กรรม : การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม) การกระทำที่ดีเรียกว่า กรรมดี ที่ชั่ว เรียกว่า กรรมชั่ว - 1.Karma; Kamma; a volitional action; action; deed; good and bad volition. 2.work; job; activity; transaction.
กรรม ๑๒ : กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ ๑๒ อย่างคือ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่ ๑.ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้ ๒.อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า ๓.อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆไป ๔.อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ ได้แก่ ๕.ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ๖.อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือเข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม ๗.อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาบางหรือสั้นเข้า ๘.อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรม ๒ อย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล ได้แก่ ๙.ครุกกรรม กรรมหนัก ให้ผลก่อน ๑๐.พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองลงมา ๑๑.อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น ๑๒.กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล
กรรม ๒ : กรรมจำแนกตามคุณภาพ หรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ มี ๒ คือ ๑.อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล กรรมชั่ว คือเกิดจากอกุศลมูล ๒.กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล กรรมดี คือเกิดจากกุศลมูล
กรรม ๓ : กรรมจำแนกตามทวารคือทางที่ทำกรรม มี ๓ คือ ๑.กายกรรม การกระทำทางกาย ๒.วจีกรรม การกระทำทางวาจา ๓.มโนกรรม การกระทำทางใจ
กรรมกิเลส : กรรมเครื่องเศร้าหมอง, การกระทำที่เป็นเหตุให้เศร้าหมอง มี ๔ อย่างคือ ๑.ปาณาติบาต การทำชีวิตให้ตกล่วงคือ ฆ่าฟันสังหารกัน ๒.อทินนาทาน ถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้คือลักขโมย ๓.กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม ๔.มุสาวาท พูดเท็จ - an action causing impurity; depravity of action; vice of conduct.
กรรมวาจาจารย์ : พระอาจารย์ผู้สวดกรรมวาจาประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ในการอุปสมบท - Act-Announcing Teacher; (First) Ordination-Teacher.
กรรมวาจาวิบัติ : เสียเพราะกรรมวาจา, กรรมวาจาบกพร่องใช้ไม่ได้
กรรมวาจาสมบัติ : ความสมบูรณ์แห่งกรรมวาจา, คำสวดประกาศถูกต้อง ใช้ได้
กรรมวิปากญาณ : ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม แม้จะมีกรรมต่างๆ ให้ผลอยู่มากมายซับซ้อน ก็สามารถแยกแยะ ล่วงรู้ได้ว่าอันใดเป็นผลของกรรมใด
กรรมนิยาม : order of act and result; the law of Karma.
กรรมภพ : Karma-process; the active process of becoming.
กรรมวาจา : คำประกาศกิจในท่ามกลางสงฆ์, การสวดประกาศ แบ่งเป็น ๒ คือ ญัตติ ๑ อนุสาวนา ๑ - the formal words of an act; text of a formal act, i.e. a motion (ญัตติ) together with one or three proclamations (อนุสาวนา) that may follow.
กตัตตากรรม :
กรรมสักว่าทำ, กรรมที่เป็นกุศลก็ตาม อกุศลก็ตาม สักแต่ว่าทำคือไม่ได้จงใจจะให้เป็นอย่างนั้นโดยตรง หรือมีเจตนาอ่อนไม่ชัดเจน ย่อมให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่น ท่านเปรียบเสมือนคนบ้ายิงลูกศร ย่อมไม่มีความหมายจะให้ถูกใคร ทำไปโดยไม่ตั้งใจชัดเจน ดู กรรม๑๒ - casual act, cumulative or reserve Karma.
