ปุเรภัต : ก่อนภัต, ก่อนอาหาร หมายถึง เวลาก่อนฉันของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ได้ แต่เมื่อพูดอย่างกว้าง หมายถึง ก่อนหมดเวลาฉัน คือ เวลาเช้าจนถึงเที่ยง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ภิกษุฉันอาหารได้
กรรม ๑๒ : กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ ๑๒ อย่างคือ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่ ๑.ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้ ๒.อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า ๓.อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆไป ๔.อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ ได้แก่ ๕.ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ๖.อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือเข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม ๗.อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาบางหรือสั้นเข้า ๘.อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรม ๒ อย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล ได้แก่ ๙.ครุกกรรม กรรมหนัก ให้ผลก่อน ๑๐.พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองลงมา ๑๑.อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น ๑๒.กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล
กาลทาน : ทานที่ให้ตามกาล, ทานที่ให้ได้เป็นครั้งคราวภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่ใช่ให้ได้ตลอดเวลา เช่น การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น ซึ่งทายกจะถวายได้ตามกำหนดเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเท่านั้น ก่อนหรือเลยเขตกำหนดไปทำไม่ได้
กาลิก : เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ ๑.ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ ๒.ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต ๓.สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่เภสัชทั้ง ๕ ๔.ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น (ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)
กูฏทันตสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรค สุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่กูฏทันตพราหมณ์ ผู้กำลังเตรียมพิธีบูชายัญ ว่าด้วยวิธีบูชายัญตามความหมายในแบบของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ต้องมีการฆ่าฟันเบียดเบียนสัตว์ มีแต่การเสียสละทำทาน และการทำความดีอื่นๆ เริ่มด้วยการตระเตรียมพิธีโดยจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยก่อนตามธรรมวิธี มีการส่งเสริมกสิกรรม พาณิชยกรรม สัมมาชีพ และบำรุงส่งเสริมข้าราชการที่ดี ซึ่งจะทำให้ประชาชนขวนขวาย ขะมักเขม้นในหน้าที่การงานของตนๆ จนบ้านเมืองมีความเกษมปลอดภัย พลเมืองมีความสุข ราชทรัพย์บริบูรณ์ดีแล้ว จึงกระทำพิธีบูชายัญ ด้วยการบริจาคทรัพย์ทำทานเป็นต้น ผลของพระธรรมเทศนานี้ คือ กูฏทันตพราหมณ์ล้มเลิกพิธีบูชายัญของตน ปล่อยสัตว์ทั้งหลาย และประกาศตนเป็นอุบาสก
คณะมหานิกาย : คณะสงฆ์ไทยเดิมทีสืบมาแต่สมัยสุโขทัย, เป็นชื่อที่ใช้เรียกในเมื่อได้เกิดมีคณะธรรมยุตขึ้นแล้ว; สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า พระสงฆ์อันมีเป็นพื้นเมือง (ของประเทศไทย-ผู้เขียน) ก่อนเกิด ธรรมยุติกนิกาย (การคณะสงฆ์ น.๙๐)
