เดือน : ดวงจันทร์, ส่วนของปี คือปีหนึ่งมี ๑๒ เดือนบ้าง ๑๓ เดือนบ้าง (อย่างจันทรคติ); การที่นับเวลาเป็นเดือนและเรียกเวลาที่นับนั้นว่าเดือนก็เพราะกำหนดเอาข้างขึ้นข้างแรมของเดือน คือดวงจันทร์เป็นหลักมาตั้งแต่ตั้งเดิม ดูชื่อเดือนที่ มาตรา
ผัคคุณมาส : เดือน
ปักขคณนา : “การนับปักษ์”, วิธีคำนวณดิถีตามปักษ์ คือ คำนวณหาวันขึ้นแรมกี่ค่ำๆ ให้แม่นยำ ตรงตามการโคจรของดวงจันทร์อย่างแท้จริง เฉพาะอย่างยิ่งมุ่งให้ได้วันพระจันทร์เต็มดวงหรือวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ) วันพระจันทร์ดับ หรือวันดับ (แรม ๑๔-๑๕ ค่ำ) และวันพระจันทร์กึ่งดวง (ขึ้น ๘ ค่ำ และ แรม ๘ ค่ำ) ตรงกับวันที่ดวงจันทร์เป็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งบางเดือนข้างขึ้นอาจมีเพียง ๑๔ วัน (วันเพ็ญ เมื่อขึ้น ๑๔ ค่ำ) ก็มีข้างแรมอาจมีเต็ม ๑๕ วันติดต่อกัน หลายเดือนก็มี ต้องตรวจดูเป็นปักษ์ๆ ไป จึงใช้คำว่าปักษ์ถ้วน ปักษ์ขาดไม่ใช่เพียงเดือนเต็ม เดือนขาด เป็นวิธีคำนวณที่สลับซับซ้อน ต่างจากปฏิทินหลวง หรือปฏิทินของราชการ ที่ใช้วิธีคำนวณเฉลี่ยให้ข้างขึ้นเต็ม ๑๕ วันเสมอไป ส่วนข้างแรม เดือนคู่มี ๑๕ วัน เดือนคี่เรียกว่าเดือนขาดมี ๑๔ วัน สลับกันไป (แม้จะคำนวณด้วยวิธีที่พิเศษออกไป แต่วันเดือนเพ็ญเดือนดับที่ตรงกันก็มาก ที่คลาดกันก็เพียงวันเดียว); ปักขคณนา นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงค้นคิดวิธีคำนวณขึ้นใช้ในพระสงฆ์คณะธรรมยุต เพื่อเป็นเครื่องกำหนดวันสำหรับพระสงฆ์ทำอุโบสถ และสำหรับอุบาสกอุบาสิการักษาอุโบสถศีลฟังธรรมเป็นข้อปฏิบัติของคณะธรรมยุตสืบมา
ปักษคณนา : การนับปักษ์, วิธีคำนวณดิถีตามปักษ์ คือ คำนวณหาวันขึ้นแรมกี่ค่ำๆ ให้แม่นยำ ตรงตามการโคจรของดวงจันทร์อย่างแท้จริง เฉพาะอย่างยิ่งมุ่งให้ได้วันพระจันทร์เต็มดวงหรือวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ) วันพระจันทร์ดับ หรือวันดับ (แรม ๑๔-๑๕ ค่ำ) และวันพระจันทร์กึ่งดวง (ขึ้น ๘ ค่ำ และ แรม ๘ ค่ำ) ตรงกับวันที่ดวงจันทร์เป็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งบางเดือนข้างขึ้นอาจมีเพียง ๑๔ วัน (วันเพ็ญ เมื่อขึ้น ๑๔ ค่ำ) ก็มีข้างแรมอาจมีเต็ม ๑๕ วันติดต่อกัน หลายเดือนก็มี ต้องตรวจดูเป็นปักษ์ๆ ไป จึงใช้คำว่าปักษ์ถ้วน ปักษ์ขาดไม่ใช่เพียงเดือนเต็ม เดือนขาด เป็นวิธีคำนวณที่สลับซับซ้อน ต่างจากปฏิทินหลวง หรือปฏิทินของราชการ ที่ใช้วิธีคำนวณเฉลี่ยให้ข้างขึ้นเต็ม ๑๕ วันเสมอไป ส่วนข้างแรม เดือนคู่มี ๑๕ วัน เดือนคี่เรียกว่าเดือนขาดมี ๑๔ วัน สลับกันไป (แม้จะคำนวณด้วยวิธีที่พิเศษออกไป แต่วันเดือนเพ็ญเดือนดับที่ตรงกันก็มาก ที่คลาดกันก็เพียงวันเดียว); ปักขคณนา นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงค้นคิดวิธีคำนวณขึ้นใช้ในพระสงฆ์คณะธรรมยุต เพื่อเป็นเครื่องกำหนดวันสำหรับพระสงฆ์ทำอุโบสถ และสำหรับอุบาสกอุบาสิการักษาอุโบสถศีลฟังธรรมเป็นข้อปฏิบัติของคณะธรรมยุตสืบมา
วิศาขปุรณมี : วันเพ็ญเดือน ๖, ดิถีมีพระจันทร์เต็มดวง ประกอบด้วยวิศาขฤกษ์ (วิศาขนักษัตร)
อธิกวาร : วันที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ (คือในปีนั้น เติมให้เดือนเจ็ดเป็นเดือนเต็ม มี ๓๐ วัน)
ปฐมกัตติกมาส : เดือน ๑๑; ปุพพกัตติกา หรือ บุพกัตติกา ก็เรียก
ปุสสมาส : เดือน ๒, เดือนยี่
