ทวารหนัก : ช่องอุจจาระ
กรรม ๑๒ : กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ ๑๒ อย่างคือ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่ ๑.ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้ ๒.อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า ๓.อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆไป ๔.อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ ได้แก่ ๕.ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ๖.อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือเข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม ๗.อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาบางหรือสั้นเข้า ๘.อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรม ๒ อย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล ได้แก่ ๙.ครุกกรรม กรรมหนัก ให้ผลก่อน ๑๐.พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองลงมา ๑๑.อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น ๑๒.กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล
ขราพาธ : อาพาธหนัก, ป่วยหนัก
ขันติ : ความอดทน คือ ทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเจ็บใจ, ความหนักเอาเบาสู้ เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีงาม
ครุ : เสียงหนัก ได้แก่ ทีฆสระ คือ อา อี อู เอ โอ และสระที่มีพยัญชนะสะกด ซึ่งเรียกว่า สังโยค เช่น พุทฺโธ โลเก อุปฺปนฺโน
ครุกรรม : กรรมหนักทั้งที่เป็นกุสลและอกุศล ในฝ่ายกุศลได้แก่ฌานสมาบัติในฝ่ายอกุศลได้แก่อนันตริยกรรม กรรมนี้ให้ผลก่อนกรรมอื่นเหมือนคนอยู่บนที่สูงเอาวัตถุต่างๆ ทิ้งลงมาอย่างไหนหนักที่สุด อย่างนั้นถึงพื้นก่อน
ครุกาบัติ : อาบัติหนัก ได้แก่อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ ภิกษุต้องแล้วจำต้องสึกเสีย และอาบัติสังฆาทิเสส อยู่กรรมจึงจะพ้นได้
ครุธรรม : ธรรมอันหนัก, หลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ ๑.ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว ๒.ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้ ๓.ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน ๔.ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจหมายถึง ระแวงสงสัยหรือประพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง) ๕.ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน ๖.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา ๗.ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ ๘.ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุแต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้
ครุภัณฑ์ : ของหนัก เช่น กุฎี ที่ดิน เตียง ตั่ง เป็นต้น (คู่กับ ลหุภัณฑ์)
จริต : ความประพฤติ, พื้นนิสัย หรือพื้นเพแห่งจิตของคนทั้งหลายที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง แตกต่างกันไปคือ ๑.ราคจริต ผู้มีจาคะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจ) ๒.โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด) ๓.โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางเหงาซึม งมงาย) ๔.สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางน้อมใจเชื่อ) ๕.พุทธิจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดพิจารณา) ๖.วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน)
