ต่อตาม : พูดเกี่ยงราคาในเรื่องซื้อขาย, พูดเกี่ยงผลประโยชน์ในการทำความตกลงกัน
เบียดบัง : การถือเอาเศษ เช่นท่านให้เก็บเงินค่าเช่าต่างๆ เก็บได้มากแต่ให้ท่านแต่น้อย ให้ไม่ครบจำนวนที่เก็บได้
เมณฑกานุญาต : ข้ออนุญาตที่ปรารภเมณฑกเศรษฐี คืออนุญาตให้ภิกษุยินดีของที่กัปปิยการก จัดซื้อมาด้วยเงินที่ผู้ศรัทธาได้มอบให้ไว้ตามแบบอย่างที่เมณฑกเศรษฐีเคยทำ
รูปิยสังโวหาร : การแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะ, การซื้อขายด้วยเงินตรา, ภิกษุกระทำ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ (โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๙)
ชาติสุททะ :
พวกสุททะ, คนพวกวรรณะศูทร เป็นคนชั้นต่ำในชมพูทวีป ดู ศูทร
ปัพพชาจารย์ : อาจารย์ผู้ให้บรรพชา ; เขียนเต็มรูปเป็น ปัพพัชชาจารย์ จะเขียน บรรพชาจารย์ ก็ได้
ปัพพชาเปกขะ : กุลบุตรผู้เพ่งบรรพชา, ผู้ตั้งใจจะบวชเป็นสามเณร, ผู้ขอบวชเป็นสามเณร; เขียนเต็มรูปเป็น ปัพพัชชาเปกขะ
มหาปชาบดีโคตมี :
พระน้านางของพระพุทธเจ้า เดิมเรียกว่าพระนางปชาบดี เป็นธิดาของเจ้าสุปปพุทธะ แห่งโกลิยวงศ์เป็นพระภคินีของพระนางสิริมหามายา เมื่อพระมหามายาสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ ได้มอบพระสิทธัตถะให้พระนางเลี้ยงดู ต่อมาเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะสวรรคตแล้ว พระนางได้ออกบวชเป็นภิกษุณีองค์แรก ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู(บวชนานรู้เหตุการณ์ก่อนใครๆ) ดู ภิกษุณีสงฆ์
อเนญชาภิสังขาร : สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ ภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน (ข้อ ๓ ในอภิสังขาร ๓); ตามหลักเขียน อาเนญชาภิสังขาร
กัมมวิปากชา อาพาธา : ความเจ็บไข้ เกิดแต่วิบากของกรรม
กายสัมผัสสชาเวทนา : เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัส, ความรู้สึกที่เกดขึ้นเพราะการที่กาย โผฏฐัพพะและกายวิญญาณประจวบกัน
ฆานสัมผัสสชาเวทนา : เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่จมูก กลิ่น และฆานวิญญาณประจวบกัน
จักขุสัมผัสสชาเวทนา : เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน
ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา : เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ ลิ้น รส และชิวหาวิญญาณประจวบกัน
ปัพพัชชา : การถือบวช, บรรพชาเป็นอุบายฝึกอบรมตนในทางสงบ เว้นจากความชั่วมีการเบียดเบียนกันและกัน เป็นต้น (ข้อ ๒ ในสัปปุริสบัญญัติ ๓)
มโนสัมผัสสชาเวทนา :
เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ใจ ธรรมารมณ์และมโนวิญญาณประจวบกัน ดู เวทนา
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน : ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ประกอบด้วยวิชชา ๓ หรือวิชชา ๘ และจรณะ ๑๕ อันเป็นปฏิปทาเครื่องบรรลุวิชชานั้น, มีความรู้ประเสริฐ ความประพฤติประเสริฐ (ข้อ ๓ ในพุทธคุณ ๙)
วิสมปริหารชา อาพาธา : ความเจ็บไข้ที่เกิดจากบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ คือ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่พอดี
โสตสัมผัสสชาเวทนา : เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่หู เสียง และโสตวิญญาณกระทบกัน
อุตุปริณามชา อาพาธา : ความเจ็บไข้เกิดแต่ฤดูแปรปรวน, เจ็บป่วยเพราะดินฟ้าอากาศผันแปร
โคตมี : ชื่อเรียกสตรีแห่งโคตมโคตร เช่น พระนางมหาปชาบดี ผู้เป็นพระแม่น้าของพระสิทธัตถะ เป็นต้น
