โจรดุจผูกธง : โจรผู้ร้ายที่ขึ้นชื่อโด่งดัง
สมโจร : เป็นใจกับโจร
ติรัจฉานกถา : ถ้อยคำอันขวางต่อทางนิพพาน, เรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อถกเถียงสนทนา โดยไม่เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งสอนแนะนำทางธรรม อันทำให้คิดฟุ้งเฟ้อและพากันหลงเพลินเสียเวลา เสียกิจหน้าที่ที่พึงปฏิบัติตามธรรม เช่น ราชกถา สนทนาเรื่องพระราชา ว่าราชาพระองค์นั้นโปรดของอย่างนั้น พระองค์นี้โปรดของอย่างนี้ โจรกถา สนทนาเรื่องโจรว่าโจรหมู่นั้นปล้นที่นั่นได้เท่านั้นๆ ปล้นที่นี่ได้เท่านี้ๆ เป็นต้น (ท่านแสดงไว้ ๒๘ อย่าง หรือแยกย่อยได้ ๓๓ อย่าง)
ภัททา กุณฑลเกสา : พระมหาสาวิกาองค์หนึ่ง เป็นธิดาของเศรษฐีในพระนครราชคฤห์ เคยเป็นภรรยาโจรผู้เป็นนักโทษประหารชีวิต โจรคิดจะฆ่านางเพื่อเอาทรัพย์สมบัติ แต่นางใช้ปัญญาคิดแก้ไขกำจัดโจรได้ แล้วบวชในสำนักนิครนถ์ ต่อมาได้พบกับพระสารีบุตร ได้ถามปัญหากันและกัน จนนางมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงได้สำเร็จพระอรหัต แล้วบวชในสำนักนางภิกษุณี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้ฉับพลัน
มหาโมคคัลลานะ : ชื่อพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรของพราหมณ์นายบ้านแห่งนั้น มารดาชื่อนางโมคคัลลีพราหมณี เดิมเรียกชื่อว่าโกลิตะ ตามชื่อหมู่บ้านซึ่งบิดาของตนเป็นใหญ่ ต่อมาเรียก โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางพราหมณีโมคคัลลี หรือโมคคัลลานีนั้น ได้เป็นสหายกับอุปติสสะ (คือพระสารีบุตร) มาแต่เด็กต่อมาทั้ง ๒ ได้ออกบวชเป็นปริพาชก อยู่ในสำนักของสญชัยปริพาชกจนกระทั่งอุปติสสะได้พบพระอัสสชิสหายทั้ง ๒ จึงได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า บวชในพระธรรมวินัย เมื่อบวชแล้ว ถึงวันที่ ๗ โกลิตะ ซึ่งบัดนี้เรียกว่า มหาโมคคัลลานะก็ได้ บรรลุอรหัตตผลท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์มาก ในตอนปลายพุทธกาลท่านถูกพวกโจรซึ่งได้รับจ้างจากพวกเดียรถีย์ ลอบสังหารด้วยการทุบตีจนร่างแหลก พระพุทธเจ้าโปรดให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ใกล้ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน ในเขตเมืองราชคฤห์, ชื่อของท่านนิยมเรียกกันง่ายๆ ว่า พระโมคคัลลาน์
สุคโต : “เสด็จไปดีแล้ว” คือ ทรงมีทางเสด็จที่ดีงามอันได้แก่อริยมรรค, เสด็จไปด้วยดีโดยชอบ กล่าวคือ ทรงดำเนินรุดหน้าไม่หวนกลับคืนมาสู่กิเลสที่ทรงละได้แล้ว ทรงดำเนินสู่ผลสำเร็จไม่ถอยหลัง ไม่กลับตกจากฐานะที่ลุถึงทรงดำเนินในทางอันถูกต้องคือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เฉเชือนไปในทางผิด คือ กามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค เสด็จไปดี เสด็จที่ใดก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่มหาชนในที่นั้น เสด็จไปโดยสวัสดีและนำให้เกิดความสวัสดีแม้แต่พบองคุลิมาลมหาโจรร้าย ก็ทรงกลับใจให้เขากลายเป็นคนดีไม่มีภัยเสด็จผ่านไปแล้วด้วยดี ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจไว้บริบูรณ์ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ เพื่อชาวโลก ให้เป็นเครื่องเผล็ดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งปวงผู้เกิดมาในภายหลัง, ทรงมีพระวาจาดี หรือตรัสโดยชอบ คือ ตรัสแต่คำจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในกาลที่ควรตรัส และแก่บุคคลที่ควรตรัส (ข้อ ๔ ในพุทธคุณ ๙)