มาคสิรมาส : เดือน ๑, เดือนอ้าย
อัสสยุชมาส : เดือน ๑๑; ปุพพกัตติกา หรือ บุพกัตติกา ก็เรียก
กัตติกมาส : เดือน ๑๒
จิตตมาส : เดือน ๕
เชฏฐมาส : เดือน ๗
เพ็ญ : เต็ม หมายถึง พระจันทร์เต็มดวง คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ
ภัททปทมาส : เดือน ๑๐ เรียกง่ายว่า ภัทรบท
มาฆมาส : เดือน ๓
วิสาขมาส : เดือน ๖
เวสาขมาส : เดือน ๖
สาวนมาส : เดือน ๙
สาวนะ : เดือน ๙
อธิกมาส : เดือนที่เพิ่มขึ้นตามจันทรคติ (คือในปีนั้นมีเดือน ๘ สองหน รวมเป็น ๑๓ เดือน)
อาสาฬหะ : เดือน ๘ ทางจันทรคติ
บอกวัตร : บอกข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เมื่อทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว ภิกษุรูปเดียวเป็นผู้บอก อาจใช้วิธีหมุนเวียนกันไปทีละรูป ข้อความที่บอกว่าเป็นภาษาบาลี กล่าวถึงปฏิบัติบูชา คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ คุณานิสงส์แห่งขันติธรรม คำเตือนให้ใส่ใจในธรรมในเมื่อได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ความไม่ประมาท เร่งเพียรพยายามในทางธรรมเพื่อน้อมไปสู่พระนิพพาน และพ้นจากทุคติ แล้วกล่าวถึงพุทธกิจประจำวัน ๕ ประการ ลำดับกาลใจพระพุทธประวัติ สิ่งแทนพระองค์ภายหลังพุทธปรินิพพาน ชื่อ วัน เดือน ปี และดาวนักษัตร ๒๗ จบลงด้วยคำเชื้อเชิญให้ตั้งอยู่ในพระพุทธโอวาท บำเพ็ญปฏิบัติบูชา เพื่อบรรลุสมบัติทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ; ธรรมเนียมนี้ บัดนี้ เลือนลางไปแล้ว
ปวารณา : 1. ยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ข้อ 2.ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน, ชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่าวันมหาปวารณา โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือน ได้ดังนี้ “สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ, ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา; วทนฺตุ มํ, อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย; ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ. ทุติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ,..... ตติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ,.......” แปลวว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณกะสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ยินก็ตาม ด้วยน่าระแวงสงสัยก็ตาม, ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงว่ากล่าวกะข้าพเจ้าด้วยอาศัยความหวังดี, เอ็นดู, เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น จักแก้ไขแม้ครั้งที่สอง.........แม้ครั้งที่สาม.......” (ภิกษุผู้มีพรรษาสูงสุดในที่ประชุมว่า อาวุโส แทน ภนฺเต)
กฐิน : ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร; ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้ และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ) ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔); ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ); สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป; ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
