โลกบาลธรรม : ธรรมคุ้มครองโลก คือ ปกครองควบคุมใจมนุษย์ไว้ให้อยู่ในความดี มิให้ละเมิดศีลธรรม และให้อยู่กันด้วยความเรียบร้อยสงบสุข ไม่เดือนร้อนสับสนวุ่นวาย มี ๒ คือ ๑.หิริ ความละอายบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว ๒.โอตตัปปะ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่วและผลของกรรมชั่ว
ธรรม : สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
โลกบาล :
ผู้คุ้มครองโลก, ผู้เลี้ยงรักษาโลกให้ร่มเย็น, ท้าวโลกบาล ๔ ดู จาตุมหาราช
ธรรมเป็นโลกบาล ๒ :
คือ ๑.หิริ ความละอายแก่ใจ ๒.โอตตัปปะ ความกลัวบาป ดู โลกบาลธรรม
ธรรม ๒ หมวดหนึ่ง : คือ ๑.รูปธรรม ได้แก่รูปขันธ์ทั้งหมด ๒.อรูปธรรม ได้แก่ นามขันธ์ ๔ และนิพพาน; อีกหมวดหนึ่ง คือ ๑.โลกียธรรม ธรรมเป็นเป็นวิสัยของโลก ๒.โลกุตตรธรรม ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ; อีกหมวดหนึ่ง คือ ๑.สังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งได้แก่ขันธ์ ๕ ทั้งหมด ๒.อสังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ได้แก่ นิพพาน
ธรรมวินัย : ธรรมและวินัย, คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วย ธรรม= คำสอนแสดงหลักความจริงและแนะนำความประพฤติ, วินัย = บทบัญญัติกำหนดระเบียบความเป็นอยู่และกำกับความประพฤติ ; ธรรม= เครื่องควบคุมใจ, วินัย= เครื่องควบคุมกายและวาจา
ธรรมปฏิรูป : ธรรมปลอม, ธรรมที่ไม่แท้, ธรรมเทียม
ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย : ธรรมที่จะช่วยให้ได้ ทุลลภธรรม สมหมายมี ๔ คือ ๑.สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ๒.สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล ๓.จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ๔.ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา
ธรรมพิเศษ : ธรรมชั้นสูง หมายถึง โลกุตตรธรรม
ธรรมกามะ : ผู้ใคร่ธรรม, ผู้ชอบตริตรองสอดส่องธรรม
ธรรมขันธ์ : กองธรรม, หมวดธรรม, ประมวลธรรมเข้าเป็นหมวดใหญ่ มี ๕ คือ สีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ; กำหนดหมวดธรรมในพระไตรปิฎกว่ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็นวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ สุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ และอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ธรรมคุณ : คุณของพระธรรม มี ๖ อย่าง คือ ๑.สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ๒.สนฺทิฏฺฐิโก อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ๓.อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล ๔.เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู ๕.โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ๖.ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ธรรมจริยา : การประพฤติธรรม, การประพฤติเป็นธรรม, การประพฤติถูกตามธรรม เป็นชื่อหนึ่งของ กุศลกรรมบถ ๑๐
ธรรมจักษุ : ดวงตาเห็นธรรมคือ ปัญญา รู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา; ธรรมจักษุโดยทั่วไป เช่น ที่เกิดแก่ท่านโกณฑัญญะเมื่อสดับธรรมจักร ได้แก่ โสดาปัตติมรรคหรือโสดาปัตติมรรคญาณ คือญาณที่ทำให้เป็นโสดาบน
ธรรมเจดีย์ : เจดีย์บรรจุพระธรรมคือ จารึกพระพุทธพจน์ เช่น อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น ลงในใบลานแล้วนำไปบรรจุในเจดีย์ (ข้อ ๓ ในเจดีย์ ๔)
ธรรมฐิติ : ความดำรงคงตัวแห่งธรรม, ความตั้งอยู่แน่นอนแห่งกฎธรรมดา
ธรรมทาน :
การให้ธรรม, การสั่งสอนแนะนำเกี่ยวกับธรรม, การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ดู ทาน
ธรรมทายาท : ทายาทแห่งธรรม, ผู้รับมรดกธรรม, ผู้รับเอาธรรมของพระพุทธเจ้ามาเป็นสมบัติด้วยการประพฤติปฏิบัติให้เข้าถึง; โดยหมายถึงรับเอาโลกุตตรธรรม ๙ ไว้ได้ด้วยการบรรลุเอง โดยอ้อมหมายถึง รับปฏิบัติกุศลธรรม จะเป็นทาน ศีล หรือภาวนาก็ตาม ตลอดจนการบูชา ที่เป็นไปเพื่อบรรลุซึ่งโลกุตตรธรรมนั้น เทียบ อามิสทายาท
ธรรมเทศนา : การแสดงธรรม, การบรรยายธรรม
