คาวุต :
ซื่อมาตราวัดระยะทางเท่ากับ ๘๐ อุสภะ หรือ ๑๐๐ เส้น (๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์) ดู มาตรา
โยชน์ : ชื่อมาตราวัดระยะทาง เท่ากับ ๔ คาวุต หรือ ๔๐๐ เส้น
เสนาสนะป่า : เสนาสนะอันอยู่ไกลจากบ้านคนอย่างน้อย ๒๕ เส้น
อนุพยัญชนะ :
ลักษณะน้อยๆ, พระลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ (นอกเหนือจากมหาบุรุษลักษณะ ๓๒) อีก ๘๐ ประการ คือ ๑) มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม, ๒) นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไป โดยลำดับแต่ต้นจนปลาย, ๓) นิ้วพระหัตถ์ แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี, ๔) พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง, ๕) พระนขาทั้ง ๒๐ นั้น งอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง, ๖) พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลม สนิทมิได้เป็นริ้วรอย, ๗) ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก, ๘) พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา, ๙) พระดำเนินงานดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ, ๑๐) พระดำเนินงามดุจสีหราช, ๑๑) พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์, ๑๒) พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน, ๑๓) ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน, ๑๔) พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก, ๑๕) มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี ๑๖) พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง, ๑๗) พระอุทรมีสัณฐานอันลึก, ๑๘) ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ, ๑๙) ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี, ๒๐) ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี, ๒๑) พระอังคาพยใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้, ๒๒) พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งประสรีรกาย, ๒๓) พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง ๒๔) พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง, ๒๕) พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง, ๒๖) พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง, ๒๗) ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ, ๒๘) มีพระนาสิกอันสูง, ๒๙) สัณฐานนาสิกงามแฉล้ม ๓๐) มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก, ๓๑) พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน, ๓๒) พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์, ๓๓) พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย, ๓๔) พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น, ๓๕) พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์, ๓๖) ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย ๓๗) พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน, ๓๘) ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก, ๓๙) ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว ๔๐) ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด ๔๑) ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง, ๔๒) รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ ๔๓) กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์ ๔๔) กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน ๔๕) ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ๔๖) ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด ๔๗) พระชิวหามีสัณฐานอันงาม ๔๘) พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้างมีพรรณอันแดงเข้ม ๔๙) พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ ๕๐) ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม ๕๑) ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง ๕๒) แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง ๕๓) พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว ๕๔) ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน ๕๕) พระนลาฏมีสัณฐานอันงาม ๕๖) พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้ ๕๗) พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด ๕๘) เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ ๕๙) พระโขนงนั้นใหญ่ ๖๐) พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร ๖๑) ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๒) พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ ๖๓) พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ๖๔) พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ ๖๕) พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย ๖๖) กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา ๖๗) พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น ๖๘) พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๙) ลมอัสสาสะและปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด ๗๐) พระโอษฐมีสัณฐานอันงามดุจแย้ม ๗๑) กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล ๗๒) พระเกสาดำเป็นแสง ๗๓) กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ ๗๔) พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ ๗๕) พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น ๗๖) พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น ๗๗) พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด ๗๘) เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง ๗๙) เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏทุกๆ เส้น ๘๐) วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ฯ นิยมเรียกว่า อสีตยานุพยัญชนะ; ดู มหาบุรุษลักษณะ
อารัญญิกังคะ : องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร คือ ไม่อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน แต่อยู่ป่าห่างจากบ้านอย่างน้อย ๒๕ เส้น (ข้อ ๘ ในธุดงค์ ๑๓)
กุสิ : เส้นคั่นดุจคันนายืนระหว่างขัณฑ์กับขัณฑ์ของจีวร
อัฑฐกุสิ : เส้นคั่นดุจคันนาขวางระหว่างขันฑ์กับขันฑ์ของจีวร, เทียบ กุสิ
กันดาร : อัตคัด, ฝืดเคือง, หายจาก, ลำบาก, แห้งแล้ง, ทางที่ผ่านไปยาก
โขมะ : ผ้าทำด้วยเปลือกไม้ ใช้เปลือกไม้ทุกเอาแต่เส้น แล้วนำเส้นนั้นมาทอเป็นผ้า
ปัญจาละ : ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของแคว้น กุรุ มีแม่น้ำภาคีรถีซึ่งเป็นแควหนึ่งของแม่น้ำคงคาตอนบนไหลผ่าน นครหลวงชื่อกัมปิลละ
ภพหลัง : โลกที่สัตว์เกิดมาแล้วในชาติที่ผ่านมา, ภพก่อน, ชาติก่อน ตรงข้ามกับภพหน้า
มหาวิหาร : ชื่อวัดสำคัญวัดหนึ่ง เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ในประเทศลังกาสมัยอดีต เคยเป็นที่พำนักของพระพุทธโฆษาจารย์ชาวชมพูทวีปเมื่อครั้งท่านมาแปลคัมภีร์สิงหฬเป็นมคธ
มัชฌิมชนมบท : ประเทศที่ตั้งอยู่ในท่ามกลาง, ถิ่นกลางเป็นอาณาเขตที่กำหนดว่า มีความเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนหนาแน่น มีเศรษฐกิจดี เป็นศูนย์กลางแห่งการค้าขาย เป็นที่อยู่แห่งนักปราชญ์ผู้มีวิชาความรู้ เป็นที่รวมของการศึกษา เป็นต้น กำหนดเขต ทิศบูรพา ภายในนับแต่มหาศาลนครเข้ามา อาคเนย์ นักแต่แม่น้ำสัลลวดีเข้ามา ทักษิณ นับแต่เสตกัณณิกนิคมเข้ามา ปัจจิม นับแต่ถูกคามเข้ามา อุดร นับแต่ภูเขาอุสีรธชะเข้ามา นอกจากนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท หรือ ปัจจันตประเทศ
มัชฌิมประเทศ : ประเทศที่ตั้งอยู่ในท่ามกลาง, ถิ่นกลางเป็นอาณาเขตที่กำหนดว่า มีความเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนหนาแน่น มีเศรษฐกิจดี เป็นศูนย์กลางแห่งการค้าขาย เป็นที่อยู่แห่งนักปราชญ์ผู้มีวิชาความรู้ เป็นที่รวมของการศึกษา เป็นต้น กำหนดเขต ทิศบูรพา ภายในนับแต่มหาศาลนครเข้ามา อาคเนย์ นักแต่แม่น้ำสัลลวดีเข้ามา ทักษิณ นับแต่เสตกัณณิกนิคมเข้ามา ปัจจิม นับแต่ถูกคามเข้ามา อุดร นับแต่ภูเขาอุสีรธชะเข้ามา นอกจากนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท หรือ ปัจจันตประเทศ
เมรุ : 1.ชื่อภูเขาที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล บางทีเรียกพระสุเมรุ ตามคติของศาสนาฮินดู ถือว่าเป็นบริเวณที่มีสวรรค์อยู่โดยรอบ เช่น สวรรค์ของพระอินทร์อยู่ทางทิศเหนือ ไวกูณฐ์แดนสถิตของพระวิษณุหรือพระนารายณ์อยู่ทางทิศใต้ ไกลาสที่สถิตของพระศิวะหรืออิศวรก็อยู่ทางทิศใต้เหนือยอดเขาพระสุเมรุนั้น คือ พรหมโลก เป็นที่สถิตของพระพรหม, ภูเขานี้เรียกชื่อเป็นภาษาบาลีว่า สิเนรุ และตามคติฝ่ายพระพุทธศาสนา ในชั้นอรรถกถา ยอดเขาสิเนรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอินทร์ เชิงเขาสิเนรุ ซึ่งหยั่งลึกลงไปในมหาสมุทรเป็นอสูรพิภพ สูงขึ้นไปกึ่งทางระหว่างแดนทั้ง๒นั้น เป็นสวรรค์ของท้าวจาตุมหาราช สวรรค์ชั้นอื่นๆ และโลกมนุษย์ เป็นต้น ก็เรียงรายกันอยู่สูงบ้างต่ำบ้าง รอบเขาสิเนรุนี้ (ในวรรณคดีบาลียุดหลัง เช่น จูฬวงส์ พงศาวดารลังกา เรียก เมรุ และสุเมรุ อย่างสันสกฤตก็มี) 2.ที่เผาศพ หลังคาเป็นยอด มีรั้วล้อมรอบ ซึ่งคงได้คติจากภูเขาเมรุนั้น
