เจ้ากรม : หัวหน้ากรมในราชการ หรือในเจ้านายที่ทรงกรม
เจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ : ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือแต่งตั้งจากสงฆ์ให้ทำหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการของส่วนรวมในวัดตามพระวินัยแบ่งไว้เป็น ๕ ประเภทคือ ๑.เจ้าอธิการแห่งจีวร ๒.เจ้าอธิการแห่งอาหาร ๓.เจ้าอธิการแห่งเสนาสนะ ๔.เจ้าอธิการแห่งอาราม ๕.เจ้าอธิการแห่งคลัง
เจ้าภาพ : เจ้าของงาน
เจ้าสังกัด : ผู้มีอำนาจในหมู่คนที่ขึ้นอยู่กับตน
เจ้าอธิการแห่งคลัง : ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับคลังเก็บพัสดุของสงฆ์ มี ๒ อย่างคือ ผู้รักษาคลังที่เก็บพัสดุของสงฆ์ (ภัณฑาคาริก) และผู้จ่ายของเล็กน้อยให้แก่ภิกษุทั้งหลาย (อัปปมัตตวิสัชชกะ)
เจ้าอธิการแห่งจีวร : คือ ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับจีวร ๓ อย่างคือ ผู้รับจีวร (จีวรปฏิคาหก) ผู้เก็บจีวร (จีวรนิทหก) ผู้แจกจีวร (จีวรภาชก)
เจ้าอธิการแห่งเสนาสนะ : ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับเสนาสนะ แยกเป็น ๒ คือ ผู้แจกเสนาสนะให้ภิกษุถือ (เสนาสนคาหาปก) และผู้แต่งตั้งเสนาสนะ (เสนาสนปัญญาปก)
เจ้าอธิการแห่งอาราม : ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับงานวัด แยกเป็น ๓ คือ ผู้ใช้คนงานวัด (อารามิกเปสก) ผู้ใช้สามเณร (สามเณรเปสก) และผู้ดูแลปลูกสร้าง (นวกัมมิกะ)
เจ้าอธิการแห่งอาหาร : ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับอาหาร มี ๔ อย่าง คือผู้จัดแจกภัต (ภัตตุเทสก์) ผู้แจกยาคู (ยาคุภาชก) ผู้แจกผลไม้ (ผลภาชก) และผู้แจกของเคี้ยว (ขัชชภาชก)
เจ้าอาวาส : สมภารวัด, หัวหน้าสงฆ์ในวัด มีอำนาจและหน้าที่ปกครองดูแลอำนวยกิจการทุกอย่างเกี่ยวกับวัด
อารัญญกวัตร : ข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า, ธรรมเนียมที่ภิกษุผู้อยู่ป่าพึงถือปฏิบัติ ตามพุทธบัญญัติที่มาในวัตตขันธกะ จัดเป็นหัวข้อได้ดังนี้ ก) ๑) ภิกษุผู้อยู่ป่า พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เอาถุงบาตรสวมบาตรแล้วคล้องบ่าไว้ พาดจีวรบนไหล่ สวมรองเท้า เก็บงำเครื่องไม้เครื่องดิน ปิดประตูหน้าต่าง แล้วลงจากเสนาสนะ (ที่พักอาศัย) ไป ๒) ทราบว่า “บัดนี้จักเข้าหมู่บ้าน” พึงถอดรองเท้า เคาะต่ำๆ แล้วใส่ถุงคล้องบ่าไว้ นุ่งให้เป็นปริมณฑล คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิซ้อนเป็น ๒ ชั้น กลัดลูกดุม ชำระบาตรแล้วถือเข้าหมู่บ้านโดยเรียบร้อยไม่รีบร้อน ไปในละแวกบ้านพึงปกปิกกายด้วยดี สำรวมด้วยดี ไม่เดินกระโหย่ง เมื่อจะเจ้านิเวศน์ พึงกำหนดว่า เรากจักเข้าทางนี้ จักออกทางนี้ ไม่พึงรีบร้อนเข้าไป ไม่พึงรีบร้อนออกมา พึงยืนไม่ไกลเกิดไป ไม่ใกล้เกินไป ไม่นานเกินไป ไม่กลับออกเร็วเกินไป เมื่อยืนอยู่ พึงกำหนดว่า