จาริก : เที่ยวไป, เดินทางเพื่อศาสนกิจ
สัญจร : เที่ยวไป, เดินไป, ผ่านไป, ผ่านไปมา, เดินทางกันไปมา
พาหิย ทารุจีริยะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในครอบครัวคนมีตระกูลในแคว้นพาหิยรัฐ ลงเรือเดินทะเลเพื่อจะไปค้าขาย เรือแตกกลางทะเลรอดชีวิตไปได้ แต่หมดเนื้อหมดตัว ต้องแสดงตนเป็นผู้หมดกิเลสหลอกลวงประชาชนเลี้ยงชีวิต ต่อมาพบพระพุทธเจ้า ทูลขอให้ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่ออารมณ์ที่รับรู้ทางอายตนะทั้ง ๖ พอจบพระธรรมเทศนาย่นย่อนั้น พาหิยะก็สำเร็จอรหัต แต่ไม่ทันได้อุปสมบท กำลังเที่ยวหาบาตรจีวร เผอิญถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดเอาสิ้นชีวิตเสียก่อน ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านตรัสรู้ฉับพลัน
สารีบุตร : พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ (บางแห่งเรียกนาลันทะ) ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ สารี จึงได้นามว่าสารีบุตร แต่เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ ซึ่งต่อมาคือ พระมหาโมคคัลลานะ มีน้องชาย ๓ คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ น้องหญิง ๓ คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่ออุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้ง ๒ คนไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปดูแล้วเกิดความสลดใจ คิดออกแสวงหาโมกขธรรม และต่อมาได้บวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชกแต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย จนวันหนึ่งอุปติสสปริพาชก พบพระอัสสชิเถระขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมใสติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอนได้ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะแล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชกที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง ๒๕๐ คน ได้รับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน เมื่อบวชแล้วได้ ๑๕ วัน พระสารีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็น เอตทัคคะ ในทางมีปัญญามาก และเป็น พระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็น พระธรรมเสนาบดี คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการสังคายนา เป็นต้น ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือนเมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาของท่านซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฐิให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ หลังจากปลงศพแล้วพระจุนทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี (อรรถกถาว่าท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จึงเท่ากับ ๖ เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน)
สุภัททะ วุฒบรรพชิต : “พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่” ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการปรารภที่จะทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ก่อนบวช เป็นช่างตัดผมในเมืองอาตุมา มีบุตรชาย ๒ คน เมื่อบวชแล้วคราวหนึ่งได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่จะเสด็จมายังเมืองอาตุมา จึงให้บุตรทั้ง ๒ เอาเครื่องมือตัดผมออกไปเที่ยวขอตัดผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเอาเครื่องปรุงยาคูมาได้มากมาย แล้วบัญชาการให้ผู้คนจัดเตรียมข้าวยาคูไว้เป็นอันมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ก็นำเอาข้าวยาคูนั้นเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าตรัสถาม