องคุลิมาล : พระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เคยเป็นมหาโจรโด่งดังเป็นบุตรของภัคควพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณ์ เดิมชื่ออหิงสกะ (แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน) ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เพื่อนศิษย์ด้วยกันริษยา ยุอาจารย์ให้กำจัดเสีย อาจารย์ลวงด้วยอุบายให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพัน แล้วจะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ จึงกลายเป็นมหาโจรผู้โหดร้ายทารุณ ตัดนิ้วมือคนที่ตนฆ่าตายแล้ว ร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องฺคุลิมาล (แปลว่ามีนิ้วเป็นมาลัย) ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านเป็นต้นแห่งพุทธบัญญัติไม่ให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง
อริยทรัพย์ : ทรัพย์อันประเสริฐเป็นของติดตัว อยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ภายนอก เช่นเงินทอง เป็นต้น เพราะโจรหรือใครๆ แย่งชิงไม่ได้ และทำให้เป็นคนประเสริฐอย่างแท้จริง มี ๗ คือ สัทธา สีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา
โยคาวจร : ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร, ผู้ประกอบความเพียร, ผู้เจริญภาวนา คือ กำลังปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เขียน โยคาพจร ก็มี
กามาวจร : ซึงท่องเที่ยวไปในกามภพ, ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับกาม
รูปาวจร : ซึ่งท่องเที่ยวไปในรูป, อยู่ในระดับจิตชั้นรูปฌาน, ระดับที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์, เนื่องในภพ
อรูปาวจร : ซึ่งท่องเที่ยวไปในอรูปภพ, ยังเกี่ยวข้องอยู่กับอรูปธรรม
กามสุคติภูมิ : กามาวจรภูมิที่เป็นสุคติ คือ มนุษย์และสวรรค์ ๖ (จะแปลว่าสุคติภูมิที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม ก็ได้)
จิต : ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ; ตามหลักฝ่ายอภิธรรม จำแนกจิตเป็น ๘๙ (หรือพิสดารเป็น ๑๒๑) แบ่ง โดยชาติ เป็นอกุศลจิต ๑๒ กุศลจิต ๒๑ (พิสดารเป็น ๓๗) วิปากจิต ๓๖ (๕๒) และ กิริยาจิต ๒๐; แบ่ง โดยภูมิ เป็นกามาวจรจิต ๕๔ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ และโลกุตตรจิต ๘ (พิสดารเป็น ๔๐)
ปกิณณกทุกข์ : ทุกข์เบ็ดเตล็ด, ทุกข์เรี่ยราย, ทุกข์จร, ได้แก่ โศก ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
ปุญญาภิสังขาร : อภิสังขารที่เป็นบุญ, สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่กุศลเจตนา (เฉพาะที่เป็นกามาวจรและรูปวจร) (ข้อ ๑ ในอภิสังขาร ๓)
ผลเหตุสนธิ : ต่อผลเข้ากับเหตุ หมายถึง เงื่อนต่อระหว่างผลในปัจจุบัน กับเหตุในปัจจุบัน ในวงจรปฏิจจสมุปบาท คือ ระหว่างวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ข้างหนึ่ง (ฝ่ายผล) กับ ตัณหา อุปาทาน ภพ อีกข้างหนึ่ง (ฝ่ายเหตุ)
ภูมิ : 1.พื้นเพ, พื้น, ชั้น, ที่ดิน, แผ่นดิน 2.ชั้นของจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต มี ๔ คือ ๑.กามาวจรภูมิ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม ๒.รูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่รูป หรือชั้นของพวกที่ได้รูปฌาน ๓.อรูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่อรูป หรือชั้นของพวกที่ได้อรูปฌาน ๔.โลกุตตรภูมิ ชั้นที่พ้นโลก หรือระดับพระอริยบุคคล
มหรคต : “อันถึงความเป็นสภาพใหญ่” “ซึ่งถึงความยิ่งใหญ่” หรือ “ซึ่งดำเนินไปด้วยฉันทะวิริยะจิตตะและปัญญาอย่างใหญ่” คือ เข้าถึงฌาน, เป็นรูปาวจร หรืออรูปาวจร, ถึงระดับวิกขัมภนวิมุตติ (เขียนอย่างบาลีเป็น มหัคคตะ)
มหาปันถกะ : พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรของธิดาเศรษฐี กรุงราชคฤห์ ไปวัดกับเศรษฐีผู้เป็นตา ได้ฟังเทศนาของพระศาสดาอยู่เสมอ จิตก็น้อมไปทรงบรรพชา จึงบวชเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็ก เมื่ออายุครบ ก็อุปสมบทต่อมาได้สำเร็จพระอรหัตพระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านเป็นผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฏฏ์ เพราะท่านชำนาญในอรูปาวจรฌานและเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนา ท่านเคยรับหน้าที่เป็นภัตตุทเทสก์ คือ ผู้จัดแจกอาหารของสงฆ์ด้วย, ท่านเป็นพี่ชายของพระจุลลปันถกะ หรือจูฬบันถก