โรหิณี : 1.เจ้าหญิงองค์หนึ่งแห่งศากยวงศ์เป็นพระธิดาของพระเจ้าอมิโตทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า เป็นกนิษฐภคินี คือน้องสาวของพระอนุรุทธ ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน 2.ชื่อแม่น้ำที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ระหว่างแคว้นศากยะกับแคว้นโกลิยะ การแย่งกันใช้น้ำในการเกษตรเคยเป็นมูลเหตุให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างแคว้นทั้ง ๒ จนจวนเจียนจะเกิดสงคราม ระหว่างพระญาติ ๒ ฝ่าย พระพุทธเจ้าเสด็จมาระงับศึก จึงสงบลงได้ สันนิษฐานกันว่า เป็นเหตุการณ์ในพรรษาที่ ๕ (บางท่านว่า ๑๔ หรือ ๑๕) แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ และเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางห้ามญาติ; ปัจจุบันเรียก Rowai หรือ Rohwaini
สัญจร : เที่ยวไป, เดินไป, ผ่านไป, ผ่านไปมา, เดินทางกันไปมา
สารนาถ : ชื่อปัจจุบันของอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เคยเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นศูนย์กลางการศึกษาทางพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งมีเจดีย์ใหญ่สูง ๒๐๐ ฟุต ถูกชาวฮินดูทำลายก่อน แล้วถูกนายทัพมุสลิมทำลายสิ้นเชิงใน พ.ศ.๑๗๓๘ (สารนาถมาจาก สารังคนาถ แปลว่า ที่พึ่งของเหล่ากวางเนื้อ)
สาวัตถี : นครหลวงของแคว้นโกศล; แคว้นโกศลตั้งอยู่ระหว่างภูเขาหิมาลัยกับแม่น้ำคงคาตอนกลาง อาณาเขตทิศเหนือจดเทือกเขาเนปาล ทิศตะวันออก จดแคว้นกาสี ต่อกับแคว้นมคธ ทิศใต้และทิศตะวันตกจดแม่น้ำคงคา; พระนครสาวัตถีเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาครั้งพุทธกาลเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุด รวมถึง ๒๕ พรรษา บัดนี้เรียกสะเหต-มะเหต (Sahet-Mahat)
สุคโต : “เสด็จไปดีแล้ว” คือ ทรงมีทางเสด็จที่ดีงามอันได้แก่อริยมรรค, เสด็จไปด้วยดีโดยชอบ กล่าวคือ ทรงดำเนินรุดหน้าไม่หวนกลับคืนมาสู่กิเลสที่ทรงละได้แล้ว ทรงดำเนินสู่ผลสำเร็จไม่ถอยหลัง ไม่กลับตกจากฐานะที่ลุถึงทรงดำเนินในทางอันถูกต้องคือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เฉเชือนไปในทางผิด คือ กามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค เสด็จไปดี เสด็จที่ใดก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่มหาชนในที่นั้น เสด็จไปโดยสวัสดีและนำให้เกิดความสวัสดีแม้แต่พบองคุลิมาลมหาโจรร้าย ก็ทรงกลับใจให้เขากลายเป็นคนดีไม่มีภัยเสด็จผ่านไปแล้วด้วยดี ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจไว้บริบูรณ์ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ เพื่อชาวโลก ให้เป็นเครื่องเผล็ดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งปวงผู้เกิดมาในภายหลัง, ทรงมีพระวาจาดี หรือตรัสโดยชอบ คือ ตรัสแต่คำจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในกาลที่ควรตรัส และแก่บุคคลที่ควรตรัส (ข้อ ๔ ในพุทธคุณ ๙)
อัจเจกจีวร : จีวรรีบร้อน หรือผ้าด่วน หมายถึง ผ้าจำนำพรรษาที่ทายกผู้มีเหตุรีบร้อน ขอถวายก่อนกำหนดเวลาปกติ (กำหนดเวลาปกติสำหรับถวายผ้าจำนำพรรษา คือ จีวรกาลนั่นเอง กล่าวคือ ต้องผ่านวันปวารณาไปแล้ว เริ่มแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ และถ้ากรานกฐินแล้ว นับต่อไปอีกถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔; เหตุรีบร้อนนั้น เช่น เขาจะไปทัพหรือเจ็บไข้ไม่ไว้ใจชีวิต หรือมีศรัทธาเลื่อมใสเกิดขึ้นใหม่) อัจเจกจีวรเช่นนี้ มีพุทธานุญาตให้ภิกษุรับเก็บไว้ได้แต่ต้องรับก่อนวันปวารณาไม่เกิน ๑๐ วัน (คือตั้งแต่ขึ้น ๖ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) (สิกขาบทที่ ๘ แห่งปัตตวรรค นิสสัคคิยปาจิตตีย์)
อัศวเมธ : พิธีเอาม้าบูชายัญ คือปล่อยม้าอุปการให้ผ่านดินแดนต่างๆ เป็นการประกาศอำนาจจนม้านั้นกลับแล้ว เอาม้านั้นฆ่าบูชายัญ เป็นพิธีประกาศอานุภาพของราชาธิราชในอินเดียครั้งโบราณ
อานนท์ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ เป็นโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธิตถะ ท่านออกบวชในพระพุทธศาสนาพร้อมกับอนุรุทธะและอุบาลีเป็นต้น และได้รับเลือกเป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะหลายด้านคือ เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นอุปัฏฐาก ท่านบรรลุพระอรหัตหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน เป็นกำลังสำคัญในคราวทำปฐมสังคายนา คือ เป็นผู้วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนอายุได้ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพานในอากาศ เหนือแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างแคว้นของพระญาติ ๒ ฝ่าย คือ ศากยะและโกลิยะ
อุทริยะ : อาหารใหม่, อาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วอยู่ในท้อง ในลำไส้กำลังผ่านกระบวนการย่อย แต่ยังไม่กลายเป็นอุจจาระ