ดุษณีภาพ : ความเป็นผู้นิ่ง
วิเหสกกรรม : กรรมที่จะพึงกระทำแก่ภิกษุผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก คือ ภิกษุประพฤติอนาจาร สงฆ์เรียกตัวมาถาม นิ่งเฉยเสียไม่ตอบ เรียกว่าเป็นผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก, สงฆ์ยกวิเหสกกรรมขึ้น คือสวดประกาศการที่เธอทำตัวเช่นนั้น ด้วยญัตติทุติยกรรม เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้วเธอยังขืนทำอย่างนั้นอยู่อีก ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๒ ในภูตคามวรรคที่ ๒) คู่กับ อัญญวาทกกรรม
ปาจิตติยุทเทส : หมวดแห่งปาจิตติยสิกขาบท ที่ยกขึ้นแสดง คือ ที่สวดในปาฏิโมกข์
ปาริเลยยกะ : ชื่อแดนบ้านแห่งหนึ่งใกล้เมืองโกสัมพีที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยอยู่ในป่ารักขิตวันด้วยทรงปลีกพระองค์ จากพระสงฆ์ผู้แตกกันในกรุงโกสัมพี; ช้างที่ปฏิบัติพระพุทธเจ้าที่ป่านั้น ก็ชื่อ ปาริเลยยกะ; เราเรียกกันในภาษาไทยว่า ปาเลไลยก์ก็มี ป่าเลไลยก์ ก็มี ควรเขียน ปาริไลยก์ หรือปาเรไลยก์
ปาริสุทธิ : ความบริสุทธิ์ของภิกษุ; เป็นธรรมเนียมว่า ถ้ามีภิกษุอาพาธอยู่ในสีมาเดียวกัน เมื่อถึงวันอุโบสถไม่สามารถไปร่วมประชุมได้ ภิกษุผู้อาพาธต้องมอบปาริสุทธิแก่ภิกษุรูปหนึ่งมาแจ้งแก่สงฆ์ คือให้นำความมาแจ้งแก่สงฆ์ว่าตนมีความบริสุทธิ์ทางพระวินัยไม่มีอาบัติติดค้าง หรือในวันอุโบสถ มีภิกษุอยู่เพียงสองหรือสามรูป (คือเป็นเพียงคณะ) ไม่ครบองค์สงฆ์ที่จะสวดปาฏิโมกข์ได้ ก็ให้ภิกษุสองหรือสามรูปนั้นบอกความบริสุทธิ์แก่กันแทนการสวดปาฏิโมกข์
ปาริสุทธิศีล : ศีลเป็นเครื่องทำให้บริสุทธิ์, ศีลเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ หรือความประพฤติบริสุทธิที่จัดเป็นศีลมี ๔ อย่าง คือ ๑.ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๒.อินทรีย์สังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๓.อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบธรรม ๔.ปัจจัยสันนิสิตศีล พิจารณาก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช
ปาริสุทธิอุโบสถ : อุโบสถที่ภิกษุทำปาริสุทธิ คือแจ้งแต่ความบริสุทธิ์ของกันและกัน ไม่ต้องสวดปาฏิโมกข์ปาริสุทธิอุโบสถนี้ กระทำเมื่อมีภิกษุอยู่ในวัดเพียงเป็นคณะ คือ ๒-๓ รูป ไม่ครบองค์สงฆ์ ๔ รูป
ปาวา : นครหลวงของแคว้นมัลละ คู่กับกุสินารา คือนครหลวงเดิมของแคว้นมัลละชื่อกุสาวดี แต่ภายหลังแยกเป็นกุสินารา กับ ปาวา
ปาตลีบุตร : ชื่อเมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราช; เขียน ปาฏลีบุตร ก็มี
ปาตาละ : นรก, บาดาล (เป็นคำที่พวกพราหมณ์ใช้เรียกนรก)
ปาริจริยานุตตริยะ : การบำเรออันเยี่ยม ได้แก่ การบำรุงรับใช้พระตถาคตและตถาคตสาวกอันประเสริฐกว่า การที่จะบูชาไฟหรือบำรุงบำเรออย่างอื่น เพราะช่วยให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ได้จริง (ข้อ ๕ ในอนุตตริยะ ๖)