เขาประสงค์จะถวายภิกษาหรือไม่ ฯลฯ เมื่อเขาถวายภิกษา พึงแหวกสังฆาฏิด้วยมือซ้าย น้อมบาตรเข้าไปด้วยมือขวา ใช้มือทั้ง ๒ ประคองบาตรรับภิกษา ไม่พึงมองดูหน้าสตรีผู้ถวาย พึงกำหนดว่า เขาประสงค์จะถวายแกงหรือไม่ ฯลฯ เมื่อเขาถวายภิกษาแล้ว พึงคลุมบาตรด้วยสังฆาฏิแล้วกลับโดยเรียบร้อย ไม่รีบร้อน เดินไปในละแวกบ้าน พึงปกปิดกายด้วยดี สำรวมด้วยดี ไม่เดินกระโหย่ง ๓) ออกจากบ้านแล้ว (หลังจากฉันและล้างบาตรแล้ว) เอาบาตรใส่ถุง คล้องบ่า พับจีวร วางบนศีรษะ สวมรองเท้าเดินไป ข) ภิกษุผู้อยู่ป่า พึงจัดเตรียมน้ำดื่มไว้ พึงจัดเตรียมน้ำใช้ไว้ พึงติดไฟเตรียมไว้ พึงจัดเตรียมไม้สีไฟไว้ พึงจัดเตรียมไม้เท้าไว้ ค) พึงเรียนทางนักษัตรไว้ (ดูดาวเป็น) ทั้งหมดหรือบางส่วน พึงเป็นผู้ฉลาดในทิศ
พร้อมหน้าบุคคล : บุคคลผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นอยู่พร้อมหน้ากัน เช่น คู่วิวาทหรือคู่ความพร้อมหน้ากันในวิวาทาธิกรณ์และในอนุวาทาธิกรณ์ เป็นต้น (ปุคคลสัมมุขตา)
พร้อมหน้าสงฆ์ : ต่อหน้าภิกษุเข้าประชุมครบองค์ และได้นำฉันทะของผู้ควรแก่ฉันทะมาแล้ว (สังฆสัมมุขตา)
พร้อมหน้าธรรมวินัย : (ระงับอธิกรณ์) โดยนำเอาธรรมวินัย และสัตถุศาสน์ที่เป็นหลักสำหรับระงับอธิกรณ์นั้นมาใช้โดยครบถ้วน คือวินิจฉัยถูกต้องโดยธรรมและถูกต้องโดยวินัย (ธัมมสัมมุขตา วินยสัมมุขตา)
พร้อมหน้าวัตถุ : ยกเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นพิจารณาวินิจฉัย เช่น คำกล่าวโจทเพื่อเริ่มเรื่อง และข้อวิวาทที่ยกขึ้นแถลง เป็นต้น (วัตถุสัมมุขตา)
พระผู้มีพระภาคเจ้า : พระนามของพระพุทธเจ้า
พระสัมพุทธเจ้า : พระผู้ตรัสรู้เอง หมายถึงพระพุทธเจ้า
พุทธเจ้า : ดู พระพุทธเจ้า และ พุทธะ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า : พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง หมายถึง พระพุทธเจ้า
ตะโพน : เครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง มีหนัง ๒ หน้า ตรงกลางป่อง ริม ๒ ข้างสอบลง
กรมการ : เจ้าพนักงานคณะหนึ่งมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในระดับหนึ่งๆ เช่น กรมการจังหวัด กรมการอำเภอ เป็นต้น
กัญจนา : เจ้าหญิงแห่งเทวทหนครเป็นมเหสีของพระเจ้าสีหนุ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เป็นพระชนนีของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระอัยยิกาของเจ้าชายสิทธัตถะ
กิมพิละ : เจ้าศากยะองค์หนึ่ง ออกบวชพร้อมกับพระอนุรุทธะ ได้สำเร็จอรหัต และเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในจำนวน ๘๐
ติตถกร : เจ้าลัทธิ หมายถึงคณาจารย์ ๖ คน คือ ๑.ปูรณกัสสป ๒.มักขลิโคสาล ๓.อชิตเกสกัมพล ๔.ปกุทธกัจจายนะ ๕.สัญชัยเวลัฏฐบุตร ๖.นิครนถนาฏบุตร มักเรียกว่า ครูทั้ง ๖