ทรงทราบความว่าพระสุภัททะได้ข้าวนั้นมาอย่างไรแล้ว ไม่ทรงรับและทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ๒ ข้อ คือ บรรพชิตไม่พึงชักชวนคนทำในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ และภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผมไว้ประจำตัว จากการที่ได้ถูกติเตียนและเสียของเสียหน้าเสียใจ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น พระสุภัททะก็ได้ผูกอาฆาตไว้ ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน พระสุภัททะร่วมอยู่ในคณะของพระมหากัสสปเถระ ซึ่งกำลังเดินทางจากเมืองปาวาสู่เมืองกุสินารา ระหว่างทางนั้น คณะได้ทราบข่าวพุทธปรินิพพานจากอาชีวกผู้หนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นราคะ (คือพระปุถชน โสดาบัน และสกทาคามี) พากันร้องไห้คร่ำครวญเป็นอันมาก ในขณะนั้นเอง พระสุภัททะวุฒบรรพชิต ก็ร้องห้ามขึ้นว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไห้ไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว พระมหาสมณะนั้นคอยเบียดเบียนพวกเราว่าสิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ บัดนี้พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น” พระมหากัสสปเถระได้ฟังแล้วเกิดธรรมสังเวช ดำริว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน ก็ยังเกิดเสี้ยนหนามขึ้นแล้วในพระศาสนา หากต่อไปคนชั่วได้พวกพ้องมีกำลังเติบกล้าขึ้น ก็จะทำพระศาสนาให้เสื่อมถอย ดังนั้น หลังจากเสร็จงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว ท่านจึงได้ยกถ้อยคำของสุภัททะวุฒบรรพชิต นี้ขึ้นเป็นข้อปรารภ ชักชวนพระเถระทั้งหลายร่วมกันทำสังคายนาครั้งแรก
ยาตรา : เดิน, เดินเป็นกระบวน
เนสัชชิกังคะ : องค์แห่งภิกษุผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือ ถือ นั่ง ยืน เดิน เท่านั้น ไม่นอน (ข้อ ๑๓ ในธุดงค์ ๑๓)
อิริยาบถ : การเคลื่อนไหวของร่างกาย, อริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
จงกรม : เดินไปมาโดยมีสติกำกับ
ภิกขาจาร : เที่ยวไปเพื่อภิกษา, เที่ยวไปเพื่อขอ, เที่ยวบิณฑบาต
กกุธานที : แม่น้ำที่พระอานนท์ทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าให้ไปเสวยและสรงชำระพระกาย ในระหว่างเดินทางไปเมืองกุสินารา ในวันปรินิพพาน
กามาวจร : ซึงท่องเที่ยวไปในกามภพ, ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับกาม
คมิยภัต : ภัตเพื่อผู้ไป, อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุผู้จะเดินทางไปอยู่ที่อื่น ; คมิกภัต ก็ว่า
ความค้ำ : ในประโยคว่า เราจักไม่ทำความค้ำ ไปในละแวกบ้าน เดินเอามือค้ำบั้นเอว นั่งเท้าแขน
โคจรคาม : หมู่บ้านที่อาศัยเที่ยวภิกขาจาร, หมู่บ้านที่ภิกษุไปเที่ยวบิณฑบาต
โคจรวิบัติ : วิบัติแห่งโคจร, เสียในเรื่องที่เที่ยว, ความเสียหายในการไปมาหาสู่ เช่นภิกษุไปในที่อโคจรมีร้านสุรา หญิงแพศยา แม่หม้าย บ่อนการพนัน เป็นต้น
จันทรคติ : การนับวันโดยถือเอาการเดินของพระจันทร์เป็นหลัก เช่น ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ และเดือนอ้าย เดือนยี่ เดือน ๓ เป็นต้น คู่กับ สุริยคติ