ธรรมเทศนาปฏิสังยุต : ธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการแสดงธรรม (หมวดที่ ๓ แห่งเสขิยวัตร มี ๑๖ สิกขาบท)
ธรรมเทศนาสิกขาบท : สิกขาบทปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้แสดงธรรมแก่มาตุคามเกินกว่า ๕-๖ คำเว้นแต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ด้วย (สิกขาบทที่ ๗.ในมุสาวาทวรรคแห่งปาจิตตีย์)
ธรรมนิยาม :
กำหนดแน่นอนแห่งธรรมดา กฎธรรมชาติที่ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง, สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์, ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ดู ไตรลักษณ์
ธรรมปฏิบัติ : การปฏิบัติธรรม; การปฏิบัติที่ถูกต้องตามธรรม
ธรรมปฏิสันถาร : การต้อนรับด้วยธรรม คือกล่าวธรรมให้ฟังหรือแนะนำในทางธรรม อย่างนี้เป็นธรรมปฏิสันถารโดยเอกเทศคือส่วนหนึ่งด้านหนึ่ง ธรรมปฏิสันถารที่บำเพ็ญอยู่อย่างบริบูรณ์ คือการต้อนรับโดยธรรม ได้แก่ เอาใจใส่ช่วยเหลือสงเคราะห์ แก่ไขปัญหาบรรเทาข้อสงสัย ขจัดปัดเป่าข้อติดขัดยากลำบากเดือนร้อนทั้งหลาย ให้เขาลุล่วงกิจอันเป็นกุศล พ้นความอึดอัดขัดข้อง เทียบ อามิสปฏิสันถาร
ธรรมไพบูลย์ : ความไพบูลย์แห่งธรรม, ความพรั่งพร้อมเต็มเปี่ยมแห่งธรรม ด้วยการฝึกฝนอบรมให้มีในตนจนบริบูรณ์ หรือด้วยการประพฤติปฏิบัติกันในสังคมจนแพร่หลายทั่วไปทั้งหลาย ดู ไพบูลย์ เวปุลละ
ธรรมภาษิต : ถ้อยคำที่เป็นธรรม, ถ้อยคำที่แสดงธรรม หรือเกี่ยวกับธรรม
ธรรมราชา : พระราชาแห่งธรรม, พระราชาโดยธรรม หมายถึงพระพุทธเจ้าและบางแห่งหมายถึง พระเจ้าจักรพรรดิ
ธรรมวาที : “ผู้มีปกติกล่าวธรรม”, ผู้พูดเป็นธรรม, ผู้พูดตามธรรม, ผู้พูดตรงตามธรรมหรือพูดถูกต้องตามหลักไม่พูดผิดธรรม ไม่พูดนอกหลักธรรม
ธรรมวิจารณ์ : การใคร่ครวญพิจารณาข้อธรรมต่างๆ ว่าแต่ละข้อมีอรรถคือความหมายอย่างไร ตื้นลึกเพียงไรแล้ว แสดงความคิดเห็นออกมาว่าธรรมข้อนั้นข้อนี้มีอรรถคือความหมายอย่างนั้นอย่างนี้
ธรรมวิภาค : การจำแนกธรรม, การจัดหัวข้อธรรมจำแนกออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้าอธิบายและทำความเข้าใจ
ธรรมสมโภค : คบหากันในทางเรียนธรรม ได้แก่ สอนธรรมให้หรือขอเรียนธรรม
ธรรมสมาทาน : การสมาทานหรือปฏิบัติธรรม, การทำกรรม จัดได้เป็น ๔ ประเภท คือ การทำกรรมบางอย่างให้ทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากต่อไป, บางอย่างให้ทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็นวิบากต่อไป, บางอย่างให้สุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป, บางอย่างให้สุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไป
ธรรมสวนะ : การฟังธรรม, การหาความรู้ความเข้าใจในหลักความจริง ความถูกต้องดีงาม ด้วยการเล่าเรียน อ่านและสดับฟัง, การศึกษาหาความรู้ ที่ปราศจากโทษ; ธัมมัสสวนะ ก็เขียน
ธรรมสวามิศร : ผู้เป็นใหญ่โดยฐานเป็นเจ้าของธรรม หมายถึงพระพุทธเจ้า
ธรรมสังคีติ : การสังคายนาธรรม, การร้อยกรองธรรม, การจัดสรรธรรม เป็นหมวดหมู่
ธรรมสังเวช :
ความสังเวชโดยธรรมเมื่อเห็นความแตกดับของสังขาร (เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์) ดู สังเวช
ธรรมสากัจฉา : การสนทนาธรรม, การสนทนากันในทางธรรม
ธรรมสามัคคี : ความพร้อมเพรียงขององค์ธรรม, องค์ธรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องทุกอย่างทำกิจหน้าที่ของแต่ละอย่างๆ พร้อมเพรียงและประสานสอดคล้องกัน ให้สำเร็จผลที่เป็นจุดหมาย เช่น ในการบรรลุมรรคผล เป็นต้น
ธรรมสามี : ผู้เป็นเจ้าของธรรม เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้า
ธรรมเจดียสูตร : สูตรหนึ่งในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ แห่งพระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยข้อความที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระพุทธเจ้า พรรณนาความเลื่อมใสศรัทธาของพระองค์ที่มีต่อพระรัตนตรัย
ธรรมทำให้งาม ๒ : คือ ๑.ขันติ ความอดทน ๒.โสรจจะ ความเสงี่ยมหรือความมีอัธยาศัยประณีต
ธรรมมีอุปการะมาก ๒ : คือ ๑.สติ ความระลึกได้ ๒.สัมปชัญญะ ความรู้ตัว