ญาณจริต : คนที่มีพื้นนิสัยหนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วย แนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ (เป็นอีกชื่อหนึ่งของพุทธจริต)
โทสจริต : คนมีพื้นนิสัยหนักในโทสะ หงุดหงิด โกรธง่าย แก้ด้วยเจริญเมตตา (ข้อ ๒ ในจริต ๖)
ธิติ : 1.ความเพียร, ความเข้มแข็งมั่นคง, ความหนักแน่น, ความอดทน 2.ปัญญา
ปฏาจารา : พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาเศรษฐีในพระนครสาวัตถีได้รับวิปโยคทุกข์อย่างหนักเพราะสามีตาย ลูกตาย พ่อแม่พี่น้องตายหมด ในเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีและติดต่อกัน ถึงกับเสียติดปล่อยผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ย เดินบ่นเพ้อไปในที่ต่างๆ จนถึงพระเชตวัน พระศาสดาทรงแผ่พระเมตตา เปล่งพระวาจาให้นางกลับได้สติ แล้วแสดงพระธรรมเทศนา นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผล บวชเป็นพระภิกษุณี ไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทรงพระวินัย
ประเคน : ส่งของถวายพระภายในหัตถบาส, ส่งให้ถึงมือ; องค์แห่งการประเคนมี ๕ คือ ๑.ของไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป พอคนปานกลางคนเดียวยกได้ ๒.ผู้ประเคนเข้ามาอยู่ในหัตถบาส คือห่างประมาณศอกหนึ่ง ๓.เข้าน้อมของนั้นเข้ามาให้ ๔.น้อมให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือโยนให้ก็ได้ ๕.ภิกษุรับด้วยกาย ก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้ (ถ้าผู้หญิงประเคน ใช้ผ้ากราบหรือผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดรับ)
ปละ : (ปะละ) ชื่อมาตราสำหรับชั่งน้ำหนักประมาณ ๕ ชั่ง
ปาราชิก : เป็นชื่ออาบัติหนักที่ภิกษุต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ, เป็นชื่อบุคคลผู้ที่พ่ายแพ้ คือ ต้องอาบัติปาราชิกที่ทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ, เป็นชื่อสิกขาบท ที่ปรับอาบัติหนักขั้นขาดจากความเป็นภิกษุมี ๔ อย่าง คือ เสพเมถุน ลักของเขา ฆ่ามนุษย์ อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน
พุทธิจริต : พื้นนิสัยที่หนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วยแนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ (ข้อ ๕ ใน จริต ๖)
ภคันทลา : โรคริดสีดวงทวารหนัก
ภาระ : “สิ่งที่ต้องนำพา”, ธุระหนัก, การงานที่หนัก, หน้าที่ที่ต้องรับเอา, เรื่องที่พึงรับผิดชอบ, เรื่องหนักที่จะต้องเอาใจใส่หรือจัดทำ
โภชชยาคู :
ข้าวต้มสำหรับฉันให้อิ่ม เช่น ข้าวต้มหมู เป็นต้น มีคติอย่างเดียวกันกับอาหารหนัก เช่น ข้าวสวยต่างจากยาคูที่กล่าวถึงตามปกติในพระวินัย ซึ่งเป็นของเหลวใช้สำหรับดื่ม ภิกษุรับนิมนต์ในที่แห่งหนึ่งไว้ฉันยาคูไปก่อนไม่ได้ ดู ยาคู
มหันตโทษ : โทษหนัก, โทษอย่างหนัก คู่กับ ลหุโทษ โทษเบา
โมหจริต : พื้นนิสัยที่หนักในโมหะ โง่เขลา งมงาย พึงแก้ด้วยให้มีการเรียน การถาม การฟังธรรม สนทนาธรรม ตามกาล หรืออยู่กับครู (ข้อ ๓ ในจริต ๖)
