กัมมลักขณะ : การอันมีลักษณะเป็น (สังฆ) กรรมนั้นได้, กิจการที่มีลักษณะอันจัดเข้าเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง ในสังฆกรรมประเภทนั้นได้ แต่ท่านไม่ได้ออกชื่อไว้ และไม่อาจจัดเข้าในชื่ออื่นๆ แห่งสังฆกรรมประเภทเดียวกัน เช่น การอปโลกน์แจกอาหารในโรงฉัน เป็นกัมมลักขณะ ในอปโลกนกรรม การประกาศเริ่มต้นระงับอธิกรณ์ด้วยติณวัตถารกวินัย เป็นกัมมลักขณะในญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรมที่สวดในลำดับไปในการระงับอธิกรณ์ด้วยติณวัตถารกวินัย เป็นกัมมลักขณะในญัตติทุติยกรรม อุปสมบทและอัพภานเป็นกัมมลักขณะในญัตติจตุตถกรรม
คันธกุฎี : กุฎีอบกลิ่นหอม, ชื่อเรียกพระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า เช่น พระคันธกุฎีที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายที่พระเชตวัน ในนครสาวัตถี เป็นต้น พระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ก็เรียกว่าคันธกุฎีเช่นเดียวกัน (เช่น ขุ.อป.๓๒/๑๘/๘๕; ๑๗๒/๒๗๒; ๓๓/๑๓๑/๒๒๐) อย่างไรก็ตาม คำเรียกที่ประทับของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันว่าคันธกุฎีนั้น มีใช้แต่ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา (ไม่มีในพระไตรปิฎก)
โภชชยาคู :
ข้าวต้มสำหรับฉันให้อิ่ม เช่น ข้าวต้มหมู เป็นต้น มีคติอย่างเดียวกันกับอาหารหนัก เช่น ข้าวสวยต่างจากยาคูที่กล่าวถึงตามปกติในพระวินัย ซึ่งเป็นของเหลวใช้สำหรับดื่ม ภิกษุรับนิมนต์ในที่แห่งหนึ่งไว้ฉันยาคูไปก่อนไม่ได้ ดู ยาคู
วิญญาณฐิติ : ภูมิเป็นที่ตั้งของวิญญาณ มี ๗ คือ ๑.สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ พวกเทพบางหมู่ พวกวินิปาติกะ บางหมู่ ๒.สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพผู้อยู่ในจำพวกพรหมผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน ๓.สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสสระ ๔.สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพสุภกิณหะ ๕.สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ ๖.สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ ๗.สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจายตนะ
อินทรีย์ : ความเป็นใหญ่, สภาพที่เป็นใหญ่ในกิจของตน, ธรรมที่เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่อย่างหนึ่งๆ เช่น ตาเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าการในการเห็น หูเป็นใหญ่ในการได้ยิน ศรัทธาเป็นเจ้าการในการครอบงำเสียซึ่งความไร้ศรัทธาเป็นต้น 1) อินทรีย์ ๖ ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 2) อินทรีย์ ๕ ตรงกับ พละ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ธรรม ๕ อย่างชุดเดียวกันนี้ เรียกชื่อต่างกันไป ๒ อย่าง ตามหน้าที่ที่ทำ คือ เรียกชื่อว่า พละ โดยความหมายว่า เป็นกำลังทำให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง ซึ่งธรรมที่ตรงข้ามแต่ละอย่างจะเข้าครอบงำไม่ได้ เรียกชื่อว่า อินทรีย์ โดยความหมายว่าเป็นเจ้าการในการครอบงำเสียซึ่งธรรมที่ตรงข้ามแต่ละอย่างคือความไร้ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่าน และความหลงงมงาย ตามลำดับ