จำพรรษา : อยู่ประจำวัด ๓ เดือนในฤดูฝน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (อย่างนี้เรียกปุริมพรรษา แปลว่า พรรษาต้น) หรือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ (อย่างนี้เรียก ปัจฉิมพรรษา แปลว่า พรรษาหลัง); วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ เรียกว่า ปุริมิกา วัสสูปนายิกา, วันเข้าพรรษาหลัง คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ เรียกว่า ปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา ; คำอธิษฐานพรรษา ว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ ; ทุติยมฺปี อิมสฺมึ....; ตติยมฺปิ อิมสฺมึ....แปลว่า ข้าพเจ้าเข้าอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในวัดนี้ (วิหาเร จะเปลี่ยนเป็น อาวาเส ก็ได้) ; อานิสงส์การจำพรรษามี ๕ อย่าง คือ ๑.เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ๒.จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ ๓.ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้ ๔.เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา ๕.จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ อานิสงส์ทั้ง ๕ นี้ได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่ง นับแต่ออกพรรษาแล้ว คือ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ นอกจากนั้นยังได้สิทธิที่จะกรานกฐิน และได้รับอานิสงส์ ๕ นั้น ต่อออกไปอีก ๔ เดือน (ภิกษุผู้เข้าพรรษาแล้วหลัง ไม่ได้อานิสงส์หรือสิทธิพิเศษเหล่านี้)
ชาติสงสาร : ความท่องเที่ยวไปด้วย ความเกิด, การเวียนตายเวียนเกิด
ญัตติจตุตถกรรม : กรรมมีญัตติเป็นที่ ๔ ได้แก่ สังฆกรรมที่สำคัญ มีการอุปสมบท เป็นต้น ซึ่งเมื่อตั้งญัตติแล้ว ต้องสวดอนุสาวนาคำประกาศขอมติถึง ๓ หน เพื่อสงฆ์คือที่ชุมนุมนั้นจะได้มีเวลาพิจารณาหลายเที่ยว ว่าจะอนุมัติหรือไม่
ตปุสสะ : พ่อค้าที่มาจารอุกกลชนบท คู่กับภัลลิกะ พบพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้ราชายตนะ ภายหลังตรัสรู้ใหม่ๆ ได้ถวายเสบียงเดินทาง คือ ข้าวสัตตุผล ข้าวสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นสรณะ นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๒ ที่เรียกว่า เทฺววาจิก
ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ชื่อข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษเป็นต้น มี ๑๓ ข้อคือ หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุต-เกี่ยวกับจีวร มี ๑.ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุล ๒.เตจีวริกังคะ ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน; หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุต-เกี่ยวกับบิณฑบาต มี ๓.ปิณฑปาติกังคะ เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ ๔.สปทานจาริกังคะ บิณฑบาตตามลำดับบ้าน ๕.เอกาสนิกังคะ ฉันมื้อเดียว ๖.ปัตตปิณฑิกังคะ ฉันเฉพาะในบาตร ๗.ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม; หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุต -เกี่ยวกับเสนาสนะมี ๘.อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่า ๙.รุกขมูลิกังคะ อยู่โคนไม้ ๑๐.อัพโภกาสิกังคะ อยู่กลางแจ้ง ๑๑.โสสานิกังคะ อยู่ป่าช้า ๑๒.ยถาสันถติกังคะ อยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้; หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุต-เกี่ยวกับความเพียร มี ๑๓.เนสัชชิกังคะ ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน (นี้แปลเอาความสั้นๆ ความหมายละเอียด พึงดูตามลำดับอักษรของคำนั้นๆ) ธุระ “สิ่งที่จะต้องแบกไป”, หน้าที่, ภารกิจ, การงาน, เรื่องที่จะต้องรับผิดชอบ, กิจในพระศาสนา แสดงไว้ในอรรถกถา ๒ อย่างคือ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
บิณฑจาริกวัตร : วัตรของผู้เที่ยวบิณฑบาต, ธรรมเนียมหรือข้อควรปฏิบัติสำหรับภิกษุที่จะไปรับบิณฑบาต เช่น นุ่งห่มให้เรียบร้อย สำรวมกิริยาอาการ ถือบาตรภายในจีวรเอาออกเฉพาะเมื่อจะรับบิณฑบาต กำหนดทางเข้าออกแห่งบ้านและอาการของชาวบ้านที่จะให้ภิกขาหรือไม่ รับบิณฑบาตด้วยอาการสำรวม รูปที่กลับมาก่อน จัดที่ฉัน รูปที่มาทีหลัง ฉันแล้วเก็บกวาด