ยาคู :
ข้าวต้ม, เป็นอาหารเบาสำหรับฉันรองท้องก่อนถึงเวลาฉันอาหารหนักเป็นของเหลว ดื่มได้ ซดได้ ไม่ใช่ของฉันให้อิ่ม เช่น ภิกษุดื่มยาคูก่อนแล้วไปบิณฑบาต ยาคูสามัญอย่างนี้ ที่จริงจะแปลว่าข้าวต้มหาถูกแท้ไม่ แต่แปลกันมาอย่างนั้นพอให้เข้าใจง่ายๆ ข้าวต้มที่ฉันเป็นอาหารมื้อหนึ่งได้อย่างที่ฉันกันอยู่โดยมากมีชื่อเรียกต่างออกไปอีกอย่างหนึ่งว่า ดู โภชชยาคู
ราคจริต : พื้นนิสัยที่หนักในราคะ เช่น รักสวย รักงาม แก้ด้วยเจริญกายคตาสติ หรืออสุภกัมมัฏฐาน (ข้อ ๑ ในจริต ๖)
ลหุโทษ : โทษเบา คู่กับ มหันตโทษ โทษหนัก
วัตถิกรรม : การผูกรัดที่ทวารหนักคือผูกรัดหัวริดสีดวงงอกที่ทวารหนัก ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะหมายถึงการสวนทวารเบาก็ได้
วัตถุสมบัติ : ความถึงพร้อมแห่งวัตถุ, ความสมบูรณ์โดยบุคคลหรือวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการทำสังฆกรรมนั้นๆ มีคุณสมบัติถูกต้อง ทำให้สังฆกรรมใช้ได้ไม่บกพร่องในด้านนี้ เช่น ในการอุปสมบท ผู้ขอบวชเป็นชายมีอายุครบ ๒๐ ปี ไม่เป็นมนุษย์วิบัติเช่นถูกตอน ไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงเช่นฆ่าบิดามารดา ไม่ใช่คนทำความเสียหายในพระพุทธศาสนาอย่างหนัก เช่น ปาราชิก เมื่อบวชคราวก่อน ดังนี้เป็นต้น
วางไว้ทำร้าย : ได้แก่ วางขวาง ฝังหลาวไว้ในหลุมพราง วางของหนักไว้ให้ตกทับ วางยาพิษ เป็นต้น
วาจาชั่วหยาบ :
ในวินัยหมายถึงถ้อยคำพาดพิงทวารหนักทวารเบาและเมถุน ดู ทุฏฐุลลวาจา
วิตกจริต : พื้นนิสัยหนักในทางตรึก, มีวิตกเป็นปกติ, มีปกตินึกพล่านหรือคิดจับจดฟุ้งซ่าน, ผู้มีจริตชนิดนี้พึงแก้ด้วย เพ่งกสิณ หรือเจริญอานาปานสติ
วุฏฐานวิธี : ระเบียบเป็นเครื่องออกจากอาบัติ หมายถึงระเบียบวิธีปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้จะเปลื้องตนจากอาบัติหนักขั้นสังฆาทิเสส, มีทั้งหมด ๔ อย่าง คือ ปริวาส มานัต อัพภาน และปฏิกัสสนา
สังฆาทิเสส : ชื่อหมวดอาบัติหนักรองจากปาราชิก ต้องอยู่กรรมจึงพ้นได้ คือเป็นครุกาบัติ (อาบัติหนัก) แต่ยังเป็นสเตกิจฉา (แก้ไขหรือเยียวยาได้); ตามศัพท์ สังฆาทิเสส แปลว่า หมวดอาบัติอันจำปรารถนาสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลอ, หมายความว่า วิธีการที่จะออกจากอาบัตินี้ ต้องอาศัยสงฆ์ ตั้งแต่ต้นไปจนตลอด กล่าวคือ เริ่มต้นจะอยู่ปริวาส ก็ต้องขอปริวาสจากสงฆ์ ต่อจากนั้น จะประพฤติมานัตก็ต้องอาศัยสงฆ์เป็นผู้ให้ ถ้ามีมูลายปฏิกัสสนาก็ต้องสำเร็จด้วยสงฆ์อีกและท้ายที่สุดก็ต้องขออาภัพภานจากสงฆ์; สิกขาบทที่ภิกษุละเมิดแล้ว จะต้องอาบัติสังฆาทิเสส ใช้เป็นชื่อเรียกสิกขาบท ๑๓ ข้อนี้ด้วย
สัญญมะ : การยับยั้ง, การงดเว้น (จากบาป หรือจากการเบียดเบียน), การบังคับควบคุมตน; ท่านมักอธิบายว่า สัญญมะ ได้แก่ ศีล, บางทีแปลว่า สำรวม เหมือนอย่าง “สังวร”; เพื่อความเข้าใจชัดเจนในเบื้องต้น พึงเทียบความหมายระหว่างข้อธรรม ๓ อย่าง คือ สังวร เน้นความระวังในการรับเข้า คือปิดกั้นสิ่งเสียหายที่จะเข้ามาจากภายนอก สัญญมะ ควบคุมตนในการแสดงออก มิให้เป็นไปเพื่อการเบียดเบียน เป็นต้น ทมะ ฝึกฝนแก้ไขปรับปรุงตน ข่มกำจัดส่วนร้ายและเสริมส่วนที่ดีงามให้ยิ่งขึ้นไป; สังยมะ ก็เขียน