ทวิช : ชื่อหนึ่งสำหรับเรียกพราหมณ์ในภาษาไทยเป็นทิชาจารย์หรือทวิชาจารย์ก็มี แปลว่าเกิด ๒ หน หมายถึงเกิดโดยกำเนิดครั้งหนึ่ง เกิดโดยได้รับครอบเป็นพราหมณ์ครั้งหนึ่ง เปรียบเหมือนนกซึ่งเกิด ๒ หนเหมือนกัน คือเกิดจากท้องแม่ออกเป็นไข่หนหนึ่ง เกิดจากไข่เป็นตัวอีกหนหนึ่ง นกจึงมีชื่อเรียกว่า ทวิช หรือ ทิช ซึ่งแปลว่า เกิด ๒ หนอีกชื่อหนึ่งด้วย
ธรรมกาย : “ผู้มีธรรมเป็นกาย” เป็นพระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า (ตามความในอัคคัญญสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) หมายความว่า พระองค์ทรงคิดพุทธพจน์คำสอนด้วยพระหทัยแล้วทรงนำออกเผยแพร่ด้วยพระวาจา เป็นเหตุให้พระองค์ก็คือพระธรรม เพราะทรงเป็นแหล่งที่ประมวลหรือที่ประชุมอยู่แห่งธรรมอันปรากฏเปิดเผยออกมาแก่ชาวโลก; อนึ่งธรรมกายคือกองธรรมหรือชุมนุมแห่งธรรมนั้น ย่อมเจริญงอกงามเติบขยายขึ้นได้โดยลำดับจนไพบูลย์ ในบุคคลผู้เมื่อได้สดับคำสอนของพระองค์ แล้วฝึกอบรมตนด้วยไตรสิกขาเจริญมรรคให้บรรลุภูมิแห่งอริยชน ดังตัวอย่างดำรัสของพระมหาปชาบดีโคตมี เมื่อครั้งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อปรินิพพานตามความในคัมภีร์อปทานตอนหนึ่งว่า “ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์, ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ก็เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน..รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้ทำให้เจริญเติบโต ส่วนธรรมกายอันเป็นที่เอิบสุขของหม่อมฉัน ก็เป็นสิ่งอันพระองค์ได้ทำให้เจริญเติบโต”; สรุปตามนัยอรรถกถาธรรมกายก็คือโลกุตตรธรรม ๙ หรือ อริยสัจ
นันทกุมาร : พระราชบุตรของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางปชาบดีโคตมี ต่อมาออกบวชมีชื่อว่าพระนันทะ คือ องค์ที่มีรูปพรรณสัณฐานคล้ายพระพุทธองค์นั่นเอง
นันทะ : พระอนุชาของพระพุทธเจ้า แต่ต่างมารดา คือประสูติแต่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้ออกบวชในวันมงคลสมรสกับนางชนปทกัลยาณี เบื้องแรกประพฤติพรหมจรรย์อยู่ด้วยความจำใจ แต่ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงสอนด้วยอุบาย จนพระนันทะเปลี่ยนมาตั้งใจปฏิบัติธรรม และในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้สำรวมอินทรีย์ พระนันทะมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายพระพุทธเจ้า แต่ต่ำกว่าพระพุทธองค์ ๔ นิ้ว
ปกฺขหตตา : ความเป็นผู้ชาไปซีกหนึ่ง ได้แก่ โรคอัมพาต
พรหมโลก : ที่อยู่ของพรหม ตามปกติหมายถึงรูปพรหม ซึ่งมี ๑๖ ชั้น (เรียกว่า รูปโลก) ตามลำดับดังนี้ ๑.พรหมปาริสัชชา ๒.พรหมปุโรหิตา ๓.มหาพรหมา ๔.ปริตตาภา ๕.อัปปมาณาภา ๖.อาภัสสรา ๗.ปริตตสุภา ๘.อัปปมาณสุภา ๙.สุภกิณหา ๑๐.อสัญญีสัตตา ๑๑.เวหัปผลา ๑๒.อวิหา ๑๓.อตัปปา ๑๔.สุทัสสา ๑๕.สุทัสสี ๑๖.อกนิฏฐา; นอกจากนี้ยังมีอรูปพรหม ซึ่งแบ่งเป็น ๔ ชั้น (เรียกว่า อรูปโลก) คือ ๑.อากาสานัญจายตนะ ๒.วิญญาณัญจายตนะ ๓.อากิญจัญญายตนะ ๔.เนวสัญญานาสัญญายตนะ
พุทธคุณ : คุณของพระพุทธเจ้า มี ๙ คือ ๑.อรหํ เป็นพระอรหันต์ ๒.สมฺมาสมฺพุทฺโธ ตรัสรู้เองโดยชอบ ๓.วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ๔.สุคโต เสด็จไปดีแล้ว ๕.โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก ๖.อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า ๗.สตฺถาเทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ๘.พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว ๙.ภควา เป็นผู้มีโชค พุทธคุณทั้งหมดนั้น โดยย่อ มี ๒ คือ ๑.พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา ๒.พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา หรือตามที่นิยมกล่าวกันในประเทศไทย ย่อเป็น ๓ คือ ๑.พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา ๒.พระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์ ๓.พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา
ภัททกาปิลานี : พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาพราหมณ์โกสิยโคตรในสาคลนครแห่งมัททรัฐ (คัมภีร์อปทานว่าไว้ชัดดังนี้ แต่อรรถกถาอังคุตตรนิกายคลาดเคลื่อนเป็นแคว้นมคธ) พออายุ ๑๖ ปี ได้สมรสกับปิปผลิมาณพ (พระมหากัสสปะ) ต่อมามีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงออกบวชเป็นปริพาชิกา เมื่อพระมหาปชาบดีผนวชเป็นภิกษุณีแล้ว นางได้มาบวชอยู่ในสำนักของพระมหาปชาบดี เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยความไม่ประมาท ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปุพเพนิวาสานุสสติ เรียกภัททากาปิลานี บ้าง ภัททากปิลานีบ้าง
มหาวัน : 1.ป่าใหญ่ใกล้นครกบิลพัสดุ์ ที่พระพุทธเจ้าเคยไปทรงพักผ่อน ระหว่างประทับอยู่ที่นิโครธาราม 2.ป่าใหญ่ใกล้เมืองพาราณสี ณ ที่นี้พระศาสดาทรงอนุญาตให้มีภิกษุณีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยประทานอนุญาตให้พระมหาปชาบดีบวชเป็นภิกษุณี ด้วยวิธีรับครุธรรม ๘ ประการ
มิจฉาวณิชชา : การค้าขายไม่ชอบธรรม, การค้าขายที่ผิดศีลธรรม หมายถึง อกรณียวณิชชา (การค้าขายที่ อุบาสก ไม่ควรทำ) ๕ อย่าง คือ ๑.สัตถวณิชชา ค้าอาวุธ ๒.สัตตวณิชชา ค้ามนุษย์ ๓.มังสวณิชชา ค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร ๔.มัชชวณิชชา ค้าของเมา ๕.วิสวณิชชา ค้ายาพิษ
ยโสธรา : 1.เจ้าหญิงศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าชยเสนะ เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอัญชนะผู้ครองกรุงเทวทหะ เป็นพระมารดาของพระนางสิริมหามายา และพระนางปชาบดีโคตมี 2.อีกชื่อหนึ่งว่าพิมพา เป็นเจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ เป็นพระชายาของพระสิทธัตถะ เป็นมารดาของพระราหุล ต่อมาออกบวช เรียกชื่อว่า พระภัททา กัจจานา
ราชาธิราช : พระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าพระราชาอื่นๆ
รูปนันทา : พระราชบุตรีของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางปชาบดีโคตมี เป็นพระกนิฏฐภคินีต่างพระมารดาของพระสิทธัตถะ
รูปสัญญา : ความหมายรู้ในรูป เกิดต่อจากจักขุสัมผัสสชา เวทนา
ศักดินา : อำนาจปกครองที่นา หมายความว่า พระมหากษัตริย์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย และขุนนางเป็นต้น ถือนาได้มีกำหนดจำนวนไร่ เป็นเรือนหมื่นเรือนพันตามฐานานุรูป การพระราชทานให้ถือศักดินานั้น เป็นเครื่องเทียบยศและเป็นเครื่องปรับผู้ก้ำเกิน หรือเป็นเครื่องปรับผู้ถือศักดินานั่นเอง เมื่อทำผิด
สัปปุริสบัญญัติ : ข้อที่ท่านสัตบุรุษตั้งไว้, บัญญัติของคนดี มี ๓ คือ ๑.ทาน ปันสละของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ๒.ปัพพัชชา ถือบวช เว้นจากการเบียดเบียนกัน ๓.มาตาปิตุอุปัฏฐาน บำรุงมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข
สาเกต : ชื่อมหานครแห่งหนึ่ง อยู่ในแคว้นโกศล ห่างจากเมืองสาวัตถี ๗ โยชน์ ธนัญชัยเศรษฐี บิดาของนางวิสาขาได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้เข้าตั้งถิ่นฐานและสร้างขึ้น เมื่อคราวที่ท่านเศรษฐีอพยพจากเมืองราชคฤห์มาอยู่ในแคว้นโกศลตามคำเชิญชวนของพระองค์