เอกเสสนัย : อาการกำหนดด้วยเหลือศัพท์เดียว, เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในไวยากรณ์บาลี กล่าวคือ บุคคล วัตถุ หรือภาวะบางอย่าง เป็นของควบคู่กันมาด้วยกันเสมอ เมื่อเห็นอย่างหนึ่งก็เป็นอันรู้ถึงอีกอย่างหนึ่งด้วย หรือเป็นของชุดเดียวกัน จำพวกเดียวกัน เมื่อเรียกอย่างหนึ่ง จะหมายถึงอย่างหนึ่งอย่างใดในชุดหรือในจำพวกนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ บางทีท่านกล่าวถึงหรือออกชื่อไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เพียงอันเดียวให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังหมายรู้อีกอย่างหนึ่งด้วย หรือให้เข้าใจเอาเอง จากข้อความแวดล้อมว่า ในที่นั้น หมายถึงอย่างไหนข้อใดในชุดหรือในจำพวกนั้น จึงเรียกว่า เหลือไว้อย่างเดียว หรือเหลือไว้ศัพท์เดียว เช่น พูดอย่างคำบาลีว่า พระสารีบุตรทั้งหลาย ก็หมายถึง พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ หรือในหลักปฏิจจสมุปบาท คำว่า นามรูป เป็นเอกเสสหมายถึง นามหรือรูป หรือทั้งนามและรูป คำว่า สฬายตนะ ก็เป็นเอกเสส หมายถึง อายตนะที่ ๖ ก็ได้ อายตนะทั้ง ๖ ก็ได้ ดังนั้น เมื่อพูดว่านามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ ถ้าหมายถึงอรูปภพก็ต้องแปลความว่า นามเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะที่ ๖ (คือมโน) อนึ่ง เมื่อสิ่งอื่นในชุดเดียวกัน มีคำเฉพาะระบุชัดอยู่แล้ว คำที่เป็นชื่อรวมๆ ของชุด ก็ย่อมหมายถึงสิ่งที่ยังไม่ถูกระบุด้วยคำอื่น เช่น ในคำว่า สุคติ (และ) โลกสวรรค์ สวรรค์เป็นสุคติ แต่มีคำเฉพาะระบุไว้แล้ว ดังนั้น คำว่าสุคติในกรณีนี้จึงหมายถึง โลกมนุษย์ ซึ่งเป็นสุคติอย่างเดียวที่เหลือนอกจากสวรรค์
เพื่อน :
ผู้ร่วมธุระร่วมกิจร่วมการหรือร่วมอยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน, ผู้ชอบพอรักใคร่คบหากัน, ในทางธรรม เนื้อแท้ของความเป็นเพื่อน อยู่ที่ความมีใจหวังดีปรารถนาดีต่อกัน กล่าวคือ เมตตา หรือไมตรี เพื่อนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ เรียกว่า มิตร การคบเพื่อนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่จะนำชีวิตไปสู่ความเสื่อมความพินาศ หรือสู่ความเจริญงอกงาม พึงหลีกเลี่ยงมิตรเทียมและเลือกคบหาคนที่เป็นมิตรแท้ ดู มิตตปฏิรูป, มิตรแท้
มหากัปปินะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติในนครกุกกุฏวดีในปัจจันตประเทศ ได้ทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจาแล้ว บังเกิดปีติศรัทธา สละราชสมบัติทรงม้าเดินทางไกลถึง ๓๐๐ โยชน์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า สดับธรรมกถา บรรลุพระอรหัตแล้วได้รับอุปสมบท ส่วนพระอัครมเหสีชื่ออโนชา เมื่อทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าก็เกิดปีติและศรัทธาเช่นเดียวกัน พระนาง ทรงรถเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว รับบรรพชาจากพระอุบลวรรณาเถรีไปอยู่ในสำนักภิกษุณี ฝ่ายมหากัปปินเถระชอบอยู่สงบสงัดและมักอุทานว่า สุขจริงหนอ ท่านสามารถแสดงธรรมให้ศิษย์บรรลุอรหัตตผลได้พร้อมคราวเดียวถึง ๑,๐๐๐ องค์ พระบรมศาสดายกย่องท่านว่าท่านเป็นเอตทัคคะในทางให้โอวาทแก่ภิกษุ
สดับปกรณ์ : “ ๗ คัมภีร์” หมายถึงคัมภีร์พระอภิธรรมทั้ง ๗ ในพระอภิธรรมปิฎก เขียนเต็มว่า สัตตัปปกรณ์ (ดู ในคำว่า ไตรปิฎก)แต่ในภาษาไทยคำนี้ความหมายกร่อนลงมา เป็นคำสำหรับใช้ในพิธีกรรม เรียกกิริยาที่พระภิกษุกล่าวคำพิจารณาสังขารเมื่อจะชักผ้าบังสุกุลในพิธีศพเจ้านายว่า สดับปกรณ์ ตรงกับที่เรียกในพิธีศพทั่วๆ ไปว่า บังสุกุล (ซึ่งก็เป็นศัพท์ที่มีความหมายกร่อนเช่นเดียวกัน), ใช้เป็นคำนาม หมายถึง พิธีสวดมาติกาบังสุกุลในงานศพ ปัจจุบันใช้เฉพาะศพเจ้านาย
เยี่ยง : อย่าง, แบบ, เช่น
กรมการ : เจ้าพนักงานคณะหนึ่งมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในระดับหนึ่งๆ เช่น กรมการจังหวัด กรมการอำเภอ เป็นต้น
กรรม : การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม) การกระทำที่ดีเรียกว่า กรรมดี ที่ชั่ว เรียกว่า กรรมชั่ว - 1.Karma; Kamma; a volitional action; action; deed; good and bad volition. 2.work; job; activity; transaction.