ครุกรรม : กรรมหนักทั้งที่เป็นกุสลและอกุศล ในฝ่ายกุศลได้แก่ฌานสมาบัติในฝ่ายอกุศลได้แก่อนันตริยกรรม กรรมนี้ให้ผลก่อนกรรมอื่นเหมือนคนอยู่บนที่สูงเอาวัตถุต่างๆ ทิ้งลงมาอย่างไหนหนักที่สุด อย่างนั้นถึงพื้นก่อน
คุณของพระรัตนตรัย : คุณของรัตนะ ๓ คือ ๑.พระพุทธเจ้า รู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้วทรงสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย ๒.พระธรรม เป็นหลักแห่งความจริงและความดีงาม ย่อมรักษาผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ๓.พระสงฆ์ ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนผู้อื่นให้กระทำตามด้วย
จักร : ล้อ, ล้อรถ, ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมายมี ๔ อย่างคือ ๑.ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในถิ่นที่เหมาะ ๒.สัปปุริสูปัสสยะ สมาคมกับคนดี ๓.อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ ๔.ปุพเพกตปุญญตา ได้ทำความดีไว้ก่อน
จุณณิยบท : คำร้อยแก้ว, บางแห่งว่าบทบาลีเล็กน้อย ที่ยกขึ้นแสดงก่อนเนื้อความ (พจนานุกรมเขียน จุณณิยบท)
จุลศักราช : ศักราชน้อย ตั้งขึ้นโดยกษัตริย์พม่าองค์หนึ่งใน พ.ศ.๑๑๘๒ ภายหลังมหาศักราช, เป็นศักราชที่เราใช้กันมาก่อนใช้รัตนโกสินทรศก, นับรอบปีตั้งแต่ ๑๖ เมษายน ถึง ๑๕ เมษายน เขียนย่อว่า จ.ศ.(พ.ศ.๒๕๒๒ ตรงกับ จ.ศ.๑๓๔๐-๑๓๔๑)
ฉันนะ : อำมาตย์คนสนิทผู้เป็นสหชาติและเป็นสารถีของเจ้าชายสิทธัตถะในวันเสด็จออกบรรพชา ฉันนะตามเสด็จไปด้วย ภายหลังบวชเป็นภิกษุถือตัวว่าเป็นคนใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาแต่เก่าก่อน ใครว่าไม่ฟังเกิดความบ่อยๆ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์หายพยศ และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
เฉทนกปาจิตตีย์ : อาบัติปาจิตตีย์ที่ต้องตัดสิ่งของที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก ได้แก่ สิกขาบทที่ ๕-๗-๘-๙-๑๐ แห่งรตนวรรค (ปาจิตตีย์ข้อ ๘๗, ๘๙, ๙๐, ๙๑, ๙๒)
ญาตัตถจริยา :
พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่พระญาติ, ทรงประพฤติประโยชน์แก่พระประยูรญาติ เช่น ทรงอนุญาตให้พระญาติที่เป็นเดียรถีย์เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนก่อน เหมือนเดียรถีย์อื่น และเสด็จไปห้ามพระญาติที่วิวาทกันด้วยเรื่องน้ำ เป็นต้น ดู พุทธจริยา
ดึกดำบรรพ์ : ครั้งเก่าก่อน, ครั้งโบราณ
ดุสิต : สวรรค์ชั้นที่ ๔ แห่งสวรรค์ ๖ ชัน มีท้าวสันดุสิตเทวราชปกครอง สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่สถิตของพระโพธิสัตว์ ก่อนจุติลงมาสู่มนุษยโลกและตรัสรู้ในพระชาติสุดท้าย
ตักสิลา : ชื่อนครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นแห่งชมพูทวีป ตักสิลามีมาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาลเคยรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาต่างๆ เป็นสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดในการศึกษายุคโบราณ เรียกกันว่า เป็นเมืองมหาวิทยาลัย สันนิษฐานว่า บัดนี้ อยู่ในเขตราวัลปินดิ ในแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน
ตัสสาปาปิยสิกากรรม : กรรมอันสงฆ์พึงทำเพราะความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้เลวทราม, กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลยในอนุวาทาธิกรณ์ ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพ พูดถลากไถล พูดกลบเกลื่อนข้อที่ถูกซัก พูดมุสาซึ่งหน้า สงฆ์ทำกรรมนี้แก่เธอเป็นการลงโทษตามความผิดแม้ว่าเธอจะไม่รับ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง
ติตถิยปริวาส : วิธีอยู่กรรมสำหรับเดียรถีย์ที่ขอบวชในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ นักบวชในลัทธิศาสนาอื่น หากปรารถนาจะบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา จะต้องประพฤติปริวาสก่อน ๔ เดือน หรือจนกว่าพระสงฆ์พอใจ จึงจะอุปสมบทได้
เตียง : ภิกษุทำเตียงหรือตั่ง พึงทำให้มีเท้าเพียง ๘ นิ้วพระสุคต เว้นไว้แต่แม่แคร่เบื้องต่ำ และต้องไม่หุ้มนุ่น ถ้าฝ่าฝืน ต้องปาจิตตีย์ ต้องตัดให้ได้ประมาณ หรือรื้อเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก (ปาจิตตีย์ รตนวรรคที่๙ สิกขาบทที่ ๕ และ ๖)
ทีฆาวุ : พระราชโอรสของพระเจ้าทีฆีติราชาแห่งแคว้นโกศล ซึ่งถูกพระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์แห่งแคว้นกาสีชิงแคว้นจับได้ และประหารชีวิตเสีย ทีฆาวุกุมารดำรงอยู่ในพระโอวาทของพระบิดาที่ตรัสก่อนจะถูกประหาร ภายหลังได้ครองราชสมบัติทั้ง ๒ แคว้น คือ แคว้นกาสีกับแคว้นโกศล
ทุกรกิริยา : กิริยาที่ทำได้โดยยาก, การทำความเพียรอันยากที่ใครๆ จะทำได้ ได้แก่ การบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ ด้วยวิธีการทรมานตนต่างๆ เช่น กลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะและอดอาหาร เป็นต้น ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติก่อนตรัสรู้ อันเป็นฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค และได้ทรงเลิกละเสียเพราะไม่สำเร็จประโยชน์ได้จริง; เขียนเต็มเป็น ทุกกรกิริยา
เทวทูต : ทูตของยมเทพ, สื่อแจ้งข่าวของมฤตยู, สัญญาที่เตือนให้ระลึกถึงคติ ธรรมดาของชีวิตมิให้มีความประมาท จัดเป็น ๓ ก็มี ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย, จัดเป็น ๕ ก็มี ได้แก่ เด็กแรกเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนถูกลงราชทัณฑ์ และคนตาย (เทวทูต ๓ มาในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, เทวทูต ๕ มาในเทวทูตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์); ส่วน เทวทูต ๔ ที่เจ้าชายสิทธัตถะพบก่อนบรรพชา คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะนั้น ๓ อย่างแรก เป็นเทวทูต ส่วนสมณะเรียกรวมเป็นเทวทูตไปด้วยโดยปริยาย เพราะมาในหมวดเดียวกัน แต่ในบาลี ท่านเรียกว่า นิมิต ๔ หาเรียกเทวทูต ๔ ไม่ อรรถกถาบางแห่งพูดแยกว่า พระสิทธัตถะเห็นเทวทูต ๓ และสมณะ (มีอรรถกถาแห่งหนึ่งอธิบายในเชิงว่าอาจเรียกทั้ง ๔ อย่างเป็นเทวทูตได้ โดยความหมายว่า เป็นของที่เทวดานิรมิตไว้ ระหว่างทางเสด็จของพระสิทธัตถะ)
ธัมมาธิปเตยยะ :
ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ นึกถึงความจริง ความถูกต้องสมควรก่อนแล้วจึงทำ บัดนี้นิยมเขียน ธัมมาธิปไตย ดู อธิปเตยยะ
นิมิต :
1.เครื่องหมาย ได้แก่วัตถุอันเป็นเครื่องหมายแห่งสีมา, วัตถุที่ควรใช้เป็นนิมิตมี ๘ อย่าง ภูเข ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ น้ำ 2.(ในคำว่าทำนิมิต) ทำอาการเป็นเชิงชวนให้เขาถวาย, ขอเขาโดยวิธีให้รู้โดยนัย ไม่ขอตรงๆ 3.เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน, ภาพที่เห็นในใจของผู้เจริญกรรมฐาน, ภาพที่เป็นอารมณ์กรรมฐาน มี ๓ คือ ๑.บริกรรมนิมิต นิมิตแห่งบริกรรม หรือนิมิตตระเตรียม ได้แก่สิ่งที่เพ่ง หรือกำหนดนึกเป็นอารมณ์กรรมฐาน ๒.อุคคหนิมิต นิมิตที่ใจเรียน หรือนิมิตติดตาติดใจ ได้แก่ สิ่งที่เพ่งหรือนึกนั้นเอง ที่แม่นในใจ จนหลับตามองเห็น ๓.ปฏิภาคนิมิต นิมิตเสมือน หรือนิมิตเทียบเคียง ได้แก่ อุคคหนิมิตนั้น เจนใจจนกลายเป็นภาพที่เกิดจากสัญญา เป็นของบริสุทธิ์ จะนึกขยาย หรือย่อส่วนก็ได้ตามปรารถนา 4.สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นก่อนเสด็จออกบรรพชา ๔ อย่าง ดู เทวทูต