อกุศลกรรม :
กรรมที่ไม่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, บาป, การกระทำที่ไม่ดี คือ เกิดจาก อกุศลมูล ดู กรรม
กุศลกรรม : กรรมดี, กรรมที่เป็นกุศล, การกระทำที่ดีคือเกิดจากกุศลมูล
ครุกรรม : กรรมหนักทั้งที่เป็นกุสลและอกุศล ในฝ่ายกุศลได้แก่ฌานสมาบัติในฝ่ายอกุศลได้แก่อนันตริยกรรม กรรมนี้ให้ผลก่อนกรรมอื่นเหมือนคนอยู่บนที่สูงเอาวัตถุต่างๆ ทิ้งลงมาอย่างไหนหนักที่สุด อย่างนั้นถึงพื้นก่อน
ชนกกรรม : กรรมที่นำให้เกิด, กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็ตามที่เป็นตัวแต่งสัตว์ให้เกิด คือชักนำให้ถือปฏิสนธิในภพใหม่ เมื่อสิ้นชีวิตจากภพนี้ (ข้อ ๕ ในกรรม ๑๒)
ญัตติจตุตถกรรม : กรรมมีญัตติเป็นที่ ๔ ได้แก่ สังฆกรรมที่สำคัญ มีการอุปสมบท เป็นต้น ซึ่งเมื่อตั้งญัตติแล้ว ต้องสวดอนุสาวนาคำประกาศขอมติถึง ๓ หน เพื่อสงฆ์คือที่ชุมนุมนั้นจะได้มีเวลาพิจารณาหลายเที่ยว ว่าจะอนุมัติหรือไม่
ญัตติทุติยกรรม : กรรมมีญัตติเป็นที่ ๒ หรือกรรมมีวาจาครบ ๒ ทั้งญัตติ, กรรมอันทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนเดียว เช่น การสมมติสีมา การสังคายนา และการมอบให้ผากฐิน เป็นต้น
ตัสสาปาปิยสิกากรรม : กรรมอันสงฆ์พึงทำเพราะความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้เลวทราม, กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลยในอนุวาทาธิกรณ์ ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพ พูดถลากไถล พูดกลบเกลื่อนข้อที่ถูกซัก พูดมุสาซึ่งหน้า สงฆ์ทำกรรมนี้แก่เธอเป็นการลงโทษตามความผิดแม้ว่าเธอจะไม่รับ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง
พหุลกรรม : กรรมทำมาก หรือกรรมชิน ได้แก่ กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่ทำบ่อยๆ จนเคยชิน ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่น เว้นครุกรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาจิณณกรรม (ข้อ ๑๐ ในกรรม ๑๒)
วิเหสกกรรม : กรรมที่จะพึงกระทำแก่ภิกษุผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก คือ ภิกษุประพฤติอนาจาร สงฆ์เรียกตัวมาถาม นิ่งเฉยเสียไม่ตอบ เรียกว่าเป็นผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก, สงฆ์ยกวิเหสกกรรมขึ้น คือสวดประกาศการที่เธอทำตัวเช่นนั้น ด้วยญัตติทุติยกรรม เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้วเธอยังขืนทำอย่างนั้นอยู่อีก ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๒ ในภูตคามวรรคที่ ๒) คู่กับ อัญญวาทกกรรม
อัญญาวาทกรรม : กรรมที่จะพึงกระทำแก่ภิกษุผู้กล่าวคำอื่น คือภิกษุประพฤติอนาจาร สงฆ์เรียกตัวมาถาม แกล้งยกเรื่องอื่นๆ มาพูดกลบเกลื่อนเสีย ไม่ให้การตามตรง, สงฆ์สวดประกาศความนั้นด้วยญัตติทุติยกรรม เรียกว่า ยกอัญญวาทกรรมขึ้น, เมื่อสงฆ์ประกาศเช่นนี้แล้ว ภิกษุนั้นยังขืนทำอย่างเดิมอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๒ แห่งภูตคามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์), คู่กับ วิเหสกกรรม
อุปปีฬกกรรม : กรรมบีบคั้น ได้แก่ กรรมที่เป็นกุศลก็ดี อกุศลก็ดี ซึ่งบีบคั้นการให้ผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถุมภกกรรม ที่ตรงข้ามกับตน ให้แปรเปลี่ยนไป เช่น ถ้าเป็นกรรมดีก็บีบคั้นให้อ่อนลง ไม่ให้ได้รับผลเต็มที่ ถ้าเป็นกรรมชั่วก็เกียดกันให้ทุเลา (ข้อ ๗ ในกรรม ๑๒)
จีวรกรรม : การทำจีวร, งานเกี่ยวกับจีวร เช่น ตัด เย็บ ย้อม เป็นต้น
ทัฬหีกรรม : การทำให้มั่น เช่น การให้อุปสมบทซ้ำ
ทารุณกรรม : การทำโดยความโหดร้าย
ปรทาริกกรรม : การประพฤติล่วงเมียคนอื่น, การเป็นชู้เมียเขา
ผาติกรรม : การทำให้เจริญ หมายถึง การจำหน่ายครุภัณฑ์ เพื่อประโยชน์สงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาของเลวแลกเปลี่ยนเอาของดีกว่าให้แก่สงฆ์ หรือเอาของตนถวายสงฆ์เป็นการทดแทนที่ตนทำของสงฆ์ชำรุดไป, รื้อของที่ไม่ดีออกทำให้ใหม่ดีกว่าของเก่า เช่น เอาที่วัดไปทำอย่างอื่นแล้วสร้างวัดถวายให้ใหม่; การชดใช้, การทดแทน
โมหาโรปนกรรม : กิริยาที่สวดประกาศยกโทษภิกษุว่า แสร้งทำหลง คือรู้แล้วทำเป็นไม่รู้; เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้ว ยังแกล้งทำไม่รู้อีก ต้องปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๓ แห่งสหธรรมิกวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)
วจีกรรม :