ปฏาจารา : พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาเศรษฐีในพระนครสาวัตถีได้รับวิปโยคทุกข์อย่างหนักเพราะสามีตาย ลูกตาย พ่อแม่พี่น้องตายหมด ในเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีและติดต่อกัน ถึงกับเสียติดปล่อยผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ย เดินบ่นเพ้อไปในที่ต่างๆ จนถึงพระเชตวัน พระศาสดาทรงแผ่พระเมตตา เปล่งพระวาจาให้นางกลับได้สติ แล้วแสดงพระธรรมเทศนา นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผล บวชเป็นพระภิกษุณี ไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทรงพระวินัย
ประพาส : ไปเที่ยว, เที่ยวเล่น, อยู่แรม
ปลิโพธ : เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ใจพระวักพะวนห่วงกังวล, เหตุกังวล, ข้อติดข้อง; ปลิโพธที่ผู้จะเจริญกรรมฐานพึงตัดเสียให้ได้ เพื่อให้เกิดความปลอดโปร่งพร้อมที่จะเจริญกรรมฐานให้ก้าวหน้าไปได้ดี มี ๑๐ อย่าง คือ ๑.อาวาสปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับวัดหรือที่อยู่ ๒.กุลปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับตระกูลญาติหรืออุปัฏฐาก ๓.ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภ ๔.คณปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับคณะศิษย์หรือหมู่ชนที่ตนต้องรับผิดชอบ ๕.กรรมปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการงาน เช่น การก่อสร้าง ๖.อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกลเนื่องด้วยกิจธุระ ๗.ญาติปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับญาติหรือคนใกล้ชิดที่จะต้องเป็นห่วงซึ่งกำลังเจ็บป่วยเป็นต้น ๘.อาพาธปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง ๙.คันถปริโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน ๑๐.อิทธิปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ของปุถุชนที่จะต้องคอยรักษาไม่ให้เสื่อม (ข้อท้ายนี้เป็นปลิโพธสำหรับผู้จะเจริญวิปัสสนาเท่านั้น)
ปังสุกูลิกังคะ : องค์แห่งผู้ถือผ้าบังสุกุล คือ ไม่รับจีวรจากทายก เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลมาเย็บย้อมทำจีวรเอง
ปิณฑปาติกธุดงค์ : องค์คุณเครื่องขจัดกิเลสแห่งภิกษุเป็นต้น ผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร หมายถึง ปิณฑปาติกังคะ นั่นเอง
ปิณฑปาติกังคะ : องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คือ ไม่รับนิมนต์หรือลาภพิเศษอย่างอื่นใด ฉันเฉพาะอาหารที่บิณฑบาตมาได้ (ข้อ ๓ ใน ธุดงค์ ๑๓)
ปุณณมันตานีบุตร : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะเดิมชื่อปุณณะ เป็นบุตรของนางมันตานี ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ เป็นหลานของพระอัญญาโกณทัญญะ ได้บรรพชาเมื่อพระเถระผู้เป็นลุงเดินทางมายังเมืองกบิลพัสดุ์ บวชแล้วไม่นานก็บรรลุอรหัตตผล เป็นผู้ปฏิบัติตนตามหลักกถาวัตถุ ๑๐ และสอนศิษย์ของตนให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาพระธรรมกถึก หลักธรรมเรื่องวิสุทธิ ๗ ก็เป็นภาษิตของท่าน
พุทธจาริก : การเสด็จจาริกคือเที่ยวไปประกาศพระศาสนาของพระพุทธเจ้า
ภัททวัคคีย์ : พวกเจริญ, เป็นชื่อคณะสหาย ๓๐ คนที่พากันเข้ามาในไร่ฝ้ายแห่งหนึ่งเพื่อเที่ยวตามหาหญิงแพศยาผู้ลักห่อเครื่องประดับหนีไป และได้พบพระพุทธเจ้าซึ่งพอดีเสด็จแวะเข้าไปประทับพักอยู่ที่ไร่ฝ้ายนั้น ได้ฟังเทศนาอนุปุพพีกถา และอริยสัจ ๔ ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขออุปสมบท
ภัลลิกะ : พ่อค้าที่มาจากอุกกลชนบท คู่กับ ตปุสสะ พบพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้ราชายตนะ ได้ถวายเสบียงเดินทาง คือ ข้าวสัตตุผง ข้าวสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นสรณะ นับเป็นปฐมอุบาสก
ภิกษาจารกาล : เวลาเป็นที่เที่ยวไปเพื่อภิกษา, เวลาบิณฑบาต
ภูมิ : 1.พื้นเพ, พื้น, ชั้น, ที่ดิน, แผ่นดิน 2.ชั้นของจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต มี ๔ คือ ๑.กามาวจรภูมิ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม ๒.รูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่รูป หรือชั้นของพวกที่ได้รูปฌาน ๓.อรูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่อรูป หรือชั้นของพวกที่ได้อรูปฌาน ๔.โลกุตตรภูมิ ชั้นที่พ้นโลก หรือระดับพระอริยบุคคล
มณฑารพ : ดอกไม้ทิพย์ คือ ดอกไม้ในเมืองสวรรค์ที่ตกลงมาบูชาพระพุทธเจ้า ในวันปรินิพพาน ดาดาษทั่วเมืองกุสินารา และพระมหากัสสป ได้เห็นอาชีวกคนหนึ่งถืออยู่ขณะเดินทางระหว่างเมืองกุสินารา กับ เมืองปาวา จึงได้ถามข่าวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และทราบการปรินิพพานจากอาชีวกนั้น เมื่อ ๗ วันหลังพุทธปรินิพพาน
มหากัจจายนะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในกัจจายนโคตรที่พระนครอุชเชนี เป็นบุตรปุโรหิตของพระราชาแห่งแคว้นอวันตี เรียนจบไตรเพทแล้ว ต่อมาได้เป็นปุโรหิตแทนบิดา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่งให้หาทางนำพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุชเชนี กัจจายนปุโรหิตจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วบรรลุอรหัตตผล อุปสมบทแล้ว แสดงความประสงค์ที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าสู่แคว้นอวันตี พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ท่านเดินทางไปเอง ท่านเดินทางไปยังกรุงอุชเชนี ประกาศธรรม ยังพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองทั้งหมดให้เลื่อมใสในพระศาสนาแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่าท่านมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ บุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อโสเรยยะเห็นแล้วเกิดมีอกุศลจิตต่อท่านว่าให้ได้อย่างท่านเป็นภรรยาตนหรือให้ภรรยาตนมีผิวพรรณงามอย่างท่าน เพราะอกุศลจิตนั้น เพศของโสเรยยะกลายเป็นหญิงไป นางสาวโสเรยยะแต่งงานมีครอบครัว มีบุตรแล้ว ต่อมาได้พบและขอขมาต่อท่านเพศก็กลับเป็นชายตามเดิม โสเรยยะขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
มหากัปปินะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติในนครกุกกุฏวดีในปัจจันตประเทศ ได้ทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจาแล้ว บังเกิดปีติศรัทธา สละราชสมบัติทรงม้าเดินทางไกลถึง ๓๐๐ โยชน์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า สดับธรรมกถา บรรลุพระอรหัตแล้วได้รับอุปสมบท ส่วนพระอัครมเหสีชื่ออโนชา เมื่อทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าก็เกิดปีติและศรัทธาเช่นเดียวกัน พระนาง ทรงรถเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว รับบรรพชาจากพระอุบลวรรณาเถรีไปอยู่ในสำนักภิกษุณี ฝ่ายมหากัปปินเถระชอบอยู่สงบสงัดและมักอุทานว่า สุขจริงหนอ ท่านสามารถแสดงธรรมให้ศิษย์บรรลุอรหัตตผลได้พร้อมคราวเดียวถึง ๑,๐๐๐ องค์ พระบรมศาสดายกย่องท่านว่าท่านเป็นเอตทัคคะในทางให้โอวาทแก่ภิกษุ
มหากัสสปะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดที่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อมหาติตถะในแคว้นมคธ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์ มีชื่อเดิมว่าปิปผลิมาณพ เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้สมรสกับนางภัททกาปิลานี ตามความประสงค์ของมารดาบิดาแต่ไม่มีความยินดีในชีวิตครองเรือน ต่อมาทั้งสามีภรรยาได้สละเรือน นุ่งห่มผ้ากาสาวะออกบวชกันเอง เดินทางออกจากบ้านแล้วแยกกันที่ทาง ๒ แพร่ง ปิปผลิมาณพได้พบพระพุทธเจ้าที่พหุปุตตกนิโครธระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ได้อุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ข้อ และได้ถวายผ้าสังฆาฏิของตนแลกกับจีวรเก่าของพระพุทธเจ้า แล้วสมาทานธุดงค์ ครั้นบวชล่วงไปแล้ว ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นผู้มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในทางถือธุดงค์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานในปฐมสังคายนา ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนอายุ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพาน
มิตตปฏิรูป : คนเทียมมิตร, มิตรเทียม ไม่ใช่มิตรแท้ มี ๔ พวก ได้แก่ ๑.คนปอกลอก มีลักษณะ ๔ คือ ๑.คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๒.ยอมเสียน้อยโดยหวังจะเอาให้มาก ๓.ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน ๔.คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๒.คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔ คือ ๑.ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย ๒.ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย ๓.สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๔.เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง ๓.คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔ คือ ๑.จะทำชั่วก็เออออ ๒.จะทำดีก็เออออ ๓.ต่อหน้าสรรเสริญ ๔.ลับหลังนินทา ๔.คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔ คือ ๑.คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา ๒.คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน ๓.คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น ๔.คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน
ร่ม : สำหรับพระภิกษุ ห้ามใช้ร่มที่กาววาว เช่น ร่มปักด้วยไหมสีต่างๆ และร่มที่มีระบายเป็นเฟือง ควรใช้ของเรียบๆ ซึ่งทรงอนุญาตให้ใช้ได้ในวัดและอุปจาระแห่งวัด ห้ามกั้นร่มเข้าบ้านหรือกั้นเดินตามถนนหนทางในละแวกบ้าน เว้นแต่เจ็บไข้ ถูกแดดถูกฝนอาพาธจะกำเริบ เช่น ปวดศีรษะ ตลอดจน (ตามที่อรรถกถาผ่อนให้) กั้นเพื่อกันจีวรเปียกฝนตก กั้นเพื่อป้องกันภัย กั้นเพื่อรักษาตัวเช่นในเวลาแดดจัด
ราศรี : 1.ชื่อมาตราวัดจักรราศีคือ ๓๐ องศาเป็น ๑ ราศรี และ ๑๒ ราศรีเป็น ๑ รอบจักรราศี (อาณาเขตโดยรอบดวงอาทิตย์ที่ดาวพระเคราะห์เดิน) ; ราศี ๑๒ นั้น คือ ราศีเมษ (แกะ), พฤษภ (วัว), เมถุน (คนคู่), กรกฏ (ปู), สิงห์ (ราชสีห์), กันย์ (หญิงสาว) ตุล (คันชั่ง), พฤศจิก (แมลงป่อง), ธนู (ธนู), มกร (มังกร), กุมภ์ (หม้อน้ำ), มีน (ปลา ๒ ตัว) 2.อาการที่รุ่งเรือง, ลักษณะที่ดีงาม 3.กอง เชน บุญราศี ว่ากองบุญ
รูปาวจร : ซึ่งท่องเที่ยวไปในรูป, อยู่ในระดับจิตชั้นรูปฌาน, ระดับที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์, เนื่องในภพ
วัตร :