สุทโธทนะ : กษัตริย์ศากยวงศ์ซึ่งเป็นราชาผู้ครองแคว้นศากยะ หรือสักกชนบท ณ นครกบิลพัสดุ์ มีพระมเหสีพระนามว่าพระนางสิริมหามายา หรือเรียกสั้น ๆ ว่ามายา เมื่อพระนางมายาสวรรคตแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้เป็นพระมเหสีต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระราชบุตรองค์ที่ ๑ ของพระเจ้าสีหหนุ เป็นพระราชบิดาของพระสิทธัตถะ เป็นพระอัยกาของพระราหุล และเป็นพระพุทธบิดา พระองค์สวรรคตในปีที่ ๕ แห่งพุทธกิจก่อนสวรรคต พระพุทธเจ้าไดเสด็จไปแสดงธรรมโปรดให้ได้ทรงบรรลุอรหัตตผล และได้เสวยวิมุตติสุข ๗ วันก่อนปรินิพพาน
อชาตศัตรู : โอรสของพระเจ้าพิมพิสารกับพระนางโกศลเทวี กษัตริย์แคว้นมคธ ขณะพระนางโกศลเทวีทรงครรภ์ ได้แพ้ท้องอยากเสวยโลหิตของพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบจึงเอาพระขรรค์แทงพระชานุ (เข่า) รองพระโลหิตให้พระนางเสวย โหรทำนายว่า พระโอรสที่อยู่ในครรภ์เกิดมาจะทำปิตุฆาต พระนางโกศลเทวีพยายามทำลายด้วยการให้แท้งเสีย แต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดคิดจะรีด แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงห้ามไว้ เมื่อครบกำหนดประสูติเป็นกุมาร จึงตั้งพระนามพระโอรสว่า อชาตศัตรู แปลว่า เป็นศัตรูตั้งแต่ยังไม่เกิด ในที่สุดเจ้าชายอชาตศัตรูก็คบคิดกับพระเทวทัตฆ่าพระราชบิดาตามที่โหรทำนายไว้ และได้ขึ้นครองราชสมบัติแคว้นมคธ ณ กรุงราชคฤห์ แต่ทรงสำนึกและกลับพระทัยได้ หันมาทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา และได้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ (คำ “อชาตศัตรู” บางท่านแปลใหม่ว่า มิได้เกิดมาเป็นศัตรู)
อนุปิยอัมพวัน : ชื่อส่วน อยู่ในเขตอนุปิยนิคม แขวงมัลลชนบท เป็นที่พระมหาบุรุษเสด็จพักแรม ๗ วัน หลังจากเสด็จออกบรรพชาใหม่ๆ ก่อนเสด็จต่อไปสู่เมืองราชคฤห์ ในแคว้นมคธ และต่อมาเป็นที่เจ้าศากยะ มี อนุรุทธ และอานนท์ เป็นต้น พร้อมด้วยอุบาลี ออกบวช
อภิสังขาร : สภาพที่ปรุงแต่งผลแห่งการกระทำการทำกรรม มี ๓ อย่างคือ ๑) ปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นบุญ ๒) อปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ คือ บาป ๓) อาเนญชาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นอเนญชา คือ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔; เรียกง่ายๆ ได้แก่ บุญ บาป ฌาน
อัญชนะ : กษัตริย์โกลิยวงศ์ผู้ครองเทวทหนคร มีมเหสีพระนามว่า ยโสธราเป็นพระชนกของพระมหามายาเทวี ผู้เป็นพระพุทธมารดาและพระนางมหาปชาบดีโคตมี (ตำนานว่ามีโอรสด้วย ๒ องค์ คือ ทัณฑปาณิ และสุปปพุทธะ)
อาจารย : ผู้สั่งสอนวิชาความรู้, ผู้ฝึกหัดอบรมมรรยาท, อาจารย์ ๔ คือ ๑) บัพพชาจารย์ หรือ บรรพชาจารย์ อาจารย์ในบรรพชา ๒) อุปสัมปทาจารย์ อาจารย์ในอุปสมบท ๓) นิสสยาจารย์ อาจารย์ผู้ให้นิสสัย ๔) อุทเทศาจารย์ หรือ ธรรมาจารย์ อาจารย์ผูสอนธรรม
อาทิตตปริยายสูตร : ชื่อพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุประมาณ ๑,๐๐๐ รูป มีอุรุเวลกัสสป เป็นต้น ซึ่งเคยเป็นชฏิลบูชาไฟมาก่อน ว่าด้วยอายตนะทั้ง ๖ ที่ร้อนติดไฟลุกทั่ว ด้วยไฟราคะ ไฟโทสะ และไฟโมหะ ตอลดจนร้อนด้วยทุกข์ มีชาติ ชรามรณะ เป็นต้น ทำให้ภิกษุเหล่านั้นบรรลุอรหัตตผล (มาในคัมภีร์มหาวรรค แห่งพระวินัยปิฎก และสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค พระสุตตันตปิฎก)