การกระทำทางวาจา, การกระทำด้วยวาจา, ทำกรรมด้วยคำพูด, ที่ดี เช่น พูดจริง พูดคำสุภาพ ที่ชั่ว เช่น พูดเท็จ พูดคำหยาบ ดู กุศลกรรมบถ, อกุศลกรรมบถ
วัตถิกรรม : การผูกรัดที่ทวารหนักคือผูกรัดหัวริดสีดวงงอกที่ทวารหนัก ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะหมายถึงการสวนทวารเบาก็ได้
วินัยกรรม : การกระทำเกี่ยวกับพระวินัยหรือการปฏิบัติตามวินัย เช่น การปลงอาบัติ การอธิษฐานบริขาร การวิกัปบาตรและจีวร เป็นต้น
สัตถกรรม : การผ่าตัด
สามีจิกรรม : การชอบ, กิจชอบ, การกระทำที่สมควร, การแสดงความเคารพ
อัญชลีกรรม : การประนมมือแสดงความเคารพ
อุโบสถกรรม : การทำอุโบสถ
ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม : กรรมอันให้ผลในปัจจุบัน, กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ซึ่งให้ผลทันตาเห็น (ข้อ ๑ ใน กรรม ๑๒)
ไตรวัฏ : วัฏฏะ ๓, วงวน ๓ หรือวงจร ๓ ส่วนของปฏิจจสมุปบาท หมุนเวียนสืบทอดต่อๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก (เรียกเต็มว่า ๑.กิเลสวัฏ ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ๒.กรรมวัฏ ประกอบด้วย สังขาร ภพ ๓.วิปากวัฏ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส) คือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก เช่น เกิดกิเลสอยากได้ของเขา จึงทำกรรมด้วยการไปลักของเขามา ประสบวิบากคือได้ของนั้นมาเสพเสวยเกิดสุข เวทนา ทำให้มีกิเลสเหิมใจอยากได้รุนแรงและมากยิ่งขึ้นจึงยิ่งทำกรรมมากขึ้น หรือในทางตรงข้ามถูกขัดขวาง ได้รับทุกขเวทนาเป็นวิบาก ทำให้เกิดกิเลส คือโทสะแค้นเคือง แล้วพยายามทำกรรมคือประทุษร้ายเขา เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ วงจรจะหมุนเวียนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
ไตรวัฏฏ์ : วัฏฏะ ๓, วงวน ๓ หรือวงจร ๓ ส่วนของปฏิจจสมุปบาท หมุนเวียนสืบทอดต่อๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก (เรียกเต็มว่า ๑.กิเลสวัฏ ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ๒.กรรมวัฏ ประกอบด้วย สังขาร ภพ ๓.วิปากวัฏ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส) คือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก เช่น เกิดกิเลสอยากได้ของเขา จึงทำกรรมด้วยการไปลักของเขามา ประสบวิบากคือได้ของนั้นมาเสพเสวยเกิดสุข เวทนา ทำให้มีกิเลสเหิมใจอยากได้รุนแรงและมากยิ่งขึ้นจึงยิ่งทำกรรมมากขึ้น หรือในทางตรงข้ามถูกขัดขวาง ได้รับทุกขเวทนาเป็นวิบาก ทำให้เกิดกิเลส คือโทสะแค้นเคือง แล้วพยายามทำกรรมคือประทุษร้ายเขา เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ วงจรจะหมุนเวียนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
อกุศลกรรมบถ : ทางแห่งกรรมชั่ว, ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่วอันเป็นทางนำไปสู่ทุคติ มี ๑๐ อย่าง คือ ก) กรรม ๓ ได้แก่ ๑) ปาณาติบาต การทำลายชีวิต ๒) อทินนาทาน ถือเอาของที่เขามิได้ให้ ๓) กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม ข) วจีกรรม ๔ ได้แก่ ๔) มุสาวาท พูดเท็จ ๕) ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด ๖) ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ๗) สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ ค) มโนกรรม ๓ ได้แก่ ๘) อภิชฌา ละโมบคอยจ้องอยากได้ของเขา ๙) พยาบาท คิดร้ายเขา ๑๐) มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม เทียบ กุศลกรรมบถ
ญัตติกรรม : กรรมอันกระทำด้วยตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา คือ ประกาศให้สงฆ์ทราบ เพื่อทำกิจร่วมกัน เรียกว่าเผดียงสงฆ์อย่างเดียว ไม่ต้องขอมติ เช่น อุโบสถ และปวารณา เป็นต้น
ตัชชนียกรรม : กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงขู่, สังฆกรรมประเภทนิคคหกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสงฆ์ทำการตำหนิโทษภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์ เป็นผู้มีอาบัติมาก และคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร
นิยสกรรม :
กรรมอันสงฆ์พึงทำให้เป็นผู้ไร้ยศ ได้แก่ การถอดยศ, เป็นชื่อนิคคหกรรมที่สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้มีอาบัติมาก หรือคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ด้วยการคลุกคลีอันไม่ควร โดยปรับให้ถือนิสัยใหม่อีก ดู นิคคหกรรม