มหาวิโลกนะ : “การตรวจดูอันยิ่งใหญ่”, ขอตรวจสอบพิจารณาที่สำคัญ หมายถึง สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาตรวจดู ก่อนจะตัดสินพระทัยประทานปฏิญาณรับอาราธนาของเทพยดาทั้งหลาย ว่าจะจุติจากดุสิตเทวโลกไปบังเกิดในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มี๕อย่าง (นิยมเรียกว่า ปัญจมหาวิโลกนะ) คือ ๑.กาล คืออายุกาลของมนุษย์จะต้องอยู่ระหว่าง ๑๐๐ ถึง ๑ แสนปี (ไม่สั้นกว่าร้อยปี ไม่ยาวเกินแสนปี) ๒.ทีปะ คือทวีป จะอุบัติแต่ในชมพูทวีป ๓.เทสะ คือประเทศ หมายถึงดินแดนจะอุบัติในมัธยมประเทศ และทรงกำหนดเมืองกบิลพัสดุ์เป็นที่พึงบังเกิด ๔.กุละ คือ ตระกูล จะอุบัติเฉพาะในขัตติยสกุลหรือในพราหมณสกุล และทรงกำหนดว่าเวลานั้นโลกสมมติว่าตระกูลกษัตริย์ประเสริฐกว่าตระกูลพราหมณ์ จึงจะอุบัติในตระกูลกษัตริย์ โดยทรงเลือกพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพุทธบิดา ๕.ชเนตติอายุปริจเฉท คือมารดา และกำหนดอายุของมารดา มารดาจะต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ไม่โลเลในบุรุษ ไม่เป็นนักดื่มสุรา ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัลป์ ทรงกำหนดได้พระนางมหามายา และทรงทราบว่าพระนางจะมีพระชนม์อยู่เกิน ๑๐ เดือนไปได้ ๗ วัน (สรุปตามแนวอรรถกถาชาดก)
สวรรค์ : แดนอันแสนดีเลิศล้ำด้วยกามคุณทั้ง ๕, โลกของเทวดา ตามปกติหมายถึงกามาพจรสวรรค์ (สวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกาม) ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี
อนุพยัญชนะ :
ลักษณะน้อยๆ, พระลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ (นอกเหนือจากมหาบุรุษลักษณะ ๓๒) อีก ๘๐ ประการ คือ ๑) มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม, ๒) นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไป โดยลำดับแต่ต้นจนปลาย, ๓) นิ้วพระหัตถ์ แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี, ๔) พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง, ๕) พระนขาทั้ง ๒๐ นั้น งอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง, ๖) พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลม สนิทมิได้เป็นริ้วรอย, ๗) ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก, ๘) พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา, ๙) พระดำเนินงานดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ, ๑๐) พระดำเนินงามดุจสีหราช, ๑๑) พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์, ๑๒) พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน, ๑๓) ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน, ๑๔) พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก, ๑๕) มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี ๑๖) พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง, ๑๗) พระอุทรมีสัณฐานอันลึก, ๑๘) ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ, ๑๙) ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี, ๒๐) ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี, ๒๑) พระอังคาพยใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้, ๒๒) พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งประสรีรกาย, ๒๓) พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง ๒๔) พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง, ๒๕) พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง, ๒๖) พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง, ๒๗) ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ, ๒๘) มีพระนาสิกอันสูง, ๒๙) สัณฐานนาสิกงามแฉล้ม ๓๐) มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก, ๓๑) พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน, ๓๒) พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์, ๓๓) พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย, ๓๔) พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น, ๓๕) พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์, ๓๖) ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย ๓๗) พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน, ๓๘) ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก, ๓๙) ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว ๔๐) ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด ๔๑) ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง, ๔๒) รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ ๔๓) กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์ ๔๔) กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน ๔๕) ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ๔๖) ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด ๔๗) พระชิวหามีสัณฐานอันงาม ๔๘) พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้างมีพรรณอันแดงเข้ม ๔๙) พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ ๕๐) ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม ๕๑) ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง ๕๒) แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง ๕๓) พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว ๕๔) ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน ๕๕) พระนลาฏมีสัณฐานอันงาม ๕๖) พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้ ๕๗) พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด ๕๘) เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ ๕๙) พระโขนงนั้นใหญ่ ๖๐) พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร ๖๑) ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๒) พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ ๖๓) พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ๖๔) พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ ๖๕) พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย ๖๖) กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา ๖๗) พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น ๖๘) พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๙) ลมอัสสาสะและปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด ๗๐) พระโอษฐมีสัณฐานอันงามดุจแย้ม ๗๑) กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล ๗๒) พระเกสาดำเป็นแสง ๗๓) กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ ๗๔) พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ ๗๕) พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น ๗๖) พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น ๗๗) พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด ๗๘) เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง ๗๙) เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏทุกๆ เส้น ๘๐) วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ฯ นิยมเรียกว่า อสีตยานุพยัญชนะ; ดู มหาบุรุษลักษณะ
ญาณทัสสนวิสุทธิ :
ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ ได้แก่ ญาณในอริยมรรค ๔ ดู วิสุทธิ
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๙ (ข้อ ๖ ในวิสุทธิ ๗)
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง (ข้อ ๕ ในวิสุทธิ ๗)
วิมุตติญาณทัสสนกถา : ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในความที่ใจพ้นจากกิเลส (ข้อ ๑๐ ในกถาวัตถุ ๑๐)
วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ : กองวิมุตติญาณทัสสนะ, หมวดธรรมว่าด้วยความรู้ความเห็นว่า จิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ เช่น ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ (ข้อ ๕ ในธรรมขันธ์ ๕)
สัมมสนญาณ : ญาณหยั่งรู้ด้วยพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์, ญาณที่พิจารณาหรือตรวจตรานามรูปหรือสังขาร มองเห็นตามแนวไตรลักษณ์ คือรู้ว่า ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน (ข้อ ๓ ในญาณ ๑๖)
เสนาสนขันธกะ : ชื่อขันธกะที่ ๖ แห่งจุลวรรคในพระวินัยปิฏก ว่าด้วยเรื่องเสนาสนะ
เสนาสนคาหาปกะ : ผู้ให้ถือเสนาสนะหมายถึงภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือแต่งตั้งจากสงฆ์ให้เป็นผู้ทำหน้าที่จัดแจกเสนาสนะของสงฆ์
เสนาสนปัจจัย : ปัจจัยคือเสนาสนะ, เครื่องอาศัยของชีวิตคือที่อยู่ เป็นอย่างหนึ่งในปัจจัย ๔
เสนาสนปัญญาปกะ : ผู้แต่งตั้งเสนาสนะหมายถึงภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้เป็นผู้มีหน้าที่จัดแจงแต่งตั้งดูแลความเรียบร้อยแห่งเสนาสนะสำหรับภิกษุทั้งหลายจะได้เข้าพักอาศัย
เสนาสนวัตร : ธรรมเนียมหรือข้อที่ภิกษุควรปฏิบัติเกี่ยวกับเสนาสนะ เช่น ไม่ทำเปรอะเปื้อน รักษาความสะอาดจัดวางของให้เป็นระเบียบเรียบร้อยใช้สอยระวังไม่ทำให้ชำรุด และเก็บของใช้ไม่ให้กระจัดกระจายสับสนกับที่อื่น เป็นต้น
หลิททวสนนิคม : นิคมหนึ่งอยู่ในโกลิยชนบท
อัคคิเวสสนโคตร : ตระกูลอัคคิเวสสนะ เป็นตระกูลของปริพาชกคนหนึ่งชื่อ ทีฆนขะ
สนตพาย : ร้อยเชือกสำหรับร้อยจมูกควาย ที่จมูกควาย (สน = ร้อย, ตพาย = เชือกที่ร้อยจมูกควาย) (พจนานุกรม เขียน สนตะพาย)
กถาวัตถุ : ถ้อยคำที่ควรพูด, เรื่องที่ควรนำมาสนทนากันในหมู่ภิกษุ มี ๑๐ อย่างคือ ๑.อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย ๒.สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ ๓.ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสงัดกายสงัดใจ ๔.อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ๕.วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร ๖.สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล ๗.สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำจิตมั่น ๘.ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา ๙.วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์ ๑๐.วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ - 1. "Points of controversy"; name of the fifth book of the Abidhamma Pitaka. 2.a subject of discussion.