กัตติกา : 1.ดาวลูกไก่ 2.เดือน ๑๒ ตามจันทรคติ ตกในราวปลายเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน
จันทรคติ : การนับวันโดยถือเอาการเดินของพระจันทร์เป็นหลัก เช่น ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ และเดือนอ้าย เดือนยี่ เดือน ๓ เป็นต้น คู่กับ สุริยคติ
จำพรรษา : อยู่ประจำวัด ๓ เดือนในฤดูฝน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (อย่างนี้เรียกปุริมพรรษา แปลว่า พรรษาต้น) หรือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ (อย่างนี้เรียก ปัจฉิมพรรษา แปลว่า พรรษาหลัง); วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ เรียกว่า ปุริมิกา วัสสูปนายิกา, วันเข้าพรรษาหลัง คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ เรียกว่า ปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา ; คำอธิษฐานพรรษา ว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ ; ทุติยมฺปี อิมสฺมึ....; ตติยมฺปิ อิมสฺมึ....แปลว่า ข้าพเจ้าเข้าอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในวัดนี้ (วิหาเร จะเปลี่ยนเป็น อาวาเส ก็ได้) ; อานิสงส์การจำพรรษามี ๕ อย่าง คือ ๑.เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ๒.จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ ๓.ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้ ๔.เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา ๕.จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ อานิสงส์ทั้ง ๕ นี้ได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่ง นับแต่ออกพรรษาแล้ว คือ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ นอกจากนั้นยังได้สิทธิที่จะกรานกฐิน และได้รับอานิสงส์ ๕ นั้น ต่อออกไปอีก ๔ เดือน (ภิกษุผู้เข้าพรรษาแล้วหลัง ไม่ได้อานิสงส์หรือสิทธิพิเศษเหล่านี้)
จีวรกาลสมัย : สมัยหรือคราวที่เป็นฤดูถวายจีวร; งวดหนึ่ง สำหรับภิกษุที่มิได้กรานกฐิน ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ ถึง เพ็ญเดือน ๑๒ (คือเดือนเดียว), อีกงวดหนึ่ง สำหรับภิกษุที่ได้กรานกฐินแล้ว ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ ไปจนหมดฤดูหนาวคือถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ (รวม ๕ เดือน)
จูฬปันถกะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง ในอสีติมหาสาวก เป็นบุตรของธิดาเศรษฐีกรุงราชคฤห์ และเป็นน้องชายของมหาปันถกะ ออกบวชในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่ามีปัญญาทึบอย่างยิ่ง พี่ชายมอบถาคาเพียง ๑ คาถาให้ ท่องตลอดเวลา ๔ เดือน ก็ท่องไม่ได้จึงถูกพี่ชายขับไล่ เสียใจคิดจะสึก พอดีพอพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสปลอบแล้วประทานผ้าขาวบริสุทธิ์ให้ไปลูบคลำพร้อมทั้งบริกรรมสั้นๆ ว่า “รโชหรณํ ๆๆ” ผ้านั้นหมองเพราะมือคลำอยู่เสมอ ทำให้มองเห็นไตรลักษณ์และได้สำเร็จพระอรหัต ท่านมีความชำนาญ แคล่วคล่อง ในอภิญญา ๖ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ฉลาดในเจโตวิวัฏฏ์; ชื่อท่านเรียกว่าง่ายๆ ว่าจูฬบันถก, บางแห่งเขียนเป็นจุลลบันถก
ติตถิยปริวาส : วิธีอยู่กรรมสำหรับเดียรถีย์ที่ขอบวชในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ นักบวชในลัทธิศาสนาอื่น หากปรารถนาจะบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา จะต้องประพฤติปริวาสก่อน ๔ เดือน หรือจนกว่าพระสงฆ์พอใจ จึงจะอุปสมบทได้