อุปสัมปทา : การบวช, การบวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณี; วิธีอุปสมบทมีทั้งหมด ๘ อย่าง แต่เฉพาะที่ใช้เป็นหลักมี ๓ อย่างคือ ๑) เอหิภิกขุอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยพระวาจาว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด” เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง ๒) ติสรณคมนูปสัมปทา หรือสรณคมนูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยถึงไตรสรณะ เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้พระสาวกทำในยุคต้นพุทธกาล เมื่อคณะสงฆ์ยังไม่ใหญ่นัก เมื่อทรงอนุญาตวิธีที่ ๓ แล้ว วิธีที่ ๒ นี้ก็เปลี่ยนใช้สำหรับบรรพชาสามเณร ๓) ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำ ในเมื่อคณะสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่ขึ้นแล้วส และเป็นวิธีใช้สืบมาจนทุกวันนี้; วิธีอุปสมบทอีก ๕ อย่าง ที่เหลือเป็นวิธีที่ทรงประทานเป็นการพิเศษ จำเพาะบุคคลบ้าง ขาดตอนหมดไปแล้วบ้าง ได้แก่ (จัดเรียงลำดับใหม่ เอาข้อ ๓) เป็นข้า ๘) ท้ายสุด) ๓) โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยการรับโอวาท เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่พระมหากัสสปะ ๔) ปัญหาพยากรณูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยการตอบปัญหาของพระพุทธองค์ เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่โสปากสามเณร ๕) ครุธรรมปฏิคคหณูปสัมปทา (หรือ อัฏฐครุธรรมปฏิคคหณูปสัมปทา) การอุปสมบทด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการ เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ๖) ทูเตนะ อุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยทูต เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่นางคณิกา (หญิงโสเภณี) ชื่ออัฑฒกาสี ๗) อัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา การอุปสมบทมีวาจา ๘ คือ ทำด้วยญัตติจตุตถกรรม ๒) ครั้งจากสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่ายคือจากภิกษุณีสงฆ์ครั้งหนึ่ง จากภิกษุสงฆ์ครั้งหนึ่ง ได้แก่การอุปสมบทของภิกษุณี ๘) ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา (ข้อ ๓) เดิม)
อุรุเวลกัสสป : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เคยเป็นนักบวชประเภทชฎิล นับถือลัทธิบูชาไฟ ถือตัวว่าเป็นพระอรหันต์สร้างอาศรมสั่งสอนลัทธิของตนอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เพราะเหตุที่เป็นชาวกัสสปโคตร และอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า อุรุเวลกัสสป ท่านผู้นี้เป็นคณาจารย์ใหญ่ที่ชาวราชคฤห์นับถือมาก มีน้องชาย ๒ คน คนหนึ่งชื่อนทีกัสสป อีกคนหนึ่งชื่อคยากสสป ล้วนเป็นหัวหน้าชฎิลตั้งอาศรมอยู่ถัดกันไปบนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ไม่ห่างไกลจากอาศรมของพี่ชายใหญ่ ต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาทรงทรมานอุรุเวลกัสสปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ จนห่างชฎิลใหญ่ คลายพยศ ยอมมอบตัวเป็นพุทธสาวกขอบรรพชา ทำให้ชฎิลผู้น้องทั้ง ๒ พร้อมด้วยบริวารออกบวชตามด้วยทั้งหมด ครั้นบวชแล้วได้ฟังเทศนาอาทิตตปริยายสูตร จากพระพุทธเจ้า ก็ได้สำเร็จพระอรหัต ทั้งสามพี่น้องพร้อมด้วยบริวารทั้งหมดรวมหนึ่งพันองค์ พระอุรุเวลกัสสปได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีบริษัติใหญ่ คือ มีบริวารมาก