มาร : 1.สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ คือ ๑.กิเลสมาร มารคือกิเลส ๒.ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ ๓.อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม ๔.เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร ๕.มัจจุมาร มารคือความตาย 2.พระยามารที่มีเรื่องราวปรากฏบ่อยๆ ในคัมภีร์ คอยมาแทรกแซงเหตุการณ์ต่างๆ ในพุทธประวัติ เช่น ยกพลเสนามาผจญพระมหาบุรุษในวันที่จะตรัสรู้ พระองค์ชนะพระยามารได้ด้วยทรงนึกถึงบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา มารในกรณีเช่นนี้ บางทีท่านอธิบายออกชื่อว่าเป็นสวัตดีมาร ซึ่งครองแดนหนึ่งในสวรรค์ชั้นสูงสุด แห่งระดับกามาวจรคือปรนิมิตวสวัตดี เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้มิให้ล่วงพ้นจากแดนกามซึ่งอยู่ในอำนาจครอบงำของตน อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเทียบจากมาร ๕ ในความหมายที่ 1.ด้วย
โยคี :
ฤษี, ผู้ปฏิบัติตามลัทธิโยคะ, ผู้ประกอบความเพียร ดู โยคาวจร
โลกิยะ : เกี่ยวกับโลก, ทางโลก, เนื่องในโลก, เรื่องของชาวโลก, ยังอยู่ในภพ ๓, ยังเป็นกามาวจร รูปาวจร หรืออรูปาวจร; คู่กับ โลกุตตระ
โลกีย์ : เกี่ยวกับโลก, ทางโลก, เนื่องในโลก, เรื่องของชาวโลก, ยังอยู่ในภพ ๓, ยังเป็นกามาวจร รูปาวจร หรืออรูปาวจร; คู่กับ โลกุตตระ
โลกุตตรภูมิ : ชั้นที่พ้นจากโลก, ระดับจิตใจของพระอริยเจ้า (ข้อ ๔ ในภูมิ ๔ อีก ๓ ภูมิ คือ กามวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ)
วสวัดดี :
ชื่อพระยามาร เป็นเทพในสวรรค์ชั้นสูงสุดแห่งระดับกามาวจร เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไม่ให้ล่วงพ้นจากแดนกาม ซึ่งอยู่ในอำนาจครอบงำของตน ดู มาร 2เทวปุตตมาร
วสวัตดี :
ชื่อพระยามาร เป็นเทพในสวรรค์ชั้นสูงสุดแห่งระดับกามาวจร เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไม่ให้ล่วงพ้นจากแดนกาม ซึ่งอยู่ในอำนาจครอบงำของตน ดู มาร 2เทวปุตตมาร
สุทธาวาส : ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์คือที่เกิดของพระอนาคามี ได้แก่พรหม ๕ ชั้นที่สูงสุดในขั้นรูปาวจร คืออวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา
เหตุผลสนธิ : หัวเงื่อนระหว่างเหตุในอดีตกับผลในปัจจุบัน หรือหัวเงื่อนระหว่างเหตุในปัจจุบันกับผลในอนาคต ในวงจรปฏิจจสมุปบาท (เหตุในอดีต คืออวิชชาและสังขาร, ผลในปัจจุบัน คือวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา, เหตุในปัจจุบัน คือ ตัณหา อุปาทาน ภพ, ผลในอนาคต คือชาติ ชรา มรณะ)
อภิสังขาร : สภาพที่ปรุงแต่งผลแห่งการกระทำการทำกรรม มี ๓ อย่างคือ ๑) ปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นบุญ ๒) อปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ คือ บาป ๓) อาเนญชาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นอเนญชา คือ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔; เรียกง่ายๆ ได้แก่ บุญ บาป ฌาน
อาคันตุกภัต : อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุอาคันตุกะ คือผู้จรมาจากต่างถิ่น
อาคันตุกวัตร : ธรรมเนียมที่ภิกษุควรปฏิบัติต่ออาคันตุกะ คือภิกษุผู้จรมา เช่นขวนขวายต้อนรับ แสดงความนับถือ จัดหรือบอกให้น้ำให้อาสนะ ถ้าอาคันตุกะจะมาพักมาอยู่ พึงแสดงเสนาสนะ บอกที่ทางและกติกาสงฆ์ เป็นต้น
อาคันตุกะ : ผู้มาหา, ผู้มาจากที่อื่น, ผู้จรมา, แขก; (ในคำว่า “ถ้าปรารถนาจะให้อาคันตุกะได้รับแจกด้วย”) ภิกษุผู้จำพรรษามาจากวัดอื่น, ถ้าภิกษุผู้มีหน้าที่เป็นจีวรภาชกะ (ผู้แจกจีวร) ปรารถนาจะให้อาคันตุกะมีส่วนได้รับแจกจีวรด้วย ต้องอปโลกน์ คือ บอกเล่าขออนุมัติต่อภิกษุเจ้าถิ่นคือผู้จำพรรษาในวัดนั้น (ซึ่งเรียกว่าวัสสิกะ หรือ วัสสาวาสิกะ แปลว่า ภิกษุผู้อยู่จำพรรษา)