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ : อาบัติปาจิตตีย์อันทำให้ต้องสละสิ่งของ ภิกษุต้องอาบัติประเภทนี้ต้องสละสิ่งของที่ทำให้ต้องอาบัติก่อนจึงจะปลงอาบัติตก
นิสสัคคิยวัตถุ : ของที่เป็นนิสสัคคีย์, ของที่ต้องสละ, ของที่ทำให้ภิกษุต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ จำต้องสละก่อนจึงจะปลงอาบัติตก
เนรัญชรา : ชื่อแม่น้ำสำคัญ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ภายใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสายนี้ และก่อนหน้านั้นในวันตรัสรู้ ทรงลอยถาดข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายในแม่น้ำสายนี้
บอก : ในประโยคว่า “ภิกษุใด ไม่ได้รับบอกก่อน ก้าวล่วงธรณีเข้าไป” ไม่ได้รับบอก คือยังไม่ได้รับอนุญาต
บอกศักราช : เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณ มีการบอกกาลเวลา เรียกว่าบอกศักราช ตอนท้ายสวดมนต์ และก่อนจะแสดงพระธรรมเทศนา (หลังจากให้ศีลจบแล้ว) ว่าทั้งภาษาบาลีและคำแปลภาษาไทย การบอกอย่างเก่า บอกปี ฤดู เดือน วัน ทั้งที่เป็นปัจจุบัน อดีต และอนาคต คือบอกว่าล่วงไปแล้วเท่าใด และยังจะมีมาอีกเท่าใด จึงจะครบจำนวนอายุพระพุทธศาสนา๕พันปี แต่ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๔ ที่รัฐบาลประกาศใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้นมา ได้มีวิธีบอกศักราชอย่างใหม่ขึ้นใช้แทน บอกเฉพาะปี พ.ศ.เดือน วันที่ และวันในปัจจุบัน ทั้งบาลีและคำแปล บัดนี้ไม่นิยมกันแล้ว คงเป็นเพราะมีปฏิทินและเครื่องบอกเวลาอย่างอื่น ใช้กันดื่นทั่วไป
บิณฑจาริกวัตร : วัตรของผู้เที่ยวบิณฑบาต, ธรรมเนียมหรือข้อควรปฏิบัติสำหรับภิกษุที่จะไปรับบิณฑบาต เช่น นุ่งห่มให้เรียบร้อย สำรวมกิริยาอาการ ถือบาตรภายในจีวรเอาออกเฉพาะเมื่อจะรับบิณฑบาต กำหนดทางเข้าออกแห่งบ้านและอาการของชาวบ้านที่จะให้ภิกขาหรือไม่ รับบิณฑบาตด้วยอาการสำรวม รูปที่กลับมาก่อน จัดที่ฉัน รูปที่มาทีหลัง ฉันแล้วเก็บกวาด
บุพกรณ์ : ธุระอันจะพึงทำในเบื้องต้น, งานที่จะต้องกระทำทีแรก, เรื่องที่ควรตระเตรียมให้เสร็จก่อน เช่น บุพกรณ์ของการทำอุโบสถ ได้แก่ เมื่อถึงวันอุโบสถ พระเถระลงอุโบสถก่อน สั่งภิกษุให้ปัดกวาดโรงอุโบสถตามไฟ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ตั้งหรือปูลาดอาสนะไว้; บุพกรณ์แห่งการกรานกฐิน คือ ซักผ้า ๑ กะผ้า ๑ ตัดผ้า ๑ เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว ๑ เย็บเป็นจีวร ๑ ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว ๑ ทำกัปปะคือพินทุ ๑ ดังนี้เป็นต้น
บุพการี : บุคคลผูทำอุปการะก่อน คือ ผู้มีพระคุณ ได้แก่ มารดาบิดา ครูอาจารย์ เป็นต้น (ข้อ ๑ ในบุคคลหาได้ยาก ๒)
บุพกิจ : กินอันจะพึงทำก่อน, กิจเบื้องต้น เช่น บุพกิจในการทำอุโบสถ ได้แก่ ก่อนสวดปาฏิโมกข์ต้องนำปาริสุทธิของภิกษุอาพาธมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ นำฉันทะของภิกษุอาพาธมา บอกฤดูนับภิกษุ ให้โอวาทนางภิกษุณี; บุพกิจแห่งการอุปสมบทมี การให้บรรพชา ขอนิสัย ถืออุปัชฌาย์ จนถึงสมมติภิกษุผู้สอบถามอันตรายิกธรรมกะอุปสัมปทาเปกขะท่ามกลางสงฆ์ ดังนี้เป็นต้น
บุพเปตพลี : บุญที่อุทิศให้แกญาติผู้ตายไปก่อน, การทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย
บุพพัณณะ : ของที่ควรกินก่อน ได้แก่ ข้าวทุกชนิดเช่น ข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง เป็นต้น; เทียบ อปรัณณะ
บุพพาจารย์ : 1.อาจารย์ก่อนๆ, อาจารย์รุ่นก่อน, อาจารปางก่อน 2.อาจารย์ต้น, อาจารย์แรก คือ มารดาบิดา
บุพเพนิวาสานุสติญาณ :
ความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน, ระลึกชาติได้ ดู วิชชา, อภิญญา
บุพเพสันนิวาส : การเคยอยู่ร่วมกันในกาลก่อน เช่น เคยเป็นพ่อแม่ลูกพี่น้องเพื่อผัวเมียกันในภพอดีต (ดู ชาดกที่๖๘ และ ๒๓๗ เป็นต้น)
บุรพนิมิตต์ : เครื่องหมายให้รู้ล่วงหน้า, ลางที่บอกเหตุขึ้นก่อน บัดนี้ เขียน บุพนิมิต
บุรพบุรุษ : คนก่อนๆ, คนรุ่นก่อน, คนเก่าก่อน, คนผู้เป็นต้นวงศ์ตระกูล, บรรพบุรุษ
โบราณ : มีในกาลก่อน, เป็นของเก่าแก่
ปฏิกัสสนา :
กิริยาชักเข้าหาอาบัติเดิม, เป็นชื่อวุฏฐานวิธีสำหรับอันตราบัติคือระเบียบปฏิบัติในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสสสำหรับภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสขึ้นใหม่อีก ในเวลาใดเวลาหนึ่งตั้งแต่เริ่มอยู่ปริวาสไปจนถึงก่อนอัพภาน ทำให้เธอต้องกลับอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตตั้งแต่เริ่มต้นไปใหม่ ; สงฆ์จตุวรรคให้ปฏิกัสสนาได้ ดู อันตราบัติ
ปณามคาถา : คาถาน้อมไหว้, คาถาแสดงความเคารพพระรัตนตรัย เรียกกนง่ายๆ ว่า คาถาไหว้ครู ซึ่งตามปกติ พระอาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์ภาษาบาลี เช่น อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น ถือเป็นธรรมเนียมที่จะเรียบเรียงไว้เป็นเบื้องต้น ก่อนขึ้นเนื้อความของคัมภีร์นั้นๆ ประกอบด้วยคำสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย คำบอกความมุ่งหมายในการแต่ง คำอ้างถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้อาราธนาให้แต่ง และข้อควรทราบอื่นๆ เป็นอย่างคำนำ หรือคำปรารภ
ประสก : เป็นคำเลือนมาจาก อุบาสก พระสงฆ์ครั้งก่อนมักใช้เรียกคฤหัสถ์ผู้ชาย คู่กับ สีกา แต่บัดนี้ได้ยินใช้น้อย
ปรินิพพานบริกรรม : การกระทำขั้นต้นก่อนที่จะปรินิพพาน, การเตรียมปรินิพพาน ในพุทธประวัติ ได้แก่ การทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติก่อนแล้วเสด็จปรินิพพาน
ปริวาส : การอยู่ชดใช้ เรียกสามัญว่า อยู่กรรม, เป็นชื่อวุฏฐานวิธี (ระเบียบปฏิบัติสำหรับออกจากครุกาบัติ) อย่างหนึ่ง ซึ่งภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ จะต้องประพฤติเป็นการลงโทษตนเองชดใช้ให้ครบเท่าจำนวนวันที่ปิดอาบัติ ก่อนที่จะประพฤติมานัตอันเป็นขั้นตอนปกติของการออกจากอาบัติต่อไป, ระหว่างอยู่ปริวาส ต้องประพฤติวัตรต่างๆ เช่น งดใช้สิทธิบางอย่าง ลดฐานะของตน และประจานตัวเป็นต้น; ปริวาส มี ๓ อย่าง คือ ปฏิจฉันนปริวาส สโมธานปริวาส และ สุทธันตปริวาส; มีปริวาสอีกอย่างหนึ่งสำหรับนักบวชนอกศาสนา จะต้องประพฤติก่อนที่จะบวชในพระธรรมวินัย เรียกว่า ติตถิยปริวาส ซึ่งท่านจัดเป็น อปริจฉันนปริวาส
ปลงอายุสังขาร : “สลัดลงซึ่งปัจจัยเครื่องปรุงแต่งอายุ”, ตกลงใจกำหนดการสิ้นสุดอายุ, ตกลงพระทัยว่าจะปรินิพพาน, กำหนดพระทัยเกี่ยวกับการที่จะปรินิพพาน (ก่อนปรินิพพาน ๓ เดือน)
ปัจจัยปัจจเวกขณะ : การพิจารณาปัจจัย, พิจารณาก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา (ข้อ ๔ ในปาริสุทธิศีล ๔)
ปัจฉิมโอวาท : คำสอนครั้งสุดท้าย หมายถึง ปัจฉิมวาจา คือ พระดำรัสสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพานว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”