ปาริฉัตตก์ : “ต้นทองหลาง”, ชื่อต้นไม้ประจำสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่ในสวนนันทวันของพระอินทร์ ; ปาริฉัตร หรือ ปาริชาต ก็เขียน
ปาริวาสิกขันธกะ : ชื่อขันธกะที่ ๒ แห่งจุลวรรค ในพระวินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องภิกษุอยู่ปริวาส
ปาริวาสิกภิกษุ :
ภิกษุผู้อยู่ปริวาส ดู ปริวาส
ปาริวาสิกวัตร : ธรรมเนียมที่ควรประพฤติของภิกษุผู้อยู่ปริวาส
ปาวาลเจดีย์ : ชื่อเจดียสถานอยู่ที่เมืองเวสาลี พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาส ครั้งสุดท้ายและทรงปลงพระชนมายุสังขาร ณ เจดีย์นี้ก่อนปรินิพพาน ๓ เดือน
ปาสาทิกสูตร : ชื่อสูตรที่ ๖ ในคัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก
จัมปา : ชื่อนครหลวงของแคว้นอังคะตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำจัมปา ไม่ห่างไกลมากนักจากที่บรรจบกับแม่น้ำคงคา
ปิณฑปาติกธุดงค์ : องค์คุณเครื่องขจัดกิเลสแห่งภิกษุเป็นต้น ผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร หมายถึง ปิณฑปาติกังคะ นั่นเอง
สัปปายะ : สิ่ง สถาน หรือบุคคล ซึ่งเป็นที่สบาย เหมาะกัน เกื้อกูล หรือเอื้ออำนวยโดยเฉพาะที่ช่วยเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญและประคับประคองรักษาสมาธิ ท่านแสดงไว้ ๗ อย่าง คือ อาวาส (ที่อยู่) โคจร (ที่บิณฑบาตหรือแหล่งอาหาร) ภัสสะ (เรื่องพูดคุยที่เสริมการปฏิบัติ) บุคคล (ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้วช่วยให้จิตผ่องใสสงบมั่นคง) โภชนะ (อาหาร) อุตุ (สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ) อิริยาบถ; ทั้ง ๗ นี้ที่เหมาะกันเป็นสัปปายะ ที่ไม่สบายเป็นอสัปปายะ
สุทธิกปาจิตติยะ : อาบัติปาจิตตีย์ล้วน คืออาบัติปาจิตตีย์ ที่ไม่ต้องให้เสียสละสิ่งของ มี ๙๒ สิกขาบท ตามปกติเรียกกันเพียงว่า ปาจิตติยะหรือปาจิตตีย์
อาชีวปาริสุทธิ : ความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ คือ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบไม่ประกอบอเนสนา เช่น ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต เป็นต้น (ข้อ ๓ ในปาริสุทธิศีล ๔)
กัปปาสิกะ : ผ้าทำด้วยฝ้าย คือผ้าสามัญ
กายปาคุญญตา : ความคล่องแคล่วแห่งนามกาย, ธรรมชาติทำนามกายคือ เจตสิกทั้งหลายให้แคล่วคล่องว่องไว รวดเร็ว (ข้อ ๑๖ ในโสภณเจตสิก ๒๕)
ขิปปาภิญญา : รู้ฉับพลัน
จิตตปาคุญญตา : ความคล่องแคล้วแห่งจิต, ธรรมชาติที่ทำจิตให้สละสลวย คล่องแคล่วว่องไว (ข้อ ๑๗ ในโสภณเจตสิก ๒๕)
ตัสสาปาปิยสิกากรรม : กรรมอันสงฆ์พึงทำเพราะความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้เลวทราม, กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลยในอนุวาทาธิกรณ์ ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพ พูดถลากไถล พูดกลบเกลื่อนข้อที่ถูกซัก พูดมุสาซึ่งหน้า สงฆ์ทำกรรมนี้แก่เธอเป็นการลงโทษตามความผิดแม้ว่าเธอจะไม่รับ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง
ปิณฑปาติกังคะ : องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คือ ไม่รับนิมนต์หรือลาภพิเศษอย่างอื่นใด ฉันเฉพาะอาหารที่บิณฑบาตมาได้ (ข้อ ๓ ใน ธุดงค์ ๑๓)
รูปารมณ์ : อารมณ์คือรูป, สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา
วินิปาติกะ : ท่านว่าได้แก่พวกเวมานิกเปรต คือ พวกเปรตมีวิมานอยู่ได้เสวยสุขและต้องทุกข์ทรมานเป็นช่วงๆ สลับกันไป มีสุขบ้างทุกข์บางคละระคน
สนฺนิปาติกา อาพาธา : ความเจ็บไข้เกิดจากสันนิบาต (คือประชุมกันแห่งสมุฏฐานทั้ง ๓), ไข้สันนิบาต คือความเจ็บไข้ที่เกิดขึ้นแต่ดี เสมหะ และลม ทั้ง ๓ เจือกัน
สมันตปาสาทิกา : ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในพระวินัยปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์เรียบเรียงขึ้น เมื่อ พ.ศ.ใกล้จะถึง ๑๐๐๐ โดยปรึกษาอรรถกถาภาษาสิงหฬที่มีอยู่ก่อน ชื่อ มหาปัจจริย และกุรุนที
สังวรปาริสุทธิ : ความบริสุทธิ์ด้วยสังวร, ความสำรวมที่เป็นความบริสุทธิ์ หรือเป็นเครื่องทำให้บริสุทธิ์ หมายถึง ศีลที่ประพฤติถูกต้อง เป็นไปเพื่อความไม่มีวิปฏิสาร เป็นต้น ตามลำดับจนถึงพระนิพพาน จัดเป็น อธิศีล
สัมมาปาสะ : “บ่วงคล้องไว้มั่น”, ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชน ด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น (ข้อ ๓ ใน ราชสังคหวัตถุ ๔)
อนุปาทินนกสังขาร : สังขารที่กรรมไม่ยึดครอง แปลกันง่ายๆ ว่า สังขารที่ไม่มีใจครอง เช่น ต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น (ข้อ ๒ ในสังขาร ๒)
อุปาทายรูป :
รูปอาศัย, รูปที่เกิดสืบเนื่องจากมหาภูตรูป, อาการของมหาภูตรูป ตามหลักฝ่ายอภิธรรมว่า มี ๒๔ คือ ก) ประสาท หรือ ปสาทรูป ๕ ได้แก่ จักขุ ตา, โสต หู, ฆาน จมูก, ชิวหา ลิ้น, กาย, มโน ใจ, ข) โคจรรูป หรือ วิสัยรูป (รูปที่เป็นอารมณ์) ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (โผฏฐัพพะ ไม่นับเข้าจำนวน เพราะตรงกับปฐวี เตโช วาโย ซึ่งเป็นมหาภูตรูป) ค) ภาวรูป ๒ ได้แก่ อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง และปุริสภาวะ ความเป็นชาย ง) หทัยรูป ๑ คือ หทัยวัตถุ หัวใจ จ) ชีวิตรูป ๑ คือ ชีวิตินทรีย์ ภาวะที่รักษารูปให้เป็นอยู่ ฉ) อาหารรูป ๑ คือกวฬิงการาหาร อาหารที่กินเกิดเป็นโอชา ช) ปริจเฉทรูป ๑ คือ อากาศธาตุ ช่องว่าง ญ) วิญญัติรูป ๒ คือ กายวิญญัติ ไหวกายให้รู้ความ วจีวิญญัติ ไหววาจาให้รู้ความ คือพูดได้ ฎ) วิการรูป ๕ อาการดัดแปลงต่างๆ ได้แก่ ลหุตา ความเบา, มุทุตา ความอ่อน, กัมมัญญตา ความควรแก่งาน, (อีก ๒ คือ วิญญัติรูป ๒ นั่นเอง ไม่นับอีก) ฏ) ลักขณรูป ๔ ได้แก่ อุปจยะ ความเติบขึ้นได้, สันตติ สืบต่อได้, ชรตา ทรุดโทรมได้, อนิจจตา ความสลายไม่ยั่งยืน (นับโคจรรูปเพียง ๔ วิการรูป เพียง ๓ จึงได้ ๒๔); ดู มหาภูต ด้วย
อุปาทินนกสังขาร : สังขารที่กรรมครอบครอง พูดเข้าใจกันอย่างง่ายๆ ว่า สังขารที่มีใจครอง เช่น คน สัตว์ เทวดา (ข้อ ๑ ในสังขาร ๒)