จุลวรรค : ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดหนึ่งแห่งพระวินัยปิฎก ซึ่งมีทั้งหมด ๕ หมวด คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร ; คัมภีร์จุลวรรค มี ๑๒ ขันธกะ คือ ๑.กัมมขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคคหกรรม ๒.ปาริวาสิกขันธกะ ว่าด้วยวัตรของภิกษุผู้อยู่ปริวาส ผู้ประพฤติมานัต และผู้เตรียมจะอัพภาน ๓.สมุจจยขันธกะ ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในการประพฤติวุฏฐานวิธี ๔.สมถขันธกะ ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์ ๕.ขุททกวัตถุขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยจำนวนมาก เช่น การปลงผม ตัดเล็บ ไม้จิ้มฟัน ของใช้ต่างๆ เป็นต้น ๖.เสนาสนขันธกะ ว่าด้วยสังฆเภทและสังฆสามัคคี ๘.วัตตขันธกะ ว่าด้วยวัตรต่างๆ เช่น อาคันตุกวัตร เป็นตน ๙.ปาติโมกขัฏฐปนขันธกะ ว่าด้วยระเบียบในการงดสวดปาฏิโมกข์ในเมื่อภิกษุมีอาบัติติดตัวมาร่วมฟังอยู่ ๑๐.ภิกขุนีขันธกะ ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีเริ่มแต่ประวัติการอนุญาตให้มีการบวชครั้งแรก ๑๑.ปัญจสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ ๑๒.สัตตสติกขันธกะ ว่าด้วยสังคายนาครั้งที่ ๒ (พระไตรปิฎกเล่ม ๖-๗); ต่อจาก มหาวรรค
เจ้าอธิการแห่งเสนาสนะ : ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับเสนาสนะ แยกเป็น ๒ คือ ผู้แจกเสนาสนะให้ภิกษุถือ (เสนาสนคาหาปก) และผู้แต่งตั้งเสนาสนะ (เสนาสนปัญญาปก)
ญาณ ๑๖ :
ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมาย คือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่างคือ ๑.นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป ๒.(นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป ๓.สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์ ๔.- ๑๒.(ตรงกับวิปัสสนาญาณ ๙) ๑๓.โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน ๑๔.มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค ๑๕.พลญาณ ญาณในอริยผล ๑๖.ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่พิจารณาทบทวน; ญาณ ๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือ เรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส; ดู วิปัสสนาญาณ๙
ทัพพมัลลบุตร : พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวก เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามัลลราช เมื่อพระชนม์ ๗ พรรษา มีความเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา ได้บรรพชาเป็นสามเณร เวลาปลงผม พอมีดโกนตัดกลุ่มผมครั้งที่ ๑ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ครั้งที่ ๒ ได้บรรลุสกทาคามิผล ครั้งที่ ๓ ได้บรรลุอนาคามิผล พอปลงผมเสร็จก็ได้บรรลุพระอรหัต ท่านรับภาระเป็นเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ในตำแหน่งเสนาสนปัญญาปกะ (ผู้ดูแลจัดสถานที่พักอาศัยของพระ) และภัตตุเทสก์ ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดา เสนาสนปัญญาปกะ