สัทธาจริต : พื้นนิสัยหนักในสัทธา เชื่อง่าย พึงแก้ด้วยปสาทนียกถา คือถ้อยคำที่นำให้เกิดความเลื่อมใสในทางที่ถูก ที่ควร และด้วยความเชื่อที่มีเหตุผล (ข้อ ๔ ในจริต ๖)
อเตกิจฉา : แก้ไขไม่ได้, เยียวยาไม่ได้ หมายถึงอาบัติมีโทษหนักถึงที่สุด ต้องแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ คือ อาบัติปาราชิก คู่กับ สเตกิจฉา
อนันตริยกรรม : กรรมหนัก, กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน, กรรมที่ให้ผลคือ ความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย มี ๕ อย่าง คือ ๑) มาตุฆาต ฆ่ามารดา ๒) ปิตุฆาต ฆ่าบิดา ๓) อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ๔) โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป ๕) สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน
อภิฐาน : ฐานะอย่างหนัก, ความผิดสถานหนัก มี ๖ อย่าง คือ ๑) มาตุฆาต ฆ่ามารดา ๒) ปิตุฆาต ฆ่าบิดา ๓) อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ๔) โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ถึงห้อพระโลหิต ๕) สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน ๖) อัญญสัตถุเทส ถือศาสดาอื่น
อัญญสัตถุเทศ : การถือศาสนาอื่น จัดเป็นความผิดพลาดสถานหนัก (ข้อ ๖ ในอภิฐาน ๖)
อัฏฐารสเภทกรวัตถุ : เรื่องทำความแตกกัน ๑๘ อย่าง, เรื่องที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกแก่สงฆ์ ๑๘ ประการ ท่านจัดเป็น ๙ คู่ (แสดงแต่ฝ่ายคี่) คือ ภิกษุแสดงสิ่งมิใช่ธรรมว่าเป็นธรรม, แสดงสิ่งมิใช่วินัยว่าเป็นวินัย, แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ตรัสว่าได้ตรัส, แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ประพฤติ ว่าได้ประพฤติ, แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้บัญญัติ ว่าได้บัญญัติ, แสดงอาบัติว่ามิใช่อาบัติ, แสดงอาบัติเบาว่าเป็นอาบัติหนัก, แสดงอาบัติมีส่วนเหลือวาเป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ, แสดงอาบัติหยาบคายว่ามิใช่อาบัติหยาบคาย (ฝ่ายคู่ก็ตรงกันข้ามจากนี้ตามลำดับ เช่น แสดงธรรมว่ามิใช่ธรรม, แสดงวินัยว่ามิใช่วินัย ฯลฯ แสดงอาบัติไม่หยาบคาย ว่าเป็นอาบัติหยาบคาย)
อาบัติ : การต้อง, การล่วงละเมิด, โทษที่เกิดแต่การละเมิดสิกขาบท; อาบัติ ๗ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต; อาบัติ ๗ กองนี้จัดรวมเป็นประเภทได้หลายอย่าง โดยมากจัดเป็น ๒ เช่น ๑) ครุกาบัติ อาบัติหนัก (ปาราชิกและสังฆาทิเสส) ๒) ลหุกาบัติ อาบัติเบา (อาบัติ ๕ อย่างที่เหลือ); คู่ต่อไปนี้ก็เหมือนกัน คือ ๑) ทุฏฐลลาบัติ อาบัติไม่ชั่วหยาบ; ๑) อเทสนนาคามินี อาบัติที่ไม่พ้นได้ด้วยการแสดง ๒) เทสนาคามินี อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดงคือเปิดเผยความผิดของตน; คู่ต่อไปนี้จัดต่างออกไปอีกแบบหนึ่งตรงกันทั้งหมด คือ ๑) อเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขไม่ได้ (ปาราชิก) ๒) สเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขได้ (อาบัติ ๖ อย่างที่เหลือ); ๑) อนวเสส ไม่มีส่วนเหลือ ๒) สาวเสส ยังมีส่วนเหลือ; ๑) อัปปฏิกัมม์หรืออปฏิกรรม ทำคืนไม่ได้คือแก้ไขไม่ได้ ๒) สัปปฏิกัมม์ หรือ สปฏิกรรม ยังทำคืนได้ คือแก้ไขได้