อุปาลิปัญจะ : ชื่อตอนหนึ่งในคัมภีร์บริวาร พระวินัยปิฎก
อุปาลิวงศ์ : ชื่อนิกายพระสงฆ์ลังกาที่บวชจากพระสงฆ์สยาม (พระอุบาลีเป็นหัวหน้า นำคณะสงฆ์ไทยไปอุปสมบทกุลบุตรในประเทศลังกา เมื่อพ) ศ) ๒๒๙๖ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ สมัยอยุธยาตอนปลาย)
อุปาสกัตตเทสนา : การแสดงความเป็นอุบาสก คือ ประกาศตนเป็นอุบาสก โดยถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
โอปปาติกะ : สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ เกิดผุดขึ้นมาและโตเต็มตัวในทันใด ตายก็ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ เช่น เทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น (ข้อ ๔ ในโยนิ ๔); บาลีว่า รวมทั้งมนุษย์บางพวก
กล่าวคำอื่น : ในประโยคว่า เป็นปาจิตติยะ ในเพราะความเป็นผู้กล่าวคำอื่น ถูกซักอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ไม่ปรารถนาจะให้การตามตรง เอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนเสีย
กัณฑกสามเณร : ชื่อสามเณรรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล ผู้กล่าวตู่พระธรรมเป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งสัปปาณกวรรคในปาจิตติยกัณฑ์ และทรงให้สงฆ์นาสนะเธอเสีย เขียนเป็น กัณฏกะ ก็มี
กุมารีภูตวรรค : ชื่อหมวดในพระวินัยปิฎก หมายถึงตอนอันว่าด้วยกุมารีภูตา คือสามเณรีผู้เตรียมจะอุปสมบทเป็นภิกษุณี มีอยู่ในปาจิตติยกัณฑ์ ในภิกขุนีวิภังค์
กุสินารา : เมืองหลวงแห่งหนึ่งของแคว้นมัลละ (อีกแห่งหนึ่งคือ ปาวา) สมัยพุทธกาล กุสินารา เป็นเมืองเล็กๆ มีมัลลกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองนี้
เก็บวัตร : โวหารเรียกวินัยกรรมเกี่ยวกับวุฏฐานวิธีอย่างหนึ่ง คือ เมื่อภิกษุต้องครุกาบัติขั้นสังฆาทิเสสกำลังอยู่ปริวาส ยังไม่ครบเวลาที่ปกปิดอาบัติไว้ก็ดี กำลังประพฤติมานัตยังไม่ครบ ๖ ราตรีก็ดี เมื่อมีเหตุอันสมควร ก็ไม่ต้องประพฤติติดต่อกันเป็นรวดเดียว พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ทำผ้าห่มเฉวียงบ่า นั่งกระหย่ง ประณมมือ ถ้าเก็บปริวาสพึงกล่าวว่า ปริวาสํ นิกฺขิปามิ แปลว่า ข้าพเจ้าเก็บปริวาส หรือว่า วตฺตํ นิกฺขิปามิ แปลว่า ข้าพเจ้าเก็บวัตร ว่าคำใดคำหนึ่ง ก็เป็นอันพักปริวาส ; ถ้าเก็บมานัต พึงกล่าวว่า มานตฺตํ นิกฺขิปามิ แปลว่า ข้าพเจ้าเก็บมานัต หรือว่า วตฺตํ นิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าเก็บวัตร ดังนี้ ว่าคำใดคำหนึ่งก็เป็นอันพักมานัต ต่อไปเมื่อมีโอกาสก็ให้สมาทานวัตรใหม่ได้อีก
โกสัมพิกขันธกะ : ชื่อขันธกะที่ ๑๐ (สุดท้าย) แห่งคัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎกว่าด้วยเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะวิวาทกัน จนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาในป่ารักขิตวัน ตำบลปาริไลยกะ ในที่สุด พระภิกษุเหล่านั้น ถูกมหาชนบีบคั้นให้ต้องกลับปรองดองกัน บังเกิดสังฆสามัคคีอีกครั้งหนึ่ง