กรรมกรณ์ : เครื่องลงอาชญา, ของสำหรับใช้ลงโทษ เช่น โซ่ ตรวน ขื่อ คา เป็นต้น
กสาวเภสัช : น้ำฝาดเป็นยา, ยาที่ทำจากน้ำฝาดของพืช เช่น น้ำฝาดของสะเดา น้ำฝาดกระดอม น้ำฝาดบรเพ็ด เป็นต้น
กัปปิยะ : สมควร, ควรแก่สมณะบริโภค, ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย คือพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุให้หรือฉันได้ เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ สิ่งที่ไม่เป็นกัปปิยะ เรียกว่า อกัปปิยะ
กัมมารหะ : ผู้ควรแก่กรรม คือบุคคลที่ถูกสงฆ์ทำกรรม เช่น ภิกษุที่สงฆ์พิจารณาทำปัพพาชนียกรรม คฤหัสถ์ที่ถูกสงฆ์ดำเนินการคว่ำบาตร เป็นต้น
กายกรรม : การกระทำทางกาย เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม หรือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เป็นต้น
กายวิญญัติ : ความเคลื่อนไหวร่างกายให้รู้ความหมาย เช่น สั่นศีรษะ โบกมือ ขยิบตา ดีดนิ้ว เป็นต้น
กายิกสุข : สุขทางกาย เช่น ได้ยินเสียงไพเราะ ลิ้มรสอร่อย ถูกต้องสิ่งที่อ่อนนุ่ม เป็นต้น
การก : ผู้กระทำกรรมได้ตามพระวินัย มี ๓ คือ สงฆ์ คณะ และ บุคคล เช่น ในการทำอุโบสถ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปเรียก สงฆ์ สวดปาฏิโมกข์ได้ ภิกษุ ๒ หรือ ๓ รูป เรียก คณะ ให้บอกความบริสุทธิ์ได้ ภิกษุรูปเดียวเรียกว่า บุคคล ให้อธิษฐาน
การกสงฆ์ : สงฆ์ผู้กระทำ หมายถึงสงฆ์ หมู่หนึ่งผู้ดำเนินการในกิจสำคัญ เช่น การสังคายนา หรือในสังฆกรรมต่างๆ
กาลทาน : ทานที่ให้ตามกาล, ทานที่ให้ได้เป็นครั้งคราวภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่ใช่ให้ได้ตลอดเวลา เช่น การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น ซึ่งทายกจะถวายได้ตามกำหนดเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเท่านั้น ก่อนหรือเลยเขตกำหนดไปทำไม่ได้
กาลัญญุตา : ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา อันสมควรในการประกอบกิจนั้นๆ เช่น รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร เป็นต้น (สัปปุริสธรรม ๗ ข้อ ๕)
กาลิก : เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ ๑.ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ ๒.ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต ๓.สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่เภสัชทั้ง ๕ ๔.ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น (ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)
กิริยากิตก์ : เป็นชื่อกิริยาศัพท์ประเภทหนึ่งในภาษาบาลี ใช้เป็นกิริยาสำคัญในประโยคบ้าง ใช้เป็นกิริยาในระหว่างของประโยคบ้าง และใช้เป็นคุณบทบ้าง เช่น ปรินิพฺพุโต (ดับรอบแล้ว) ปพฺพชิตฺวา (บวชแล้ว) เป็นต้น
กิริยากิตกะ : เป็นชื่อกิริยาศัพท์ประเภทหนึ่งในภาษาบาลี ใช้เป็นกิริยาสำคัญในประโยคบ้าง ใช้เป็นกิริยาในระหว่างของประโยคบ้าง และใช้เป็นคุณบทบ้าง เช่น ปรินิพฺพุโต (ดับรอบแล้ว) ปพฺพชิตฺวา (บวชแล้ว) เป็นต้น
กิริยาอาขยาต : เป็นชื่อกิริยาศัพท์ประเภทหนึ่งในภาษาบาลี ใช้เป็นกริยาสำคัญในประโยค อันแสดงถึงการกระของประธาน เช่น คจฺฉติ (ย่อมไป) ปรินิพฺพายิ (ดับรอบแล้ว) เป็นต้น