ปมิตา : เจ้าหญิงองค์หนึ่งในวงศ์ศากยะ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าสีหหนุ เป็นพระเชฏฐภคินีของพระนางอมิตา เป็นพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า
โพธิราชกุมาร : เจ้าชายโพธิ พระราชโอรสของพระเจ้าอุเทน พระเจ้าแผ่นดินแคว้นวังสะ
ภัคคุ : เจ้าศากยะองค์หนึ่ง ที่ออกบวชพร้อมกับพระอนุรุทธะ ได้บรรลุพระอรหัต และเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่งเขียน ภคุ ก็มี
มายา : เจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าอัญชนะ เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นพระราชชนนี ของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระพุทธมารดา เจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๗ วัน พระนางก็สวรรคต, คำว่า “มายา” ในที่นี้ มิได้หมายความว่า มารยา ที่แปลว่า เล่ห์เหลี่ยม หรือล่อลวง แต่หมายถึงความงามที่ทำให้ผู้ประสบงวยงงหลงใหล, นิยมเรียกว่า พระนางสิริมหามายา
วัฑฒลิจฉวี : เจ้าลิจฉวีชื่อว่าวัฑฒะ ถูกพระเมตติยะ และพระภุมมชกะเสี้ยมสอนให้ทำการโจทพระทัพพมัลลบุตร ด้วยอาบัติปฐมปาราชิก เป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติการลงโทษคว่ำบาตร
สังฆการี : เจ้าหน้าที่ผู้ทำการสงฆ์, เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ในงานหลวง, เจ้าหน้าที่ผู้เป็นพนักงานในการพิธีสงฆ์ มีมาแต่โบราณสมัยอยุธยาสังกัดในกรมสังฆการี ซึ่งรวมอยู่ด้วยกันกับกรมธรรมการเรียกรวมว่ากรมธรรมการสังฆการี เดิมเรียกว่า สังกะรีหรือสังการี เปลี่ยนเรียกสังฆการีในรัชกาลที่ ๔ ต่อมาเมื่อตั้งกระทรวงธรรมการใน พ.ศ.๒๔๓๒ กรมธรรมการสังฆการีเป็นกรมหนึ่งในสังกัดของกระทรวงนั้น จนถึง พ.ศ.๒๔๕๔ กรมสังฆการีจึงแยกเป็นกรมต่างหากกันกับกรมธรรมการ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๗๖ กรมสังฆการีถูกยุบลงเป็นกองสังกัดในกรมธรรมการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาอีกใน พ.ศ.๒๔๘๔ กรมธรรมการเปลี่ยนชื่อเป็นกรมศาสนา และในคราวท้ายสุด พ.ศ.๒๕๑๕ กองสังฆการีได้ถูกยุบเลิกไป และมีกองศาสนูปถัมภ์ขึ้นมาแทน ปัจจุบันจึงไม่มีสังฆการี; บางสมัยสังฆการีมีอำนาจหน้าที่กว้างขวาง มิใช่เป็นเพียงเจ้าพนักงานในราชพิธีเท่านั้น แต่ทำหน้าที่ชำระอธิกรณ์พิจารณาโทษแก่พระสงฆ์ผู้ล่วงละเมิดสิกขาบทประพฤติผิดธรรมวินัยด้วย
สากิยานี : เจ้าหญิงวงศ์ศากยะ
อมิตา : เจ้าหญิงศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าสีหหนุ เป็นพระกนิษฐภคินี ของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า
อัยการ : เจ้าพนักงานที่ศาลฝ่ายอาณาจักร จัดไว้เป็นเจ้าหน้าที่ฟ้องร้อง, ทนายแผ่นดิน, ทนายหลวง
ภัททา กัจจานา : พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะแห่งโกสิยวงศ์ พระนามเดิมว่า ยโสธรา หรือ พิมพา เป็นพระมารดาของพระราหุลพุทธชิโนรส ได้นามว่า ภัททากัจจานา เพราะทรงมีฉวีวรรณดุจทองคำเนื้อเกลี้ยง บวชเป็นภิกษุณี ในพระพุทธศาสนาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางบรรลุมหาภิญญา เรียกภัททกัจจานา ก็มี