ไตรมาส : ๓ เดือน
ถ้วนทศมาศ : ครบ ๑๐ เดือน
ทศมาส : ๑๐ เดือน
เทโวโรหณะ : “การลงจากเทวโลก” หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ตำนานเล่าว่าในพรรษาที่ ๗ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับจำพรรษาในดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาพร้อมทั้งหมู่เทพ ณ ที่นั้น เมื่อถึงเวลาออกพรรษาในวันมหาปวารณา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลับคืนสู่โลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะ โดยมีเทวดาและมหาพรหมทั้งหลายแวดล้อม ลงมาส่งเสด็จ ฝูงชนจำนวนมากมายก็ได้ไปคอยรับเสด็จ กระทำมหาบูชาเป็นการเอิกเกริกมโหฬารและพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม มีผู้บรรลุคุณวิเศษจำนวนมาก ชาวพุทธในภายหลังได้ปรารภเหตุการณ์พิเศษครั้งนี้ ถือเป็นกาลกำหนดสำหรับบำเพ็ญการกุศล ทำบุญตักบาตรคราวใหญ่แด่พระสงฆ์ เป็นประเพณีนิยมสืบมา ดังปรากฏในประเทศไทย เรียกกันว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า ตักบาตรเทโว บางวัดก็จัดพิธีในวันออกพรรษา คือวันมหาปวารณา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดจัดถัดจากนั้น ๑ วัน คือในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร : “พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป”, พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรมเป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากนั้น ตรัสรู้ ๒ เดือน ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุด ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิภาณว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม) ท่านโกณฑัญญะหัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก เรียกว่า เป็นปฐมสาวก
นาลกะ : 1.หลานชายของอสิตดาบส ออกบวชตามคำแนะนำของลุง และไปบำเพ็ญสมณธรรมรอการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอยู่ในป่าหิมพานต์ ครั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มาทูลถามเรื่องโมไนยปฏิปทา และกลับไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าหิมพานต์ ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ดำรงอายุอยู่อีก ๗ เดือน ก็ปรินิพพานในป่าหิมพานต์นั้นเอง; ท่านจัดเป็นมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวกด้วย 2.ชื่อหมู่บ้านอันเป็นที่เกิดของพระสารีบุตรไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ บางทีเรียกนาลันทคาม
บอกศักราช : เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยแต่โบราณ มีการบอกกาลเวลา เรียกว่าบอกศักราช ตอนท้ายสวดมนต์ และก่อนจะแสดงพระธรรมเทศนา (หลังจากให้ศีลจบแล้ว) ว่าทั้งภาษาบาลีและคำแปลภาษาไทย การบอกอย่างเก่า บอกปี ฤดู เดือน วัน ทั้งที่เป็นปัจจุบัน อดีต และอนาคต คือบอกว่าล่วงไปแล้วเท่าใด และยังจะมีมาอีกเท่าใด จึงจะครบจำนวนอายุพระพุทธศาสนา๕พันปี แต่ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๔ ที่รัฐบาลประกาศใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้นมา ได้มีวิธีบอกศักราชอย่างใหม่ขึ้นใช้แทน บอกเฉพาะปี พ.ศ.เดือน วันที่ และวันในปัจจุบัน ทั้งบาลีและคำแปล บัดนี้ไม่นิยมกันแล้ว คงเป็นเพราะมีปฏิทินและเครื่องบอกเวลาอย่างอื่น ใช้กันดื่นทั่วไป