ธรรมขันธ์ : กองธรรม, หมวดธรรม, ประมวลธรรมเข้าเป็นหมวดใหญ่ มี ๕ คือ สีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ; กำหนดหมวดธรรมในพระไตรปิฎกว่ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็นวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ สุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ และอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ชื่อข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษเป็นต้น มี ๑๓ ข้อคือ หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุต-เกี่ยวกับจีวร มี ๑.ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุล ๒.เตจีวริกังคะ ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน; หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุต-เกี่ยวกับบิณฑบาต มี ๓.ปิณฑปาติกังคะ เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ ๔.สปทานจาริกังคะ บิณฑบาตตามลำดับบ้าน ๕.เอกาสนิกังคะ ฉันมื้อเดียว ๖.ปัตตปิณฑิกังคะ ฉันเฉพาะในบาตร ๗.ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม; หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุต -เกี่ยวกับเสนาสนะมี ๘.อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่า ๙.รุกขมูลิกังคะ อยู่โคนไม้ ๑๐.อัพโภกาสิกังคะ อยู่กลางแจ้ง ๑๑.โสสานิกังคะ อยู่ป่าช้า ๑๒.ยถาสันถติกังคะ อยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้; หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุต-เกี่ยวกับความเพียร มี ๑๓.เนสัชชิกังคะ ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน (นี้แปลเอาความสั้นๆ ความหมายละเอียด พึงดูตามลำดับอักษรของคำนั้นๆ) ธุระ “สิ่งที่จะต้องแบกไป”, หน้าที่, ภารกิจ, การงาน, เรื่องที่จะต้องรับผิดชอบ, กิจในพระศาสนา แสดงไว้ในอรรถกถา ๒ อย่างคือ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
มหาสุทัศน์ : พระเจ้าจักรพรรดิผู้ครองราชสมบัติอยู่ที่กุสาวดีราชธานีในอดีตกาล ก่อนพุทธกาลช้านาน เมืองกุสาวดีนี้ในสมัยพุทธกาลมีชื่อว่าเมืองกุสินารา, เรื่องมาในมหาสุทัสสนสูตร แห่งคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎก
วิสุทธิ : ความบริสุทธิ์, ความหมดจด, การชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ด้วยการบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดหมายคือพระนิพพาน มี ๗ ขั้น คือ ๑.สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล ๒.จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิตต์ ๓.ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ ๔.กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย ๕.มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง ๖.ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน ๗.ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ กล่าวคือ มรรคญาณ
อาบัติ : การต้อง, การล่วงละเมิด, โทษที่เกิดแต่การละเมิดสิกขาบท; อาบัติ ๗ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต; อาบัติ ๗ กองนี้จัดรวมเป็นประเภทได้หลายอย่าง โดยมากจัดเป็น ๒ เช่น ๑) ครุกาบัติ อาบัติหนัก (ปาราชิกและสังฆาทิเสส) ๒) ลหุกาบัติ อาบัติเบา (อาบัติ ๕ อย่างที่เหลือ); คู่ต่อไปนี้ก็เหมือนกัน คือ ๑) ทุฏฐลลาบัติ อาบัติไม่ชั่วหยาบ; ๑) อเทสนนาคามินี อาบัติที่ไม่พ้นได้ด้วยการแสดง ๒) เทสนาคามินี อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดงคือเปิดเผยความผิดของตน; คู่ต่อไปนี้จัดต่างออกไปอีกแบบหนึ่งตรงกันทั้งหมด คือ ๑) อเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขไม่ได้ (ปาราชิก) ๒) สเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขได้ (อาบัติ ๖ อย่างที่เหลือ); ๑) อนวเสส ไม่มีส่วนเหลือ ๒) สาวเสส ยังมีส่วนเหลือ; ๑) อัปปฏิกัมม์หรืออปฏิกรรม ทำคืนไม่ได้คือแก้ไขไม่ได้ ๒) สัปปฏิกัมม์ หรือ สปฏิกรรม ยังทำคืนได้ คือแก้ไขได้