พิมพา : บางแห่งเรียกยโสธรา เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ กรุงเทวทหะ เป็นพระชายาของพระสิทธัตถะ เป็นพระมารดาของพระราหุล ภายหลังออกบวชมีนามว่า พระภัททกัจจานา หรือ ภัททา กัจจานา
ยโสธรา : 1.เจ้าหญิงศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าชยเสนะ เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอัญชนะผู้ครองกรุงเทวทหะ เป็นพระมารดาของพระนางสิริมหามายา และพระนางปชาบดีโคตมี 2.อีกชื่อหนึ่งว่าพิมพา เป็นเจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ เป็นพระชายาของพระสิทธัตถะ เป็นมารดาของพระราหุล ต่อมาออกบวช เรียกชื่อว่า พระภัททา กัจจานา
กตัญญูกตเวที : ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน แยกออกเป็น ๒ คือ กตัญญู รู้คุณท่าน กตเวที ตอบแทนหรือสนองคุณท่าน; ความกตัญญูกตเวทีว่าโดยขอบเขต แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มีคุณความดีหรืออุปการะต่อตนเป็นส่วนตัว อย่างหนึ่ง กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์หรือมีคุณความดีเกื้อกูลแก่ส่วนรวม เช่นที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้าโดยฐานที่ได้ทรงประกาศธรรมยังหมู่ชนให้ตั้งอยู่ในกุศลกัลยาณธรรม เป็นต้น อย่างหนึ่ง (ข้อ ๒ ในบุคคลหาได้ยาก ๒) - one who is thankful for benefits received and reciprocates them.
กรรม ๑๒ : กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ ๑๒ อย่างคือ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่ ๑.ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้ ๒.อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า ๓.อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆไป ๔.อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ ได้แก่ ๕.ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ๖.อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือเข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม ๗.อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาบางหรือสั้นเข้า ๘.อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรม ๒ อย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล ได้แก่ ๙.ครุกกรรม กรรมหนัก ให้ผลก่อน ๑๐.พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองลงมา ๑๑.อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น ๑๒.กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล
กษัตริย์ : พระเจ้าแผ่นดิน, เจ้านาย, ชนชั้นปกครอง หรือนักรบ - 1.a man of the warrior caste; the warrior ruler; nobles. 2.a king.