ใบฎีกา : 1.หนังสือนิมนต์พระ ตัวอย่าง “ขออาราธนาพระคุณเจ้า (พร้อมด้วยพระสงฆ์ในวัดนี้อีก......รูป) เจริญพระพุทธมนต์ (หรือสวดมนต์ หรือแสดงพระธรรมเทศนา) ในงาน.....บ้าน เลขที่.......ตำบล.......อำเภอ.......ในวันที่......เดือน.......พ.ศ........เวลา......น.” (หากจะอาราธนาให้รับอาหารบิณฑบาตเช้าหรือเพลหรือมีการตักบาตรใช้ปิ่นโต ก็ให้ระบุไว้ด้วย) 2.ตำแหน่งพระฐานานุกรมรองจากสมุห์ลงมา
ปฐมเทศนา : เทศนาครั้งแรก หมายถึง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากวันตรัสรู้ ๒ เดือน ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
ปลงอายุสังขาร : “สลัดลงซึ่งปัจจัยเครื่องปรุงแต่งอายุ”, ตกลงใจกำหนดการสิ้นสุดอายุ, ตกลงพระทัยว่าจะปรินิพพาน, กำหนดพระทัยเกี่ยวกับการที่จะปรินิพพาน (ก่อนปรินิพพาน ๓ เดือน)
ปัจฉิมิกา : วันเข้าพรรษาหลัง ได้แก่ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙; อีกนัยหนึ่งท่านสันนิษฐานว่า เป็นวันเข้าพรรษาในปีที่มีอธิกมาส (เดือน ๘ สองหน) เทียบ ปุริมิกา
ปาวาลเจดีย์ : ชื่อเจดียสถานอยู่ที่เมืองเวสาลี พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาส ครั้งสุดท้ายและทรงปลงพระชนมายุสังขาร ณ เจดีย์นี้ก่อนปรินิพพาน ๓ เดือน
ปุริมพรรษา : พรรษาต้น เริ่มแต่วันแรมค่ำหนึ่งเดือนแปด ในปีที่ไม่มีอธิกมาสเป็นต้นไป เป็นเวลา ๓ เดือน คือ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑
ปุริมิกา : วันเข้าพรรษาต้น ได้แก่วันแรมค่ำหนึ่ง เดือน ๘ เทียบ ปัจฉิมิกา
ผ้าอาบน้ำฝน : ผ้าสำหรับอธิษฐานไว้ใช้นุ่งอาบนำฝนตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน ซึ่งพระภิกษุจะแสวงหาได้ในระยะเวลา ๑ เดือน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ และให้ทำนุ่งได้ในเวลากึ่งเดือน ตั้งแต่ขึ้น ๑ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปัจจุบันมีประเพณีทายกทายิกาทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝนตามวัดต่างๆ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘; เรียกเป็นคำศัพท์ว่า วัสสิกสาฏิกา หรือ วัสสิกสาฏก; คำถวายผ้าอาบน้ำฝนเหมือนคำถวายผ้าป่า เปลี่ยนแต่ ปํสุกูลจีวรานิ เป็น วสฺสิกสาฏิกานิ และผ้าบังสุกุลจีวร เป็นผ้าอาบน้ำฝน
มหาสุบิน : ความฝันอันยิ่งใหญ่, ความฝันครั้งสำคัญ หมายถึงความฝัน ๕ เรื่อง (ปัญจมหาสุบิน) ของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระอรรถกถาจารย์ระบุว่าทรงพระสุบินในคืนก่อนตรัสรู้ คือ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖) ดังตรัสไว้ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระสุตตันตปิฎก
มาฆบูชา : การบูชาใหญ่ในวันเพ็ญ เดือน ๓ ในโอกาสคล้ายวันประชุมใหญ่แห่งพระสาวก ซึ่งเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ณ พระเวฬุวัน หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ที่พระองค์ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ (การปลงพระชนมายุสังขาร ก็ตรงในวันนี้)
วิสาขปุรณมี :
วันเพ็ญเดือน ๖, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ดู วิศาขปุรณมี