กุฎี : กระท่อมที่อยู่ของนักบวช เช่น พระภิกษุ, เรือนหรือตึกที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณร
กุมมาส : ขนมสด คือขนมที่เก็บไว้นานเกินไปจะบูด เช่น ขนมด้วง ขนมครก ขนมถ้วย ขนมตาล เป็นต้น พระพุทธเจ้า หลังจากเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาก็เสวยข้าวสุกและกุมมาส
กุมารีภูตา : ผู้เป็นนางสาวแล้ว หมายถึง สามเณรีที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุณี เช่น ในคำว่า อิฉันเป็นนางสาว (กุมารีภูตา) ของแม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุ ๒๐ ปีเต็ม มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการ ๒ ปี ขอวุฏฐานสมมติต่อสงฆ์เจ้าข้า
ของสังฆกรรม : มี ๔ คือ ๑.วัตถุวิบัติ เสียโดยวัตถุ เช่น อุปสมบทคนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ๒.สีมาวิบัติ เสียโดยสีมา เช่น สีมาไม่มีนิมิต ๓.ปริสวิบัติ เสียโดยบริษัทคือที่ประชุม เช่น ภิกษุเข้าประชุมไม่ครบองค์สงฆ์ ๔.กรรมวาจาวิบัติ เสียโดยกรรมวาจา เช่น สวดผิดพลาดตกหล่น สวดแต่อนุสาวนาไม่ได้ตั้งญัตติ เป็นต้น (ข้อกรรมวาจาวิบัติบางกรณีแยกเป็นญัตติวิบัติและอนุสาวนาวิบัติ กลายเป็นวิบัติ ๕ ก็มี) เทียบ สมบัติ
ขาทนียะ : ของควรเคี้ยว, ของขบของเคี้ยว ได้แก่ผลไม้ต่างๆ และเหง้าต่างๆ เช่น เผือกมัน เป็นต้น
ข้าวสุก : ในโภชนะ ๕ อย่างคือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑ ข้าวสุกในที่นี้หมายถึงธัญญชาติทุกชนิด ที่หงให้สุกแล้ว เช่นข้าวเจ้าข้าวเหนียว หรือที่ตกแต่งเป็นของต่างชนิด เช่น ข้าวมัน ข้าวผัด เป็นต้น
เขต : 1.แดนที่กันไว้เป็นกำหนด เช่น นา ไร่ ที่ดิน แคว้น เป็นต้น 2.ข้อที่ภิกษุระบุถึงเพื่อลาสิกขา เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น
คณปูรกะ : ภิกษุผู้เป็นที่ควรจำนวน ในคณะนั้นๆ เช่น สังฆกรรมที่ต้องมีภิกษุ ๔ รูป หรือยิ่งขึ้นไป เป็นผู้ทำยังขาดอยู่เพียงจำนวนใดจำนวนหนึ่ง มีภิกษุอื่นมาสมบท ทำให้ครบองค์สงฆ์ ในสังฆกรรมนั้นๆ ภิกษุที่มาสมทบนั้น เรียกว่า คณปูรกะ
ครุ : เสียงหนัก ได้แก่ ทีฆสระ คือ อา อี อู เอ โอ และสระที่มีพยัญชนะสะกด ซึ่งเรียกว่า สังโยค เช่น พุทฺโธ โลเก อุปฺปนฺโน
ครุภัณฑ์ : ของหนัก เช่น กุฎี ที่ดิน เตียง ตั่ง เป็นต้น (คู่กับ ลหุภัณฑ์)
เครื่องราง : ของที่นับถือว่าป้องกันภยันตรายได้ เช่น ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า
โคตมี : ชื่อเรียกสตรีแห่งโคตมโคตร เช่น พระนางมหาปชาบดี ผู้เป็นพระแม่น้าของพระสิทธัตถะ เป็นต้น
ฆราวาสธรรม : หลักธรรมสำหรับการครองเรือน, ธรรมของผู้ครองเรือน มี ๔ อย่างคือ ๑.สัจจะ ความจริง เช่น ซื่อสัตย์ต่อกัน ๒.ทมะ ความฝึกฝน ปรับปรุงตน เช่น รู้จักข่มใจ ควบคุมอารมณ์ บังคับตนเองปรับตัวเข้ากับการงานและสิ่งแวดล้อมให้ได้ดี ๓.ขันติ ความอดทน ๔.จาคะ ความเสียสละ เผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจ
โฆสัปปมาณิกา : คนพวกที่ถือเสียงเป็นประมาณ, คนที่นิยมเสียง เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเพราะเสียง ชอบฟังเสียงไพเราะ เช่น เสียงสวดสรภัญญะ เทศน์มหาชาติเป็นทำนอง เสียงประโคม เป็นต้น; อีกนัยหนึ่งว่า ผู้ถือชื่อเสียงกิตติศัพท์ หรือความโด่งดังเป็นประมาณ เห็นใครมีชื่อเสียงก็ตื่นไปตาม
โฆสิตาราม : ชื่อวัดสำคัญในกรุงโกสัมพี ครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยประทับหลายครั้ง เช่น คราวที่ภิกษุชาวโกสัมพีแตกกัน เป็นต้น
จตุรวรรค : สงฆ์พวก ๔, สงฆ์ที่กำหนดจำนวนภิกษุอย่างต่ำเพียง ๔ รูป เช่น สงฆ์ที่ทำอุโบสถกรรมเป็นต้น
จตุวรรค : สงฆ์พวก ๔, สงฆ์ที่กำหนดจำนวนภิกษุอย่างต่ำเพียง ๔ รูป เช่น สงฆ์ที่ทำอุโบสถกรรมเป็นต้น
จันทรคติ : การนับวันโดยถือเอาการเดินของพระจันทร์เป็นหลัก เช่น ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ และเดือนอ้าย เดือนยี่ เดือน ๓ เป็นต้น คู่กับ สุริยคติ
จิตตานุปัสสนา : สติพิจารณาใจที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่าใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เรา เขา กำหนดรู้จิตตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี ราคะ โทสะ โมหะ จิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ (ข้อ ๓ ในสติปัฏฐาน ๔)
จีวรกรรม : การทำจีวร, งานเกี่ยวกับจีวร เช่น ตัด เย็บ ย้อม เป็นต้น
จุลวรรค : ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดหนึ่งแห่งพระวินัยปิฎก ซึ่งมีทั้งหมด ๕ หมวด คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร ; คัมภีร์จุลวรรค มี ๑๒ ขันธกะ คือ ๑.กัมมขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคคหกรรม ๒.ปาริวาสิกขันธกะ ว่าด้วยวัตรของภิกษุผู้อยู่ปริวาส ผู้ประพฤติมานัต และผู้เตรียมจะอัพภาน ๓.สมุจจยขันธกะ ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในการประพฤติวุฏฐานวิธี ๔.สมถขันธกะ ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์ ๕.ขุททกวัตถุขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยจำนวนมาก เช่น การปลงผม ตัดเล็บ ไม้จิ้มฟัน ของใช้ต่างๆ เป็นต้น ๖.เสนาสนขันธกะ ว่าด้วยสังฆเภทและสังฆสามัคคี ๘.วัตตขันธกะ ว่าด้วยวัตรต่างๆ เช่น อาคันตุกวัตร เป็นตน ๙.ปาติโมกขัฏฐปนขันธกะ ว่าด้วยระเบียบในการงดสวดปาฏิโมกข์ในเมื่อภิกษุมีอาบัติติดตัวมาร่วมฟังอยู่ ๑๐.ภิกขุนีขันธกะ ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีเริ่มแต่ประวัติการอนุญาตให้มีการบวชครั้งแรก ๑๑.ปัญจสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ ๑๒.สัตตสติกขันธกะ ว่าด้วยสังคายนาครั้งที่ ๒ (พระไตรปิฎกเล่ม ๖-๗); ต่อจาก มหาวรรค
เจตสิก : ธรรมที่ประกอบกับจิต, อาการหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ศรัทธา เมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น มี ๕๒ อย่าง จัดเป็น อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ อกุศลเจตสิก ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕
เจโตปริยญาณ :
ปรีชากำหนดรู้ในผู้อื่นได้, รู้ใจผู้อื่นอ่านความคิดของเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ ใจเขาเศร้าหมองหรือผ่องใส เป็นต้น ดู วิชชา, อภิญญา