กัจจายนปุโรหิต : ปุโรหิตชื่อกัจจายนะ เป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชติ กรุงอุชเชนี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า บรรลุพระอรหัตแล้วขออุปสมบท มีชื่อในพระศาสนา ว่าพระมหากัจจายนะ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางอธิบายความของคำย่อให้พิสดาร
กายบริหาร : การรักษาร่างกายให้เหมาะสมแก่ความเป็นสมณะ เช่นไม่ไว้ยาวเกินไป ไม่ไว้หนวดเครา ไม่ไว้เล็บยาว ไม่ผัดหน้า ไม่แต่งเครื่องประดับกาย ไม่เปลือยกาย เป็นต้น
กาฬุทายี : อำมาตย์ของพระเจ้าสุทโธทนะเป็นสหชาติและเป็นพระสหายสนิทของพระโพธิสัตว์ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระเจ้าสุทโธทนะส่งไปทูลเชิญพระศาสดาเพื่อเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์ กาฬุทายีไปเฝ้าพระศาสดาที่กรุงราชคฤห์ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตตผล อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ทูลเชิญพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุแล้ว ทูลเชิญพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ทำตระกูลให้เลื่อมใส
กีสาโคตมี : พระเถรีสำคัญองค์หนึ่ง เดิมเป็นธิดาคนยากจนในพระนครสาวัตถี แต่ได้เป็นลูกสะใภ้ของเศรษฐีในพระนครนั้น นางมีบุตรชายคนหนึ่ง อยู่มาไม่นานบุตรชายตาย นางมีความเสียใจมาก อุ้มบุตรที่ตายแล้วไปในที่ต่างๆ เพื่อหายาแก้ให้ฟื้น จนได้ไปพบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนด้วยอุบายและทรงประทานโอวาท นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผล บวชในสำนักนางภิกษุณี วันหนึ่งนั่งพิจารณาเปลวประทีปที่ตามอยู่ในพระอุโบสถ ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทรงทรงจีวรเศร้าหมอง
กุมารกัสสปะ : พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรธิดาเศรษฐีในพระนครราชคฤห์ คลอดเมื่อมารดาบวชเป็นภิกษุณีแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ทารกนั้นได้นามว่า กัสสปะ ภายหลังเรียกกันว่า กุมารกัสสปะ เพราะท่านเป็นเด็กสามัญ แต่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างราชกุมาร ท่านอุปสมบทในสำนักของพระศาสดา ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในทางแสดงธรรมวิจิตร
กุมารีภูตา : ผู้เป็นนางสาวแล้ว หมายถึง สามเณรีที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุณี เช่น ในคำว่า อิฉันเป็นนางสาว (กุมารีภูตา) ของแม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุ ๒๐ ปีเต็ม มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการ ๒ ปี ขอวุฏฐานสมมติต่อสงฆ์เจ้าข้า
โกลิยวงศ์ : ชื่อวงศ์กษัตริย์ข้างฝ่ายพระพุทธมารดา ที่ครองกรุงเทวทหะ; พระสิริมหามายา พุทธมารดา และ พระนางพิมพา ชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นเจ้าหญิงฝ่ายโกลิยวงศ์
ขรรค์ : อาวุธมีคม ๒ ข้าง ที่กลางทั้งหน้าและหลังเป็นสัน ด้านสั้น
ข้าวสุก : ในโภชนะ ๕ อย่างคือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑ ข้าวสุกในที่นี้หมายถึงธัญญชาติทุกชนิด ที่หงให้สุกแล้ว เช่นข้าวเจ้าข้าวเหนียว หรือที่ตกแต่งเป็นของต่างชนิด เช่น ข้าวมัน ข้าวผัด เป็นต้น
เขมา : พระเถรีมหาสาวิการูปหนึ่งประสูติในราชตระกูลแห่งสาคลนครในมัททรัฐ ต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร มีความมัวเมาในรูปสมบัติของตน ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องราคะ และการกำจัดราคะ พอจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต แล้วบวชเป็นภิกษุณี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา
คณะธรรมยุต : คณะสงฆ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นภิกษุในรัชกาลที่ ๓; เรียกว่า ธรรมยุตติกา หรือ ธรรมยุติกนิกาย ก็มี; สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า พระสงฆ์ออกจากมหานิกายนั้นเอง แต่ได้รับอุปสมบทในรามัญนิกายด้วย (การคณะสงฆ์ น.๑๐)