กิจพึงกระทำ, หน้าที่, ธรรมเนียม, ความประพฤติ, ข้อปฏิบัติ จำแนกออกเป็น กิจวัตร วาด้วยกิจที่ควรทำ (เช่น อุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริกวัตร อาคันตุกวัตร) ๑.จริยาวัตร ว่าด้วยมารยาทอันควรประพฤติ (เช่น ไม่ทิ้งขยะทางหน้าต่างหรือทิ้งลงนอกฝานอกกำแพง ไม่จับวัตถุอนามาส) ๑.วิธีวัตร ว่าด้วยแบบอย่างที่พึงกระทำ (เช่น วิธีเก็บบาตร วิธีพับจีวร วิธีเปิดปิดหน้าต่างตามฤดู วิธีเดินเป็นหมู่)๑, วัตรส่วนมากมาในวัตตขันธกะ
วาสนา : อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็ว หรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น ท่านขยายความว่า วาสนา ที่เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศล ก็มี เป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มี ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลกๆ ต่างๆ ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้ จึงมีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้ พร้อมทั้งวาสนา; ในภาษาไทย คำว่า วาสนา มีความหมายเพี้ยนไป กลายเป็นอำนาจบุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ
วิกาล : ผิดเวลา, ในวิกาลโภชนสิกขาบท (ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล) หมายถึง ตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงก่อนอรุณวันใหม่; ส่วนในอันธการวรรค สิกขาบทที่ ๗ ในภิกขุนีวิภังค์ (ห้ามภิกษุณีเข้าสู่ตระกูลในเวลาวิกาล เอาที่นอนปูลาดนั่งนอนทับโดยไม่บอกกล่าวขออนุญาตเจ้าบ้าน) หมายถึงตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงก่อนอรุณวันใหม่; ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สุตตันตปิฎก กล่าวถึงการเที่ยวซอกแซกในเวลาวิกาลว่าเป็นอบายมุขนั้น ก็หมายถึงเวลาค่ำ
วิสุทธิมรรค : ปกรณ์พิเศษอธิบายศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนววิสุทธิ ๗ พระพุทธโฆษาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ชาวอินเดียเป็นผู้แต่งที่มหาวิหารในเกาะลังกา; พระพุทธโฆสาจารย์ผู้นี้เป็นบุตรพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้พุทธคยา อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในแคว้นมคธ เมื่อประมาณ พ.ศ.๙๕๖ เรียนจบไตรเพทมีความเชี่ยวชาญมาก ต่อมาพบกับพระเรวตเถระ ได้โต้ตอบปัญหากัน สู้พระเรวตเถระไม่ได้ จึงขอบวชเพื่อเรียนพุทธวจนะ มีความสามารถมาก ได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย เป็นต้น พระเรวตเถระจึงแนะนำให้ไปเกาะลังกา เพื่อแปลอรรถกถาสิงหฬ กลับเป็นภาษามคธ ท่านเดินทางไปที่มหาวิหาร เกาะลังกา เมื่อขออนุญาตแปลคัมภีร์ ถูกพระเถระแห่งมหาวิหารให้คาถามา ๒ บท เพื่อแต่งทดสอบความรู้ พระพุทธโฆส จึงแต่งคำอธิบายคาถาทั้ง ๒ นั้นขึ้นเป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค จากนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ทำงาน แปลอรรถกถาได้ตามประสงค์ เมื่อทำงานเสร็จสิ้นแล้ว ท่านก็เดินทางกลับสู่ชมพูทวีป พระพุทธโฆสาจารย์ เป็นพระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด มีผลงานมากที่สุด
สงสารวัฏฏ์ : วังวนแห่งสงสาร คือ ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สปทานจาริกังคะ : องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับบ้านเป็นวัตร คือรับตามลำดับบ้านตามแถวเดียวกัน ไม่รับข้ามบ้านข้ามแถว, เที่ยวบิณฑบาตไปตามตรอก ตามห้องแถวเรียงลำดับเรื่อยไปเป็นแนวเดียวกัน ไม่ข้ามไปเลือกรับที่โน้นที่นี่ตามใจชอบ (ข้อ ๔ ในธุดงค์ ๑๓)
สังสารสุทธิ : ความบริสุทธิ์ด้วยการเวียนว่ายตายเกิด คือ ลัทธิของมักขลิโคสาล ซึ่งถือว่า สัตว์ทั้งหลาย ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อย ๆ ก็จะค่อยบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ไปเอง การปฏิบัติธรรม ไร้ประโยชน์ ไม่อาจช่วยอะไรได้