน เลกวัด)
วิกัป : ทำให้เป็นของ ๒ เจ้าของคือ ขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้นๆ ด้วย ทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอติเรกบาตร หรืออติเรกจีวรไว้เกินกำหนด เช่น วิกัปจีวรผืนหนึ่งต่อหน้าในหัตถบาสว่า “อิมํ จีวรํ ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ” ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ท่าน
วิกัปป์ : ทำให้เป็นของ ๒ เจ้าของคือ ขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้นๆ ด้วย ทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอติเรกบาตร หรืออติเรกจีวรไว้เกินกำหนด เช่น วิกัปจีวรผืนหนึ่งต่อหน้าในหัตถบาสว่า อิมํ จีวรํ ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ท่าน